CANON REVIEWS

Reviews : Canon EF 70-300mm F4-5.6 IS II USM

 

เลนส์เทเลโฟโต้ซูม ที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวจากจอ LCD สำหรับการแสดงผลที่ตัวเลนส์ ซึ่งเลือกรูปแบบได้ 3 แบบคือ แสดงผลระยะโฟกัสตามปกติของเลนส์ทั่วๆ ไป, การแสดงทางยาวโฟกัส เมื่อปรับซูมเลนส์ และการแสดงผลระดับนํ้าอิเลกทรอนิกส์ เพื่อตรวจสอบระนาบของกล้อง นอกจากนี้ ตัวเลนส์ยังมาพร้อมระบบป้องกันการสั่นไหว ซึ่งช่วยให้ถือกล้องถ่ายภาพด้วยมือได้นิ่ง ถึงแม้จะใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ตํ่ากว่าปกติก็ตาม

จุดเด่นของ Canon EF 70-300mm F4-5.6 IS II USM

  • มีระบบป้องกันการสั่นไหวในตัว IS
  • ระบบโฟกัส Nano USM โฟกัสได้รวดเร็ว
  • ใช้ระบโฟกัสแบบ Internal Focus
  • ช่องหน้าต่าง LCD แสดงค่าได้ 3 รูปแบบ
  • มีชิ้นเลนส์พิเศษช่วยแก้ไขความบิดเบือนต่างๆ
  • ปรับโฟกัสใกล้สุด 1.2 เมตร
  • ปรับโฟกัสเองแบบแมนนวลได้ตลอดเวลา
  • ออกแบบให้ใช้งานได้ทั้งกล้องฟูลเฟรม และกล้องตัวคูณ

โครงสร้างและประสิทธิภาพ

เปรียบเทียบระยะซูมเลนส์ที่ 70 มม. (ซ้าย) และ 300 มม. (ขวา)

เลนส์ Canon EF 70-300mm F4-5.6 IS II USM เป็นเลนส์ที่ออกแบบสำหรับกล้องดิจิตอลแบบฟูลเฟรม แต่ก็สามารถใช้งานกับ กล้องดิจิตอลตัวคูณด้วยเช่นเดียวกัน โดยได้ทางยาวโฟกัสสูงสุดถึง 480 มม. เพียงพอที่จะถ่ายภาพในระยะไกล หรือภาพบางรูปแบบที่ไม่สามารถเข้าไปถ่ายใกล้ๆ ได้ รวมถึง ภาพสัตว์ป่าในธรรมชาติด้วยเช่นกัน

เลนส์ Canon EF 70-300mm F4-5.6 IS II USM มีมุมรับภาพ 34-8.15 องศา เมื่อใช้งานกับกล้องดิจิตอลฟูลเฟรมหรือกล้องฟิล์ม แต่เมื่อใช้งานกับกล้องที่ใช้เซ็นเซอร์ขนาด APS-C หรือกล้องตัวคูณ จะมีทางยาวโฟกัสเป็นระยะ 112-480 มม. โครงสร้างของตัวเลนส์ ประกอบด้วยชิ้นเลนส์ 17 ชิ้น จัดเป็น 12 กลุ่ม มีชิ้นเลนส์พิเศษ UD (Ultra Low Dispersion) 1 ชิ้น ซึ่งจะช่วยปรับแก้ไขความผิดพลาด ต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น อาทิ การเกิดอาการขอบภาพเหลื่อม หรือ CA หรือที่เรียกกันติดว่าขอบม่วง ขอบเขียวนั่นเอง นอกจากนี้ยังให้คอนทราสต์ของภาพที่ดีเยี่ยมอีกด้วย

อีกจุดหนึ่งที่ได้รับการพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานใหม่ของเลนส์ Canon EF 70-300mm F4-5.6 IS II USM คือ ใช้ระบบโฟกัสแบบ NANO USM ซึ่งแตกต่างจากระบบ USM หรือ Ultrasonic Motor เดิมที่เป็นการผสมผสานระหว่างระบบโฟกัส USM ที่ตอบ สนองการโฟกัสได้รวดเร็วฉับไว และแม่นยำแล้ว ยังใช้ระบบ STM ที่ตอบสนองการโฟกัสได้อย่างเงียบเชียบ ปราศจากเสียงรบกวน โดยเฉพาะเมื่อต้องใช้ในการบันทึกวิดีโอ รวมทั้งเมื่อต้องนำไปถ่ายภาพสัตว์ป่าในธรรมชาติ ที่ไม่ต้องการเสียงรบกวน ที่อาจจะทำให้สัตว์ที่มีสัญชาตญาณที่ไวอยู่แล้ว เกิดแตกตื่นตกใจและหนีไปได้ นอกจากนี้ ยังออกแบบให้สามารถปรับโฟกัสเองแบบแมนนวลได้ตลอดเวลา ถึงแม้ว่าวงแหวนโฟกัสจะอยู่ที่ตำแหน่งออโต้ก็ตาม ซึ่งมีประโยชน์สำหรับมืออาชีพที่ต้องการความละเอียดในการโฟกัส และปรับเปลี่ยนจุดโฟกัสได้ตลอดเวลาตามความต้องการด้วย

ระบบโฟกัสเป็นแบบ Internal Focus หรือ IF ซึ่งเป็นการเคลื่อนที่ของชิ้นเลนส์ในกระบอกเลนส์ ทำให้ ขนาดของตัวเลนส์ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะปรับโฟกัสที่ระยะใด รวมทั้งหน้าเลนส์ไม่มีการเคลื่อนไหว หรือไม่หมุนตามเมื่อปรับโฟกัส ช่วยให้ใช้งานฟิลเตอร์ผลพิเศษต่างๆ อาทิ ฟิลเตอร์ C-PL หรือฟิลเตอร์ ND Graduate ได้สะดวก โดยไม่ต้องคอยปรับหมุนเอฟเฟคต์ของฟิลเตอร์ใหม่ทุกครั้ง หลังการโฟกัส ส่วนหน้าต่างแสดงผลระยะโฟกัสออกแบบให้เป็นแบบ LCD เลือกรูปแบบการทำงานได้ 3 แบบด้วยกัน นั่นคือ การแสดงผลระยะโฟกัส, การแสดงผลทางยาวโฟกัส เมื่อปรับซูมเลนส์ โดยแสดงระยะปกติเมื่อใช้งานกับกล้องฟูลเฟรม และระยะที่ปรับชดเชย

สำหรับระบบป้องกันการสั่นไหว IS ถือเป็นตัวช่วยที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากสำหรับเลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสสูงๆ เพราะมีโอกาสที่จะเกิดการสั่นไหวจากความเร็วชัตเตอร์ที่ตํ่ากว่าปกติได้ง่ายๆ โดยชดเชยความเร็วชัตเตอร์ได้ถึง 4 สตอป ซึ่งช่วยให้ถือกล้องถ่ายภาพด้วยมือได้อย่างคมชัดด้วยความเร็วชัตเตอร์ตํ่ากว่าปกติ ดังนั้นจึงช่วยให้สะดวกกับการใช้งานมากขึ้น เพราะไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ ขาตั้งกล้องทุกๆ ครั้ง หรือในกรณีที่ไม่จำเป็นต้องใช้แฟลช เพื่อบันทึกสภาพแสงตามธรรมชาตินั่นเอง

จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของเลนส์ Canon EF 70-300mm F4-5.6 IS II USM สามารถถ่ายภาพได้ใกล้มากถึง 1.2 เมตร ทำให้ถ่ายภาพวัตถุบางอย่างได้แบบใกล้ชิดเลยทีเดียว ซึ่งช่วยให้เน้นความโดดเด่นเฉพาะซับเจคต์ได้ด้วย นอกจากนี้ ยังมีไดอะแฟรม 9 กลีบ ให้รูรับแสงรูปวงกลม ทำให้โบเก้หรือส่วนที่อยู่นอกระยะโฟกัสเบลอสวยงามอย่างเป็นธรรมชาติ เหมาะสำหรับถ่ายภาพบุคคลด้วยเช่นกัน


การใช้งาน

กล้อง Canon EOS 77D เลนส์ Canon EF 70-300mm F4-5.6 IS II USM โหมด M ชัตเตอร์ 1/1000 วินาที f/5.6, ISO 200, WB: Auto ซูมเลนส์ 155 มม. (เทียบเท่าระยะ 248 มม. ของระบบฟิล์ม 35 มม.)

ผมเองเคยได้ข่าวตอนที่แคนนอนจดสิทธิบัตรเลนส์ 70-300 มม. ที่มีจอแสดงผล LCD แทนหน้าต่างแสดงผลระยะโฟกัส ซึ่งหลังจากที่เลนส์ตัวจริงออกวางจำหน่าย ผมเองยังรู้สึกได้ว่าเป็นเลนส์ที่ออกแบบได้สวยงามลงตัวทีเดียว ดูเผินๆ อาจจะมีโครงสร้างคล้ายๆ กับเลนส์ EF 70-300mm ในซีรีย์ L อยู่บ้าง ที่มีวงแวนปรับควบคุม 2 วงแหวนเช่นกัน

การปรับควบคุม หรือการปรับเลือกรูปแบบการแสดงผลที่จอ LCD ออกแบบให้ใช้งานง่ายๆ จากปุ่มที่อยู่บนตัวเลนส์นั่นเอง ซึ่งเป็นการปสดงผลวนซํ้าไประหว่าง 3 รูปแบบการทำงาน นั่นคือการแสดงผลระยะโฟกัสปกติเหมือนเลนส์อื่นๆ แต่พิเศษที่สเกลแสดงระยะชัดลึกจะปรับไปตามระยะซูมเลนส์ด้วย หน้าต่างแสดงผลระยะซูมเลนส์ แสดงระยะซูมเป็นเลขเดียวกับระยะบนกระบอกเลนส์ เมื่อใช้งานกับกล้องฟูลเฟรมแต่ถ้าใช้งานกับกล้องตัวคูณ จอ LCD จะแสดงระยะที่ถูกปรับ 1.6 เท่าแล้ว และรูปแบบสุดท้าย เป็นหน้าต่างแสดงผลระดับของการสั่นไหว ทั้งในแนวตั้งและแนวนอน หรือการแพนกล้อง ซึ่งสะดวกเมื่อต้องถ่ายภาพหรือบันทึกวิดีโอ โดยใช้ Live View ด้วยนั่นเอง

ให้สีสันที่อิ่มตัว และคอนทราสต์ที่ดีเยี่ยม กล้อง Canon EOS 77D เลนส์ Canon EF 70-300mm F4-5.6 IS II USM โหมด M ชัตเตอร์ 1/320 วินาที f/5.6, ISO 200, WB: Auto ซูมเลนส์ 300 มม. (เทียบเท่าระยะ 480 มม. ของระบบฟิล์ม 35 มม.)

การตอบสนองการโฟกัสทำได้ดีจนผมทึ่ง ตอนแรกก็คิดว่าต้องโฟกัสได้เร็วอยู่แล้วครับ แต่พอได้ใช้งานจริง เร็วตามสั่งได้จริงๆ ไม่มีอาการวืดวาดให้เห็นนัก คือมีบ้าง เวลาย้อนแสง หรือในสภาพที่แสงน้อยและคอนทราสต์ตํ่าจริงๆ แต่สำหรับการใช้งานทั่วๆ ไป บอก ได้เลยครับ ว่าเร็วและแม่นยำดีทีเดียว นอกจากนี้ การผสมผสานระบบโฟกัสแบบ USM กับมอเตอร์ STM หรือที่แคนนอนเรียกว่า NANO USM ก็ทำได้อย่างยอดเยี่ยม เพราะนอกจากจะตอบสนองโฟกัสได้เร็วตามสไตล์ USM แล้ว ยังปรับโฟกัสได้เงียบเชียบอีกด้วย ซึ่งสำหรับ ผู้ที่ใช้งานวิดีโออยู่เป็นประจำน่าจะชอบใจแน่ๆ ครับ

หนึ่งในความโดดเด่นของเลนส์เทเลซูม 70-300 มม. นี้คือ มีระบบป้องกันการสั่นไหวในตัว ซึ่งมีมาตั้งแต่รุ่นแรกๆ ที่ปรับระยะซูมมาเป็น 70-300 มม. ซึ่งวางจำหน่ายมากว่า 12 ปีแล้ว ก่อนที่จะปรับมาเป็น L-Series ด้วยซํ้าไป ซึ่งระบบป้องกันการสั่นไหวใหม่นี้ รองรับการใช้งานโดยการถือกล้องด้วยมือ แล้วยังได้ภาพที่คมชัด ถึงแม้ว่าจะถ่ายภาพที่ความเร็วชัตเตอร์ตํ่ากว่าปกติสูงสุดถึง 4 สตอป เลือกใช้งานได้จากสวิทช์เปิดและปิดการทำงานที่ข้างๆ ตัวเลนส์ ซึ่งส่วนใหญ่ผมจะเปิดระบบไว้ตลอดเวลา เพราะช่วยได้มากทีเดียว เมื่อ ถ่ายภาพในที่แสงน้อยๆ หรือเมื่อต้องซูมเลนส์ที่ระยะเทเลยาวสุด โดยผมใช้งานกับกล้อง Canon EOS 77D ซึ่งเป็นกล้องตัวคูณ ดังนั้นทางยาว โฟกัสจะสูงมากกว่าเมื่อใช้กับกล้องฟูลเฟรม และมีโอกาสสั่นไหวมากกว่าด้วยเช่นกันครับ

ระบบป้องกันการสั่นไหว ช่วยให้ถ่ายภาพในสภาพแสงน้อยๆ ด้วยความเร็วชัตเตอร์ต่ำกว่าปกติ และถือกล้องด้วยมือได้อย่างยอดเยี่ยม กล้อง Canon EOS 77D เลนส์ Canon EF 70-300mm F4-5.6 IS II USM โหมด M ชัตเตอร์ 1/40 วินาที f/5.6, ISO 1600, WB: Tungsten ซูมเลนส์ 95 มม. (เทียบเท่าระยะ 152 มม. ของระบบฟิล์ม 35 มม.)

ผมมีโอกาสลองถ่ายภาพนางแบบในสตูดิโอ โดยเป็นการถ่ายภาพจากแสงไฟนำของแฟลชสตูดิโอเท่านั้น เพราะไม่อยากรบกวนการทำงานของช่างภาพหลัก ที่ใช้แฟลชในการถ่ายภาพ ซึ่งหลอดไฟนำนั้น ไม่ได้สว่างมากมายนัก ผมปรับความไวแสงไปที่ ISO1600 และใช้ความเร็วชัตเตอร์ประมาณ 1/40-1/60 วินาที และซูมเลนส์หลายๆ ช่วง บางภาพนั้น ผมซูมเลนส์ที่ระยะประมาณ 200 มม. เพื่อถ่ายแบบ Head Shot ซึ่งเทียบเท่าเลนส์ระยะ 320 มม. ของระบบฟิล์ม 35 มม. ด้วยความเร็วชัตเตอร์ 1/40 วินาที หรือตํ่ากว่าความเร็วชัตเตอร์ปกติ 3 สตอป ซึ่งภาพที่ได้ก็ยังคงคมชัดตามที่ต้องการครับ และถ้าหากว่าไม่มีระบบป้องกันการสั่นไหว ความเร็วชัตเตอร์ขนาดนี้ กับระยะซูม เลนส์ประมาณนี้ มีโอกาสชัดน้อยมากทีเดียวครับ

ตัวเลนส์ออกแบบให้รูรับแสงปรับเปลี่ยนไปตามระยะซูม โดยที่ระยะใกล้สุด 70 มม.นั้น ปรับรูรับแสงได้ที่ f/4 แต่พอปรับซูมเลนส์มาที่ระยะประมาณ 80 มม. รูรับแสงจะเริ่มเปลี่ยนเป็น f/4.5 ปรับซูมเลนส์มาที่ระยะ 105 มม. รูรับแสงจะเปลี่ยนเป็น f/5 และพอปรับมาที่ระยะ 175 มม. รูรับแสงจะปรับเป็น f/5.6 ตลอดทั้งช่วงซูมเลนส์ที่เหลือ ซึ่งจะว่ากันตามจริงแล้ว ก็ถือว่าเป็นเลนส์ที่สว่างอยู่พอสมควร เพราะต่างกันเพียงแค่ 1 สตอปเท่านั้น ต่างจากบางรุ่น ที่รูรับแสงช่วงเทเลไกลสุด ถูกปรับไปถึง f/6.3 เลยทีเดียว

ตัวเลนส์มีความคมชัด และถ่ายทอดรายละเอียดต่างๆ ได้เป็นอย่างดี กล้อง Canon EOS 77D เลนส์ Canon EF 70-300mm F4-5.6 IS II USM โหมด M ชัตเตอร์ 1/125 วินาที f/5.6, ISO 200, WB: Auto ซูมเลนส์ 135 มม. (เทียบเท่าระยะ 216 มม. ของระบบฟิล์ม 35 มม.)

ความคมชัดก็ถือว่าทำได้อย่างยอดเยี่ยม โดยที่ f/4-5.6 ระยะซูม 70 มม. ความคมชัดกลางภาพดีมาก ส่วนขอบภาพจะซอฟท์เล็กน้อย เมื่อใช้กับกล้องฟูลเฟรม แต่พอใช้กับกล้องตัวคูณ ที่ f/5.6 ความคมชัดทั้งกลางภาพและขอบภาพทำได้ดีทีเดียว ความคมชัดดีเยี่ยมทั้งขอบภาพและกลางภาพที่ f/11-f/16 ส่วนที่ f/22-32 ความคมชัดลดลงไปพอสมควรทีเดียว โดยรวมถือว่าเป็นเลนส์ที่ให้ความคมชัดรวมทั้งให้คอนทราสต์ ในระดับที่ดีทีเดียวครับ

อาการฟุ้งและแฟลร์นั้น ไม่มีให้เห็นตลอดทั้งการใช้งาน ซึ่งถือว่ามีการเคลือบผิวเลนส์ที่ดีเยี่ยม ถึงแม้ว่าตลอดทั้งการทดสอบจะไม่ได้ใช้ฮูด รวมทั้งมีการถ่ายภาพย้อนแสงอยู่หลายๆ ครั้งก็ตาม ส่วน CA นั้นมีให้เห็นค่อนข้างน้อยถึงน้อยมาก จะมีบ้างที่รูรับแสงกว้างสุด แต่พอหรี่ลงมาประมาณ 2/3 หรือ 1 สตอป ก็ไม่มีให้เห็นครับ


สรุปผลการใช้งาน

กล้อง Canon EOS 77D เลนส์ Canon EF 70-300mm F4-5.6 IS II USM โหมด M ชัตเตอร์ 1/320 วินาที f/5.6, ISO 200, WB: Auto ซูมเลนส์ 300 มม. (เทียบเท่าระยะ 480 มม. ของระบบฟิล์ม 35 มม.)

สำหรับผู้ที่ต้องการเลนส์เทเลโฟโต้ซูม ช่วงต่อจากเลนส์คิทติดกล้องเพื่อรองรับการใช้งานที่ครอบคลุมรูปแบบการถ่ายภาพทั้งหมด แต่ยังคงต้องการเลนส์ที่มีขนาดกะทัดรัด ไม่ใหญ่เทอะทะมากมายนัก และพกพาได้สะดวก เชื่อว่าน่าจะต้องถูกใจเลนส์ Canon EF 70-300mm F4-5.6 IS II USM ตัวนี้อย่างแน่นอน เพราะไม่เพียงจะมีการออกแบบที่สวยงามแล้ว แต่ยังสามารถเติมเต็มประสิทธิภาพการทำงานที่ช่างภาพหลายๆ คนต้องการ ทั้งระบบโฟกัสที่ตอบสนองการใช้งานที่รวดเร็ว และโฟกัสได้เงียบเชียบ ปราศจากเสียงรบกวน มีระบบป้องกันการสั่นไหวที่ช่วยให้ถ่ายภาพด้วยความเร็วชัตเตอร์ตํ่ากว่าปกติ โดยการถือกล้องถ่ายภาพด้วยมือโดยไม่ต้องพกพาขาตั้งกล้องให้เป็นภาระอีกด้วย

ขอบคุณ  บริษัท แคนนอน มาร์เก็ตติ้ง ไทยแลนด์ จำกัดสำหรับความอนุเคราะห์ กล้องและเลนส์ที่ใจในการทดสอบ
ข้อมูลเพิ่มเติม  : www.canon.co.th

เรื่อง / ภาพ : พีร วงษ์ปัญญา


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


หรือสนใจดูรีวิวรุ่นอื่นๆ ได้ที่นี่
https://test2.fotoinfo.online/reviews-previews/reviews-reviews