Lenses Reviews

Reviews : Sony FE 16-35mm F2.8 G Master

เลนส์ซูมมุมกว้างเกรดโปรรุ่นล่าสุดจากโซนี่ ออกแบบสำหรับกล้อง Mirrorless ตระกูล A7 และ A9 ที่ใช้เม้าท์เลนส์แบบ FE-mount รวมทั้งใช้กับกล้อง APS-C แบบ E-mount ได้ โดยทางยาวโฟกัสจะเทียบเท่าระยะ 24-52.5 มม. (ของระบบฟิล์ม 35มม.) ตัวเลนส์ได้รับการออกแบบพิเศษ รองรับกล้องถ่ายภาพความละเอียดสูงอย่าง A7R รวมทั้งกล้องที่จะออกมาใหม่ในช่วงหลังๆ ด้วย โดยเลนส์ G Master เป็นเลนส์ที่รองรับการใช้งานในระดับมืออาชีพ ที่ต้องการไฟล์ภาพคุณภาพสูง ให้ความคมชัดสูงสุด และถ่ายทอดสีสัน รวมทั้งคอนทราสต์ที่ดูเป็นธรรมชาติ นอกจากนี้ยังโดดเด่นที่มีขนาดรูรับแสง F2.8 ตลอดทั้งช่วงซูม และใช้ไดอะแฟรม หรือกลีบรูรับแสงมากถึง 11 กลีบ ดังนั้นจึงให้โบเก้ที่กลมสวย อย่างเป็นธรรมชาติอีกด้วย

จุดเด่นของ Sony FE 16-35mm F2.8 G Master

  • เลนส์ FE-mount สำหรับกล้องฟูลเฟรม
  • เป็นเลนส์เกรดโปร G Master
  • ออกแบบให้ใช้งานได้ทั้งกล้องฟูลเฟรม และกล้อง APS-C
  • รูรับแสงกว้างสุด F2.8 ทุกช่วงซูม
  • ไดอะแฟรม 11 กลีบ
  • มีระบบป้องกันการสั่นไหว OSS
  • มอเตอร์โฟกัส SSW
  • ตัวบอดี้ออกแบบป้องกันนํ้าและฝุ่นละออง

ประสิทธิภาพ และการออกแบบ

Sony FE 16-35mm F2.8 G Master ออกแบบได้สวยงามทีเดียว หน้าเลนส์มีขนาดใหญ่ ใช้งานกับฟิลเตอร์ขนาด 82 มม. ถัดมาเป็นเขี้ยวล็อกสำหรับฮูดรูปกลีบดอกไม้ บนฮูดมีปุ่มปลดล็อกเมื่อไม่ใช้งานด้วย ถัดมาเป็นวงแหวนโฟกัส และบนกระบอกเลนส์มีปุ่ม Hold สำหรับหยุดหรือล็อกโฟกัส เมื่อใช้ระบบโฟกัสแบบต่อเนื่อง เพื่อจัดองค์ประกอบใหม่ตามที่ต้องการ พร้อมตัวอักษร G สีแดง ถัดมาเป็นวงแหวนปรับซูม มีขนาดค่อนข้างใหญ่ หุ้มด้วยยางเซาะร่องให้จับได้ถนัดมือดี ส่วนด้านข้างเป็นสวิทช์ปรับเลือกระบบโฟกัส AF/MF ท้ายสุดเป็นเม้าท์เลนส์ พร้อมขั้วไฟฟ้าสำหรับเชื่อมต่อการทำงานกับตัวกล้อง

โครงสร้างตัวเลนส์ประกอบด้วยชิ้นเลนส์ 16 ชิ้น จัดเป็น 13 กลุ่ม โดยมีชิ้นเลนส์พิเศษ อย่างชิ้นเลนส์ Aspherical 3 ชิ้น, ชิ้นเลนส์ XA (Extreme Aspherical) 2 ชิ้น และชิ้นเลนส์ ED (Extra Low Dispersion) 2 ชิ้น ซึ่งชิ้นเลนส์พิเศษต่างๆ เหล่านี้ ช่วยให้ได้ภาพคุณภาพสูง และถ่ายทอดรายละเอียดต่างๆ ได้ครบถ้วน มีความคมชัดทั่วทั้งเฟรมภาพ และตลอดทั้งช่วงซูม ถึงแม้ว่าจะถ่ายภาพที่ขนาดรูรับแสงกว้างสุดก็ตาม รวมทั้งยังให้คอนทราสต์ของภาพดีเยี่ยม นอกจากนี้ยังเคลือบผิวเลนส์ด้วยเทคโนโลยี NANO AR และ Fluorine Coating ช่วยลดการกระจายของแสงในกระบอกเลนส์ ลดอาการแสงฟุ้งและแฟลร์ ช่วยให้ได้ภาพที่มีสีสันอิ่มตัวอีกด้วย

ซ้าย : ด้านข้างตัวเลนส์มีปุ่ม Hold Focus และสวิทช์เลือกระบบโฟกัส AF/MF
ขวา : ซูมเลนส์ที่ระยะ 16 มม. เลนส์ชุดหน้าจะยื่นออกไปอีกเล็กน้อย แต่ด้านหน้าเลนส์ไม่หมุนตามทั้งเมื่อปรับซูมเลนส์และปรับโฟกัส

ซ้าย : เม้าท์เลนส์เป็นโลหะ ให้ความแข็งแรงในการใช้งาน พร้อมขั้วเชื่อมต่อไฟฟ้าสำหรับควบคุมการทำงานผ่านตัวกล้อง
ขวา : ด้านหน้าเลนส์ระบุทางยาวโฟกัสของเลนส์ ระยะโฟกัสใกล้สุด และขนาดฟิลเตอร์ที่ใช้

Sony FE 16-35mm F2.8 G Master ตอบสนองการโฟกัสได้เร็วและเงียบเชียบ จากมอเตอร์โฟกัส Direct Drive Super Sonic Wave (DDSSW) ตัวเลนส์ไม่มีหน้าต่างแสดงระยะโฟกัส เมื่อเลือกระบบโฟกัสแบบ AF วงแหวนโฟกัสด้านหน้าจะหมุนฟรี ส่วนระบบโฟกัสแบบ MF กล้องจะแสดง Peaking (เมื่อเปิดใช้งาน) และเมื่อหมุนวงแหวนโฟกัส กล้องจะปรับซูมขยายภาพขึ้นมา 5 เท่า เพื่อให้ปรับโฟกัสเองง่ายขึ้นด้วย ส่วนเมื่อต้องการปรับโฟกัสเองในระบบออโต้โฟกัสด้วย จะต้องเลือกรูปแบบโฟกัสเป็น DMF เสียก่อน และกล้องจะแสดงแถบสี Peaking ไว้ ตลอดเวลา Sony FE 16-35mm F2.8 G Master ใช้ระบบโฟกัสแบบ Inner focus ซึ่งเป็นการขยับเคลื่อนที่ของชิ้นเลนส์อยู่ภายในกระบอกเลนส์ ทำให้ด้านหน้าเลนส์ไม่หมุนตามการโฟกัส ซึ่งก็สะดวกกับการใช้งานฟิลเตอร์พิเศษอย่างโพลาไรซ์ ที่จะต้องหมุนด้านหน้าเพื่อปรับเอฟเฟคต์ ตามมุมภาพที่ต้องการได้อย่างสะดวกนั่นเอง นอกจากนี้ ตามรอยต่อต่างๆ ของเลนส์ได้รับการซีลป้องกันฝุ่นและละอองนํ้า เมื่อต้องใช้งานในสภาพอากาศที่เลวร้าย ช่วยให้รองรับการใช้งานหนักๆ แบบมืออาชีพได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

ปุ่ม Hold Focus ที่ตัวเลนส์ สามารถปรับตั้งเป็นปุ่มคีย์ลัดได้หลายรูปแบบ นอกเหนือจากการเป็นปุ่ม Hold Focus ตามปกติ


การใช้งาน

มุมมองกว้างๆ ทำให้เก็บบรรยากาศพื้นรอบๆ ได้เป็นอย่างดีทีเดียว Sony A7R II เลนส์ Sony FE 16-35mm F2.8 G Master โหมด M ชัตเตอร์ 1/15 วินาที f/11, ISO200, WB:Daylight ซูมเลนส์ 16 มม.

ผมได้รับเลนส์ Sony FE 16-35mm F2.8 G Master มาพร้อมๆ กับบอดี้กล้อง Sony A7R II ซึ่งเป็นกล้องที่ใช้เซ็นเซอร์ภาพแบบฟูลเฟรม ความละเอียดสูง ผมมีโอกาสใช้งานอยู่ร่วมๆ สองสัปดาห์ ถ่ายภาพไปค่อนข้างเยอะอยู่เหมือนกัน ตัวเลนส์มีนํ้าหนักค่อนข้างมาก เนื่องจากเป็นเลนส์ที่มีขนาดรูรับแสงกว้างถึง F2.8 ของฟอร์แมทฟูลเฟรม รวมทั้งมีโครงสร้างที่แข็งแรงด้วยนั่นเอง แต่ก็ให้การจับถือที่ถนัดมากขึ้น และกระชับมือดีด้วยครับการปรับซูมจากระยะ 16 มม. ไปที่ระยะ 35 มม. เป็นการปรับหมุนเพียงสั้นๆ ไม่ถึง 1/4 ของรอบวง ทำให้ปรับซูมได้อย่างรวดเร็วและเลนส์ชุดหน้าจะยื่นยาวออกมาอีกประมาณ 1.5 เซ็นติเมตร แต่ระยะโฟกัสใกล้สุดยังคงเดิมที่ 28 เซ็นติเมตร ไม่ว่าจะซูมที่ระยะ 16 หรือ 35 มม. ก็ตาม ทำให้สร้างสรรค์ภาพพิเศษ หรือมุมภาพแปลกๆ ได้อย่างง่ายดายตามเพอร์สเปคทีฟของเลนส์อีกด้วย ปกติผมเองก็ชอบถ่ายภาพแนว Landscape และชอบช่วงเลนส์ประมาณนี้อยู่แล้ว โดยมุมมองของเลนส์ที่ 16 มม. กว้างประมาณ 108 องศา ทำให้เก็บบรรยากาศได้แทบจะทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายภาพในพื้นที่ Outdoor ปกติ หรือเมื่อต้องถ่ายภาพอยู่ในพื้นที่คับแคบก็ตาม รวมทั้งช่วง 35 มม. ยังเป็นช่วงที่สามารถใช้ถ่ายภาพบุคคลได้ด้วยเช่นกัน ตัวเลนส์มีการตอบสนองการโฟกัสรวดเร็วฉับไวตามสไตล์เลนส์เกรดโปร ถึงจะไม่ใช้แบบแตะปุ๊บเข้าโฟกัสปั๊บ แต่ก็ไม่ได้ช้าจนถึงขนาดไม่ทันใจแต่อย่างใดครับ ยกเว้นในสภาพแสงน้อยๆ ก็อาจจะช้ากว่าในสภาพแสงปกติอยู่บ้างเป็นธรรมดาครับ

Sony A7R II เลนส์ Sony FE 16-35mm F2.8 G Master โหมด M ชัตเตอร์ 1/320 วินาที f/4, ISO400, WB:Daylight ซูมเลนส์ 16 มม.

คุณภาพของไฟล์ภาพที่ได้จากเลนส์ตัวนี้ ถือว่ายอดเยี่ยมทีเดียวครับ สามารถถ่ายทอดรายละเอียดของพื้นผิว หรือรายละเอียดของซับเจคต์ทั้งในโทนมืดและโทนสว่างได้ดีเยี่ยม ทั้งในช่วงซูมกว้างสุด, ช่วงซูมเลนส์ระยะกลางๆ และเมื่อซูมไกลที่สุด หรือช่วง 35 มม. สำหรับความคมชัดนั้นดีเยี่ยมตั้งแต่เอฟแรกๆ ทั้งที่ขอบภาพและกลางภาพ ซึ่งเลนส์เกรดธรรมดานั้น ตามขอบๆ หรือมุมภาพมักจะมีอาการฟุ้งให้เห็น ไม่คมชัดมากนัก ส่วนเลนส์เกรดโปร หรือเลนส์คุณภาพสูงจะมีความคมชัดตามขอบภาพที่ดีกว่า ความคมชัดที่อยู่ในระดับที่ดีเยี่ยมนั้น จะเป็น ช่วงตั้งแต่ f/5.6 ไปจนถึง f/16 ครับ ส่วนที่ f/22 ความคมชัดลดลงเล็กน้อย แต่ยังคงอยู่ในระดับที่ดี ซึ่งสำหรับผมแล้วสามารถใช้งานได้อย่างไม่เป็นปัญหา ถ้าหากว่ามีความจำเป็นที่จะต้องใช้รูรับแสงถึง f/22 จริงๆ ครับ

การจัดการแสงแฟลร์ทำได้อย่างยอดเยี่ยม ถึงแม้จะเป็นการถ่ายภาพย้อนแสงตรงๆ ก็ตาม Sony A7R II เลนส์ Sony FE 16-35mm F2.8 G Master โหมด M ชัตเตอร์ 1/800 วินาที f/16, ISO200, WB:Daylight ซูมเลนส์ 16 มม.

การจัดการกับอาการ CA หรือ Chromatic Aberration ทำได้ดีเยี่ยมทีเดียวครับ มีให้เห็นบ้างเล็กน้อยเมื่อใช้รูรับแสงกว้างๆ แต่ก็หายไปเมื่อหรี่รูรับแสงลงมาประมาณ F5.6 นอกจากนี้อาการฟุ้งของแสง และอาการแฟลร์ก็ไม่มีให้เห็นเช่นเดียวกันครับ ซึ่งมีภาพที่ผมถ่ายแบบย้อนแสงที่ดวงอาทิตย์ส่องเข้ามาตรงๆ แต่ก็ไม่มีอาการแฟลร์มารบกวนภาพแต่อย่างใดครับ ส่วนอาการ Distortion มีให้เห็นได้บ้างที่ระยะ 16 มม. แต่พอซูมเลนส์ออกมาเล็กน้อยประมาณช่วง 18 มม. อาการก็หายไปครับ และอาการ Vignette ที่ 16 มม. f/2.8 เห็นได้ค่อนข้างชัดเจนตามมุมภาพ ทั้ง 4 มุม และหายไปเมื่อซูมเลนส์มาที่ระยะ 24 มม. หรือหรี่รูรับแสงลงมาประมาณ f/5.6 ครับ
จุดเด่นอย่างหนึ่งที่ผมชอบในตัวเลนส์คือมีปุ่ม Hold Focus สำหรับหยุด หรือล็อกโฟกัส เมื่อถ่ายภาพด้วยระบบโฟกัสแบบต่อเนื่อง หรือ AF-C แล้วต้องการถ่ายภาพซับเจคต์บางอย่างที่อยู่นิ่งๆ รวมทั้งเมื่อปรับโฟกัสแล้วต้องการจัดองค์ประกอบภาพใหม่ด้วย ซึ่งตัวซับเจคต์หลักอาจจะหลุดไปจากจุดโฟกัสในเฟรมภาพ สามารถกดปุ่มเพื่อไม่ให้กล้องโฟกัส โดยไม่จำเป็นที่จะต้องปรับระบบโฟกัสไป-มาบ่อยๆ นั่นเอง นอกจากนี้ ถ้าหากว่าไม่ได้ใช้งานเพื่อเป็นปุ่ม Hold Focus ก็สามารถตั้งค่าให้เป็นปุ่มคีย์ลัด สำหรับปรับการทำงานอื่นๆ อาทิ ปุ่มเลือกใช้งาน Peaking, ปุ่มเลือกระบบโฟกัส, ปุ่มปรับชดเชยแสง หรือไม่ปรับใช้งานเลยก็ได้ การปรับตั้งก็เข้าไปที่เมนู Custom Key Setting แล้วเลือกเมนู ย่อย Focus Hold Cutton ครับ


สรุปผลการใช้งาน

Sony A7R II เลนส์ Sony FE 16-35mm F2.8 G Master โหมด M ชัตเตอร์ 1/60 วินาที f/8, ISO200, WB:Daylight

ยอมรับตรงๆ ว่าถูกใจเลนส์ Sony FE 16-35mm F2.8 G Master ตัวนี้อยู่มากทีเดียวครับ ผมเองถ่ายภาพวิวทิวทัศน์ หรือถ่ายภาพแนว Landscape อยู่บ่อยๆ ช่วงเลนส์ระยะนี้ถือว่าตอบสนองการใช้งานได้เป็นอย่างดี ซึ่งจริงๆ ก็ไม่เจาะจงว่าจะเป็น Landscape เพียงอย่างเดียว แต่สามารถนำมาถ่ายภาพบุคคล รวมทั้งบุคคลกับวิวทิวทัศน์ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย จุดที่โดดเด่นกว่าเลนส์ของโซนี่ระยะเดียวกันที่ออกมาก่อนหน้า หรือเลนส์ Zeiss 16-35mm F4 คือมีขนาดรูรับแสงกว้างกว่า 1 สตอป แต่ Zeiss ก็มีจุดเด่นที่ระบบป้องกันการสั่นไหวในตัว และขนาด ที่เล็กกว่า การเลือกใช้ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการใช้งานล่ะครับ สำหรับผมแล้ว ระบบป้องกันการสั่นไหวในเลนส์ จะเหมาะสำหรับกล้อง Mirrorless ของโซนี่ในช่วงแรกๆ ที่ไม่มีระบบนี้ในตัวกล้องมากกว่า ดังนั้น เมื่อมีอยู่ในตัวกล้องแล้ว ที่ตัวเลนส์ก็ไม่จำเป็นล่ะครับ ถึงแม้ว่าจะมีเทคโนโลยีที่สามารถประสานการทำงานกันได้ก็ตาม เพราะถ้าเป็นงานที่ซีเรียสมากๆ ผมก็ตั้งกล้องบนขาตั้งอยู่แล้วล่ะครับ

ดังนั้น ผมจึงเลือกใช้งาน Sony FE 16-35mm F2.8 G Master โดยไม่ลังเลครับ เพราะความคมชัด สีสัน และคอนทราสต์สำหรับผมผ่านฉลุยอยู่แล้วล่ะครับ ของแบบนี้ก็แล้วแต่ความพอใจล่ะครับ ยังไง ไปลองเล่นลองจับของจริง ลองไฟล์ดูก่อนครับ เพื่อประกอบการตัดสินใจ ส่วนผม Highly Recommended สำหรับเลนส์ Sony FE 16-35mm F2.8 G Master ตัวนี้ครับ

ขอบคุณ บริษัท โซนี่ไทย จำกัด สำหรับความอนุเคราะห์กล้องและเลนส์ที่ใช้ในการทดสอบ
ข้อมูลเพิ่มเติม : www.sony.co.th

เรื่อง / ภาพ : พีร วงษ์ปัญญา

อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^

(SCAN QR CODE ด้านล่างเพื่อเพิ่มเพื่อนใน Line อีกหนึ่งช่องทางในการติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ)


หรือสนใจดูรีวิวรุ่นอื่นๆ ได้ที่นี่
https://test2.fotoinfo.online/reviews-previews/reviews-reviews