Lenses Reviews

Reviews : Sony FE 200-600mm F5.6-6.3G OSS

ในช่วง 3-4 ปีมานี้ เลนส์เทเลซูมทางยาวโฟกัสสูงช่วง 150-600 มม. ได้รับความนิยมอย่างมากเพราะเป็นเลนส์ที่ใช้ถ่ายภาพ Wildlife ภาพนก และภาพกีฬา ได้ดีพอควร แม้ความสว่างของเลนส์ระดับ f/5.6-6.3 จะไม่สูงเท่าเลนส์ซุปเปอร์เทเลโฟโต้ คุณภาพจะยังเทียบชั้นไม่ได้ แต่เลนส์เทเลซูมเหล่านี้ก็ทดแทนด้วยการใช้งานที่คล่องตัวและราคาที่จับต้องได้สำหรับนักถ่ายภาพทั่วๆ ไป ทำให้ตลาดของเลนส์กลุ่มนี้โตขึ้นอย่างมาก

สำหรับผู้ที่ใช้กล้องโซนี่อัลฟ่า หากต้องการใช้เลนส์ 150-600 มม. ก็จำเป็นต้องใช้เลนส์ร่วมกับอแดปเตอร์เพื่อเปลี่ยนเมาท์จากค่ายอื่นมาเป็น E Mount ซึ่งในการใช้งานแม้จะยังได้คุณภาพเหมือนเดิมแต่ประสิทธิภาพของระบบออโตโฟกัสจะลดลง ทำให้ความเร็วในการโฟกัส ความเร็วในการแทรคกิ้งลด และโซนี่ก็คงมองเห็นตลาดส่วนนี้ว่าเป็นตลาดใหญ่ที่ต้องเสริมไลน์อัพเลนส์เข้ามา เพียงแต่โซนี่ไม่ทำช่วงเลนส์เป็น 150-600 มม. แต่ผลิตออกมาเป็นเลนส์ช่วง 3X ทางยาวโฟกัส 200-600 มม.

FE200-600mm f/5.6-6.3G OSS คือเลนส์ซุปเปอร์เทเลซูมที่ออกแบบมาสำหรับกล้องมิเรอร์เลสโดยเฉพาะ ที่น่าสนใจคือโซนี่ทำออกมาในซีรีส์ G ด้วยราคาพอๆ กับเลนส์อิสระ คือ 69,990 บาท ซึ่งนับว่าเป็นราคาที่ถูกมากสำหรับเลนส์ G

มีอะไรน่าสนใจในเลนส์รุ่นนี้บ้าง
มาตรฐานเลนส์ G ในราคาน่าทึ่ง เลนส์ G ของโซนี่เป็นเลนส์เกรดโปรที่แม้จะยังไม่ขึ้นไปถึงระดับพรีเมียมอย่าง G Master แต่ก็เป็นเลนส์ที่ออกแบบมาอย่างพิถีพิถันในทุกๆ ด้านเพื่อให้ได้คุณภาพในระดับที่มืออาชีพต้องการ โครงสร้างภายนอกของเลนส์รุ่นนี้เป็นโพลีคาร์บอเนตและอลูมินัมอัลลอย งานการผลิตอยู่ในระดับเลนส์โปร ปราณีต โครงสร้างแข็งแรง ซีลป้องกันละอองนํ้าและฝุ่นรอบตัวเพื่อให้สามารถใช้งานได้ในทุกสภาพอากาศและทุกสถานการณ์

ที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ มันเป็นเลนส์ที่ใช้ระบบ Internal Zoom แตกต่างจากเลนส์รุ่นอื่นๆ ที่เมื่อปรับซูมกระบอกจะยืดออกอีกประมาณ 10-12 ซม. แต่เลนส์รุ่นนี้การปรับจาก 200 มม. ไป 600 มม. ความยาวของกระบอกจะไม่เปลี่ยน ชุดเลนส์จะเคลื่อนภายในเท่านั้น ข้อดีคือ การปรับจะราบเรียบ นุ่มนวลกว่า ใช้กำลังในการหมุนวงแหวนน้อย จึงสะดวกในการใช้งาน โดยเฉพาะเมื่อถ่ายวิดีโอจะเห็นความแตกต่างบนภาพอย่างมากเมื่อต้องซูม และกระบอกซูมจะไม่เลื่อนไหลเมื่อก้มหรือเงยเลนส์ทำให้ทางยาวโฟกัสไม่เปลี่ยน ขนาดภาพไม่เปลี่ยน หรือเมื่อใช้งานในสภาพที่มีฝุ่นละอองมาก ฝนตก จะมั่นใจได้มากกว่าเลนส์ที่กระบอกยืดเข้าออก และยังทำให้บาลานซ์ของเลนส์ดีกว่าเพราะศูนย์ถ่วงไม่เปลี่ยนเมื่อซูม

บนกระบอกเลนส์มีปุ่มล็อกโฟกัส(ใช้ปรับทำหน้าที่อื่นได้) 3 ปุ่มบนกระบอกเลนส์เหมือนที่ใช้ในเลนส์ระดับโปร ช่วยให้การใช้งานมีความคล่องตัวสูง และยังมีสวิทซ์ปรับการทำงานของเลนส์อีก 4 ระบบ คือ สวิทช์เลือกระบบ AF / MF สวิทช์ล็อกช่วงโฟกัส (ปรับการทำงานได้ 3 ช่วง คือ Full 2.4 เมตรถึงอินฟินิตี้ ทำงานเฉพาะช่วง 2.4-10 เมตร และ 10 เมตรถึงอินฟินิตี้) ทั้งนี้เพื่อให้ระบบออโตโฟกัสทำงานตามช่วงระยะการถ่ายภาพอันจะทำให้กล้องโฟกัสได้เร็วขึ้น ถัดลงมาเป็นสวิทช์เปิดปิดระบบป้องกันภาพสั่นไหวของเลนส์ และล่างสุดเป็นสวิทช์เลือกระบบป้องกันภาพสั่นไหว 3 โหมด คือ 1.ใช้งานทั่วไป 2. สำหรับการแพนกล้อง 3. ทำให้ช่องมองนิ่งเพื่อการวางเฟรมจัดองค์ประกอบภาพได้ง่าย

คอลลาร์ออกแบบมาดีมาก แม้จะไม่ได้ทำเป็นเพลท Arca ในตัว แต่การถอดเข้าออกทำได้ง่ายมากโดยหมุนสวิทช์ให้คลายออกแล้วกดปุ่มด้านในของคอลลาร์ค้างไว้แล้วสไลด์เพลทออกได้เลย การล็อกก็แน่นหนามั่นคงดี วงแหวนของคอลลาร์สามารถปรับหมุนได้รอบตัวโดยมีมาร์คแสดงตำแหน่ง 90 องศา แต่ไม่มีคลิ๊กให้ผู้ใช้ทราบเหมือนเลนส์ซุปเปอร์เทเลโฟโต้อย่าง FE400mm F2.8GM และที่ดีมากอีกอย่างหนึ่งคือมีหูร้อยสายสะพายกล้องวางอยู่บนคอลลาร์ด้วย ในการใช้งานควรใส่สายสะพายที่เลนส์เสมอหากใช้งานแบบถือด้วยมือ เพราะจะลดความเสี่ยงต่อเมาท์เลนส์เมื่อต้องเดินหรือวิ่งโดยสะพายเลนส์อยู่ ด้านหน้าเลนส์มีขอบยางกันกระแทกคาดอยู่ ฮูดเป็นแบบทรงกลมระบบเขี้ยวล็อก ทำจากโพลีคาร์บอเนต ด้านหน้าหุ้มด้วยยางเพื่อกันกระแทก ถอดเข้าออกได้สะดวก ความแข็งแรงปานกลาง

งานการผลิตดีมากครับ แทบไม่มีอะไรให้ติ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากราคาขายแล้วต้องบอกว่าดีเกินราคาครับ ตัวเลนส์มาพร้อม Soft Case ผ้าสีดำ

คุณภาพที่ดีตลอดช่วงซูม โซนี่เคลมว่า FE200-600mm f/5.6-6.3G OSS คือเลนส์ที่ออกแบบระบบออพติคมาอย่างพิถีพิถันเพื่อให้ได้คุณภาพยอดเยี่ยมตลอดช่วงซูม ไม่แผ่วที่ช่วง 500-600 มม. เหมือนบางรุ่น โดยการออกแบบใช้ชิ้นเลนส์ 24 ชิ้นจัดเป็น 17 กลุ่ม มีการใช้ชิ้นเลนส์ ED ถึง 5 ชิ้น ที่ตำแหน่งชิ้นที่ 2, 3 (ซึ่งเป็นชิ้นเลนส์ ED ขนาดใหญ่) และชิ้นที่ 5,8,9 เพื่อลดความคลาดสี และใช้ชิ้นเลนส์แอสเฟอริคัลอีก 1 ชิ้นที่ด้านท้ายเพื่อลดความคลาดทรงกลม ช่วยให้ภาพมีความคมชัดสูงตั้งแต่กลางภาพจรดขอบภาพ ผลที่ได้คือความคมชัดที่สูงมาก ที่น่าสนใจคือมันให้ความคมชัดที่ช่วง 600 มม.สูงกว่าที่ช่วง 200 มม. ด้วยซํ้า ดูจากชาร์ต MTF จะเห็นได้ว่าที่ช่วง 600 มม. ความคมชัดยังสูงมากในระดับ 90% ทั้งกลางภาพและขอบภาพ ซึ่งผู้ที่ใช้เลนส์ช่วงนี้จะทราบดีว่ากว่า 70% ของการใช้งานมักจะใช้กันสุดๆ ที่ช่วง 600 มม. ดังนั้นจึงมั่นใจได้ว่าที่ช่วง 600 มม.ยังให้ภาพที่คมกริบ ไม่เพียงเท่านั้นโซนี่ยังเคลมว่าแม้จะใช้เทเลคอนเวอเตอร์ 1.4X หรือ 2X ก็ยังให้ความคมชัดสูงอยู่ เลนส์รุ่นนี้จึงเป็นเลนส์ถ่ายภาพ Wildlife ภาพนกและภาพกีฬาชั้นเยี่ยมที่รองรับการใช้งานของช่างภาพได้ทุกระดับ

ระบบเคลือบผิวเลนส์เป็นแบบหลายชั้น มีการใช้ระบบเคลือบแบบ Nano AR เพื่อลดแสงสะท้อน เลนส์ชิ้นหน้าเคลือบผิว Fluorine เพื่อป้องกันหยดนํ้าเกาะ กันฝุ่นและคราบต่าง สามารถเช็ดทำความสะอาดได้ง่าย เร็วสำหรับทุกการเคลื่อนไหว FE200-600mm f/5.6-6.3G OSS ออกแบบระบบโฟกัสให้ทำงานได้เงียบและเร็ว โดยใช้มอเตอร์ DDSSM (Direct Drive SSM) ซึ่งนอกจากจะทำงานได้เร็วมากและมีความเที่ยงตรงแม่นยำ ออกตัวเร็ว หยุดได้อย่างมั่นคงและทันทีแล้วยังทำงานได้เงียบ ปราศจากเสียงรบกวน ทำให้เลนส์รุ่นนี้รองรับการถ่ายภาพกีฬาได้เป็นอย่างดี เร็วพอสำหรับการถ่ายภาพเคลื่อนไหวที่รวดเร็ว และโฟกัสติดตามวัตถุได้ราบเรียบต่อเนื่องอย่างแม่นยำ ที่สำคัญคือ มันสามารถใช้ระบบออโตโฟกัสแบบเฟลดีเทคชั่นได้แม้ใช้งานร่วมกับเทเลคอนเวอเตอร์ 2X ของโซนี่โดยความเร็วและความแม่นยำยังดีมาก ประสิทธิภาพในด้านนี้จะขึ้นอยู่กับกล้องที่ใช้ด้วยครับ กับ A9 จะได้ประสิทธิภาพสูงสุดโดยจะสามารถใช้ระบบออโตโฟกัสแบบเฟลดีเทคชั่นได้ถึง F16 ซึ่งนับว่าเหลือเชื่อมาก รองลงมาจะเป็น A7III ส่วน A7R III ประสิทธิภาพจะดรอบลงกว่า A7III อีกพอควร หากใช้เทเลคอนเวอเตอร์จะทำงานในแบบตรวจจับคอนทราสต์ ดังนั้นหากต้องการประสิทธิภาพระบบออโตโฟกัสเต็มที่เมื่อใช้เทเลคอนเวอเตอร์ควรใช้ร่วมกับ A9 หรือ A7III แต่ถ้าเป็นเลนส์อย่างเดียว A7RIII ก็ใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ

โดดเด่นในการใช้งาน FE200-600mm f/5.6-6.3G OSS มีระบบป้องกันภาพสั่นไหวในเลนส์ที่สามารถทำงานร่วมกับระบบกันสั่นในตัวกล้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดการสั่นไหวได้ดีมากแม้ใช้ที่ช่วง 600 มม. หรือแม้แต่ใช้ร่วมกับเทเลคอนเวอเตอร์ ทำให้มันเป็นเลนส์สำหรับการถือถ่ายด้วยมือเปล่าที่ดีมาก เลนส์รุ่นนี้ใช้ไดอะแฟรมถึง 11 ใบให้รูปทรงกลมแม้หรี่รูรับแสงลง 1-1.5 สตอป ให้โบเก้สวยงาม ให้ฉากหลังที่เนียนนุ่มเป็นธรรมชาติ วงแหวนโฟกัสสามารถปรับแบบแมนนวลได้ละเอียด นุ่มนวลและให้ความรู้สึกในการโฟกัสแบบแมนนวลดีเยี่ยม

ข้อมูลจำเพาะ โครงสร้างชิ้นเลนส์ 24 ชิ้น 17 กลุ่ม รูรับแสงกว้างสุด f/5.6-6.3 รูรับแสงแคบสุด f/32-36 ไดอะแฟรม 11 ใบ ระยะโฟกัสใกล้สุด 2.4 เมตร อัตราขยาย 1:5 ขนาดฟิลเตอร์ 95 มม. ขนาดเลนส์ 111.5×318 มม. นํ้าหนัก 2115 กรัม

ผลการใช้งาน

กล้อง SONY A9 เลนส์ SONY FE200-600mm f/5.6-6.3G OSS ; 1/640 Sec f/6.3 Mode : M, ISO 320 , Flexible spot AF

ผมได้รับเลนส์รุ่นนี้มาพร้อมกับบอดี้ A9 ในช่วงเวลาสั้นๆ ได้ลองเอาไปถ่ายภาพสัตว์และภาพกีฬา โดยใช้ร่วมกับ A9 เป็นหลัก แต่ก็ได้ลองกับ A7R III อยู่เล็กน้อย ซึ่งการทดลองนั้นขอแยกเป็นสองส่วนคือ การใช้งานและคุณภาพ

ในส่วนของการใช้งานนั้นต้องบอกว่าประทับใจมาก อย่างแรกคือขนาดที่เล็ก นํ้าหนักเบา(เมื่อเทียบกับเลนส์ช่วงเดียวกัน) และบาลานซ์ที่ดีมาก ระบบ Internal Zoom คือไฮไลท์ของเลนส์รุ่นนี้เลยครับ มันทำให้เป็นเลนส์ที่ใช้สนุก กระบอกที่ไม่ยืดเข้าออกตัดปัญหาเรื่องซูมไหลโดยไม่ต้องมีสวิทช์ล็อกคือสิ่งที่ผมอยากได้มานาน มันทำให้จุดศูนย์ถ่วงไม่เปลี่ยนเมื่อซูม และการปรับซูมก็เบามือมาก ไม่ต้องออกแรงมาก และน่าจะช่วยเรื่องฝุ่นเรื่องละอองนํ้าจากฝนได้ดีเมื่อต้องซูมเลนส์เข้าออก

กล้อง SONY A9 เลนส์ SONY FE200-600mm f/5.6-6.3G OSS ; 1/500 Sec f/6.3 Mode : M, ISO 200 , Flexible spot AF

ระบบออโตโฟกัสเมื่อทำงานกับ A9 นั้นเยี่ยมยอดครับ ผมเอาไปถ่ายภาพเวคบอร์ดพบว่าการแทรคกิ้งนั้นสามารถทำงานด้วยระบบ Eye AF เลยทีเดียว โดยผมตั้งพื้นที่โฟกัสแบบ Zone และ Wide เปิดระบบ Eye AF ไว้ กล้องแทรคเข้าที่ใบหน้าตัวแบบในระยะไกลแล้วโฟกัสเข้าที่ตาเมื่อเริ่มเข้าใกล้กล้อง จากนั้นจับโฟกัสตามได้ตลอด ทำให้การถ่ายภาพทำได้ง่ายมาก ไม่ต้องพะวงว่าโฟกัสจะไปจับที่บอร์ด หรือนํ้าที่กระเซ็น มันโฟกัสที่ใบหน้าตัวแบบอย่างแม่นยำแม้ขณะเล่นท่า กับสภาพแสงเอาท์ดอร์แบบนี้ ไม่มีปัญหาเรื่องโฟกัสเลยครับ ภาพชัดแทบทุกเฟรม กับภาพนกและภาพสัตว์ การใช้ร่วมกับ A9 ยังคงให้ผลที่น่าพอใจมาก โฟกัสได้เร็วและแม่นยำ แม้เปลี่ยนพื้นที่การโฟกัสเป็น Flexible spot ขนาด M หรือ S แต่กับ A7R III ผมพบปัญหาบ้างเมื่อต้องการโฟกัสซับเจกต์ในระยะใกล้ แต่กล้องไม่ยอมแทรคให้ ต้องยํ้าอยู่หลายครั้งมากกว่ามันจะโฟกัสให้ ทำให้เสียโอกาสในการถ่ายภาพ การปรับมาเป็นพื้นที่โฟกัสแบบ Zone จะช่วยได้แต่ก็ยังเจอปัญหานี้บ้างบางครั้ง

แทรคตามซับเจกต์กันด้วยระบบ EYE AF เลยครับ กล้องจะตรวจจับดวงตาร่วมกับใบหน้าได้อย่างแม่นยำและเลนส์ก็โฟกัสได้เร็วพอ ชัดทุกเฟรมกับความเร็วในการถ่ายต่อเนื่องที่ 10 ภาพต่อวินาที กล้อง SONY A9 เลนส์ SONY FE200-600mm f/5.6-6.3G OSS ; 1/1600 Sec f/6.3 Mode : M, ISO 500

ระบบกันสั่นดีมากครับ กับ A9 ผมใช้ความเร็วชัตเตอร์ 1/30 วินาทีที่ช่วงซูม 600 มม. แบบหวังผลได้มากกว่า 90% ทำให้เมื่ต้องถือกล้องด้วยมือในสภาพแสงน้อย โอกาสได้ภาพยังมีค่อนข้างมากโดยไม่ต้องดัน ISO สูงเกิน ขอเพียงให้ซับเจกต์อยู่นิ่งๆ เท่านั้น และเมื่อลองสวมเทเลคอนเวอเตอร์ขนาด 2X ปรับซูมไปที่ 600 มม. (ทางยาวโฟกัสเปลี่ยนเป็น 1200 มม.) ผมสามารถใช้ความเร็วชัตเตอร์ 1/100 วินาทีแบบหวังผลได้ แต่ความเร็วชัตเตอร์ที่ตํ่ากว่านี้ เช่น 1/60 วินาที ภาพจะเบลอกว่า 60% ดังนั้นประสิทธิภาพในด้านนี้ผมพอใจครับ ดีเท่าที่ต้องการแล้ว

ความคมชัดยังดีแม้ต่อเทเลคอนเวอเตอร์ 2X และใช้ที่ช่วง 1200 มม. ระบบกันสั่นดีมากถือด้วยมือที่ 1/100 วินาทีภาพยังชัด กล้อง SONY A9 เลนส์ SONY FE200-600mm f/5.6-6.3G OSS @1200mm ; 1/100 Sec f/13 Mode : M, ISO 800

คุณภาพของเลนส์รุ่นนี้ดูผลจากไฟล์ RAW ของ A9 ที่เปิดจาก Photoshop ที่อัตราขยาย 100% ในส่วนของความคมชัดนั้นต้องบอกว่าดีมากครับ โดยเฉพาะที่ช่วง 600 มม. ซึ่งเป็นจุดที่สำคัญที่สุดของเลนส์ช่วงนี้ FE200-600mm f/5.6-6.3G OSS ทำได้ดีมาก เมื่อเปิดรูรับแสงกว้างสุด ภาพคมชัด เรียกว่าคมกริบเลยก็ว่าได้ โดยเฉพาะที่ระยะ 3-10 เมตรซึ่งเป็นระยะใช้งานหลัก หรี่ลงมาเป็น f/8 ความคมชัดแทบไม่ต่างกัน มันจึงเป็นเลนส์ที่หวังผลได้ตั้งแต่เอฟกว้างสุดเลยทีเดียว ที่ช่วงซูม 400 มม. และ 500 มม. ความคมชัดที่เอฟกว้างสุดทำได้พอๆ กัน ส่วนที่ช่วง 200 มม.ความคมลดลงเล็กน้อย แต่ในการใช้งานภาคสนามโอกาสที่จะใช้ช่วง 200 มม.นั้นมีน้อยมาก สิ่งที่น่าประหลาดใจคือเมื่อใช้ร่วมกับเทเลคอนเวอเตอร์ 2X นั้นโดยปกติแล้วผมไม่เคยเชื่อเลยว่าภาพมันจะคมได้(กับเลนส์ช่วงนี้) เพราะที่เคยพบมาภาพจะซอฟท์เสมอ แต่กับเลนส์รุ่นนี้ภาพที่ได้ยังคงมีความคมชัดดี อาจไม่คมกริบเหมือนเดิม แต่มันคมเพียงพอสำหรับความต้องการของผม คมพอสำหรับการนำไปขยายเป็นภาพขนาดใหญ่ ภาพยังใสเคลียร์ สีมาเต็ม คอนทราสต์มาเต็มและความเร็วในการโฟกัสก็ยังดีมาก ด้วยเหตุนี้ขอแนะนำเลยครับว่าหากใช้เลนส์รุ่นนี้ควรหาเทเลคอนเวอเตอร์ 2X ของโซนี่ไว้ใช้งาน

คมชัด โบเก้สวย กล้อง SONY A9 เลนส์ SONY FE200-600mm f/5.6-6.3G OSS ; 1/320 Sec f/6.3 Mode : M, ISO 2000 , Flexible spot AF

การควบคุมแฟลร์อยู่ในระดับดี แต่ยังเป็นรองเลนส์ซุปเปอร์เทเลโฟโต้บ้างโดยเฉพาะกับฉากที่ย้อนแสง ท้องฟ้าขาวจ้า ความใสของภาพจะลดลงบ้าง คอนทราสต์ลดลง แต่โดยรวมแล้วต้องนับว่าเป็นเลนส์ที่ให้ประสิทธิภาพในการควบคุมแสงฟุ้งและภาพหลอนได้ค่อนข้างดี ส่วนอาการขอบภาพมืดยังปรากฏให้เห็นบ้างที่ช่วง 400-600 มม. แต่นับว่าน้อยครับ อาการสีเหลื่อมมีให้เห็นเล็กน้อยครับ น้อยจนไม่น่าใส่ใจ ส่วนความคลาดสีแบบ LoCA นั้นยังปรากฏให้เห็นเล็กน้อย

ความเห็น

กล้อง SONY A9 เลนส์ SONY FE200-600mm f/5.6-6.3G OSS ; 1/800 Sec f/6.3 Mode : M, ISO 320 , Flexible spot AF

นี่คือเลนส์เทเลซุมชั้นยอดในราคาที่น่าสนใจมาก 69,990 บาทกับสิ่งที่คุณจะได้รับทั้งการออกแบบที่สวยงาม วัสดุชั้นดี ระบบโฟกัสที่เร็วและแม่นยำ ระบบกันสั่นที่นิ่งมาก ระบบ Internal Zoom ที่หาไม่ได้ในเลนส์ช่วงนี้ ความคมชัดที่ดีเยี่ยมและการใช้งานที่คล่องตัวสุดๆ เลนส์แนะนำระดับ Highly Recommended อย่างแท้จริง ควรหาโอกาสไปลองจับ ลองเล่น ….ผมเชื่อว่าเล่นแล้วติดมือแน่นอนครับ

เรื่อง / ภาพ : อิสระ เสมือนโพธิ์

ขอบคุณ : บริษัท โซนี่ ไทย จำกัด สำหรับความอนุเคราะห์เลนส์ที่ใช้ในการทดสอบ
ข้อมูลเพิ่มเติม : www.sony.co.th


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


หากเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ ฝากกดไลค์และแชร์ด้วยนะครับ
ติดตาม FOTOINFO ได้ทั้งรูปแบบนิตยสาร Free Copy, e-magazine ฟรีดาวน์โหลด และช่องทางอื่นๆออนไลน์ได้ที่
Line@ : @fotoinfo
YouTube : Fotoinfo Channel
Website : fotoinfomag.com
e-magazine : issuu.com/fotoinfomagazine


ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus


หรือสนใจดูรีวิวรุ่นอื่นๆ ได้ที่นี่
https://test2.fotoinfo.online/reviews-previews/reviews-reviews