Basic

“Wedding Photography” สิ่งที่ควรรู้ในการถ่ายภาพเวดดิ้ง

ในบรรดาสาขาของการถ่ายภาพใน พ.ศ.นี้ การถ่ายภาพพิธีแต่งงาน นับเป็นหนึ่งในสายที่มีการแข่งขันกันสูงมากๆ ทั้งในเรื่องของฝีมือการถ่ายและตกแต่งภาพ เรื่องของอุปกรณ์ และในเรื่องของราคารับงาน นั่นเป็นเพราะปริมาณงานมีค่อนข้างมากและสม่ำเสมอ อีกทั้งยังเป็นงานที่เจ้าของงานต้องการได้ภาพดีๆ สวยๆ และจัดงบประมาณพร้อมจ่ายไว้แล้วนั่นเอง เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา ขอแนะนำแบบกว้างๆ ถึงสิ่งที่ช่างภาพหรือผู้สนใจก้าวเข้ามาในเส้นทางสายนี้ควรต้องรู้ไว้ดังนี้ครับ

หมดยุค “ข้ามาคนเดียว”
ด้วยความที่เป็นงานซึ่งมีการแข่งขันค่อนข้างสูงมากดังที่กล่าวไว้ ดังนั้นเพื่อให้ภาพรวมของงานออกมาดี และได้เนื้องานครบถ้วนกระบวนความอย่างที่ควรจะเป็น “การทำงานเป็นทีม” จึงมีความจำเป็นและเป็นคำตอบที่ดีที่สุด ภาพรวมของงานก็คือในภาพทั้งหมดที่ต้องส่งให้ลูกค้านั้น ควรจะมีทั้งภาพพิธีการทุกขั้นตอนที่ดีคมชัด มีทั้งภาพบุคคลสวยๆ ของบ่าว-สาว รวมไปถึงเพื่อนฝูงและญาติสนิทมิตรสหายตามสมควร ทั้งในแบบจัดถ่ายและแบบแอบถ่ายทีเผลอ(แคนดิด) มีภาพสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ นานาที่ใช้ประดับตกแต่งภายในงาน มีทั้งภาพบรรยากาศของสถานที่จัดงาน ภาพเบื้องหลังตอนแต่งหน้าทำผม ฯลฯ จะเห็นได้ว่าภายในงานแต่งงานหนึ่งๆ นั้น มีงานสำหรับช่างภาพมากมายก่ายกอง จนแทบจะไม่มีทางเป็นไปได้เลยสำหรับการถ่ายภาพด้วยตัวคนเดียว เพราะมันยังมีเงื่อนไขในเรื่องของเวลาที่มาจำกัดการทำงานอีกทางหนึ่งด้วย แม้ว่าเจ้าของงานมักจะพยายามบอกช่างภาพเสมอว่า “งานเล็กนิดเดียว” (เพื่อต่อรองราคานั่นเอง) จำไว้ว่าในความเป็นจริงไม่ค่อยมีงานแต่งที่ “เล็กจริงๆ” นักหรอกครับ

ในทีมช่างภาพสำหรับงานแต่งงาน ภายในหนึ่งทีมระดับมาตรฐานอย่างน้อยที่สุดควรจะมีช่างภาพ 3 คนต่อหนึ่งงาน ไม่รวมเด็กถือไฟอีก 1-2 คน และเพื่อความปลอดภัยของทรัพย์สินของทีมช่างภาพเอง อาจต้องมีคนคอยเฝ้าดูแลเฝ้าระวังอุปกรณ์โดยเฉพาะอีกสักคน ในส่วนของช่างภาพ 3 คน ต้องแบ่งหน้าที่กันให้ชัดเจนดังนี้

คนแรก ทำหน้าที่ถ่ายหลัก ก็คือ ช่างภาพที่ต้องยืนปักหลักหน้าซุ้มตอนถ่ายบ่าว-สาว รับแขกหน้างาน รวมไปถึงช่างภาพที่จะถ่ายพิธีการขั้นตอนหลักๆ ไม่ว่าจะช่วงพิธีหมั้น ยกนํ้าชา บายศรี หรือหลั่งนํ้าสังข์ กระทั่งพิธีการต่างๆ บนเวที ช่างภาพที่จะทำหน้าที่ตรงนี้ต้องนิ่งและชัวร์ เน้นความคมชัด เน้นภาพใสๆ เคลียร์ๆ เป็นหลัก ไม่ต้องมีลูกเล่นทางเทคนิคการถ่ายภาพอะไรมากนัก แต่ต้องมีลูกล่อลูกชนในการพูดคุยพอสมควร เพราะเป็นคนที่ต้องสื่อสารกับลูกค้าโดยตรงตลอดเวลา ควรมีอัธยาศัยดี ยิ้มแย้มตลอดเวลา สามารถใช้คำพูดสร้างเสียงหัวเราะและรอยยิ้มได้ ไม่ใช่แค่การนับ 1 2 3…แล้วกดชัตเตอร์อย่างเดียว

คนที่สอง ทำหน้าที่เก็บภาพบุคคลแบบเน้นๆ ทั้งบ่าว-สาวและแขกเหรื่อตามที่เห็นสมควร อาทิ พ่อแม่ พี่น้อง และเพื่อนสนิทของ บ่าว-สาว เป็นต้น ซึ่งก็ควรมีทั้งแบบจัดถ่ายโดยขอให้เขาไปยืนในจุดที่เหมาะสวยงาม ตามที่ช่างภาพเลือกไว้แล้ว และภาพบุคคลแบบทีเผลอหรือแบบแคนดิดนั่นเองช่างภาพคนนี้ต้องยิ้มแย้มแจ่มใสและอัธยาศัยดีเป็นเลิศเช่นกัน และต้องใช้เทคนิคลูกเล่นในการถ่ายภาพบุคคลมากเป็นพิเศษ ลำพังแค่ถ่ายหน้าชัดหลังเบลอด้วยเลนส์พอร์เทรตช่องรับแสงกว้างๆ อย่างเดียว บอกตามตรงว่าไม่พอกินสำหรับงานสมัยนี้แล้วครับ มันต้องมีภาพที่ฉากหลังเป็นโบเก้สวยๆ มีฉากหน้าฟรุ้งฟริ้ง มีมุมมองที่น่าตื่นตาตื่นใจแปลกใหม่โชว์ออกมาบ้าง ถึงจะมีงานเข้ามาต่อเนื่อง (ส่วนนี้จัดว่าสำคัญมากสำหรับงานในอนาคตครับ เพราะภาพส่วนนี้มักถูกเลือกออกมาเป็นภาพโชว์โพรไฟล์หลักของทีมช่างภาพเลยก็ว่าได้)

คนที่สาม มีหน้าที่หลักคือเก็บภาพรวมของสถานที่จัดงาน ตั้งแต่ตอนที่สถานที่ยังว่างๆ ข้าวของถูกจัดแต่งจัดวางไว้สวยงาม รวมไปถึงบรรยากาศรวมๆ ขณะแขกเหรื่อเต็มงาน รวมไปถึงเก็บภาพสิ่งของตกแต่งที่แสดงถึงความอลังการหรือธีม (Theme) ของงานนั้นๆ เก็บภาพอาหาร โดยเฉพาะงานแบบค๊อกเทล หรือบุฟเฟ่ต์ ที่มักมีการจัดวางอาหารไว้สวยงาม หากเป็นโต๊ะจีน ก็ควรหามุมถ่ายโต๊ะ จาน ชาม ช้อน ฯลฯ ให้ออกมาดูดีมีราคาที่สุด ถ่ายเวที ถ่ายเค้ก ฯลฯ ส่วนในพิธีช่วงเช้าก็มักจะต้องทำหน้าที่ถ่ายของหมั้น ของรับไหว้ โต๊ะหมู่บูชา ฯลฯ เรียกง่ายๆ ว่างานถ่ายภาพอะไรที่ไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับบุคคลต้องรับเหมาไปทั้งหมดนั่นเองครับภาพในส่วนนี้อาจจะไม่มีก็ได้ ไม่ถึงกับคอขาดบาดตาย แต่มันก็เป็นภาพส่วนที่จะเติมเต็มภาพรวมของงานให้ออกมาสมบูรณ์แบบนั่นล่ะครับ

นอกจากนี้ ยังมักจะมีเวลาที่ทีมช่างภาพต้องช่วยกันถ่ายเบื้องหลัง เมื่อเจ้าสาว-เจ้าบ่าว แต่งหน้า ทำผม ในช่วงบ่าย เพื่อพร้อมเข้าพิธีการในช่วงเย็น ถ้าเป็นทีมสามคน คนหนึ่งก็เก็บการแต่งหน้าทำผมไป คนหนึ่งถ่ายแหวน อีกคนก็เอาเสื้อผ้ารองเท้าไปหามุมสวยๆ ถ่าย ถ้าช่วยกันแต่ละคนก็จะมีเวลาในการหาการปั้นมุมได้มากพอ แต่ถ้าทำคนเดียว ก็จะถ่ายได้ลวกๆ อย่างละนิดละหน่อยเท่านั้น หรือไม่ก็ต้องเลือกถ่ายแค่อย่างใดอย่างหนึ่ง

ส่วนเด็กยกไฟ หลักๆ ก็มักจะไปคู่กันกับช่างภาพแคนดิด และช่างภาพหลัก (ในเวลาเดินถ่ายตามโต๊ะ) ช่วงเวลาสำคัญของเด็กยกไฟ จะอยู่ในช่วง บ่าว-สาว เดินเข้างานเพื่อขึ้นเวทีนั่นเอง ตรงนี้ขึ้นอยู่กับการจัดไฟของงานด้วยครับ ถ้าในงานมีไฟฟอลโลว์ ในทิศทางที่เหมาะสมก็อาจไม่จำเป็นต้องใช้ แต่ถ้าไม่มีไฟฟอลโลว์ ไฟจากเด็กถือไฟนี่คือหมากเด็ดไพ่ตาย ที่จะทำให้ได้ภาพสวยงาม ทั้งตอนเดินขึ้นเวที และตอนตัดเค้ก(หรือเทแชมเปญ)

นี่คือจำนวนทีมงานสำหรับงานแต่งมาตรฐานที่มีแขกประมาณ 3-500 คน หรือโต๊ะจีนราวๆ 30-40 โต๊ะนะครับ หากงานใหญ่กว่านี้ ปริมาณแขกมากกว่านี้ อาจต้องเพิ่มช่างภาพมากขึ้นตามไปด้วย ส่วนจะมากขึ้นเท่าไรก็ต้องพิจารณาเป็นงานๆ ไป ครับ ในทางกลับกันหากงานที่ต้องใช้ช่างภาพแค่ 2 คน เนื่องจากลูกค้าต้องการเซฟงบประมาณหรืออะไรก็แล้วแต่ จะเหลือแค่ช่างภาพหลักหนึ่งคนและช่างภาพแคนดิดหนึ่งคน ยิ่งต้องคุยแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบกันให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นเพื่อเก็บภาพของงานให้ครอบคลุมครบถ้วนทดแทนช่างภาพคนที่สามที่ขาดหายไป

มาดูในส่วนของอุปกรณ์กันบ้างครับ สำหรับอุปกรณ์รวมของทีม หลักๆ ก็คือเรื่องของชุดไฟที่จะใช้ทั้งหมด ซึ่งแบ่งย่อยออกได้อีก 3 ชุด

ชุดแรกคือไฟแฟลชสตูดิโอขนาดใหญ่ ซึ่งช่างภาพยุคใหม่หลายคนอาจเห็นว่าไม่จำเป็นใช้แค่ไฟต่อเนื่องแรงสูงก็เพียงพอ แต่ในความเห็นของผม ไฟประเภทนี้ยังจำเป็นอยู่มาก มันจะเป็นไฟหลักของช่างภาพคนที่หนึ่งหรือไฟหลักของงานนั่นเอง เพราะมันเป็นไฟที่มีกำลังสูงมากๆ สามารถใช้ช่องรับแสงปานกลางเพื่อควบคุมความชัดได้สบายๆ โดยที่ตั้งค่า ISO ตํ่าๆ ได้ด้วย ภาพที่ได้จึงมีความสว่าง ความคมชัด และคุณภาพไฟล์ดีมากๆ แนะนำให้ใช้ขนาด 500 วัตต์ สักสองหรือสามหัวครับไฟชุดนี้ปกติจะใช้เบาซ์กับเพดาน (ถ้าเพดานขาวหรือครีมอ่อนๆ และความสูงเหมาะสม) แต่ถ้าเบาซ์ไม่ได้ ก็จะยิงผ่านร่มทะลุ เพื่อกรองแสงให้นุ่มขึ้นนั่นเองครับ

ชุดสองคือไฟต่อเนื่อง ซึ่งจะใช้เป็น LED หรือสปอตไลท์ก็แล้วแต่ความถนัดความชอบครับ อันนี้เป็นไฟสำหรับช่างคนที่สองเอาไว้ใช้เก็บภาพแคนดิดของแขกที่ยืนอยู่หน้างานนั่นเอง ปกติก็จะมีตั้งคู่อยู่กับไฟสตูฯ และมีอีก 2-3 ตัว ไว้เสริมในจุดต่างๆ ตามความต้องการ ถ้าใช้ไฟแบบสปอตไลท์ แนะนำว่าให้ซื้อหลอดสำรองตุนไว้ตลอดเวลาครับ เพราะเป็นไฟที่มีโอกาสหลอดขาดได้ง่ายที่สุด ให้มีความแรงสัก 1000 วัตต์ขึ้นไป จะใช้งานได้ง่ายกว่าไฟวัตต์ตํ่าๆ

ชุดสามคือไฟ LED ขนาดพกพา พร้อมด้วยโมโนพอด และแบตเตอรี่สำรองสัก 2-3 ชุด ชุดนี้สำหรับเด็กถือไฟโดยเฉพาะครับ

คราวนี้มาดูอุปกรณ์ถ่ายภาพโดยตรงกันครับ อย่างแรกคือกล้อง ยุคนี้แล้วจะเป็นกล้องแบบ DSLR หรือ Mirrorless คงไม่ใช่ประเด็นถกเถียงกันอีกต่อไป ถนัดอย่างไหนก็ใช้อย่างนั้นครับ แต่ที่แน่ๆ คือช่างภาพทุกคนควรจะมีกล้องสองตัว แม้ว่าจะทำงานเป็นทีมอยู่แล้วก็ตาม

ในส่วนของเลนส์ หากทำหน้าที่เป็นช่างภาพคนที่หนึ่ง ควรจะมีเลนส์ซูมช่วง 24-70 mm. หรือ 24-135 mm. เป็นตัวหลัก ส่วนกล้องอีกตัว อาจติดเลนส์พอร์เทรต เผื่อไว้เก็บภาพแคนดิดบ้างในบางจังหวะ หรืออาจมีเลนส์มุมกว้างพิเศษ หรือเลนส์ฟิชอายติดตัวไว้บ้าง สำหรับถ่ายภาพรวมกลุ่มขนาดใหญ่

หากทำหน้าที่เป็นช่างภาพคนที่สอง แน่นอนว่าพระเอกคือเลนส์สำหรับถ่ายพอร์เทรตโดยเฉพาะ ซึ่งเลนส์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในบรรดาช่างภาพพอเทรตทั้งหลายคือเลนส์ 85 mm. ไม่ว่าจะเป็น F/1.2 F/1.4 หรือ F/1.8 ก็ตาม เพราะเป็นช่วงถ่ายครึ่งตัวกำลังสวย และระยะการทำงานกำลังดี คือไม่ต้องเข้าใกล้มาก หรือต้องถอยไกลเกินไป อย่างไรก็ตาม ทั้งนี้ขึ้นกับความถนัดหรือความชอบของแต่ละคนด้วย เพราะก็มีช่างภาพอีกจำนวนไม่น้อยที่นิยมใช้เลนส์นอร์มอล หรือ 50 mm. บางคนก็ใช้ถึง 135 mm. ก็มี ในขณะที่บางคนเลือกใช้เลนส์ช่วง 70-200 mm F/2.8 ซึ่งให้ความคล่องตัวและสะดวกรวดเร็วกับการจัดองค์ประกอบภาพมากๆ แม้นํ้าหนักจะมากหน่อยก็ตาม และสำหรับช่างภาพคนที่สาม เลนส์หลักๆ ไม่พ้นเป็นเลนส์มุมกว้าง หากเอาความสะดวกก็ 16-35 mm. หรือช่วงที่ใกล้เคียง หากปักใจกับเลนส์เดี่ยวอาจต้องมีสองตัวคือช่วง 17 mm. 20 mm. หรือ 24 mm. กับ เลนส์ 35 mm. เลนส์อีกตัวควรเป็นเลนส์มาโคร ช่วง 50 mm. หรือ 100 mm. ตัวใดตัวหนึ่งก็ได้ ดีไม่ดีช่างภาพยุคนี้อาจต้องลงทุนถึงขั้นใช้โดรนบินถ่ายบ้างด้วยซํ้า เพื่อให้ได้มุมภาพที่แปลกตาไม่ซํ้าใคร (ไม่เกี่ยวกับวิดีโอนะครับ อันนั้นเขาเริ่มใช้กันมาสักระยะแล้ว สำหรับลูกค้าที่เงินถึง)และจะว่าไป เลนส์ช่วงเทเลโฟโต้เองก็อาจมีโอกาสใช้อยู่บ้างเหมือนกัน เพราะการถ่ายมุมเล็กมุมน้อยเป็นจุดๆ ไป ก็เป็นงานอย่างหนึ่งของช่างภาพคนที่สามนี้ด้วยเหมือนกัน

ในส่วนของอุปกรณ์ถ่ายภาพอื่นๆ ที่จำเป็นก็อย่างเช่น ขาตั้งกล้องสำหรับการถ่ายภาพบริเวณหน้าซุ้ม ซึ่งหลายคนอาจมองว่าไม่เห็นจำเป็น แต่ถ้าคุณลองได้ทำไฟล์เองจะรู้ว่า ความผิดพลาดคืออะไร? มันคือความเอียงของภาพครับ การใช้มือถือกล้องนั้นจะอย่างไรองค์ประกอบภาพก็จะขยับนิดหน่อยทุกภาพไป ที่แย่คืออาจจะเอียงด้วย ทำให้เวลาทำภาพต้องมานั่งหมุน มาครอปให้เสียเวลา คือถ้าใช้ขาตั้งกล้องได้ มันจะช่วยให้คนทำไฟล์ จัดการภาพได้เร็วยิ่งขึ้น และภาพก็จะดูเนี๊ยบเรียบร้อยมากๆ ด้วยแต่ก็ควรใช้กับหัวที่มีระบบควิกรีริส หรือปลดได้เร็วนะครับ เพราะมันก็คงต้องมีบางจังหวะที่ต้องเปลี่ยนตำแหน่งกล้องไปถ่ายในมุมอื่นๆ บ้าง เหมือนกันในส่วนของช่างภาพคนที่สามเอง ก่อนงานจะเริ่ม หากมีเวลาพอ ก็สามารถใช้ขาตั้ง เก็บภาพสถานที่ภายในงานได้อย่างเนี๊ยบๆ เช่นกัน ทั้งนี้ปกติแล้ว ไฟประดับในจุดต่างๆ บางทีเขาจะไม่เปิดใช้จนกว่างานจริงจะเริ่ม ซึ่งช่างภาพควรต้องไปคุยกับผู้ควบคุมไฟ ของให้เขาลองเปิดไฟตามจุดต่างๆ ให้ดูหน่อย แล้วก็ขอให้เขาเปิดตามจุดที่ต้องการเพื่อถ่ายภาพเก็บไว้ก่อน

แฟลชหัวกล้อง ก็เป็นอีกอุปกรณ์ที่ ช่างภาพคนที่หนึ่ง และสองควรจะมีติดกล้องหรือติดตัวไว้ด้วย เพราะโอกาสเจอมุมมืดในช่วงต่างๆ ของงานมีให้พบเจอเสมอ อย่างเช่นตอนบ่าว-สามเดินไปขอบคุณแขกตามโต๊ะมุมห้อง บางทีเด็กยกไฟก็ตามไม่ทัน หรือเข้าไม่ถึงตำแหน่งที่จะส่องไฟให้ได้

อีกเรื่องที่ถ้าเป็นไปได้จะดีมาก คือ อุปกรณ์ที่ช่างภาพแต่ละคนใช้ควรเป็นกล้องเลนส์ยี่ห้อเดียวกันทั้งหมด เพื่อสองเหตุผล หนึ่งคือ สามารถหยิบยืมหรือเปลี่ยนเลนส์กันใช้ได้ในบางสถานการณ์ ทำให้ทุกคนไม่ต้องถือเลนส์ติดตัวมากเกินไป ซึ่งมีผลให้ทำงานได้สะดวกคล่องตัวขึ้น หรือในกรณีที่อุปกรณ์เสียหาย ก็สามารถเอาอุปกรณ์ของคนอื่นไปใช้แทนในจุดสำคัญได้ทันที

เหตุผลที่สองคือ ตอนทำไฟล์ครับ คือถ้ามาจากกล้องค่ายเดียวกัน สีสันคาแรคเตอร์ต่างๆ ของภาพก็จะไปในทิศทางเดียวกัน พอเอาภาพมารวมกันแล้วมันจะดูกลมกลืนมาก แต่ถ้าคนนึง Nikon คนนึง Canon คนนึง Fuji อย่างนี้โทนภาพจะดูโดดไปโดดมามากๆ เมื่อเอาภาพมารวมกัน ความเหนื่อยยากจะตกไปอยู่ที่คนทำไฟล์เต็มๆ ครับ เพราะไม่ว่าจะอย่างไรก็ต้องเอาภาพของทุกคนมารวมกันเป็นอัลบั้มเพื่อส่งงานให้ลูกค้าในท้ายที่สุด คนทำไฟล์จึงต้องเสียเวลาในการปรับโทนปรับคาแรคเตอร์ต่างๆ ให้กลับมาใกล้เคียงกันมากที่สุดนั่นเอง ซึ่งมันทำให้ต้องเสียเวลาการทำงานเพิ่มเติมขึ้นมาอย่างแน่นอน และทำให้การส่งงานถึงมือลูกค้าล่าช้าตามไปด้วย เป็นเล่นไปนะครับ เรื่องการส่งงานช้านี่มีดราม่ากันมาหลายครั้งแล้ว ช่างภาพชื่อดังต้องมาเสียผู้เสียคนเพราะส่งงานล่าช้ากว่ากำหนดก็มีให้เห็นแล้ว ความเรียบร้อยและรวดเร็วในการส่งงานจึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามอย่างยิ่ง เปรียบไปก็คล้ายๆ กับเป็นบริการหลังการขายนั่นเองครับ ถ้าทำดีลูกค้าได้รับงานแล้วพอใจ เขาก็จะไปบอกต่อไปโฆษณาให้เราฟรีๆ โดยเอาตัวเองการันตีซะด้วย นั่นก็คืองานในอนาคตของเรานั่นเองล่ะครับจริงไหม?

ช่างภาพที่คิดจะหันเหมาเอาดีทางด้านนี้ เรื่องฝีมือหรือเทคนิคการถ่ายภาพคงไม่ต้องพูดถึง มันต้องดีชัวร์ในระดับหนึ่งแล้วจึงสามารถรับงานได้ ดังนั้นสิ่งสำคัญที่พอจะแนะนำได้อีกอย่างคือ การรักษาเวลาให้ดี ไปถึงก่อนงานจะเริ่มสักหนึ่งชั่วโมงเป็นอย่างน้อย ไม่ว่าจะเป็นงานเช้าหรือคํ่า เพื่อไปดูสถานที่ และเซ็ทชุดไฟให้พร้อม เพราะบางสถานที่ก็มีความยุ่งยากในการตั้งไฟพอสมควรยิ่งถ้าเป็นงานที่จัดตามบ้านต่างจังหวัด อย่างนี้อาจต้องลงทุนขับรถเช็คเส้นทางไปถึงบ้านงานให้ชัวร์ก่อน ว่าจากที่พักของเรา(ตามที่ผู้ว่าจ้างจัดให้) มันต้องไปทางไหน ยังไง ใช้เวลาเท่าไหร่กันแน่ เพื่อตอนไปทำงานจริงจะได้ไม่เกิดความผิดพลาดคลาดเคลื่อน เพราะหากช่างภาพไปไม่ทันเวลางาน มันก็เสียเครดิตตัวเองไปตั้งแต่แรกเริ่ม เรื่องแบบนี้จึงไม่ควรให้เกิดขึ้นอย่างเด็ดขาดครับ

ปล. สำหรับทางยาวโฟกัสของเลนส์ที่พูดถึงในที่นี้ คือทางยาวโฟกัสสำหรับกล้องฟูลเฟรม หากใช้กล้องที่มีเซ็นเซอร์เล็กกว่า ต้องคูณทางยาวโฟกัสเพิ่มเข้าไปด้วยนะครับ


สรุปเน้นๆ อีกที

  • ตรงต่อเวลา ทั้งในวันทำงานและนัดหมายส่งงาน
  • อุปกรณ์ต้องพร้อม และมีชุดสำรองเผื่อกรณีฉุกเฉิน
  • ไม่พลาดในจังหวะสำคัญ ถ้าเป็นช็อตมาตรฐานก็พวก สวมแหวน หอมแก้ม ประธานชูแก้วไชโย ตัดเค้ก โยนดอกไม้ ฯลฯ และสำหรับช๊อตแคนดิท ก็เช่นตอนพ่อแม่กอดบ่าว-สาว เจ้าสาวร้องไห้ เจ้าบ่าวชนแก้ว (หรือท่าทางแสดงความดีใจกับเพื่อน)
  • แต่งตัวให้เรียบร้อย เหมาะสมกับสถานที่ (ถือเป็นการให้เกียรติเจ้าภาพในอีกทางหนึ่ง – ตรงนี้ต้องแยกแยะให้ออกว่า ฝีมือทางการถ่ายภาพก็เรื่องหนึ่ง กาลเทศะ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไม่ใช่ว่าฝีมือดีแล้วจะทำยังไงก็ได้)
  • สร้างสไตล์ของทีมให้โดดเด่นชัดเจน (ทั้งแนวทางการถ่ายและ แนวทางการโพรเซสภาพ) – ข้อนี้เป็นเรื่องสำคัญมากอีกเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องที่จัดว่ายากพอสมควร ถ้ามีโอกาสค่อยว่ากันอีกทีภายหลังครับ
  • ข้อสุดท้าย การตลาดก็เป็นเรื่องสำคัญ มีช่างภาพฝีมือดีมากมายที่ปริมาณงานน้อยอย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งมันเป็นเรื่องของการตลาดล้วนๆ ดังนั้นนอกจากจะมีฝีมือทางการถ่ายภาพแล้ว ยังต้องมีวิธีทำให้คนรู้จักในวงกว้างด้วย

เรื่อง : จิรชนม์ ฉ่ำแสง / ภาพ : จิรชนม์ & Pixmaker Team


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^

(SCAN QR CODE ด้านล่างเพื่อเพิ่มเพื่อนใน Line อีกหนึ่งช่องทางในการติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ)

หรือสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับการถ่ายภาพที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่

https://test2.fotoinfo.online/all-about-photo/basic