Photo Techniques

Zoom – Flash

“แสง” ยังคงสำคัญเป็นอันดับหนึ่งอยู่เสมอ นั่นจึงทำให้ “พระอาทิตย์” ก็คงความสำคัญเป็นอันดับหนึ่งด้วยเช่นกันเมื่อเราต้องถ่ายภาพธรรมชาติ แต่แล้ว “แสง” ก็กลับไม่เป็นใจ…เราจะทำยังไงได้? ผมเชื่อว่าอย่างน้อยก็ควรต้องมีสักหนึ่งครั้งที่คุณก้าวเท้าเดินทางออกจากบ้านแล้วไปเจอกับลักษณะแสงอันไม่เป็นใจ ดูด้วยสายตาหรือสูดอากาศรอบๆ แล้วมันก็เข้าท่าเข้าทีดีอยู่หรอก แต่พอถ่ายภาพเท่านั้นแหละมันก็ไม่ปรากฏวี่แววของมิติในภาพออกมาให้เห็น ยิ่งถ้าไม่มีอะไรน่าสนใจอยู่ในภาพเลยก็เป็นอันว่าภาพนั้นของเราไม่ปรากฏความสวยสดงดงามอะไรตรงไหนเลย ยิ่งดูก็ยิ่ง “แบน” และไร้อนาคตสิ้นดี..

หนึ่งในวิธีการแก้ไขเมื่อความจำเป็นมาท้าทายเราอยู่ตรงหน้าก็คือ เราต้องเสกสรรค์ลำแสงขึ้นมาเองครับ อุปกรณ์ในการให้แสงนั้นมีอยู่หลากหลายชนิดอยู่เหมือนกัน แต่ที่ดูจะตรงประเด็นมากที่สุดและเราก็มักจะมีมันติดกระเป๋ากล้องอยู่แล้วนั่นก็คือ “แฟลชแยก” หรือ External Flash ซึ่งหากเรารู้เทคนิควิธีใช้งานละก็ มันจะกลายร่างเป็นพระอาทิตย์ย่อมๆ ในมือเราและช่วยพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสได้เลยเชียวล่ะ ..แต่ถ้าใช้ไม่ค่อยเป็นมันก็สามารถพลิกโอกาสให้เป็นวิกฤติได้ด้วยนะ ขอบอก

ใช้แฟลชมันจะต้องเทคนิคอะไรแค่ไหน? ไม่ใช่แค่ยิงแสงให้มันสว่างหรือปรับทิศทางปรับกำลังของมันหรือ? ใช่แล้วละครับ เรื่องราวของมันก็จะประมาณอย่างที่ว่านั่นแหละ แต่ผมกำลังจะบอกอีกเทคนิคที่ช่วยคุณได้มากกว่านั้นอีก

ผมเชื่ออีกนั่นแหละครับว่าหลายท่านคงไม่รู้หรอกว่าแฟลชแยกที่ครอบครองกันอยู่นั่นน่ะ มันสามารถที่จะ “ซูม” ได้ด้วย การซูมของมันก็หมายถึงองศาความกว้าง/แคบของลำแสงที่จะปล่อยออกไป ก็เสียงที่เราได้ยินจากแฟลชดังอื้ดๆ ในขณะที่เรากำลังซูมเลนส์ในระบบ TTL นั่นแหละครับ แฟลชมันกำลังปรับซูมระยะของตัวมันเองเพื่อให้สมกับระยะซูมของเลนส์ด้วย เมื่อเลนส์ซูมด้วยระยะไกลแฟลชก็จะพยายามบีบลำแสงให้แคบลงเพื่อยิงแสงให้ไกลขึ้นไปด้วย แต่ถ้าซูมมาที่ระยะใกล้ด้วยมุมกว้าง แฟลชก็จะซูมตัวเองมาเป็นมุมกว้างเหมือนกันเพื่อยิงแสงกว้างๆ ให้ครอบคลุมเข้าไว้ ดังนั้นระดับการบานออกหรือแคบเข้าของแสงจากแฟลชแยกจึงสามารถเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาได้

คุณอย่าไปพยายามลองกับแฟลชป๊อบอัพที่ติดอยู่กับกล้องนะครับ เพราะเจ้านั่นมันซูมไม่ได้

…แล้วไง ?

ในสถานการณ์ที่สภาพแสงมัวๆ สลัวๆ ทื่อๆ ทึมๆ ซึ่งอะไรๆ ก็ดูเท่ากันไปหมดในภาพถ่าย ถ้าหากว่าปรากฏกลุ่มแสงสว่างที่ต่างออกไปบนพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นการเฉพาะ ก็จะส่งผลให้ภาพเกิดมิติและความน่าสนใจขึ้นมาได้เหมือนกัน สีสันตรงส่วนนั้นก็จะดูสดใสขึ้นมาด้วย คุณคงจะเคยเห็นใช่ไหมล่ะครับ? ภาพที่มีลำแสงลอดลงมาในบางส่วนของภาพถ่ายที่เรามักจะเรียกกันว่า “แสงเทพ” ซึ่งก็จะทำให้เกิดปรากฏ-การณ์ทำนองนี้ขึ้นในภาพถ่ายและมันจะดูน่าสนใจมากเลยเชียวล่ะ

ฝรั่งมังค่าเค้าจะเรียกมันว่า “Ray-light” ครับ มีตั้งแต่ระดับพื้นๆ ไปจนพิสดารพันลึกอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์กันเลยทีเดียว บางครั้งเราก็จะได้เห็นมันในวันที่ท้องฟ้าเต็มไปด้วยเมฆเยอะแยะมากมาย แล้วแสงอาทิตย์ก็จะลอดลงมาตามช่องว่างของเมฆเป็นหย่อมๆ วันไหนที่แสงลงตรงวัตถุอันน่าสนใจก็จะยิ่งกลายเป็นโชคของคนถ่ายภาพที่ต้องรีบกดชัตเตอร์กันแบบไม่ยั้งเลยทีเดียว

แต่ก็นั่นแหละครับ วันนี้ดันเป็นวันที่โชคไม่เข้าข้าง แสงสว่างของเรามันเท่ากันไปเสียหมด มองไปบนฟ้าก็สิ้นหวังที่จะเจอแสงแบบนั้นลงมาช่วยสร้างปาฏิหาริย์ ..ดังนั้น เราก็จะต้องสร้างมันเอาเองโดยการใช้แฟลชแยกที่สามารถปรับ “ซูม” เพื่อบีบลำแสงให้แคบเป็นหย่อมเฉพาะพื้นที่ได้นี่แหละ..


ปรับซูมแฟลช

คุณจะหวังเพียงแค่การปรับแต่งภาพเพียงอย่างเดียวมันก็จะยังไม่พอหรอกครับ เพราะสีสันและมิติของวัตถุจะเป็นเรื่องที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกถ้าใช้เพียงแสงธรรมชาติและเม้าส์สำหรับสถานการณ์แสงแบบนี้ ซึ่ง “แฟลช” นี่แหละจะช่วยได้มาก : Nikon D7000, Lens 10-24mm f/3.5-4.5, 1/200 sec., f/9, ISO-100, Mode M, Metering Mode : Spot, WB Auto

คุณจะเห็นการร่วมแรงร่วมใจกันของแฟลชที่ทำการปรับซูมแสงแบบเฉพาะพื้นที่ถึงสองตัวอยู่ในภาพนี้ อันที่จริงเราจะไม่ต้องซูมมันก็ได้ แต่ผมว่าซูมให้สว่างเป็นจุดๆ จะดูน่าสนใจมากกว่านะ : Nikon D7000, Lens 10-24mm f/3.5-4.5, 1/200 sec., f/8, ISO-100, Mode M, Metering Mode : Spot, WB Auto

วิธีการก็ไม่ได้ยากเย็นตรงไหนเลยครับ คุณเพียงแค่ปรับระยะการซูมของแฟลชด้วยตัวเอง จะให้เป็น 50mm, 105mm หรืออะไรก็ตามแต่ซึ่งขึ้นอยู่กับความเหมาะสมต่อขนาดและพื้นที่ของวัตถุที่คุณต้องการจะบันดาลแสงเทพลงไปตรงนั้น ซึ่งถ้าหากคุณไม่ได้ซูมแฟลชแล้วยิงแสงออกไปตามปกติที่ระยะมุมกว้างก็จะเป็นเพียงแค่ความสว่างแบบเกลี่ยๆ เฉลี่ยกันไปทั่วทั้งภาพ มันก็จะขาดมิติความน่าสนใจออกไปแล้วได้ภาพสว่างๆ มาแทน มันจะไปต่างอะไรกับภาพจากกล้องของชาวบ้านทั่วไปล่ะครับ ?

ตัวอย่างสำหรับการซูมแฟลชไปที่บางส่วนเพื่อเน้นอารมณ์ของบุคคลในภาพ เราอาจจะคุ้นเคยกับการใช้แสงแฟลชอาบทั่วทั้งร่างแต่ถ้าซูมแฟลชแบบนี้มันก็จะเน้นจุดสนใจกันแบบเด่นๆ ไปเลย : Canon EOS 70D, Lens EF 16-35mm f/4L IS USM, 1/250 sec., f/16, ISO-100, Mode M, Metering Mode : Spot, WB Auto

อะไรนะ…แฟลชของเราทำแบบนี้ได้ด้วยเหรอ ? ผมก็ยังเชื่ออีกนั่นแหละครับว่าหลายท่านไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าแฟลชของเราสามารถซูมได้ และก็สามารถที่จะปรับระดับการซูมได้ด้วยตัวเราเองด้วย เพียงแค่คุณปรับระบบซูมของมันเป็นแบบ Manual แล้วก็เลือกระดับที่ต้องการลงไป ซึ่งอันนี้ผมคงจะต้องเรียกร้องให้คุณศึกษาวิธีการจากคู่มือดูแล้วล่ะ เพราะแต่ละรุ่นแต่ละยี่ห้อก็จะมีวิธีการอันแตกต่างกันออกไป แต่เชื่อเถอะว่าสำหรับแฟลชแยกระดับกลางขึ้นไปถึงระดับบนสามารถทำได้ ส่วนแฟลชแยกรุ่นเล็กบางรุ่นก็ทำไม่ได้ อันนั้นต้องใช้วิธีอื่นประยุกต์เข้ามาแทน..


แยกแฟลช

บางครั้งเราก็ไม่อยากจะให้แสงแฟลชไปโดนส่วนอื่นของภาพหรอกครับ การซูมแฟลชก็จะจำกัดวงของแสงให้แคบเข้ามาเพื่อป้องกันปัญหาที่ว่า ควรสังเกตด้วยนะครับว่าระยะห่างของแฟลชก็มีผลต่อเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน : Canon EOS 70D, Lens EF 16-35 mm f/4L IS USM, 1/13 sec., f/4, ISO-250, Mode M, Metering Mode : Spot, WB Manual

ทีนี้มันจะมีอุปกรณ์อีกชนิดหนึ่งซึ่งถือว่าจำเป็นต่อเทคนิคนี้เพิ่มเข้ามาครับ นั่นก็คืออุปกรณ์สั่งการแฟลชแยกในระบบไร้สาย หรือที่รู้จักกันทั่วไปในนาม “แฟลช ทริกเกอร์” (Flash Trigger) ซึ่งมันจะทำหน้าที่ในการสั่งยิงแฟลชตามการลั่นชัตเตอร์ของเรา สนนราคาตั้งแต่แถวๆ พันบาทไปจนหมื่นบาท ก็ว่ากันไปตามกำลังทรัพย์อันเหมาะสม …แล้วทำไมต้องมีตัวนี้ ?

นั่นก็เพราะเราจำเป็นต้องเล่น “ทิศทาง” การมาถึงของแสงเทพครับ หากคุณติดแฟลชแล้วยิงออกไปจากบนฮอทชูของกล้องมันก็ดูไม่น่าจะต่างไปจากอารมณ์ของแสงไฟฉายยิงตรงไปจากตัวคุณเป็นหย่อมๆ ด้านหน้า ซึ่งมันไม่ใช่อารมณ์แสงเทพ แต่จะเป็นอารมณ์ตำรวจจับผู้ร้ายในที่มืดแทน ปราศจากความน่าตื่นตาโดยสิ้นเชิง

ในภาพมุมกว้างเราก็สามารถใช้เทคนิคนี้ได้ด้วยเช่นกัน การบีบแสงแฟลชให้แคบก็จะช่วยให้เราสมดุลแสงสภาพแวดล้อมได้ง่ายขึ้นด้วย ลองสังเกตขนาดพื้นที่แสงแฟลชจากบนพื้นถนนดูก็ได้ครับว่ามันไม่ได้บานออกไปสักเท่าไหร่เลย แค่ยืดแฟลชขึ้นไปให้สุดมือแล้วกดลงมาหาเป้าหมายของเราเท่านั้นเอง : Canon EOS 70D, Lens EF 16-35mm f/4L IS USM, 1/50 sec., f/5, ISO-200, Mode M, Metering Mode : Spot, WB Manual

เมื่อเราจำเป็นต้องเล่นทิศทางดังว่า การแยกแฟลชออกจากกล้องจึงเป็นสิ่งจำเป็น คุณอาจจะใช้ทิศทางแสงแบบเฉียงด้านข้างในมุมกดลงมาจากด้านบน เยื้องซ้ายเยื้องขวาอะไรก็ว่าไป ซึ่งก็แล้วแต่การออกแบบตามจินตนาการของคุณเองว่าอยากจะให้แสงมาจากทางไหน แคบกว้างประมาณใด ยิงไปตรงไหนดี ฯลฯ ซึ่งจะต้องใช้ขาตั้งหรือขาเพื่อนในการจัดวางตำแหน่งแฟลช อันนี้ก็แล้วแต่คุณจะถนัดหรือสามารถขอร้องกึ่งบังคับกันได้..

ภาพเปรียบเทียบนี้เพื่อแสดงให้คุณเห็นความสำคัญและอิทธิพลของแสงที่ลงมาที่บางส่วนของภาพ คุณจะเห็นว่าภาพที่ถ่ายแบบปกตินั้นดูธรรมดามาก ใครเห็นเข้าก็คงจะรีบเปิดผ่านไปโดยเร็วเพราะไม่ได้มีอะไรน่าสนใจมากไปกว่าป่ารกๆ แต่เมื่อเราเพิ่มแสงแฟลชด้วยเทคนิคการซูมแฟลชนี้เข้าไปทำให้มันเกิดมิติแบบเฉพาะส่วนซึ่งส่งผลให้ภาพดูน่าสนใจขึ้นมาทันที เป็นการพลิกสถานการณ์ให้กลับมาเป็นต่อได้แบบเห็นๆ : Nikon D7000, Lens 10-24mm f/3.5-4.5, 1/125 sec., f/6.3, ISO-100, Mode M, Metering Mode : Spot, WB Auto


คุณสมบัติที่อาจไม่รู้มาก่อน

เทคนิคนี้ช่วยในการถ่ายภาพแบบ “หลังดำ” ให้ง่ายขึ้นด้วยครับ เพราะเราสามารถจำกัดวงของแสงให้เหลือแค่เท่าที่จำเป็น จะได้ไม่ต้องวิ่งไปโดนส่วนอื่นๆ ของภาพเพื่อที่มันจะได้มืดสนิทลงไป : Canon EOS 70D, Lens EF 16-35mm f/4L IS USM, 1/200 sec., f/22, ISO-100, Mode M, Metering Mode : Spot, WB Auto

เปลี่ยนสิ่งของอันธรรมดาให้กลายเป็นภาพดราม่าไปเลยก็ยังได้ ในสภาวะมืดๆ ทึมๆ กับอะไรสักอย่างบนพื้นผิวที่พอมีรูปทรง เจอแสงแฟลชเฉียงๆ แบบเฉพาะส่วนเข้าไปก็ดูน่าสนใจขึ้นมาทันทีได้เหมือนกัน : Ricoh GR, Lens 18.3 mm f/2.8, 1/160 sec., f/8, ISO-200, Mode M, Metering Mode : Pattern, WB Auto

ต้องเสียเงินซื้ออีกล่ะสิ ? ก็ไม่แน่เสมอไปหรอกครับ กล้องและแฟลชแยกในยุคปัจจุบัน (หรือก่อนหน้านี้) มีคุณสมบัติในการสั่งการแบบไร้สายในตัวเองได้โดยไม่ต้องใช้อะไรเพิ่ม ซึ่งอันนี้คุณต้องลองตรวจสอบข้อมูลกันดูว่ากล้องและแฟลชที่มีอยู่นั้นสามารถทำได้ไหม และต้องทำอย่างไรบ้าง ? ข้อเสียก็คือ มันใช้ระบบแสงในการสั่งการกัน ดังนั้นมันอาจจะไม่สะดวกสำหรับการซ่อนแฟลชในตำแหน่งที่ลับตา ซึ่งอาจจะประสบปัญหายิงแฟลชไม่ออก แต่สำหรับแฟลชทริกเกอร์จะใช้ระบบสัญญาณวิทยุในการสั่งการ ซึ่งจะยืดหยุ่นมากกว่านั่นเอง

เอาละครับ อันนั้นมันเป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องติดพันกันอยู่ซึ่งคงจะต้องไปลองหาข้อมูลเพิ่มเติมกันดู แต่หัวใจสำคัญสำหรับเทคนิคนี้ก็คือ การ “ซูมแฟลช” นี่แหละที่จะช่วยจำกัดพื้นที่แสงให้กับภาพถ่ายของสถานที่สลัวมัวหม่นตรงหน้าเราให้พลิกกลับมามีชีวิตชีวามากขึ้น บางท่านอาจจะคิดว่ามันไม่ได้ผลหรอก แต่ถ้าเป็นไปได้ผมก็อยากจะให้คุณได้ทดลองดูก่อน ตัวแบบหลักของคุณอาจจะเป็นบุคคลก็ยังได้นะสำหรับเทคนิคนี้ ซึ่งมันก็จะยิ่งทำให้ภาพดูน่าสนใจมากขึ้นด้วย

จากภาพถ่ายที่แบนๆ ขาดมิติและชีวิตชีวา เมื่อเราส่องแสงลงไปเป็นหย่อมๆ โดยการซูมแสงแฟลชก็ช่วยให้ภาพธรรมดาๆ ที่ไม่มีอะไรเลยกลายเป็นดูน่าสนใจขึ้นมาได้ : Nikon D7000, Lens 10-24mm f/3.5-4.5, 1/125 sec., f/5.6, ISO-100, Mode M, Metering Mode : Spot, WB Auto

บางทีมันอาจจะทำให้การถ่ายภาพอันแสนน่าเบื่อในวันฟ้ามืดมัวหม่นของคุณกลายเป็นเรื่องสนุกสนานมากยิ่งกว่าครั้งใดๆ เพราะคุณจะได้ใช้ทั้งความคิดและจินตนาการมากกว่าแค่การจัดองค์ประกอบภาพและถือกล้องให้นิ่งแบบเดิม ซึ่งเทคนิคนี้แหละครับพวกมืออาชีพนิยมใช้กันนัก แต่การซูมแฟลชนี่ยังไม่มีใครใช้สักเท่าไหร่ ข้อดีของวิธีนี้ก็คือเราไม่ต้องไปทำอะไรกับอุปกรณ์ให้วุ่นวายเยอะแยะมากนัก แค่สั่งปรับซูมมันเท่านั้นเอง

ลองดูเถอะครับ แล้วคุณจะได้รู้ว่าแฟลชแยกของคุณน่ะมัน “ซูม” แบบได้เรื่องอย่างที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อนเลย..

เรื่อง/ภาพ : ปิยะฉัตร แกหลง

อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


หรือสนใจเทคนิคที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่
https://test2.fotoinfo.online/tip-trick/photo-techniques