นักท่องเที่ยวที่เป็นนักถ่ายภาพ มักจะเตรียมตัวค่อนข้างพร้อมในการเดินทาง ทั้งอุปกรณ์ การตรวจสอบสถานที่ รวมถึงการเช็คช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเก็บภาพ ด้วยทราบกันดีว่าหัวใจสำคัญ ของการได้ภาพดีนั้น ต้องถูกที่ถูกเวลา มุมมหาชนของนครวัด หลายคนเมื่อผ่านไปเยือนแล้ว ก็อยากมีโอกาส เก็บบันทึกไว้ในเมมโมรีส่วนตัว จากข้อมูลมากมายไม่ว่าจะทางโลกออนไลน์ หรือจากคำบอกเล่าของคนที่ไปมาแล้ว มักจะแนะนำให้ ไปเก็บแสงเช้าก่อนพระอาทิตย์ขึ้น หรือไม่ก็รอเก็บแสงในช่วงเย็น ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการจัดโปรแกรมให้ลงตัวตามระยะเวลาที่มีอยู่
โดยส่วนตัวไปมาหลายครั้ง รวมภาพมาพิจารณาดูแล้วพบว่ามีบางสิ่ง ที่พอจะรวบรวม มาฝากนักถ่ายภาพมือใหม่ได้บ้าง ในกรณีวางแผนล่วงหน้าไว้ดีแล้ว แต่หลายๆ อย่างไม่ได้เป็นไปตามแผน หรือสถานการณ์ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง โดยรวมตัวอย่างแนวคิดและวิธีการถ่ายในช่วงเวลาต่างๆ มาฝาก
สำหรับช่วงเวลาในตอนเช้า ถ้าแสงดีๆ ส่วนใหญ่ก็จะได้ภาพสวยงามตามคาดหมาย แต่บางครั้งก็ไม่เป็นตามที่ใจหวัง สภาพดินฟ้าอากาศเป็นสิ่งนอกเหนือการควบคุม กรณีถ้าเราไปนั่งเฝ้ารอแสงแรงแห่งวัน แล้วฟ้าปิดเมฆหนาทึบ ท้องฟ้าเป็นสีตุ่นๆ ตลอดเวลา ไม่มีแสงสีใดๆ เล็ดลอดออกมาให้เห็นแม้แต่น้อย เจอแบบนี้อย่าเพิ่งถอดใจ ถอยทัพกลับไปมือเปล่าง่ายๆ ถ้าลักษณะเมฆที่จับตัวกันเป็นกลุ่มก้อน และมีการเคลื่อนตัวอยู่บ้างแบบนี้ เรามีโอกาสได้ภาพ ที่มีแสงลอดเมฆลงมาเป็นลำๆ เพียงแต่ต้องรอเวลาเล็กน้อย หลังจากที่พระอาทิตย์เคลื่อนตัวสูงขึ้น ถ้าช่วงเวลาในการรอแสงทไวไลท์ผ่านไปอย่างว่างเปล่า ให้รอต่ออีกสักระยะ ช่วงที่พระอาทิตย์ขึ้นใหม่ๆนี้ ส่วนใหญ่ดวงอาทิพย์เคลื่อนที่ค่อนข้างเร็ว บางจังหวะเร็วจนเปลี่ยนเลนส์กันไม่ทันเลยทีเดียว ถ้าเป็นนักถ่ายภาพคงนึกออกว่าเร็วขนาดไหน เรียกว่าเผลอแป๊บเดียวลอยขึ้นสูง พร้อมมวลพลังแสงมหาศาล เวลาถ่ายย้อนแสงทั้งฟุ้งแฟลร์ ด้วยพลังแสงที่ว่านี้ ถ้าเมฆหมอก ยังลอยวนเวียนอยู่ในที่เดิมๆ ก็จะได้ภาพปราสาทนครวัดพร้อมกับลำแสง สาดส่องอย่างที่ปรากฎ ถ้าเป็นมือใหม่อาจมีปัญหา กับการถ่ายในลักษณะนี้อยู่บ้าง เก็บภาพมุมกว้างแล้วไม่ได้ลำแสงเหมือนที่ตาเห็น เนื่องจากสภาพแสงในหลายส่วนต่างกันค่อนข้างมาก ที่สำคัญมุมลักษณะนี้เป็นมุมย้อนแสง ได้แสงด้านบนแล้วไม่ได้ข้างล่าง หรือได้แสงด้านล่างก็ไม่ได้ลำแสงด้านบน ถ้าต้องการเก็บภาพแบบกดชัตเตอร์ครั้งเดียวจบ ตัวช่วยคือฟิลเตอร์แกรดูเอท บางท่านอาจสะดวกในการถ่ายหลายๆ ครั้งแล้วนำภาพไปซ้อนด้วยโปรแกรมในภายหลัง ซึ่งก็สามารถเลือกทำกันตามความสะดวก สำคัญคืออย่าเพิ่งรีบพับขาตั้งกล้องกลับ เมื่อเห็นเมฆหมอกหนาทึบ
ภาพบนสุด : ช่วงเช้า สภาพท้องฟ้าที่มีเมฆมากๆ การเฝ้ารอแสงแรกของวัน อาจพบกับผิดหวัง แต่ก็ใช่จะหมดหวัง เพราะสภาพท้องฟ้าที่มีเมฆลักษณะนี้ เมื่อดวงอาทิตย์ลอยสูงขึ้น จะมีลำแสงลอดเมฆลงมา
ภาพบน : ช่วงสาย เป็นช่วงที่ดอกบัวบานเต็มที่ จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะกับการเก็บภาพบัวแดงคู่กับปราสาทนครวัด
สำหรับช่วงสาย มุมมหาชนนี้ ส่วนใหญ่ไม่นิยมถ่ายกันเพราะเป็นมุมย้อนแสง แต่สิ่งที่จะนำเสนอในช่วงเวลานี้ คือดอกบัวแดงที่บานอยู่ด้านหน้าตัวปราสาท ถ้ารอให้เป็นมุมตามแสงที่แดดบ่ายคล้อยมาอีกด้าน ดอกบัวจะหุบหมดก่อน สำหรับการถ่ายโดยมีบัวเป็นฉากหน้า เลือกถ่ายได้สองแบบคือ ถ่ายจากระยะไกลด้วยเลนส์เทเลโฟโต้ หรือเข้าใกล้ดอกบัวแล้วใช้เลนส์มุมกว้างเก็บภาพโดยมีดอกบัวเป็นฉากหน้า ถ้าต้องการให้เห็นมุมสะท้อนในน้ำด้วย ก็วางกล้องในมุมต่ำๆ โดยภาพที่นำมาฝากนี้ เก็บภาพด้วยเลนส์มุมกว้างแต่ไม่ได้ใช้ช่วงกว้างสุดๆ เพราะเพอร์สเปคทีฟของเลนส์มุมกว้าง จะทำให้ตัวปราสาทนครวัดดูเล็กเกินไป ภาพนี้ถ่ายที่ช่วงประมาณ 35 mm. เท่านั้น สำหรับการใช้ดอกบัวเป็นฉากหน้าโดยใช้เลนส์มุมกว้าง ถ้าเข้าใกล้มากๆ จะทำให้ดอกมีขนาดใหญ่เกินไป และถ้าวางมุมไม่พอดีก็จะไปบังตัวปราสาท ที่สำคัญการเข้าไปโฟกัสใกล้มากๆ จะควบคุมช่วงความชัดลำบาก ถ้าทิ้งระยะให้ห่างจากดอกบัวสักเล็กน้อย แล้วปรับซูมช่วงเลนส์ให้ได้คอมโพสต์แบบที่ต้องการ จะควบคุมช่วงความชัดได้ง่ายกว่า มุมลักษณะนี้อาจจะยากในการวางมุมให้ทุกอย่างลงตัวพอดี แต่ฝึกบ่อยๆ ก็จะรู้ระยะสามารถเลือกให้ช่วงเลนส์ได้ดีและเร็วขึ้น
ช่วงบ่าย แสงแข็ง แดดแรง เหมาะกับการถ่ายภาพแบบอินฟราเรด
ตอนเที่ยงแดดเปรี้ยง ดวงตะวันเกือบตรงศีรษะ ในช่วงบ่ายๆ แบบนี้ก็เป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาที่ไม่ค่อยนิยมเก็บภาพกัน แต่ถ้าเราสามารถเก็บภาพในช่วงนี้ได้ ก็จะได้ภาพนครวัดมุมมหาชนที่แตกต่างไปจากคนอื่นๆ สำหรับช่วงเวลานี้ ถ้าถ่ายแบบปกติ ภาพก็อาจไม่น่าสนใจ การเก็บภาพในช่วงเวลาที่แดดแรงๆ มีวิธีการถ่ายภาพแบบหนึ่งที่อยากแนะนำ คือการถ่ายแบบ IR (Infrared) ต้นไม้ใบไม้จะเปลี่ยนสีจากสีเขียวเข้มเป็นสีขาวฟุ้ง ดูสวยงามแปลกตาไปอีกแบบ ยุคก่อนถ้าอยากถ่ายลักษณะนี้ก็ต้องใช้ฟิล์มอินฟราเรด แต่ปัจจุบันระบบดิจิตอลทำให้การถ่ายภาพแบบอินฟราเรดง่ายและสะดวกขึ้น ถ่ายมาแบบปกติก่อนแล้วใช้โปรแกรมตกแต่งภาพช่วยก็เป็นวีธีหนึ่ง แต่วิธีที่จะแนะนำนี้เป็นการใช้ฟิลเตอร์ IR อาจจะลำบากตอนถ่ายนิดหน่อย แต่หลังจากกดชัตเตอร์แล้วก็เห็นผลเลย ไม่ต้องมาลุ้นตอนทำภาพ ถ้าไม่ถนัดเรื่องการปรับแต่งด้วยก็ยิ่งไม่แนะนำ
เนื่องจากฟิลเตอร์ IR มีสีดำ เมื่อใส่เข้าที่หน้าเลนส์แล้วจะมองไม่เห็น ดังนั้นก่อนใส่ฟิลเตอร์ต้องปรับโฟกัส ปรับช่องรับแสง ปรับความไวชัตเตอร์ให้เรียบร้อยก่อน และอย่าลืมตั้งกล้องให้บันทึกภาพในแบบขาว-ดำ ไม่อย่างนั้นหลังจากถ่ายออกมาแล้ว ภาพจะเป็นสีแดงทั้งภาพแทนที่จะได้ภาพขาว-ดำสวยๆ แบบอินฟราเรด สำหรับมือใหม่อาจ เลือกช่องรับแสงกับความไวชัตเตอร์ให้พันธ์กันค่อนข้างลำบาก ภาพนี้ใช้ช่องรับแสงที่ F/8 ความเร็วชัตเตอร์ 30 วีนาที ISO 400 ถ้าถ่ายแล้วหาความสัมพันธ์ระหว่างช่องรับแสงกับความไวชัตเตอร์ไม่ได้ ก็ลอง ใช้ค่าใกล้เคียงนี้ถ่ายดูก่อน ได้ภาพมืดหรือสว่างไปก็ลองชดเชย ปรับเพิ่มลดค่าต่างๆ อีกครั้ง
ช่วงเย็น ตามแสง เป็นช่วงเวลาเหมาะกับการเก็บภาพซึ่งเป็นที่รู้กัน
ช่วงเย็นถึงค่ำ หนึ่งในช่วงเวลาที่หลายๆ ท่านนิยมมาเก็บภาพ มุมมหาชนของนครวัดในช่วงเวลานี้ จากเย็นถึงค่ำเหมารวมเป็นช่วงเดียวกัน เพราะเป็นช่วงเวลาที่ต่อเนื่องกันภายในไม่กี่นาที ระหว่างที่พระอาทิตย์กำลังลับขอบฟ้าจะมีแสงสีทอง สาดส่องเข้าตัวปราสารพอดี น้ำในสระด้านหน้านิ่งก็จะเห็นเงาสะท้อนชัดเจนเหมือนกระจกเลยทีเดียว มุมตามแสงนี้ถ่ายได้ไม่ยาก เข้าหลักเกณฑ์ตามตำรา ถูกที่ถูกเวลา ถ่ายยังไงก็สวยประมาณนั้น เก็บภาพโดยถ่ายครอปแบบเน้นๆ สภาพแสงโดยรวมอาจไม่ต่างกัน แต่ถ้าถ่ายมุมกว้างมากๆ เก็บท้องฟ้าด้านบนที่มีริ้วเมฆสวยๆ แล้วมีมุมสะท้อนด้านล่างแบบกว้างๆ เข้าไปอีกด้วยนั้น ภาพโดยรวมทั้งสองส่วนค่าแสงจะต่างกันมาก ปัญหานี้ตัวช่วยก็ต้องเป็นฟิลเตอร์ แกรดูเอทอีกเช่นเคย ช่วงเวลาพระอาทิตย์ขึ้นกับพระอาทิตย์ตก ที่จะเห็นสีทองๆ แบบนี้ค่อนข้างเร็ว ถ้าไม่เลือกมุมตั้งขาเอาไว้ก่อน บางครั้งขณะเตรียมอุปกรณ์อยู่ แสงทองที่เห็นก็หายวับไปกับตา เหตุการณ์แบบนี้เจอบ่อยมาก แต่หลังจากแสงทองๆ ที่ตัวปราสาทหายไปก็อย่าเพิ่งรีบเก็บกล้อง เช่นเคยรอต่ออีกนิดหน่อย ถ้าโชคดีมีริ้วเมฆสวยๆ ในมุมที่รับกับตัวปราสาทหลังพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าไป ก็จะมีแสงสุดท้ายเกิดขึ้น เหมือนภาพสุดท้ายที่นำมาฝาก
หลังพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปแล้ว ก็เป็นอีกหนึ่งนาทีทอง ช่วงทไวไลท์จะสวยมากน้อยแค่ไหนก็ต้องลุ้นกันวันต่อวัน
หนึ่งสถานที่ ในสี่ช่วงเวลา ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงการนั่งเฝ้าเพื่อเก็บภาพในแต่ละช่วงเวลา แต่เป็นการค้นหามุมที่น่าสนใจ ในแต่ละช่วงเวลา เช้า สาย บ่าย เย็น สามารถเก็บภาพได้ เหตุการณ์ไม่คาดคิดหลายอย่างเกิดขึ้นได้เสมอ ท่านอาจตื่นไม่ทันไปดูพระอาทิตย์ขึ้น ไปไม่ทันเห็นพระอาทิตย์ตก หรือไปแล้วเจอสภาพอากาศไม่ดี ไม่ต้องหงุดหงิดกับความผิดพลาด เมื่อทุกอย่างไม่เป็นตามแผน ก็ยังมีช่วงเวลาอื่น ที่สำคัญจะได้มีความสุขกับการเดินทางท่องเที่ยวถ่ายภาพ
เรื่อง/ภาพ : ฤทัยรัตน์ พวงแก้ว