TRAVELS

ตามรอยเท้าพ่อไปเยือนศูนย์พัฒนาโครงการหลวงผาตั้ง

ตามรอยพระบาท 12 โครงการหลวง 12 เส้นทางแห่งความสุขโครงการหลวง

ผมและทีมงานเดินทางออกจากศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปังค่า เพื่อไปยังจุดหมายต่อไปนั่นคือ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงผาตั้ง ในเขตพื้นที่อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย โดยเรายังคงใช้รถยนต์ Toyota Fortuner 2.8V 4WD AT คันเก่งคันเดิมครับ โดยเส้นทางนั้น ผมขับย้อนกลับเข้ามายังตัวอำเภอเชียงคำที่อยู่ไม่ไกลมากนัก ก่อนที่จะตัดเข้าเส้นทางหมายเลข 1093 ผ่านนํ้าตกภูซาง ตรงเข้าสู่ภูชี้ฟ้า ซึ่งผมตั้งใจจะพักที่นี่ก่อนในคืนแรก เพื่อเก็บแสงเช้าที่ยอดภูก่อนเดินทางต่อไปยังศูนย์พัฒนาโครงการหลวงผาตั้งครับ..

สภาพถนนระหว่างทางนั้น เป็นเส้นทางคดเคี้ยวลัดเลาะไปตามไหล่เขา ขึ้นเนินบ้าง ลงเนินบ้าง หลายต่อหลายร้อยโค้งมีบางจุดมีวิวสวยงาม และสามารถจอดรถเพื่อถ่ายภาพได้ ซึ่งบางจุดก็เป็นเนินค่อนข้างลาดชันทีเดียว สำหรับการที่จะต้องหยุดรถอยู่บนทางลาดชันแบบนี้ Toyota Fortuner 2.8V 4WD AT ก็มีเทคโนโลยีที่ช่วยให้การออกตัวหรือขับเคลื่อนต่อไปได้อย่างไร้กังวล นั่นคือ ระบบ HAC หรือ Hill-start Assist Control โดยระบบ HAC จะหน่วงแรงเบรกค้างไว้ 2 วินาที ซึ่งก็นานพอที่จะให้ผมยกเท้าจากแป้นเบรกเปลี่ยนมายังคันเร่ง เพื่อที่จะขับเคลื่อนรถไป ข้างหน้าได้อย่างสบายๆ โดยที่ตัวรถไม่ไหลตามทางลาดชันเลยแม้แต่นิดเดียวครับ

ซึ่งประโยชน์ของระบบนี้ ยังใช้ได้ในขณะขับขี่ในเมือง อย่างตอนรถติดบนคอสะพาน หรือเมื่อขับรถตามทางวนเข้าลานจอดของห้างสรรพสินค้าชั้นนำ ที่บางครั้งหรือหลายๆ ครั้ง ผมเองต้องหยุดรอบนทางวนขึ้นในแต่ละชั้น สถานการณ์แบบนี้ ระบบ HAC ก็จะช่วยไม่ให้รถไหลลง เวลาจะออกตัวได้เช่นเดียวกันครับ

อีกหนึ่งระบบที่ช่วยให้การใช้งานรถบนภูเขาสูงชันได้อย่างปลอดภัยเช่นเดียวกัน นั่นคือระบบ DAC หรือ Downhill Assist Control ซึ่งเป็นระบบจะช่วยควบคุมการเบรกของล้อทั้งสี่อย่างอิสระ และหน่วงความเร็วของรถให้ตํ่าลงโดยอัตโนมัติ ในเมื่อต้องขับรถลงเนินที่มีความสูงชัน โดยผู้ขับขี่เพียงควบคุมพวงมาลัยไปยังทิศทางที่ต้องการเท่านั้นเอง ระบบนี้จะต้องใช้ควบคู่ไปกับระบบขับเคลื่อนแบบ 4 ล้อครับ โดยเลือกใช้ได้ด้วยการบิดแป้นควบคุมระบบขับเคลื่อนไปยังตำแหน่ง H4 หรือ L4 จากนั้นก็กดปุ่ม DAC ที่แผงคอนโซล จากนั้นก็ปล่อยให้ระบบทำงานไปเองโดยอัตโนมัติครับ เมื่อต้องการเลิกใช้ก็กดปิดปุ่ม DAC ซํ้า แล้วปรับระบบขับเคลื่อนมาเป็นแบบ H2 ปกติเท่านั้นเองครับ

เบาะนั่งคนขับของ Toyota Fortuner 2.8V 4WD AT สามารถปรับไฟฟ้าได้ 8 ทิศทาง ซึ่งช่วยให้ผมปรับเปลี่ยนท่าในการนั่งขับตามสภาพถนนแบบต่างๆ ได้อย่างง่ายดาย ไม่ว่าจะเป็นการปรับเบาะให้สูงขึ้น ปรับความเอียงของเบาะให้ชันเข่ามากขึ้น ปรับเดินหน้าหรือถอยหลัง รวมทั้งปรับเอนพนักพิงได้อย่างนุ่มนวล ช่วยลดความเมื่อยล้าจากการขับขี่ทางไกล รวมทั้งเส้นทางแบบต่างๆ ไปได้มากทีเดียว

สำหรับศูนย์พัฒนาโครงการหลวงผาตั้งนั้น ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนเมษายน ปี พ.ศ. 2550 แต่เดิมนั้นเป็นเพียงหน่วยย่อยของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยแล้ง ตั้งอยู่บริเวณหมู่บ้านผาตั้ง บนแนวเทือกเขาผาหม่น ซึ่งกั้นชายแดนประเทศไทย และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีพื้นที่รับผิดชอบ 3 หมู่บ้าน นั่นคือ บ้านผาตั้ง, บ้านร่มฟ้าผาหม่น และบ้านศิลาแดง ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวจีนคณะชาติ, ชาวม้ง, ชาวเย้า หรือเมี่ยน, ชาวมูเซอ และชาวไทยลื้อ ครอบคลุมพื้นที่กว่า 6,471 ไร่ โดยวัตถุประสงค์ในการก่อตั้งศูนย์ฯ คือ เพื่อพัฒนาการเกษตรบนที่สูงให้ถูกวิธีและมีความยั่งยืน มีระบบอนุรักษ์นํ้า และพัฒนาผลผลิตให้ได้ผลดี ทำให้ชาวชุมชนรู้จักการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวต่อไป

ที่ชุมชนเชิงภูชี้ฟ้านั้น กำลังมีงานดอกเสี้ยวบาน ซึ่งสองข้างถนนเต้มไปด้วยร้านรวงมากมาย รวมๆ กับร้านเดิมที่มีอยู่แล้วก็ทำให้การจราจรค่อนข้างหนาแน่นมากทีเดียว ทั้งจากนักท่องเที่ยวชาวถิ่นเอง และนักท่องเที่ยวต่างถิ่นในชุมชนที่ไม่ห่างไกลกันนัก รวมทั้งนักท่องเที่ยวจากแดนไกลอย่างผมและทีมงาน

เทศกาลงานดอกเสี้ยวบาน ถือเป็นงานประจำปีที่จัดขึ้นในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ โดยจัดขึ้นครั้งแรกในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2534 หลังจากนั้นก็จัดขึ้นเป็นประจำทุกๆ ปี ข้อดีของงานแบบนี้คือ มีของกินให้เลือกเยอะครับ ส่วนของใช้ต่างๆ นั้น ก็เช่นเดียวกับงานเทศกาลทั่วๆ ไป ที่มักจะมีสินค้าหลากหลายรูปแบบมาวางจำหน่ายครับ แต่สำหรับผมมุ่งหาของกินไว้ก่อน ..ว่าจะลองชิมไก่ทอดหาดใหญ่บน
ภูชี้ฟ้าดูซะหน่อยครับว่าจะอร่อยเหมือนต้นตำหรับหรือเปล่า..

หลังจากที่อิ่มหนำสำราญกันแล้ว ผมและทีมงานก็เดินๆ ดูของตามร้านรวงต่างๆ ส่วนใหญ่ก็คุ้นๆ ตากันอยู่ตามตลาดนัดทั่วๆ ไป จะมีแปลกตาอยู่บ้าง ก็เป็นแผ่น VCD คาราโอเกะนักร้องชาวถิ่น มีทั้งแบบลูกทุ่งสมัยใหม่ และลูกทุ่งพื้นบ้าน ดูๆ ไปก็เพลินดีครับ แต่ฟังไม่รู้เรื่อง อีกแบบหนึ่งก็เป็น VCD เหมือนบทสวดครับ น่าจะเป็นบทนำสวดในงานพิธีอะไรซักอย่าง ลองถามคนขายก็ได้รับคำตอบที่ฟังแล้วก็ยังข้องใจอยู่เหมือนเดิมละครับ ฮ่า ฮ่า ฮ่า…

เช้าวันใหม่ ผมออกมารอรถขึ้นไปยังยอดภูตั้งแต่ตี 5 การขึ้นยอดภูในปัจจุบันก็สะดวกดีทีเดียวครับ ไม่จำเป็นต้องขับรถขึ้นไปเองก็ได้ เพราะมีรถบริการอยู่มากมายครับ เอาง่ายสุดก็ที่โรงแรมหรือรีสอร์ตที่พักนั่นแหละครับ แทบจะทุกที่ เดินออกมาจากห้องก็มีรถรออยู่แล้วครับ ค่ารถก็คนละ 60 บาท รวมไปและกลับ ไปคันไหนก็กลับคันนั้น จำหมายเลขรถไว้ให้ดีก็แล้วกันครับ หลังจากที่นั่งรถรับลมเย็นเฉียบที่มาปะทะหน้าจนแทบชามาสักพักก็จะถึงลานจอดรถ ก่อนที่จะเดินต่อขึ้นไปยังยอดภูอีกประมาณ 750 เมตร และแถวๆ ลานจอดรถก็มีร้านค้าให้เลือกซื้อหาสินค้าที่ระลึก รวมทั้งของกินต่างๆ อย่างกาแฟร้อน บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และไข่ต้มรองท้องก่อนออกไปใช้พลังกันด้วยละครับ อุปกรณ์ที่สำคัญในการเดินขึ้นยอดภูอีกอย่างก็คือ ไฟฉายครับ เพราะตี 5 หรือตี 5 ครึ่ง ฟ้ายังมืดอยู่ ถ้าไม่มีไฟฉายก็จะเดินค่อนข้างลำบากทีเดียว แต่สามารถซื้อหาที่ร้านค้าได้ครับ อันเล็กๆ ราคาไม่กี่บาท หรือจะใช้ไฟฉายจากสมาร์ทโฟนก็ได้เช่นกันครับ

วิวพาโนรามาของจุดชมวิวยอดฮิต ภูชี้ฟ้า ซึ่งอยู่ห่างจากศูนย์ฯ ประมาณ 30 กิโล

อากาศวันนี้ไม่ค่อยดีนัก มีหมอกค่อนข้างเยอะ และมีนักท่องเที่ยวค่อนข้างหนาตา อาจจะเพราะตรงกับวันหยุดหลายวัน รวมทั้งผู้คนที่เดินทางมาเที่ยวงานดอกเสี้ยวบานด้วยครับ ผมถ่ายภาพอยู่สักพัก ฟ้าไม่เปิดแน่ๆ ก็เก็บกล้องถ่ายภาพและขาตั้งกล้องกลับลงมาที่ลานจอดรถข้างล่าง และกลับที่พักเพื่ออาบนํ้าและเก็บสัมภาระเดินทางต่อไปยังศูนย์พัฒนาโครงการหลวงผาตั้งครับ

ผมขับรถสลับกับแวะถ่ายภาพระหว่างทางเป็นระยะๆ ทำให้ใช้เวลาไปค่อนข้างมากทีเดียว ทั้งๆ ที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงผาตั้ง อยู่ห่างจากภูชี้ฟ้าประมาณ 30 กิโลเมตรเท่านั้นเอง ฟ้าตอนสายเริ่มเปิด ท้องฟ้าสีฟ้าเริ่มออกมาให้เห็นบ้าง แต่โดยรวมแล้วเมฆยังคงหนาแน่นอยู่เหมือนกับตอนเช้า แต่หมอกหนาๆ นั้นจางลงไปจนเกือบหมด อากาศแบบนี้เหมาะสำหรับถ่ายภาพบุคคลครับ เพราะ คอนทราสต์ไม่แรงเกินไป หรือเงาที่จะเกิดขึ้นไม่เข้มเกินไปนั่นเองครับ ..ว่าแต่ จะหาสาวชาวดอยได้จากที่ไหนนะ…

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงผาตั้ง อยู่ในเส้นทางเดียวกับดอยผาตั้ง ซึ่งจะต้องเลี้ยวขวาจากถนนหมายเลข 1093 เข้าไปนั่นเอง ช่วงทางแยกจากถนนหมายเลข 1093 จะเป็นทางหักขึ้นเนินค่อนข้างสูงทีเดียว รถที่มีความสูงตํ่า หรือรถที่เตี้ยๆ กันชนหน้าและหลังอาจจะครูดกับพื้นถนนได้ แต่สำหรับ Toyota Fortuner 2.8V 4WD AT มีความสูงมากทีเดียว เส้นทางแบบนี้ ผ่านฉลุยครับ

ขึ้นเนินมาเล็กน้อย จะมีร้านกาแฟด้านขวามือให้นั่งละเลียดชมวิวแนวเขาเบื้องล่างไปพร้อมๆ กับกลิ่นหอมกรุ่นของกาแฟสดจากไร่ ..แน่นอนครับ ผมเองก็ไม่พลาดที่จะแวะชิมเช่นกัน ถัดจากร้านกาแฟออกไปประมาณ 200 เมตร จะเป็นทางแยกลงไปสู่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงผาตั้ง เส้นทางช่วงแรกจะเป็นดินลูกรังประมาณ 300 เมตร หลังจากนั้นก็เป็นทางลาดด้วยซีเมนต์ครับ

เมื่อเข้าไปถึงจะเจอกับโรงคัดแยกผลผลิตที่ชาวบ้านนำมาจำหน่ายให้กับโครงการหลวง เพื่อคัดเลือกให้ได้ตามมาตรฐาน ก่อนที่จะส่งไปจำหน่ายในร้านของโครงการหลวงอีกที “มีอะไรให้รับใช้คะ” เสียงเจ้าหน้าที่สาววัยแรกรุ่นทักทายมา พร้อมกับรอยยิ้มสดใส “มีจุด ไหนให้เข้าไปเที่ยวถ่ายภาพได้บ้างครับ” ผมถามกลับไป “ด้านโน้นเป็นต้นพญาเสือโคร่งคะ แต่ตอนนี้ดอกโรยไปเกือบหมดแล้ว ส่วนด้านนั้นเป็นแปลงสตรอว์เบอร์รีและแปลงผักของชาวบ้านที่มาใช้พื้นที่ของศูนย์ฯ ในการเพาะปลูกคะ” เสียงเจื้อยแจ้วตอบกลับมา “งั้นผมขอเดินดูรอบๆ นะครับ” หลังจากที่ได้รับคำตอบ ผมก็เดินถ่ายภาพดอกเสี้ยนฝรั่งกอใหญ่ และแปลงเครพกูสเบอรี่ที่ถูกเก็บผลผลิตไปบางส่วนแล้ว

โรงเรือนเพาะพันธ์ุภายในศูนย์

แปลงสตรอว์เบอร์รีที่ชาวบ้านเข้ามาใช้พื้นที่ของศูนย์ในการเพาะปลูก และให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเก็บสตรอว์เบอร์รีในแปลงได้

ไร่สตรอว์เบอร์รีที่มีฉากหลังสวยด้วยดอกพญาเสือโคร่งที่ยังหลงเหลือให้เห็นอยู่

ต้นพญาเสือโคร่งหลายต้นที่อยู่ถัดจากสำนักงานของศูนย์ออกไป มีดอกอยู่บ้างประปราย พร้อมๆ กับใบอ่อนเริ่มแตกยอดออกมา ตามพื้นใต้ต้นมีร่องรอยของดอกที่เคยเบ่งบานอวดความสวยงามร่วงหล่นเต็มพื้น ซึ่งถ้าหากว่ามาถึงในช่วงก่อนหน้านี้ซัก 15 วัน น่าจะได้เห็นดอกบานเต็มต้นเป็นแน่แท้ แต่ถึงจะมีอยู่แค่นี้ก็ขอชักภาพเก็บไว้หน่อยก็ยังดีละครับ

ถัดลงไปด้านล่าง เป็นแปลงสตรอว์เบอร์รี ซึ่งกำลังออกผลแดงพร้อมรับประทานอยู่หลายแปลง มีคนกำลังเก็บลูกสตรอว์เบอร์รีอยู่ ผมก็เลยลั่นชัตเตอร์ไปชุดใหญ่ “สวัสดีคะ” เสียงร้องทักมา “มาเที่ยวเหรอคะ” “ครับ” ผมตอบกลับไป “เก็บไปขายเหรอครับ” “เปล่าคะ” เจ้าของแปลงสตรอว์เบอร์รีตอบกลับมา “เก็บส่งโครงการหลวงไปแล้ว แต่ชุดนี้สุกเร็ว เลยต้องเก็บอีกรอบ เข้ามาเก็บได้นะคะ” เสียงเชื้อเชิญ “แล้วขายยังไงครับ” “กล่องละ 200 คะ” ผมมองกล่องพลาสติกในมือของเธอที่มีสตรอว์เบอร์รีอยู่เกือบจะเต็มกล่องแล้ว ว่าแล้วก็อุดหนุนซะหน่อย “วันก่อนมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเก็บจนล้นทั้งกล่องทั้งฝาเลยคะ แต่หนูก็ไม่ได้ว่าอะไร” เธอพูดพร้อมหัวเราะ “ผมเอาสองกล่องนะครับ” ผมบอกกลับไป ก่อนที่จะขอตัวเดินลงไปถ่ายภาพแปลงผักที่อยู่เนินด้านล่างลงไปอีก

แปลงเพาะและขยายพันธ์ุต้นกล้า ก่อนที่จะแบ่งปันไปยังเกษตรกรนำไปเพาะปลูกต่อไป

ศัตรูอย่างหนึ่งของต้นผักต่างๆ คือวัชพืชที่พร้อมจะงอกงามไปพร้อมๆ กับต้นผักด้วยเช่นกัน เจ้าของสวนจะคอยหมั่นเก็บทิ้งอยู่เรื่อยๆ

“สวัสดีครับ ทำอะไรอยู่เหรอครับ” ผมทักทายเจ้าของสวนที่กำลังง่วนอยู่กับแปลงผักกาด “เก็บหญ้าครับ” เสียงตอบกลับมาแบบไม่ค่อยชัดนัก เพราะพี่เค้าเป็นชาวเขาเผ่าม้งที่มาใช้พื้นที่ของศูนย์ปลูกผักกาดอยู่ 4 โรงเรือน “ผักได้ปุ๋ยก็งามดี แต่วัชพืชก็ได้ปุ๋ยด้วย เลยต้องเก็บทิ้งครับ ไม่งั้นก็แย่งปุ๋ยผักไปหมด” ที่จริงการปลูกผักในโรงเรือนที่คลุมด้วยตาข่ายถี่ๆ ก็ไม่ใช่ว่าจะรอดพ้นจากแมลงหรือศัตรูพืชอื่นๆ ไปได้ทั้งหมด แมลงตัวเล็กๆ ยังสามารถเล็ดลอยผ่านตาข่ายเข้ามาทำลายพืชผักได้ รวมทั้งวัชพืชต่างๆ ที่ได้รับปุ๋ยบำรุงดิน ก็เติบโตขึ้นมาพร้อมๆ กัน ไม่มีอะไรที่ได้มาง่ายๆ ครับ

ผมเดินถ่ายภาพแปลงผักด้านล่างอยู่พักใหญ่ๆ ก็กลับขึ้นไปยังแปลงเพาะต้นกล้าของศูนย์ฯ ที่ทำการทดลองและเพาะกล้าพืชต่างๆ สำหรับส่งต่อให้ชาวบ้านได้นำไปปลูกต่อเพื่อสร้างรายได้ของตนเอง ซึ่งเป็นแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ต้องการให้ชาวเขาได้ “ช่วยเหลือตัวเอง” ไม่ใช่การนอนรอรับความช่วยเหลือจากทางการเฉยๆ ซึ่งเป็นการสร้างอาชีพที่สืบทอดไปจนถึงลูกๆ หลานๆ ได้อย่างยั่งยืนละครับ

ผมกลับออกมาถ่ายภาพด้านนอกตรงทางเข้า ซึ่งมีการจัดแปลงกะหลํ่าสีสันสวยงามมากมายรอให้นักท่องเที่ยวมาถ่ายภาพก่อนที่จะกลับออกมาเพื่อไปถ่ายภาพยังดอยผาตั้งกันต่อ ดอยผาตั้งในปัจจุบันปรับปรุงที่จอดรถและร้านรวงต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ ไม่ต้องจอดรถริมทางตามไหล่เขาอีกต่อไป ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าชมเชยทีเดียวครับ

กะหลํ่าสีสันสวยงามชูช่อรอต้อนรับนักท่องเที่ยวอยู่ที่หน้าศูนย์ฯ

แปลงผักที่เอากล้าพันธ์ุมาจากศูนย์ ป้ายเหลืองๆ ที่เห็นคือกาวเอาไว้ดักจับเพลี้ย และแมลงตัวเล็กๆ ที่จะมากัดทำลายต้นผัก

มะเขือเทศที่ออกผลมากมาย และใกล้ถึงเวลาเก็บเกี่ยว

ด้านหน้าประตูสู่ดอยผาตั้ง มีร้านค้าตั้งเรียงรายกันอยู่หลายๆ ร้าน ซึ่งร้านที่ผมมักจะแวะทุกครั้งที่ไปเยือนคือ ร้านโรตีที่อยู่ตรงข้ามประตูพอดีๆ ครับ เหตุผลนะเหรอครับ ไม่มีอะไรพิเศษครับ อากาศเย็นๆ กับโรตีร้อนๆ ผมว่าเข้ากันดีนะครับ แต่ถ้าหากว่ามาช่วงเช้าๆ ไข่ลวกกับกาแฟร้อนก็เข้ากันดีด้วยเหมือนกันครับ

หลังจากที่เดินขึ้นบันไดผ่านประตูสู่ผาตั้งมาแล้ว ถ้าไม่ต้องการเดินต่อ ก็สามารถใช้บริการนั่งม้าไปยังเนิน 102 และเนิน 103 โดยตรงเลยก็ได้ครับ ค่าบริการก็สอบถามได้จากคนดูแลม้าได้เลยครับ แล้วตอนขากลับก็ค่อยเดินถ่ายภาพมาเรื่อยๆ ก็ได้ หรือถ้าหากว่าจะเดินถ่ายภาพชมโน่นชมนี่ไปเรื่อยๆ ก็ได้เช่นกันครับ โดยระยะทางจากประตูไปยังช่องเขาขาด 350 เมตร, ไปเนิน 102 ระยะทาง 450 เมตร และไปเนิน 103 ระยะทางประมาณ 950 เมตรครับ

เนิน 103 มุมมองจากเนิน 102 จะเห็นเส้นทางที่สามารถเดินไปได้ รวมทั้งมีม้าไว้คอยบริการสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการเดินไปด้วย

ถัดจากประตูเข้ามาจะเป็นจุดชมวิวผาบ่อง ซึ่งเป็นช่องระหว่างหน้าผาที่สามารถชมวิวในฝั่งของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวได้อย่างกว้างไกลทีเดียว และถัดจากทางลงผาบ่องมาเล็กน้อยเป็นศาลาอนุสรณ์นายพลหลี่ ซึ่งเป็นอดีตผู้นำทหารจีนคณะ ชาติ (ทจช) กองทัพที่ 3 ที่ได้นำกำลังยึดพื้นที่ดอยผาหม่น และดอยยาวคืนจากผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ได้สำเร็จ

ผมนั่งพักรับลมเย็นที่ศาลานี้อยู่ชั่วครู่ ก็เดินขึ้นไปไหว้พระพุทธมังคลานุภาพสุขสันติ และเดินต่อไปยังป่าหินยูนนาน ที่มีลักษณะเป็นหินปลายแหลมรูปทรงแปลกๆ มากมาย ถัดจากป่าหินยูนนานไม่ไกลมากจะเป็นช่องผาขาด ซึ่งเป็นช่องเปิดระหว่างก้อนหินที่สามารถเดินออกไปชมวิวของฝั่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวได้เช่นดียวกัน แต่อาจจะไม่ได้กว้างไกลมากนัก เพราะต้องยืนชมวิวอยู่ในช่องผาเท่านั้นนั่นเอง เนื่องจากด้านหน้าเป็นหน้าผาสูง และต้องใช้ความระมัดระวังในการชมวิว หรือถ่ายภาพด้วย เพื่อป้องกันอันตรายครับ

ผมเดินกลับออกมาจากช่องผาขาด แล้วเดินตามทางเดินขึ้นไปยังเนิน 102 หรือจะเดินเลี่ยงออกทางด้านขวาไปยังเนิน 103 ก็ได้ เช่นกันครับ โดยเนิน 102 นี้ เป็นเนินเขาโล่งๆ ที่สามารถชมวิวได้รอบด้านแบบ 360 องศาเลยทีเดียว เหมาะสำหรับถ่ายภาพทั้งในช่วงพระอาทิตย์ขึ้นและช่วงพระอาทิตย์ตกดินเลยละครับ บนเนินจะไม่มีที่สำหรับหลบแดดในวันที่แดดจัด แต่สายลมที่พัดโกรกอยู่ตลอดก็ไม่ได้ ทำให้รู้สึกร้อนเท่าไหร่ครับ

สำหรับการถ่ายภาพพระอาทิตย์ขึ้นหรือพระอาทิตย์ตกบนเนิน 102 โดยใช้ขาตั้งกล้อง ก็ควรจะเป็นขาตั้งกล้องที่มีความแข็งแรงพอสมควร เนื่อจากลมที่พัดโกรกอยู่ตลอดอาจจะทำให้ขาตั้งกล้องสั่นได้ หรือไม่ก็ใช้วิธีเอากระเป๋ากล้องถ่วงขาตั้งให้มีความมั่นคงมากขึ้นก็ได้ครับ

เนิน 102 สามารถชมวิวได้รอบด้านแบบ 360 องศา สามารถถ่ายภาพได้ทั้งพระอาทิตย์ขึ้น และตกในจุดเดียว

ในตอนกลับลงมาผมอยากได้อารมณ์ของการขับขี่แบบเกียร์แมนนวล เลยขอลองใช้รูปแบบการปรับเกียร์เอง โดยโยกคันเกียร์จากตำแหน่ง D ปกติ มาที่ S และใช้การปรับชิฟท์เกียร์สูงหรือตํ่าได้จากคันเกียร์เอง หรือจะปรับจาก Paddle Shift ที่พวงมาลัยก็ได้เช่นกันครับ แต่ผมถนัดใช้ Paddle Shift มากกว่าครับ เพราะยังคงใช้สองมือจับพวงมาลัยได้อย่างมั่นคงเช่นเดิม สำหรับระบบช่วงล่างที่ได้รับการ ออกแบบใหม่รู้สึกได้ถึงความนุ่มหนึบในขณะขับขี่ ไม่ว่าจะเป็นทางราบเรียบแบบถนนลาดยางหรือคอนกรีต และเส้นทางที่ขรุขระแบบถนนดินหรือเส้นทางออฟโรด รวมทั้งยังรู้สึกถึงการยึดเกาะถนนที่ดีขึ้นจากการกระจายแรงส่งไปยังล้อทั้งสี่ ไม่ว่า จะเป็นการขับขี่ในทางตรงๆ หรือแม้จะเป็นทางโค้งก็ตามครับ

สำหรับทริปหน้า ผมและทีมงานจะเดินทางไปยังแหลมผักเบี้ย และโครงการชั่งหัวมัน ซึ่งเป็นโครงการในพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ทั้งสองโครงการจะมีอะไรที่โดดเด่นบ้าง และพาหนะของผมและทีมงานจะเป็นรถยนต์โตโยต้ารุ่นไหนนั้น ติดตามได้ในฉบับหน้าครับ

..สวัสดีครับ…

เรื่อง / ภาพ : กองบรรณาธิการ
ขอขอบคุณ… บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด


การเดินทาง : การเดินทางไปศูนย์พัฒนาโครงการหลวงผาตั้ง

จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1 มุ่งตรงสู่จังหวัดนครสวรรค์ ผ่าน อุทัยธานี กำแพงเพชร ลำปาง ตรงเข้าสู่พะเยา จากนั้นเลี้ยวขวาเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 1021 ตรงไปยังอำเภอจุน และดอกคำใต้ ขับตามเส้นทางสายหลักมาจนถึงอำเภอเชียงคำ ผ่านตัวอำเภอเชียงคำ ให้เลี้ยวขวาเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 1093 ผ่านนํ้าตกภูซาง ภูชี้ฟ้า จนถึงบ้านผาตั้ง ระยะทางจากอำเภอเชียงคำมาผาตั้งประมาณ 84 กิโลเมตร


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


ติดตามบทความ ตามรอยพระบาท 12 โครงการหลวง 12 เส้นทางแห่งความสุขโครงการหลวง หรือสนใจบทความท่องเที่ยวที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่
https://test2.fotoinfo.online/travels/shooting-destination/