ADVANCE BASIC

รวมเทคนิคการสร้างสรรค์ภาพด้วยแฟลช EP.2

รวมเทคนิคการสร้างสรรค์ภาพด้วยแฟลช EP.2

EP.2 แฟลชควบคุมฉากหลัง

ในสภาพแสงอึมครึม มีคอนทราสต์ หรือความเปรียบต่างของแสงน้อย ตัวซับเจคต์หลักที่เราต้องการถ่ายภาพ กับฉากหลังได้รับแสงสว่างเท่าๆ กัน กรณีนี้ เมื่อวัดแสงพอดีแล้ว ตัวซับเจคต์หลักไม่ได้โดดเด่นออกจากฉากหลัง ทำให้ภาพของเราไม่สะดุดตาเท่าที่ควร

วิธีแก้ไขคือใช้แฟลชช่วยเพิ่มคอนทราสต์ หรือสร้างสภาพแสงที่แตกต่างกันของซับเจคต์กับฉากหลังนั่นเอง

วิธีการคือ เริ่มต้น ยังไม่ต้องเปิดแฟลช ให้วัดแสงตามปกติ แต่ปรับค่าวัดแสงอันเดอร์ลงเล็กน้อย ประมาณ 2/3, 1 หรือมากกว่า 1 สตอป ตามค่าความเข้มดำของฉากหลังที่ต้องการ ถ่ายภาพมาดูก่อนก็ได้ครับ ว่าฉากหลังเข้มลงตามที่ต้องการหรือเปล่า

จากนั้นก็ใช้แฟลชส่องไปที่ซับเจคต์ ทิศทางของแฟลชควรจะเป็นด้านข้าง หรือเยื้องๆ ไปด้านหลัง เพื่อสร้างมิติของซับเจคต์ก็ได้ ปรับกำลังของ แฟลชให้เป็นเพียงการสร้างไฮไลท์เท่านั้น และควรระวังรายละเอียดในส่วนที่ถูกแสงแฟลชจะหายไปครับ

ถ้าหากว่ามีแฟลชหลายตัว ก็เลือกส่องจากด้านหน้าและด้านหลัง เพื่อสร้างริมไลท์ให้ภาพดูมีมิติมากขึ้นได้อีก โดยลดกำลังแสงด้านหน้าลง หรือซูมหัวแฟลชให้ส่งไปเฉพาะดอกที่ต้องการก็ได้เช่นกัน

การใช้แฟลชร่วมกับแสงธรรมชาติ ช่วยให้การควบคุมฉากหลังทำได้ง่ายดาย อย่างภาพนี้ วัดแสงพอดีแล้ว แต่จากสภาพแสง ทำให้ดอกไม้ ไม่โดดเด่นออกจากฉากหลัง ที่รกๆ ได้ ดังนั้นจึงใช้วิธีวัดแสงให้อันเดอร์ 2 สตอป แล้วใช้แฟลชส่องไปที่ดอกไม้ โดยแยกแฟลชออกจากตัวกล้อง และส่องเฉียงๆ ไม่ให้แสงแฟลชไปตกที่ฉากหลัง ดอกไม้จะสว่างขึ้นจากแสงแฟลช และฉากหลังจะเข้มดำจากการวัดแสงอันเดอร์นั่นเองครับ

อีกหนึ่งตัวอย่างคือ ภาพจากการถ่ายภาพปกติที่ความเร็วชัตเตอร์ 1/250 วินาที f/11 ฉากหลังดำมืด เพราะวัดแสงอันเดอร์ไป 2 สตอป ภาพขวาลดความเร็วชัตเตอร์ลงเป็น 1/125 วินาที ทำให้เห็น รายละเอียดของใบไม้ด้านหลังมากขึ้น ถ้าหากว่าใช้ขาตั้งกล้อง ที่สามารถปรับความเร็วชัตเตอร์ให้ต่ำลงมากกว่านี้ได้ ก็จะทำให้เห็นรายละเอียด พื้นข้างหลังได้มากขึ้นไปอีกครับ ความสว่างของแฟลช จะไม่มีผลกับการลดความเร็วชัตเตอร์ลง เพราะแสงแฟลชจะแปรผันไปตามระยะห่างของแฟลชกับซับเจคต์ และขนาดรูรับแสงเท่านั้นครับ

กลับ EP.1 คลิ๊ก

ไป EP.3 คลิ๊ก

Writer : พีร วงษ์ปัญญา