สำหรับคนที่ใช้กล้อง Mirrorless อาจจะมีปัญหากับการปรับตั้งกล้องกันอยู่บ้าง เมื่อต้องออกไปถ่ายภาพกลางคืน เพราะต้องมองภาพและจัดองค์ประกอบต่างๆ ผ่านวิวไฟน์เดอร์ หรือจอภาพ ที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งพออยู่ในที่มืดๆก็อาจจะดูยาก ปรับยาก โดยเฉพาะการโฟกัส Fotoinfo มีเคล็ดลับสำหรับการปรับตั้งกล้องมาฝากกันครับ มาดูกันว่า ถ้าจะไปล่าช้าง หรือถ่ายดาวด้วยกล้อง Mirrorless จะต้องใช้อุปกรณ์อะไร และปรับตั้งกล้องกันยังไง
สำหรับการใช้งานกล้อง Mirrorless ทั่วๆ ไปในสภาพแสงปกติ ก็มักจะไม่เป็นปัญหาอะไร เพราะมีแสงภาพได้อย่างสบาย แต่สำหรับการใช้งานในสภาพแสงน้อยๆ หรือมืดมากๆ การมองผ่านจอมอนิเตอร์ หรือวิวไฟน์เดอร์อิเล็กทรอนิกส์ จะเป็นปัญหามากพอสมควร เพราะกล้องจะเพิ่มกำลังขยายมากขึ้น ทำให้ดูเป็นเม็ดๆ ซึ่งค่อนข้างจะมองได้ลำบาก และถ้าหากว่าในสถานที่มืดจริงๆ อย่างถ่ายภาพดาว จะเล็งจัดองค์ประกอบอย่างลำบากทีเดียว
แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะยากซะจนจะต้องลำบากไปหากล้อง DSLR มาใช้งานเพิ่มอีกหรอกนะครับ มาดูกันว่าจะมีวิธีแก้ปัญหา, ต้องใช้อุปกรณ์เสริม และปรับตั้งกล้องกันยังไงบ้าง
เลนส์มุมกว้าง
แน่นอนว่าก็ต้องเป็นเลนส์มุมกว้างๆ ล่ะครับ เพราะจะได้เก็บบรรยากาศให้ได้ทั้งหมด ส่วนจะเลือกเน้นไปเฉพาะบางส่วนที่มีฉากหน้าสวยๆ หรือใช้เทเลโฟโต้เจาะไปที่กลางทางช้างเผือกแบบนั้นก็ไม่ว่ากันครับ
ถ้าหากเลือกเลนส์ที่มีรูรับแสงกว้างสุด กว้างมากๆ อย่าง F1.4, F1.8 หรือ F2 ได้จะยิ่งดีครับ เพราะจะได้ไม่ต้องดัน ISO ให้สูงมากนัก แล้วก็เปิดที่เอฟกว้างสุดเลย ส่วนถ้าหากว่าไม่มีเลนส์ที่เอฟกว้างขนาดนั้น ก็ใช้กว้างสุดที่มีล่ะครับ แล้วก็ดัน ISO ช่วยอีกที
ขาตั้งกล้อง และสายลั่นชัตเตอร์
เป็นสิ่งที่จำเป็นและขนาดไม่ได้แน่ๆ ถ้าจะต้องตั้งกล้องถ่ายภาพนานขนาดนั้น และอยากจะย้ำด้วยว่า จะต้องเป็นขาตั้งกล้องที่มั่นคง แข็งแรง และรองรับน้ำหนักของกล้องและเลนส์ได้เป็นอย่างดี ถ้าจะต้องเลือกซื้อใหม่ ก็เลือกที่สเปคเกินใช้ไปเยอะๆ หน่อยครับ ไม่ใช่ว่า กล้องกับเลนส์หนักแค่หนึ่งกิโล ก็หาขาตั้งกล้องที่รับน้ำหนักได้หนึ่งหรือสองกิโลครับ แต่เลือกที่รับน้ำหนักได้ 4-5 กิโล เป็นอย่างต่ำ เพราะส่วนใหญ่ เราก็ต้องถ่ายอยู่กลางแจ้ง ที่อาจจะต้องเจอกับลมที่โหมกระพืออยู่ตลอด ซึ่งก็จะทำให้กล้องสั่นไปด้วยล่ะครับ
ดังนั้น ลงทุนเพิ่มอีกซักหน่อย เอาสเปคที่สูงขึ้น รองรับการใช้งานในระดับกล้อง D-SLR ได้ ก็จะทำให้กางขาตั้งกล้องได้อย่างมั่นคงมากขึ้นด้วย เพราะจะรู้สึกแย่มาก เมื่อตั้งกล้องถ่ายภาพไป 10 นาที แล้วมาเปิดภาพดู แล้วพบว่าภาพสั่นเบลอ อย่าลืมว่าตั้งกล้องถ่ายภาพนานๆ การสั่นแค่เบาๆ อย่างต่อเนื่องก็ทำให้ภาพเบลอได้อย่างชัดเจนเหมือนกันครับ หรือมีขาตั้งกล้องอยู่แล้ว ไม่อยากซื้อใหม่ วิธีที่ง่ายที่สุด ที่จะทำให้ขาตั้งกล้องมั่นคงขึ้น ก็คือใช้กระเป๋ากล้องเรานี่แหละครับถ่วงไว้ ซึ่งส่วนใหญ่ตรงปลายล่างสุดของแกนกลางจะมีตะขอเอาไว้เกี่ยวให้มาอยู่แล้ว ก็ใช้ตะขอนั่นแหละครับ แขวนกระเป๋ากล้องเราเอาไว้ น้ำหนักของกระเป๋ากล้องที่ยังมีอุปกรณ์อื่นๆ จะช่วยถ่วงให้ขาตั้งกล้องมั่นคงขึ้นได้ด้วย
ส่วนสายลั่นชัตเตอร์ ส่วนใหญ่จะสามารถล็อกชัตเตอร์ B ค้างไว้ได้ ซึ่งสะดวกกับการถ่ายภาพในลักษณะนี้ เพราะไม่ต้องคอยกดแช่ไว้ตลอด เพราะถ้าตั้งถ่าย 10 นาทีนี่ก็เมื่อยเอาเรื่องอยู่เหมือนกัน สำหรับใครที่มีรีโมท ก็สามารถใช้ได้เช่นกันครับ แต่ก็ต้องดูว่าใช้ชัตเตอร์ B ได้หรือเปล่าด้วยนะครับ
การปรับโฟกัส
สำหรับเลนส์ซึ่งเป็นออโตโฟกัส ในสภาพแสงน้อยมักจะมีปัญหากับการโฟกัสแทบจะทุกตัว ดังนั้นใช้การโฟกัสเองแบบแมนนวลก็จะสะดวกกว่า แต่เนื่องจากว่าการมองผ่านวิวไฟน์เดอร์หรือจอทำได้ลำบาก ดังนั้นการโฟกัสเองแบบแมนนวลก็ยังคงทำได้ยากอยู่ดี วิธีช่วยในการโฟกัสนั้น ก็ไม่ต้องเล็งอะไรล่ะครับ หมุนวงแหวนโฟกัสไปที่ระยะอินฟินิตี้เลย แต่ถ้าหากว่าที่ตัวเลนส์ไม่ได้ระบุสเกลโฟกัสไว้ ก็ให้เล็งกล้องไปยังจุดสว่างๆ อาจจะเป็นแสงไฟบ้าน ถนน หรือแสงไฟอะไรก็ได้ที่อยู่ไกลๆ เพราะส่วนมากถ่ายภาพดวงดาว ก็จะต้องใช้เลนส์มุมกว้างๆ ซึ่งมักจะมีระยะโฟกัสสั้นๆ อยู่แล้ว ฉะนั้น ระยะห่าง 5 หรือ 10 เมตร ก็เข้าสู่ช่วงอินฟินิตี้แล้ว
ถ้าเป็นสถานที่ที่มืดสนิทจริง ก็ใช้ไฟฉายนั่นแหละครับ ส่องไปที่ต้นไม้ที่อยู่ห่างๆ สักต้น แล้วก็เล็งโฟกัส เมื่อกล้องโฟกัสได้แล้ว ก็เลือกรูปแบบการโฟกัสเป็นแมนนวลโฟกัส ทีนี้ เวลาแตะปุ่มชัตเตอร์ถ่ายภาพต่อๆ ไป กล้องก็จะไม่โฟกัสใหม่อีก เราก็สามารถถ่ายภาพต่อเนื่องได้เป็นอย่างดี การเลื่อนสวิทช์โฟกัสมาเป็นแมนนวลโฟกัสแล้ว บางครั้งอาจจะจับโดนวงแหวนโฟกัสโดยไม่ตั้งใจ หรือถ่ายๆ ไปแล้ววงแหวนโฟกัสเคลื่อน ก็ให้ใช้เทปกาวแบบที่ใช้ติดตัวกล้องหรือเทปกาวแบบที่ลอกแล้วไม่ทิ้งคราบกาวยึดไว้ ก็จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องวงแหวนโฟกัสเคลื่อนได้เป็นครับ
การวัดแสง
สำหรับการถ่ายดาว และทางช้างเผือก เราไม่ต้องวัดแสงครับ เพราะสเกลวัดแสงจะกะพริบที่ลบ (-) อยู่ตลอด ดังนั้นการถ่ายดาวก็ต้องถ่ายตามสูตรคำนวณ นั่นคือ สูตร 400 / เลนส์ที่ใช้ สำหรับกล้องตัวคูณ และ 600 / เลนส์ที่ใช้ สำหรับกล้องฟูลเฟรม
ยกตัวอย่าง เช่น ใช้กล้อง Sony A6600 กับเลนส์ 10-18 มม. ใช้ที่ระยะ 10 มม. ก็เอา 10 ไปหาร 400 จะได้เท่ากับ 40 นั่นคือ จะต้องตั้งถ่ายรูปดาวนาน 40 วินาที หรือใช้กล้อง Canon EOS R6 ใช้เลนส์ 15-35 มม. ที่ระยะ 15 มม. ก็เอา 15 ไปหาร 600 จะได้เท่ากับ 40 นั่นคือ จะต้องตั้งถ่ายรูปดาวนาน 40 วินาทีเช่นเดียวกัน
ส่วนถ้าหากต้องการถ่ายภาพดวงดาวให้เป็นเส้นโค้งๆ ต้องตั้งชัตเตอร์นานมากๆ อาจจะ 30 นาที ไปจนถึงเป็นชั่วโมงครับ และถ้าอยากได้เป็นวงกลม จะต้องตั้งกล้องหันไปทางทิศเหนือ แต่ถ้าไม่อยากเปิดชัตเตอร์ค้างนานๆ เพราะกล้วเซ็นเซอรืร้อน และมี Noise มากขึ้น ก็ให้ตั้งประมาณ 30 วินาที ต่อรูป แต่ถ่ายมาหลายๆ รูป แล้วเอามารวมกันในโปรแกรมแต่งภาพก็ได้
ปิดระบบป้องกันการสั่นไหว
กล้องรุ่นใหม่ๆ ในปัจจุบันจะมีระบบป้องกันการสั่นไหวให้มาด้วย ซึ่งจะช่วยให้ถือกล้องถ่ายภาพด้วยมือได้ด้วยความเร็วชัตเตอร์ต่ำกว่าปกติ แต่สำหรับการถ่ายภาพโดยการติดกล้องเข้ากับขาตั้งกล้องจะต้องปิดระบบนี้ เพราะถึงแม้จะติดกล้องเข้ากับขาตั้งกล้อง แต่ไม่ได้ปิดระบบป้องกันการสั่นไหว ระบบก็จะยังทำงานอยู่ตลอด ซึ่งจะทำให้เกิดภาพเบลอได้ จากการทำงานของระบบนั่นเอง
ดังนั้นปิดระบบป้องกันการสั่นไหวทุกครั้งที่ใช้ขาตั้งกล้องครับ และอย่าลืมเปิดเมื่อถือกล้องถ่ายภาพตามปกติครับ
ปิดระบบ Noise Reduction (NR)
ซึ่งการทำงานของ Long Exposure Noise Reduction นั้น กล้องก็จะทำการกำจัด Noise หลังจากที่ถ่ายเสร็จไปหนึ่งภาพ ซึ่งเวลาที่ลด Noise ก็จะเท่าๆ กับเวลาที่ใช้ถ่ายภาพล่ะครับ
เช่น ตั้งกล้องถ่ายภาพ 30 วินาที กล้องก็จะทำการลด Noise อีก 30 วินาทีด้วย และจะต้องรออย่างเดียว ไม่สามารถถ่ายภาพต่อไปได้ จนกว่ากล้องจะทำการลด Noise เสร็จล่ะครับ ถ้าหากว่าเผลอลืม แล้วถ่ายตอนใกล้ๆ รุ่งสางด้วยล่ะก็ อาจจะไม่ได้ถ่ายต่ออีกเลย เสียเวลา เสียอารมณ์ด้วยครับ
ISO และ ไวท์บาลานซ์
ความไวแสง เป็นสิ่งหนึ่งที่ต้องดันขึ้นไปสูงๆ ซึ่งปกติจะใช้ประมาณ ISO1600-3200 แต่ถ้ามีเลนส์สว่างๆ ก็ลดให้ต่ำลง เพื่อลดการเกิด Noise ด้วยนั่นเอง ส่วนไวท์บาลานซ์ เลือกปรับเป็น Kelvin (K) ตั้งที่ประมาณ 4000K แต่ถ้าหากว่าตั้งเป็น RAW File ก็สามารถปรับแก้ไขจากโปรแกรมตกแต่งภาพในภายหลังได้
บันทึกเป็น RAW File
การบันทึกเป็น RAW File จะช่วยลดปัญหาต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในภายหลังจากที่กดชัตเตอร์ถ่ายภาพไปแล้ว ทั้งการตั้งไวท์บาลานซ์ผิด หรือถ่ายภาพมาแล้ว มืดไป หรือสว่างไป หรือเมื่อต้องการนำไฟล์นั้นๆ ไปปรับแต่งอย่างอื่นในภายหลัง โดย RAW File นั้น จะเป็นฟอร์แมทการบันทึกภาพที่ยังไม่มีการโปรเซสใดๆ หรือยังเป็นไฟล์ดิบๆ ที่สามารถปรับแต่งแก้ไขค่าของการถ่ายภาพได้หลากหลาย และที่สำคัญ ยังคงคุณภาพของภาพต้นฉบับไว้ได้เช่นเดิม
สำหรับการเปิดไฟล์ RAW จะต้องเปิดกับซอฟท์แวร์ของกล้องนั้นๆ หรือสำหรับผู้ที่ใช้โปรแกรมตกแต่งภาพยอดนิยมอย่างโฟโต้ชอป จะต้องลง plug-in สำหรับอัพเดตข้อมูลของกล้องรุ่นใหม่ๆ เพื่อให้สามารถเปิดไฟล์ RAW และปรับแต่งค่าต่างๆ ได้ใหม่ อาทิ ความสว่างของภาพ สีสันของภาพ ลด Noise หรือเพิ่มคอนทราสต์ของภาพได้ตามที่ต้องการครับ
จะวางแผนออกไปล่าช้าง อย่าลืมเช็คเรื่องการเดินทาง สภาพอากาศ และดูแลสุขภาพกันด้วยนะครับ
Leave feedback about this