Basic Photography

เรื่องอะไร ที่มือใหม่ต้องรู้

 

สำหรับมือใหม่ที่เริ่มต้นที่จะจริงจังกับการถ่ายภาพ ความรู้พื้นฐานที่จะต้องเรียนรู้คือ จะต้องเข้าใจเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างความเร็วชัตเตอร์ รูรับแสง และความไวแสง ทั้ง 3 ค่านี้จะมีความสัมพันธ์กันตลอดเวลา ไม่ว่าจะต้องการภาพแบบไหนก็ตาม

เป็นตัวกำหนดระยะเวลาในการเปิดรับแสงของกล้อง โดยทั่วไป มีค่าที่ปรับตั้งได้ตั้งแต่ 30” (30 วินาที) ไปจนถึง 1/8000 วินาที และความเร็วชัตเตอร์มีผลโดยตรงกับการเคลื่อนไหวของซับเจคต์ ถ้าความเร็วชัตเตอร์ต่ำ จะไม่สามารถหยุดจังหวะของซับเจคต์ที่มีการเคลื่อนไหวได้ ภาพที่ออกมาจะเบลอๆ ความเร็วชัตเตอร์ต่ำคือ ต่ำกว่า 1/60 วินาทีลงมา กลับกันความเร็วชัตเตอร์สูง จะสามารถจับจังหวะเคลื่อนไหวของซับเจคต์ได้ ภาพที่ได้ก็จะคมชัด ความเร็วชัตเตอร์สูงคือตั้งแต่ 1/60 วินาทีขึ้นไป  ความเร็วชัตเตอร์ที่เหมาะสมสำหรับการถือกล้องถ่ายภาพด้วยมือต้องไม่ต่ำกว่า 1/60 วินาที แต่ความเร็วชัตเตอร์จะแปรผันไปกับระยะเลนส์ที่ใช้ด้วย โดยเมื่อใช้เลนส์ทางยาวโฟกัสสูงๆ ความเร็วชัตเตอร์ ก็จะต้องสูงตามไปด้วย

ในปัจจุบันที่ทั้งกล้องและเลนส์มีระบบป้องกันการสั่นไหวในตัว จะช่วยให้ถือกล้องถ่ายภาพที่ความเร็วชัตเตอร์ต่ำกว่าปกติได้ประมาณ 3-5 สตอป แต่ต้องไม่ลืมว่า การใช้ความเร็วชัตเตอร์ได้ต่ำกว่าปกติ จะช่วยให้ถือและใช้งานกล้องได้สะดวกมากขึ้นเท่านั้น แต่ไม่สามารถหยุดการเคลื่อนไหวได้

ถ่ายภาพไฟถนนเป็นเส้นยาวๆ ต้องอาศัยผลที่เกิดจากการใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำๆ

ภาพแอ๊คชั่น ที่ต้องการหยุดจังหวะการเคลื่อนไหว จะต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงๆ

ภาพแอ๊คชั่น ที่ต้องการสื่อถึงอารมณ์ของการเคลื่อนไหว จึงต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำกว่าปกติ และแพนกล้องตามซับเจคต์ที่กำลังเคลื่อนที่

จะเป็นตัวกำหนดปริมาณของแสงที่จะเข้าสู่ตัวกล้องโดยผ่านเลนส์ ซึ่งมีกลีบรูรับแสงเป็นตัวควบคุมขนาดของรูรับแสง เรียกว่าเป็นค่า F-stop  สามารถปรับตั้งค่าเป็น f/1.4, f/2.8, f/4, f/5.6, f/8, f/11, f/16, f/22 หรือ f/32 เป็นต้น เลนส์บางรุ่นอาจจะกว้างกว่านี้ รูรับแสงมีผลโดยตรงกับระยะชัดลึก หรือชัดตื้นของภาพ รูรับแสงกว้างๆ หรือตัวเลขน้อยๆ จะชัดเฉพาะจุดโฟกัส เรียกว่าชัดตื้น ส่วนรูรับแสงเลขที่มากขึ้น ระยะชัดลึกก็มากขึ้นไปด้วย หรือชัดหมดทั้งภาพนั่นเอง

ภาพวิวที่ต้องการความชัดลึกสูง ตั้งแต่ด้านหน้า ไปจนถึงข้างหลัง จึงต้องปรับรูรับแสงแคบๆ ซึ่งจะได้แฉกไฟจากดวงอาทิตย์ที่อยู่ในเฟรมภาพ ที่เป็นผลที่เกิดขึ้นจากการใช้รูรับแสงแคบๆ ด้วยเช่นกัน

ส่วนมากแล้ว ภาพแนว Landscape จะต้องใช้รูรับแสงแคบ เพื่อให้ได้ระยะชัดลึกสูงสุด

ภาพมาโคร เป็นภาพที่ต้องถ่ายในระยะใกล้กว่าปกติ ซึ่งต้องใช้รูรับแสงแคบเพื่อคุมความชัดของตัวซับเจคต์ แต่ระยะห่างระหว่างกล้องกับซับเจคต์ มีระยะใกล้มาก จึงทำให้ฉากหลังดูเหมือนอยู่ห่างมากขึ้น และเมื่อมีจุดสว่างๆ ที่ฉากหลัง ทำให้กลายเป็นโบเก้ไปโดยอัตโนมัติ

เป็นตัวกำหนดประสิทธิภาพในการรับแสงของกล้อง เรียกทั่วๆ ไปว่าค่า ISO โดยปกติจะเริ่มตั้งแต่ ISO 100, 200, 400, 800, 1600, 3200, 6400, 12800 หรือ 25600 ซึ่งเป็นค่าสูงสุดที่กล้องดิจิตอลทั่วๆ ไปตั้งได้ บางรุ่นจะได้มากกว่านี้ ความไวแสงปกติที่ ISO 100, 200 หรือ 400 จะยังคงให้ภาพที่มีความคมชัด และมีรายละเอียดครบถ้วน ส่วนความไวแสงสูงๆ จะทำให้กล้องรับแสงได้ดีขึ้น แม้ว่าจะมีสภาพแสงน้อย อย่างเช่นตอนโพล้เพล้ เป็นต้น แต่ก็จะส่งผลให้เกิด Noise หรือสัญญาณรบกวนหรือภาพทีความหยาบมากขึ้น ความคมชัดและคุณภาพของภาพก็ลดลงตามไปด้วย

การปรับเพิ่ม ISO จะช่วยให้กล้องรับแสงได้ดีขึ้น ทำให้สามารถปรับความเร็วชัตเตอร์ได้สูงขึ้น ช่วยให้ถือกล้องถ่ายภาพด้วยมือ เพื่อเก็บบรรยากาศในสภาพแสงน้อยๆ ของยามค่ำคืนได้เป็นอย่างดี

สำหรับนักเดินทางท่องเที่ยว การพกพาอุปกรณ์พะรุงพะรัง อาจจะทำให้ไม่สะดวกนัก เมื่อเจอกับบรรยากาศแสงน้อยๆ แบบนี้ การปรับเพิ่ม ISO จะช่วยให้สามารถถ่ายภาพประทับใจได้เป็นอย่างดี

การปรับเพิ่ม ISO สูงๆ ช่วยให้ถ่ายภาพได้สะดวกขึ้น แต่ก็มีข้อเสียตามมา นั่นคือภาพจะเกิด Noise หรือสัญญาณรบกวน ซึ่งทำให้ภาพหยาบ และความคมชัดลดลง 

ค่าทั้งสามค่านี้จะสัมพันธ์กันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สิ่งที่จะทำให้รู้ว่าทั้งสามอย่างสัมพันธ์กันพอดีคือเครื่องวัดแสง เมื่อถ่ายภาพด้วยโหมดออโต้ถ่ายภาพ กล้องจะปรับทุกอย่างให้พอดีตลอด หรือสเกลวัดแสงอยู่ที่ตำแหน่ง 0 (ศูนย์) ซึ่งบางสถานการณ์อาจจะเกิดความผิดพลาดได้ จากการจัดวางองค์ประกอบ ซึ่งจะต้องเรียนรู้เพิ่มเติมในเรื่องของการปรับชดเชยแสงนั่นเอง

อันดับแรกก็ต้องก็ต้องตั้งโจทย์ว่า จะถ่ายภาพอะไร หรือต้องการแบบไหน เช่น จะถ่ายภาพคน ให้ชัดเฉพาะคน ฉากหลังเบลอๆ อย่างนี้ก็ต้องใช้รูรับแสงกว้างๆ ก็ต้องตั้งขนาดรูรับแสงเป็นตัวหลัก เช่น เปิด f/2.8 ส่วนที่ความเร็วชัตเตอร์ก็ให้ปรับจนขีดวัดแสงอยู่ตรงกลาง หรือศูนย์ (0) ถ้าใช้โหมด A กล้องจะปรับความเร็วชัตเตอร์ให้พอดีอัตโนมัติ

ภาพ Portrait ที่ต้องการชัดตื้น หรือให้ฉากหลังเบลอๆ จะต้องใช้รูรับแสงกว้างๆ นั่นหมายถึง จะต้องให้ความสำคัญกับรูรับแสงเป็นหลัก หรือต้องปรับรูรับแสงตามที่ต้องการก่อนค่าอื่นนั่นเอง 

ถ้าต้องการถ่ายภาพวิวให้คมชัดตั้งแต่ด้านหน้าเป็นต้นไป ก็ต้องตั้งขนาดรูรับแสงให้แคบประมาณ f/16 หรือ f/22 เพื่อให้ได้ภาพที่คมชัดจากฉากหน้าไปจนถึงด้านหลังสุด ซึ่งเมื่อใช้ขนาดรูรับแสงแคบๆ ความเร็วชัตเตอร์อาจจะต่ำกว่า 1/60 วินาที ต้องระวังกล้องสั่นด้วยครับ และภาพจะไม่คมชัด แก้ไขโดยการใช้ขาตั้งกล้อง หรือถ้าหากไม่สะดวก ก็ให้ปรับเพิ่มความไวแสงให้มากขึ้นไปแทน โดยใช้วิธีปรับเพิ่มทีละขั้นจนได้ความเร็วชัตเตอร์ที่สามารถถือกล้องได้นิ่งนั่นเอง

ภาพวิวที่ต้องการชัดหมดทั้งภาพ ก็ต้องให้ความสำคัญกับรูรับแสงเป็นหลัก และปรับรูรับแสงแคบๆ ก่อนค่าอื่นเช่นกัน

ส่วนภาพที่ต้องการหยุดจังหวะให้นิ่ง ก็ต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่สูงมาก เช่น 1/500 หรือ 1/1000 วินาที กรณีนี้ก็ให้ยึดความเร็วชัตเตอร์เป็นหลัก แล้วปรับรูรับแสงตาม จนขีดวัดแสงอยู่ที่ 0 แสดงว่าได้รับแสงพอดี ถ้าใช้โหมด S หรือ TV ก็ตั้งความเร็วชัตเตอร์ตามค่าที่ต้องการ กล้องจะปรับรูรับแสงให้พอดีอัตโนมัติ ในกรณีที่กล้องไม่สามารถปรับได้ เมื่อใช้รูรับแสงกว้างสุดแล้ว ตัวเลขรูรับแสงจะกะพริบ ก็ให้ปรับเพิ่มความไวแสงให้สูงขึ้น โดยปรับทีละขั้นเช่นเดียวกันครับ ลองเริ่มต้นแบบนี้แล้วฝึกถ่ายบ่อยๆ ก็จะชำนาญไปเองครับ

ภาพกีฬาที่ต้องการหยุดจังหวะการเคลื่อนไหว จะต้องตั้งความเร็วชัตเตอร์สูงๆ นั่นคือต้องให้ความสำคัญกับความเร็วชัตเตอร์ก่อนอันดับแรก หรือต้องปรับความเร็วชัตเตอร์ตามที่ต้องการก่อนค่าอื่นนั่นเอง

การปรับตั้งกล้องให้เหมาะสมเพื่อให้ได้ภาพที่สวยงาม ได้รับแสงอย่างถูกต้อง ยังมีเทคนิคและวิธีการอีกมากมายทีเดียว เช่น การชดเชยแสงที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาการวัดแสงผิดพลาดของกล้องเมื่อใช้โหมดออโต้ หรือการเลือกใช้เลนส์สำหรับงานแต่ละรูปแบบ เป็นต้น

ก็ติดตามกันต่อไปนะครับ