พื้นฐานการเรียนรู้เกี่ยวกับการถ่ายภาพที่ดี
พื้นฐานการถ่ายภาพอีกอย่างที่ผู้เริ่มต้นถ่ายภาพมักจะมองข้ามหรืออาจยังไม่รู้ว่าสำคัญอย่างไร คือ ขนาดเซ็นเซอร์ของกล้อง
ขนาดเซ็นเซอร์ของกล้องมีความสำคัญอย่างยิ่ง และไม่มีขนาดเซ็นเซอร์ใดที่ดีที่สุดสำหรับการถ่ายภาพ แต่ขนาดเซ็นเซอร์ที่แตกต่างกันจะตอบสนองต่อความต้องการในการถ่ายภาพที่แตกต่างกันได้
ขนาดของเซ็นเซอร์ที่ผลิตออกมาในตลาดก็จะมีขนาดที่แตกต่างกันออกไป ขนาดที่ใช้อ้างอิงในยุคที่เปลี่ยนจากกล้องฟิล์มมาเป็นดิจิตอล คือ ขนาดเซ็นเซอร์ของกล้อง 35 มม. หรือที่เรียกว่าฟูลเฟรม ซึ่งมีขนาดเทียบเท่ากับฟิล์ม 135 ของการบันทึกภาพแบบฟิล์มนั่นเอง กล้องดิจิตอลจึงยึดมาตรฐานนี้มาใช้งาน เพื่อที่จะได้ง่ายต่อการคำนวณค่าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทางยาวโฟกัส Crop factor เป็นต้น อย่างที่บอกไปข้างต้นว่าเซ็นเซอร์มีหลายขนาด และมีคุณสมบัติที่แตกต่างกันออกไป หากเซ็นเซอร์มีขนาดเล็กกว่าฟูลเฟรมก็จะมีขนาด APS-C และ Micro Four Thirds และหากใหญ่กว่าฟูลเฟรมจะจัดเป็นขนาด Medium Format การรู้จักเซ็นเซอร์ประเภทต่างๆ จะทำให้เข้าใจถึงคุณภาพและคุณสมบัติที่แตกต่างกัน
4 สิ่ง ต่อไปนี้เป็นพื้นฐานที่เกี่ยวกับขนาดเซ็นเซอร์ที่ควรรู้ครับ
- การใช้งานในสภาพแสงน้อยที่ต้องใช้ความไวแสง (ISO) สูง การใช้เซ็นเซอร์ที่มีขนาดใหญ่จะให้ผลที่ดีกว่าเสมอเพราะขนาดพิกเซลของเซ็นเซอร์จะใหญ่กว่า รับแสงได้มากกว่า จะช่วยให้สามารถบันทึกแสงได้ดีกว่าและจะช่วยให้คุณได้ภาพที่มีคุณภาพดีโดยมีสัญญาณรบกวนน้อยกว่าเซ็นเซอร์ขนาด APS-C หรือ Micro Four Thirds
- เซ็นเซอร์ที่มีขนาดใหญ่กว่าจะให้คุณภาพไฟล์ที่ดีกว่าเซ็นเซอร์ที่มีขนาดเล็ก ให้รายละเอียดดีกว่า การไล่ระดับสีที่เนุ่มนวลกว่า แต่เซ็นเซอร์ขนาดใหญ่จะมีต้นทุนในการผลิตที่สูง เพราะฉะนั้นกล้องที่มีเซ็นเซอร์ขนาดใหญ่จึงมักจะมีราคาสูงกว่า
- เซ็นเซอร์ที่มีขนาดใหญ่จะให้ความชัดลึกน้อยกว่า จึงเบลอฉากหลังได้มากกว่า เพราะความชัดลึกเป็นอีกหนึ่งเอฟเฟกต์ของขนาดเซ็นต์เซอร์กล้อง เมื่อใช้ถ่ายภาพมุมมองเดียวกัน ขนาดวัตถุในภาพเท่ากัน ความชัดลึกกล้องที่มีเซ็นเซอร์ขนาดใหญ่จะน้อยกว่า(ชัดตื้น) กล้องที่มีเซ็นเซอร์ขนาดเล็กกว่า( APS-C และ Micro Four Thirds) ตัวอย่างเช่น การถ่ายภาพพอร์ตเทรต ซึ่งช่างภาพมักจะใช้เซ็นเซอร์ขนาดใหญ่กว่าเพื่อลดระยะชัดลึก เพื่อให้ฉากหลังหรือฉากหน้าเบลอมากขึ้นนั่นเอง ส่วนเซ็นเซอร์ขนาดเล็กจะให้ความชัดลึกสูงกว่าจึงได้ประโยชน์เมื่อถ่ายภาพมาโครหรือภาพแลนด์สเคป
- เซ็นเซอร์ที่มีขนาดเล็กกว่า อย่าง APS-C และ Micro four thirds จะมีตัวคูณทางยาวโฟกัส คือ 1.5-1.6X สำหรับ APS-C และ 2X สำหรับ Micro four thirds ทำให้เข้าใกล้วัตถุได้มากขึ้นเมื่อถ่ายด้วยเลนส์ช่วงเดียวกันจากระยะเดียวกัน จึงให้ผลดีกับการถ่ายภาพวัตถุที่อยู่ไกล เช่น สัตว์ป่า หรือกีฬา เป็นต้น
การทำความเข้าใจกับขนาดเซ็นเซอร์เป็นหนึ่งในพื้นฐานการถ่ายภาพที่คุณต้องเรียนรู้เป็นอย่างมากครับ ถ้าเข้าใจในเรื่องนี้ การตัดสินใจเลือกใช้กล้องให้เหมาะกับงานของตัวเอง (เน้นว่าเหมาะกับความต้องการใช้งานนะครับ) ก็เป็นเรื่องที่ตัดสินใจได้ง่ายขึ้นครับ ทั้งนี้ทั้งนั้น ขนาดของเซ็นเซอร์ไม่ได้การรันตีว่าภาพถ่ายจะออกมาดีที่สุด หากเราไม่เข้าใจเรื่องการถ่ายภาพเลยครับ