Basic Photography

เทคนิคจัดมุมกล้องให้ภาพมีมิติ

เทคนิคจัดมุมกล้องให้ภาพมีมิติ

การจัดมุมภาพหรือองค์ประกอบภาพ ดูจะเป็นปัญหาที่หลายๆ คน โดยเฉพาะมือใหม่ที่เพิ่งจะใช้งานกล้องอย่างจริงจัง จะประสบอยู่พอสมควร โดยเมื่อถ่ายภาพออกมาแล้ว ภาพกลับดูไม่ค่อยมีมิติ ไม่สวยอย่างที่ดูภาพคนอื่น ภาพดูแบนๆ ขาดเสน่ห์ ซึ่งการที่ภาพถ่ายจะดูมีมิติ หรือให้ได้ภาพใกล้เคียงกับที่มองเห็นนั้น จะต้องทำให้ภาพดูมีความลึก มีสิ่งที่อยู่ใกล้หรือไกลออกไป สำหรับภาพบุคคลก็สามารถมองเห็นรูปทรงได้อย่างชัดเจนโดยการใช้แสงและเงาเป็นตัวเน้นให้ภาพเด่นขึ้น

การสร้างมิติให้กับภาพนั้น มีอยู่หลายๆ รูปแบบ ตามลักษณะภาพ มาดูกับว่ามีวิธีไหนบ้าง

การใช้เส้นตรงหรือเส้นโค้งต่างๆ ที่อยู่ในเฟรมภาพ จะเป็นสิ่งที่นำสายตาให้มองตามเส้นเข้าไปยังจุดหมายปลายทางของเส้นนั้น หรือเมื่อสิ่งที่เป็นลักษณะเส้นตรงสองเส้น อย่างเช่น รางรถไฟ หรือราวสะพาน ส่วนที่อยู่ใกล้ๆ กล้องถ่ายภาพจะดูมีขนาดกว้างใหญ่ แต่ส่วนระยะที่อยู่ไกลออกไปจะดูเล็กลงและแคบเหมือนๆ จะบรรจบกันด้วยซ้ำไป

ดังนั้นหากจัดองค์ประกอบภาพให้ภาพมีเส้นในลักษณะนี้จะทำให้ภาพดูมีความลึกได้ การใช้เส้นนำสายตา ใช้ได้ทั้งเส้นในลักษณะเส้นตรง หรือเส้นโค้ง และควรหลีกเลี่ยงเส้นตัดขนาน เพราะจะทำให้รู้สึกว่าเรื่องราวของภาพ หรือมิติของภาพหยุดลงแค่นั้น ไม่ให้ความรู้สึกอยู่ลึก หรือไกลออกไป แต่ถ้าหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็ควรเลือกมุมมองที่จะเกิดเอฟเฟคต์กับการมองให้น้อยที่สุด

เส้นถนน จะพาสายตาให้มองลึกตามเข้าไปในภาพ เพื่อค้นหาจุดหมายปลายทางว่าอยู่ที่ไหน ทำให้ภาพดูไม่แบน ดูมีระยะใกล้-ไกล

เส้นถนนที่มีขนาดเท่าๆ กัน แต่เมื่อห่างไกลออกไปจะดูมีขนาดเล็กลง ทำให้ภาพดูมีความลึกนั่นเอง

เส้นสายของราวสะพานก็เช่นเดียวกัน จะพาสายตาให้มองตามเข้าไปเพื่อค้นหาจุดหมายปลายทางของเส้นราวสะพาน ภาพจะดูมีความลึก มีมิติ มีระยะใกล้-ไกล

การสร้างกรอบให้ภาพทำได้โดยการมองหามุมที่ทำให้ภาพมีฉากหน้าเป็นกรอบ เช่น หน้าต่าง ประตู หรือต้นไม้โค้งๆ ก็ได้เช่นเดียวกัน การสร้างฉากหน้าให้เป็นกรอบภาพ มีจุดประสงค์เพื่อ บังคับสายตาให้มองทะลุออกไปจากกรอบที่ถูกสร้างขึ้นมา เมื่อมีกรอบหรือฉากหน้า ภาพจะดูแล้วมีความลึกมากขึ้นด้วย

ภาพในลักษณะนี้ควรเน้นจุดโฟกัสไปที่ซับเจกต์หรือจุดเด่นที่ต้องการ ฉากหน้าที่ถูกนำมาเป็นกรอบภาพควรจะเบลอ หรือมืดกว่าซับเจกต์หลัก ซึ่งทำได้โดยเปิดรูรับแสงให้กว้าง แล้วโฟกัสไปที่ซับเจกต์ด้านหลัง หรือเข้าไปถ่ายใกล้ๆ กรอบที่สร้างขึ้น เพื่อให้เบลอมากขึ้นก็ได้

ภาพที่มีกรอบหรือฉากหน้าอยู่ในเงามืด ต้องระวังเรื่องการวัดแสงให้ดี ควรวัดแสงในบริเวณที่ซับเจกต์หลักก่อน จากนั้นค่อยจัดองค์ประกอบภาพ หรือวาง Composition ให้มีฉากหน้าหรือกรอบภาพ ถ้าไม่ใช้โหมดแมนนวล (M) หลังจากวัดแสงแล้วให้กดปุ่มล็อกความจำแสง (AE-L) เพื่อป้องกันไม่ให้ค่าแสงที่วัดได้เปลี่ยนแปลงไปนั่นเอง

ใช้ช่องใต้อาคารของสะพาน เป็นกรอบบังคับให้สายตามองทะลุออกไปยังจุดเด่นที่เราต้องการ

สามารถใช้กรอบหน้าต่างมาเป็นกรอบภาพได้ง่ายๆ

ต้นไม้ข้างหน้าสองข้าง ถูกจับมาสร้างเป็นกรอบภาพให้จุดสนใจอยู่ลึกเข้าไปข้างใน

เป็นการเน้นให้ภาพดูมีความลึกคือ ฉากหน้าจะให้ความรู้สึกมีระยะใกล้-ฉากหลังจะให้ความรู้สึกมีระยะไกล ภาพในลักษณะนี้จะดูมีความลึกมากกว่าภาพที่ถ่ายซับเจกต์อย่างเดียวโดดๆ โดยอาจจะเน้นชัดที่ซับเจกต์หลัก ส่วนฉากหน้าหรือฉากหลังเบลอๆ  หรือจะเน้นชัดทั้งภาพเลยก็ได้เช่นกัน

การวางจังหวะองค์ประกอบภาพก็ควรหลีกเลี่ยงการแบ่งภาพแบบครึ่งๆ เท่าๆ กัน ควรก้มหรือเงยกล้องให้แบ่งพื้นที่เป็น 3 ส่วน เช่น ถ่ายภาพวิวทะเล ให้มีส่วนของท้องฟ้าหนึ่งส่วน ทะเล สองส่วน หรือถ้าหากว่าฟ้าสวย อาจจะจัดองค์ประกอบให้เห็นท้องฟ้าสองส่วน ทะเลหนึ่งส่วน เป็นต้น หรือหาส่วนประกอบอื่นๆ เช่น ร่มชายหาด สปีดโบ๊ท หรือต้นไม้เข้ามาอยู่ในเฟรมด้วย เพื่อไม่ให้เป็นการแบ่งส่วนอย่างชัดเจนจนเกินไป

เรือเป็นฉากหน้า คนหาปลาเป็นตัวเอก แล้วก็มีภูเขาเป็นฉากหลัง ทำให้ภาพดูมีระยะใกล้-ไกลนั่นเอง

เงาสะท้อนในน้ำจากเมฆ และแนวหญ้าเป็นฉากหน้า แนวต้นไม้เป็นตัวเอก ท้องฟ้าสีส้มแดงเป็นฉากหลัง

การเปรียบเทียบจะรู้สึกได้ง่ายขึ้น ถ้าเป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยอยู่แล้ว เช่น ขนาดของตัวคน ซึ่งเรารู้อยู่แล้วว่ามีขนาดใหญ่แค่ไหน เมื่อถ่ายภาพให้มีคนอยู่ในภาพด้วย เราก็จะรู้ได้ว่า พื้นที่นั้นๆ หรือตึก, อาคาร และสิ่งก่อสร้างนั้นๆ มีขนาดใหญ่โตมากแค่ไหน

หรือถ้าหากว่ามีซับเจกต์ที่มีลักษณะเหมือนๆ กัน หรือมีขนาดเท่าๆ กัน ที่อยู่รวมกันมากมาย ยกตัวอย่าง เช่น เสาไฟที่ตั้งเรียงรายอยู่ริมสะพาน ซึ่งทั้งหมดมีขนาดที่เท่าๆ กันอยู่แล้ว แต่เสาที่อยู่ใกล้กล้องจะมองดูเหมือนกับมีขนาดที่ใหญ่ ส่วนเสาที่อยู่ห่างออกไปจะมีขนาดเล็กลงไปเรื่อยๆ การจัดองค์ประกอบภาพในลักษณะนี้เป็นการแสดงให้เห็นถึงความลึกของภาพได้เป็นอย่างดีเช่นกัน

ช่องโค้งๆ ของสะพานก็เช่นเดียวกัน ที่ถูกออกแบบให้มีขนาดเท่าๆ กัน แต่เมื่ออยู่ห่างจากกล้อง จะดูว่าช่องมีขนาดที่เล็กลงตามระยะห่าง ซึ่งเป็นการจัดมุมกล้อง ให้ภาพดูมิมิติ มีระยะใกล้ไกลนั่นเอง

การที่มีคนอยู่ในภาพ เป็นการเปรียบเทียบให้เห็นว่าสถานที่นั้นๆ มีความใหญ่โตแค่ไหน เมื่อเสริมด้วยเส้นสาย และบรรยากาศของฉากหลังที่มีหมอกอึมครึม ทำให้ภาพดูมีมิติมากขึ้นด้วย

เห็นได้อย่างชัดเจนว่าน้ำตกมีขนาดใหญ่โตเพียงใด เมื่อมีคนเข้ามาเปรียบเทียบ เสริมด้วยแนวหญ้าด้านล่างเป็นฉากหน้า ทำให้ภาพดูมึระยะใกล้-ไกล

การใช้ทางยาวโฟกัสของเลนส์สร้างมิติให้ภาพ จะเป็นการเน้นขนาดของรูปทรงของซับเจกต์นั้นๆ เช่น เมื่อถ่ายภาพด้วยเลนส์มุมกว้าง ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตัว ที่ทำให้สิ่งที่อยู่ใกล้กับเลนส์มีขนาดใหญ่มากขึ้น และสิ่งที่อยู่ไกลออกไปจะมีขนาดที่เล็กลงไปตามลำดับ ซึ่งก็ทำให้มองดูแล้วเห็นความลึกของภาพได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้เลนส์มุมกว้างยังมีคุณสมบัติเรื่องระยะชัดลึกที่มากกว่าอีกด้วยในขนาดรูรับแสงที่เท่ากัน ซึ่งช่วยให้ควบคุมระยะชัดลึกของภาพได้ง่ายกว่าด้วย

แต่อย่างไรก็ตามเลนส์ที่มีมุมกว้างมากๆ หรือเลนส์กลุ่ม Ultra Wide จะมีการบิดเบือนของภาพเพิ่มมากขึ้นด้วย ต้องพิจารณาเลือกใช้ให้เหมาะสมกับลักษณะของภาพที่ต้องการ หรือให้เหมาะกับสิ่งที่ต้องการบันทึกภาพด้วย เช่น ถ้าหากว่าถ่ายดอกไม้ ก็คงจะไม่มีปัญหากับขนาดที่บิดเบี้ยวมากนัก แต่ถ้าถ่ายภาพบุคคลก็ต้องดูว่าความบิดเบี้ยวที่เกิดขึ้นส่งผลเสียต่อภาพหรือไม่

เมื่อใช้เลนส์มุมกว้าง สิ่งที่อยู่ใกล้กล้องจะดูมีขนาดใหญ่ สิ่งที่อยู่ไกลกล้องจะมีขนาดเล็กลง ทำให้ภาพมีความลึก มีระยะใกล้-ไกล

ป้ายมีขนาดเท่าๆ กันอยู่แล้ว แต่เมื่อถ่ายด้วยเลนส์มุมกว้างในระยะใกล้ ส่วนที่อยู่ใกล้กล้อง จะดูใหญ่ขึ้น รวมทั้งเสริมด้วยเส้นสายของหลังคา และรถไฟ ทำให้ภาพมีความลึกนั่นเอง

การใช้แสงเงาเพื่อเน้นให้ภาพดูมีมิตินั้น ส่วนใหญ่จะให้แสงส่องจากด้านข้างหรือด้านหลัง และหลีกเลี่ยงการถ่ายภาพที่มีแสงส่องด้านหน้าตรงๆ นอกจากภาพที่ต้องการเน้นให้เห็นรายละเอียดที่ชัดเจน ซึ่งจะเห็นได้ว่า ช่างภาพที่ถ่ายภาพ Portrait ที่ถ่ายภาพนอกสตูดิโอ หลายๆ คน มักจะเลือกเวลาถ่ายภาพในช่วงเช้า ไปจนถึงประมาณ 10 โมง และช่วงเย็นตั้งแต่สี่โมงเย็นไปจนถึงใกล้ๆ มืด

ซึ่งแสงช่วงเวลานี้ จะส่องเฉียงๆ ทำให้เน้นรูปทรงของตัวแบบหรือซับเจกต์ ภาพดูมีรูปทรง ดูมีมิติมากกว่าแสงที่เข้ามาจากด้านหน้าตรงๆ หรือถ้าถ่ายภาพในช่วงอื่น ก็จะเลือกถ่ายภาพในอาคารที่มีแสงธรรมชาติสาดส่องเข้ามาถึง ส่วนการถ่ายภาพสถาปัตยกรรม หรือวิวทิวทัศน์ แสงเฉียงๆ จะช่วยเน้นรูปทรงของซับเจกต์ให้เด่นชัดได้มากขึ้นด้วยเช่นกันครับ

แสงจากด้านข้าง ทำให้เห็นรูปร่าง รูปทรงของภูเขา และแนวต้นไม้ได้ชัดเจนขึ้น

ถ้าแสงส่องลงมาตรงๆ อาจจะเห็นเป็นหิมะราบเรียบไปเลย แต่พอแสงมาจากด้านข้าง จะเห็นเป็นรูปทรง รูปร่างมากกว่า

เป็นบรรยากาศที่มีอยู่จริงในขณะนั้น ไม่ใช่อารมณ์ของภาพ ยกตัวอย่างเช่น ถ่ายภาพวิวทิวทัศน์ในม่านหมอก สิ่งต่างๆ ที่ดูคลุมเครืออยู่ในม่านหมอกจะช่วยให้ความรู้สึกถึงความแตกต่างของระยะ สิ่งใดๆ ที่อยู่ใกล้ๆ กับกล้องจะดูชัดเจนขึ้น ทั้งรูปทรง รูปร่าง รายละเอียดต่างๆ รวมทั้งสีสันก็จะดูชัดเจน

แตกต่างจากสิ่งที่อยู่ไกลออกไปที่อยู่ในม่านหมอก ก็จะดูเลือนลาง ความเข้มของสีและรายละเอียดต่างๆ จะลดลง หรือมองได้ไม่ชัดเจน บรรยากาศแบบนี้ จะทำให้ภาพดูมีความลึก หรือดูมีมิติได้มากขึ้นด้วย

หมอกทำให้ภูเขาที่อยู่ไกลออกไปเลือนลาง ทำให้ภาพมีความลึก มีมิติโดยอัตโนมัติ

ส่วนที่อยู่ใกล้ จะเห็นได้ชัดเจน ส่วนที่อยู่ลึก อยู่ไกลออกไปจะเลือนลางจากหมอก เป็นการสร้างมิติให้กับภาพได้เป็นอย่างดี

หญิงสาวและดอกไม้ที่อยู่ใกล้ๆ จะชัดเจน แต่ส่วนที่อยู่ไกลออกไปจะเลือนลางหายไปกับหมอก

เป็นปกติที่ช่างภาพมือใหม่ หรือผู้ที่ยังไม่มีประสบการณ์ถ่ายภาพมากนัก มักจะยืนถ่ายภาพตามการมองปกติ ไม่ค่อยหามุมมองที่แปลกแตกต่างออกไป ทำให้ภาพดูธรรมดา ไม่น่าสนใจมากนัก เพราะเป็นมุมมองที่เห็นกันได้ชินตาอยู่แล้ว ดังนั้น ลองมองหามุมใหม่ๆ ดูบ้าง ลองถ่ายภาพจากมุมต่ำติดพื้นดูบ้าง จะทำให้ภาพดูน่าสนใจเป็นพิเศษขึ้น แม้จะถ่ายจากจุดเดียวกันก็ตาม ยิ่งกล้องหลายๆ รุ่นในปัจจุบัน สามารถปรับจอมอนิเตอร์ให้ปรับหมุนขึ้นมามองจากด้านบนได้ ยิ่งทำให้ถ่ายภาพได้สะดวกมากขึ้นไปอีกครับ

มุมต่ำกว่ามุมมมองปกติ จะสร้างความน่าตื่นตาให้กับผู้ชมได้

กล้องรุ่นใหม่ๆ หลายๆ รุ่น สามารถปรับจอมอนิเตอร์ให้ถ่ายภาพมุมต่ำๆ ติดพื้นได้อย่างสะดวก อย่าลืมเปลี่ยนมุมมองดูบ้างนะครับ