Basic Photography

จะเริ่มยังไง ถ้ามือใหม่อยากใช้โหมด M

จะเริ่มยังไง ถ้ามือใหม่อยากใช้โหมด M 

ช่างภาพมือใหม่ มักจะคุ้นเคยกับเรื่องที่ได้ยินอยู่บ่อยๆ ว่า มืออาชีพส่วนใหญ่จะใช้โหมด M หรือโหมดที่ต้องปรับตั้งค่ากล้องเองทั้งหมด ซึ่งยังไม่รู้ว่าเหตุผลทีแท้จริงนั้นคืออะไร แต่ถ้าอยากให้ดูเป็นมือโปร ก็ต้องใช้โหมด M โดยความเป็นจริง โหมด M เป็นโหมดที่ให้ค่าวัดแสงที่ “นิ่ง” มากที่สุด

คำว่านิ่งคือ วัดแสงครั้งเดียว แล้วสามารถถ่ายภาพซับเจคต์นั้นๆ ได้เลย โดยไม่ต้องปรับค่าวัดแสงอยู่บ่อยๆ ถึงแม้ว่าจะต้องเปลี่ยนมุมภาพ หรือจัดองค์ประกอบใหม่ก็ตาม ซึ่งทำให้มืออาชีพ กดชัตเตอร์ได้ตามจังหวะ หรือแอ๊คชั่นที่ต้องการได้ทันทีนั่นเอง

ช่างภาพมือใหม่ที่อยากใช้โหมด M นั้น อาจจะดูว่ายุ่งยากเกินไป เพราะต้องคอยปรับค่านั่น ค่านี่ด้วยตัวเอง ดูวุ่นวายไปหมด แต่จริงๆ ไม่ได้ยากอย่างที่คิดครับ มาดูกันว่า ถ้าจะใช้โหมด M ให้เป็นเรื่องง่ายๆ จะต้องรู้อะไรบ้าง

แน่นอนว่า การเรียนรู้ค่าพื้นฐานในการทำงานของกล้อง รวมทั้งโหมดถ่ายภาพต่างๆ จะช่วยให้ช่างภาพมือใหม่ปรับตั้งค่ากล้องได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น ซึ่งนอกจากพื้นฐานในการถ่ายภาพต่างๆ แล้ว ยังต้องศึกษาคู่มือการทำงานของกล้อง ดูรีวิวต่างๆ เกี่ยวกับกล้องที่เรามีอยู่ หรือสนใจที่จะซื้อ เพื่อให้รู้ว่ากล้องรุ่นนั้นๆ มีฟีเจอร์อะไรพิเศษๆ หรือมีการตั้งค่าใช้งานเฉพาะตัวอย่างไรบ้าง

การตั้งค่าปุ่มและแป้นปรับควบคุมการทำงานให้เป็นคีย์ลัดสำหรับปรับเมนูต่างๆ จะช่วยให้ตั้งค่ากล้องได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว

การศึกษาคู่มือการทำงานของกล้อง ปรับตั้งค่าปุ่มและแป้นต่างๆ ให้เป็นคีย์ลัดเข้าเมนูสำคัญๆ จะช่วยให้ปรับตั้งค่ากล้องได้อย่างรวดเร็ว

กล้อง Mirrorless รุ่นใหม่ๆ ในปัจจุบัน มีฟีเจอร์ Eye AF ช่วยให้ถ่ายภาพบุคคลง่ายขึ้นมาก

เป็นหนึ่งในค่าการทำงานื้นฐานที่ต้องเรียนรู้เลยครับ เพราะเป็นตัวกำหนดรูปภาพของเราได้เลย ว่าจะออกมาตามที่เราต้องการหรือไม่ ความเร็วชัตเตอร์ เป็นตัวควบคุมการเปิดรับแสงของกล้อง มีค่าตั้งแต่ 30” (30 วินาที) ไปจนถึง 1/8000 วินาที หรือกล้องบางรุ่นอาจจะมีช่วงความเร็วชัตเตอร์ที่กว้างกว่านั้น ค่ากลางๆ จะอยู่ที่ประมาณ 1/60 วินาที

ค่าที่มากกว่า (ตั้งแต่ 1/80 วินาทีขึ้นไป) จะเรียกเป็นความเร็วชัตเตอร์สูง ค่าที่น้อยกว่า (1/50 วินาทีลงมา) จะเรียกเป็นความเร็วชัตเตอร์ต่ำ ความเร็วชัตเตอร์มีผลกับซับเจคต์ หรือสิ่งต่างๆ ที่มีการเคลื่อนไหวในเฟรมภาพ ความเร็วชัตเตอร์สูง จะหยุดจังหวะการคลื่อนไหวได้ ส่วนความเร็วชัตเตอร์ต่ำ จะหยุดไม่ได้ ภาพก็จะเบลอๆ นั่นเอง

ภาพน้ำตกที่พลิ้วไหวแบบนี้ ก็ต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำๆ

ภาพกีฬาที่ต้องการหยุดการเคลื่อนไหว ต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์สูง

 

ภาพแพนกล้องด้วยความเร็วชัตเตอร์ต่ำ และหมุนกล้องตามซับเจคต์ให้สัมพันธ์กัน ไม่เร็ว หรือช้ากว่า ก็จะได้ภาพที่คมชัด ส่วนอื่นๆ จะเบลอ

เป็นค่าที่ควบคุมการเปิดรับแสงของกล้อง เช่นเดียวกับความเร็วชัตเตอร์ แต่ให้ผลที่แตกต่างกัน โดยรูรับแสง จะมีค่าที่ปรับได้แคบกว่าความเร็วชัตเตอร์ โดยปกติจะปรับได้ตั้งแต่ f/1.4, f/2, f/2.8, f/4, f/5.6, f/8, f/11, f/16, f/22

รูรับแสงจะมีผลกับระยะชัด หรือช่วงความชัดในภาพ รูรับแสงกว้างหรือตัวเลขน้อยๆ จะให้ภาพที่ชัดตื้น หรือชัดเฉพาะจุดโฟกัส และช่วงความชัดจะเพิ่มขึ้นตามค่ารูรับแสงที่แคบลง รูรับแสงแคบ หรือตัวเลขเยอะๆ จะให้ภาพที่ชัดทั้งเฟรมภาพ

ภาพชัดตื้น จะต้องใช้รูรับแสงกว้าง

ภาพบุคคล เป็นอีกหนึ่งรูปแบบภาพชัดตื้น เพื่อเน้นตัวแบบให้โดดเด่นออกมาจากฉากหลัง จึงต้องใช้รูรับแสงกว้าง

ภาพวิวทิวทัศน์ ใช้รูรับแสงแคบๆ เพื่อให้คมชัดทั่วทั้งเฟรมภาพ

เป็นค่าที่ควบคุมการเปิดรับแสงของกล้องอีกหนึ่งค่า ความไวแสง หรือ ISO ปกติ จะปรับได้ตั้งแต่ ISO100-25600 กล้องรุ่นใหม่ๆ บางรุ่นจะปรับได้สูงกว่า และกล้องส่วนใหญ่ หรือแทบจะทั้งหมด มีระบบ Auto ISO ให้เลือกใช้ ซึ่งกล้องจะคำนวณค่าแสง และปรับเพิ่ม ISO ให้อัตโนมัติ ค่า ISO จะควบคุมประสิทธิภาพในการรับแสงของกล้อง ค่า ISO สูงๆ จะทำให้กล้องรับแสงได้ดีขึ้น เหมาะสำหรับถ่ายภาพในสภาพแสงน้อยๆ โดยใช้มือถือกล้องได้

แต่ผลที่จะตามมาจาก ISO สูงๆ คือ มี Noise หรือสัญญาณรบกวน ภาพจะหยาบและความคมชัดจะลดลง ค่า ISO ต่ำๆ ภาพจะคมชัด และคงรายละเอียดของภาพได้เป็นอย่างดี ในสภาพแสงกลางวันปกติ จะใช้ ISO100-200 เท่านั้น แต่ถ้าต้องถ่ายภาพในสภาพแสงน้อย และไม่ได้ใช้แฟลชหรือขาตั้งกล้อง ต้องปรับเพิ่ม ISO เพื่อให้ได้ความเร็วชัตเตอร์สูงพอที่จะถือกล้องถ่ายรูปได้นั่นเอง

สภาพแสงน้อยๆ แบบนี้ จะต้องปรับชิฟท์ความไวแสงให้สูงขึ้น เพื่อให้สามารถถือกล้องถ่ายภาพด้วยมือได้

การปรับชิฟท์ความไวแสงให้สูงขึ้น อาจจะมี Noise หรือสัญญาณรบกวน ทำให้ภาพหยาบ และความคมชัดลดลง ดังนั้นควรเลือกใช้ตามความเหมาะสม

บางครั้งอาจจะมีสภาพแสงเพียงพอ แต่ต้องการความเร็วชัตเตอร์ที่สูงกว่าปกติ จึงต้องปรับชิฟท์ความไวแสงเพิ่มอีกเล็กน้อย

ช่างภาพมือใหม่หลายๆ คนมักจะถามว่าวัดแสงยังไง, วัดแสงไม่เป็น, ไม่เคยวัดแสงเลย การวัดแสงก็คือ การแตะปุ่มชัตเตอร์ลงไปครึ่งหนึ่งนั่นแหละครับ กล้องจะเริ่มต้นทำงาน ตั้งแต่ปรับโฟกัส และคำนวณค่าแสง ทีนี้ เราก็ต้องมาดูว่าค่าแสงที่กล้องวัดได้ ตรงกับค่าที่เราต้องการหรือไม่ ถ้าไม่ ก็ต้องปรับเอง ตามรูปแบบภาพที่เราต้องการ

ข้อดีของโหมด M คือ เมื่อปิดและเปิดกล้องใหม่ ค่าที่ตั้งไว้ก็ยังคงอยู่เหมือนเดิม ถ้าสภาพแสงไม่มีการเปลี่ยนแปลง หรือใกล้เคียงกับช็อตที่ผ่านๆ มา ก็สามารถเปิดสวิทช์กล้อง และถ่ายภาพต่อได้เลยทันที

การถ่ายภาพแบบต่างๆ จะต้องอาศัยการวัดค่าแสง นั่นคือการแตะปุ่มชัตเตอร์ลงไปครึ่งหนึ่งนั่นเอง

การแตะปุ่มชัตเตอร์ลงไปครึ่งหนึ่ง จะเป็นการเริ่มต้นการทำงานของกล้อง ทั้งการวัดแสง และปรับโฟกัสไปพร้อมๆ กัน

ช่างภาพมือใหม่ที่เริ่มเรียนรู้เรื่องการถ่ายภาพมากขึ้น จะต้องคุ้นหูกับคำว่าชดเชยแสง ซึ่งจะเป็นฟังก์ชั่นที่ทำให้เราคุมค่าแสงตามที่ต้องการได้นั่นเอง แต่การปรับชดเชยแสง จะใช้เฉพาะกับโหมดที่มีระบบอัตโนมัติร่วมด้วย เช่นโหมดโปรแกรม หรือ P, โหมดออโต้รูรับแสง หรือ S หรือ TV, โหมดออโต้ความเร็วชัตเตอร์ หรือ A หรือ AV และโหมด Auto ISO ที่กล้องจะปรับค่าใด ค่าหนึ่ง ตามค่าที่เราตั้งไว้ ซึ่งจะให้ภาพที่ค่าวัดแสงจะอยู่ที่ศูนย์ (0) ตลอด

ซึ่งบางครั้งอาจจะเกิดข้อผิดพลาดจากสีสัน หรือโทนของซับเจคต์ รวมทั้งบรรยากาศในภาพ ที่อาจจะมีโทนสว่างไป หรือมีโทนดำเข้ม ซึ่งกล้องมักจะวัดแสงผิดพลาด เราต้องปรับชดเชยแสง เพื่อให้กล้องรับแสงได้ตามความเป็นจริง แต่กับโหมด M เราเป็นคนปรับตั้งค่าหลัก ทั้ง 3 ค่า ด้วยตัวเอง ดังนั้นจึงสามารถปรับให้ภาพมีสีสัน หรือโทนสีถูกต้องตามจริงได้เลย ไม่จะเป็นต้องปรับปุ่มชดเชยแสงครับ

โทนภาพสว่างๆ จะต้องชดเชยแสงไปทางบวก (+) สำหรับโหมด M ก็วัดแสงให้สเกลวัดแสงเลื่อนไปทางบวกได้เลย

โทนภาพสีเข้ม จะต้องชดเชยแสงไปทางลบ (-) สำหรับโหมด M ก็วัดแสงให้สเกลวัดแสงเลื่อนไปทางลบได้เลย

โหมด M ของกล้องรุ่นก่อนมักจะใช้ Auto ISO ไม่ได้ ช่างภาพจะต้องปรับตั้งค่าความไวแสงเองตามสภาพแสงหรือการตั้งค่ากล้องที่ต้องการ แต่กล้องรุ่นใหม่ๆ ในปัจจุบัน สามารถเลือกใช้ Auto ISO กับโหมด M ได้ ช่วยให้ช่างภาพทำงานสะดวกมากขึ้น เพราะสามารถคงค่าความเร็วชัตเตอร์และรูรับแสงไว้ได้เลย เมื่อสภาพแสงเปลี่ยนแปลงไป กล้องจะปรับชิฟท์ความไวแสงให้อัตโนมัติ

นอกจากนี้ กล้องดิจิตอลรุ่นใหม่ๆ มีระบบการจัดการ Noise หรือสัญญาณรบกวนได้ดีมาก ทำให้ไม่ต้องพะวงว่าภาพที่จะมี Noise มากนัก หรือถ้าไม่ต้องการให้กล้องปรับชิฟท์ความไวแสงสูงเกินไป ก็สามารถตั้งค่าความไวแสงสูงสุดที่จะให้กล้องปรับได้ตามที่ต้องการอีกด้วย และถ้าหากกล้องตั้ง Auto ISO ให้แล้ว ภาพมืด หรือสว่างเกินไป ช่างภาพก็ต้องปรับชดเชยแสงเอง เพื่อให้ได้ภาพตามที่ต้องการด้วยเช่นกัน

เมื่อใช้ Auto ISO และตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์และรูรับแสงที่ต้องการแล้ว กล้องจะปรับค่าความไวแสงให้อัตโนมัติตามความเหมาะสมของสภาพแสง ช่วยให้ถ่ายภาพได้สะดวกมากขึ้น แม้สภาพแสงจะเปลี่ยนไปก็ตาม

Auto ISO ช่วยให้ถ่ายภาพได้สะดวกและรวดเร็ว โดยที่ช่างภาพยังคงสามารถควบคุมความเร็วชัตเตอร์และรูรับแสงเองได้

เป็นสิ่งที่สำคัญในการกำหนดค่าแรกที่จะต้องปรับตั้ง นั่นคือจะต้องมีรูปแบบภาพที่ต้องการไว้ก่อน เช่น ต้องการถ่ายภาพวิวทิวทัศน์ ให้คมชัดทั้งภาพ สิ่งที่คุมเรื่องชัดลึกคือรูรับแสง ก็ต้องปรับรูรับแสงก่อนค่าอื่น และต้องปรับที่รูรับแสงแคบๆ ด้วย เพื่อให้ได้ภาพที่คมชัดทั้งหมดตามที่ต้องการ หรือต้องการถ่ายภาพคน ให้ฉากหลังเบลอๆ ก็ต้องปรับรูรับแสงก่อนค่าอื่นเช่นกัน แต่ต้องใช้รูรับแสงกว้างๆ เพื่อให้ภาพชัดตื้น หรือชัดเฉพาะตัวแบบที่ต้องการถ่ายภาพ

แต่ถ้าต้องการถ่ายภาพกีฬาฟุตบอล ให้นักเตะคมชัด ก็ต้องปรับความเร็วชัตเตอร์ ที่มีผลกับสิ่งที่มีการเคลื่อนไหว และต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงๆ เพื่อหยุดจังหวะนั่นเองการมีรูปแบบภาพเอาไว้ในใจ จะเป็นการกำหนดค่าแรกที่ต้องปรับตั้งก่อนค่าอื่น และเมื่อปรับตั้งค่าแรกตามที่ต้องการแล้ว ก็ปรับค่าอื่นตาม เพื่อให้ควบคุมการรับแสงของกล้อง จะได้ภาพที่ออกมาพอดีนั่นเอง

การกำหนดภาพที่ต้องการไว้ก่อน จะเป็นตัวกำหนดว่า ช่างภาพจะต้องปรับค่าการทำงานอะไร เป็นอันดับแรก เช่น ต้องการภาพน้ำตกพลิ้วๆ ต้องใช้ความเร็วชัตเตตอรืต่ำ ก็ต้องปรับความเร็วชัตเตอร์ตามที่ต้องการก่อนค่าอื่น

ภาพที่เน้นชัตตื้น ก็ต้องใช้รูรับแสงกว้างๆ ดังนั้นก็ต้องปรับรูรับแสงตามที่ต้องการก่อนค่าอื่น

ภาพที่ต้องการหยุดจังหวะแบบนี้ ต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงๆ ก็ต้องปรับความเร็วชัตเตอร์ที่ต้องการ ก่อนค่าการทำงานอื่นๆ

การลองปรับตั้งกล้องบ่อยๆ หรือฝึกถ่ายภาพอยู่เป็นประจำ จะช่วยให้ตั้งค่ากล้องได้รวดเร็วมากขึ้น และการจินตนาการภาพที่ต้องการเอาไว้ในใจก่อน จะทำให้เรากำหนดค่าการปรับตั้งกล้องได้อย่างรวดเร็ว และเมื่อฝึกบ่อยๆ จะทำให้เราเกิดความชำนาญมากขึ้น และปรับตั้งกล้องได้อย่างรวดเร็วนั่นเองครับ