ประกายแฉกไฟ เป็นหนึ่งในเสน่ห์ของการถ่ายภาพกลางคืน ที่ให้แฉกไฟแผ่กระจายสวยงาม โดยปกติ ก็มักจะเป็นการใช้รูรับแสง หรือ F-stop แคบๆ ซึ่งจะทำให้ไฟที่เป็นดวงๆ เกิดเป็นประกายแฉกๆ จากกลีบรูรับแสงนั่นเอง
.
ซึ่งรูปแบบและการกระจายของแฉกไฟ จะขึ้นอยู่กับการออกแบบเลนส์รุ่นนั้นๆ ด้วย ว่าใช้ไดอะแฟรม หรือกลีบรูรับแสงกี่กลีบ เลนส์ที่มีกลับรูรับแสงเป็นเลขคู่ เช่น 8 หรือ 10 กลีบ จะให้ประกายแฉกไฟ เท่ากับจำนวนกลีบ นั่นคือ 8 หรือ 10 แฉก ส่วนเลนส์ที่มีกลีบรูรับแสงเป็นเลขคี่ เช่น 7 หรือ 9 กลีบ จะให้แฉกไฟเพิ่มเป็นเท่าตัว นั่นคือ 14 หรือ 18 กลีบนั่นเอง
.
การถ่ายภาพให้มีประกายแฉกไฟนั้น การปรับตั้งจะตรงกันข้ามกับการสร้างโบเก้ ที่ต้องการให้จุดสว่างๆ นั้น เบลอ หรืออยู่ห่างจากระนาบโฟกัสให้มากที่สุด และใช้รูรับแสงกว้างที่สุด เท่าที่จะทำได้ แต่การสร้างประกายแฉกไฟ จะต้องให้อยู่ในระนาบโฟกัสให้มากที่สุด และต้องหรี่เอฟให้แคบลง ซึ่งส่วนใหญ่ แฉกไฟจะเริ่มมาตั้งแต่ f/5.6 และเป็นประกายสวยงามที่ f/11 เป็นต้นไป เลนส์มุมกว้าง ที่มีระยะชัดลึกสูง จะให้ประกายแฉกไฟที่สวยงามมากกว่าเลนส์ระยะอื่นๆ ซึ่งถ้าหากต้องการภาพแบบนี้ ก็ควรจะเลือกใช้เลนส์ให้เหมาะสมครับ
.
แอดมิน^^พีร