Basic Photography

ปรับสีสันของภาพ ด้วยไวท์บาลานซ์ชิฟท์

ปรับสีสันของภาพ ด้วยไวท์บาลานซ์ชิฟท์

สีสันของภาพถ่าย เป็นผลโดยตรงจากไวท์บาลานซ์ นั่นคือ สีจะตรง หรือสีจะเพี้ยนจะขึ้นอยู่กับการปรับตั้งไวท์บาลานซ์เป็นหลัก โดยปกติไวท์บาลานซ์แบบออโต้ของกล้องรุ่นใหม่ๆ จะให้สีสันที่ถูกต้องแม่นยำดีทีเดียว แต่กับสถานการณ์บางอย่าง ก็อาจจะได้สีสันที่ไม่ตรงนัก หรือได้สีซีดๆ มาแทน ดังนั้น เราจะต้องปรับแก้ไขให้สีสันถูกต้อง หรือให้ได้ภาพตามที่เราต้องการนั่นเอง

นอกจากนี้ เรื่องของไวท์บาลานซ์ ยังสามารถปรับย้อมสีสันของภาพให้เป็นไปตามโทนที่เราต้องการได้อีกด้วย มาดูกันว่า เราจะจัดการเรื่องไวท์บาลานซ์ชิฟท์อย่างไรได้บ้าง

ไวท์บาลานซ์ของกล้องดิจิตอลในปัจจุบัน ออกแบบให้มีกราฟสี ช่วยให้ปรับไวท์บาลานซ์ชิฟท์ได้ง่ายขึ้น โดยถ้าหากสีเพี้ยนไปในโทนสีใด ก็ให้ปรับแก้ไปในทิศทางตรงกันข้าม ส่วนถ้าหากต้องการย้อมสีแบบไหน ก็สามารถเลื่อนปุ่มไปตามโทนสีบนกราฟได้อย่างอิสระ

และหลังจากที่ถ่ายภาพตามที่ต้องการจนเสร็จสิ้นแล้ว ก็อย่าลืมปรับไวท์บาลานซ์ที่ชิฟท์เอาไว้ ให้กลับมาที่ค่าศูนย์ (0) ด้วย เพราะไม่เช่นนั้น ภาพอื่นๆ ที่ต้องการถ่ายแบบปกติ ก็จะถูกย้อมสีตามค่าที่ตั้งไว้ด้วย และถ้าหากว่า ถ่ายรูปออกมาแล้ว มีมีสันแปลกๆ ผิดเพี้ยนไปจากที่มองเห็น ก็อย่าลืมเช็กไวท์บาลานซ์ดูว่า ถูกปรับชิฟท์ไว้หรือเปล่าด้วยนะครับ

ถึงแม้ว่าไวท์บาลานซ์แบบออโต้ จะให้สีสันที่แม่นยำอยู่แล้ว แต่บางครั้งก็อาจจะมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นมาได้เช่นกัน ดังนั้น เราจะต้องปรับแก้ไขไวท์บาลานซ์ให้สีสันของภาพออกมาตรงตามสีจริงๆ โดยวิธีการที่เรียกว่า การปรับชิฟท์ไวท์บาลานซ์ โดยจะมีแถบสีสำหรับปรับเลือกโทนสี ซึ่งจะต้องปรับไปในโทนตรงกันข้ามกับโทนสีที่เพี้ยน เพื่อให้สีกลับมาตรงตามสีสันจริงๆ ของซับเจกต์นั่นเอง

ภาพซ้ายจะติดแดงมากเกินไป ต้องปรับแก้ไขไปทางโทนสีเขียวและฟ้าเล็กน้อย ให้สีกลับมาเป็นธรรมชาติที่สุด

ภาพซ้ายจะติดเหลืองอยู่เล็กน้อย ดังนั้นจึงต้องปรับชิฟท์ไปโทนฟ้า ให้สีของเยลลี่กลับมาถูกต้องตามจริง

ภาพซ้ายจะติดเหลืองเล็กน้อยเช่นเดียวกัน ต้องปรับแก้ไขไปทางโทนสีฟ้า เพื่อแก้ให้สีสันถูกต้อง

ในกรณีที่ไวท์บาลานซ์ออโต้ให้สีสันที่ซีดไป จากการคำนวณที่ผิดพลาด ทำให้สีสันที่ได้ซีดลงกว่าความเป็นจริง ซึ่งทำให้ภาพดูจืดชืดเกินไป หรือถึงแม้จะเลือกไวท์บาลานซ์แสงอาทิตย์แล้ว สีก็ยังไม่อิ่มตัว กรณีแบบนี้ ก็สามารถใช้วิธีปรับชิฟท์ไวท์บาลานซ์ให้สีสันดูสดใสอิ่มตัวขึ้นมาได้เช่นกัน โดยปรับชิฟท์โทนไปยังสีที่ต้องการได้เลย

ภาพซ้ายสีสันจะดูซีดไป อาจจะตั้งค่าไวท์บาลานซ์แบบออโต้ จึงต้องปรับโทนสีให้ออกโทนเหลืองแดงเล็กน้อย เพื่อให้สีสันสดอิ่มมากขึ้น

บางครั้งท้องฟ้าก็ไม่มีสีสันเอาซะเลย ดังนั้นจึงต้องปรับชิฟท์ไวท์บาลานซ์ให้ออกโทนส้มแดงเล็กน้อย

สีสันที่ได้ยังไม่จัดจ้านพอ จึงปรับชิฟท์ไวท์บาลานซ์โทนแดงชมพู เพื่อเพิ่มสีสันให้อิ่มตัว

ถือเป็นการปรับสีสันของภาพให้ดูแปลก หรือสร้างอารมณ์ของภาพแบบพิเศษมากกว่าสีปกติ ซึ่งช่วยให้ภาพดูแปลกตาและน่าสนใจมากขึ้น การปรับแต่ภาพแบบนี้จะเน้นในการสร้างอารมณ์ของภาพมากกว่าที่จะให้ภาพดูสมจริงตามธรรมชาติ การชิฟท์ไวท์บาลานซ์แบบนี้ สามารถปรับไปในทิศทางที่ต้องการ หรือตามโทนสีที่ต้องการได้เลยเช่นเดียวกัน

บรรยากาศในหมอกอึมครึม ดูจืดชืด ปรับชิฟท์ไวท์บาลานซ์ไปโทนสีฟ้า ให้ดูเหงาๆ รู้สึกดราม่าเล็กน้อย

ปรับชิฟท์ไปโทนสีฟ้า เพื่อสร้างบรรยากาศที่รู้สึกแตกต่างออกไป

ย้อมให้ออกโทนสีซีเปีย ให้ดูอุ่นๆ เก่าๆ เล็กน้อย