Basic

10 วิธีตรวจสอบเลนส์มือสองก่อนซื้อ

เลนส์มือสองมักจะมีราคาถูกกว่าเลนส์ใหม่ประมาณ 20-50% ดังนั้นมันจึงเป็นที่สนใจของผู้ที่อยากได้เลนส์ในราคาถูกลงจากของใหม่ แต่เลนส์ที่นำมาขายกันนั้นก็อาจจะเป็นเลนส์ใช้งานได้สมบูรณ์หรืออาจเป็นเลนส์ที่มีปัญหาก็ได้ การตรวจสอบเลนส์ก่อนซื้อจึงเป็นเรื่องสำคัญ มาดูวิธีการดูเลนส์เลยครับ

1. ตรวจสอบสภาพภายนอก

ในโพสขายของ ส่วนใหญ่แล้วสภาพเลนส์ที่ผู้ขายบอกเป็น % นั้นอาจจะเชื่อไม่ค่อยได้เท่าใด เช่น สภาพบอกไว้ 95% แต่ปรากฏว่ากระบอกเลนส์มีริ้วรอยขูดขีด เมาท์เลนส์สึกจนเห็นสีทองเหลือง ดังนั้นการตรวจสภาพด้วยตัวเองจึงจำเป็น โดยสิ่งแรกที่ควรดูอย่างละเอียดคือ เลนส์มีร่องรอยการตกกระแทกหรือไม่ เช่น กระบอกมีรอยร้าว(พลาสติก) รอยบุบ(โลหะ) มีรอยบิ่น หรือรอยขูดขีดที่เห็นชัด หลีกเลี่ยงการซื็อเลนส์ที่มีสภาพนี้ครับ เพราะการตกหรือกระแทกรุนแรงอาจทำให้ชุดเลนส์เคลื่อนได้ ซึ่งจะมีผลต่อคุณภาพ ควรตรวจสอบสภาพภายนอกทุกจุดอย่าให้หลงหูหลงตา เพราะจะปวดใจในภายหลัง จากนั้นดูที่แปลนเมาท์เลนส์ว่าสึกมากน้อยเพียงใด หากสึกจนเป็นสีทองเหลืองกว่าครึ่งแสดงว่าผ่านการใช้งานมาหนัก มันอาจจะไม่มีผลกับคุณภาพเท่าใด แต่ระบบกลไกของกระบอก ชุดซูม รวมทั้งระบบมอเตอร์อาจเริ่มเสื่อมแล้ว ดูขั้วสัมผัสไฟฟ้าที่ท้ายเลนส์ว่าสึกหรอมากมั๊ย กรอบยึดขั้วไฟฟ้าปริแตกหรือไม่ ถ้าปริแตกไม่ควรซื้อครับ ดูเกลียวฟิลเตอร์ว่าปกติหรือไม่ มีร่องรอยที่เกลียวมั๊ย(อาจเคยตกจนฟิลเตอร์ถอดไม่ออก เมื่อเอาออกได้เกลียวมักจะมีร่องรอย) ลองใส่ฟิลเตอร์ดูว่าเกลียวหมุนได้นุ่มนวลปกติมั๊ย ผิวกระบอกเลนส์สึกจนเป็นมันเงามากหรือไม่


2. ตรวจสอบกลไกวงแหวนซูม วงแหวนโฟกัส

ตรวจสอบวงแหวนซูมว่าปรับได้ราบเรียบนุ่มนวลมั๊ย ซูมแล้วสะดุดหรือไม่ วงแหวนซูมหลวมหรือไม่ ลองคว่ำเลนส์ลงดูว่ากระบอกไหลลงมั๊ย การไหลช้าๆ ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ แต่ถ้าคว่ำเลนส์แล้วไหลอย่างเร็วแสดงว่าชุดกระบอกซูมหลวมแล้ว ตรวจสอบวงแหวนโฟกัสว่าปรับหมุนได้นุ่มนวลมั๊ย มีสะดุดหรือไม่ จากนั้นดูยางหุ้มวงแหวนซูม วงแหวนโฟกัสว่าบวมหรือไม่ มีรอยการตัดยางหุ้มหรือไม่(บวมมากจนเจ้าของตัดยางออกแล้วติดเทปกาวใหม่ให้ยางหุ้มวงแหวนดูแน่น)


3. เขย่ากระบอกเลนส์

ลองเขย่ากระบอกเลนส์เพื่อดูเสียงภายในหน่อยครับว่ามีอะไรผิดปกติมั๊ย เช่น สกรูอาจหลุดเข้าไปในกระบอกได้ หรือชุดเลนส์คลอนขยับได้จนได้ยินเสียงชิ้นเลนส์ หรือชุดกระบอกเลนส์หลวมจนมีเสียงคลอกแคลก หากมีเสียงกระบอกคลอนมากไม่ควรซื้อครับ เพราะชุดกลไกอาจหลวมจนมีผลกับคุณภาพได้


4. ดูชิ้นเลนส์ด้านหน้าและท้าย

เพราะชิ้นเลนส์หน้าและท้ายอาจเกิดริ้วรอยจากการใช้งานได้ง่าย คุณจึงควรดูชิ้นเลนส์หน้าและท้ายให้ดี ว่าชิ้นเลนส์มีรอยขูดขีดที่เห็นได้ชัดเจนหรือไม่ หากเป็นแค่รอยขนแมวเล็กๆ ก็อาจมองข้ามไปได้เพราะไม่มีผลต่อคุณภาพ(ยกเว้นถ้ามันมีผลต่อจิตใจคุณก็ไม่ควรซื้อ) แต่ถ้าเป็นรอยลึก เห็นชัดโดยเฉพาะกับเลนส์ชิ้นท้ายก็ไม่ควรซื้อครับเพราะมีผลกับคุณภาพ ส่วนเลนส์ชิ้นหน้าถ้าไม่ใสปิ๊ง(มักเกิดจากการเช็ดเลนส์ด้วยชายเสื้อหรือผ้าที่ไม่ใช่ผ้าไมโครไฟเบอร์บ่อยๆ) ก็ไม่ควรซื้อนะครับเพราะถ้ามองด้วยตายังเห็นว่าไม่ใส ภาพก็ยากจะใสโดยเฉพาะเมื่อถ่ายย้อนแสง


5. ส่องดูชิ้นเลนส์ภายใน

หลังจากดูชิ้นเลนส์หน้าและท้ายแล้ว เปิดไฟ LED ของสมาร์ทโฟนโดยใช้มือนึงถือเลนส์ มือนึงถือสมาร์ทโฟนส่องแสงไฟจากท้ายเลนส์มาหน้าเลนส์ คุณดูว่าชิ้นเลนส์ที่แสงส่องผ่านนั้นยังใสดีหรือไม่ โดยลองขยับมุมแสงไฟ ขยับเลนส์เพื่อให้แสงส่องไปได้ทุกๆ จุดจนถึงขอบสุดของชิ้นเลนส์ด้านใน ชิ้นเลนส์ควรจะใส ไม่ขุ่น อาจเห็นเม็ดฝุ่นบ้างเป็นเรื่องปกติ แต่ไม่ควรมีฝุ่นเม็ดใหญ่ๆ หรือฝุ่นแน่นเป็นแพ ไม่มีรา(เห็นเป็นเส้นขาวแตกแขนงคล้ายรากผักชี) จากนั้นพลิกเลนส์กลับด้านส่องไฟผ่านจากหน้าไปท้ายแล้วตรวจสอบอีกครั้ง


6. รา อันตรายแค่ไหน

บางครั้งการขายเลนส์ในโซเชียลออนไลน์ ผู้ขายบอกว่ามีราเล็กน้อย ไม่มีผลกับภาพ หรือมีราชิ้นใน ให้คนซื้อไปล้างเองโดยลดราคาให้ถูกเพื่อล่อใจ แนะนำว่าไม่ควรซื้อนะครับ เพราะเจ้าของอาจเคยนำเลนส์ไปล้างมาแล้วแต่ล้างออกไม่หมดเลยแจ้งว่าไม่มีเวลาส่งไปล้างโดยลดราคาเยอะๆ ให้คนที่สนใจแทน คุณเอาไปล้างมันก็ไม่ออกแน่นอนครับเพราะคนขายเขาล้างมาแล้ว มันได้แค่นั้น ราเกิดจากความชิ้นที่สะสมภายในเลนส์เป็นเวลานาน มันจะเริ่มเกาะบนผิวเลนส์แล้วลามออกไปเรื่อย ในช่วงแรกสามารถล้างออกได้หมด แต่ถ้าปล่อยไว้มันจะเริ่มทำลายโค้ทเลนส์และกินลึกลงไปถึงผิวแก้ว ถ้าถึงจุดนี้แม้จะล้างราออกได้แต่ผิวแก้วและโค้ทเลนส์จะเสียหายไปแล้ว แก้ไขไม่ได้ และจะมีผลต่อคุณภาพของภาพแล้ว ต้องเปลี่ยนชิ้นเลนส์แต่เพียงอย่างเดียว เพราะฉะนั้นหากส่องแล้วพบราในเลนส์ไม่ควรซื้อครับ


7. ฝ้า โคตรอันตราย

เช่นเดียวกับเรื่องรา บางครั้งจะพบโพสขายเลนส์ที่บอกว่ามีฝ้าบางๆ ไม่มีผลต่อภาพ แนะนำว่ามองผ่านไปได้เลย เพราะฝ้าส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดบนผิวเลนส์ที่สามารถเช็ดออกได้ แต่มักจะเกิดจากชิ้นเลนส์คอมปาวน์ด(Compound Lens) ซึ่งเป็นการนำชิ้นเลนส์สองชิ้นที่มีดัชนีการหักเหแสงไม่เท่ากันมาประกบกันแล้วยึดด้วยกาวพิเศษจนดูเป็นเลนส์ชิ้นเดียว แต่เมื่อกาวนี้เสื่อมสภาพจากความชิ้น ความร้อน หรือความบกพร่องของการผลิต ความชิ้นจะเริ่มแทรกเข้าไปภายในชิ้นเลนส์ประกบ โดยมากจะเริ่มจากขอบแล้วลามลึกเข้าไปเรื่อยๆ ชิ้นเลนส์จะขุ่นมากขึ้นๆ ทำให้มีผลต่อความใสของภาพ คอนทราสต์ และความคมชัดของภาพ โดยเฉพาะเมื่อถ่ายย้อนแสง ฝ้าในคอมปาวน์ดล้างไม่ได้นะครับ ต้องเปลี่ยนชิ้นเลนส์แต่เพียงสถานเดียว ราคาชิ้นเลนส์บวกค่าแรงไม่ใช่ถูกๆ จึงไม่คุ้มที่จะเสี่ยงซื้อแม้ราคาจะล่อใจมากก็ตาม และหากเป็นเลนส์ตกรุ่นไม่มีอะไหล่ชิ้นเลนส์เปลี่ยน เตรียมเอาไปใช้ทับกระดาษได้เลย หรือไม่ก็ต้องพึ่งช่างไทยระดับเทพที่ใช้วิธีแช่ชิ้นเลนส์ในน้ำยานานๆ จนชิ้นเลนส์แยกออกจากกัน จากนั้นล้างให้ใสแล้วอัดกาวยึดใหม่ แต่คุณภาพไม่เหมือนเดิมแน่นอนเพราะคุณภาพกาวและตำแหน่งอาจเคลื่อนได้


8. ตรวจสอบ Back focus / Front focus

ปัญหานี้มักจะเกิดกับเลนส์และกล้อง DSLR มากกว่ากล้อง Mirrorlesss โดยเลนส์อาจจะโฟกัสผิดตำแหน่งไปด้านหลัง (Back focus) หรือผิดตำแหน่งไปด้านหน้า (Front focus) การตรวจสอบทำได้โดยหากระดาษหนังสือที่มีตัวอักษรเล็กๆเต็มหน้า ใช้ปากกาขีดลูกศรไว้ที่ตำแหน่งตัวอักษรแถวกลางๆ จากนั้นลองถ่ายภาพโดยติดเลนส์เข้ากับกล้อง วางกล้องมุมเแียงลงหากระดาษ เปิดรูรับแสกว้างสุด ปรับโฟกัสแบบจุดเดียวไปที่ตำแหน่งลูกศรแล้วถ่ายภาพ จากนั้นเปิดดูภาพ ขยายภาพดูว่าภาพชัดที่ตำแหน่งตัวอักษรแถวที่ขีดลูกศรไว้หรือไม่ ถ้าจุดชัดไม่ตรงแสดงว่าโฟกัสน่าจะมีปัญหา(สามารถปรับแก้ด้วยระบบ AF Fine Tune ในกล้องระดับโปรหรือ Semi Pro แต่กล้องรุ่นเล็กๆ จะแก้ไม่ได้) ส่วนเลนส์ซูมควรลองทุกช่วงซูม


9. ลองความคมชัด

ถ้าคุณนัดดูของกันที่ร้านกาแฟ ร้านอาหาร การทดสอบความคมชัดแนะนำให้มองหาผนังเรียบๆ ที่มีรูป มีโปสเตอร์ ที่มีรายละเอียดให้ลองความคมชัดได้ติดไว้ จากนั้นวางตำแหน่งกล้องให้ขนานกับผนัง เปิดรูรับแสงกว้างสุดแล้วถ่ายภาพ ถ้าแสงน้อยให้เปิดแฟลชเพื่อจะชัวร์ว่าภาพไม่เบลอจากการสั่นไหวของกล้อง จากนั้นเปิดดูภาพแล้วซูมขยายภาพ 100% ดูว่าภาพคมชัดหรือไม่ และคมชัดทั่วทั้งภาพมั๊ย หากซีกซ้ายชัด ซีกขวาเบลอแสดงว่าเลนส์มีปัญหาเรื่องชุดเลนส์เคลื่อน ซึ่งมีโอกาสเกิดได้นะครับ (ดูจากภาพตัวอย่าง) จากนั้นให้ลองถ่ายภาพคนด้วยแฟลชที่รูรับแสงกลางๆ แล้วขยายภาพดูความคมชัด ภาพควรจะชัดเมื่อขยาย 100% หาวัตถุที่อยู่ไกลๆ ลองโฟกัสดูครับว่าเลนส์โฟกัสที่อินฟินิตี้ได้ ถ้าเลนส์โฟกัสไม่ตรงกับตำแหน่งมาร์คอินฟินิตี้บนสเกลเลนส์แบบเป๊ะๆ ไม่ต้องซีเรียสนะครับ แต่ถ้าโฟกัสไม่ถึงอินฟินิีตี้ อันนี้เรื่องใหญ่ครับ ไม่ควรซื้อ


10. ลองระบบกันสั่น

เลนส์ที่มีระบบกันสั่นในตัวเลนส์ ควรลองระบบกันสั่นของเลนส์โดยเปิดใช้แล้วมองภาพจากช่องมอง ว่าระบบกันสั่นทำงานปกติหรือไม่ โดยลองขยับกล้องเลื่อนไปมาแล้วดูว่าภาพขยับตามตำแหน่งการเลื่อนไหม มีเสียงผิดปกติของการทำงานระบบกันสั่นเล็ดรอดออกมามั๊ย ภาพมีอาการกระตุกมั๊ย จากนั้นลองถ่ายโดยใช้ความเร็วชัตเตอร์ตํ่ากว่ากฏ 1/ทางยาวโฟกัส ไปสัก 2-3 สตอป เช่น เลนส์ 50 มม. ให้ลองที่ความเร็ว 1/15 วินาที หรือ 1/8 วินาที ภาพควรจะชัดทั้งหมด


อย่างไรก็ตาม แนะนำให้ซื้อเลนส์ที่มีสภาพค่อนข้างดีไว้ก่อนครับ โอกาสที่จะมีอะไรเสียหายจะน้อยกว่าเลนส์ที่ผ่านการใช้งานหนักมา (แม้ราคาจะเย้ายวนใจ) และหากเป็นไปได้แนะนำให้เลือกเลนส์มือสองที่ยังมีประกันเหลือ (โดยเฉพาะประกันศูนย์) เพราะหากเจอแจ๊คพ็อต เลนส์มีปัญหาก็ยังส่งเคลมได้ ถ้าไม่ใช่เลนส์ตกหล่นมาก่อน อาจดูเยอะหน่อยครับแต่ดูละเอียดจะปลอดภัยกว่า ส่วนผู้ที่ซื้อเลนส์มือสองทางออนไลน์โดยไม่เห็นของก่อนนั้น ระวังครับ คนขายมีทั้งดีและไม่ดี ไว้ใจได้และไว้ใจไม่ได้ คุณมีความเสี่ยงค่อนข้างมากครับ และถ้าเป็นกรณีโอนเงินให้ก่อน อาจไม่ได้อะไรกลับมาเลยก็เป็นได้ ส่งทาง พกง. ได้เบียร์กระป๋องมาแทนเลนส์ยังมีเลยครับ

 


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


หากเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ ฝากกดไลค์และแชร์ด้วยนะครับ
FOTOINFO มี LINE@ OFFICIAL แล้ว !!! อย่าลืมแอดไลน์ @FOTOINFO (หรือสแกน QR Code ในภาพนี้)

ขอบคุณครับ


ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus

หรือสาระความรู้ด้านการถ่ายภาพที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่

fotoinfo.online