ADVANCE PHOTO TECHNIQUES

6 เคล็ดลับถ่ายภาพไฟกลางคืน

แสงไฟเมืองยามค่ำคืน ถือเป็นเสน่ห์ที่ช่างภาพทั้งมือใหม่ และมือสมัครเล่นต้องไฝ่หาโอกาสที่จะไปลั่นชัตเตอร์กัน ทั้งเมื่ออยู่บนพื้นราบ หรือเมื่อยามขึ้นตึกสูง ซึ่งหลายๆคนก็พยายามหาโอกาสที่จะขึ้นตึกสูงเพื่อเก็บบรรยากาศของไฟในเมือง หรือถ้ามีโอกาสก็ไม่พลาดที่จะหยิบกล้องมาลั่นชัตเตอร์กันครับ

สําหรับการถ่ายภาพไฟเมืองนั้น จำเป็นที่จะต้องมีอุปกรณ์ เสริมเพื่อให้ได้ภาพที่มีคุณภาพสูง สามารถเก็บรายละเอียดต่างๆ ของตึกรามบ้านช่อง ถนน และสถานที่ต่างๆ ได้อย่างครบถ้วน
.
ถึงแม้บางครั้งกล้องจากสมาร์ทโฟนก็สามารถถ่ายภาพแบบนี้ได้ แต่ถ้าจะวัดเรื่องคุณภาพกันจริงๆ กล้องถ่ายภาพที่มีขนาดเซ็นเซอร์ใหญ่ก็ย่อมที่จะให้คุณภาพและไดนามิกเรนจ์ที่ดีกว่านั่นเองครับ

 

1. กล้องและเลนส์

ตัวกล้องสามารถใช้งานได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นกล้อง DSLR หรือกล้อง Mirrorless รวมถึงกล้องคอมแพค ซึ่งถ้าหากว่าเป็นกล้องที่มีโหมด M ก็จะทำให้ปรับควบคุมการทำงานได้สะดวกมากขึ้นเนื่องจากสามารถปรับเพิ่มหรือลดค่าแสงได้ตามที่ต้องการ
.
ส่วนเลนส์นั้น เลือกใช้ได้ทั้งเลนส์มุมกว้างมากๆ อย่าง Ultra Wide สําหรับเก็บบรรยากาศกว้างๆ หรือเลนส์ Telephoto สําหรับเน้นพื้นที่บางส่วน หรือเจาะเข้าไปยังจุดสนใจเป็นบาง ส่วนก็ได้เช่นกัน

 

2. ขาตั้งกล้อง

ถือเป็นอุปกรณ์ที่สําคัญและมีความจำเป็นมาก เพราะเมื่อแสงอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปแล้ว ความเร็วชัตเตอร์จะลดลงมากทีเดียว อีกทั้งเราต้องเปิดรูรับแสงแคบๆ เพื่อคุมระยะชัดลึก ความเร็วชัตเตอร์จะต่ำจนไม่สามารถถือกล้องถ่ายภาพด้วยมือได้ ถึงแม้ว่าจะสามารถวางกล้องบนขอบกำแพงหรือแนวกันได้ แต่ก็คงไม่สามารถจัดองค์ประกอบภาพตามที่ต้องการได้สะดวกนัก

ขาตั้งกล้องที่ใช้ควรเป็นขาตั้งกล้องที่แข็งแรง และมีความสูงพอประมาณ เพราะบางครั้งอาจจะมีแนวกําแพง หรือสิ่งกีดขวางอยู่ด้านหน้า ถ้าหากว่าขาตั้งกล้องไม่สูงมากพอ ก็อาจจะตั้งกล้องไม่พ้นแนวกำแพงหรือสิ่งกีดขวางนั้นได้ครับ

วิธีแก้ปัญหากรณีที่ขาตั้งกล้องสูงไม่พอ ก็ให้ปรับแกนขาตั้งทั้ง สามขาให้สั้นที่สุดแล้ววางกล้องบนขอบกำแพงแทน แต่ทั้งนี้ก็ต้องมีเทปกาวหรือเชือกสําหรับมัดขาตั้งกล้องให้แน่นบนขอบกําแพง ซึ่งบางพื้นที่อาจจะไม่สะดวกกับการใช้วิธีนี้มากนัก ดังนั้นหาขาตั้งที่สูงและแข็งแรงจะดีกว่าครับ ถ้าหากต้องการเพิ่มความมั่นคงของขาตั้งกล้องให้มากขึ้น

ในกรณีที่อาจจะเจอลมพัดแรงก็สามารถใช้กระเป๋ากล้องถ่วงให้ขาตั้งกล้องมีน้ำหนักมากขึ้นก็ได้เช่นกัน

 

3. สายลั่นชัตเตอร์หรือรีโมทคอนโทรล

เป็นอุปกรณ์ที่มักใช้งานควบคู่กับขาตั้งกล้อง ซึ่งช่วยให้กดชัตเตอร์ได้นุ่มนวลมากขึ้น เพราะถึงแม้ว่าเราจะตั้งกล้องบนขาตั้งกล้อง แต่ถ้ายังใช้มือกดปุ่มชัตเตอร์ก็มีโอกาสที่จะทำให้กล้องสั่นไหวได้จากน้ำหนักการกดที่อาจจะแรงเกินไป

หรือถ้าหากว่าไม่มีสายลั่นชัตเตอร์จะใช้วิธีตั้งเวลาถ่ายภาพ (Self Timer) แทนสายลั่นชัตเตอร์ได้ โดยตั้งเวลาเพียง 2 วินาทีก็พอ เพราะ Self Timer 2 วินาทีนั้นถูกออกแบบให้ใช้งานแทนสายลั่นชัตเตอร์อยู่แล้ว ไม่ต้องรอถึง 10 วินาทีก็ได้ครับ

และถ้าหากว่ากล้องมีระบบล็อกกระจกสะท้อนภาพ ก็ควรจะใช้งานด้วยนะครับ เพื่อความคมชัดสูงสุดของภาพ

 

4. การตั้งค่ากล้อง

เริ่มกันที่ความไวแสง ใช้ที่ ISO100 หรือ 200 ก็พอ ไม่จําเป็นต้องใช้สูงเกินไป เนื่องจากกล้องก็ตั้งอยู่บนขาตั้งกล้องแล้ว สามารถใช้ความเร็วชัตเตอร์ได้ต่ำตามที่ต้องการ

รูรับแสง ใช้ที่ f/8-f/16 เมื่อใช้เลนส์มุมกว้าง และปรับโฟกัสที่อินฟินิตี้ หรือปรับโฟกัสแบบ Hyperfocal รูรับแสง f/8 ก็สามารถคุมระยะชัดลึกได้ทั้งหมด หรือถ้าต้องการแฉกไฟที่โดดเด่นมากขึ้น ก็ปรับรูรับแสงลงไปที่ f/11 หรือ f/16 ก็ได้เช่นกัน

สําหรับไวท์บาลานซ์นั้น กล้องถ่ายภาพรุ่นใหม่ๆ มีไวท์บาลานซ์ที่ค่อนข้างแม่นยำ สามารถเลือกใช้แบบ Auto ได้เลย หรือจะเลือกปรับเองเป็นแบบ Kelvin ก็ได้ ซึ่งจะอยู่ในช่วง 3800K – 4500K เพื่อไม่ให้ภาพมีแสงสีส้มเหลืองจนเกินไปรวมทั้งไม่ให้แสงของหลอดไฟทังสเตนออกสีฟ้าเกินไปด้วยเช่นกัน

ส่วนความเร็วชัตเตอร์นั้น ก็ขึ้นอยู่กับสภาพแสง ณ ตอนนั้น รวมทั้งรูรับแสง และ ISO ที่ใช้ด้วย แต่ถ้าหากต้องการไฟถนนเป็นเส้นยาวๆ ก็ต้องปรับความเร็วชัตเตอร์ให้ช้าลง เช่น 20 วินาที, 30 วินาที หรือ 1 นาที และก็ขึ้นกับสภาพการจราจรด้วย ควรเลือกกดชัตเตอร์ตอนที่รถเริ่มเคลื่อนตัวครับ

 

5. เริ่มถ่ายภาพ

หลังจากที่ตระเตรียมอุปกรณ์พร้อมแล้ว ก็เริ่มต้นถ่ายภาพกันได้ครับ ช่วงเวลาที่ไม่ควรพลาดเลยคือ ช่วงก่อนที่พระอาทิตย์จะลับขอบฟ้า ซึ่งถ้าเป็นช่วงที่อากาศแจ่มใส เราอาจจะได้พระอาทิตย์ดวงกลมโต ยิ่งถ้าใช้เลนส์ช่วงเทเลโฟโต้ด้วยแล้วยิ่งจะได้ดวงอาทิตย์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น และถ้ามีเมฆประปราย ก็อาจจะได้ช่วงฟ้าระเบิด หรือช่วงที่แสงอาทิตย์สาดแดงเต็มฟ้านั่นเองครับ

ถัดไปจะเป็นช่วงหลังจากที่ดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปแล้ว หรือ หลังจากช่วงฟ้าระเบิด สีสันของท้องฟ้าจะเริ่มเปลี่ยนเป็นโทนสีฟ้า ที่เราเรียกกันว่าช่วงทไวไลท์นั่นล่ะครับ ช่วงนี้ตึกต่างๆ รวมทั้งไฟตามท้องถนนจะเริ่มส่องแสงสว่างกันแล้ว รถราที่วิ่งกันบนท้องถนนก็เริ่มเปิดไฟกันด้วยเช่นกัน

เป็นอีกช่วงหนึ่งที่ไม่ควรพลาดเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะเก็บสีสันของทั้งท้องฟ้าและแสงสีของเมืองได้ครบถ้วน โดยที่บรรยากาศรวมๆ ของภาพยังดูสว่างอยู่นั่นเอง

 

6. การจัดองค์ประกอบ

เมื่อมีโอกาสขึ้นตึกสูง ก็ควรเลือกมุมมองที่เป็นเส้นถนนเพื่อให้เห็นไฟรถเป็นเส้นยาวๆ พุ่งไกลออกไป ซึ่งช่วยให้ภาพดูมีความลึกมากขึ้นด้วยหรือหาตึกที่มีความพิเศษ เช่น มีรูปทรงที่แตกต่างออกไปจากตึกอื่นๆ หรือตึกที่สูงโดดเด่นออกมาจากตึกอื่นๆ เพื่อให้เป็นจุดเด่นของภาพ

หรืออาจจะใช้เลนส์เทเลโฟโต้เน้นกลุ่มตึกที่อยู่ในย่านเดียวกัน และมีฉากหลังที่อยู่ไกลออกไปที่ค่อยๆ เลือนรางไปกับหมอก ควัน เป็นต้น

แต่ถ้าอยู่บนพื้นราบ ก็ต้องเน้นไฟรถที่พุ่งเป็นเส้นยาวๆ ออกไป หรือเส้นถนนที่รายรอบไปด้วยอาคารบ้านเรือนก็ได้เช่นกันครับ