เลนส์ Tamron 85mm F1.8 Di VC USD เลนส์ Portrait รุ่นใหม่ที่เปิดตัวมาพร้อมๆ กับเลนส์มาโคร Tamron 90mm F2.8 Di VC USD ที่ได้รับการออกแบบรูปร่างหน้าตาและโครงสร้างใหม่ทั้งหมดด้วยเช่นเดียวกัน โดยออกแบบสำหรับถ่ายภาพบุคคล รวมไปถึง การถ่ายภาพทั่วๆ ไป ที่ต้องการเน้นเอฟเฟคต์ภาพแบบชัดตื้น จากรูรับแสงที่กว้างถึง F1.8 รวมทั้งออกแบบให้ใช้งานในสภาพแสงน้อยๆ ได้เป็นอย่างดี โดยมีจุดเด่นนั่นคือ มาพร้อมระบบป้องกันการสั่นไหวในตัว ซึ่งช่วยให้ถือกล้องถ่ายภาพด้วยมือ ได้ด้วยความเร็วตํ่ากว่าปกติ เพื่อเก็บบันทึกแสงธรรมชาติในขณะนั้น รวมทั้งสร้างสรรค์รูปแบบภาพพิเศษได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องพะวงกับการใช้ขาตั้งกล้องหรือแฟลชอีกด้วย
จุดเด่นของ Tamron 85mm F1.8 Di VC USD
- รูรับแสงกว้างสุด F1.8
- มีระบบป้องกันการสั่นไหว VC
- มอเตอร์โฟกัสแบบ USD
- มีชิ้นเลนส์พิเศษ LD และ XLD
- เคลือบผิวเลนส์ด้วยเทคโนโลยี eBAND และ BBAR
- เคลือบเลนส์ชิ้นหน้าด้วย Fluorine
- ซีลตามรอยต่อป้องกันฝุ่นและละอองน้ำ
- ไดอะแฟรม 9 ใบ
โครงสร้างและการออกแบบ
กระบอกเลนส์ Tamron 85mm F1.8 Di VC USD ออกแบบได้สวยงาม และแข็งแรง ตัวเลนส์มีขนาดค่อนข้างอวบอ้วนอยู่พอสมควร ด้านหน้าสุดเป็นเกลียวฟิลเตอร์ ขนาด 67 มม. พร้อมเขี้ยวล็อกสำหรับติดฮูดบังแสง ถัดเข้าไปเป็นวงแหวนโฟกัส มีขนาดใหญ่ ช่วยให้จับใช้งานได้ง่าย หุ้มด้วยยางและเซาะร่องให้จับได้ถนัดมือ ถัดไปอีกเล็กน้อย เป็นช่องหน้าต่างระยะโฟกัส ปิดทับด้วยพลาสติกโปร่งใส และมองตัวเลขแสดงระยะโฟกัสได้อย่างชัดเจน
ข้างๆ กระบอกเลนส์ เป็นสวิทช์เลือกระบบโฟกัสแบบ Auto (AF) และ Manual (MF) ติดๆ กันเป็นสวิทช์เลือกระบบป้องกันการสั่นไหว ซึ่งเลือกเปิดใช้งาน (VC-On) และปิดใช้งาน (Off) ด้านท้ายเลนส์ออกแบบให้เรียวคอดลงมายังแปลนเม้าท์ หุ้มด้วยวงแหวนสีทองอ่อนๆ ดูสวยงามมากทีเดียว ส่วนเม้าท์เลนส์ออกแบบเป็นโลหะ พร้อมขั้วเชื่อมไฟฟ้าสำหรับการปรับคุมการทำงานจากตัวกล้องได้ทั้งหมด รอบๆ ฐานเม้าท์เลนส์หุ้มด้ายยาง ป้องกันฝุ่นและละอองนํ้าที่จะเข้าไปโดนขั้วสัมผัสไฟฟ้า เมื่อต้องใช้งานในสภาพอากาศที่เลวร้าย อาทิ มีฝุ่น หรือฝนตกปรอยๆ ได้เป็นอย่างดี
ซ้าย : โครงสร้างชิ้นเลนส์ กลาง : เม้าท์เลนส์โลหะ ให้ความแข็งแรง ทนทาน พร้อมขั้วเชื่อมต่อไฟฟ้า ขวา : สวิทช์เลือกระบบโฟกัส และระบบป้องกันการสั่นไหว
โครงสร้างของเลนส์ Tamron 85mm F1.8 Di VC USD ประกอบไปด้วยชิ้นเลนส์ 13 ชิ้น จัดเป็น 9 กลุ่ม มีชิ้นเลนส์พิเศษอย่างชิ้นเลนส์ LD 1 ชิ้น และชิ้นเลนส์ XLD อีก 1 ชิ้น โดยชิ้นเลนส์พิเศษนี้ จะช่วยให้ได้ภาพที่คมชัดทั่วทั้งเฟรมภาพ และปรับแก้ไขอาการบิด เบือนของสี ให้ภาพที่มีคอนทราสต์ที่ดีเยี่ยม ให้ภาพที่มีสีสันที่อิ่มตัวและใสเคลียร์ นอกจากนี้ ยังได้รับการเคลือบผิวเลนส์ด้วยเทคโนโลยี eBAND และ BBAR Coating ช่วยลดการสะท้อนของแสงในกระบอกเลนส์ ทำให้ได้ภาพที่ปราศจากอาการแฟลร์ และการฟุ้งกระจายของ แสงในกระบอกเลนส์ ซึ่งจะทำให้เกิดภาพหลอนนั่นเอง นอกจากนี้ ยังให้ภาพที่มีสีสันอิ่มตัวอีกด้วย
เลนส์ Tamron 85mm F1.8 Di VC USD ใช้ระบบโฟกัสแบบ USD (Ultrasonic Silent Drive) ตอบสนองการโฟกัสที่รวดเร็ว และแม่นยำ รวมทั้งเงียบเชียบปราศจากเสียงรบกวนด้วยเช่นกัน รวมทั้งยังรองรับการปรับโฟกัสเองแบบแมนนวลได้ตลอดเวลาอีกด้วย นอกจากนี้ ยังเป็นระบบโกัสแบบ IF หรือ Internal Focus ซึ่งเป็นการเคลื่อนที่ของชิ้นเลนส์ภายในกระบอกเลนส์ ทำให้ตัวกระบอกเลนส์ ไม่มีการยื่นยาวออกมานั่นเอง รวมทั้งชิ้นเลนส์ด้านหน้าสุดไม่มีการหมุนตาม ในขณะโฟกัสช่วยให้ใช้งานกับฟิลเตอร์ C-PL และฟิลเตอร์ ND แบบปรับความเข้มของระดับแสงได้ ทำได้สะดวกมากขึ้นด้วยนั่นเอง นอกจากนี้ ชิ้นเลนส์ด้านหน้าสุด ได้รับการเคลือบผิวด้วย Fluorine ป้องกันการเกาะของละอองนํ้า และลดการเกิดรอยนิ้วมือ ที่อาจจะจับโดนโดยไม่ตั้งใจนั่นเอง และตามรอยต่อต่างๆ ของกระบอกเลนส์ได้รับการซีลป้องกันฝุ่นและละอองนํ้าจากการใช้งานกลางแจ้งได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
อีกหนึ่งในความโดดเด่นของตัวเลนส์ นั่นคือมาพร้อมระบบป้องกันการสั่นไหว VC (Vibration Compensation) ซึ่งช่วยให้ถือกล้องถ่ายภาพด้วยมือได้ที่ความเร็วชัตเตอร์ตํ่ากว่าปกติ โดยสามารถชดเชยได้สูงถึง 3.5 สตอป หรือสามารถถ่ายภาพด้วยความเร็ว ชัตเตอร์ตํ่าถึง 1/8 วินาทีได้อย่างสบายๆ นั่นเอง โดยข้อดีคือช่วยให้เก็บภาพในสภาพแสงธรรมชาติในขณะนั้น เพื่อคงอารมณ์ของภาพไว้นั่นเอง รวมทั้งไม่จำเป็นที่จะต้องปรับเพิ่มความไวแสงให้สูงเกินไป ซึ่งจะทำให้คุณภาพของภาพลดลงอีกด้วย
การใช้งาน
Canon EOS 5D MK II เลนส์ Tamron 85mm F1.8 Di VC USD โหมด M ชัตเตอร์ 1/80 วินาที f/2.8, ISO400, WB:Daylight
ผมได้รับเลนส์ Tamron 85mm F1.8 Di VC USD มาพร้อมกับตัวกล้อง Canon EOS 5D MK II เมื่อใส่เลนส์ติดกับตัวกล้องแล้วดูลงตัวพอสมควร เพราะเป็นเลนส์ที่ออกแบบมาให้ใช้งานกับกล้องฟูลเฟรมอยู่แล้วนั่นเอง แต่ก็สามารถใช้งานกับกล้องตัวคูณ อย่าง EOS 100D หรือ EOS 750D ได้ด้วยเช่นกัน โดยจะได้ทางยาวโฟกัสเทียบเท่าระยะ 136 มม. ซึ่งถ้าหากใช้งานกับกล้อง EOS 100D ซึ่งมีขนาดตัวที่เล็ก จะรู้สึกได้ว่าเลนส์ Tamron 85mm F1.8 Di VC USD มีขนาดตัวที่ใหญ่พอสมควรทีเดียว
เนื่องจากเป็นเลนส์ที่ออกแบบสำหรับถ่ายภาพ Portrait อยู่แล้ว ก็เลยลองถ่ายภาพนางแบบที่สตูดิโอของนิตยสารโฟโต้อินโฟเอง ซึ่งใช้แสงธรรมชาติเป็นหลักและใช้แฟลชเสริม สร้างไฮไลท์ที่ผมบ้าง โดยใช้งานกับกล้อง EOS 6D เป็นหลัก ก็ถือว่าระบบโฟกัสตอบสนองได้ดีพอสมควร โดยไม่ได้เร็วปรู๊ดปร๊าด แต่ก็ไม่ได้ถึงกับเชื่องช้าแต่อย่างใด และให้ความแม่นยำพอสมควร
Canon EOS 6D เลนส์ Tamron 85mm F1.8 Di VC USD โหมด M ชัตเตอร์ 1/400 วินาที f/2, ISO200, WB:Daylight (ภาพ : พิษณุ พวงแก้ว)
สำหรับความคมชัดนั้น ที่ f/1.8 ถือว่าให้ความคมชัดที่ดีทีเดียว แต่ขอบๆ ภาพจะซอฟท์ลงมานิดหน่อย รวมทั้งมีอาการขอบภาพมืด หรือเกิด Vignette เล็กน้อยด้วยนั่นเอง f/2.8-f/11 ภาพมีความคมชัดที่ดีทั้งกลางและขอบภาพ อาการ Vignette หายไปเมื่อหรี่รูรับแสงลงมาที่ f/2.8 เป็นต้นไป ส่วนที่ f/16 ความคมชัดโดยเฉพาะขอบๆ ภาพจะซอฟท์ลงมาพอสมควร แต่โดยรวมก็ถือว่าให้คุณภาพของภาพที่ดี ให้สีสันที่อิ่มตัว และให้คอนทราสต์ของภาพที่ดีเยี่ยมทีเดียวครับ
อาการแฟลร์ไม่มีให้เห็นจากการทดสอบ ซึ่งน่าจะเป็นผลจากประสิทธิภาพของเทคโนโลยีในการเคลือบผิวเลนส์ แบบ eBAND และ BBAR Coating ส่วนอาการ CA มีให้เห็นบ้างแค่เพียงเล็กน้อยที่ f/1.8 เมื่อถ่ายภาพย้อนแสง แต่พอหรี่รูรับแสงลงมาเป็น f/2.2 หรือ f/2.5 ก็ไม่มีอาการให้เห็นอีกตลอดช่วงระยะของการทดลองใช้งานครับ นอกจากนี้อาการภาพบวม หรือบิดเบี้ยว
ก็ไม่มีให้เห็นตลอดทั้งการ ทดลองใช้งานเช่นกันครับ
Canon EOS 6D เลนส์ Tamron 85mm F1.8 Di VC USD โหมด M ชัตเตอร์ 1/320 วินาที f/2, ISO200, WB:Daylight (ภาพ : พิษณุ พวงแก้ว)
ระบบป้องกันการสั่นไหว VC หรือ Vibration Compensation ตอบสนองการใช้งานได้เป็นอย่างดีทีเดียว ถือเป็นความโดดเด่นที่ไม่มีคู่แข่งเลยก็ว่าได้ สำหรับเลนส์ทางยาวโฟกัสเดี่ยว ที่ระยะโฟกัสเท่าๆ กัน ทั้งเลนส์ค่ายกล้องเอง และเลนส์ค่ายอิสระอื่นๆ ในสภาพแสงน้อยๆ ผมเคยถือกล้องถ่ายภาพที่ความเร็วชัตเตอร์ตํ่าถึง 1/8 วินาที ซึ่งสำหรับเลนส์ช่วงเทเลโฟโต้ การถือกล้องถ่ายภาพที่ความเร็วตํ่าขนาดนี้ แทบจะหวังผลไม่ได้เลยในเรื่องของความคมชัด แต่ระบบป้องกันการสั่นไหวของเลนส์ Tamron 85mm F1.8 Di VC USD ก็ช่วยให้ผมได้ภาพที่คมชัดตามที่ต้องการครับ แต่อย่างไรก็ตาม การจับถือกล้องยังต้องจับให้กระชับ และหาที่พิงไหล่ หรือเท้าแขน หรือข้อศอก จะช่วยให้ถือกล้องได้นิ่งมากกว่าการถือกล้องลอยๆ รวมทั้งซับเจคต์ที่ต้องการถ่ายภาพ
ก็ควรจะเป็นซับเจคต์ที่อยู่นิ่งๆ กับที่ด้วยครับ
Canon EOS 6D เลนส์ Tamron 85mm F1.8 Di VC USD โหมด M ชัตเตอร์ 1/400 วินาที f/2, ISO200, WB:Daylight (ภาพ : พิษณุ พวงแก้ว)
นอกจากการใช้งานกับกล้องแคนนอนแล้ว ผมยังมีโอกาสในการลองใช้เลนส์กับกล้อง Sony A7II ซึ่งเป็นกล้องฟูลเฟรม ผ่านอะแดปเตอร์ Viltrox ที่รองรับทั้งการทำงานในระบบออโต้โฟกัส และรองรับกับระบบป้องกันการสั่นไหวด้วย ถึงแม้ว่าบอดี้ Sony A7II จะมีระบบป้องกันการสั่นไหวในตัวด้วยก็ตาม การตอบสนองการโฟกัสทำได้เป็นอย่างดีทีเดียวครับ ไม่แพ้การใช้งานกับกล้องแคนนอน เท่าไหร่นัก ซึ่งก็ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ที่ใช้กล้องโซนี่ด้วยเช่นกันครับ
ผลการใช้งาน
Canon EOS 5D MK II เลนส์ Tamron 85mm F1.8 Di VC USD โหมด M ชัตเตอร์ 1/640 วินาที f/2.8, ISO100, WB:Daylight
เลนส์ Tamron 85mm F1.8 Di VC USD ถือเป็นเลนส์ที่ออกแบบมาสำหรับการถ่ายภาพ Portrait หรือถ่ายภาพบุคคลเป็นหลัก แต่ก็สามารถนำไปใช้งานในการถ่ายภาพทั่วไปได้ทั้งหมด และช่วยให้ถ่ายภาพได้ง่ายขึ้น เมื่อต้องอยู่ในสภาพแสงน้อยๆ ทั้งจากรูรับแสงที่กว้างถึง f/1.8 และระบบป้องกันการสั่นไหวในตัว ที่ช่วยให้ถือกล้องถ่ายภาพด้วยความเร็วชัตเตอร์ตํ่ากว่าปกติได้สูงถึง 3.5 สตอป โดยไม่จำเป็นต้องใช้ขาตั้งกล้อง หรือใช้แฟลชให้ยุ่งยาก รวมทั้งไม่ต้องเพิ่มความไวแสงให้สุงจนเกินไปอีกด้วย ตัวเลนส์ออกแบบให้ใช้งานได้ทั้ง กล้องฟูลเฟรม และกล้องที่ใช้เซ็นเซอร์ APS-C ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ในการใช้งานกลางแจ้งปกติในหน้าฝน ที่ผมเองต้องเจอะเจอกับปัญหาอยู่บ่อยๆ แต่สำหรับตัวเลนส์แล้วได้รับการซีลป้องกันฝุ่น และละอองนํ้าซึ่งก็ช่วยให้ใช้งานในสภาพอากาศที่ชุ่มฉ่ำไปด้วยละอองฝนได้เป็นอย่างดีอีกด้วยครับ
เลนส์ Tamron 85mm F1.8 Di VC USD เป็นอีกหนึ่งในตัวเลือกสำหรับผู้ที่ชื่นชอบการถ่ายภาพบุคคลด้วยแสงธรรมชาติ เพราะทั้งรูรับแสงกว้างๆ และระบบป้องกันการสั่นไหวในตัว จะช่วยให้คุณสามารถสร้างสรรค์บรรยากาศและอารมณ์ของภาพได้ โดยไม่ต้องพะวงกับข้อจำกัดในเรื่องของแสงอีกต่อไป และถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งครับ
ขอบคุณ : บริษัท อิสท์ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัดสำหรับความอนุเคราะห์อุปกรณ์ที่ใช้ในการทดสอบ
ข้อมูลเพิ่มเติม : www.eastenterprise.net
เรื่อง / ภาพ : พีร วงษ์ปัญญา