BASIC

9 สิ่งที่ควรรู้ เกี่ยวกับเลนส์ทางยาวโฟกัสเดี่ยว

ปฎิเสธไม่ได้ว่าเลนส์ซูมเป็นทางเลือกที่ยอดเยี่ยมในด้านความสะดวกและความสารพัดประโยชน์จากหลากหลายช่วงทางยาวโฟกัสที่เปลี่ยนได้เพียงแค่บิดข้อมือ แต่อย่างไรก็ตามความสะดวกนี้มีสิ่งที่ต้องแลกมาคือ คุณภาพของภาพจากกลุ่มของชิ้นเลนส์จำนวนมากที่ถูกจัดวางอย่างซับซ้อนโดยมีการเคลื่อนที่ถอยหลังหรือเดินหน้าเพื่อซูมภาพซึ่งเป็นการลดประสิทธิภาพทางออฟติคัล

ความคมชัดมักเป็นสิ่งแรกที่ได้รับผลกระทบ และตามมาด้วยดิสทอร์ชั่นแบบ Barrel และ Pincushion ที่ช่วงซูมกว้างสุดและยาวสุด นอกจากนี้ยังอาจพบกับความคลาดสีหรือ Chromatic Aberration หรือการเหลื่อมสีบริเวณขอบของส่วนที่มีคอนทราสต์มากในภาพเพิ่มขึ้น และอาการขอบภาพมืดหรือ Vignette รวมทั้งอาการสุดท้ายที่มักพบเมื่อใช้รูรับแสงกว้างสุดที่ช่วงมุมกว้างสุดของเลนส์ซูมคือ Ghosting และแฟลร์ที่มากกว่า

ขณะที่กับเลนส์ทางยาวโฟกัสเดี่ยวดิสทอร์ชั่นและอาการขอบภาพมืดจะน้อยกว่าเลนส์ซูมอย่างชัดเจน แน่นอนความคมชัดอยู่ในระดับที่เหนือกว่าด้วยจนทำให้สามารถใช้ประโยชน์จากเซ็นเซอร์ภาพความละเอียดสูงใหม่ๆ ได้อย่างสูงสุด

อีกโบนัสของการใช้เลนส์ทางยาวโฟกัสเดี่ยวคือ มักจะมีความไวแสงกว่า ซึ่งหมายถึงการมีรูรับแสงกว้างสุดกว้างกว่าซึ่งช่วยให้ใช้ความเร็วชัตเตอร์ได้สูงขึ้น อย่างเช่นเลนส์ซูม 18-55 มม. มักจะมีรูรับแสงกว้างสุด F3.5 ที่ช่วงมุมกว้างสุด และขยับมาที่ F5.6 ตั้งแต่ช่วงประมาณ 50 มม. แต่หากเปลี่ยนมาเป็นเลนส์ทางยาวโฟกัสเดี่ยว 50 มม. F1.4 จะได้รูรับแสงกว้างสุดที่มากกว่าถึง 4 สตอป ซึ่งในสภาพแสงน้อยกับเลนส์ซูมที่ให้ความเร็วชัตเตอร์ 1/15 วินาที แต่กับเลนส์ที่มีรูรับแสง F1.4 จะให้ความเร็วชัตเตอร์สูงถึง 1/250 วินาที หากไม่ใช่เลนส์ที่มีรูรับแสง F1.4 แต่เปลี่ยนเป็นเลนส์ที่มีรูรับแสงกว้างสุด F1.8 ก็จะมีความไวแสงกว่า F5.6 ถึง 3.3 สตอป และมีความไวแสงกว่า 2 สตอปกับเลนส์รุ่น F2.8

อย่างไรก็ตามความไวแสงกว่าของเลนส์ที่ทำให้หลีกเลี่ยงการสั่นไหวและช่วยหยุดการเคลื่อนที่ของวัตถุได้ ยังไม่ใช่ประโยชน์ทั้งหมด เพราะประโยชน์ข้อใหญ่อีกด้านที่จะได้รับจากเลนส์ทางยาวโฟกัสเดี่ยวไวแสงคือระยะชัดที่น้อยของเลนส์ ที่จะช่วยให้วัตถุหลักหรือสิ่งที่น่าสนใจในภาพเด่นขึ้นด้วยการทำให้ฉากหลังเบลอ ซึ่งเป็นสิ่งที่นักถ่ายภาพพอร์เทรตชื่นชอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อฉากหลังรกและมีสิ่งที่อาจดึงความสนใจไปจากวัตถุหลักได้

อาจเป็นปัญหาสักหน่อยในการใช้รูรับแสงกว้างในสถานการณ์ที่มีแสงแดดจัด แต่ก็สามารถลดปัญหานี้ได้โดยการใช้ฟิลเตอร์ ND ที่ปัจจุบันนอกจากจะมีแบบที่ลดค่าแสงตายตัวแล้ว ยังมีรุ่นที่สามารถปรับลดค่าแสงได้หลากหลายสตอปให้เลือกใช้ด้วย ซึ่งเป็นทางเลือกที่ดีเมื่อถ่ายวิดีโอและต้องการภาพแบบภาพยนตร์ที่มีระยะชัดน้อยมาก


ทางยาวโฟกัสเลนส์กับขนาดเซ็นเซอร์

ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่นักถ่ายภาพควรคิดถึงเมื่อจะซื้อเลนส์ทางยาวโฟกัสเดี่ยวคือทางยาวโฟกัสเลนส์ที่จะได้รับ ย้อนกลับไปในยุคของฟิล์ม 35 มม. เลนส์ทางยาวโฟกัสเดี่ยว 50 มม. ถูกพิจารณาว่าเป็นเลนส์มาตรฐานเนื่องจากให้เพอร์สเปคทีฟใกล้เคียงกับการมองภาพของตาคนที่สุด โดยไม่มีการขยายให้มากขึ้นอย่างเลนส์เทเลโฟโต หรือขยายออกอย่างเลนส์มุมกว้างเพื่อเก็บพื้นที่ให้มากขึ้นในภาพ

อย่างไรก็ตามด้วยหลากหลายขนาดของเซ็นเซอร์ภาพที่มีให้เลือกใช้ในปัจจุบัน สิ่งต่างๆ จึงไม่ได้แน่นอนเหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะหากใช้กล้อง DSLR ที่ใช้เซ็นเซอร์ภาพ APS-C ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าฟูลเฟรมอย่าง Canon EOS 750D หรือ Nikon D3400 จะมีความแตกต่างไปจากเดิมด้วยสิ่งที่เรียกว่าครอปแฟกเตอร์ โดยเลนส์ 35 มม. จะกลายเป็นเลนส์ที่ให้เพอร์สเปคทีฟบนกล้องใกล้เคียงกับที่ได้จากเลนส์ 50 มม. บนกล้อง DSLR ฟูลเฟรม เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากเลนส์ทางยาวโฟกัสเดี่ยวได้มากขึ้น ต่อไปนี้คือสิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับเลนส์ทางยาวโฟกัสเดี่ยวจากปัจจัยต่างๆ

1. ทำให้นักถ่ายภาพทำงานมากขึ้น
ด้วยเลนส์ซูมจะทำให้ง่ายที่นักถ่ายภาพจะขี้เกียจและซูมเข้าซูมออกเอา ซึ่งเป็นการใช้ให้เลนส์ทำงานแทน แต่เลนส์ทางยาวโฟกัสเดี่ยวจะทำให้นักถ่ายภาพคิดมากขึ้นเกี่ยวกับภาพ และเป็นการบังคับให้ต้องสร้างสรรค์มากขึ้นตามไปด้วย

2. ใหญ่กว่าหมายถึงดีกว่า
เลนส์ที่มีความไวแสงสูงสุดด้วยรูรับแสง F1.4 หรือ F1.8 ช่วยให้ได้ความเร็วชัตเตอร์สูงขึ้นและลดระยะชัดลง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้มีประโยชน์เหนือกว่าเลนส์ F2.8

3. เลือกทางยาวโฟกัสเลนส์
ก่อนที่จะเข้าสู่โลกของเลนส์ทางยาวโฟกัสเดี่ยวนักถ่ายภาพควรมีการศึกษาก่อนตัดสินใจ เพราะนักถ่ายภาพอาจคิดว่าตนเองต้องการเลนส์ทางยาวโฟกัสเดี่ยว 24 มม. แต่หากดูทางยาวโฟกัสที่ใชัมากที่สุดใน Lightroom หรือ Adobe Bridge อาจแสดงให้เห็นว่า ความจริงแล้วเลนส์ที่มักใช้ถ่ายภาพมากกว่าอยู่ที่ช่วง 28 หรือ 35 มม.

4. เปิดรูรับแสงกว้าง
เมื่อถ่ายภาพโดยเปิดรูรับแสงกว้างสุดด้วยเลนส์ไวแสง F1.4 ความคมชัดที่ได้จะลดน้อยลงในบางส่วนของภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ขอบภาพ แต่ผลลักษณะนี้อาจไม่เหมือนกันในเลนส์แต่ละรุ่น

5. ใกล้ขึ้น
ความสามารถในด้านมาโครเป็นประโยชน์ที่ได้รับเพิ่มขึ้น แต่นักถ่ายภาพจะอยู่ใกล้กับวัตถุมากเมื่อถ่ายภาพด้วยเลนส์ 50 มม. และอาจไม่สามารถใช้ประโยชน์ด้านนี้ได้กับเลนส์ 35 มม.

6. ท้าทายแสง
ลงทุนกับฟิลเตอร์ ND หากต้องการถ่ายภาพด้วยรูรับแสงกว้าง เพราะจะช่วยให้สามารถลดระยะชัดในสภาพแสงแดดที่แรงได้

7. ทางเลือกที่เหมาะ
เลนส์ 50 มม. บนกล้องที่ใช้เซ็นเซอร์ APS-C เป็นทางเลือกที่ยอดเยี่ยมสำหรับถ่ายภาพบุคคล โดยรูรับแสงกว้างสุด F1.4 หรือ F1.8 จะช่วยให้นักถ่ายภาพเบลอฉากหลังอย่างได้ผลขึ้นกว่าที่ได้รับจากเลนส์ซูมติดกล้องราคาประหยัดอย่าง 18-55 มม.

8. นํ้าหนัก
ด้วยการไม่มีบางชิ้นส่วนอย่างเลนส์ซูม จึงทำให้เลนส์ทางยาวโฟกัสเดี่ยวมีขนาดกระทัดรัดกว่าและนํ้าหนักเบากว่าเลนส์ซูมที่มีช่วงทางยาวโฟกัสเดียวกัน ทำให้เหมาะหากต้องการเดินทางพร้อมนํ้าหนักที่เบา แต่อย่างไรก็ตามเลนส์ทางยาวโฟกัสเดี่ยวบางรุ่นที่มีราคาแพงจะประกอบด้วยชิ้นเลนส์คุณภาพสูงหลายชิ้น พร้อมด้วยตัวเลนส์ขนาดใหญ่ที่มีความแข็งแรงจึงทำให้มีนํ้าหนักมาก

9. ควรค่าแก่การลงทุน
หากสามารถเพิ่มงบสำหรับซื้อเลนส์ได้ ควรเลือกซื้อเลนส์ที่มีออฟติคระดับโปรซึ่งรองรับการใช้ร่วมกับกล้องฟูลเฟรม แม้ว่าจะใช้กล้อง DSLR ฟอร์แมต APS-C อยู่ก็ตาม เพราะวันหนึ่งในอนาคตหากมีโอกาสนักถ่ายภาพอาจจะเปลี่ยนกล้องเป็นฟอร์แมตฟูลเฟรมได้

แปล / เรียบเรียง : กองบรรณาธิการ


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


หรือสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับการถ่ายภาพที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่

https://test2.fotoinfo.online/all-about-photo/basic