ช่างภาพหรือผู้ใช้กล้องหลายคนมีความลังเลที่จะเปลี่ยนไปใช้โหมดถ่ายภาพอื่นนอกเหนือจากโหมดที่ใช้งานประจำ ส่วนใหญ่เคยใช้โหมดไหนก็มักจะคุ้นเคยและใช้งานโหมดเดียวตลอดเวลากับการถ่ายภาพทุกครั้ง โดยไม่เกี่ยงว่าจะถ่ายภาพแบบไหน
โหมด A และ S เป็นอีก 2 โหมดการใช้งานที่หลายๆ คนยังไม่รู้จักและมีความไม่มั่นใจที่จะใช้ และไม่ทราบว่าต้องใช้โหมดไหนกับการถ่ายภาพแบบใดจึงจะเหมาะ มาทำความรู้จักกับโหมดทั้งสอง และการนำไปใช้งานกันเลยครับ
A และ S เป็นโหมดถ่ายภาพกึ่งอัตโนมัติ ที่ช่วยให้ช่างภาพปรับตั้งค่าต่างๆได้สะดวกขึ้น แต่ไม่ใช่โหมดอัตโนมัติ หรือ โหมด โปรแกรม (P) แต่ก็มีหลักการทำงานที่ไม่แตกต่างกันมาก ไปทำความรู้จักกับทั้งสองโหมดเลยครับ
โหมด A เป็นโหมดถ่ายภาพที่ให้ช่างภาพหรือผู้ใช้กล้องเลือกค่ารูรับแสงที่ต้องการ กล้องจะเลือกความเร็วชัตเตอร์ และค่าความไวแสงที่เหมาะสมให้โดยอัตโนมัติ (หากตั้งค่าความไวแสงที่ Auto-ISO) ช่างภาพสามารถเลือกใช้ค่ารูรับแสงเพื่อควบคุมระยะชัดลึกตามที่ต้องการ
คำตอบหลักๆคือ เมื่อถ่ายภาพทึ่ต้องการควบคุมค่าระยะชัดลึกให้ได้ตามที่ต้องการ ทั้งหน้าชัด-หลังเบลอ / หน้าเบลอ-หลังชัด หรืออยากได้ระยะความชัดลึกตามที่ต้องการ โดยไม่ต้องกังวลกับการตั้งค่าอื่นๆ โดยสามารถใช้โหมด A ได้กับการถ่ายภาพประเภทต่างๆ เช่น
ภาพ Portraits หรือ Close-up การถ่ายภาพประเภทนี้ต้องการควบคุมระยะชัดโดยเน้นความคมชัดไปที่วัตถุหลัก และเบลอฉากหลังหรือส่วนอื่นๆที่ไม่ต้องการออกไป สามารถทำได้โดยเลือกใช้รูรับแสงกว้าง(ตัวเลขน้อย เช่น f1.8, f2.0 หรือ f2.8
ภาพ Landscapes หรือภาพ cityscapes ซึ่งต้องการระยะชัดลึกสูง ให้ภาพมีความคมชัดทั่วทั้งภาพตั้งแต่ฉากหน้าถึงฉากหลัง สามารถทำได้โดยเลือกใช้รูรับแสงแคบ (ตัวเลขมาก เช่น f11, f16 หรือ f22)
ภาพ Low light หรือในสถานการณ์ที่แสงน้อย การใช้โหมดอัตโนมัติอาจทำให้ได้ภาพอันเดอร์ สามารถแก้ไขได้โดยการใช้ขนาดรูรับแสงที่กว้างขึ้นกว่าที่กำลังใช้งานอยู่ นอกจากจะทำให้ได้ค่าแสงที่พอดี ยังช่วยให้ค่าความเร็วชัตเตอร์สูงขึ้น ลดโอกาสการเกิดภาพเบลอได้อีกด้วย
ภาพ Midday bright sunlight หรือถ่ายภาพในสภาพแสงจ้า การใช้โหมดอัตโนมัติอาจให้ภาพโอเวอร์ หรือสว่างจ้าขาดรายละเอียด สามารถแก้ไขได้โดยการหรี่รูรับแสงให้แคบลง จะช่วยให้ได้ภาพที่มีค่าแสงพอดี
ตัวอย่างการถ่ายภาพที่กล่าวไปแล้ว การเลือกใช้โหมด A ช่วยให้ช่างภาพสามารถปรับหรือเลือกใช้ค่ารูรับแสงที่ต้องการได้สะดวกมากกว่าโหมดอื่น
โหมด S เป็นโหมดถ่ายภาพที่ให้ช่างภาพหรือผู้ใช้กล้องเลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ต้องการ กล้องจะเลือกรูรับแสง และค่าความไวแสงที่เหมาะสมให้โดยอัตโนมัติ (หากตั้งค่าความไวแสงที่ Auto-ISO) ความเร็วชัตเตอร์สูงแสงจะผ่านเข้าไปยังเซ็นเซอร์ได้น้อย ในทางตรงกันข้ามความเร็วชัตเตอร์ต่ำแสงจะผ่านเข้าไปได้มากกว่า
เช่นเดียวกับโหมด A คำตอบหลักๆคือ เมื่อถ่ายภาพทึ่ต้องการควบคุมลักษณะของวัตถุในภาพ เช่น ต้องการให้วัตถุที่เคลื่อนไหวหยุดนิ่ง, ต้องการให้ภาพแสดงอารมณ์ความเคลื่อนไหว หรือการถ่ายภาพอื่นๆที่ต้องใช้การควบคุมค่าความเร็วชัตเตอร์ เช่น
ภาพที่ต้องการหยุดความเคลื่อนไหวของวัตถุ ไม่ว่าจะเป็น นก แมลง สัตว์ต่างๆ รถยนต์ วัตถุที่เคลื่อนที่ให้หยุดนิ่ง ลักษณะภาพแบบนี้ต้องเลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์สูง เพื่อให้วัตถุต่างๆเหล่านั้นเหมือนถูกจับให้นิ่งอยู่กับที่ อาจจะต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่สูงถึง 1/500 วินาที หรือสูงกว่าขึ้นกับความเร็วของวัตถุนั้นๆ
ภาพที่ต้องการแสดงความเคลื่อนไหว เช่นการถ่ายภาพเส้นทางการโคจรของดวงดาว ภาพไฟหน้ารถเป็นเส้นแสง หรือในช่วงเวลา Blue Hour (ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น และ หลังดวงอาทิตย์ตกประมาณ 20-30 นาที จะมีสีท้องฟ้าเป็นโทนสีน้ำเงิน หรืออาจมีสีอื่นปนบ้างเล็กน้อย) ซึ่งต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ และควรใช้ขาตั้งกล้องเพื่อให้ภาพคมชัด
ภาพในที่แสงน้อยหรือ Dim light การถ่ายภาพในสภาพแสงแบบนี้ด้วยโหมดอัตโนมัติอาจได้ภาพที่อันเดอร์ การใช้โหมด S และเลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำจะให้ภาพที่มีค่าแสงพอดี อาจเลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ 1/200 – 1/50 วินาที ขึ้นอยู่กับสภาพแสงในขณะถ่ายภาพ มีข้อควรระวังคือหากความเร็วชัตเตอร์ต่ำเกินไปอาจจะทำให้ภาพเบลอได้
ถ่ายภาพในสภาพแสงจ้าช่วงกลางวัน การถ่ายภาพในสภาพแสงแบบนี้ด้วยโหมดอัตโนมัติอาจได้ภาพที่โอเวอร์ การใช้โหมด S และเลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงจะให้ภาพที่มีค่าแสงพอดี โดยอาจเลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ 1/200 – 1/1000 วินาที ขึ้นอยู่กับสภาพแสงในขณะถ่ายภาพ
ตัวอย่างการถ่ายภาพที่กล่าวไปแล้ว การเลือกใช้โหมด S ช่วยให้ช่างภาพสามารถปรับหรือเลือกใช้ค่าความเร็วชัตเตอร์ที่ต้องการได้สะดวกมากกว่าโหมดอื่น
หลักการจำง่ายๆของทั้งสองโหมดนี้คือ หากต้องการควบคุมระยะชัดลึก เลือกใช้โหมด A แต่หากต้องการถ่ายภาพวัตถุที่เคลื่อนไหวให้หยุดนิ่ง หรือ ให้ดูมีความเคลื่อนไหว ใช้โหมด S และควรศึกษา ทำความเข้าใจกับความสัมพันธ์ของความเร็วชัตเตอร์ รูรับแสง ค่าความไวแสง ทั้ง 3 สิ่งนี้ที่เป็นหัวใจหลักของการถ่ายภาพ
อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^
หากเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ ฝากกดไลค์และแชร์ด้วยนะครับ
FOTOINFO มี LINE@ OFFICIAL แล้ว !!! อย่าลืมแอดไลน์ @FOTOINFO (หรือสแกน QR Code ในภาพนี้)
? ขอบคุณครับ
ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus
หรือสนใจเทคนิคที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่
https://test2.fotoinfo.online/tip-trick/photo-techniques