Basic Knowledge Photography

Focal Length & Angle of View ทางยาวโฟกัส และมุมรับภาพที่มือใหม่ควรรู้

คำถามของช่างภาพมือใหม่เรื่องความหมาย ของตัวเลขทางยาวโฟกัสเลนส์แต่ละช่วง และผลที่เกิดขึ้นกับภาพถ่าย คืออะไร? ไปทำความรู้จักกับทางยาวโฟกัส หรือ FOCAL LENGTH ผ่านภาพ infographic พร้อมคำอธิบายที่ช่วยให้เห็นภาพได้ชัดเจนขึ้นครับ

ทางยาวโฟกัส (FOCAL LENGTH)

     เวลาที่มีคนเห็นตัวเลขบนเลนส์ที่ผมถือ อย่างเลนส์เทเลฯ ตัวใหญ่ๆ อย่าง 500mm ผมมักเจอคำถามบ่อยๆ ว่า “เลนส์ตัวนี้ซูมได้กี่เมตร ใช่ 500 เมตร หรือเปล่า” ซึ่งจริงๆ แล้ว มันไม่ได้วัดจากตัวแบบมาหาตัวกล้องครับ แต่มันจะวัดจาก Principal point หรือจุดรวมแสงของเลนส์ไปจนถึงระนาบเซ็นเซอร์ (ซึ่งถ้าสังเกตด้านบนตัวกล้องก็จะเจอสัญลักษณ์วงกลมแล้วมีเส้นตรงขีดผ่าครึ่ง สัญลักษณ์นี้มีไว้เพื่อบอกว่าระนาบของเซ็นเซอร์วัดจากจุดนั้น) มีหน่วยเป็นมิลลิเมตร ซึ่งตัวเลขบนเลนส์ที่เราเห็นกันเรียกว่า Focal Length นั่นเองครับ ซึ่ง Focal Length ของเลนส์ จะมีผลต่อมุมมองภาพกว้างหรือเเคบนั่นเอง

แล้ว Focal Length ส่งผลต่อภาพอย่างไร ?

     Focal Length ส่งผลโดยตรงต่อมุมรับภาพ เช่นถ้าเรามีเลนส์ 24mm ก็หมายความว่า Focal Length คือ 24mm แปลว่า มุมในการรับภาพของเลนส์ตัวนี้จะกว้างประมาณ 84° หรือถ้าเรามีเลนส์ 135mm เราก็ควรจะรู้ว่า Focal Length ของเลนส์ 135mm มุมที่รับภาพได้ก็จะแคบลงเหลือแค่ 18° เท่านั้นครับ หากจะจำง่ายๆ ก็คือ ทางยาวโฟกัสเลขน้อยจะได้ภาพมุมกว้าง และ ทางยาวโฟกัสเลขมากจะได้ภาพมุมแคบ นั่นเองครับ

หากมือใหม่อยากจะซื้อเลนส์เพิ่มล่ะ Focal Length จะช่วยให้เราเลือกเลนส์ได้ตรงตามที่เราต้องการได้อย่างไร ต้องบอกไว้ก่อนนะครับว่าการเลือกเลนส์ไม่ได้มีกฏตายตัวอะไร บทความนี้เป็นเพียงไกด์ให้พิจารณาแนวทางเท่านั้น มุมภาพจะสวยงามก็แล้วแต่ผู้ถ่ายภาพแต่ละคนจะสร้างสรรค์ภาพออกมาครับ

     ..ก่อนอื่นเราต้องรู้ก่อนครับว่า เรามีความต้องการถ่ายภาพแนวไหน หรือเอาไปถ่ายอะไร เช่น ต้องการถ่ายวิวทิวทัศน์ ถ่ายภาพบุคคล ถ่ายภาพสัตว์ป่า หรือถ่ายภาพทั่วๆ ไป เมื่อเรารู้แล้วว่าจะเอาไปถ่ายอะไร ขั้นต่อไปเราก็ดูที่ช่วงเลนส์ครับ ว่าช่วงไหนหรือทางยาวโฟกัส (Focal Length) เท่าไหร่ และมีมุมรับภาพ (Angle of View) เท่าไหร่ ถึงจะถ่ายภาพออกมาได้ตามที่เราต้องการได้ (ดูจาก Infographic ประกอบ)

ทางยาวโฟกัสและมุมรับภาพจะแบ่งคร่าวๆ ได้ 6 ช่วง คือ 

Super wide angle

จะมีทางยาวโฟกัสตั้งแต่ 9 – 20mm มีมุมรับภาพตั้งแต่ 135-94 องศา โดยประมาณ เหมาะกับคนที่ต้องการถ่ายภาพที่กว้างมาก เพื่อเก็บบรรยากาศให้ได้ครบ หรือให้ได้มากที่สุด ก็ควรเลือกเลนส์ที่มีมุมรับภาพกว้างๆ เช่น 14-24mm ที่มีทางยาวโฟกัสกว้างสุดที่ 14mm และมีมุมรับภาพที่ประมาณ 114 องศา และเมื่อซูมไปที่ 24mm มุมรับภาพก็จะแคบลงไปอยู่ที่ 84 องศา แต่ก็ยังอยู่ในช่วง wide อยู่นั่นเองครับ ส่วนเลนส์ทางยาวโฟกัสเดียวควรเลือกให้เหมาะกับลักษณะภาพที่คุณถ่าย เช่น ถ้าชอบถ่ายภาพแลนด์สเคป อาจดูเลนส์ 14mm หรือ 12mm เป็นต้น แต่ถ้าชอบถ่ายทางช้างเผือก ต้องเลือกเลนส์ Super wide ที่มีรูรับแสงกว้างสุด F2.8 หรือกว้างกว่า

Wild angle

จะมีทางยาวโฟกัสที่ประมาณเลนส์มากกว่า 24 แต่ไม่เกิน 35mm มีมุมรับภาพน้อยกว่า 84 – 63 องศา โดยประมาณ เหมาะสำหรับถ่ายภาพทิวทัศน์ทั่วไป ที่ไม่ต้องการภาพกว้างมากนัก หรือถ่ายภาพหมู่เวลาไปเที่ยว หรือในห้องสัมมนาก็ได้เช่นกัน

Normal

จะมีทางยาวโฟกัสที่ประมาณเลนส์มากกว่า 40 แต่ไม่เกิน 60mm มีมุมรับภาพน้อยกว่า 63 – 35 องศา โดยประมาณ เลนส์ช่วงนี้ก็จะเหมาะสำหรับถ่ายภาพในมุมรับภาพที่ใกล้เคียงกับสายตาคนครับ เอาไว้ถ่ายภาพบุคคล ภาพในชีวิตประจำวัน ภาพ Snapshot ภาพในสภาพแสงน้อย ภาพที่ต้องการเบลอฉากหลังมากๆ 

Medium telephoto

จะมีทางยาวโฟกัสที่ประมาณเลนส์มากกว่า 70 แต่ไม่เกิน 100mm มีมุมรับภาพ 34 – 23 องศา โดยประมาณ เลนส์ในช่วงนี้ก็จะเหมาะกับการถ่ายภาพโคลสอัพมากขึ้น หรือถ่ายภาพบุคคล หรือ ภาพ Candid ก็จะเหมาะดีครับ

Telephoto

จะมีทางยาวโฟกัสที่ประมาณเลนส์มากกว่า 135mm แต่ไม่เกิน 300mm มีมุมรับภาพน้อยกว่า 18 – 8 องศา โดยประมาณ เลนส์ช่วงนี้ก็จะเหมาะสำหรับถ่ายภาพที่มีตัวแบบอยู่ไกลออกไปครับ ที่เหมาะกับการนำเลนส์ช่วงนี้ไปใช้ก็จะเป็น ถ่ายภาพแนวกีฬา ภาพสัตว์ป่า ภาพบุคคลนอกสถานที่ หรือหากวัตถุอยู่ใกล้ (แต่ไม่ใกล้จนเกินระยะ Maximum focus) ก็สามารถถ่ายโคลสอัพได้ครับ

Super telephoto

จะมีทางยาวโฟกัสที่ประมาณเลนส์มากกว่า 300mm ขึ้นไป มีมุมรับภาพน้อยกว่า 8 องศา โดยประมาณ เลนส์ช่วงนี้ก็จะเหมาะสำหรับถ่ายวัตถุหรือแบบที่อยู่ในระยะไกลครับ เช่น การใช้ถ่ายภาพสัตว์ป่าที่ช่างภาพไม่สามารถเข้าใกล้ได้ การถ่ายภาพกีฬาที่ช่างภาพไม่สามารถเข้าใกล้ได้ เป็นต้นครับ

ในส่วนของเลนส์รุ่นใหม่ๆหลายรุ่นที่เริ่มมีออกมาให้เห็นมากขึ้น เช่น เลนส์มุมกว้างพิเศษ 12mm จะให้มุมการรับภาพกว้างมากถึง 122° และหากทางยาวโฟกัสต่ำกว่านี้เช่น 11mm, 8mm จะเป็นเลนส์ในกลุ่มที่เรียกว่าเลนส์ Fish Eye หรือเลนส์ตาปลา (ซึ่งจะมีทั้งแบบให้ภาพเป็นวงกลมกลางภาพและขอบภาพดำ กับให้ภาพโค้งเต็มเฟรม)​ และเลนส์ซุปเปอร์เทเลโฟโต้ทางยาวโฟกัสสูงมาก รุ่นใหม่ๆที่ออกมาให้เห็นคือเลนส์ช่วง 600mm หรือ 800mm (ที่ให้มุมรับภาพแคบมากเพียง 3.1°)​ บางรุ่นมีเทเลคอนเวอร์เตอร์เพิ่มระยะในตัว เลนส์ชนิดนี้เหมาะสำหรับใช้งานถ่ายภาพบางประเภท เช่น ภาพกีฬา ถ่ายภาพสัตว์ป่า ถ่ายนก ระบบออโต้โฟกัสของเลนส์ซุปเปอร์เทเลโฟโต้รุ่นใหม่ๆนี้ จะทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ รวมทั้งทำงานร่วมกับระบบกันสั่นในตัวกล้องรุ่นใหม่ๆบางรุ่นเท่านั้น หากใช้กล้องรุ่นเก่าต้องศึกษาข้อมูลก่อนการซื้อมาใช้ครับ

อย่างที่บอกครับ นี่เป็นเพียงแนวทางพอให้ทราบถึงชนิดของเลนส์ และการนำไปใช้งาน การสร้างสรรค์มุมมองภาพขึ้นอยู่กับตัวช่างภาพเองครับ ขอให้มีความสุขกับการถ่ายภาพนะครับ..

Leave feedback about this

  • Quality
  • Price
  • Service

PROS

+
Add Field

CONS

+
Add Field
Choose Image
Choose Video