Basic

Take Architecture Photography to Next Level

ถึงจะไม่ใช่นักถ่ายภาพที่เจาะจงถ่ายภาพเฉพาะด้านนี้ แต่โดยทั่วไปสถาปัตยกรรมก็มักเป็นสิ่งที่เข้ามาเกี่ยวกับในการถ่ายภาพไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หรือพูดง่ายๆ ก็คือนักถ่ายภาพมักต้องมีโอกาสถ่ายภาพสถาปัตยกรรมซึ่งมีเทคนิคบางอย่างที่จะทำให้ภาพสถาปัตยกรรมที่ถ่ายออกมาน่าสนใจ ไม่ใช่เพียงแค่เดินผ่านอาคารหรือสิ่งก่อสร้างที่น่าสนใจแล้วยกกล้องขึ้นมาถ่ายภาพ

แต่ละสิ่งก่อสร้างมีทั้งอารมณ์และลักษณ์ะเฉพาะของตัวเอง ดังนั้นภาพที่ดีจึงไม่ควรมีแค่ความสวยงามเท่านั้น แต่ควรบันทึกสิ่งเหล่านี้ออกมาด้วยเพื่อเป็นการแบ่งปันความรู้สึกของสถานที่นั้นกับผู้ดูภาพซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ในความเป็นจริงนักถ่ายภาพอาจสังเกตได้ว่าเป็นเรื่องง่ายมากที่เมื่อถ่ายภาพสถาปัตยกรรมที่มีความสวยงามหรือโดดเด่นแล้วออกมาดูเหมือนภาพอาคารที่เห็นได้ทั่วไปทุกๆ วันแทนที่จะเป็นสิ่งที่มีความโดดเด่น แต่ด้วยการฝึก สร้างสรรค์ และเทคนิคบางอย่าง นักถ่ายภาพจะสามารถพัฒนามุมมองในการถ่ายภาพสถาปัตยกรรมได้

ในการถ่ายภาพสถาปัตยกรรมให้ออกมาน่าสนใจนักถ่ายภาพไม่จำเป็นใช้อุปกรณ์มากมาย เพราะความสร้างสรรค์และองค์ประกอบภาพคือสิ่งที่ช่วยได้มากกว่าอุปกรณ์ราคาแพง แต่อย่างไรก็ตามมีอุปกรณ์ถ่ายภาพบางอย่างที่นักถ่ายภาพควรมีนอกจากกล้องและเลนส์สำหรับการถ่ายภาพตามคำแนะนำต่อไปนี้คือขาตั้งกล้องที่มั่นคง ฟิลเตอร์ไม่ว่าจะเป็นโพลาไรซ์, ND หรือกราดูเอท ND รวมทั้งซอฟต์แวร์สำหรับปรับภาพ และแน่นอนว่าควรถ่ายภาพแบบ RAW

ให้เวลาในการรู้จักสถานที่ถ่ายภาพ

เพื่อบันทึกสิ่งที่สำคัญของอาคารหรือสิ่งก่อสร้างนั้นไม่ว่าจะภายนอกหรือด้านใน นักถ่ายภาพจำเป็นจะต้องใช้เวลาที่จะทำความรู้จักสถานที่นั้น ซึ่งหมายถึงการสำรวจสถานที่เพื่อ สังเกตทิศแสงของดวงอาทิตย์ที่เกิดขึ้น ดูถึงเงาที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลา ดูว่ามีจุดใดที่สามารถเข้าไปถ่ายภาพได้ ดูจุดที่เส้นมาบรรจบกัน รวมไปถึงมองหามุมที่แตกต่างจากปกติ เพอร์สเปกทีฟที่แตกต่างจากปกติ สังเกตช่วงเวลาที่มีผู้คนเข้ามามากหรือน้อย และเลือกว่าจะมีคนรวมอยู่ในภาพด้วยหรือไม่ นอกจากการทำความรู้จักเกี่ยวกับสถานที่จริงแล้ว การรู้รายละเอียดของสถานที่ในเชิงแนวคิดอย่างความสำคัญหรือจุดประสงค์ในการสร้างสถานที่นั้นถ้ามี รวมทั้งวิธีการที่นักถ่ายภาพคนอื่นถ่ายภาพสถานที่นั้นจะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์การรู้สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้นักถ่ายภาพสามารถตัดสินใจได้ว่าจะถ่ายภาพสิ่งก่อสร้างนั้นอย่างไรและเมื่อไหร่หากสามารถทำได้

สังเกตเส้นในภาพ

หนึ่งในสิ่งที่เป็นกุญแจสำคัญของภาพสถาปัตยกรรมที่ดีคือการที่เส้นในภาพมีความถูกต้องอย่างที่ควรจะเป็น เส้นแนวตั้งก็ควรเป็นเส้นแนวตั้ง เส้นแนวนอนเป็นแนวนอน แม้จะดูเหมือนเป็นเรื่องง่ายๆ ทั่วไป แต่เมื่อถ่ายภาพจริงๆ แล้วนี่คือหนึ่งในความท้าทายของนักถ่ายภาพ โดยเฉพาะเมื่อมีการแหงนกล้องขึ้นเพื่อถ่ายภาพอาคารสูงให้อยู่ในเฟรมได้ทั้งหมด เพราะเส้นที่ขนานกันจะเริ่มเบนเข้าหากัน และอาคารหรือสิ่งก่อสร้างนั้นจะเริ่มดูเหมือนเอียงไปด้านหลัง นอกจากนี้หากใช้เลนส์มุมกว้างนักถ่ายภาพก็จะได้รับดิสทอร์ชั่นจากเลนส์เข้ามาในภาพด้วย สำหรับปัญหาเรื่องเส้นที่ขนาดกันเอียงเข้าหากันอาจแก้ปัญหาโดยพิ่มระยะห่างระหว่างนักถ่ายภาพกับสิ่งที่ต้องการถ่ายภาพหรือถ่ายภาพจากมุมที่สูง ขณะที่วิธีการแก้ไขที่ดีแต่มีราคาแพงคือการใช้เลนส์ Tilt-Shift ขณะที่ปัญหาเรื่องดิสทอร์ชั่นนักถ่ายภาพจะสามารถแก้ไขได้ในขั้นตอนหลังถ่ายภาพ

ภาพภายนอก : เลือกช่วงเวลาสำหรับแสง

เช่นเดียวกับการถ่ายภาพอื่นๆ ที่แสงเป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญซึ่งสามารถนำไปสู้การเกิดหรือทำลายภาพนั้นได้ สำหรับการถ่ายภาพภายนอกอาคารหรือสิ่งก่อสร้างที่มีความเก่าแก่ คำแนะนำที่ใช้ได้ผลเสมอคือถ่ายภาพในช่วง Golden Hour และ Blue Hour ช่วง Golden Hour คือช่วงเวลาแรกและช่วงเวลาสุดท้ายที่มีแสงอาทิตย์ของวัน ขณะที่ Blue Hour คือเวลาก่อนที่ดวงอาทิตย์จะขึ้นและหลังดวงอาทิตย์ตก ซึ่งในช่วงเวลาเหล่านี้นักถ่ายภาพจะได้รับแสงที่มีความเหมาะสมที่สุดสำหรับถ่ายภาพ โดยนักถ่ายภาพบางคนอาจเลือกช่วงเวลาที่ยังคงมีแสงในท้องฟ้าอยู่ในช่วง Blue Hour และเริ่มมีแสงไฟจากอาคาร และยังสามารถถ่ายภาพอาคารนั้นในช่วงกลางคืน ได้แค่รอต่ออีกหน่อยจนแสงหมดไปจากท้องฟ้า

ในอาคาร : ใช้แสงภายในให้เป็นประโยชน์

การถ่ายภาพในอาคารมักจะมีความซับซ้อนมากกว่าภายนอกอาคาร นอกจากว่านักถ่ายภาพจะมีไฟสำหรับให้แสงติดไปด้วย เพราะนักถ่ายภาพจะต้องใช้แสงที่มีอยู่ในอาคารเพื่อถ่ายภาพซึ่งอาจจะทำได้ง่ายหรืออาจจะไม่ หากมีหน้าต่างและเป็นไปได้ควรเลือกถ่ายภาพในช่วงเวลาที่มีแสงสว่างมากที่สุดของวันเพื่อให้มีแสงธรรมชาติมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และหากถ่ายภาพในสภาพแสงที่น้อย นักถ่ายภาพก็จำเป็นต้องใช้ขาตั้งกล้องเพื่อช่วยเพิ่มความนิ่งในขณะที่ใช้เวลาบันทึกภาพนาน นอกจากนี้หากไม่ได้ถ่ายภาพแบบ RAW ยังควรใส่ใจในเรื่องไวต์บาลานช์ของภาพด้วย เพราะแสงจากไฟที่ใช้ในอาคารอาจทำให้ส่วนต่างๆ ที่ปรากฏในภาพมีความแตกต่างจากที่เห็น

ใช้ประโยชน์จาก HDR

แม้มีความเสี่ยงและง่ายที่จะใช้มากเกินไป แต่ HDR ก็เป็นสิ่งที่สามรถใช้เพื่อแก้ปัญหาเมื่อถ่ายภาพสถาปัตยกรรมได้มาก โดยเฉพาะกับปัญหาเรื่องมีส่วนที่สว่างและมืดมากในภาพเมื่อไม่สามารถจัดแสงสำหรับถ่ายภาพได้ เช่นเมื่อนักถ่ายภาพต้องการรายละเอียดนอกหน้าต่างให้ปรากฏในภาพพร้อมกับรายละเอียดในห้อง HDR จะสามารถช่วยได้โดยตรง หรือในอีกด้านนักถ่ายภาพจะสามารถใช้ HDR เพื่อให้ภาพมีรายละเอียดของสีสันบนท้องฟ้าตอนเย็นพร้อมกับรายละเอียดภายนอกของตัวอาคารภายหรือสิ่งก่อสร้างได้ จากที่หากถ่ายภาพปกติแล้วเมื่อบันทึกแสงบนท้องฟ้าตัวอาคารมักจะปรากฏเป็นเงาดำหรือค่อนข้างมืด อย่างไรก็ตามการทำภาพ HDR มักจะต้องใช้ซอฟต์แวร์และเวลาช่วยเพื่อให้ภาพออกมาดูดีที่สุดหรือไม่มากเกินไป แต่สำหรับผู้เริ่มต้นถ่ายภาพหรือไม่มีเวลาสำหรับเซ็ตไฟสำหรับถ่ายภาพในอาคาร นี่คือทางออกที่ดีในการเพิ่มความน่าสนใจแก่ภาพทั้งภายนอกและภายใน

ลงทุนกับอุปกรณ์ถ่ายภาพ

โชคดีที่นักถ่ายภาพส่วนใหญ่มักจะมีอุปกรณ์ส่วนใหญ่ที่จำเป็นสำหรับการถ่ายภาพสถาปัตยกรรมอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นกล้อง ขาตั้งกล้อง และรีโมต แต่สิ่งที่ไปที่นักถ่ายภาพบางคนอาจต้องการเพิ่มมากขึ้นคือเลนส์มุมกว้างที่จะช่วยให้สามารถเก็บภาพสิ่งก่อสร้างทั้งหมดไว้ในเฟรมได้ในภาพเดียว แต่ไม่ควรเลือกเลนส์ฟิชอายหากคิดจะซื้อมาเพิ่มเพื่อถ่ายภาพสถาปัตยกรรมเพราะมีดิสทอร์ชั่นที่มาก นอกจากนี้ฟิลเตอร์ยังเป็นอีกอุปกรณ์ที่ควรมีสำหรับการถ่ายภาพภายนอกสถาปัตยกรรม โดยฟิลเตอร์กราดูเอท ND จะช่วยลดความสว่างของท้องฟ้าให้มีค่าบันทึกภาพเท่ากับหรือใกล้เคียงกับส่วนฉากหน้า ขณะที่ฟิลเตอร์โพลาไรซ์จะช่วยกำจัดแสงสะท้อนที่ไม่ต้องการได้รวมทั้งเพิ่มสีให้กับท้องฟ้า ส่วนฟิลเตอร์ ND สามารถช่วยให้ใช้เวลาถ่ายภาพได้นานขึ้นเพื่อเอฟเฟกต์บางอย่างในภาพแน่นอนว่าหากจริงจังกับการถ่ายภาพเลนส์ทิลต์-ชิฟต์คือสิ่งที่ควรลงทุนหากไม่ติดปัญหาในเรื่องค่าใช้จ่ายเพราะจะสามารถลดการปรับภาพหลังการถ่ายลงได้

มองหามุมที่มีลักษณะเฉพาะ

สิ่งหนึ่งที่สามารถใช้ในการสร้างสรรค์ภาพสถาปัตยกรรมได้คือการถ่ายภาพสิ่งที่เป็นความดั้งเดิม หรือสิ่งที่มีเป็นลักษณะเฉพาะของสถาปัตยกรรม เพื่อทำให้เกิดเพอร์สเปกทีฟที่มีความแตกต่าง โดยในขณะเดินเพื่อถ่ายภาพนักถ่ายภาพควรใช้เวลาดูไปรอบๆ ในสิ่งที่อาจมองข้าม ซึ่งบางครั้งอาจเกิดจากการยกกล้องขึ้นสูงอีกหน่อยหรือเมื่อดูภาพผ่านช่องมองของกล้องในมุมตํ่า สำหรับการถ่ายภาพภายนอกสถาปัตยกรรมควรสำรวจทุกด้านของอาคาร ทั้งในระยะใกล้และจากระยะไกล เพื่อเพิ่มโอกาสในการถ่ายภาพ ลองคิดถึงจุดที่สามารถเข้าไปได้เพื่อการถ่ายภาพที่แตกต่างออกไป แต่อย่างไรก็ตามควรคำนึงถึงความปลอดภัยรวมทั้งไม่เข้าไปในจุดที่หวงห้าม

สถาปัตยกรรมที่มีความเก่าแก่

เมื่อถ่ายภาพสิ่งก่อสร้างหรือสถาปัตยกรรมที่มีความเก่าแก่ การถ่ายภาพตรงๆ และมีองค์ประกอบภาพที่เรียบง่ายมักจะให้ผลลัพธ์ดีที่สุดในการแสดงถึงความสวยงามของสิ่งก่อสร้างนั้น โดยการใส่พื้นที่รอบๆ ของสิ่งก่อสร้างเข้าไปจะช่วยเพิ่มเนื้อหาในภาพซึ่งจะช่วยลดความรู้สึกแน่นในภาพให้น้อยลง

สถาปัตยกรรมที่ทันสมัย

เมื่อถ่ายภาพสถาปัตยกรรมที่มีความทันสมัยจะสามารถใช้หลากหลายวิธีในการถ่ายทอดลักษณะที่ทันสมัยหรือสไตล์ของสถาปัตยกรรม ไม่ว่าจะเป็นการใช้เลนส์มุมกว้างเพื่อใช้ประโยชน์จากเพอร์สเปคมีฟ หรือถ่ายภาพในมุมที่แตกต่างจากปกติ นอกจากนี้เนื่องจากอาคารใหม่ๆ มักจะอยู่ใกล้กับอาคารอื่นจึงอาจต้องถ่ายภาพโดยครอปเฉพาะส่วนของอาคารให้แน่นในภาพเพื่อไม่ให้ภาพดูผิดธรรมชาติ

เพิ่มเนื้อหาในภาพ

หากต้องการบอกเรื่องราวในภาพ จะต้องใส่สิ่งบ่งบอกเกี่ยวถึงเรื่องราวของสถาปัตยกรรมนั้นเข้าไปในภาพ เพราะสิ่งนั้นจะช่วยผู้ดูภาพวางโครงสร้างทั้งในด้านพื้นที่และเวลา สำหรับการถ่ายภาพภายนอกสามารถรวมเอาอากาศและรายละเอียดของเมฆรวมทั้งสิ่งที่อยู่รอบๆ สถาปัตยกรรมเข้าไปในภาพ อย่างไรก็ตามกับภาพสถาปัตยกรรมไม่มีความตายตัวว่าการเพิ่มสิ่งต่างๆ เข้าไปในภาพมากขึ้นจะเป็นการสร้างหรือทำลายภาพนั้น ซึ่งเป็นหน้าที่ของนักถ่ายภาพที่จะต้องตัดสินใจว่าควรรวมเข้าไปในภาพหรือไม่ แต่หากถ่ายภาพในลักษณะที่ Abstract หรือเน้นรูปทรงเรขาคณิตของสถาปัตยกรรมก็ไม่จำเป็นต้องมีสิ่งเข้าไปช่วยเสริมเรื่องราว

เรียนรู้การปรับภาพหลังการถ่าย

ภาพที่มีคุณภาพต้องการการปรับภายหลังการถ่ายภาพไม่ว่าจะมากหรือน้อย ซึ่งอาจพูดได้ว่ายิ่งนักถ่ายภาพมีทักษะในการปรับภาพหลังการถ่ายเท่าใดก็จะสามารถเพิ่มคุณภาพและความน่าสนใจให้แก่ภาพได้เท่านั้น แต่หากไม่สามารถใช้ซอฟต์แวร์ปรับภาพได้ก็อาจก็ไม่สามารถทำให้ภาพออกมามีคุณภาพระดับที่ต้องการได้ นอกจากนี้ไม่ว่าจะเลือกใช้ซอฟต์แวร์อะไรควรแน่ใจว่าสิ่งที่ใช้สามารถทำงานกับไฟล์ RAW ได้นอกจากว่าจะไม่ถ่ายภาพแบบ RAW รวมทั้งควรสามารถปรับแก้ไขอาการผิดปกติของเลนส์ได้ นอกจากนี้หากนักถ่ายภาพคิดที่จะลองทำภาพ HDR ก็จะต้องการซอฟต์แวร์ที่รวมภาพได้ซึ่งซอฟต์แวร์ปรับภาพที่นักถ่ายภาพส่วนใหญ่นิยมใช้อย่าง Photoshop หรือ Lightroom จะสามารถทำได้ นอกจากนี้ยังมีซอฟต์แวร์อย่าง Photomatrix หรือ Aurora HDR ที่ถูกออกแบบมาเพื่อการทำงานกับภาพ HDR โดยเฉพาะ

อย่าลืมรวมคนเข้าไปในภาพ

การรวมคนเข้าไปในภาพสถาปัตยกรรมมักเป็นสิ่งที่ถูกมองข้ามหรือใช้ประโยชน์น้อยที่สุด เนื่องจากผู้ถ่ายภาพบางส่วนคิดว่าการรวมคนเข้าไปในภาพจะเป็นสิ่งแปลกปลอมดีไซน์ที่สวยงามของอาคาร แต่สิ่งหนึ่งที่ควรคิดถึงก็คืออาคารหรือสถาปัตยกรรมต่างๆ ถูกออกแบบมาเพื่อคนและออกแบบโดยคน การเพิ่มคนจึงสามารถเพิ่มมิติและความน่าสนใจให้แก่ภาพได้ เพราะทำให้สามารถเห็นสิ่งก่อสร้างในมุมมองที่มีการอยู่อาศัยหรือทำงานอยู่ในนั้น ทำให้สามารถเข้าใจพื้นที่ใช้งานได้ดีขึ้น รู้ว่าอาคารนั้นถูกสร้างมาเพื่ออะไร และมีความสัมพันธ์อย่างไรกับผู้คน นอกจากนี้ประโยชน์หนึ่งของการมีคนในภาพคือจะช่วยให้นักถ่ายภาพสามารถสร้างความรู้สึกในเรื่องขนาดในภาพได้ เช่นการทำให้เห็นว่าอาคารนั้นมีขนาดใหญ่แค่ไหนเมื่อเทียบกับคน

ใช้แสงสะท้อนอย่างเหมาะสม

แสงสะท้อนสามารถเป็นได้ทั้งเพื่อนแท้และศัตรูของนักถ่ายภาพขึ้นอยู่กับว่าจะใช้อย่างไร หากใช้แสงสะท้อนได้ดีก็จะช่วยเพิ่มความลึก ความสว่าง และความน่าสนใจในภาพซึ่งจะไม่สามารถทำได้หากไม่มีแสงสะท้อน ขณะที่ในอีกด้านอาจเป็นเรื่องง่ายที่จะมีเงาของนักถ่ายภาพสะท้อนเข้ามาในภาพด้วยหากไม่ระวัง โดยเฉพาะเมื่อถ่ายภาพในอาคาร นอกจากว่านักถ่ายภาพอยากให้มีตัวเองปรากฏอยู่ในภาพด้วย ดังนั้นจึงควรดูตำแหน่งของหน้าต่างและกระจกในห้องให้ดีว่าสะท้อนสิ่งใด

ทิศทางแสง

เมื่อถ่ายภาพโดยใช้แสงธรรมชาติการเลือกถ่ายภาพโดยแสงที่เฉียงข้างด้านหน้าจะเหมาะสำหรับการถ่ายภาพสถาปัตยกรรม เพราะนอกจากจะให้ความสว่างแก่สถาปัตยกรรมแล้วยังทำให้เกิดเงายาวที่สร้างความน่าสนใจบนพื้นผิวของตัวสถาปัตยกรรม และทำให้รายละเอียดบนสถาปัตยกรรมมีความชัดเจนขึ้น รวมทั้งทำให้ตัวสิ่งก่อสร้างดูเป็นสามมิติ ขณะที่แสงจากด้านหลังไม่เหมาะสำหรับการถ่ายภาพสถาปัตยกรรมที่ต้องการแสดงรายละเอียดนอกจากจะต้องการถ่ายภาพ Silhouete หรือภาพเงาดำ

อย่าลืมรายละเอียด

นักถ่ายภาพบางคนอาจจะเน้นไปที่การถ่ายภาพอาคารทั้งหลัง แต่การถ่ายภาพรายละเอียดหรือแนวคิดที่ปรากฏในสถาปัตยกรรมจะช่วยเพิ่มมุมมองใหม่ๆ ของสถานที่นั้น ดังนั้นจึงควรสังเกตดูรายละเอียดและรูปแบบที่มีความสมมาตรที่บางคนอาจไม่สังเกต โดยเฉพาะกับสถาปัตยกรรมที่มีความเก่าแก่ ดูถึงเส้นที่ปรากฏว่ามีความสัมพันธ์กับเส้นอื่นอย่างไร แสงมีผลต่อพื้นผิวของวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างอย่างไร รวมไปถึงจุดที่มีเงา การใช้เวลาสำรวจไม่นานจะไม่เพียงทำให้ได้ภาพที่น่าตื่นเต้นเท่านั้น แต่ยังสามารถช่วยให้นักถ่ายภาพค้นพบสิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับการก่อสร้างหรือประวัติของสถาปัตยกรรมนั้นได้ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มเรื่องราวลงไปในภาพ

สถาปัตยกรรมไม่จำกัดเพียงแค่อาคาร

เมื่อถ่ายภาพสถาปัตยกรรมมักจะทำให้เกิดความคิดที่จำกัดว่าสถาปัตยกรรมคืออาคาร ซึ่งไม่ไกลจากความจริงนัก เพราะโครงสร้างต่างๆ ที่คนสร้างขึ้นส่วนใหญ่ล้วนเป็นสถาปัตยกรรมไม่ว่าจะเป็นสะพาน อาคาร อนุสรณ์สถาน หรือแม้แต่เสาไฟ ดังนั้นจึงควรคิดให้กว้างขึ้นและมองหาสิ่งถ่ายภาพที่คนส่วนใหญ่อาจพลาด

เรียบเรียง : กองบรรณาธิการ


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


หากเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ ฝากกดไลค์และแชร์ด้วยนะครับ
FOTOINFO มี LINE@ OFFICIAL แล้ว !!! อย่าลืมแอดไลน์ @FOTOINFO (หรือสแกน QR Code ในภาพนี้)

? ขอบคุณครับ


ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus

หรือสนใจสาระความรู้ด้านการถ่ายภาพที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่

https://test2.fotoinfo.online/all-about-photo/basic