คำว่า Pictorial เป็นแนวการถ่ายภาพของชาติตะวันตกที่ได้รับความนิยมกันอย่างมากในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 จนถึงต้นศตวรรษที่ 20 แต่ไม่มีนิยามที่ชัดเจนของการถ่ายภาพแนวนี้ว่ามีลักษณะภาพอย่างไร รูปแบบเป็นอย่างไร แต่โดยทั่วไปแล้วจะหมายถึงการถ่ายภาพที่เกิดจากการสร้างภาพขึ้นมาให้สวยงาม ทั้งเรื่องราวในภาพ องค์ประกอบภาพ การใช้สี การใช้แสงเงา เพื่อให้ภาพที่ได้มีความสวยงาม โดดเด่นกว่าการถือถ่ายแบบ “เล็งแล้วถ่าย” (Point & Shoot)
แต่สำหรับบ้านเราแล้ว อาจารย์เชาว์ จงมั่นคง เป็นผู้นิยามความหมายของคำว่า Pictorial และเรียกชื่อเป็นภาษาไทยว่า พิศเจริญ ซึ่งเป็นคำที่สั้นแต่ได้ใจความ และใกล้เคียงนิยามของ Pictorial ที่ช่างภาพรู้จักกันดี โดยจะหมายถึง การถ่ายภาพให้ดูคล้ายภาพวาด มีเรื่องราวเด่นชัด สามารถถ่ายทอดความรู้สึกทางอารมณ์และบรรยากาศได้อย่างซาบซึ้ง มีคุณค่า ทางสุนทรียภาพ ดูแล้วเกิดความเพลิดเพลิน การจัดองค์ประกอบภาพตามแนวทางของพิศเจริญจึงเน้นให้เกิดความงามของภาพ โดยเน้นเรื่องราวในภาพ เน้นจุดสนใจด้วยสี แสง เงา องค์ประกอบ มีหลักการค่อนข้างชัดเจน เน้นความเป็นเอกภาพ ภาพในแนวนี้ได้รับความนิยมในบ้านเรามาก เมื่อประมาณ 30-40 ปีก่อน มีการจัดถ่ายเซ็ทตัวแบบ สร้างเรื่องราว เลือกโลเคชั่น เลือกแสง กันอย่างพิถีพิถัน เพื่อทำให้ภาพดูสมบูรณ์ที่สุด ซึ่งมักจะนิยมจัดถ่ายโดยสมาคมถ่ายภาพต่างๆ ในบ้านเรา จึงกลายเป็นแนวภาพที่เรียกกันว่า ‘แนวสมาคม’ นั่นทำให้ภาพแนวพิศเจริญถูกโฟกัสไปยังภาพจัดถ่ายเป็นหลัก ซึ่งก็มีตั้งแต่ แนวพระ แนวเด็ก คนแก่ คนสานตะกร้า ทำร่ม ตีเหล็ก ทอดแห ตกปลา สารพัดวิถีชีวิตเท่าที่จะขุดออกมาสร้างเป็นภาพกันได้ และเพื่อสร้างให้ภาพดูโดดเด่นยิ่งขึ้นในช่วงนั้นก็มีการสุมควันเพื่อสร้างแสงเป็นลำๆ ที่เรียกว่า แสงเรย์ สิ่งต่างๆ ในภาพถูกจัดให้สมบูรณ์ตั้งแต่ขั้นตอนการถ่าย เพราะยุคนั้นไม่มี Photoshop ไม่มี Lightroom การตกแต่งภาพเป็นเรื่องยากมาก ความประณีตในความละเอียด ทักษะในการถ่ายภาพ ฝีมือในการจัดองค์ประกอบภาพและการจับจังหวะ จึงเป็นความสามารถส่วนตัวล้วนๆ
แต่ใช่ว่าจะมีแต่คนชอบ นักถ่ายภาพที่ไม่ชอบภาพแนวนี้ก็มีมากพอกัน หลายคนให้ความเห็นว่า การจัดถ่ายส่วนใหญ่ ทำให้ขาดความสมจริง ขาดความเป็นธรรมชาติ บ่อยครั้งที่ตัวแบบดูเหมือนอยู่ผิดที่ผิดทาง สิ่งต่างๆ ในภาพถูกจัดวางอย่างจงใจเกินไปจนดูรู้ทันทีว่าเป็นการจัดถ่าย ภาพหลายๆ ภาพดูแข็ง ขาดอารมณ์ภาพ เป็นภาพที่ดูสวย แต่ดูได้ไม่นานก็เบื่อ ก็แล้วแต่มุมมองครับ ช่างภาพที่ชื่นชอบภาพแนวพิศเจริญก็แย้งว่า หากจะรอให้สิ่งต่างๆ เกิดขึ้นตามความเป็นจริง ก็อาจจะหาโอกาสถ่ายได้ยากมาก หรืออาจจะอยู่ในเวลาที่ไม่เหมาะต่อการถ่ายภาพ แสงไม่ดี ฉากหลังไม่ดี บรรยากาศไม่ดี การถ่ายตามสภาพจึงยากจะได้ภาพที่ดี ดังนั้นถ้าอยากได้ความสวยงามอย่างยากจะหาได้จากสภาพจริง ก็ต้องจัดถ่าย เพราะเลือกได้ตั้งแต่ตัวแบบ สถานที่ แสง อุปกรณ์ประกอบในภาพ และอื่นๆ อีก หลายอย่างเช่น คนยกยอบนเรือเล็กๆ 4 ลำ หันหน้าเข้าหากัน ฉากหลังมีดงตาลมีดวงอาทิตย์ตก จะไปหาจากสภาพจริงได้อย่างไร การจัดถ่ายจึงเป็นเรื่องปกติของภาพแนวพิศเจริญ
แต่ก็ไม่ควรเหมารวมว่าภาพแนวนี้เป็นภาพจัดถ่ายทั้งหมด ภาพที่สวยงามหลายต่อหลายภาพทั้งในบ้านเราและต่างประเทศ ได้มาจากสภาพจริง เป็นภาพที่เกิดจริงโดยไม่มีการจัดถ่าย เพียงแต่ผู้ถ่ายต้องหามุม เลือกสภาพแสง รอจังหวะ และเก็บมาเป็นภาพที่งดงามให้ได้ ภาพแนวพิศเจริญอาจจะซาๆ ไปบ้างเมื่อ 10-20 ปีก่อน แต่ปัจจุบันภาพแนวนี้กลับมาได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะในยุคที่ผู้คนมีเวลาน้อย การออกไปถ่ายภาพแต่ละครั้งจึงไม่ต้องการพึ่งโชค ไม่มีเวลารอ และไม่มีความพยายามมากพอ อยากออกไปแล้วได้ภาพสวยๆ กลับมา การจัดถ่ายจึงตอบสนองนักถ่ายภาพกลุ่มนี้ได้ เพราะมั่นใจว่าออกทริปแล้วได้ภาพแน่นอน การจัดถ่ายไม่ใช่เรื่องผิดอะไร เพียงแต่ผู้จัดถ่ายควรมีความพอเหมาะพอดี ในการสร้างเรื่องราวในภาพ อย่าให้ล้นจนดูขาดความสมจริง ขาดความเป็นธรรมชาติ ขาดอารมณ์ภาพ หาจุดที่ลงตัวไม่ว่าจะเป็นตัวแบบ เสื้อผ้า โลเคชั่น แสง และพร๊อพในภาพ เพราะในที่สุดแล้วภาพที่จะดูได้นานโดยไม่เบื่อก็คือภาพที่ดูเป็นธรรมชาติ ปั้นแต่พองาม
เรื่อง : กองบรรณาธิการ ภาพ : ธนิสร เพ็ชรถนอม (คนวาดภาพด้วยแสง)
อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^
ติดตาม FOTOINFO ได้ทั้งรูปแบบนิตยสาร Free Copy, e-magazine ฟรีดาวน์โหลด และช่องทางอื่นๆออนไลน์ได้ที่
Line@ : @fotoinfo
YouTube : Fotoinfo Channel
Website : fotoinfomag.com
e-magazine : issuu.com/fotoinfomagazine
ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus
หรือสนใจสาระความรู้ด้านการถ่ายภาพที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่