รวมเทคนิคการสร้างสรรค์ภาพด้วยแฟลช
แฟลชเสริม หรือแฟลชหัวกล้อง เป็นอุปกรณ์ที่หลายๆ คนหลีกเลี่ยงที่จะใช้งาน เพราะแฟลชจะให้แสงที่แข็ง ภาพชัดก็จริง แต่ดูไม่สวยและไม่เป็นธรรมชาติเอาเสียเลย ซึ่งนั่นก็คือการให้แฟลชทำงานโดยการควบคุมของตัวกล้องแบบอัตโนมัติ ซึ่งเราจะมาแนะเคล็ดลับเทคนิคการสร้างสรรค์ภาพด้วยแฟลช โดยเป็นการควบคุมแสงแฟลชผสมผสานกับแสงธรรมชาติ เพื่อให้ได้ภาพที่ดูนุ่มนวล ไม่แข็งกระด้างจากแสงแฟลชครับ
รูปแบบของการทำงานเมื่อต้องใช้แฟลช ต้องแยกออกเป็นสองส่วน คือการวัดแสงของกล้อง และการส่องสว่างของแสงแฟลช แล้วนำเอาทั้งสองส่วนมาผสมผสานการทำงานกันให้ลงตัวตามรูปแบบภาพที่ต้องการ สำหรับการถ่ายภาพแบบนี้ โหมดถ่ายภาพที่แนะนำคือโหมดแมนนวล หรือ M เพื่อให้คงค่าการวัดแสงตามที่ต้องการไว้ ถึงแม้ว่าจะมีการปรับมุมกล้องเพื่อจัดองค์ประกอบใหม่ก็ตาม เนื่องจากค่ารูรับแสง ความเร็วชัตเตอร์ หรือความไวแสงที่ตั้งไว้ จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงนั่นเอง
สำหรับแฟลชควรจะเป็นแฟลชที่สามารถแยกออกมาใช้งานต่างหากจากตัวกล้อง ซึ่งอาจจะควบคุมด้วยสายพ่วงแฟลช หรือ ควบคุมแบบไร้สาย เพราะสามารถจัดทิศทางของแสงได้ตามที่ต้องการ หรือเลียนแบบแสงธรรมชาติได้ การวัดแสงก็ให้วัดโดยดูแสงรวมว่าต้องการแบบไหน ต้องการรายละเอียดของฉากหลัง ด้วยหรือไม่ หรือซับเจคต์หลักกับฉากหลัง มีสภาพแสงที่แตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน ถ้าหากว่าซับเจคต์หลักสว่างมากกว่าฉากหลัง ก็ใช้ แฟลชส่องไปที่ฉากหลัง เพื่อเปิดให้ฉากหลังสว่างขึ้น ซึ่งไม่จำเป็นต้องสว่างให้เท่ากับซับเจคต์หลัก เพราะจะทำให้ซับเจคต์หลัก ไม่โดดเด่นเท่าที่ควรนั่นเอง
EP. 1 เสริมแฟลชเพิ่ม Hilight
ในสภาพแสงค่อนข้างอึมครึม ไม่มี Highlight ทำให้ภาพที่ได้ดูแบน ไม่มีมิติมากนัก ดังนั้นจึงใช้แฟลชส่องตามทิศทางของแสงธรรมชาติเดิม และแยกแฟลชออกจากตัวกล้องโดยใช้สายพ่วงแฟลช นั่นคือมุมสูงเยื้องๆ ไปด้านหลังเล็กน้อย และปรับซูมหัวแฟลชให้ตกลงเฉพาะส่วนดอกบัว และพื้นที่ใกล้เคียง ใช้โหมดแฟลช TTL ปรับลดกำลังแฟลชลง -2 เพราะต้องการเพียงแค่ให้ภาพมีคอนทราสต์เพื่อเพิ่มไฮไลท์ขึ้นเล็กน้อยเท่านั้นเอง
ภาพนี้มีแสงลงมาที่ตัวตั๊กแตนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ทำให้ได้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำจนเกินไป ดังนั้น จึงใช้แฟลชเพิ่มแสง โดยวางในทิศทางเดียวกับที่แสงธรรมชาติส่องลงมาอยู่แล้ว และปรับความเร็วชัตเตอร์สูงขึ้นจากค่าที่วัดแสงได้ 1 1/3 สตอป เพื่อให้ฉากหลังเข้มทึบลงจากปกติ ซึ่งช่วยให้ตัวตั๊กแตนโดดเด่นขึ้นมาด้วยครับ ใช้แฟลชขนาดเล็ก ไกด์นัมเบอร์ 32 ตั้งค่าแฟลชแบบแมนนวล ลดกำลังแฟลชเป็น 1/8
ถ้าหากว่ามีแฟลช 2 ตัว ก็สามารถวางด้านหน้าเพื่อเปิดเงาที่ตัวตั๊กแตนได้ครับ แต่ผมมองว่าแสงเข้ามาจากทิศทางเดียว ให้ความเป็นธรรมชาติมากกว่า จึงใช้แค่ตัวเดียว
การใช้แฟลชผสมผสานกับแสงธรรมชาติ ไม่ได้ยากอย่างที่คิด ค่อยๆ คิด ค่อยๆ ฝึกให้เป็นระบบ แล้วคุณจะสนุกกับการถ่าย ภาพมากขึ้นไปอีกครับ
ไป EP.2 คลิ๊ก
Writer : พีร วงษ์ปัญญา