Photo Techniques Photography

เทคนิคการใช้เลนส์มือหมุนกับกล้องยุคใหม่

ในยุคที่กล้องดิจิทัล โดยเฉพาะกล้อง Mirrorless ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก หนึ่งในอุปกรณ์ถ่ายภาพที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นเดียวกันคือ เลนส์มือหมุน หรือเลนส์แมนนวลโฟกัส ที่ตกทอดมาจากยุคฟิล์ม และโดยที่กล้องมิเรอร์เลสมีความบางกว่ากล้อง DSLR ทำให้สามารถใช้งานกับเลนส์ได้ทุกประเภท ผ่านอแดปเตอร์แปลงเม้าท์ให้เข้ากันได้นั่นเอง

     การใช้งานเลนส์มือหมุน จะยุ่งยากกว่าเลนส์แบบออโต้โฟกัสอยู่พอสมควร เพราะปกติแล้วจะไม่สามารถเชื่อมต่อการทำงานระหว่างกล้องกับเลนส์ได้ แต่ผู้ผลิตกล้องถ่ายภาพ ก็ออกแบบเมนูการทำงาน ให้ใช้งานกับเลนส์มือหมุนได้อย่างสะดวก ไปดูกันว่าเทคนิคที่จะใช้เลนส์มือหมุนกับกล้องดิจิทัลนั้น จะต้องทำอย่างไรบ้าง

ปัจจุบัน เทคโนโลยีของกล้องถ่ายรูปพัฒนาก้าวไกลไปมาก ถึงแม้จะเป็นกล้องรุ่นเล็กๆ ราคาหมื่นกว่าบาท แต่ก็ให้ไฟล์ภาพที่สวยงามได้อย่างง่ายๆ และรูปแบบการใช้งานกล้องก็เปลี่ยนแปลงไป กล้องในยุคใหม่ที่ได้รับความนิยม นั่นคือกล้อง Mirrorless ที่ไม่มีกระจกสะท้อนภาพตามชื่อ และมีฟังก์ชั่นการทำงานไม่แตกต่างจากกล้อง DSLR รวมทั้งมีขนาดที่เล็กกว่า และมีน้ำหนักเบากว่ากล้อง DSLR 

เนื่องจากเป็นกล้องที่ตัดเอากระจกสะท้อนภาพออกไป ดังนั้นจึงออกแบบตัวกล้องได้บางลง นั่นเป็นช่องทางที่สามารถนำเลนส์รุ่นเดิมในยุคกล้องฟิล์มมาใช้งานกับกล้อง Mirrorless ได้ทุกรุ่น ทุกยี่ห้อ ผ่านอแดปเตอร์แปลงเมาท์เลนส์ ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้เลนส์มือหมุนในยุคฟิล์มกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง

การใช้งานเลนส์มือหมุนกับกล้อง Mirrorless รวมไปถึงกล้อง DSLR ด้วย มีเทคนิคในการนำไปใช้งานให้ง่ายขึ้น ซึ่งเทคนิคต่างๆนี้ จะเน้นไปที่กล้อง Mirrorless เป็นหลัก ไปดูกันว่าจะมีการปรับตั้งค่ากล้องอย่างไรบ้าง

1. เปิดเมนู Shoot w/o lens

หรือบางยี่ห้อจะใช้คำว่า Release w/o lens ถือเป็นด่านแรกของการเริ่มใช้เลนส์มือหมุนกับกล้อง Mirrorless เพราะกล้องกับเลนส์ไม่สามารถสื่อสารกันได้ เนื่องจากไม่มีขั้วสัมผัสไฟฟ้าที่จะเชื่อมข้อมูลการทำงาน และกล้องก็จะล็อกชัตเตอร์ ทำให้กดชัตเตอร์ไม่ได้ ดังนั้นจะต้องตั้งค่าให้กล้องสามารถกดชัตเตอร์ได้ ถึงแม้จะไม่ได้ติดเลนส์ก็ตาม แต่ถ้าหากว่าใช้อแดปเตอร์ที่มีชิปสำหรับคอนเฟิร์มโฟกัสก็สามารถใช้งานได้เลยครับ

2. เปิดใช้งาน Live View (DSLR)

สำหรับกล้อง DSLR ควรจะใช้งานผ่าน Live View เนื่องจากฟังก์ชั่นเสริมต่างๆ เช่น Peaking หรือการซูมขยายภาพ เพื่อให้ปรับโฟกัสได้ง่ายขึ้นนั้น จะแสดงผลผ่าน Live View เท่านั้น ไม่สามารถมองผ่านช่องมองภาพออพติคัล (OVF) ได้นั่นเอง 

แต่ถ้าใช้งานคล่องแล้ว จะใช้ OVF ก็ไม่ว่ากันครับ เพราะการมองผ่าน OVF จะช่วยให้จับถือกล้องได้กระชับมากกว่านั่นเอง

3. เปิดใช้งานฟังก์ชั่น MF Asist.

เพื่อให้สามารถใช้ตัวช่วยสำหรับการปรับโฟกัสเองได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการซูมขยายภาพ หรือการแสดงระยะโฟกัสของ Peaking ด้วยเช่นกัน

4. เปิดฟังก์ชั่น Peaking​

Peaking จะเป็นการแสดงแถบสีวาวๆ ขึ้นมาในจุดหรือระนาบโฟกัส ให้ดูได้ง่ายขึ้นว่า จุดที่เราต้องการนั้น อยู่ในระยะโฟกัส หรือยัง Peaking เลือกแสดงสีได้ 3 แบบ และแสดงความแรงของเอฟเฟกต์ หรือแถบสีได้ 3 ระดับด้วยเช่นกัน การเลือกใช้ควร จะตั้งระดับของเอฟเฟกต์ไว้ที่ต่ำสุด เพื่อให้กล้องแสดงผลในจุดที่เราต้องการจริงๆ ซึ่งถ้าหากตั้งไว้ที่ระดับสูงจนเกินไป กล้องจะแสดงผลครอบคลุมไปถึงพื้นที่ที่อยู่ข้างๆ จุดหรือระนาบโฟกัสด้วย อาจจะทำให้การปรับโฟกัสผิดพลาดไปได้

5. ตั้งปุ่มซูมขยายภาพ

การตั้งปุ่มการทำงานบางปุ่มให้เป็น Shortcut หรือปุ่มลัดสำหรับการปรับซูมขยายภาพ จะช่วยให้ปรับโฟกัสเองได้รวดเร็วมากขึ้น ซึ่งควรเลือกปุ่มที่อยู่ในตำแหน่งที่สามารถใช้นิ้วกดได้สะดวก โดยไม่ต้องขยับมือออกจากการจับกล้องตามปกติ การซูมขยายภาพจะทำให้จุดที่เราต้องการโฟกัสถูกขยายขึ้นมาหลายเท่า(สามารถปรับการขยายได้) ทำให้การโฟกัสแม่นยำ และง่ายขึ้น

6. เปิดระบบป้องกันการสั่นไหวในตัวกล้อง

เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ใช้งานกล้องกับเลนส์มือหมุนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพของกล้องมากที่สุด ซึ่งจะข่วยให้สามารถใช้มือถือกล้องถ่ายภาพได้ที่ความเร็วชัตเตอร์ต่ำกว่าปกติได้ เช่นเดียวกับการใช้งานเลนส์ AF ด้วยเช่นเดียวกัน

7. ตั้งค่าทางยาวโฟกัสให้ตรงกับเลนส์ที่ใช้

เป็นการทำงานต่อเนื่องจากการเปิดใช้งานระบบป้องกันการสั่นไหว เนื่องจากกล้องไม่สามารถเชื่อมต่อใดๆกับตัวเลนส์ได้ ดังนั้น เราจะต้องกำหนดค่าทางยาวโฟกัสของเลนส์ให้กล้องรู้ เพื่อกล้องจะได้ปรับการทำงานของระบบป้องกันการสั่นไหวให้เหมาะสมกับเลนส์ที่ใช้นั่นเอง

8. ใช้โหมดถ่ายภาพ M หรือ A

แน่นอนว่า เราไม่สามารถใช้โหมดที่มีระบบอัตโนมัติ (P หรือ S) กับเลนส์แมนนวลโฟกัสได้ เพราะกล้องจะไม่สามารถปรับตั้งค่ารูรับแสงที่ตัวเลนส์แบบอัตโนมัติได้ และกล้องจะไม่รู้ว่าที่ตัวเลนส์เปิดรูรับแสงเท่าไหร่อยู่ โหมด M จึงเป็นโหมดที่เหมาะสมกับการใช้งานกับเลนส์มือหมุนมากที่สุด โดยปรับตั้งค่ารูรับแสงที่ตัวเลนส์ก่อน จากนั้นก็ปรับความเร็วชัตเตอร์ที่ตัวกล้อง ให้ค่าการวัดแสงพอดีตามที่ต้องการ ถ้าต้องใช้รูรับแสงแคบๆ ควรจะปรับโฟกัสให้ชัดไว้ก่อน แล้วค่อยปรับรูรับแสง เนื่องจากเมื่อปรับแล้ว รูรับแสงจะหรี่ลงตามจริง ภาพจะมืดลงอาจจะทำให้ปรับโฟกัสได้ยากขึ้นนั่นเอง   

ส่วนโหมด A หรือ AV (Canon) ก็สามารถใช้ได้โดยเลือกรูรับแสงจากวงแหวนปรับรูรับแสงของเลนส์มือหมุนตามที่ต้องการ และกล้องจะปรับความเร็วชัตเตอร์ที่เหมาะสมให้อัตโนมัติตามสภาพแสง

9. ใช้อแดปเตอร์ที่มีชิปช่วยยืนยันโฟกัส

ชิปที่อยู่ในอแดปเตอร์นี้ จะเป็นตัวบอกข้อมูลให้กล้องได้รับรู้ว่าเลนส์ที่ใช้อยู่เป็นเลนส์อะไร และเมื่อปรับโฟกัสในจุดที่ต้องการ กล้องก็จะยืนยันระยะชัดให้รู้ ช่วยลดความยุ่งยากในการหมุนปรับโฟกัสไปได้เป็นอย่างดี เหมือนๆกับการใช้เลนส์ AF แล้วปรับสวิทช์โฟกัสมาที่ MF นั่นเอง

10. ประเมินระยะโฟกัสไว้ก่อน

การประเมินระยะโฟกัสไว้ล่วงหน้า จะช่วยให้ปรับโฟกัสในจุดที่ต้องการได้รวดเร็วและง่ายขึ้น ไม่ต้องเสียเวลาหมุนนานๆ ซึ่งถ้าหากว่าเป็นภาพแนวสตรีท ซับเจคที่ต้องการอาจจะไม่อยู่แล้ว หรือเปลี่ยนอิริยาบทไปจากภาพที่ต้องการในตอนแรก การฝึกฝนบ่อยๆ ก็จะช่วยให้ชำนาญมากขึ้น และถ่ายภาพได้สนุกมากขึ้นด้วย

Leave feedback about this

  • Quality
  • Price
  • Service

PROS

+
Add Field

CONS

+
Add Field
Choose Image
Choose Video