Photo Techniques Photography

7 ความเข้าใจผิดเรื่องแฟลช

เรื่องของแฟลช การใช้แฟลชถ่ายภาพ เหมือนจะเป็นเรื่องยุ่งยากสำหรับช่างภาพจำนวนไม่น้อย อาจจะเกิดจากความไม่เข้าใจ ความกังวลในการใช้แฟลช กลัวภาพจะออกมาไม่ดี หรือความที่เป็นมือใหม่ยังไม่เคยเรียนรู้และใช้งานแฟลชจริงๆจังๆ จึงยังคงมีความเข้าใจผิดในเรื่องระบบการทำงาน และการใช้งานจริงในการถ่ายภาพประเภทต่างๆ

​หลายเรื่องที่หลายคนยังเข้าใจผิดในการใช้แฟลช มีอะไรบ้างครับมาดูกันเลย

1. แสงแฟลชโอเวอร์ – อันเดอร์ ปรับความเร็วชัตเตอร์ช่วยได้

เพราะแฟลชฉายแสงในช่วงเวลาที่สั้นมากๆ เช่น ตั้งแต่ 1/2,000-1/40,000 วินาที ดังนั้นความเร็วชัตเตอร์ที่ใช้จึงไม่มีผลกับปริมาณแสงแฟลชบนภาพ เนื่องจากช่วงเวลาการฉายแสงหรือที่เรียกกันว่า Duration นั้นสูงกว่าความเร็วชัตเตอร์ที่เราใช้อย่างมาก การปรับความเร็วชัตเตอร์จึงมีผลเฉพาะแสงแอมเบียนซ์ (แสงตามสภาพ) เท่านั้น แต่แสงแฟลชยังตกกระทบกับเซ็นเซอร์รับภาพเท่าเดิม ดังนั้นหากแสงแฟลชในภาพสว่างเกินหรือมืดเกินเมื่อใช้ระบบแฟลชแบบแมนนวล คุณต้องปรับรูรับแสง ไม่ใช่ความเร็วชัตเตอร์ (หรือจะปรับเพิ่ม-ลด กำลังแฟลชก็ได้) แต่ถ้าใช้ระบบแฟลชแบบ TTL คุณจะต้องใช้ระบบชดเชยแสงแฟลชเท่านัั้น

   ความเร็วชัตเตอร์จะมีผลกับแสงแฟลชก็ต่อเมื่อคุณใช้แฟลชผสมกับแสงแอมเบียนซ์ หากที่ตัวแบบได้รับแสงพอดีหรือเกือบพอดีอยู่แล้วการใช้แฟลชเสริมเข้าไปจึงอาจทำให้ตัวแบบโอเวอร์ได้ เมื่อลดความเร็วชัตเตอร์ลง 2-3 สตอปแสงที่ตัวแบบจึงพอดี หลายคนจึงคิดว่าความเร็วชัตเตอร์มีผลกับแสงแฟลช

   และความเร็วชัตเตอร์จะมีผลต่อแสงแฟลชเมื่อคุณใช้ระบบ High Speed Sync(HSS) เพราะระบบนี้แฟลชจะลดช่วงเวลาการฉายแสงลงมาตํ่า การปรับความเร็วชัตเตอร์จึงมีผลต่อปริมาณแสงแฟลช ความเร็วชัตเตอร์ที่สูงกว่า Sync Speed ไป 1 สตอป ปริมาณแสงแฟลชก็ลดลง 1 สตอป ความเร็วชัตเตอร์ที่สูงกว่า Sync Speed ไป 3 สตอป ปริมาณแสงแฟลชก็ลดลง 3 สตอป เป็นต้น

2. ใช้แผ่นกรองแสงติดหน้าแฟลช แสงจะนุ่ม

ช่างภาพหลายคนมีความเชื่อว่าการใช้แผ่นกรองแสงพลาสติกสีขาวขุ่นมาครอบหน้าแฟลชจะทำให้แสงแข็งๆ ของแฟลชนุ่มขึ้น เพราะมันจะกระจายแสงออก จึงมีผู้ผลิตอุปกรณ์ประเภทนี้ออกมามากมาย แม้กระทั่งแผ่นกรองแสงสำหรับแฟลชป๊อปอัพ แต่ความจริงก็คือมันไม่ได้ช่วยอะไรเลยนอกจากเสียแสงไปฟรีๆ ประมาณ 1-2 สตอป ทำให้ระยะทำงานของแฟลชสั้นลง และแฟลชต้องทำงานหนักกว่าเดิม หากใช้ต่อเนื่องนานๆ อาจถึงกับฮีทจนหยุดทำงานได้ แต่แสงก็ยังคงแข็งเหมือนเดิมเพราะขนาดของแหล่งกำเนิดแสง (ส่วนหน้าของแผ่นกระจายแสง) ยังเท่าเดิม แสงและเงาที่ตัวแบบจึงไม่ต่าง

   การที่แสงแฟลชจะนุ่มได้คือ ต้องทำให้แหล่งกำเนิดแสงใหญ่ขึ้นเท่านั้น เช่น ใช้ซอฟท์บ็อก ใช้ร่มสะท้อนแสง หรือ เบาซ์แฟลชกับเพดาน ผนัง เพราะมันจะทำให้ส่วนที่เคยเป็นเงามีแสงจากจุดอื่นของแหล่งกำเนิดแสง(ที่ใหญ่ขึ้น) มาหักล้าง เงาส่วนนั้นจะจางลง แสงจึงดูนุ่มขึ้น

   แผ่นกรองแสงบางแบบสามารถช่วยให้แสงนุ่มขึ้นได้บ้าง ถ้าใช้ในห้องขนาดเล็กที่มีผนังสีขาว

3. ทำไมขอบภาพมืด เมื่อใช้แฟลช

ในการใช้แฟลช ช่างภาพมักจะไม่ได้ปรับซูมหัวแฟลช แต่แฟลชจะปรับมุมกระจายแสงให้กว้างแคบโดยอัตโนมัติตามเลนส์ที่ใช้ เช่น ใช้เลนส์ 24 มม. แฟลชก็จะปรับซูมหัวแฟลชให้กระจายแสงพอดีๆกับเลนส์ 24 มม. หากใช้เลนส์ซูมก็จะเห็นว่า พอปรับซูมที่เลนส์ หัวแฟลชก็จะปรับตามอัตโนมัติ เป็นการทำงานแบบ A ZOOM (ประโยชน์คือปรับแสงให้กว้างพอดีกับเลนส์ แฟลชจะได้ไม่ต้องทำงานหนักเกินและจะได้ระยะทำงานไกลขึ้นเมื่อใช้เลนส์ช่วงเทเลโฟโต้) แต่ความผิดพลาดของช่างภาพมักจะเกิดจากไปกดโดนปุ่มปรับซูมหัวแฟลชโดยไม่ตั้งใจ ทำให้หัวแฟลชไม่ซูมตามเลนส์ เช่น ซูมไปที่ 105 มม. หัวแฟลชก็จะปรับไปที่ 105 มม. เพื่อบีบแสงให้แคบเท่ามุมรับภาพของเลนส์ แต่ถ้าไปกดโดนปุ่ม A ZOOM กลายเป็น M ZOOM แล้วคุณปรับซูมกลับไปที่ 24 มม. แล้วบันทึกภาพ ขอบภาพจะมืดแน่นอนเพราะแสงยังบีบแคบแต่เลนส์เก็บภาพกว้างกว่ามาก ดังนั้นต้องระวังเรื่องนี้เมื่อใช้แฟลช

     ภาพตัวอย่างไม่ได้เกิดความผิดพลาดในเรื่องนี้ แต่ใช้ประโยชน์จากระบบซูมหัวแฟลชแบบแมนนวล ปรับซูมไปที่ช่วงเทเล 85 มม. เพื่อไม่ให้แฟลชตกที่กำแพง

4. ดึงแผ่นกระจายแสงแฟลชกว้างกว่าเลนส์ที่ใช้ ทำไมขอบภาพยังมืด

เมื่อใช้แฟลชกับเลนส์มุมกว้างมากๆ เช่น 16 มม. กับแฟลช ช่างภาพส่วนใหญ่มักจะดึงแผ่นกระจายแสงที่ซ่อนอยู่ด้านบนหัวแฟลชออกมาเพื่อให้แฟลชกระจายแสงได้กว้างพอที่จะครอบคลุมทั้งภาพ แต่บางท่านอาจสงสัยว่าทำไมดึงแผ่นกระจายแสงออกมาใช้แล้วขอบภาพยังมืด เลยพาลคิดไปว่าแฟลชมันห่วย แต่ความจริงก็คือ แฟลชรุ่นไหน ยี่ห้ออะไรมันก็เป็นแบบนี้ โดยหากบันทึกในระยะใกล้ๆ เช่น 1-3 เมตรก็จะเห็นชัดขึ้น 

     ที่เป็นเช่นนี้เพราะเมื่อใช้เลนส์มุมกว้าง ระยะจากแฟลชถึงวัตถุที่กลางภาพ กับระยะจากแฟลชถึงวัตถุที่ขอบภาพจะต่างกันค่อนข้างมาก เช่น ถ่ายที่ระยะ 2 เมตร วัตถุกลางภาพห่างจากแฟลช 2 เมตร แต่วัตถุที่ขอบภาพห่าง 3 เมตร แฟลชดีแค่ไหน แสงที่ขอบภาพก็จะอันเดอร์ 1 สตอปอย่างแน่นอนตามกฏของแสงที่ว่าระยะเปลี่ยน 1 เท่าแสงจะลดลง 2 สตอป ระยะเปลี่ยน 1/2 เท่าแสงจึงลดลง 1 สตอป

   ทางแก้คือแยกแฟลชจากกล้องให้ถอยห่างออกไปก็จะลดอัตราส่วนความแตกต่างระหว่างกลางภาพกับขอบภาพได้ แสงจะเคลียร์มากขึ้น

5. ยกหัวแฟลช เพื่ออะไร

ช่างภาพหลายคนมีความเชื่อว่าการยิงแสงแฟลชจากหัวกล้องตรงๆ จะดูเหมือนมือสมัครเล่น มือโปรต้องเงยแฟลชเท่านั้น จึงเงยแฟลชตลอดเวลาโดยไม่ได้ดูว่ามีอะไรให้เบาวซ์หรือไม่ อยู่นอกสถานที่ยังเงยแฟลช โดยจะดึงแผ่นพลาสติกสีขาวที่อยู่บนหัวแฟลชออกมา หรือใช้แผ่นกระจายแสงพลาสติกสีขาวขนาด 3×3 นิ้วติดหัวแฟลชไว้ และก็เชิ่อว่านี่คือวิธีที่ช่วยให้แสงนุ่มขึ้น 

     แต่ความจริงก็คือ ถ้าไม่มีอะไรให้เบาวซ์ หรือเพดานสูงมาก การทำเช่นนี้แสงก็ยังแข็งเท่าเดิม แสงแฟลชจะหายไปในอากาศฟรีๆ 80-90% สะท้อนไปที่ตัวแบบได้ประมาณ 10-20% เป็นการทำให้แฟลชทำงานหนักอย่างไร้ประโยชน์ แฟลชคุณจะพังก่อนเวลาอันควร อาจฮีทได้เมื่อต้องถ่ายต่อเนื่องนานๆ แต่ที่ภาพยังไม่เสียก็เพราะ 10% ที่มันสะท้อนไปนั่นแหละครับ และภาพมันดูไม่แข็งมากก็เพราะเป็นการใช้ผสมกับแสงแอมเบียนซ์ แสงแฟลชอาจไม่ใช่แสงหลักในภาพ แค่ฟิลลบเงา หากใช้เป็นแสงหลักดูก็จะทราบว่าเงาก็ยังแข็งเท่าเดิม ที่จะต่างบ้างก็คือทิศทางแสงเพราะหัวแฟลชจะสูงกว่าเดิม

6. เบาวซ์แฟลชแล้วทำไมภาพดูมืดๆ หรือ สีดูแปลกๆ

ช่างภาพส่วนใหญ่จะทราบดีว่าหนึ่งในวิธีที่จะทำให้แสงแฟลชนุ่มขึ้นคือ การเบาวซ์แฟลชกับเพดาน ผนัง หรือเบาวซ์กับแผ่นสะท้อนแสง มันจะทำให้แสงนุ่มขึ้นชัดเจนที่สุดและง่ายที่สุด (ถ้ามีเพดานหรือผนังให้เบาวซ์) แต่ช่างภาพหลายท่านยังขาดความเข้าใจในเรื่องการเบาวซ์ 2 เรื่อง คือ 

  • อย่าเบาวซ์เกินกำลังแฟลช การเบาซ์นั้นแฟลชต้องทำงานหนักมากแม้ตัวแบบจะอยู่ห่างจากกล้องแค่ 3-4 เมตรก็ตามเพราะระยะทำงานของแฟลชคือ ระยะจากแฟลชถึงเพดาน + ระยะจากเพดานถึงตัวแบบ + การเสียแสงจากการสะท้อน (เพราะเพดานไม่ใช่กระจกเงา) แฟลชอาจต้องทำงานด้วยกำลังเท่ากับคุณถ่ายที่ระยะ12-18 เมตรเลยทีเดียว ดังนั้นถ้าแฟลชคุณมีขนาดเล็กจะพบว่าภาพมักอันเดอร์ ต้องดัน ISO ขึ้นไปเป็น 400-800 จึงจะได้ภาพ หรือไม่ก็ต้องเปิดรูรับแสงกว้างๆ นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมมืออาชีพต้องใช้แฟลชรุ่นใหญ่ 
  • เพดานสูงๆ โอกาสได้ภาพจะยากขึ้นไปอีกครับ โดยเฉพาะเพดานของห้องจัดเลี้ยงที่สูงกว่า 4 เมตรนี่แทบสิ้นหวังครับที่จะเบาวซ์ให้ได้ดี
  • สีของเพดาน ช่างภาพหลายท่านเงยแฟลชเบาวซ์โดยไม่ได้ดูสีของเพดานเลย เพดานสีอะไรมันก็จะสะท้อนแสงแฟลชออกมาเป็นสีโทนนั้น ซึ่งอาจทำให้ตัวแบบสีเพี้ยนได้ สีที่จะเบาวซ์ได้คือ เพดานสีขาวและสีเทา สีโทนอ่อนอย่างสีครีมก็ยังพอได้

7. กล้องยุคนี้ แฟลชเล็กๆก็พอ

ในยุคที่กล้องดิจิทัลมีคุณภาพดีขึ้นเรื่อยๆ การใช้ความไวแสงสูงระดับ ISO 800-1600 ภาพยังมีคุณภาพดีมาก Noise ต่ำจนทำให้ช่างภาพหลายท่านไม่อยากใช้แฟลชขนาดใหญ่เพราะเกะกะและหนัก จึงเห็นว่าใช้แฟลชขนาดเล็กก็พอเพราะดัน ISO ได้ แต่ความจริงก็คือแฟลชขนาดเล็กมีข้อจำกัดในการใช้งาน(แบบจริงจัง) มากมาย โดยเฉพาะการใช้ฟิลลบเงา

     ในสภาพแสงแรง แดดจัด แฟลชขนาดเล็กจะมีระยะทำงานเพียง 2-2.5 เมตร กับกล้องระดับโปรหรือเซมิโปร (ที่มี Sync Speed 1/250 วินาที) และจะมีระยะทำงานเพียง 1.5-2 เมตร กับกล้องระดับสมัครเล่น (ที่มี Sync Speed 1/160-1/200 วินาที) การดัน ISO สูง การเปิดรูรับแสงกว้างเพื่อหวังจะใช้ระบบ High Speed Sync ไม่ช่วยอะไรได้เลย แฟลชก็ยังทำงานได้ระยะใกล้ๆ เหมือนเดิม ทางแก้มีอย่างเดียวคือแฟลชต้องใหญ่ แรง ไกด์นัมเบอร์สูงจึงจะช่วยเพิ่มระยะทำงานได้ ดังนั้นถ้าหวังผลเรื่องการใช้แฟลช อย่าเกี่ยงขนาด อย่าเกี่ยงน้ำหนัก ต้องใช้แฟลชใหญ่ครับ

Leave feedback about this

  • Quality
  • Price
  • Service

PROS

+
Add Field

CONS

+
Add Field
Choose Image
Choose Video