Basic Photography

7 เคล็ดลับ ถ่ายภาพให้น่าสนใจ

7 เคล็ดลับ ถ่ายภาพให้น่าสนใจ

คงจะมีบ้างใช่มั๊ยครับ ที่ถ่ายภาพมาแล้ว มีความรู้สึกว่าภาพนั้นดูไม่มีเสน่ห์เท่าที่ควร ทำให้รูปนั้นไม่น่าสนใจนัก ดูครั้งเดียวแล้วก็ผ่านไป ทั้งๆ ที่วัดแสงก็พอดีแล้ว ไม่ได้มืดไป หรือไม่ได้สว่างจนมากเกินไป โฟกัสรึก็ชัดเป๊ะอีกด้วย แต่ดูๆ ไปแล้ว ก็ยังไม่ค่อยถูกใจเท่าไหร่นัก

ต่อไปนี้คือ 7 เคล็ด(ไม่)ลับ สำหรับนำมาสร้างสรรค์ภาพถ่ายให้ดูพิเศษมากขึ้น มีความน่าสนใจมากขึ้น ซึ่งก็มีทั้งใช้การใช้อุปกรณ์เสริม รวมไปถึงใช้ความรู้ความเข้าใจในการถ่ายภาพมาใช้ด้วยล่ะครับ ไปดูกันว่ามีอะไรบ้าง

การถ่ายภาพเงาสะท้อนเป็นอีกภาพอีกรูปแบบหนึ่งที่ทำให้ภาพนั้นๆ มีความโดดเด่นมากขึ้น เพราะสามารถสื่อให้เห็นถึงมิติของภาพได้ด้วย  ซึ่งภาพถ่ายในลักษณะนี้เป็นการถ่ายทอดในเรื่องของอารมณ์และความรู้สึกของภาพมากกว่าที่จะ เน้นในเรื่องของการจัดองค์ประกอบภาพ เช่น ถ่ายภาพอาคาร หรือวัดวาอารามที่อยู่ใกล้ๆ กับบ่อน้ำ แล้วมีเงาสะท้อนลงในน้ำ เป็นต้น

บางครั้งการถ่ายภาพแบบนี้ ผู้ถ่ายอาจจะสับสนว่าควรจะวัดแสงตรงไหน ถ้าหากเงาสะท้อนนั้นรวมเอาต้นแบบเข้า ไปด้วยก็ให้ความสำคัญกับการวัดแสงไปที่ต้นแบบได้เลย แต่ถ้าหากเน้นที่เงาสะท้อนเพียงอย่างเดียว ก็ต้องดูว่าพื้นผิวที่สะท้อน ออกมานั้นมีสภาพแสงแตกต่างกับต้นแบบมากน้อยเพียงใด ซึ่งโดยส่วนมากจะมีสภาพแสงที่ต่ำกว่าต้นแบบ

วัสดุที่สะท้อนเงาได้มากอย่างเช่นโครเมียมหรือกระจกทำให้สร้างสรรค์ภาพแปลกๆ ได้ เช่น ถ่ายเงาสะท้อนโดยใช้รูรับแสงกว้าง ซึ่งอาจจะโฟกัสเงาสะท้อนให้คมชัด ส่วนฉากหน้าหรือผิวโลหะก็จะเบลอ เพราะอยู่นอกระยะชัด เป็นต้น

แสงที่สาดทอเต็มท้องฟ้า สะท้อนลงมาในน้ำ ช่วยให้ภาพดูน่าสนใจมากขึ้น นอกจากนี้ หลังฝนตก มักมีน้ำขังอยู่ตามพื้น ก็สามารถนำมาใช้สะท้อนในลักษณะนี้ได้ด้วยเช่นกัน

พื้นน้ำที่ใสเรียบและนิ่งแบบนี้ จะช่วยสะท้อนเงาได้อย่างดีเยี่ยมทีเดียว

ความรู้จากการศึกษาพื้นฐานในการถ่ายภาพกันมาแล้ว จะทำให้รู้ว่า สิ่งที่ควบคุมแสงให้ผ่านเลนส์เข้าไปในกล้องมีอยู่ 3 อย่าง คือ ความเร็วชัตเตอร์ ขนาดรูรับแสง และความไวแสง โดยทั้ง 3 อย่างนี้จะทำงานสัมพันธ์กัน และผลที่เกิดจาก 3 อย่างนั้นก็แตกต่างกัน โดยตามที่รู้กันคือ ความเร็วชัตเตอร์จะมีผลในเรื่องของการเคลื่อนไหวของซับเจกต์ในภาพ และผลของภาพที่เกิดจากความเร็วชัตเตอร์สูงและความเร็วชัตเตอร์ต่ำ ก็จะแตกต่างกัน

ดังนั้นก่อนที่จะถ่ายจึงต้องกำหนดไว้ก่อนว่าต้องการภาพถ่ายแบบใด โดยถ้าหากว่าต้องการภาพที่ซับเจกต์หยุดนิ่ง ก็ต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์สูง และสิ่งที่มีการเคลื่อนไหวในเฟรมภาพจะหยุดนิ่งทั้งหมด เช่น ภาพแนวแอ็คชั่นหรือภาพกีฬา เป็นต้น แต่ถ้าหากต้องการภาพที่ดูพลิ้วไหว หรือภาพเบลอๆ ก็เลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ สิ่งที่มีการเคลื่อนไหวในภาพก็จะดูเบลอๆ ไหวๆ แต่สิ่งที่อยู่นิ่งๆ ก็จะคมชัดด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้เรายังสามารถสร้างรูปแบบภาพแปลกๆ จากการควบคุมความเร็วชัตเตอร์ได้ เช่น การใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำร่วมกับการแพนกล้อง ก็สามารถทำให้ซับเจกต์ที่กำลังเคลื่อนไหวคมชัดได้ ส่วนฉากหลังก็จะเบลอเป็นเส้นและให้ความรู้สึกว่ากำลังเคลื่อนที่อยู่นั่นเอง

ภาพแนวแอ๊คชั่นก็มักจะใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงๆ เพื่อหยุดการเคลื่อนไหว

การใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ และแพนกล้องตามซับเจคต์ที่เคลื่อนที่ จะทำให้ได้อารมณ์ภาพที่สื่อถึงการเคลื่อนไหวได้ดป็นอย่างดี และช่วยให้ภาพดูน่าสนใจขึ้นอีก

การใช้ความเปรียบต่างของสี หรือถ่ายภาพให้มีคอนทราสต์ของสี โดยถ่ายภาพให้สีสันของซับเจกต์และฉากหลังให้มีสีตัดกันหรือตรงข้ามกัน เพื่อให้เน้นให้ภาพดูเด่นและน่าสนใจขึ้นมา ถ้าหากจัดองค์ประกอบและควบคุมคอนทราสต์ของสีได้ดี ภาพถ่ายก็จะมีเสน่ห์ สามารถดึงดูดผู้ชมได้ แต่ก็ต้องระวังอย่าให้สีสันมากเกินไปจนทำให้ภาพดูรกและเลอะเทอะได้

นอกจากนี้ก็ควรคำนึงถึงฉากหลังด้วยเช่นกัน โดยถึงแม้บางครั้งสีของวัตถุที่จะถ่ายจะตัดกับฉากหลัง แต่ถ้าหากเลือกฉากหลังที่รกรุงรัง ก็อาจจะทำให้ภาพนั้นดูด้อยลงได้ ดังนั้นก่อนที่จะกดชัตเตอร์ก็ควรจะมองเลยไปถึงฉากหลังด้วยว่าเหมาะสมหรือไม่  หรือถ้าหากเลี่ยงไม่ได้ก็อาจจะใช้วิธีเปิดรูรับแสงกว้าง เพื่อให้ฉากหลังเบลอก็ได้เช่นกัน และถ้าหากเลือกทิศทางของแสงที่เหมาะสม เช่น แสงเข้าจากด้านข้าง ทำให้ซับเจกต์มีมิติมากขึ้น ก็จะทำให้ภาพนั้นดูโดดเด่นขึ้นอีกเยอะทีเดียว

สีขนของนกจาบคาที่ตัดกันกับฉากหลังเบลอๆ สีเขียว ช่วยให้ตัวนกโดดเด่นขึ้นมาอัตโนมัติ

สีส้มและแดงของทิวลิป ตัดกับสีฟ้าของท้องฟ้า ทำให้ภาพสะดุดตาผู้ชมได้เช่นกัน

ร่มสีส้ม-แดง ตัดกับสีน้ำเงินของท้องฟ้า ช่วยให้ภาพดูน่าสนใจมากกว่าร่มที่มีสีโทนเดียวกับท้องฟ้า

การถ่ายภาพแบบนี้เกิดจากการใช้รูปร่างของวัตถุและเส้นสายที่ซ้ำกัน ซึ่งความซ้ำซ้อนนี้ไม่เฉพาะลักษณะของรูปทรงเท่านั้น แต่รวมไปถึงลักษณะท่าทางของบุคคลต่างๆ ที่แสดงท่าทางคล้ายๆ กัน ซึ่งแสดงถึงความเป็นระเบียบ และทำให้ภาพนั้นๆ ชวนมองได้

โดยปกติแล้วการถ่ายภาพประเภทนี้ ไม่มีกฎเกณฑ์ที่แน่นอนเกี่ยวกับสภาพแสง แต่เป็นภาพที่ต้องการคอนทราสท์สูง เพื่อเน้นพื้นผิวหรือลวดลายต่างๆ ให้ดูเด่นชัดขึ้น และทิศทางของแสงจะมีผลที่ทำให้ภาพถ่ายมีลักษณะพิเศษแตกต่างกันออกไป การเลือกมุมมองและการจัดองค์ประกอบจะมีผลกับภาพถ่ายประเภทนี้มาก บางครั้งการเข้าไปถ่ายใกล้ๆ ก็ช่วยเพิ่มน้ำหนักของภาพให้มากขึ้นได้เช่นกัน

นอกจากนี้ ยังสามารถหาวัตถุที่มีรูปร่างที่แตกต่างออกไป ไปแทรกอยู่กับภาพที่ซ้ำซ้อน ก็สามารถสร้างให้ภาพนั้นดูเด่นขึ้นมาได้ และถ้าใช้เลนส์เทเลโฟโต้ในการถ่ายภาพก็จะทำให้ดูเหมือนว่าใกล้ชิดกัน และให้ความรู้สึกเหมือนมีอยู่อย่างหนาแน่นด้วย

การรวมกันอยู่มากมาย และมีสีสันที่สดใส จะสะดุดตาผู้ชมให้อยากรู้อยากเห็นว่าคืออะไร

หนามและต้นกระบองเพชรที่รวมกันอยู่มากมาย จะกระตุ้นความอยากรู้ อยากเห็นของผู้ชมด้วยเช่นกัน

การเพิ่มสิ่งอื่นเข้าไปอยู่กับสิ่งที่คล้ายๆ กัน ก็สร้างความน่าสนใจให้กับภาพได้ ช่วยให้ภาพดูมีเรื่องราวเพิ่มขึ้น

ในบางครั้งที่เราไปเที่ยวที่ใดๆ ก็ตาม และต้องการเก็บภาพบรรยากาศของสถานที่นั้นๆ ให้ดูกว้างมากที่สุด เพื่อแสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของสถานที่นั้นๆ แต่ไม่มีเลนส์มุมกว้างมากพอที่จะเก็บได้ทั้งหมด  ลองเปลี่ยนจากถ่ายภาพแบบปกติมาถ่ายเป็นพาโนรามาแทน ซึ่งกล้อง Mirrorless หลายๆ รุ่นในปัจจุบัน มีโหมดถ่ายภาพพาโนรามาให้ใช้งานด้วย

และเมื่อถ่ายภาพเสร็จ กล้องจะรวมภาพให้โดยอัตโนมัติ ส่วนกล้องที่ไม่มีโหมดนี้ เมื่อถ่ายภาพแรกแล้ว ภาพต่อไปควรจะให้เหลื่อมกับภาพก่อนหน้านั้นอยู่ประมาณ 20% ถ่ายได้หลายภาพตามความต้องการ เมื่อได้รูปมาแล้วก็มารวมภาพจากโปรแกรมตกแต่งภาพในภายหลัง

การถ่ายภาพแบบพาโนรามานี้มีเคล็ดลับอยู่เล็กน้อยคือ จะต้องถ่ายภาพทั้งหมดให้เร็วที่สุด เพราะถ้าทิ้งช่วงห่างมาก หรือใช้เวลาถ่ายแต่ละภาพนานเกินไป จะมีปัญหากับสภาพแสงที่เปลี่ยนแปลงไป ถ้าต่างกันเล็กน้อยก็พอจะแก้ไขได้ แต่ถ้าแสงในแต่ละภาพแตกต่างกันมากๆ จะมีปัญหาเรื่องโทนของภาพไม่เท่ากันได้เมื่อนำมารวมกันครับ

ภาพลักษณะนี้ จะมีการเปลี่ยนแปลงของแสงที่ค่อนข้างรวดเร็ว จึงต้องถ่ายภาพทั้งหมดด้วยเวลาสั้นๆ เพื่อลดความแตกต่างของแสงแต่ละเฟรมภาพ ซึ่งจะเป็นปัญหาในการรวมภาพในภายหลัง หรือถ้ากล้องทีโหมดถ่ายภาพพาโนรามา ก็จะสะดวกมากขึ้น

ถ้ามุมกล้องกว้างไม่พอ ถ่ายแนวนอนแล้วเก็บไม่ได้ทั้งหมด ก็เปลี่ยนเป็นแนวตั้ง แล้วถ่ายหลายๆ ภาพ จากนั้นก็นำมารวมทีหลัง หรือถ้ากล้องมีโหมดพาโนรามา ก็เลือกแบบหมุนกล้องขึ้น-ลง จากนั้นถือกล้องเป็นแนวตั้ง กดชัตเตอร์ แล้วก็กวาดกล้องไปทางซ้าย หรือขวา ตามเฟรมของภาพได้เลย

เวลาที่ไปเที่ยวต่างถิ่น หลังจากที่เช็คอินเข้าห้องพัก หลายๆ คนทำเป็นอย่างแรกเลยคือเปิดม่านเพื่อชมวิว โดยเฉพาะเมื่อได้พักที่โรงแรมสูงๆ หลายชั้น และอันดับต่อไปคือคว้ากล้องมาถ่ายภาพ ซึ่งถ้าเป็นห้องที่มีระเบียงเปิดออกไปถ่ายภาพได้ก็ไม่มีปัญหาอะไร  แต่บางโรงแรมไม่มีระเบียงและเปิดกระจกไม่ได้ เพราะทางโรงแรมเกรงจะเกิดอันตรายนั่นเองครับ เมื่อต้องการถ่ายภาพก็มักจะมีปัญหาเรื่องของแสงสะท้อน ทำให้ถ่ายภาพวิวด้านนอกแล้วมีเงาของโต๊ะ ตู้หรือเตียงในห้องติดมาด้วย

วิธีแก้ไขคือให้ปิดไฟในห้องให้หมด และยื่นหน้าเลนส์ให้ติดกับกระจกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถ้าหากถ่ายตอนเย็นๆ เพื่อเก็บบรรยากาศยามเย็น ก็ควรระวังกล้องสั่นจากความเร็วชัตเตอร์ต่ำด้วย ถ้ามีระบบป้องกันภาพสั่นไหวจะช่วยได้ หรือถ้าใช้ ขาตั้งกล้องได้จะดีที่สุดครับ และถ้าหากต้องการคนเข้าไปประกอบด้วยและใช้แฟลชเพื่อให้คนสว่างขึ้น ก็เลี่ยงที่จะยืนตรงข้ามกับกระจก แต่ให้ยืนเฉียงๆ แทน เพื่อแสงแฟลชจะไม่สะท้อนกลับมาที่กล้องครับ

การถ่ายภาพผ่านกระจกอีกรูปแบบหนึ่งคือ ถ่ายภาพจากข้างนอกให้เข้าไปยังด้านใน เช่นถ่ายภาพเพื่อนในร้านกาแฟ เป็นต้น วิธีนี้ให้หามุมที่เงาสะท้อนจากกระจก ไม่รบกวนซับเจกต์ที่เราต้องการถ่าย แต่รอบๆ นั้นจะเกิดเงาสะท้อนของส่วนอื่นๆ ก็ทำให้ภาพเราน่าสนใจมากขึ้นไปอีกครับ

วิวเมืองที่ละลานตา แต่ส่วนใหญ่ห้องพักของโรงแรมสูง มักจะเปิดหน้าต่างกระจกไม่ได้ ดังนั้น ก็พยายามแนบกล้องให้ชิดกระจกมากที่สุด และปิดไฟในห้องทั้งหมด เพื่อลดแสงสะท้อนจากภายในห้องนั่นเอง

เงาสะท้อนจากกระจกมองข้าง ก็สร้างความน่าสนใจให้กับภาพได้เช่นกัน

ยามที่พระอาทิตย์กำลังจะลับขอบฟ้า เป็นบรรยากาศที่หลายๆ ท่านชอบเก็บภาพไว้เป็นที่ระลึก เวลาเดินทางไปท่อง เที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ส่วนใหญ่จะบันทึกเป็นภาพทิวทัศน์เพียงอย่างเดียว บางครั้งต้องการให้มีคนอยู่ด้วย แต่หน้าก็มืดไป หรือพอใช้แฟลช หน้าสว่างพอดี แต่ด้านหลังกลับมีสีซีดๆ ไม่เหมือนจริง ลองวิธีนี้ดูครับ

อันดับแรกให้วัดแสงท้องฟ้าว่าได้ความเร็วชัตเตอร์และรูรับแสงเท่าไหร่ และควรใช้โหมดถ่ายภาพแบบแมนนวล เพราะสามารถตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์และรูรับแสงค้างไว้ได้เลย วัดแสงให้อันเดอร์ลงซักครึ่งสตอป จากนั้นปรับโฟกัสที่บุคคล ที่เป็นแบบเปิดใช้แฟลชโดยใช้ระบบแฟลช TTL ได้เลย และลดกำลังแฟลชลงประมาณ 1/2-1 สตอป เพื่อไม่ให้สว่างเกินไป หรือถ้าแบบยังสว่างอยู่ก็ลดกำลังแฟลชให้ต่ำลงไปอีก

เพียงเท่านี้ก็จะได้บรรยากาศที่ประทับใจเก็บไว้เป็นที่ระลึกแล้วครับ  ถ้าหากใช้กล้องคอมแพคที่ไม่มีโหมดแมนนวลก็ตั้งไปที่โหมดถ่ายภาพบุคคลกับวิวกลางคืนซึ่งจะเป็นสัญลักษณ์ภาพภูเขาที่มีมีดาวและคนได้เลยครับ  การตั้งค่าต่างๆ กล้องจะปรับให้อัตโนมัติครับ

เป็นรูปแบบที่นิยมกันมาก ในช่วงคริสต์มาส และใกล้ๆปีใหม่ การใช้แฟลชกับโหมดถ่ายภาพออโต้ กล้องมักจะปรับความเร็วชัตเตอร์สูง จนฉากหลังมืดดำจนเกินไป การใช้แฟลชร่วมกับการวัดค่าแสงของบรรยากาศ ณ ตอนนั้น จะช่วยให้ถ่ายทอดบรรยากาศของพื้นที่นั้นๆ ได้เป็นอย่างดี

ถ้าสามารถจัดทิศทางของแฟลช หรือใช้ซอฟท์บ๊อกซ์ได้ ก็จะทำให้ได้ภาพที่นุ่มนวลขึ้นด้วย