REVIEW CANON EOS R5 & EOS R6
EOS R5 ใช้เซนเซอร์ภาพ CMOS ที่พัฒนาใหม่ความละเอียด 45 ล้านพิกเซล ให้ภาพที่มีรายละเอียดสูง คมชัด การถ่ายทอดเฉดสีละเอียด นุ่มนวล ไดนามิคเรนจ์สูงขึ้น เมื่อทำงานร่วมกับชิปประมวลผล DIGIC X จะให้ภาพที่มี Noise ต่ำ สามารถตั้งความไวแสงได้ตั้งแต่ ISO 100-51200 และขยายได้ถึง ISO 102400
EOS 6 ใช้เซนเซอร์ภาพ CMOS รุ่นเดียวกับที่ใช้ในกล้อง EOS1D X Mark III ความละเอียด 20.1 ล้านพิกเซล ออกแบบให้ถ่ายทอดรายละเอียดได้ดีเยี่ยมแม้ใช้ความไวแสงสูง ให้ภาพที่มี Noise ต่ำเป็นพิเศษ และออกแบบให้ส่งข้อมูลภาพได้เร็วมากเพื่อให้ถ่ายภาพต่อเนื่องได้ด้วยความเร็วสูงและต่อเนื่อง และเป็นเซนเซอร์ที่ติดระบบโฟกัส Dual Pixel CMOS AF II บนเซนเซอร์ภาพ
จากการทดลองใช้งานกล้องสองรุ่นนี้ประมาณ 20 วันกับเลนส์ RF 6 รุ่น ผมได้ลองใช้งานในหลากหลายสถานการณ์โดยใช้ความไวแสงตั้งแต่ ISO 100 ไปจนถึง ISO 12800 สิ่งที่พบคือ ไฟล์ที่ได้จากกล้องแคนนอนมีการพัฒนาไปจากเดิมอย่างชัดเจนทั้งในเรื่องการบาลานซ์ระหว่างรายละเอียดกับการจัดการ Noise ที่ลงตัวมาก ภาพจากความไวแสงสูง เช่น ISO1600-ISO12800 จึงดูเนียนตาโดยยังมีรายละเอียดดี และเรื่องไดนามิคเรนจ์ที่ทำได้ดีขึ้นชัดเจน
เหนืออื่นใดคือ การถ่ายทอดสีผิวที่โดดเด่น ซึ่งในกล้องสองรุ่นนี้ทั้งไฟล์ RAW และ JPEG คุณจะได้ Skin ที่สวยงามตามสไตล์แคนนอนที่หลายคนชอบแต่เพิ่มเติมด้วยความใสของภาพ โดยเฉพาะไฟล์ JPEG โดดเด่นอย่างมาก ภาพใสเคลียร์ ความอิ่มสีดี โดยยังไม่จัดจ้านเกิน ภาพเอาไปใช้งานได้โดยไม่ต้องปรับเลยด้วยซ้ำถ้าคุณไม่ได้ต้องการสีแบบจัดจ้าน
ระบบออโตโฟกัสที่ดีจะช่วยให้คุณได้ภาพคมชัดในตำแหน่งที่คุณต้องการและในโมเมนต์ที่ต้องการ ไม่ว่าซับเจกต์จะอยู่นิ่งๆ หรือเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว ดังนั้นระบบออโฟโฟกัสจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการทำงานเพื่อไม่ให้พลาดแอคชันที่ดี
EOS R5 และ EOS R6 ออกแบบระบบออโตโฟกัสใหม่ด้วยการใช้ระบบ Dual Pixel CMOS AF II ติดตั้งบนเซนเซอร์ภาพโดยมีพื้นที่การทำงานถึง 1,053 โซน ปรับเลือกจุดโฟกัสได้ 5,940 จุด(EOS R5) และ 6,072 จุด(EOS R6) สิ่งที่โดดเด่นคือมันครอบคลุมพื้นที่การทำงาน 100% ทั้งแนวตั้งและแนวนอน ดังนั้นทุกส่วนของภาพจะมีระบบโฟกัสแบบเฟสดีเทคชันรองรับการทำงาน ทำให้การโฟกัสติดตามวัตถุทำได้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้นไม่ว่าวัตถุจะอยู่กลางภาพหรือขอบภาพ
นอกจากนั้นระบบออโตโฟกัสของ EOS R5 สามารถทำงานในสภาพแสงน้อยได้ถึง -6.0EV ส่วน EOS R6 ทำได้ถึง -6.5EV เมื่อใช้งานกับเลนส์ไวแสงจะสามารถโฟกัสได้แม้แสงจะริบหรี่มาก และที่ไม่น่าเชื่อคือระบบออโตโฟกัสสามารถทำงานได้กับเลนส์ f/22 ( RF 800mm F11 IS STM + TC 2X)
ในการทดสอบผมได้ลองใช้ระบบโฟกัสของกล้องสองรุ่นนี้หลากหลายรูปแบบทั้ง One Shot และ AI Servo โดยเลือกใช้พื้นที่การโฟกัสต่างกันทั้งแบบพื้นที่กว้าง แบบโซน แบบเฉพาะจุด พบว่าประสิทธิภาพในการโฟกัสดีขึ้นกว่าเดิมอย่างมาก มากจนต้องบอกว่ากล้องสองรุ่นนี้สามารถใช้ในการถ่ายภาพได้ทุกรูปแบบรวมทั้งภาพกีฬา ภาพ Wildlife ที่จับจังหวะขณะนกบิน สัตว์วิ่ง หรือภาพแอคชันที่รวดเร็วต่างๆ การตอบสนองของระบบโฟกัสดีมาก การตอบสนองของชัตเตอร์ดี LAG ของการแสดงภาพน้อยลง สิ่งเหล่านี้ทำให้ EOS R5 และ EOS R6 ใช้งานได้สนุก หวังผลได้ในแทบทุกช็อตที่คุณกดชัตเตอร์
แคนนอนพัฒนาเทคโนโลยี Deep Learning เพื่อให้ระบบสามารถตรวจจับใบหน้า ดวงตา และศีรษะได้อย่างแม่นยำ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ยากต่อการโฟกัส อย่างเช่น ตัวแบบเดินเข้าหากล้องแล้วหันหน้า กลับหลังหัน พร้อมเปลี่ยนทิศทาง ระบบนี้จะปรับการทำงานจากดวงตามาเป็นศีรษะให้ทันทีทำให้โฟกัสยังไม่หลุด และเมื่อตัวแบบหันกลับมาระบบก็จะเปลี่ยยนไปจับดวงตาทันที ระบบนี้ทำงานได้แม้ตัวแบบจะมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับเฟรมภาพ(ต่างจากรุ่นเดิมที่ตัวแบบต้องมีขนาดใหญ่พอควรระบบจึงจะตรวจจับได้) และความเร็วในการทำงานก็ถูกพัฒนาให้ดีขึ้น มันจึงไม่ใช่แค่การถ่ายภาพคนเดิน แต่สามารถถ่ายภาพกีฬาโดยตรวจจับดวงตา ศีรษะ และโฟกัสติดตามได้เลย
นอกจากนั้นระบบนี้ยังสามารถตรวจจับดวงตาสัตว์ได้ ไม่ว่าจะเป็น สุนัข แมว เสือ นก หรือแมลงบางชนิด ทำให้การถ่ายภาพสัตว์(ซึ่งมักจะมีส่วนจมูกและปากยื่นออกมาคนละระนาบกับดวงตา) มีความแม่นยำสูง โดยเฉพาะเมื่อต้องถ่ายภาพเคลื่อนไหว โดยระบบจะตรวจจับทั้งดวงตา ใบหน้าและร่างกายของสัตว์ จึงมีความแม่นยำสูง
ผมทดสอบการทำงานของระบบตรวจจับใบหน้า ดวงตา และศีรษะโดยถ่ายภาพในหลายสถานการณ์ สิ่งที่พบคือเทคโนโลยีด้านนี้ของแคนนอนล้ำหน้าไปมาก มันสามารถโฟกัสติดตามดวงตาและศีรษะได้ดีน่าประทับใจมาก ในการถ่ายภาพแอคชันสามารถโฟกัสติดตามได้อย่างแม่นยำ อย่างเช่นฉากที่ถ่ายคนควบม้า ถ้าเลือกไว้ที่บุคคล มันก็จะโฟกัสตามคนโดยจับศีรษะและดวงตาของคนอย่างเดียว (แต่ถ้าถ่ายภาพคนกับสัตว์ เช่น สุนัข แล้วต้องการโฟกัสสุนัขด้วย แนะนำให้ตั้งโฟกัสไว้ที่ Animal เพราะหากต้องการเปลี่ยนการโฟกัสจากสุนัขเป็นคนสามารถทำได้อย่างรวดเร็วด้วยจอยสติ๊ก แต่ถ้าตั้งไว้ที่บุคคล การจะเปลี่ยนระบบโฟกัสไปที่สุนัขจะต้องเปลี่ยนจากเมนู) ซึ่งในการทดสอบผมพอใจการทำงานของระบบนี้มากและจะใช้เป็นหลักเมื่อถ่ายภาพคนที่มีการเคลื่อนไหวเพราะได้ภาพที่คมชัดในส่วนของศีรษะและตาค่อนข้างชัวร์ ไม่ต้องห่วงว่ามันจะไปชัดที่วัตถุที่อยู่ด้านหน้าซับเจกต์
ภาพนี้บันทึกด้วย Canon EOS R5 เลนส์ Canon RF 70-200mm F2.8L IS USM ; 1/2000 Sec f/3.2, Mode : M, WB : Auto, ISO 400 , Drive : 12 Frame/Sec, Focus Mode : SERVO (Head & Eye Detection) , RAW File (โพรเซสและปรับภาพจากโปรแกรม Photoshop CC)
ระบบโฟกัสที่ดีมากทำให้การถ่ายภาพแอคชันแบบนี้เป็นเรื่องง่ายมาก จนแม้แต่ผู้ที่ไม่มีประสบการณ์ในการถ่ายภาพลักษณะนี้ก็ยังถ่ายได้ ขอเพียงเคลื่อนกล้องตามให้ทัน
ภาพนี้บันทึกด้วย Canon EOS R6 เลนส์ Canon RF 70-200mm F2.8L IS USM ; 1/500 Sec f/2.8, Mode : M, WB : Auto, ISO 3200 , Drive : 12 Frame/Sec, Focus Mode : SERVO (Head & Eye Detection) RAW File (โพรเซสและปรับภาพจากโปรแกรม Photoshop CC)
ระบบตรวจจับดวงตา ใบหน้าและศรีษะของ EOS R6 ทำได้ดีมาก การแทรคตามซับเจกต์จึงแม่นยำ ทุกช็อตกล้องจับที่ใบหน้าของคนขี่ม้าอย่างแม่นยำ ไม่จับที่หน้าม้าทำให้ใบหน้าม้าเบลอเล็กน้อยเพราะเปิดรูรับแสงกว้างแต่คนขี่ม้าตัวหน้าคมชัดทุกช็อต และแม้แสงจะน้อยกาณโฟกัสก็ยังเร็วมาก
Canon EOS R6 เลนส์ Canon RF 70-200mm F2.8L IS USM ; 1/500 Sec f/2.8, Mode : M, WB : Auto, ISO 3200 , Drive : 12 Frame/Sec, Focus Mode : SERVO (Head & Eye Detection) RAW File (โพรเซสและปรับภาพจากโปรแกรม Photoshop CC)
ผมเลือกภาพนี้มาให้ชมเต็มๆว่าการโฟกัสของ EOS R6 น่าพอใจมาก
การทำงานของระบบตรวจจับดวงตา ใบหน้า และศรีษะ ไว้ใจได้ ทำให้ไม่พลาด
Canon EOS R6 เลนส์ Canon RF 800mm F11 IS STM ; 1/640 Sec f/11, Mode : M, WB : Auto, ISO 800 , Drive : 12 Frame/Sec, Focus Mode : SERVO (Head & Eye Detection) RAW File (โพรเซสและปรับภาพจากโปรแกรม Photoshop CC)
การโฟกัสติดตามวัตถุทำได้ดี ตอบสนองเร็วแม้กับเลนส์ที่ไม่ไวแสง
Canon EOS R6 เลนส์ Canon RF 600mm F11 IS STM ; 1/640 Sec f/11, Mode : M, WB : Auto, ISO 800 ภาพ : พีร วงษ์ปัญญา
Canon EOS R6 เลนส์ Canon RF 600mm F11 IS STM ; 1/800 Sec f/11, Mode : M, WB : Auto, ISO 800 ภาพ : พีร วงษ์ปัญญา
Canon EOS R6 เลนส์ Canon RF 600mm F11 IS STM ; 1/1600 Sec f/11, Mode : M, WB : Auto, ISO 1250 ภาพ : พีร วงษ์ปัญญา
ระบบตรวจจับศรีษะและดวงตา มีข้อดีคือพื้นที่การทำงานกว้างทั้งเฟรมภาพ การใช้งานจึงง่ายในแบบยก เล็ง ลั่นชัตเตอร์ ได้เลย
Canon EOS R6 เลนส์ Canon RF 70-200mm F2.8 L IS USM ; 1/800 Sec f/3.5, Mode : M, WB : Auto, ISO 100 , JPEG File, Focus Mode : Head & Eye Detection
EOS R5 และ EOS R6 มีความเร็วในการถ่ายภาพต่อเนื่องสูงสุด 20 ภาพต่อวินาที(ชัตเตอร์อิเล็กทรอนิกส์) และ 12 ภาพต่อวินาที (ชัตเตอร์แมคคานิค) ทำให้กล้องทั้งสองรุ่นนี้เป็นกล้องที่มีความเร็วในการถ่ายภาพต่อเนื่องสูงมาก สูงเพียงพอสำหรับการถ่ายภาพกีฬาและภาพแอคชันทุกรูปแบบ โดยระบบออโตโฟกัสยังสามารถทำงานแบบต่อเนื่องในการโฟกัสติดตามซับเจกต์
ด้วยความเร็วในการถ่ายโอนข้อมูลของเซนเซอร์ภาพและความเร็วในการประมวลผลของ DIGIC X ทำให้กล้องสองรุ่นนี้มีความเร็วในการทำงานสูงมาก โดยในการทดสอบด้วย EOS R5 กับ CFExpress พบว่าแม้จะบันทึกด้วยไฟล์ RAW+JPEG ต่อเนื่องความเร็วสูง กล้องก็สามารถเคลียร์บัฟเฟอร์ได้เร็วมาก การบันทึกที่ต้องรัวเป็นชุดจึงไม่สะดุด ส่วน EOS R6 หากใช้ร่วมกับการ์ด USH-II ความเร็วสูงก็สามารถถ่ายต่อเนื่องได้แบบไม่สะดุดเช่นกัน นี่คือสิ่งสำคัญของการถ่ายภาพกีฬาและภาพแอคชันต่างๆ
นี่คือกล้องสองรุ่นแรกของแคนนอนที่ใส่ระบบป้องกันภาพสั่นไหว 5 แกนในตัวกล้อง สามารถลดการสั่นไหวได้สูงสุดถึง 8.0 สตอป ทำให้สามารถใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำในการถ่ายภาพโดยถือกล้องด้วยมือได้ เช่น ถ่ายภาพน้ำตกให้สายน้ำพลิ้ว ถ่ายภาพผู้คนที่เดินตามถนนให้เห็น Movement ด้วยความเร็วชัตเตอร์ต่ำมากแต่ฉากหลังยังคมชัด เป็นต้น ระบบกันสั่นของ EOS R5 และ EOS R6 สามารถทำงานร่วมกับระบบกันสั่นแบบออพติคัลในตัวเลนส์ได้ทั้งกับเลนส์ RF และเลนส์ EF และยังสามารถทำงานได้ดีมากกับการบันทึกวิดีโอ
ในการใช้งานผมได้ใช้ประโยชน์จากระบบกันสั่นในตัวกล้องของ EOS R5 และ EOS R6 อย่างมาก โดยเฉพาะช็อตที่บันทึกด้วยเลนส์ RF 100-500mm IS นั้น ผมลองใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ 1/30 วินาทีโดยถือกล้องด้วยมือ ภาพที่ได้ก็ยังคมชัดแทบทั้งหมด มันช่วยให้เลนส์รุ่นนี้สามารถทำงานในสภาพแสงค่อนข้างน้อยได้โดยไม่ต้องดัน ISO สูงเกินไป เมื่อลองที่ความเร็วชัตเตอร์ 1/15 วินาที กับช่วงซูม 500mm ภาพส่วนใหญ่ก็ยังคมชัด กับเลนส์ RF 85mm F1.2L ที่ไม่มีระบบกันสั่นในเลนส์ มันช่วยให้เลนส์รุ่นนี้สามารถทำงานได้ทุกสภาพแสงอย่างแท้จริง เปิด f/1.2 แล้วถ่ายในสภาพแสงน้อยมากๆ ด้วยความเร็วชัตเตอร์ระดับ 1/8 วินาที หรือ 1/15 วินาที ภาพก็ยังคมกริบ ใช้แล้วประทับใจมาก
กับการบันทึกวิดีโอ ระบบกันสั่นทำงานได้น่าพอใจ มันช่วยให้การถือกล้องด้วยมือสามารถทำได้โดยภาพยังคงนิ่ง แต่ถ้าเป็นการเดินไปพร้อมกับบันทึกวิดีโอ EOS R5 และ EOS R6 จะมีฟังก์ชัน Digital IS ช่วยให้ภาพนิ่งมากยิ่งขึ้นซึ่งในการใช้งานลักษณะนี้ผมจะเปิดฟังก์ชันนี้ไว้เสมอเมื่อไม่มี Gimbal
Canon EOS R6 เลนส์ Canon RF 800mm F11 IS STM ; 1/125 Sec f/11, Mode : M, WB : Auto, ISO 400, Focus Mode : SERVO (Head & Eye Detection), JPEG File
กับเลนส์เทเลโฟโตกำลังสูงมากและไม่ไวแสงการทำงานยังสะดวกเพราะสามารถใช้ความเร็วชัตเตอร์ระดับ 1/60-1/125 วินาทีแบบถือถ่ายด้วยมือ ภาพก็ยังคมกริบแทบทุกภาพ ทำให้ไม่ต้องดัน ISO สูงเกินไป ระบบกันสั่นของ EOS R6 ทำงานได้น่าพอใจมาก
EOS R5 เป็นกล้องที่มีช่องมอง EVF คุณภาพดีมาก โดยเป็นแบบ OLED ความละเอียดของช่องมองสูงถึง 5.76 ล้านจุด เห็นภาพ 100% ให้ภาพคมชัดมาก ภาพในช่องมองคมกริบ แต่ที่ผมชอบไม่ใช่แค่ความละเอียดแต่เป็นความสบายตาในการมองภาพ เพราะภาพที่เห็นมีขนาดภาพใหญ่ มองได้เต็มตา ด้วยอัตราขยายช่องมอง 0.76X และสามารถมองห่างจากช่องมองได้ถึง 23 มม. ก็ยังเห็นภาพเต็มจอทำให้ไม่ต้องแนบตาจนติดช่องมองก็ยังเห็นภาพชัดเจน และทำให้ผู้ที่สวมแว่นตาก็ยังมองภาพได้สบายตา สิ่งที่แคนนอนพัฒนาไปจากเดิมคือเฟรมเรทในการแสดงภาพสูงถึง 120fps ภาพจึงเคลื่อนไหวนุ่มนวลเป็นธรรมชาติ และเมื่อเคลื่อนกล้องจะไม่ดูกระตุก ทำให้การมองทำได้ใกล้เคียงช่องมองแบบออพติคัล การวางเฟรม จัดองค์ประกอบจึงสะดวก สายตาไม่ล้าเมื่อต้องจดจ่ออยู่กับช่องมองภาพนานๆ
ส่วน EOS R6 มาพร้อมช่องมองแบบ OLED ความละเอียด 3.69 ล้านจุด เห็นภาพ 100% ให้ภาพคมชัด ขนาดภาพในช่องมองเท่ากับ EOS R5 คือ อัตราขยายช่องมอง 0.76X มองห่างจากช่องมองได้ถึง 23 มม. มีเฟรมเรทในการแสดงภาพสูงถึง 120fps เช่นเดียวกัน
ผมชอบช่องมองภาพของกล้องสองรุ่นนี้ สิ่งที่ดีคือความสบายตา มองนานๆ แล้วตาไม่ล้า ไม่แสบตาจนน้ำตาไหลเหมือนกล้องหลายๆ รุ่น เรื่องนี้สำคัญมากสำหรับผม มันช่วยให้การจัดองค์ประกอบ การวางเฟรมทำได้ดี การแพนกล้องภาพก็ยังนุ่มนวล และที่โดดเด่นกว่ากล้องส่วนใหญ่คือเมื่อถ่ายภาพในสภาพแสงน้อยมาก การแสดงภาพยังคงชัดเจน ไม่หยาบจนมองภาพลำบาก
ส่วนจอ LCD ของกล้องสองรุ่นนี้ไม่มีที่ติครับ ออกแบบดี การ Flip ออกด้านข้างแล้วปรับมุมได้อิสระทำให้มีอิสระในการวางเฟรม จัดองค์ประกอบภาพทั้งแนวนอน แนวตั้ง และสะดวกเมื่อถ่ายวิดีโอ จอ LCD ของ EOS R5 มีความละเอียดสูงถึง 2.1 ล้านจุด ส่วน EOS R6 มีความละเอียด 1.62 ล้านจุด ทั้งคู่ให้ภาพที่คมชัดมาก แสดงสีได้สดใส ความอิ่มสีสูง เห็นภาพชัดเจนแม้ใช้งานกลางแจ้ง และเป็นระบบทัชสกรีนเต็มรูปแบบทั้ง Touch AF Touch Shutter และ Touch Menu ซึ่งผู้ที่เคยใช้ระบบทัชสกรีนของกล้องแคนนอนคงทราบดีถึงความลื่นไหลในการทัช
ผมใช้ประโยชน์จากระบบทัชสกรีนของกล้องได้อย่างมาก ในการใช้งานเมื่อต้องการปรับตั้งค่าต่างๆ ผมไม่ค่อยได้เข้าเมนูแต่จะแต่ปุ่ม Q แล้วเข้าไปปรับตั้งด้วยการทัชสกรีนเลย และได้ใช้ Touch Shutter ค่อนข้างบ่อยเมื่อถ่ายภาพมุมต่ำหรือมุมสูง จิ้มแลัวให้กล้องโฟกัสและบันทึกเลย
EOS R5 มาพร้อมช่องใส่การ์ดคู่ ช่องหลักใช้ร่วมกับการ์ด CF express ที่มีความเร็วสูงมาก(มีความเร็วในการอ่านข้อมูล 1700-1750 MB/s ความเร็วในการเขียนข้อมูล 1200-1500 MB/s) ทำให้สามารถบันทึกวิดีโอระดับ 8K (EOS R5) ได้ และรองรับการบันทึกวิดีโอ 4K/120p และประโยชน์สำหรับการถ่ายภาพนิ่งก็คือทำให้กล้องเคลียร์บัฟเฟอร์ได้เร็วมาก จึงถ่ายต่อเนื่องได้โดยไม่สะดุด ส่วนอีกช่องใช้ร่วมกับ SD Card โดยรองรับการ์ด USH-II ที่มีความเร็วสูง ในการใช้กล้องรุ่นนี้ผมใช้การ์ดทั้งสองแบบ ในการถ่ายวิดีโอ 4K High Frame Rate นั้นต้องใช้ CF express เท่านั้น แต่กับ 4K/60p สามารถใช้กับ SD Card ได้ ความแตกต่างของการ์ดสองรูปแบบเมื่อถ่ายภาพนิ่งอยู่ตรงเมื่อถ่ายต่อเนื่องความเร็วสูงไฟล์ RAW หรือ RAW+JPEG ชุดใหญ่ CF express จะเคลียร์บัฟเฟอร์ได้เร็วกว่า
EOS R6 มาพร้อมช่องใส่ SD Card คู่ รองรับการ์ด USH-II ทั้งสองช่อง สามารถบันทึกวิดีโอ 4K/60p ได้เมื่อใช้การ์ด USH-II ความเร็วสูง ซึ่งในจุดนี้น่าจะถูกใจผู้ที่มี SD Card เพราะไม่ต้องเปลี่ยนเมโมรี่การ์ดใหม่
EOS R5 ออกแบบมาให้รองรับการใช้งานหนักของนักถ่ายภาพระดับจริงจังและมืออาชีพ ใช้โครงสร้างภายนอกที่ผลิตจากแมกนีเซียมอัลลอยที่เบาแต่แข็งแกร่ง โครงสร้างภายในก็ผลิตจากแมกนีเซียมอัลลอย ซีลป้องกันความชื้นและละอองน้ำรอบตัวเพื่อให้สามารถใช้งานได้แม้สภาพอากาศเลวร้าย ชัตเตอร์ออกแบบให้มีความทนทานเป็นพิเศษ สามารถใช้งานได้ถึง 500,000 ครั้ง และแข็งแรงเพียงพอต่อการรัวด้วยความเร็ว 12 ภาพต่อวินาทีอย่างต่อเนื่อง
ส่วน EOS R6 ออกแบบโดยใช้โครงสร้างภายนอกที่ผลิตจากเรซินโพลีคาร์บอเนต โครงสร้างภายในผลิตจากแมกนีเซียมอัลลอย ซีลป้องกันความชื้นและละอองน้ำรอบตัวเช่นเดียวกัน ชัตเตอร์ออกแบบให้มีความทนทานสามารถใช้งานได้ถึง 300,000 ครั้ง
นักถ่ายภาพหลายคนโดยเฉพาะผู้ที่เปลี่ยนกล้องจาก DSLR มักจะเป็นห่วงกล้อง Mirrorless ว่าจะมีความทนทานเพียงพอต่อการใช้งานหนักมั๊ย เรื่องนี้ผมตอบได้เลยครับว่ากล้อง Mirrorless แข็งแกร่งเพียงพอ และด้วยระบบกลไกที่น้อยกว่าทำให้การสึกหรอมีน้อย ดังนั้นความทนทานจึงไม่ต้องห่วง ซึ่งในการทดสอบผมใช้กล้องสองรุ่นนี้กลางสายฝนที่ตกหนักพร้อมเลนส์ RF 15-35mm F2.8L IS และ RF 70-200mm F2.8L IS พบว่าไม่ได้มีปัญหาใดๆ และได้ลองในสภาพที่ฝุ่นเยอะ อากาศร้อนมากจากการตากแดดช่วงเที่ยงจนกล้องร้อนจี๋ก็ไม่มีปัญหาใดๆ ใช้งานได้ปกติตลอดการทดสอบกว่า 20 วัน
ในการใช้งานที่เห็นจากภาพกล้องตากฝนที่ตกค่อนข้างแรงนานกว่า 10 นาทีจนเปียกโชกทั้งกล้องและเลนส์ ทั้ง EOS R5 และ EOS R6 ผมไม่ได้เก็บกล้องเพราะแสงสวยมากขณพะฝนตก แต่กล้องทั้งคู่ก็ไม่มีปัญหาใดๆ
ประสิทธิภาพในด้านนี้ผมทดลองโดยถ่ายภาพด้วยความไวแสงตั้งแต่ ISO 100 จนถึงสูงที่สุดของกล้อง ซึ่ง EOS R5 คือ ISO102400 ส่วน EOS R6 คือ ISO 204800 โดยบันทึกเป็นไฟล์ RAW+JPEG เพื่อดูผลการจัดการ Noise ของชิปประมวลผล DIGIC X และดูคุณภาพที่แท้จริงของเซนเซอร์ภาพด้วยไฟล์ RAW ผมใช้เลนส์ที่มีคุณภาพสูงมากของแคนนอนในการทดสอบเพื่อดูผลเรื่องความคมชัดและรายละเอียดของไฟล์ คือเลนส์ Canon RF 85mm F1.2L USM
EOS R5 เป็นกล้องความละเอียดสูงถึง 45 ล้านพิกเซล ซึ่งความละเอียดขนาดนี้ หลายคนไม่เชื่อว่าการจัดการกับ Noise จะทำได้ดี แต่จากการดูผลจากไฟล์จำนวนมากที่บันทึกมารวมทั้งจากการถ่ายทดสอบเรื่องนี้โดยเฉพาะพบว่า การจัดการ Noise ของกล้องรุ่นนี้ทำได้ดีน่าพอใจมาก ที่ ISO 800 ซึ่งเป็นความไวแสงที่ผมใช้บ่อย ภาพจากไฟล์ JPEG ยังดูเนียนตามาก แทบไม่มี Noise โดยภาพยังมีความคมชัดสูง รายละเอียดดีเยี่ยม ที่ ISO 1600 รายละเอียดของภาพลดลงเล็กน้อย แต่ยังดูคมชัดน่าพอใจ Noise ต่ำมากภาพดูเนียน สามารถใช้งานแบบหวังผลได้เต็มที่ ที่ ISO 3200 ผลที่ได้ยังน่าพอใจ รายละเอียดของภาพดี ไม่เป็นวุ้น การถ่ายทอดเฉดสียังดีมาก Noise ปรากฏบ้างแต่ไม่มาก ที่ ISO 6400 ความคมชัดลดลง แต่ยังอยู่ในระดับดีน่าพอใจ Noise บนไฟล์ JPEG ค่อนข้างน้อย แคนนอนบาลานซ์การจัดการสัญญาณรบกวนกับเรื่องรายละเอียดของภาพได้ลงตัวดีมาก ที่ ISO 12800 ผมยังพอใจคุณภาพของไฟล์ JPEG ครับ ภาพยังมีรายละเอียดดีในขณะที่ Noise ก็ค่อนข้างน้อยทำให้มันเป็นกล้อง Hi-res ที่สามารถใช้งานได้ทุกสภาพแสง ไม่ต้องห่วงเมื่อต้องดัน ISO ส่วนไฟล์ RAW นั้น จะปรากฏ Noise ตั้งแต่ ISO 800 มากขึ้นชัดเจนที่ ISO 1600 แต่รายละเอียดดีมาก ที่ ISO 3200 Noise ชัดเจนแต่รายละเอียดยังดี การปรับลดสัญญาณรบกวนจากซอฟท์แวร์จะช่วยได้มาก
EOS R6 เป็นกล้องที่ให้ผลดีเลิศในด้านนี้อย่างแท้จริง สำหรับช่างภาพอีเวนท์ ช่างภาพเวดดิ้ง ช่างภาพสารคดี ช่างภาพกีฬาและช่างภาพ Wildlife ที่ต้องบันทึกภาพด้วยความไวแสงสูงเป็นประจำนี่คือกล้องที่คุณจะหลงรักเพราะมันมี Noise ต่ำมาก ที่ ISO 3200 กับไฟล์ JPEG ภาพยังดูเนียนมาก ที่ ISO 6400 รายละเอียดของภาพจากไฟล์ JPEG ยังน่าพอใจมากในขณะที่ Noise มีน้อยมาก ภาพยังดูเนียน ที่ ISO 12800 ภาพยังมีรายละเอียดดีมาก ไม่เป็นวุ้น ที่ ISO 25600 ความคมชัดลดลง รายละเอียดหายไปบ้างจากการทำงานระบบลดสัญญาณรบกวน แต่ภาพก็ยังมีความคมชัดน่าพอใจ กับไฟล์ RAW มันให้ผลน่าประทับใจ Noise ปรากฏตั้งแต่ ISO 1600 แต่รายละเอียดยอดเยี่ยม ที่ ISO 3200 จะเห็น Noise ชัดแต่รายละเอียดน่าประทับใจ ปรับลด Noise ในซอฟท์แวร์เล็กน้อยก็จะได้ภาพที่เนียนแต่รายละเอียดดีมาก ที่ ISO 6400 ผลยังน่าพอใจเช่น ที่ ISO 12800 ซึ่งเป็นความไวแสงที่ช่างภาพกีฬาจำเป็นต้องใช้มันก็ยังให้ผลน่าพอใจ
กล้องสองรุ่นนี้ทำคะแนนในด้านนี้ได้ดีมาก เป็นกล้องที่ผมใช้แล้วไม่ต้องพะวงว่าหากต้องดัน ISO คุณภาพจะหายไปมากมั๊ยเพราะมันยังให้รายละเอียดดี โดยเฉพาะไฟล์ JPEG นั้นทำได้ในระดับเยี่ยมครับ
EOS R5 กับไฟล์ JPEG ผมยังพอใจกับรายละเอียดและสีสันของภาพแม้ใช้งานที่ ISO 12800 ภาพนี้ครอป 100% ให้ดูคุณภาพของกล้องรุ่นนี้
EOS R5 Lens Canon RF 85mm F1.2L USM ; 1/320 Sec f/8 , Mode : M , ISO 100 RAW File
ในส่วนของ Dynamic Range นั้น EOS R5 ทำได้ดี ต้องบอกว่าดีกว่าชึ้นจากเดิมชัดเจน ภาพนี้ผมถ่ายด้วยไฟล์ RAW ให้อันเดอร์ 5 สตอปแล้วดึง Exposure ขึ้นในโปรแกรม Photoshop ภาพยังมีคุณภาพดี เพียงแต่จะมี Noise บ้าง ปรับลด Noise ในโปรแกรมลงเล็กน้อยก็โอเคเลยครับ
EOS R6 Lens Canon RF 85mm F1.2L USM ; 1/320 Sec f/8 , Mode : M , ISO 100, RAW File
ส่วน EOS R6 ก็ทำได้พอๆ กันในเรื่อง Dynamic Range ภาพนี้ผมถ่ายด้วยไฟล์ RAW ให้อันเดอร์ 5 สตอปแล้วดึง Exposure ขึ้นในโปรแกรม Photoshop เช่นกัน
ภาพนี้ส่วนล่างของภาพที่เป็นตึกอันเดอร์อยู่ 5 สตอป ผมดึง Exposure ขึ้นในโปรแกรม Photoshop ที่ 4.5 สตอป ผลที่ได้ยังดีมาก
EOS R5 Lens Canon RF 70-200mm F2.8 L IS USM ; 1/320 Sec f/5.6 , Mode : M , ISO 100, RAW File
นี่คือภาพที่ดึงรายละเอียดขึ้นมา 4.5 สตอป
ไดนามิคเรนจ์ที่กว้างของ EOS R5 ทำให้มันเป็นกล้องที่ดีมากสำหรับการถ่ายภาพ Landscape และ Cityscape
EOS R5 Lens Canon RF 15-35mm F2.8L IS USM ; 1/50 Sec f/5.6, Mode : M, ISO 200, RAW File
นี่คือภาพที่โพรเซสจาก RAW File ของ EOS R5 กับเลนส์ Canon RF 15-35mm F2.8L IS USM ; 6 Sec f/14, Mode : M, ISO 100
นี่คือจุดขายของกล้องแคนนอนมาตลอดทศวรรษ โดยเฉพาะเรื่องสีผิวที่ทำได้โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ EOS 5 และ EOS 6 ยังคงถ่ายทอด DNA ของกล้องแคนนอนได้อย่างเดิมด้วยการให้สีผิวที่สวยมาก เนียน การไล่เฉดสีของผิวดีเยี่ยมในขณะที่ยังคงถ่ายทอดรายละเอียดของผิวได้อย่างดีมาก ไฟล์ JPEG สีผิวสวยจนแทบไม่ต้องทำอะไรมาก พร้อมใช้งานอย่างแท้จริง ส่วนไฟล์ RAW การถ่ายทอดสีผิวก็ยังแตกต่าง ให้ผิวที่เต็มไปด้วยรายละเอียดแต่มาพร้อมความใส ซึ่งผมเชื่อว่าช่างภาพที่ใช้แคนนอนคงรู้ดี
ในส่วนของการถ่ายทอดสีสันทั่วๆ ไปนั้น ต้องบอกว่าไฟล์ JPEG ให้ผลดีเลิศ แคนนอนเข้าใจความชอบและความต้องการของช่างภาพส่วนใหญ่ดี ไฟล์ JPEG ให้สีสวยมาก ภาพใสเคลียร์อย่างยิ่ง ผ่านการปรับจูนคอนทราสต์และ Curve มาอย่างลงตัว สีสันอิ่มตัวสดใสในระดับกำลังดี ไม่จัดจ้านเกิน (กับ Picture Style แบบ Standard และ Auto) ไฟล์สวยทั้งหน้าจอกล้องและหน้าจอคอม ซึ่งผมเชื่อว่าสิ่งนี้คนส่วนใหญ่ต้องการเพราะในการใช้งานของช่างภาพทั่วๆ ไป ก็ไม่ได้ใช้ไฟล์ RAW เป็นหลัก ไม่ได้ปรับแต่งทุกภาพ ถ่ายภาพ โยนภาพเข้าสมาร์ทโฟน แล้วก็อัพขึ้นโซเชียล บางคนก็แต่งภาพเพิ่มเติมจากแอพพ์ในสมาร์ทโฟนอีกเล็กน้อย ไฟล์ JPEG ที่ดีจึงมีความสำคัญ
ผมพอใจเรื่องการถ่ายทอดสีผิวและสีทั่วๆ ไปของภาพที่ได้จาก EOS R5 และ EOS R6 มากและเชื่อว่านี่เป็นจุดขายที่สำคัญอย่างหนึ่งของกล้องสองรุ่นนี้
สีจากไฟล์ JPEG หลังกล้อง EOS R5 ไม่ปรับแต่ง
EOS R5 Lens Canon RF 70-200mm F2.8 L IS USM ; 1/640 Sec f/2.8 , Mode : M , ISO 200, JPEG File
สีจากไฟล์ JPEG หลังกล้อง EOS R5 ไม่ปรับแต่ง
EOS R5 Lens Canon RF 70-200mm F2.8 L IS USM ; 1/640 Sec f/2.8 , Mode : M , ISO 200, JPEG File
สีจากไฟล์ JPEG หลังกล้อง EOS R5 ไม่ปรับแต่ง
EOS R5 Lens Canon RF 70-200mm F2.8 L IS USM ; 1/500 Sec f/2.8 , Mode : M , ISO 200, JPEG File
สีจากไฟล์ JPEG หลังกล้อง EOS R5 แบบไม่ปรับแต่ง
EOS R5 Lens Canon RF 70-200mm F2.8 L IS USM ; 1/640 Sec f/2.8 , Mode : M , ISO 200, JPEG File
สีจากไฟล์ JPEG หลังกล้อง EOS R5 แบบไม่ปรับแต่ง
EOS R5 Lens Canon RF 70-200mm F2.8 L IS USM ; 1/160 Sec f/2.8 , Mode : M , ISO 200, JPEG File
สีจากไฟล์ JPEG หลังกล้องของ EOS R6 ปรับความสว่างขึ้น 0.5 สตอป
EOS R6 Lens Canon RF 85mm F1.2 L USM ; 1/40 Sec f/5.6 , Mode : M , ISO 1600, JPEG File
สีจากไฟล์ JPEG หลังกล้อง EOS R6 ไม่ปรับแต่ง
EOS R6 Lens Canon RF 85mm F1.2 L USM ; 1/125 Sec f/1.8 , Mode : M , ISO 400, JPEG File
สีจากไฟล์ JPEG ของกล้อง EOS R6 แบบไม่ปรับแต่ง
EOS R6 Lens Canon RF 85mm F1.2 L USM ; 1/200 Sec f/2 , Mode : M , ISO 640, JPEG File
สีจากไฟล์ JPEG ของกล้อง EOS R6 ปรับเพิ่มความสว่าง 0.5 สตอป
EOS R6 Lens Canon RF 85mm F1.2 L USM ; 1/125 Sec f/1./ , Mode : M , ISO 640, JPEG File
ภาพกลางแสงแดดจัด คอนทราสต์สูง เช่นกัน ถ่ายด้วยไฟล์ RAW แล้วปรับแต่งในโปรแกรม Photoshop CC
EOS R6 Lens Canon RF 70-200mm F2.8 L IS USM ; 500 Sec f/3.5, ISO 125 , RAW File
EOS R6 Lens Canon RF 70-200mm F2.8 L IS USM ; 500 Sec f/2.8, ISO 125 , RAW File
ภาพกลางแสงแดดจัด ถ่ายด้วยไฟล์ RAW แล้วปรับแต่งในโปรแกรม Photoshop CC
EOS R6 Lens Canon RF 70-200mm F2.8 L IS USM ; 1/800 Sec f/2.8, ISO 100 , RAW File
แคนนอนออกแบบกล้องสองรุ่นนี้แตกต่างกันเล้กน้อย EOS R5 ไม่มีแป้นปรับโหมดด้านบนตัวกล้อง แต่ใช้ปุ่มกด Mode ร่วมกับแป้นควบคุม หรือจะใช้วิธีทัชสกรีนจากหน้าจอ LCD ก็ได้ โดยสามารถดูผลการปรับตั้งได้ทั้งจากจอ LCD ด้านหลังตัวกล้องหรือจากจอ LCD เล็กด้านบนตัวกล้อง ในการใช้งานหากคุ้นเคยแล้วการปรับก็นับว่าทำได้เร็ว สวิทช์เปิดปิดการทำงานวางไว้ด้านบนตัวกล้องซีกซ้าย ด้านหลังตัวกล้องออกแบบให้ใช้งานปุ่มปรับต่างๆ ได้สะดวก โดยวางจอยสติ๊กไว้ส่วนบน ย้ายจุดโฟกัสได้ง่าย ปุ่มต่างๆ สามารถคัสตอมให้ทำหน้าที่ตามต้องการได้ ด้านบนตัวกล้อง ปุ่ม M-Fn จะช่วยให้การปรับระบบสำคัญๆ ทำได้เร็ว แป้นควบคุมหน้าหลังออกแบบดี อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ปรับใช้งานสะดวก ปุ่มลั่นชัตเตอร์ก็อยู่ในตำแหน่งที่ดีมาก สะดวกต่อการใช้งาน
ส่วน EOS R6 จะแตกต่างตรงที่มีแป้นปรับโหมดแบบกลไกวางอยู่ด้านบนตัวกล้อง ปรับได้สะดวกและรวดเร็ว โดยปุ่มอื่นๆ รวมทั้งแป้นควบคุมอยู่ในตำแหน่งเดียวกัน ในการใช้งานกล้องสองรุ่นนี้พร้อมๆ กันจึงไม่สร้างความสับสนให้กับผมแต่อย่างใด
ต้องยอมรับว่าแคนนอนออกแบบจัดวางปุ่มปรับต่างๆ มาดีมาก การใช้งานจึงคล่องตัวอย่างยิ่ง กริปที่จับได้ถนัด กระชับมือก็ช่วยให้การควบคุมกล้องทำได้ดี การจัดวางระบบต่างๆ บนเมนูดีมาก แยกหมวดหมู่ชัดเจน ไม่สับสน ใช้งานเพียงแค่วันเดียวก็คุ้นกับเมนูแล้วครับ
Canon EOS R5 Lens Canon RF 15-35mm F2.8 L IS USM ; 1/250 Sec f/8, ISO 800
จอทัชสกรีนปรับมุมได้ทำให้ถ่ายภาพมุมต่ำสะดวกมาก ภาพนี้ผมใช้ระบบ Touch Shutter โดยจิ้มเลือกตำแหน่งโฟกัสแล้วลั่นชัตเตอร์ทันที
ระบบโฟกัสไว้ใจได้เสมอ กล้อง Canon EOS R5 Lens Canon RF 70-200mm F2.8 L IS USM ; 1/800 Sec f/2.8, ISO 320
ISO 1000 ภาพจากไฟล์ของ EOS R5 ยังเนียนมาก Lens Canon RF 85mm F1.2 L USM ; 1/125 Sec f/2.8, Mode : M, ISO 1000
ใช้งานสะดวกคล่องตัวในแบบยกเล็งแล้วถ่ายได้เลย จึงใช้สนุกมากสำหรับ EOS R6 Lens Canon RF 15-35mm F2.8 L IS USM ; 1/400 Sec f/6.3, ISO 320, RAW File (ปรับแต่งภาพในโปรแกรม Photoshop CC)
แสงที่สวยมากทำให้ถ่ายภาพได้สนุกยิ่งขึ้น กล้อง EOS R5 Lens Canon RF 70-200mm F2.8 L IS USM ; 1/500 Sec f/5.6, ISO 200
อีกช็อตที่ใช้ Touch Shutter จิ้มที่ม้าตัวที่อยู่ด้านล่าง ทำให้ถ่ายภาพได้เร็วมาก
Canon EOS R6 Lens Canon RF 15-35mm F2.8 L IS USM ; 1/320 Sec f/6.3, ISO 320 , RAW File (ปรับแต่งภาพในโปรแกรม Photoshop CC)
Canon EOS R6 Lens Canon RF 15-35mm F2.8 L IS USM ; 1/320 Sec f/6.3, ISO 320 , RAW File (ปรับแต่งภาพในโปรแกรม Photoshop CC)
Canon EOS R5 Lens Canon RF 70-200mm F2.8 L IS USM ; 1/500 Sec f/4.5, ISO 160 , RAW File (ปรับแต่งภาพในโปรแกรม Photoshop CC)
Canon EOS R6 Lens Canon RF 15-35mm F2.8 L IS USM ; 1/320 Sec f/6.3, ISO 320 , RAW File (ปรับแต่งภาพในโปรแกรม Photoshop CC)
Canon EOS R5 Lens Canon RF 70-200mm F2.8 L IS USM ; 1/1600 Sec f/2.8, ISO 200 , RAW File (ปรับแต่งภาพในโปรแกรม Photoshop CC)
EOS R5 มาพร้อมระบบวิดีโอคุณภาพสูง โดยสามารถบันทึกวิดีโอระดับ 8K/30p 10Bit 4:2:2 ให้ภาพที่มีรายละเอียดสูงมาก และยังสามารถบันทึกวิดีโอ RAW แบบ 8K ทั้งรูปแบบ DCI และ UHD และสามารถบันทึกวิดีโอ 4K แบบไม่ครอปที่จะบันทึกเป็น 8K แล้วย่อขนาดลดความละเอียดลงมาเป็น 4K ภาพจึงมีรายละเอียดเยี่ยมยอด มัวเร่น้อย จุดรบกวนในภาพต่ำ นอกจากนั้นยังสามารถบันทึกวิดีโอ 4K แบบ High Frame Rate ได้ถึง 120fps สามารถถ่าย Time Lapse ได้ที่ความละเอียด 8K, 4K และ Full HD นอกจากนี้ยังให้คุณบันทึก Canon Log และ HDR PQ ซึ่งช่วยรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นของการผลิตวิดีโอ HDR
และที่โดดเด่นอีกเรื่องคือในการบันทึกวิดีโอ 8K RAW คุณสามารถดึงข้อมูลภาพไฟล์ RAW ออกมาเป็นภาพนิ่งที่มีความละเอียดสูงถึง 35.4 ล้านพิกเซล และสามารถนำไฟล์ RAW ไปปรับแต่งในซอฟท์แวร์ DPP ของแคนนอนได้
ส่วน EOS R6 มาพร้อมวิดีโอระดับ 4K/60p และ Full HDทำได้ในการบันทึกแบบ High Frame Rate ถึง 120fps รองรับการบันทึก 4:2:2 10Bit และ 4:2:2 10Bit HDR PQ และมาพร้อม Canon Log สำหรับการเกรดสี สามารถถ่าย Time Lapse ได้ที่ความละเอียด 4K มีช่องต่อไมโครโฟนและช่องหูฟัง
จากการใช้งานผมได้ลองบันทึกวิดีโอ 4K/100p ซึ่งจะบันทึกในรูปแบบ ALL-i โดยกล้องยังสามารถโฟกัสติดตามได้ ภาพที่ได้คมชัดมาก รายละเอียดสูง การโฟกัสติดตามก็ทำได้ดีมาก แต่ใช้เมมโมรี่เยอะมาก การบันทึกเป็นคลิปสั้นๆ ต่อเนื่อง 15-16 คลิป กล้องไม่มีปัญหาเรื่องความร้อนแต่อย่างใด
ในการใช้งานระบบวิดีโอแทบทั้งหมดผมไม่ได้ใช้ระดับ 8K แต่จะบันทึกที่ 4K พบว่าการใช้งานทำได้คล่องตัวดีมาก โดยเฉพาะระบบโฟกัสที่แม่นยำ ระบบกันสั่นก็ทำงานได้ดี แต่ถ้าจะให้นิ่งพอเมื่อต้องเดินถือถ่ายควรเปิดระบบ Digital IS ช่วย
ตัวอย่างวิดิโอที่บันทึกด้วย Canon EOS R5 เลนส์ Canon RF 70-200mm F2.8L IS USM (4K / 100p) …คลิ๊กลิงค์
ผมได้รับ EOS R5 และ EOS R6 มาค่อนข้างนานคือ 20 วัน ได้ลองใช้มันอย่างเต็มที่กับเลนส์ RF หลายรุ่นมากครับ คือ RF 15-35mm F2.8 L IS USM , RF 24-70mm F2.8 L IS USM , RF 70-200mm F2.8 L IS USM , RF 85mm F1.2 L USM , RF 600mm F11 IS STM , RF 800mm F11 IS STM และ RF 100-500mm F4.5-7.1 L IS USM ขนไปถ่ายภาพกันแบบเต็มพิกัด
ในการใช้งานผมบอกได้เลยว่ากล้องสองรุ่นนี้ให้ความรู้สึกที่ดีอย่างมาก มันเป็นกล้องที่ใช้ง่าย ใช้สนุก อยากได้อะไรก็สั่งได้และมันก็ทำได้อย่างที่ต้องการ เรื่องแรกที่เกิดความรู้สึกที่ดีคือ LAG ในการทำงานลดลงมาก เวลาในการเปิดกล้องจนพร้อมถ่ายลดลงจากเดิม ทำให้เมื่อต้องรีบถ่าย มันตอบสนองได้เร็วกว่ามาก จึงไม่พลาดช็อตสำคัญ และการเปลี่ยนการมองภาพจากจอ LCD ไปเป็นช่องมอง EVF แทบไม่มี LAG กล้องสามารถแสดงภาพในช่องมองได้เร็วและลั่นชัตเตอร์ได้แทบในทันที ต่างจากรุ่นเดิมที่ต้องใช้เวลาเป็นวินาที เรื่องต่อมาคือ Blackout Time (ช่วงเวลาที่จอดำ ภาพหายไปจากหน้าจอ) มีน้อยมากเมื่อถ่ายภาพต่อเนื่องด้วยความเร็วสูง ทำให้การเคลื่อนกล้องเพื่อติดตามภาพทำได้ง่าย และด้วยเฟรมเรทในการแสดงภาพของช่องมอง EVF สูงถึง 120fps ทำให้เมื่อเคลื่อนกล้องเร็วๆ ภาพยังตามทัน ไม่กระตุกให้เสียจังหวะ เสียอารมณ์
ชัตเตอร์ของกล้องสองรุ่นนี้ทำงานเงียบและเบามาก ความสั่นสะเทือนน้อย แต่เมื่อต้องถ่ายต่อเนื่อง 12 ภาพต่อวินาทีมันก็แสดงพลังในการทำงานให้เห็นโดยกล้องสะเทือนน้อยมาก นี่คือข้อดี แต่ช่างภาพที่คุ้นกับเสียงชัตเตอร์แบบดุดันของ EOS 1D X Mark II หรือ Mark III อาจรู้สึกว่าชัตเตอร์เงียบเกิน ช่องมองภาพมองได้สบายตาดีครับ ใช้นานๆ แล้วตาไม่ล้าได้ง่ายๆ การแสดงสีในช่องมอง EVF ก็กำลังลงตัวดี ไม่ได้บูสท์สีจัดเหมือนบางรุ่น คอนทราสต์ก็ตั้งไว้พอเหมาะพอดี จอ LCD ด้านหลังตัวกล้องคมชัดมากและสว่าง เห็นภาพชัดเจนแม้ใช้งานกลางแจ้ง
ระบบออโตโฟกัสคือการพัฒนาครั้งสำคัญ มันเปิดโอกาสให้สามารถถ่ายภาพเคลื่อนไหวรวดเร็ว เช่น ภาพนกบิน ภาพกีฬา ภาพมอเตอร์สปอร์ต ภาพกีฬาเอ็กซ์ตรีมต่างๆ ทำได้ง่ายและหวังผลได้มากกว่าเดิมอย่างมากขอเพียงเซ็ทอัพระบบ AF ให้ถูกต้องตามลักษณะภาพ เลือกพื้นที่โฟกัสให้ดี และเคลื่อนกล้องตามซับเจกต์ให้ทัน ที่เหลือ EOS R5 และ EOS R6 มันจะจัดการให้คุณได้ภาพที่คมชัดเอง ชีวิตง่ายขึ้นเยอะ…
ผมมีความสุขที่ได้ใช้กล้องสองรุ่นนี้มาก บอกตามตรงว่าในรอบสองสามปีมานี้มีกล้องไม่กี่รุ่นที่ให้ความรู้สึกแบบนี้ ส่วนใหญ่ก็แค่ดี แค่พอใจ แต่ไม่ได้หลงรัก แต่ EOS R5 และ EOS R6 เป็นมากกว่านั้น มันคือกล้องที่เป็นจุดเริ่มต้นในการกลับมาของแคนนอนที่คนรักแคนนอนต้องลองครับ
EOS R6 Lens Canon RF 800mm F11 IS STM ; 1/640 Sec f/11, ISO 800 , RAW File
EOS R5 เป็นกล้องความละเอียดสูงที่รองรับการใช้งานได้หลากรูปแบบ เหมาะสำหรับช่างภาพ Landscape ช่างภาพพอร์เทรต เวดดิ้ง แฟชัน ช่างภาพโฆษณา ช่างภาพ Wildlife และยังรองรับการถ่ายภาพกีฬา อีเวนท์ ภาพข่าวและสารคดีได้อย่างดี เพราะมันมีระบบโฟกัสที่ดีมาก ความละเอียดสูงแต่ Noise ต่ำ ไดนามิคเรนจ์ดี
EOS R6 เหมาะกับช่างภาพกีฬา ช่างภาพอีเวนต์ ช่างภาพข่าว สารคดี ที่ไม่ได้ต้องการความละเอียดของกล้องสูงมาก ซึ่งความละเอียด 20.1 ล้านพิกเซลก็เพียงพอแล้วโดยสิ่งที่ได้คือ สามารถใช้ความไวแสงสูงเพื่อเก็บแสงแอมเบียนซ์ของงาน ของสถานที่ ได้โดยยังได้ไฟล์ภาพที่มีคุณภาพสูง Noise ต่ำมาก ความเร็วในการโฟกัสและการถ่ายต่อเนื่องที่ดีมากทำให้ช่างภาพทำงานได้คล่องตัว หวังผลได้ทุกช็อตที่กดชัตเตอร์ และยังเหมาะกับช่างภาพเวดดิ้งที่ต้องการเก็บบรรยากาศของงานด้วยแสงแอมเบียนซ์
และแน่นอนว่าทั้งคู่เหมาะกับช่างภาพทั่วๆไปที่ไม่ใช่มืออาชีพ แต่เน้นกล้องที่ใช้สนุก คุณภาพสูงและไม่พลาดในทุกโมเมนต์ที่ต้องการ
เรื่องและภาพโดย อิสระ เสมือนโพธิ์