อะไรคือกล้องมีเดียม ฟอร์แมต (Medium format)
ในการจัดประเภทของกล้องดิจิตอล จะแบ่งเป็นกล้อง DSLR , MIRRORLESS และกล้องคอมแพค แต่เมื่อพูดถึงฟอร์แมตของกล้อง เราจะแบ่งกันตามขนาดของเซ็นเซอร์ภาพ กล้องที่ใช้ขนาดเซ็นเซอร์ภาพเท่ากับฟิล์ม 35 มม. (24×36 มม.) เราจะเรียกกันว่าขนาดฟูลเฟรม (Full Frame) ฟอร์แมตที่เล็กลงไปก็จะเป็นฟอร์แมต APS-C และ Micro Four Thirds แต่ถ้าเล็กลงไปอีกก็จะแสดงตามขนาดที่มีหน่วยเป็นนิ้ว เช่น 1 นิ้ว , 1/1.7 นิ้ว หรือ 1/2.3 นิ้ว (กล้องคอมแพคและสมาร์ทโฟน) แต่ถ้าขนาดเซ็นเซอร์ภาพใหญ่กว่าฟูลเฟรม เราก็จะเรียกว่า มีเดียมฟอร์แมต
ทำไมจึงต้องเป็นมีเดียมฟอร์แมต
เซ็นเซอร์ภาพขนาดเล็กสามารถทำให้มีความละเอียดสูงได้ เช่น สมาร์ทโฟนระดับไฮเอนด์รุ่นใหม่ๆ ที่ใช้เซ็นเซอร์ภาพขนาด 1/2.0 นิ้ว มีความละเอียดสูงถึง 48 ล้านพิกเซล ทำได้พอกับกล้อง DSLR หรือ MIRRORLESS ความละเอียดสูงที่ใช้เซ็นเซอร์ภาพขนาดฟูลเฟรมที่จะมีความละเอียด 42-50 ล้านพิกเซล แต่ความแตกต่างก็คือขนาดของแต่ละพิกเซลจะเล็กมาก คือประมาณเกือบๆ 1 microns ในขณะที่กล้องฟูลเฟรม 50 ล้านพิกเซล จะมีขนาดพิกเซลประมาณ 4.1 microns ขนาดพิกเซลที่แตกต่างกันทำให้พิกเซลใหญ่กว่า รับแสงได้มากกว่า จึงมีสัญญาณรบกวน (Noise) ต่ำกว่า มีไดนามิคเรนจ์กว้างกว่า เก็บรายละเอียดในส่วนมืดและส่วนสว่างได้ดีกว่า เก็บการไล่ระดับเฉดสีได้มากกว่า และให้รายละเอียดสูงกว่า
เช่นกันครับ การขยับจากฟูลเฟรมขึ้นไปเป็นมีเดียมฟอร์แมต แม้จะเป็นกล้องที่มีความละเอียดเท่ากัน เช่น 50 ล้านพิกเซล แต่ขนาดพิกเซลของกล้องมีเดียมฟอร์แมตจะใหญ่กว่ากันเกือบเท่าตัว ดังนั้นประสิทธิภาพในการรับแสงจึงสูงกว่า ไดนามิคเรนจ์กว้างกว่า รายละเอียดสูงกว่า ให้ภาพที่มีคุณภาพสูงกว่ากล้องขนาดฟูลเฟรมขึ้นไปอีกระดับ
มีเดียมฟอร์แมตเหมาะกับมืออาชีพเท่านั้น จริงหรือไม่
ก่อนหน้านี้ 5-6 ปี กล้องมีเดียมฟอร์แมตจะเหมาะกับการใช้งานของมืออาชีพเท่านั้น เพราะมีราคาสูงตั้งแต่ 500,000–2,000,000 บาท เลนส์ก็มีราคาสูงมาก การใช้งานก็ค่อนข้างยุ่งยาก มีข้อจำกัดหลายอย่าง ทั้งระบบโฟกัสและความเร็วในการทำงาน จึงไม่เหมาะกับนักถ่ายภาพทั่วไป
แต่เมื่อฟูจิฟิล์มเปิดตัวกล้องมีเดียม ฟอร์แมตรุ่น GFX 50S เมื่อสองปีก่อน ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้มีเดียมฟอร์แมต เพราะถูกลงมาก คุณภาพสูง ขนาดไม่ใหญ่โตเทอะทะ มีเลนส์คุณภาพสูงที่ราคาไม่สูงให้ใช้หลายขนาด ใช้งานได้สะดวกคล่องตัวราวกับกล้อง 35 มม. ทำให้มันเป็นกล้องที่เข้าถึงกลุ่มผู้ใช้กว้างขึ้น ตั้งแต่มืออาชีพ ช่างภาพระดับจริงจัง รวมทั้งมือสมัครเล่นที่ต้องการไฟล์คุณภาพสูง
Fujifilm GFX50R น่าสนใจตรงไหน
GFX50R เป็นกล้องมีเดียมฟอร์แมตรุ่นใหม่จากฟูจิฟิล์มที่ออกแบบให้รูปทรงดูสวยงามในสไตล์กล้องเรนจ์ไฟน์เดอร์ คล้ายๆกับกล้อง X-E2 และ X-E3 ดูรีแลกซ์ขึ้น เหมาะสำหรับการนำไปใช้งานในชีวิตประจำวันมากขึ้น แต่ยังคงจุดเด่นของกล้องมีเดียมฟอร์แมตด้วยคุณภาพที่ทำได้เทียบเท่า GFX50S ทว่าใช้งานคล่องตัวเหมือนกับใช้กล้อง X-Series รุ่น X-E3 ด้วยการจัดวางปุ่มปรับที่ใช้ง่าย มีระบบทัชสกรีนที่นอกจากจะ Touch Focus, Touch Shutter แล้วยังปัดหน้าจอ LCD เพื่อเรียกฟังก์ชันต่างๆ ออกมาใช้งานได้อย่างรวดเร็ว
จุดเด่นของ Fujifilm GFX50R
GFX50R เป็นกล้องมีเดียมฟอร์แมตที่มีจุดเด่นในหลายๆ เรื่อง คือ
กล้องทรงเรนจ์ไฟน์เดอร์ที่สวยและแข็งแกร่ง ด้วยการออกแบบในรูปทรงแบบเรนจ์ไฟน์เดอร์ คุณจึงมองภาพได้สะดวกจากจอ EVF คุณภาพสูง ในขณะที่ตาข้างซ้ายยังเห็นบรรยากาศ ของฉากรอบๆ สิ่งที่คุณถ่ายภาพอยู่ จึงรีแลกซ์กว่า ผ่อนคลายในการใช้งานได้มากกว่า และด้วยการจัดวางแป้นปุ่มปรับที่แทบไม่ต่างกล้อง X-Series รวมทั้งการจัดวางเมนูที่คล้ายกันมาก ทำให้ผู้ที่เคยใช้กล้อง X-Series สามารถทำความคุ้นเคยกับ GFX50R ในเวลาไม่กี่นาที เป็นกล้องที่ใช้งานง่าย จนไม่มีความรู้สึกว่า GFX50R คือกล้องมีเดียมฟอร์แมต
GFX50R มีแป้นปรับความเร็วชัตเตอร์เหมือนกับกล้อง X-Series ปรับความเร็วชัตเตอร์ได้ตั้งแต่ B,T,1-1/4000 วินาที โดยเป็นการปรับขึ้นละ 1 สตอป แต่สามารถใช้แป้นควบคุมด้านหลังปรับละเอียดขั้นละ 1/3 สตอปได้ แต่จะปรับความเร็วชัตเตอร์สูงขึ้นได้ 2 ระดับ ถึง 2/3 สตอป และปรับความเร็วชัตเตอร์ต่ำลงได้ 2/3 สตอปเช่นกัน ถ้าต้องการปรับความเร็วชัตเตอร์ด้วยแป้นควบคุมอย่างต่อเนื่องทุกระดับความเร็วชัตเตอร์ จะต้องหมุนแป้นไปที่ตำแหน่ง T แล้วมาปรับที่แป้นควบคุมด้านหลังอย่างเดียว จะปรับความเร็วชัตเตอร์ได้ตั้งแต่ 1/4000 วินาทีถึงต่ำสุดที่ 60 นาทีเลยทีเดียว
วงแหวนปรับรูรับแสงอยู่ที่เลนส์ ปรับละเอียดขั้นละ 1/3 สตอป และมีตำแหน่ง A และ C สำหรับระบบอัตโนมัติ การปรับโหมด P,A,S และ M ต้องเลือกที่วงแหวนปรับรูรับแสงและแป้นความเร็วชัตเตอร์เหมือนกับการใช้กล้อง X-Series แป้นปรับความเร็วชัตเตอร์มีปุ่มล็อกเพื่อป้องกันการปรับหมุนโดยไม่ตั้งใจ ด้านข้างเป็นแป้นชดเชยแสงแบบกลไกที่ปรับตั้งได้อย่างรวดเร็ว
GFX50R ออกแบบให้สามารถคัสตอมปุ่ม Fn ได้มากถึง 5 ตำแหน่ง เพื่อเลือกฟังก์ชันที่ต้องการไปวางไว้ได้เพื่อการเรียกใช้ที่รวดเร็ว และยังสามารถปรับตั้งฟังก์ชันที่ต้องการเรียกใช้เร็วๆ ด้วยการปัดนิ้วบนหน้าจอ LCD ขึ้น-ลง,ซ้าย-ขวา ได้อีก 4 ฟังก์ชัน และยังสามารถคลิ๊กที่แป้นควบคุมด้านหลังเพื่อเข้าระบบที่ต้องการได้อีก 1 ฟังก์ชัน GFX-50R จึงเป็นกล้องที่เซ็ทฟังก์ชันที่ใช้งานบ่อยลงบนปุ่ม Fn ได้มากมาย ออกแบบให้รองรับการใช้งานได้ทั้งระดับมืออาชีพและระดับจริงจัง และสิ่งที่ช่วยให้ GFX50R ใช้งานได้คล่องตัวมาก คือ มีจอยสติ๊กที่ออกแบบได้ดี ย้ายจุดโฟกัสได้สะดวก การเลือกระบบโฟกัส S,C และ M ทำได้ด้วยสวิตซ์โยกแบบกลไกที่ใช้งานได้เร็ว
จอ LCD ที่ปรับมุมได้ทำให้ถ่ายภาพมุมสูงละมุมต่ำได้สะดวก และด้วยระบบทัชสกรีนทำให้การเลือกจุดโฟกัสทำได้ง่ายและรวดเร็ว
ไม่เพียงแค่สวย แต่ GFX50R ยังมีโครงสร้างที่แข็งแกร่ง ด้วยการใช้แมกนีเซียมอัลลอย มีการซีลป้องกันฝุ่นและละอองน้ำเพื่อให้สามารถใช้งานได้ในทุกสภาพอากาศ ยังสามารถใช้งานได้แม้อุณหภูมิจะลดตํ่าถึง -10 องศาเซลเซียส และ GFX50R ยังคงมีขนาดที่กะทัดรัดและมีน้ำหนักตัวกล้องเพียง 775 กรัม (พอๆ กับกล้องฟูลเฟรม) ทำให้ GFX50R ใช้งานได้คล่องตัวไม่ว่าจะอยู่ในสตูดิโอหรือออกนอกสถานที่ รวมทั้งยังสะดวกต่อการเดินทางท่องเที่ยว
คุณภาพที่สูงกว่าฟูลเฟรม ด้วยการใช้เซ็นเซอร์ภาพขนาดใหญ่ถึง 43.8×32.9 มม. ซึ่งมีพื้นที่ภาพใหญ่กว่าฟูลเฟรมถึง 1.7 เท่า ทำให้ GFX50R สามารถสร้างไฟล์ความละเอียด 51.4 ล้านพิกเซลที่มีรายละเอียดสูงมาก แม้กระทั่งรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่คุณไม่เคยได้จากกล้องรุ่นใดๆ ในฟอร์แมตที่เล็กกว่า นอกจากนั้นยังให้ระดับการไล่โทนที่ละเอียดเป็นธรรมชาติ ไฟล์มีไดนามิคเรนจ์กว้างมาก รองรับการขุดรายละเอียดได้เต็มพิกัด และที่สำคัญมันยังให้คาแรคเตอร์สีอันเป็นเอกลักษณ์ของฟูจิฟิล์มด้วยความอิ่มสีสูง แต่ไม่จัดจ้านเกินจริง และให้สีผิวสวยเป็นพิเศษ ด้วยคุณภาพที่โดดเด่น GFX50R จึงเหมาะสำหรับมืออาชีพที่ทำงานด้านแฟชั่น พอร์เทรต เวดดิ้ง ถ่ายสินค้า อาหาร ภาพสถาปัตยกรรม รวมทั้งภาพแลนด์สเคป
และด้วยคุณภาพของเลนส์ GF ที่ฟูจิฟิล์มพัฒนาเพื่อรองรับกล้องความละเอียดสูงได้ถึง 100 ล้านพิกเซล การใช้งานร่วมกับเลนส์ GF Fujinon จึงเป็นการผสานการทำงานเพื่อถ่ายทอดความสมบูรณ์ของภาพลงบนไฟล์คุณภาพสูง อย่างที่ยากจะหาได้จากกล้องในระดับเดียวกัน
เลือกฟอร์แมตภาพและโทนสีภาพได้ดั่งใจ GFX50R ออกแบบให้คุณสามารถเลือกอัตราส่วนภาพได้ตามต้องการถึง 7 ขนาด คือ 4:3, 5:4, 7:6, 1:1, 3:2, 16:9 และ 65:24 โดยแต่ละฟอร์แมตยังเลือกความละเอียดของภาพได้ 2 ระดับ และเลือกการบีบอัดของไฟล์ JPEG ได้อีก 3ระดับ สามารถบันทึกไฟล์ RAW 14 บิตได้ สามารถแปลงไฟล์ RAW เป็น TIFF 8 บิต จากตัวกล้องได้
นอกจากนั้น GFX50R ยังมาพร้อมโหมดจำลองฟิล์มที่มีให้เลือกใช้หลายแบบเพื่อสร้างโทนสีตามความต้องการของคุณ รวมทั้งมีโหมด Color Chrome Effect เพื่อสร้างความอิ่มสีสูงให้โทนสีที่สดใส จัดจ้านกว่า เช่น ภาพกลีบดอกไม้โทนสีแดง เป็นต้น
ชัตเตอร์ที่ออกแบบใหม่สำหรับกล้องมีเดียมฟอร์แมต ด้วยขนาดเซ็นเซอร์ภาพที่ใหญ่มาก ขนาดของชัตเตอร์จึงต้องใหญ่ด้วย GFX50R มีการออกแบบชุดชัตเตอร์ใหม่สำหรับกล้องมีเดียมฟอร์แมตที่เป็นกล้องมิเรอร์เลสโดยเฉพาะเป็นครั้งแรกในโลก เป็นชัตเตอร์ที่มีความสั่นสะเทือนน้อย เงียบ มีความเร็วชัตเตอร์สูงสุดถึง 1/4000 วินาที และมีความทนทาน ใช้งานได้ถึง 150,000 ครั้ง นอกจากนั้นยังมีชัตเตอร์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีความเร็วชัตเตอร์สูงสุดถึง 1/16000 วินาที
ระบบโฟกัสที่เหนือชั้นกว่ากล้องมีเดียมฟอร์แมตทั่วไป GFX50R ออกแบบระบบออโตโฟกัสให้ทำงานได้รวดเร็วและแม่นยำโดยมีจุดโฟกัสแบบตรวจจับคอนทราสต์ถึง 425 จุด เลือกพื้นที่โฟกัสได้ 6 แบบ เลือกขนาดจุดโฟกัสได้อีกหลายขนาด สามารถย้ายจุดโฟกัสได้รวดเร็วด้วยจอยสดิ๊ก มีระบบตรวจจับโฟกัสที่ใบหน้าและสามารถเลือกการทำงานตรวจจับโฟกัสตาได้ทั้งแบบอัตโนมัติหรือเลือกโฟกัสตาขวาหรือตาซ้ายได้
ในช่องมองภาพสามารถแสดงช่วงความชัดลึกได้ มีฟังชั่นการปรับโฟกัสทั้งแบบการขยายภาพและระบบ Peaking และด้วยช่องภาพ EVF ที่มีขนาดภาพใหญ่ ความละเอียดสูงถึง 3.69 ล้านจุด ทำให้สามารถตรวจสอบการโฟกัสได้อย่างแม่นยำ อีกทั้งจอ LCD ขนาด 3.2 นิ้วด้านหลังตัวกล้องก็มีความละเอียดสูงถึง 2.36 ล้านจุด จึงใช้ตรวจสอบความคมชัดได้อย่างดีเยี่ยม
ช่องใส่การ์ด SD 2 Slot GFX50R มาพร้อมช่องใส่การ์ด SD ถึง 2 ช่อง รองรับการทำงานของมืออาชีพได้เต็มรูปแบบ สามารถเลือกรูปแบบการบันทึกลงการ์ด 2 ช่องได้หลายแบบ
ผลการใช้งาน
ต้องบอกเลยครับว่าผมได้กล้องรุ่นนี้มาลองใช้งาน 2 รอบแล้ว และรอบหลังนี่กล้องอยู่กับผมนานเกือบหนึ่งเดือน ได้ลองใช้งานหลายรูปแบบ ทั้งแลนด์สเคป ซิตี้สเคป พอร์เทรต และใช้งานทั่วๆไป ถ่ายเด็ก ถ่ายสัตว์เลี้ยง โดยเลนส์ที่ได้ลองใช้มีหลายรุ่น ตั้งแต่ GF 23mm f/4R LM WR, GF 45mm f/2.8R WR, GF 63mm f/2.8R WR, GF 110mm f/2R LM WR, GF 120mm f/4R LMOIS WR Macro และ GF 250mm f/4R LM OIS WR แต่เลนส์ที่ใช้บ่อยที่สุด ชอบที่สุดจะเป็น GF 110mm f/2R LM WR. เพราะสว่างและใช้ถ่ายพอร์เทรตดีมาก
จับถือเป็นอย่างไร ขนาดต้องบอกว่าไม่เล็กครับ หากนำไปเทียบกับ X-Series แต่ถ้ามองว่านี่คือมีเดียมฟอร์แมต ขนาดของมันก็ไม่ใหญ่ การจับถือได้ดี อาจจะยังไม่เท่า GFX50S แต่ด้วยรูปแบบกล้องที่เป็นทรงเรนจ์ไฟน์เดอร์การจับถือต้องนับว่าทำได้ดีน่าพอใจแล้วครับ จับได้เต็มมือโดยนิ้วก้อยไม่หลุด และด้วยสันกริปด้านหน้าและด้านหลังที่ค่อนข้างหนาทำให้การถือกล้องแบบหิ้วทำได้ดีอยู่ จุดนี้สำคัญนะครับ เพราะในการใช้งานเราไม่ได้สะพายกล้องตลอด ต้องถือ ต้องหิ้วบ่อยๆ
ใช้งานเป็นอย่างไร การควบคุมกล้องทำได้ดีมากครับ ปุ่ม Fn 5 ปุ่ม แยกตำแหน่งกันชัดเจนจึงไม่สับสน ในการใช้งานผมใช้เป็นปุ่มปรับ ISO, ปรับไวท์บาลานซ์ , ปรับโหมดจำลองสี, ปรับเลือกพื้นที่โฟกัส ทำให้ใช้งานได้คล่องตัวมาก ส่วนแป้นควบคุมด้านหลัง ปรับให้กดแล้วขยายภาพ ส่วนการปัดหน้าจอเพื่อเรียกฟังก์ชันนั้น ผมไม่ค่อยได้ใช้
แป้นควบคุมด้านหน้าและด้านหลังใช้งานสะดวกมากครับ ออกแบบดี อยู่ในตำแหน่งที่ดี ปรับได้ถนัดมือ จอยสติ๊กนูนขึ้นมาจากแผงหลังพอควร ทำให้ใช้งานสะดวก เลื่อนจุดโฟกัสได้ง่าย สวิตซ์เลือกโหมดโฟกัส S, C และ M แบบก้านโยกก็ใช้งานได้คล่องตัว เปลี่ยนได้เร็ว และมองเห็นการปรับตั้งได้ทันทีที่มองด้านหลังกล้อง
ช่องมองภาพ ขนาดช่องมองภาพใหญ่ มองภาพได้เต็มตา ด้วยขนาดเลนส์ตาที่ใหญ่ทำให้การมองภาพสบายตา ไม่ต้องแนบตาชิดช่องมองภาพเต็มจอ ภาพในช่องมองคมชัด สีสันสดใส คอนทราสต์สูง สีสดกว่าไฟล์จริงเล็กน้อย ในสภาพแสงน้อยการแสดงภาพยังทำได้ค่อนข้างดี
ออโตโฟกัส ระบบ AF ทำงานได้แม่นยำ ความเร็วอยู่ในระดับปานกลาง ยังไม่เร็วเท่า X-Series แต่ต้องไม่ลืมว่านี่คือมีเดียมฟอร์แมต เมื่อเทียบกับกล้องมีเดียมฟอร์แมตรุ่นอื่นๆ ระบบ AF ของ GFX50R ทำได้ดีมาก เร็วพอสำหรับการใช้งานระดับมืออาชีพ ในการใช้งานผมมักจะใช้โฟกัสแบบจุดเดียว ขนาดพื้นที่โฟกัสขยายขึ้นจากจุดเล็กสุด 2 ระดับ ย้ายจุดโฟกัสด้วยจอยสติ๊ก เมื่อใช้งานพบว่า ความเร็วในการโฟกัสแบบตรวจจับคอนทราสต์ของกล้องรุ่นนี้อยู่ในระดับดี ความแม่นยำดีมาก พิสูจน์ได้จากการใช้เลนส์ GF 110mm f/2R LM WR เมื่อถ่ายภาพบุคคลแล้วเปิดระบบตรวจจับดวงตาไว้ แม้เปิด f/2 (ความชัดลึกน้อยมาก) โฟกัสก็เข้าที่ตาตลอด กับวัตถุอื่นที่ไม่ใช่คน การโฟกัสก็ทำได้แม่นยำน่าพอใจ ในสภาพแสงน้อยความเร็วในการโฟกัสลดลงบ้างแต่ความแม่นยำยังใช้ได้ ส่วนการโฟกัสต่อเนื่อง (AF-C) ความเร็วอยู่ในระดับพอใช้
Fujifilm GFX50R Lens GF23mm F4R LM WR ; 1/800 Sec f/8 ISO160
Fujifilm GFX50R Lens GF23mm F4R LM WR ; 1/600 Sec f/9 ISO160
Fujifilm GFX50R Lens GF23mm F4R LM WR ; 1/200 Sec f/13 ISO100
Fujifilm GFX50R Lens GF23mm F4R LM WR ; 1/320 Sec f/11 ISO125
Fujifilm GFX50R Lens GF23mm F4R LM WR ; 1/125 Sec f/16 ISO125
Fujifilm GFX50R Lens GF23mm F4R LM WR ; 1/320 Sec f/13 ISO160
Fujifilm GFX50R Lens GF110mm F2R LM WR ; 1/40 Sec f/5 ISO100
Fujifilm GFX50R Lens GF23mm F4R LM WR ; 30 Sec f/14 ISO100
Fujifilm GFX50R Lens GF23mm F4R LM WR ; 1/20 Sec f/7.1 ISO100
Fujifilm GFX50R Lens GF110mm F2R LM WR ; 13 Sec f/5 ISO100
คุณภาพไฟล์ ในส่วนของคุณภาพไฟล์นั้น ทำได้พอๆ กับ GFX50S โดยในส่วนของรายละเอียดนั้น ต้องบอกว่าทำได้เยี่ยมยอด ภาพคมมาก แม้ขยายที่ 100% ก็ยังเห็นรายละเอียดชัดเจน คมกว่ากล้องฟูลเฟรมที่มีความละเอียดสูงระดับนี้อย่างชัดเจน ความแตกต่างอีกอย่างคือนอกจากคมแล้วมันยังแสดงรายละเอียดของผิวอย่างชัดเจน ภาพดูมีเนื้อกว่า ผิวคนดูเป็นผิวจริงๆ มากกว่า ไม่ได้เป็นแป้งๆ เหมือนกล้องหลายๆ รุ่น กับภาพแลนด์สเคป ซิตี้สเคป มันคมจนเห็นรายละเอียดของต้นไม้ ใบหญ้า รายละเอียดของตึก ของสิ่งก่อสร้างที่ชัดเจนมากๆ สำหรับช่างภาพที่เน้นความคมชัด เน้นรายละเอียด น่าจะประทับใจกล้องรุ่นนี้เพราะไฟล์สามารถนำไปรีทัชต่อได้สมบูรณ์กว่า
Fujifilm GFX50R Lens GF110mm F2R LM WR ; 1/100 Sec f/4 ISO400
Fujifilm GFX50R Lens GF110mm F2R LM WR ; 1/320 Sec f/2.8 ISO160
Fujifilm GFX50R Lens GF250mm F2R LM OIS WR ; 1/100 Sec f/4 ISO400
Crop100%
Fujifilm GFX50R Lens GF110mm F2R LM WR ; 1/125 Sec f/2.8 ISO160 ภาพ : ธีรนัย จันทร์หนัก
Fujifilm GFX50R Lens GF110mm F2R LM WR ; 1/500 Sec f/2 ISO100 ภาพ : ธีรนัย จันทร์หนัก
Fujifilm GFX50R Lens GF110mm F2R LM WR ; 1/80 Sec f/2 ISO1600
Fujifilm GFX50R Lens GF110mm F2R LM WR ; 1/60 Sec f/2.8 ISO320
Fujifilm GFX50R Lens GF110mm F2R LM WR ; 1/100 Sec f/2 ISO400
Fujifilm GFX50R Lens GF110mm F2R LM WR ; 1/125 Sec f/2.8 ISO160
Fujifilm GFX50R Lens GF110mm F2R LM WR ; 1/125 Sec f/3.6 ISO200
Fujifilm GFX50R Lens GF110mm F2R LM WR ; 1/100 Sec f/5.6 ISO200
ในส่วนของสีสัน มันยังคงบุคลิกของกล้องฟูจิฟิล์มไว้ด้วย การถ่ายทอดสีที่สดใส ความอิ่มสีสูงโดยไม่จัดจ้าน ให้สีผิวสวย ไฟล์ใสมาก ภาพเคลียร์ดูสะอาดตาโดยไม่ต้องปรับคอนทราสต์เพิ่มเติม
Fujifilm GFX50R Lens GF110mm F2R LM WR ; 1/125 Sec f/2 ISO1000
Low Light ISO 3200 Fujifilm GFX50R Lens GF110mm F2R LM WR ; 1/250 Sec f/2 ISO3200
ISO1600
ISO3200
ISO6400
ISO6400 Crop100%
สัญญาณรบกวน(Noise) ของกล้องรุ่นนี้อยู่ในระดับดี (ดีมากเมื่อเทียบกับกล้องมีเดียมฟอร์แมตส่วนใหญ่) ที่ ISO 100-400 ภาพที่ได้คุณภาพสูง รายละเอียดยอดเยี่ยม แทบไม่ปรากฏสัญญาณรบกวน ยกเว้นส่วนรอยต่อของส่วนมืดที่อาจปรากฏเล็กน้อย ที่ ISO 800 ภาพยังมีคุณภาพดีมาก มีสัญญาณรบกวนปรากฏบ้าง แต่รายละเอียดยังดีมาก ที่ ISO 1600 จะเห็นสัญญาณรบกวนชัดเจน แต่รายละเอียดยังน่าพอใจมาก ส่วนที่ ISO 3200 รายละเอียดจะลดลงบ้าง สีสันดรอปลงบ้าง แต่ภาพก็ยังมีคุณภาพใช้ได้
ไดนามิคเรนจ์คือจุดเด่นของ GFX50R เมื่อใช้งานที่ ISO 100 จะสามารถดึงรายละเอียดส่วนมืดที่ 5EV ได้ โดยยังได้คุณภาพน่าพอใจมาก รายละเอียดในส่วนสว่างก็ดึงได้มากกว่ากล้องฟูลเฟรม ดังนั้นสำหรับภาพแลนด์สเคปหรือสถาปัตยกรรม จะเห็นประโยชน์ของเรื่องนี้ใน GFX50R ได้ชัดเจน ไฟล์ RAW 14 บิต ของกล้องรุ่นนี้ตอบสนองการทำงานของมืออาชีพได้ดีมาก
Fujifilm GFX50R Lens GF23mm F4R LM WR ; 1/450 Sec f/8 ISO160
Fujifilm GFX50R Lens GF23mm F4R LM WR ; 1/400 Sec f/10 ISO160
Fujifilm GFX50R Lens GF110mm F2R LM WR ; 1/1000 Sec f/2 ISO160
Fujifilm GFX50R Lens GF110mm F2R LM WR ; 1/4000 Sec f/2 ISO160
Fujifilm GFX50R Lens GF120mm F4R LM OIS WR Macro ; 1/1000 Sec f/4 ISO640
Fujifilm GFX50R Lens GF23mm F4R LM WR ; 1/125 Sec f/7.1 ISO100
Fujifilm GFX50R Lens GF23mm F4R LM WR ; 1/850 Sec f/5.6 ISO160
Fujifilm GFX50R Lens GF23mm F4R LM WR ; 1/1600 Sec f/11 ISO400
ใช้งานภาคสนาม ผมลองนำ GFX50R ไปใช้งานหลายรูปแบบ พบว่ามันไม่ได้แตกต่างจากการใช้กล้อง X-Series แต่อย่างใด ยกเว้นขนาดที่ใหญ่กว่าและระบบออโตโฟกัสที่ลดสปีดลงเล็กน้อย นอกเหนือจากจากนี้มันคือฟิลลิ่งเดียวกัน ใช้ง่าย ใช้สนุก ใช้ได้ทุกรูปแบบ เป็นกล้องที่ใช้แบบชิวๆ ถ่ายเล่นได้ดี แต่ภาพสวยด้วยรายละเอียดที่เยี่ยมยอด ด้วย Depth of field ที่ตื้นมากของมีเดียมฟอร์แมต และด้วยความใสของภาพจากเลนส์ GF คุณภาพสูง ทำให้ GFX50R เป็นกล้องที่ใช้งานได้หลากหลาย
ความเห็น
หากจะถามว่ากล้องรุ่นนี้เหมาะกับใคร คำตอบก็คือ ทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่น กับมืออาชีพมันโดดเด่นด้วยคุณภาพที่เยี่ยมยอด เหมาะกับช่างภาพแฟชั่น เวดดิ้ง พอร์เทรต ช่างภาพแลนด์สเคป สถาปัตยกรรม และ STILL LIFE เมื่อใช้งานกับซอฟต์แวร์ที่ช่างภาพมืออาชีพใช้กันมากอย่าง Capture One ความคล่องตัวในการถ่ายภาพและจัดการไฟล์จะเยี่ยมยอด สามารถ tethered shooting ได้
ส่วนมือสมัครเล่นนั้น GFX50R ก็ตอบสนองได้ดี เพราะมันใช้ง่าย ไม่ได้แตกต่างจากกล้อง X-Series ที่หลายคนคุ้นเคย แต่ภาพที่ได้จะสร้างความประทับใจอย่างยิ่ง
ด้วยราคาขายนี้ต้องบอกว่า คุ้มค่าอย่างยิ่งสำหรับกล้องมีเดียมฟอร์แมตของฟูจิฟิล์มรุ่น GFX50R
ขอบคุณ บริษัท ฟูจิฟิล์ม (ประเทศไทย) จำกัด สำหรับความอนุเคราะห์กล้องที่ใช้ในการทดสอบ
ข้อมูลเพิ่มเติม : www.fujifilm.co.th
อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^
หากเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ ฝากกดไลค์และแชร์ด้วยนะครับ
FOTOINFO มี LINE@ OFFICIAL แล้ว !!! อย่าลืมแอดไลน์ @FOTOINFO (หรือสแกน QR Code ในภาพนี้)
ขอบคุณครับ
ติดตาม FOTOINFO ได้ทั้งรูปแบบนิตยสาร Free Copy, e-magazine ฟรีดาวน์โหลด และช่องทางอื่นๆออนไลน์ได้ที่
Line@ : @fotoinfo
YouTube : Fotoinfo Channel
Website : fotoinfomag.com
e-magazine : issuu.com/fotoinfomagazine
ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus
หรือสนใจดูรีวิวรุ่นอื่นๆ ได้ที่นี่
https://test2.fotoinfo.online/reviews-previews/reviews-reviews