Basic Photography

5 ปัจจัย ถ่ายให้หน้าชัดหลังเบลอ

5 ปัจจัย ถ่ายให้หน้าชัดหลังเบลอ

คำถามที่ได้รับการถามมากที่สุดในการอบรมถ่ายภาพสำหรับมือใหม่ หลายๆ ครั้งคือ “จะถ่ายยังไงให้หน้าชัดหลังเบลอ” “ถ่ายยังไงให้ได้โบเก้” ซึ่งในการเรียนรู้พื้นฐานการถ่ายภาพ จะมีปัจจัยหลักที่จำเป็นต้องรู้อยู่ 3 อย่าง นั่นคือ ความเร็วชัตเตอร์, รูรับแสง และความไวแสง ซึ่งผลที่ได้จากการเปลี่ยนแปลงของค่าทั้งสามนั้น ก็จะแตกต่างกันไป โดยปัจจัยที่ควบคุมในเรื่องของชัดลึก หรือชัดตื้น คือ รูรับแสง ดังนั้น การถ่ายภาพใดๆ ก็ตามที่ต้องการเอฟเฟคต์แบบนี้ จึงต้องให้ความสำคัญกับรูรับแสงเป็นหลัก แต่สิ่งที่จะทำให้ได้ภาพชัดตื้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับขนาดของรูรับแสงเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย ไปดูกันว่ามีอะไรบ้าง

แน่นอนว่าปัจจัยแรกเลยคือ ต้องใช้ขนาดรูรับแสงกว้างๆ ยิ่งกว้างมากเท่าไหร่ยิ่งดี เช่น f/2, f/1.4, f/1.2 หรือ f/0.95 แต่ก็ไม่ใช่ว่าเลนส์ที่มีขนาดรูรับแสงเล็กกว่า เช่น f/2.8 หรือ f/4 จะทำให้ฉากหลังเบลอไม่ได้ เพราะมีปัจจัยที่มาเกี่ยวข้องอีก นั่นคือ ช่วงทางยาวโฟกัสของเลนส์ และระยะห่างของกล้องกับซับเจคต์และซับเจคต์กับตัวแบบด้วยนั่นเอง

รูรับแสงกว้างๆ จะมีความชัดเฉพาะจุดที่โฟกัส ส่วนฉากหน้าและฉากหลังจะเบลอ ซึ่งชาร์ทตัวอย่างจะช่วยให้เข้าใจการทำงานได้ง่ายขึ้น

เมื่อใช้เลนส์ที่มีขนาดรูรับแสงกว้างๆ สิ่งที่อยู่ในระนาบเดียวกันจะชัดเหมือนกัน ส่วนสิ่งที่อยู่เยื้องๆ มาด้านหน้าหรือด้านหลังของระนาบโฟกัสจะเบลอ

เลนส์ช่วงเทเลโฟโต้ จะมีช่วงระยะชัดลึกที่ค่อนข้างแคบ ซึ่งจะช่วยให้ถ่ายภาพชัดตื้นได้ง่ายขึ้น รวมไปถึงภาพที่มีโบเก้ หรือจุดสว่างๆ ที่ฉากหลัง จะดูใหญ่ขึ้นด้วย จากคุณสมบัติของเลนส์ ที่ดึงสิ่งที่อยู่ในเฟรมภาพ ให้ดูใกล้เข้ามามากขึ้นกว่าปกติอีกด้วยเช่นกัน

นอกจากเลนส์เทเลโฟโต้ จะช่วยเบลอฉากหลังได้ง่ายขึ้นแล้ว ยังทำให้ไม่ต้องเข้าไปถ่ายใกล้ๆ ซึ่งช่วยให้ถ่ายภาพสัตว์หรือแมลงได้งสะดวกขึ้นด้วยเช่นกัน

โดยส่วนใหญ่ ภาพบุคคล มักจะใช้เลนส์เทเลโฟโต้ เพราะช่วยเบลอฉากหลังได้ง่ายๆ แล้ว ยังทำให้ตัวแบบโดดเด่นขึ้นมาจากฉากหลังอีกด้วย

นอกจากจะเบลอฉากหลังได้ง่ายๆ แล้ว ยังได้โบเก้ที่กลมใหญ่มากขึ้นด้วย

สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งคือ ตัวแบบหลัก จะต้องอยู่ให้ห่างจากฉากหลังมากที่สุด เพราะถึงแม้จะใช้เลนส์รูรับแสงกว้างๆ แต่ถ้ายืนติดๆ กับฉากหลัง ก็จะเบลอได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ดังนั้นจะต้องเลือกมุมที่อยู่ให้ห่างจากฉากหลัง ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ตัวอย่างง่ายๆ คือ สังเกตุฉากหลังของนางแบบทั้งสองคน จะเห็นว่าฉากหลังที่อยู่ใกล้ๆ จะเบลอเพียงเล็กน้อย ส่วนฉากหลังที่อยู่ไกลออกไปจะเบลอมากกว่า

 

ฉากหลังที่เป็นราวสะพาน จะเบลอตามระยะใกล้-ไกล ส่วนฉากหลังที่เป็นบ้านและแนวต้นไม้จะเบลอมากกว่า เพราะอยู่ในระยะที่ห่างมากกว่าราวสะพานนั่นเอง

การขยับเข้าใกล้ตัวแบบ จะทำให้ระยะโฟกัสสั้นลง จึงดูเสมือนว่าตัวแบบจะอยู่ห่างจากฉากหลังโดยอัตโนมัติ แต่ทั้งนี้ ทั้งนั้น ก็ต้องดูความเหมาะสมขององค์ประกอบภาพด้วยเช่นกัน การใช้เลนส์ที่มีรูรับแสงกว้างๆ จึงเอื้อประโยชน์ให้กับการถ่ายภาพแบบนี้มากที่สุดด้วย

ภาพถ่ายในระยะใกล้ๆ อย่างภาพมาโคร ถึงแม้จะไม่ได้ใช้รูรับแสงกว้างๆ แต่การเข้าไปถ่ายในระยะใกล้มากๆ จะทำให้ส่วนอื่นๆ ที่อยู่นอกระยะโฟกัส เบลอได้เช่นกัน

ฉากหลังที่เบลอจนเป็นพื้นสีเรียบๆ ก็เข้าไปถ่ายในระยะใกล้กว่าปกติเช่นกัน

เซ็นเซอร์ภาพขนาดใหญ่ จะให้ระยะชัดตื้นที่ดีกว่าเซ็นเซอร์ขนาดเล็ก เมื่อใช้เลนส์ทางยาวโฟกัสช่วงเดียวกัน ดังนั้น หากเป็นไปได้ก็ควรจะเลือกกล้องที่ใช้เซ็นเซอร์ขนาดใหญ่ที่สุดตามงบประมาณของเราเอง แต่ถ้าต้องการกล้องที่ใช้งานทั่วๆ ไปด้วย ก็ไม่ต้องซีเรียสกับขนาดเซ็นเซอร์ จะเป็นขนาด APS-C หรือ Micro Four-Thirds ก็ได้เช่นกัน แต่เมื่อต้องการภาพแบบหน้าชัดหลังเบลอมากๆ ก็ต้องเลือกเลนส์ที่มีขนาดรูรับแสงกว้างกว่าเลนส์ปกติของกล้องเซ็นเซอร์ใหญ่ หรือเซ็นเซอร์ฟูลเฟรม ซึ่งมีขนาดเท่าฟิล์ม ซึ่งใช้เป็นมาตรฐานอ้างอิงในการเทียบเคียงขนาดของเซ็นเซอร์และทางยาวโฟกัสของเลนส์

ขนาดเซ็นเซอร์ของกล้องแบบเปลี่ยนเลนส์ได้ ที่มีจำหน่ายอยู่ในปัจจุบัน

เซ็นเซอร์ขนาดที่ใหญ่ จะให้ระยะชัดที่บางมากกว่าเซ็นเซอร์ขนาดเล็กกว่า หรือมีระยะชัดตื้นที่มากกว่า เมื่อถ่ายภาพที่รูรับแสงเท่ากัน และให้มีขนาดภาพในเฟรมภาพเท่าๆ กัน