เลนส์เทเลโฟโต้ใช้ทำอะไรได้บ้าง ทำไมต้องมี ..นี่คือเหตุผลครับ
สำหรับช่างภาพทั้งที่จริงจังกับการถ่ายภาพ รวมไปถึงช่างภาพมือสมัครเล่น ก็คงต้องมีเลนส์ถ่ายภาพอย่างน้อยหนึ่งตัว เอาแบบพื้นฐานเลยก็คือเลนส์คิทที่จำหน่ายมาพร้อมๆ กับตัวกล้องนั่นล่ะครับ ซึ่งมีให้เลือกอยู่หลายขนาด หลายระยะ เช่น เลนส์ 18-55 มม., เลนส์ 18-135 มม. หรือเลนส์เอนกประสงค์ 18-300 มม. ซึ่งก็ใช้งานได้ดีในระดับหนึ่งอยู่แล้ว
แต่สำหรับผู้ที่จริงจังมากหน่อย ก็มักจะต้องหาเลนส์ช่วงเทเลโฟโต้มาไว้ใช้งานอีกหนึ่งตัว เสริมกับเลนส์เดิมที่มีอยู่แล้ว ซึ่งเลนส์ช่วงเทเลโฟโต้เองก็มีให้เลือกหลายแบบ หลายช่วงความยาว และหลายราคาด้วยเช่นกัน เช่น 70-200 มม., 70-300 มม. หรือ 100-400 มม. แล้วทำไมจะต้องมีเลนส์ช่วงนี้ด้วย ต่อไปนี้คือ 5 เหตุผลหลักๆ ที่จะต้องมีเลนส์เทเลโฟโต้ เสริมเข้ามาในกระเป๋ากล้องของเราครับ
- เข้าไปถ่ายใกล้ๆ ไม่ได้
เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ที่จะต้องใช้เลนส์เทเลโฟโต้ เพราะไม่สามารถเข้าไปถ่ายภาพซับเจคต์ที่ต้องการ ในรยะใกล้ๆ ได้ ยกตัวอย่าง เช่น ถ่ายภาพสัตว์ป่าในธรรมชาติ ซึ่งแน่นอนว่า พวกเค้ามีการระแวดระวังอันตรายที่จะเกิดขึ้น ทั้งจากสัตว์นักล่าอื่นๆ รวมทั้งจากมนุษย์เองด้วย ดังนั้น เพียงแค่เราขยับตัวเข้าไปในระยะที่รู้สึกว่ายังห่างอยู่มาก แต่พวกเค้าก็บินหนีไปแล้ว นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงสัตว์ที่มีอันตราย อย่างเสือ หรือจระเข้ เป็นต้น ใช้เลนส์ช่วงเทเลโฟโต้นั่นแหละครับ จะปลอดภัยกับตัวเรากว่า นอกเสียจากว่าเป็นสัตว์ที่ถูกฝึกมาอย่างดี และมีผู้ฝึกอยู่ด้วย แบบนี้ เลนส์ช่วงไวด์ ก็ใช้ได้ครับ
ส่วนอีกกรณีหนึ่งคือ มีอุปสรรคขวางกั้น ทำให้ไม่สามารถเข้าไปใกล้ๆ ได้ เช่น ดอกไม้ขึ้นอยู่กลางธารน้ำตกที่ถาโถมลงมาอย่างรุนแรง ซึ่งถ้าจะต้องเข้าไปถ่ายให้ใกล้ชิด ก็คงต้องใช้กล้องกันน้ำ หรือดอกไม้หายากที่เบ่งบานอยู่บนยอดไม้ อะไรแบบนี้ครับ เลนส์ช่วงนี้ ใช้ได้ตั้งแต่ 200 มม. ไปจนถึง 500 หรือ 600 มม. ซึ่งจะเป็นเลนส์เทเลโฟโต้ซูม หรือทางยาวโฟกัสเดี่ยวก็ได้เช่นกันครับ
2. เลือกฉากหลังที่ต้องการได้ง่ายกว่า
เป็นความรู้พื้นฐานที่เราได้รับรู้มาตั้งตอนเริ่มต้นเรียนถ่ายภาพ หรือศึกษาเรื่องถ่ายภาพ ถึงคุณสมบัติ และมุมรับภาพของเลนส์แต่ละช่วง ซึ่งเลนส์ช่วงเทเลโฟโต้ จะมีมุมรับภาพที่แคบ ดังนั้น เราจึงใช้คุณสมบัติแบบนี้แหละ มาช่วยให้เราได้ภาพที่โดดเด่น น่าสนใจมากขึ้น ลองเปรียบเทียบดูภาพซับเจคต์เดียวกัน ระหว่างภาพที่มีฉากหลังรกรุงรัง หรือฉากหลังที่เข้ามารบกวนซับเจคต์มากเกินไป กับภาพที่มีฉากหลังเรียบเนียน ซับเจคต์ของภาพหลังจะน่าสนใจ และมีความโดดเด่นมากกว่าครับ
การหลบเลี่ยงฉากหลังรกๆ ก็ไม่ได้ยากเย็นแต่อย่างใดครับ ไม่ใช่ว่า จะต้องไปโค่น ดึง ทึ้ง กระชากให้หายออกไปจากเฟรมภาพหรอกนะครับ อาจจะขยับไปทางซ้ายหน่อย หรือขยับขวาซักครึ่งก้าว หรือย่อตัวนิดๆ อะไรแบบนั้นครับ ลองขยับดูว่า มากแค่ไหน ฉากหลังรกๆ จึงจะหลุดออกไปจากเฟรม หรือรบกวนซับเจคต์น้อยที่สุด แต่ถ้าไม่ได้จริงๆ อาจจะต้องเปลี่ยนโลเคชั่นใหม่ หรือเลือกวิธีถ่ายภาพแบบใหม่ เช่น ใช้แฟลชเพื่อควบคุมฉากหลังแทน เป็นต้นครับ
นอกจากนี้ ยังช่วยให้ซับเจคต์โดดเด่นขึ้นมาจากฉากหลังที่เป็นโบเก้ของไฟประดับต่างๆ หรือโบเก้จากแสงธรรมชาติที่ส่องผ่านใบไม้ลงมา การใช้เลนส์ไวด์ จะทำให้ได้พื้นที่ของฉากหลังมากกว่า ซึ่งบางครั้งอาจจะมีส่วนที่ไม่ได้เสริมความน่าสนใจให้กับภาพถ่าย ดังนั้นเลนส์เทเลโฟโต้ จะช่วยให้ควบคุมฉากหลังให้ได้องค์ประกอบภาพตามที่ต้องการง่ายขึ้นครับ ซึ่งช่วงเลนส์ยาวมากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในขณะนั้นด้วย โดยถ้าหากฉากหลังไม่ได้รกมาก มีพื้นที่ในการถ่ายภาพมากพอ และต้องการบรรยากาศของฉากหลังบ้าง ก็เลือกใช้ช่วง 70 มม.- 105 มม. แต่ถ้าหากว่าฉากหลังรกมาก หรือมีระยะที่เพียงพอในการถ่ายภาพ ก็เลือกใช้ช่วง 200 มม. เป็นต้นครับ
3. ดึงฉากหลังให้ดูใกล้มากขึ้น
เป็นการนำเอาคุณสมบัติของเลนส์เทเลโฟโต้ ที่ดึงเอาสิ่งที่อยู่ไกลๆ ให้ดูเหมือนอยู่ใกล้ๆ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยหลายๆ คนคงจะเคยมีประสพการณ์เวลาไปเที่ยว แล้วต้องรอคิวถ่ายภาพกับสัญลักษณ์ หรือจุดเด่นของสถานที่นั้นๆ ซึ่งคนส่วนใหญ่ต่างก็คิดแบบเดียวกัน ก็เลยไปยืนออ รอถ่ายภาพกันที่จุดนั้นจุดเดียว พอคนเยอะๆ คิวยาวๆ รอนานๆ เข้า พาลให้เกิดความรำคาญหรือหงุดหงิดได้ครับ เพราะคนส่วนใหญ่ก็จะถ่ายด้วยเลนส์มุมกว้าง เพื่อเก็บบรรยายกาศได้ทั้งหมด และต้องเข้าไปถ่ายใกล้ๆ เพื่อตัวคนจะได้โตๆ นอกจากนี้เวลาใช้เลนส์มุมกว้างแล้ว ฉากหลังที่อยู่ไกล ก็ยิ่งดูไกลห่างออกไปมากขึ้นอีก
แต่เมื่อใช้เลนส์เทเลโฟโต้ ถ่ายภาพครอบครัว หรือคนพิเศษ สามารถถ่ายจากระยะห่างออกมา ไม่ต้องเข้าไปใล้ๆ และฉากหลังจะดูใหญ่เหมือนเดิมอีกด้วย แต่วิธีนี้ จะต้องมีพื้นที่สำหรับถอยออกมายืนถ่ายภาพด้วย ถ้าหากว่าสถานที่นั้นใหญ่โตมโหฬาร แต่ถ้าไม่ใหญ่มาก ก็ไม่จำเป็นต้องถอยมาก และก็ขึ้นอยู่กับช่วงเลนส์ด้วยครับ ตั้งแต่ช่วง 100 มม. ขึ้นไป แล้วถ้าหากว่าต้องการฉากหลังที่ชัดมากขึ้น ก็ใช้รูรับแสงแคบลงเท่านั้นเองคร
4. ต้องการภาพชัดตื้นง่ายๆ
คุณสมบัติพิเศษอย่างหนึ่งของเลนส์เทเลโฟโต้ คือมีระยะชัดลึกที่ค่อนข้างบางมาก จึงช่วยให้ถ่ายภาพที่เน้นซับเจคต์ให้โดดเด่นออกจากฉากหลังและฉากหน้า ได้ง่ายๆ ที่มองดูเบลอๆ ทั้งด้านนหน้าและด้านหลังนั่นเอง แต่ก็ต้องอิงกับขนาดรูรับแสงกว้างๆ รวมทั้งระยะระหว่างกล้องกับซับเจคต์ และซับเจคต์กับฉากหลังด้วยเช่นเดียวกัน เลนส์เทเลโฟโต้ที่มีรูรับแสงกว้างมากๆ อย่าง f/1.2, f/1.4 หรือ f/1.8 จะช่วยให้ได้ภาพที่มีระยะชัดตื้นมาก หรือภาพแบบที่เรียกว่าหลังละลาย ซึ่งช่างภาพ Portrait มักจะใช้เพื่อดึงให้ซับเจคต์โดดเด่นเป็นพิเศษนั่นเองครับ
5. ให้ซับเจคต์ในภาพดูหนาตา
เป็นหนึ่งในคุณสมบัติของเลนส์เทเลโฟโต้ที่ทำให้สิ่งต่างๆ ที่อยู่ห่างไกล จะดูเสมือนใกล้เข้ามาได้ ซึ่งหัวข้อนี้ ก็เป็นการนำเอาคุณสมบัตินั้นมาใช้กับการถ่ายภาพ ตัวอย่างเช่น เมื่อเราถ่ายภาพแปลงดอกไม้ ที่อาจจะขึ้นอยู่ไม่มากมายนัก หรือเมื่อใช้เลนส์มุมกว้าง แล้วเข้าไปถ่ายภาพในระยะใกล้ๆ ช่องว่างระหว่างดอกไม้ หรือกอดอกไม้จะดูเหมือนอยู่ห่างๆ กัน หรือมีช่องว่างระหว่างกอดอกไม้มากพอสมควร แต่พอเปลี่ยนเป็นเลนส์เทเลโฟโต้ ดอกไม้แต่ละดอก หรือกอดอกไม้แต่ละกอ จะดูเหมือนถูกจับวางให้อยู่ใกล้ชิดกันมากขึ้น ซึ่งรู้สึกถึงความหนาแน่นได้มากขึ้นนั่นเอง
Leave feedback about this