“จิตต์ จงมั่นคง” ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ศิลปะภาพถ่าย พ.ศ. 2538) นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
FOTOINFO ฉบับพิเศษเนื่องในวโรกาส 5 ธันวามหาราช ขอนำท่านผู้อ่านย้อนไปในรอยทางแห่งความปลื้มปิติอันหาที่สุดมิได้ของชายนักถ่ายภาพธรรมดาผู้หนึ่ง ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้เป็นผู้ดำเนินการล้างและขยายภาพส่วนพระองค์ตลอดห้วงเวลาอันยาวนานกว่า 40 ปี ในความปิตินั้น ชายชื่อ จิตต์ จงมั่นคง หรือ “อาจารย์จิตต์” บรมครูแห่งวงการถ่ายภาพไทยดำรงอยู่และดำเนินตนอย่างไรโปรดติดตามเรื่องราวอันน่าจดจำนั้นนับจากบรรทัดนี้
จิตต์ จงมั่นคง เกิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2465 ย่านสี่พระยา – บางรัก ในวัยเด็กเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนอัสสัมชัญบางรัก ด้วยอุปการะจากพี่ชายคนโตเป็นผู้ส่งให้เรียน และเด็กชายจิตต์ในสมัยนั้นก็ไม่ได้ทำให้ทางบ้านผิดหวังเช่นกัน เนื่องจากเป็นเด็กที่เรียนดีคนหนึ่งของโรงเรียน แม้ “บราเดอร์ฮีแลร์” ยังเอ่ยปากชมว่าเขาน่าจะได้เรียนหมอเพราะเป็นเด็กหัวดี เรียนหนังสือเก่งมาโดยตลอด หากแต่โชคชะตากลับพลิกผัน เมื่อพี่ชายคนโตได้เสียชีวิตลงขณะที่เขากำลังศึกษาอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จิตต์ จงมั่นคง ในวัยเพียง 16 ปี มีอันต้องหันหลังให้กับรั้วอัสสัมชัญอย่างถาวรเพื่อก้าวสู่สังเวียนชีวิตบทใหม่ที่รอการพิสูจน์
‘สยามจำลองลักษณ์’ (ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น ไทยจำลองลักษณ์) เป็นสถานที่บ่มเพาะวิชาความรู้แห่งใหม่ที่เขาเลือกเดินเข้าไปสัมผัสด้วยตนเอง โดยในเบื้องแรกได้เข้าไปเรียนรู้และฝึกฝนวิชาชีพในแผนกของบริษัทเดียวกัน กลับทำให้เขาตื่นระทึกมากกว่าสิ่งที่ทำอยู่และกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิตในเวลาต่อมา
“ตอนนั้นบริษัทที่ผมทำงานมีอยู่ 2 แผนก คือแผนกวิทยุและแผนกถ่ายรูป ช่วงแรกนั้นผมเข้าไปเรียนรู้เรื่องการซ่อมวิทยุก่อน แต่พอดีเพื่อนที่ทำงานอยู่ในห้องมืดชวนเราให้ลองเข้าไปดู เราก็ตามเขาเข้าไป ครั้งแรกที่ได้สัมผัสนั้นผมรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่แปลกและมหัศจรรย์มาก อยู่ดีๆ กระดาษเปล่าๆ ก็มีรูปภาพปรากฏขึ้นมาเพียงแค่แช่ลงไปในน้ำยาไม่กี่นาที ผมรู้สึกชอบมันตั้งแต่ครั้งนั้น จากนั้นก็พยายามหาเวลาว่างจากงานซ่อมวิทยุมาศึกษาเรื่องห้องมืดและการถ่ายภาพควบคู่กันไป”
หากแต่การเริ่มต้นศึกษาด้านนี้อย่างจริงจังเมื่อเกือบ 50 ปีก่อน ไม่ใช่เรื่องง่ายดายอย่างที่คิด เนื่องจากสมัยนั้นไม่มีตำราหรือผู้เชี่ยวชาญช่วยไขข้อข้องใจต่างๆ ได้อย่างยุคนี้ ทุกเรื่องที่เขาอยากรู้ล้วนต้องขวนขวายหาคำตอบและผ่านการทดลองทำด้วยตัวเองทั้งสิ้น
“กว่าจะเก็บเงินหากล้องมาไว้เป็นของตัวเองก็หลายปีเหมือนกัน กล้องตัวแรกของผมเป็นกล้อง Box Single Lens ครับ วันธรรมดาผมจะอยู่ในห้องมืด ส่วนวันอาทิตย์จะออกไปถ่ายภาพข้างนอกสลับกันอาทิตย์เว้นอาทิตย์ กับการไปดูภาพยนตร์แถวๆ โอเดี่ยน เยาวราช ซึ่งผมต้องการจะไปดู Composition การจัดแสงว่าเมืองนอกเขามีมุมมองเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้อย่างไร ตอนนั้นเป็นช่วงที่ผมแยกออกมาจากสยามจำลองลักษณ์แล้วนะครับ แยกออกมาหลังจากเกิดสงครามโลกประมาณ พ.ศ. 2487 ”
จากนั้นจิตต์และเพื่อนรวม 7 คน ได้ร่วมกันเช่าพื้นที่บางส่วนของ ”โอสถาคาร” ซึ่งเป็นร้านขายยาที่มีชื่อที่สุดในสมัยนั้น เปิดเป็นแผนกบริการล้างอัดภาพขึ้นมา โดยตัวเขาเองรับหน้าที่เป็นช่างทำงานอยู่ในห้องมืด ในระหว่างนั้นเองพระบาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันเมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จ พระราชดำเนินมาที่ร้านเพื่อส่งฟิล์มให้ล้างแม้จะมิได้เข้าเฝ้าฯ รับเสด็จเป็นการส่วนพระองค์ แต่เขาก็รู้สึกปลาบปลื้มในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ โดยตั้งใจทำงานสนองพระเดชพระคุณอยู่ในห้องมืดเรื่อยมา
“ผมกับเพื่อนๆ เปิดร้านล้างอัดภาพอยู่ได้ประมาณ 2 ปี จนพอมีกำไรแบ่งกันก็เลิกกิจการไป ผมก็เลยแยกมาเปิดร้านใหม่กับพี่ชาย (อาจารย์เชาว์ จงมั่นคง) อีกร้านอยู่ที่ย่านสี่พระยาเหมือนกันชื่อ “ห้องภาพจงมั่นคง” ซึ่งผมก็ยังคงเป็นช่างในห้องมืดทำงานตามที่ตัวเองถนัด จนพอเริ่มมีฝีมือมากขึ้นและพอมีกำลังจึงมีโอกาสได้เปิดร้านของตัวเองโดยใช้ชื่อว่า “ห้องภาพจิตต์ จงมั่นคง” ซึ่งอยู่เยื้องๆ กับที่เดิม และได้เปิดบริการถ่ายภาพโฆษณาสินค้ากับบริษัทต่างๆ อีกด้วย ในระหว่างนั้นก็ยังคงรับใช้เบื้องพระยุคลบาทอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงหลังมหาดเล็กจะเป็นผู้นำฟิล์มส่วนพระองค์มาส่งที่ร้าน”
อาจารย์จิตต์ เล่าให้ฟังว่าในระยะหลังที่พระองค์ท่านทรงเสด็จครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 แล้ว ท่านทรงมีพระราชกรณียกิจมาก เสด็จพระราชดำเนินไปตามสถานที่ต่างๆ บ่อย งานส่วนใหญ่จึงเป็นงานที่ทรงถ่ายระหว่างที่ปฏิบัติพระราชกรณียกิจเหล่านั้น
“ตลอด 40 ปี ที่ได้มีโอกาสถวายการรับใช้พระองค์ท่าน ผมยึดถือความซื่อสัตย์สุจริตเป็นใหญ่ ท่านทรงส่งฟิล์มมาล้าง เราก็มีหน้าที่ล้างอัดและถวายงานกลับไป ผมไม่เคยเก็บฟิล์มไว้หรืออัดภาพส่วนพระองค์เก็บเป็นสมบัติส่วนตัวเลย แม้ระยะหลังจะมี “ส่วนช่างภาพส่วนพระองค์” เกิดขึ้นแล้ว ท่านก็ยังทรงส่งฟิล์มมาให้ผมได้ทำงานถวายอยู่เป็นระยะ และบางครั้งก็มีโอกาสได้เข้าไปถวายคำแนะเกี่ยวกับการถ่ายภาพบ้าง เนื่องจากท่านทรงมีห้องมืดส่วนพระองค์ และผลงานฝีพระหัตถ์ส่วนมากเป็นฟิล์มขาว – ดำ ทรงชอบถ่ายภาพขาว – ดำ มาตั้งแต่สมัยแรกๆ ที่ยังทรงกล้อง Contax ต่อมาในภายหลังรู้สึกว่าจะทรงเปลี่ยนเป็นกล้อง Canon แต่พระองค์ท่านทรงมีกล้องเยอะ หลายยี่ห้อครับ”
ในความปลาบปลื้มอย่างหาที่สุดมิได้ที่มีโอกาสทำงานถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างต่อเนื่อง อาจารย์จิตต์ ยังรู้สึกประทับใจในพระอัจฉริยภาพด้านการถ่ายรูปของพระองค์ท่านอยู่อย่างสม่ำเสมอ
“ผมมีเรื่องจะเล่าให้ฟังอย่างหนึ่งคือ พระองค์ท่านเป็นในหลวงใช่ไหม ท่านจะทรงกล้องถ่ายภาพเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านั้นเพียงแค่ครั้งเดียว ไม่เหมือนอย่างนักถ่ายภาพทั่วไปที่บางครั้งมุมเดียวกันถ่ายเผื่อไว้มากถึง 4-5 รูป ซึ่งในที่สุดก็ไม่ค่อยได้นำไปใช้ แต่พระองค์ท่านจะทรงถ่ายแค่ครั้งเดียวในช่วงจังหวะที่ดีที่สุดเท่านั้น ซึ่งเรียกวิธีนี้ว่า ‘การกะการณ์ล่วงหน้า’ ว่าประเดี๋ยวคนนั้นจะต้องเดินมาตรงนี้ หรือสิ่งนั้นจะเคลื่อนที่ไปทางทิศนั้นทิศนี้ พระองค์ท่านทรงใช้วิธีนี้ ซึ่งก็จะได้ภาพที่ดีที่สุดเหมือนกันและไม่สิ้นเปลืองฟิล์มมากอีกด้วย
เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร ภาพถ่ายนิทรรศการนานาชาติ ครั้งที่ 5 ณ กรมประชาสัมพันธ์ พ.ศ. 2515
นอกจากมีโอกาสทำงานถวายสนองพระคุณแล้ว อาจารย์จิตต์ยังเคยเข้ารับพระราชทานรางวัลด้านการถ่ายภาพจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอีกด้วยในปี พ.ศ. 2505
“ผมได้รับรางวัลถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากนิทรรศการถ่ายภาพศิลปะนานาชาติครั้งที่ 2 โดยสมาคมภาพถ่ายแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ชื่อภาพ “เมื่อพายุโหม” คงเคยเห็นภาพนั้นกันบ้างแล้ว นั่นเป็นภาพที่ใช้เทคนิคการตัดแปะซึ่งครั้งหนึ่งผมมีโอกาสได้ดูในหนังสือเกี่ยวกับการถ่ายภาพเล่มหนึ่งชื่อ Paste Photography for Art เลยคิดที่จะลองนำเทคนิคนั้นมาสร้างสรรค์งานจากจินตนาการของตัวเองขึ้นบ้าง เดิมทีภาพต้นฉบับเป็นภาพคนถ่อเรือ จริงๆ ผมถ่ายมาจากย่านบางแค แต่ตอนนั้นฉากหลังที่เป็นบ้านเรือนริมคลองมันดูรกระเกะระกะไปหมด ไม่ค่อยถูกใจ ผมเลยตัดภาพฉากหลังที่รกๆ นั้นออก ซึ่งต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมากทีเดียว จากนั้นใช้กระดาษทรายค่อยๆ ขัดด้านหลังของภาพให้บางที่สุดแล้วใช้แป้งเปียกทาลงไปที่ด้านหลังของภาพคนถ่อเรือและค่อยๆ ติดลงไปบนภาพเมฆฝนที่เตรียมไว้ให้แนบเนียนที่สุด เพื่อจะได้ไม่เห็นรอยต่อของภาพทั้งสอง จากนั้นผมก็เอาภาพไปทำการ Copy โดยใช้ไฟ Photo-flood 4 ดวง เพื่อลบเงาของขอบภาพ ผมใช้เวลาในการตระเตรียมและทำงานอยู่หลายปีกว่าจะสำเร็จเป็นภาพนี้”
ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ เข้าเฝ้า ถวายภาพถ่าย “พายุโหม” พ.ศ. 2518
อาจารย์จิตต์เคยล้มป่วยครั้งใหญ่ด้วยโรคลิ้นหัวใจรั่วและลิ้นหัวใจตีบในคราวเดียวกัน ที่อาจารย์บอกว่าครั้งนั้นความเป็นและความตายยืนอยู่ข้างเคียงกัน แต่ก็เพราะด้วยพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอันเป็นแรงใจสำคัญยิ่งในการฝ่าด่านโรคภัยไข้เจ็บครั้งนั้นจนทุกวันนี้
“ตอนนั้นอายุ 48 ปี ผมป่วยเป็นโรคลิ้นหัวใจ 2 อย่างเลย พอดีคุณขวัญแก้ว วัชโรทัย ได้มาพบเข้าแกก็บอกว่าทำไมหน้าตาถึงได้ซีดเซียวขนาดนี้ วันรุ่งขึ้นแกก็มาอีกครั้งแล้วพาผมไปตรวจที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ตอนนั้นยังเป็นโรงพยาบาลใหม่อยู่เลย โดยศาสตราจารย์นายแพทย์หม่อมราชวงศ์กัลยาณกิตต์ กิตติยากร หัวหน้าศัลยกรรมทรวงอกในสมัยนั้น และท่านยังเป็นพี่ชายในสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถเป็นผู้ตรวจรักษาให้ ท่านบอกว่าอย่างนี้ท่าจะลำบาก แต่ผมเองก็เฉยๆ นะ ตายก็ตายไม่ได้คิดอะไรมาก แล้วก็ตกลงว่าต้องผ่าตัด แต่มีอันต้องเลื่อนอยู่ถึง 3 ครั้ง จุดสำคัญมันอยู่ที่วันก่อนทำการผ่าตัดจริง หม่อมราชวงศ์กัลยาณกิตต์ฯ เข้ามาเล่าให้ผมฟังว่า ท่านมีโอกาสร่วมโต๊ะเสวยพระกระยาหารเที่ยงกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์มีกระแสรับสั่งว่า… “ช่วยดูแลนายจิตต์ให้ดี”
“ผมได้ยินดังนั้นก็รู้สึกปลาบปลื้มในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านเป็นล้นพ้น ทำให้มีกำลังใจต่อสู้โรคร้ายเพิ่มขึ้นเป็นร้อยเท่าพันเท่าเลยในตอนนั้น พอผ่าตัดเสร็จผมใช้เวลาพักฟื้นอยู่ประมาณ 2 ปี ถึงจะหายดีและมีโอกาสได้ไปรับใช้เบื้องพระยุคลบาทอีกครั้ง จนกระทั่งอายุ 60 ปี ผมจึงได้กราบบังคมทูลลาจากการปฏิบัติหน้าที่ เพราะตอนนั้นรู้สึกว่าร่างกายเราชักจะไม่ไหว สุขภาพไม่ค่อยดีแล้ว”
จากนั้นอาจารย์จิตต์ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมถ่ายภาพฯ เพื่อร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่สมาคมจัดขึ้น และได้รับตำแหน่งต่างๆ จนก้าวขึ้นป็นนายกสมาคมในที่สุด ในปี พ.ศ. 2538 อาจารย์จิตต์ได้รับเลือกจากสำนักคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติให้เป็นศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (ถ่ายภาพศิลปะ) ซึ่งนับเป็นเกียรติประวัติสำคัญสำหรับอาจารย์จิตต์และเกียรติสำหรับวงการถ่ายภาพเป็นอย่างยิ่ง
วันนี้ในวัย 83 ของนักถ่ายภาพผู้ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นบรมครูของวงการถ่ายภาพไทยคนหนึ่งนั้น ยังมิได้ละทิ้งกิจกรรมการถ่ายภาพของตัวเองลงแต่อย่างใด อาจารย์ยังคงหาโอกาสเดินทางท่องเที่ยวและโอกาสในการลั่นชัตเตอร์ด้วยปลายนิ้วและสายตาของตัวเองอยู่อย่างต่อเนื่องตามโอกาสอำนวย
ภายหลังการเข้ารับพระราชทานรางวัลประกาศเกียรติคุณศิลปินแห่งชาติจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี อาจารย์จิตต์ได้ตั้งปณิธานอย่างแน่วแน่ที่จะดำเนินการจัดพิมพ์หนังสือรวบรวมผลงานส่วนตัวขึ้นเพื่อน้อมเกล้าถวายความจงรักภักดีแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยใจความตอนหนึ่งในหนังสือกล่าวถึงความตั้งใจของตัวเองว่า “ด้วยความสำนึกในพระเมตตาคุณและพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อข้าพเจ้าหาที่สุดมิได้ ข้าพเจ้าจึงได้มีปณิธานมุ่งมั่นแน่วแน่ที่จะทำหนังสือ ชื่อ “รวมภาพถ่ายเอกรงค์ 5 ทศวรรษ จากมุมกล้องและห้องมืด” ออกเผยแพร่สู่สาธารณะชนผู้สนใจศิลปะภาพถ่าย เพื่อนำรายได้ส่วนหนึ่งนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเป็นพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัยให้จงได้”
หลากหลายภาพที่ปรากฏอยู่ในหนังสือเล่มนี้นับเป็นบันทึกสำคัญต่อจิตสำนึก รากเหง้าความเป็นไทยในอดีตที่มิอาจหวนคืนกลับมาได้อีก ควรอย่างยิ่งที่คนในสังคมจะได้มีโอกาสสืบรากความเป็นมาของตัวเองผ่านภาพเอกรงค์อันงดงามน่าประทับใจนี้สักครั้ง โดยเฉพาะผู้เป็นนักถ่ายภาพรุ่นใหม่…..
“ผมคิดว่าผมได้พยายามทำและทดลองทำทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับการถ่ายภาพมาจนหมดตำราแล้วนะครับ คิดว่ามันไม่มีขึ้น ไม่มีลงไปกว่านี้แล้ว จอดไว้เฉยๆ แช่เอาไว้เฉยๆ อย่างนั้นแหล่ะ”
ประโยคสุดท้ายจากศิลปินแห่งชาติ ผู้รังสรรค์ผลงานด้วยชีวิต จิตวิญญาณ และความซื่อสัตย์สุจริตเสมอมา
จิตต์ จงมั่นคง
นิตยสารโฟโต้อินโฟ ฉบับเดือนธันวาคม 2548