“..ปัญหาของวันนี้ ไม่ใช่ปัญหาของการบัญญัติ หรือแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทุกวันนี้คือความปลอดภัย ขวัญดีของประชาชน ซึ่งเดี๋ยวนี้ประชาชนทั่วไปทุกแห่งทุกหน มีความหวาดระแวงว่าจะเกิดอันตราย มีความหวาดระแวงว่าประเทศชาติจะล่มจม โดยที่จะแก้ไขลำบาก ตามข่าวที่ได้ทราบมาจากต่างประเทศ เพราะเหตุว่าในขณะนี้ทั้งลูกชายทั้งลูกสาวก็อยู่ต่างประเทศ ทั้งสองก็ทราบดี แล้วก็ได้พยายามที่จะแจ้งให้กับคนที่อยู่ในประเทศเหล่านั้นว่า ประเทศไทยนี้ยังแก้ไขสถานการณ์ได้ แต่รู้สึกว่าจะเป็นความคิดที่เป็นความคิดแบบหวังสูงไปหน่อย ถ้าหากว่าเราไม่ทำให้สถานการณ์อย่าง ๓ วันที่ผ่านมานี้สิ้นสุดไปได้ ฉะนั้นก็ขอให้โดยเฉพาะสองท่านคือพลเอกสุจินดา และพลตรีจำลอง ช่วยกันคิด คือหันหน้าเข้าหากัน ไม่ใช่เผชิญหน้ากัน เพราะว่าเป็นประเทศของเราไม่ใช่ประเทศของหนึ่งคนสองคน เป็นประเทศของทุกคน เข้าหากันไม่เผชิญหน้ากัน แก้ไขปัญหา เพราะปัญหามีอยู่ ที่เวลาเกิดจะใช้คำว่า บ้าเลือด เวลาคนมีการปฏิบัติรุนแรงมันลืมตัว ลงท้ายเขาไม่รู้ว่าตีกันเพราะอะไร แล้วก็จะแก้ปัญหาอะไร เพียงแต่ว่าจะต้องเอาชนะ แล้วก็ใครจะชนะ ไม่มีทาง อันตรายทั้งนั้น มีแต่แพ้ คือต่างคนต่างแพ้ ผู้ที่เผชิญหน้าก็แพ้ แล้วที่แพ้ที่สุดก็คือ ประเทศชาติ ประชาชน จะเป็นประชาชนทั้งประเทศ ไม่ใช่ประชาชนเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ถ้าสมมติว่าเฉพาะในกรุงเทพมหานครเสียหายไป ประเทศก็เสียหายไปทั้งหมด แล้วก็จะมีประโยชน์อะไรที่จะทะนงตัวว่าชนะ เวลาอยู่บนกองซากปรักหักพัง
ฉะนั้นจึงขอให้ทั้งสองท่านเข้ามา คือไม่เผชิญหน้ากัน แต่หันเข้าหากัน และสองท่านเท่ากับเป็นผู้แทนฝ่ายต่างๆ คือไม่ใช่สองฝ่าย ฝ่ายต่างๆ ที่เผชิญหน้ากัน ให้ช่วยกันแก้ปัญหาปัจจุบันนี้คือความรุนแรงที่เกิดขึ้น แล้วก็เมื่อเยียวยาปัญหานี้ได้แล้วจะมาพูดกัน ปรึกษากันว่าจะทำอย่างไรสำหรับให้ประเทศไทยได้มีการสร้างพัฒนาขึ้นมาได้ กลับคืนมาได้ด้วยดี อันนี้ก็เป็นเหตุผลที่เรียกท่านทั้งสองมา และก็เชื่อว่าทั้งสองท่านก็เข้าใจว่า จะเป็นผู้ที่ได้สร้างประเทศจากซากปรักหักพัง แล้วก็จะได้ผลในส่วนตัวมากว่าได้ทำดี แก้ไขอย่างไรก็แล้วแต่ที่จะปรึกษากัน ก็มีข้อสังเกตดังนี้..”
พระราชดำรัสตอนหนึ่ง พระราชทานแก่ พลเอกสุจินดา คราประยูร และ พลตรีจำลอง ศรีเมือง (วันพุธที่ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๕)
ผมมีความเชื่ออันเป็นปัจเจกอย่างหนึ่งว่า.. สิ่งของบางสิ่ง คำพูดบางคำ มหาบุรุษบางคน ถือกำเนิดขึ้นในบรรพิภพด้วยวัตถุประสงค์บางสิ่งบางอย่าง บ้างจรรโลงสังคม บ้างส่องสว่างนำทาง และบ้างร้อยรัดดวงใจ
ณ ผืนแผ่นดินสุวรรณภูมิ.. ผมไม่ใคร่คิดว่าจะมีมหาบุรุษคนใดยิ่งใหญ่ไปกว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พ่อหลวงของปวงชนชาวไทย ๑๐๐ พระราชดำริ ๑,๐๐๐ พระราชดำรัส ๑๐,๐๐๐ พระราชกรณียกิจ ที่ทรงกระทำล้วนมุ่งมาดวาดผลไปยังจุดหมายเดียวกัน นั่นคือ ความผาสุขของปวงพสกนิกรแห่งพระองค์
ธันวาคม พุทธศกที่ ๒๕๕๒ ในท่ามกลางม่านหมอกแห่งความไม่เข้าใจของไทยร่วมชาติ พ่อหลวงของปวงชนชาวไทยพระองค์นี้ยังคงเสด็จฯ ประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราช เพื่อรับการถวายรักษาอาการพระประชวรล่วงเข้าสู่เดือนที่ ๓
ในโอกาสนี้ผมขออนุญาตเชิญพระราชดำรัสตอนหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ที่ทรงพระราชทานแก่ พลเอกสุจินดา คราประยูร และ พลตรีจำลอง ศรีเมือง เมื่อวันพุธที่ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ อันเป็นวันที่หมอกควันแห่งความไม่เข้าใจของไทยร่วมชาติพัดพลั้งบังดวงตาเช่นกัน
“.. เวลาคนมีการปฏิบัติรุนแรงมันลืมตัว ลงท้ายเขาไม่รู้ว่าตีกันเพราะอะไร แล้วก็จะแก้ปัญหาอะไร เพียงแต่ว่าจะต้องเอาชนะ แล้วก็ใครจะชนะ ไม่มีทาง อันตรายทั้งนั้น มีแต่แพ้ คือต่างคนต่างแพ้ ผู้ที่เผชิญหน้าก็แพ้ แล้วที่แพ้ที่สุดก็คือ ประเทศชาติ ประชาชน..”
หากความผาสุขของพสกนิกรในชาติคือพระราชปณิธานของพระองค์ แต่หากวันพรุ่งนี้คนที่แพ้คือ ประเทศชาติ และประชาชน
แล้วพ่อหลวงของปวงไทยพระองค์นี้จะทรงมีความสุขได้อย่างไร
ร่วมกันนำความสุขสมานฉันท์กลับคืนสู่สังคมไทยเพื่อถวายเป็นพระพรชัยแด่พ่อหลวงกันเถิดครับ
ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ
ข้าพระพุทธเจ้า นายชวลิต แสงอินทร์
ประโยชน์หรือการสร้างสรรค์ในทางที่ดีนั้น จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการลงมือทำ… เมื่อยังไม่ลงมือทำประโยชน์ก็ยังไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ถึงหากจะมีความรู้ความสามารถมากมายสักเพียงใด ถ้าไม่นำมาลงมือทำ ก็ปราศจากประโยชน์ บ้านเมืองของเราในเวลานี้อยู่ในสภาวะที่ต้องพัฒนาหรือปรับปรุงตัวเองอย่างรวดเร็วในทุกๆ ทาง เพื่อให้สามารถก้าวไปทันผู้อื่นเขาได้อย่างมั่นคงและปลอดภัยทุกคน โดยเฉพาะผู้มีความรู้ จึงต้องขวนขวายทำงานให้เต็มกำลัง…
ความตอนหนึ่งของพระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร วันพุธที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๔
ผมบันทึกภาพงานบุญแข่งเรือภาพนี้ ในลุ่มน้ำสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานี ในช่วงเทศกาลออกพรรษา การแข่งเรือยาวเป็นสิ่งที่แสดงออกให้เห็นชัดเจนในแง่ของความสามัคคีในหมู่คนที่ร่วมแรงร่วมใจที่จะมุ่งหน้าไปสู่เป้าหมาย ดังกระแสพระราชดำรัสที่ทรงสั่งสอนเราให้มีความสามัคคี พระราชดำรัสข้างต้น นอกจากจะแสดงให้เห็นเรื่องของความสามัคคีแล้ว ยังตรัสถึงความสามารถที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ฝีพายเรือก็เช่นกัน นายท้ายผู้คัดท้ายเรือก็เช่นกัน มีประสบการณ์ มีความรู้และทักษะ มีพละกำลัง แต่ขาดความสามัคคี ขาดความร่วมแรงร่วมใจ ไม่แสดงออกจนเต็มความสามารถเต็มกำลังที่ตนเองมีอยู่ ก็ยากที่จะนำเรือยาวของตนมุ่งสู่ความเป็นเลิศได้
ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมของเดชะ
ข้าพระพุทธเจ้า นายนคเรศ ธีระคำศรี
“คนเราถ้าพอใจในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อย ก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าทุกประเทศมีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่าพอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข”
พระราชดำรัสตอนหนึ่ง พระราชทานแก่คณะบุคคลที่เข้าเฝ้า ณ ศาลาดุสิตาลัย ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑
เมื่อครั้งเดินทางระหกระเหเร่ร่อนอยู่ในเมืองโมรนดาว่า ประเทศมาดากัสการ์ สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นและทำให้คิดถึงเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์ท่านขึ้นมาทันที นั่นคือเรือประมงลำเล็กของชาวบ้าน ที่เรียกว่า “พีร๊อค” ซึ่งอาศัยเพียงการกางใบรับแรงลมแล่นเรือออกหาปลาเพื่อนำมามายังชีพแบบวันต่อวัน
หากมองด้วยสายตาคนเมืองอันคับแคบ ที่มักยึดติดกับความสะดวกสบายและผลประโยชน์สูงสุดเป็นสรณะ ภาพที่เห็นนั้นคือ ความลำบากยากจนข้นแค้นและล้าหลัง อาจเผลอไผลกระทั่งเหยียดหยามว่าเขาเหล่านั้นเกียจคร้านไม่ขยันทำมาหากิน
ใช่ กับแค่เรือใบลำเล็กๆ จะออกไปหาปลาได้สักเท่าไร ก็แค่ “พอกิน”
ทว่ามองในอีกมุมหนึ่งแล้ว การที่คนเมืองอย่างเราๆ ต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำจนแทบไม่มีเวลาแม้แต่จะพักผ่อนนั้น เราเคยฉุกคิดกันบ้างหรือเปล่าว่าไอ้ที่ทำๆ อยู่นั้นมันเกินกว่าคำว่า “พอกิน” และ”พอเพียง” ไปมากแค่ไหน
ยิ่งเมื่อมองลึกเข้าไปในดวงตาของชาวประมงแห่งโมรนดาว่า ผมยิ่งเชื่อสนิทใจว่าคนเราถ้ารู้จัก “พอ” เมื่อไร ชีวิตก็เป็นสุขได้เมื่อนั้น
หากรู้สึกว่าชีวิตสิ้นหนทางเมื่อไร ขอให้นึกถึงคำสอนของ “พ่อพุทธเจ้าหลวงแห่งปวงชาวไทย” ทางออกแห่งแสงสว่างจะมีอยู่ในนั้นเสมอครับ
ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ
ข้าพระพุทธเจ้า นายจิรชนม์ ฉ่ำแสง
“การพัฒนาประเทศ จำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐาน คือ ความพอมีพอกินพอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและอุปกรณ์ที่ประหยัด แต่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เมื่อได้พื้นฐานมั่นคงพร้อม
พอสมควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างเสริมความเจริญและฐานะทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นตามลำดับ การช่วยเหลือสนับสนุนประชาชนในการประกอบอาชีพ และตั้งตัวให้มีความพอกินพอใช้ก่อนอื่น เป็นสิ่งสำคัญยิ่งยวด เพราะผู้ที่มีอาชีพและฐานะเพียงพอที่จะพึ่งพาตนเองได้ ย่อมสามารถสร้างความเจริญในระดับสูงขึ้นต่อไป”
พระบรมราโชวาทตอนหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระราชทาน แก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคลในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต วันพฤหัสบดีที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๑๗
พระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจต่างๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตราษฎร โดยมีพระราชประสงค์ที่จะวางพื้นฐานให้ราษฎรสามารถพึ่งตนเองให้ได้ และเมื่อราษฎรแต่ละครอบครัวเข้มแข็ง ก็จะส่งผลให้ชุมชนเข้มแข็ง
พระองค์ท่านทรงมองการพัฒนาแบบยั่งยืน และทรงตรากตรำงานหนักเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรที่ดีขึ้น กว่าหกสิบปีของการทรงงาน โครงการในพระราชดำริกว่าสามพันโครงการตอกย้ำความเสียสละที่ยิ่งใหญ่เกินกว่าที่บุคคลคนใดคนหนึ่งจะทำได้ แต่พระองค์ท่านได้ทำให้เห็นประจักษ์แล้ว
ในยุคที่รัฐบาลและนักวิชาการมองกันแต่เศรษฐกิจภาพรวม จีดีพีเติบโตแค่ไหน ปีนี้ลดลงเท่าไร อัตราเงินเฟ้อเป็นอย่างไร แต่ไม่ได้มองลงไปถึงความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ในประเทศซึ่งเป็นเกษตรกร ราวกับว่าบ้านนี้เมืองนี้ขับเคลื่อนด้วยพ่อค้า นายทุน และผู้มีอำนาจเท่านั้น เรายังหวังกันว่าไทยจะเป็นเมืองอุตสาหกรรม เมืองแห่งการลงทุน เมืองแห่งเทคโนโลยี ทั้งๆ ที่ความจริง นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ไม่ใช่จุดแข็งของเรา
เกษตรกรรมต่างหากที่คือจุดแข็งของเรา เราคือคลังอาหารของโลกด้วยซ้ำ แต่เกษตรกรในบ้านเราล้วนถูกมองข้ามจากสังคมเสมอ และหากราษฎรส่วนใหญ่ของประเทศยังไม่พอกินพอใช้ ยังพึ่งพาตนเองไม่ได้ ชาติจะอยู่ได้อย่างไร
ผมหยิบภาพนี้มาดูแล้วนึกถึงเรื่องที่ประเทศในย่านตะวันออกกลางเข้ามาซื้อที่นา แล้วจ้างชาวนาปลูกข้าว หากเราไม่ช่วยกัน ผู้มีอำนาจยังเห็นแก่ผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องมากกว่าผลประโยชน์ของชาติและคนในชาติ ฟ่อนข้าวที่ชาวนาฟาดลงไปนั้น ข้าวเปลือกที่ได้อาจไม่ใช่ของชาวนา ไม่ใช่ของผู้คนในชุมชน แต่เป็นของคนต่างชาติ ชาวนาอาจกลายเป็นเพียงผู้รับจ้างปลูกข้าว
เราควรนึกถึงความเหน็ดเหนื่อยของพระองค์ท่านตลอดกว่าหกสิบปี ที่มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนในการพึ่งพาตนเอง เน้นการพัฒนาคน พัฒนาความรู้ พร้อมกับการแก้ปัญหา เรื่องการทำกิน และคุณภาพชีวิตของราษฎรตลอดมา
อย่าให้ใครเข้ามาทำลายรากเหง้าของเรา อย่าให้ผลประโยชน์มากัดกร่อนสังคมเกษตรกรรม สังคมแห่งการช่วยเหลือเอื้ออาทรของผู้คนในชุมชน ภาพของการลงแขกช่วยกันเกี่ยวข้าวคือภาพแห่งความสมัครสมาน สามัคคี ภาพที่สะท้อนสายใยของคนในชุมชน
อยากให้ภาพเช่นนี้คงอยู่คู่สังคมไทยตลอดไปได้ ก็ต้องน้อมนำพระราชดำรัสมาปฏิบัติทั้งภาครัฐและราษฎร์ครับ
ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ
ข้าพระพุทธเจ้า นายอิสระ เสมือนโพธิ์
นิตยสารโฟโต้อินโฟ ฉบับเดือน ธันวาคม 2552