Basic

กล้อง เลนส์ และการปรับตั้งกล้อง สำหรับถ่ายภาพเด็ก

ในการถ่ายภาพเด็กนั้น อุปกรณ์ถ่ายภาพนับว่ามีความสำคัญพอควร แต่ไม่ได้ต้องการประสิทธิภาพขั้นสูงทั้งกล้องและเลนส์แต่อย่างใด กล้องระดับสมัครเล่นหรือระดับโปรก็มีโอกาสได้ภาพดีไม่แตกต่างกันมากนัก ไม่เหมือนการถ่ายภาพบางประเภทอย่างเช่น ภาพแอคชัน ภาพกีฬา ที่กล้องและเลนส์มีความสำคัญมาก ยกเว้นว่าคุณจะถ่ายภาพแอคชันของเด็กซึ่งจะต้องอาศัยสมรรถนะของระบบออโตโฟกัสจากกล้องและเลนส์มากขึ้น แต่ถ้าเป็นการถ่ายภาพเด็กทั่วไป ก็ไม่แตกต่างอะไรกับการถ่ายภาพพอร์เทรต เพียงแต่การถ่ายภาพเด็กจะต้องเร็วกว่า การขยับเปลี่ยนมุม เลือกตำแหน่งกล้องอาจทำให้เสียโอกาสได้ภาพ

กล้อง

แนะนำว่ากล้องอะไรก็ถ่ายภาพเด็กได้ แต่ถ้าจะให้สะดวกและคล่องตัว กล้องมิเรอร์เลสจะเหมาะกว่า เพราะในการถ่ายภาพเด็ก บางครั้งเราไม่ต้องมองที่ช่องมองภาพ สามารถสื่อสารหรือเล่นกับเด็กได้มากกว่า หรือกับเด็กบางคนที่เขินกล้อง การที่เราไม่จรดสายตากับกล้องก็จะลดความเขินอายของเด็กได้มากกว่า และสามารถเลือกพื้นที่โฟกัสได้กว้างโดยเฉพาะกล้องที่มีระบบทัชสกรีน สามารถย้ายจุดโฟกัสไปได้เกือบทั่วทั้งภาพอย่างรวดเร็ว สามารถวางเฟรมภาพได้ง่าย ไม่ต้องพะวงกับการล็อกโฟกัส ทำให้โอกาสที่โฟกัสจะผิดพลาดมีน้อยกว่า สามารถเปิดระบบตรวจจับใบหน้าและระบบ EYE AF ได้ทำให้กล้องโฟกัสติดตามเด็กได้แม่นยำโดยไม่ต้องห่วงว่าจะหลุดออกนอกพื้นที่โฟกัส และการโฟกัสจะแม่นยำกว่าเมื่อต้องเปิดรูรับแสงกว้าง โอกาสที่จะโฟกัสผิด(จากกล้อง) ในแบบ Back Focus หรือ Front Focus มีน้อยมาก

เลนส์

แนะนำว่าควรมีเลนส์ซูมมาตรฐานที่ช่วงซูมกว้างหน่อยเช่น 24-105 มม. หรือ 24-120 มม. สักตัว เลนส์ 24-70 มม. ก็ใช้งานได้ดีแต่การเลือกขนาดภาพอาจไม่สะดวกเท่า 24-105 มม. เมื่อเด็กวิ่งเล่น สำหรับกล้อง APS-C เลนส์ซูมช่วง 18-135 มม. หรือ 18-200 มม. จะใช้งานได้สะดวก สำหรับเลนส์ซูมช่วงซูมกว้างมีประโยชน์กว่าความสว่าง

เลนส์ซูมความสว่างสูง เช่น 70-200 มม. f/2.8 ก็เป็นเลนส์ที่ใช้งานได้ดีเพียงแต่จะเหมาะกับการถ่ายภาพในพื้นที่ห้องกว้างๆ หรือนอกสถานที่แต่ในห้องนอนเด็ก ในห้องนั่งเล่น มุมรับภาพจะแคบเกินไป และปรับเปลี่ยนเป็นภาพกว้างๆ เต็มตัวไม่ได้เมื่อต้องการเก็บภาพในทันที ต้องเสียเวลาเปลี่ยนเลนส์ ดังนั้นถ้าถ่ายภาพในห้องแนะนำว่าเลนส์ซูมมาตรฐานดีกว่า

ส่วนเลนส์ทางยาวโฟกัสเดียวเลนส์ที่น่าใช้คือ 50 มม.และ 85 มม. โดยเลนส์ 50 มม. จะมีระยะทำงานค่อนข้างใกล้ เหมาะกับพ่อแม่ ผู้ปกครองที่สนิทกับเด็กอยู่แล้ว ข้อดีคือใช้งานได้ดีแม้พื้นที่แคบ ความสว่างสูงไม่ต้องห่วงเรื่องแสงน้อย ให้ภาพที่ดิสทอร์ชันน้อย ภาพดูเป็นธรรมชาติ ฉากหลังไม่แคบเกินไปยังเห็นโลเคชัน เช่น ห้องนอน ห้องนั่งเล่น สวนหน้าบ้าน ได้อยู่ แต่ถ้าจะถ่ายโคลสอัพใบหน้าจะต้องเข้าใกล้มาก เด็กเล็กๆ มักจะเอื้อมมือมาจับหน้าเลนส์หรือบางคนก็เขิน

ส่วนเลนส์ 85 มม. นั้นเป็นเลนส์ที่ใช้งานได้สะดวกเมื่อต้องถ่ายภาพในสถานที่และต้องการเน้นเด็กมากกว่าสถานที่ มุมรับภาพที่แคบกว่าจะเลือกฉากหลังที่ต้องการได้ง่ายกว่า ไม่ต้องเข้าใกล้เด็กมากนักจึงมีโอกาสได้ภาพที่เป็นธรรมชาติมากกว่า ความไวแสง F1.8 ก็นับว่าเพียงพอในการใช้งาน ไม่จำเป็นต้องใช้ถึง F1.4 ขอเพียงแค่ต้องเป็น F1.8 ที่คมพอ เพราะถ้าเป็นเลนส์ 85 มม. f/1.8 ยุคเก่า ภาพมักจะซอฟท์ที่ f/1.8 กว่าจะคมชัดดีก็ต้องเปิดถึง f/2.8 เลนส์แบบนี้ไม่น่าใช้ครับ เพราะในการถ่ายภาพเด็กเราอาจต้องเปิดเอฟกว้างสุดอยู่บ่อยๆ เมื่อแสงน้อยหรือเมื่อต้องการเบลอฉากหลัง

ส่วนเลนส์ช่วง 100 มม. , 105 มม. ก็ใช้งานไม่แตกต่างจาก 85 มม. มากนักเพียงแต่ถ้าเป็นภาพภายในสถานที่จะมีข้อจำกัดเรื่องมุมกล่้องหากต้องการถ่ายภาพเต็มตัว เช่นเดียวกับเลนส์ช่วง 135 มม. ที่จะเหมาะกับการถ่ายภาพเด็กนอกสถานที่เท่านั้น

แฟลช

แฟลชมีประโยชน์ค่อนข้างน้อยมากสำหรับการถ่ายภาพเด็กเพราะให้แสงที่แข็งและแบน จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้แสงแฟลชเป็นแสงหลัก แต่ก็สามารถใช้แฟลชเป็นแสงเสริมสำหรับเปิดเงาเมื่อถ่ายในสภาพย้อนแสงหรือแสงที่มีความเปรียบต่างสูง โดยฟิลเบาๆ เพื่อลบเงาและให้เห็นแววตา การใช้แฟลชที่ได้ประโยชน์จะเป็นการเบาซ์แฟลชในห้องนอน ห้องนั่งเล่นโดยใช้ร่วมกับแสงธรรมชาติ คุณจะได้ภาพที่ดูนุ่มนวลแต่ใสเคลียร์


การปรับตั้งกล้อง

ใช้โหมดอัตโนมัติ
การใช้ระบบบันทึกภาพแบบออโต้ เช่น โหมด A หรือ P จะช่วยให้คุณไม่ต้องพะวงกับการปรับค่าแสง จดจ่ออยู่กับเด็กได้มากขึ้น ปล่อยให้กล้องจัดการเรื่องการปรับค่าแสงเอง โหมด A จะสามารถเลือกรูรับแสงเพื่อคุมความชัดลึกได้สะดวกกว่าโหมด P จึงเป็นโหมดที่ช่างภาพใช้กันมากกว่า แต่ไม่ว่าจะเป็นโหมด A หรือ P สิ่งที่ต้องใช้คู่กันเสมอคือ ระบบชดเชยแสงเพราะกล้องอาจวัดแสงผิดพลาดได้เสมอเมื่อย้อนแสงหรือกับแสงที่ความเปรียบต่างสูง ต้องใช้ระบบชดเชยแสงให้คล่องเพื่อให้ได้ภาพที่มีค่าแสงถูกต้อง ไม่ต้องมาปรับแก้ในซอฟแวร์

ถ่ายไฟล์ RAW+JPEG
การถ่ายแต่ไฟล์ JPEG อาจเสียโอกาสได้เพราะบางครั้งความรีบทำให้วัดแสงพลาด ไม่ได้ชดเชยแสง ไวท์บาลานท์ผิด สีเพี้ยน สิ่งเหล่านี้ถ้าเกิดบนไฟล์ JPEG จะแก้ไขยาก แต่ถ้าเป็นไฟล์ RAW จะจัดการได้ง่ายและไม่ทำให้เสียคุณภาพไปมากนัก แต่ก็ควรถ่ายคู่กับไฟล์ JPEG ด้วยเพราะเมื่อต้องการใช้ภาพเร็วๆ เช่น พ่อแม่เด็กอยากได้ภาพไปโพสต์ในโซเชียล อยากได้ไฟล์ทั้งหมดทันที ช่างภาพที่ถ่ายแต่ไฟล์ RAW เหงื่อตกแน่ครับ

ย้ายจุดโฟกัส อย่าล็อกโฟกัส
ในการถ่ายภาพ เรามักจะวางตำแหน่งเด็กไว้กลางภาพบ้าง ด้านขวาบ้างด้านซ้ายบ้าง ช่างภาพที่ใช้กล้อง DSLR มักจะใช้วิธีเลือกจุดโฟกัสตำแหน่งกลางแล้วล็อกโฟกัส จัดองค์ประกอบภาพใหม่ด้วยการขยับกล้องไปซ้าย-ขวา วิธีนี้เร็วแต่อาจทำให้โฟกัสหลุดได้เมื่อใช้เลนส์ไวแสงและเปิดเอฟกว้าง ดังนั้นถ้าคุณใช้กล้องมิเรอร์เลส ควรใช้วิธีย้ายจุดโฟกัสตามเด็กโดยใช้จอยสติ๊กหรือ Touch Pad เมื่อใช้ช่องมอง EVF และใช้ Touch AF เมื่อมองภาพที่จอ LCD ด้านหลังตัวกล้อง จะช่วยลดความผิดพลาดจากการโฟกัสได้ดีกว่า

ใช้ระบบโฟกัส AF-C เมื่อถ่ายเด็กเคลื่อนไหว
มือใหม่มักจะใช้ระบบโฟกัสแบบ AF-S หรือ AF-A ในการถ่ายภาพเด็ก แต่แนะนำว่าควรฝึกการใช้โหมด AF-C ให้คล่องไม่ว่าจะถ่ายภาพเด็กเคลื่อนไหวหรือเด็กอยู่นิ่งๆ เพราะเมื่อเด็กเคลื่อนไหวเปลี่ยนระยะ หากใช้ AF-S ภาพจะหลุดโฟกัสทันที หรือแม้แต่ภาพที่คุณเห็นว่าเด็กอยู่นิ่งๆ หากใช้เอฟกว้างแค่เด็กขยับหน้าเล็กน้อย โฟกัสก็อาจหลุดออกจากตาไปที่จมูกแล้วก็เป็นได้ การใช้ AF-C แล้วย้ายจุดโฟกัสตามเด็กเป็นวิธีที่ปลอดภัยกว่า

เปิดระบบ Face Detection และ Eye AF
หากใช้กล้องมิเรอร์เลสถ่ายภาพเด็กควรเปิดฟังก์ชันนี้ไว้เพื่อให้กล้องโฟกัสติดตามใบหน้าเสมอและถ้าโฟกัสติดตามดวงตาได้ก็จะชัวร์กว่า ระบบนี้จะช่วยให้มือใหม่ถ่ายภาพได้สะดวกและหวังผลได้เกือบทุกช็อต ดีกว่าได้ภาพที่จังหวะดี อารมณ์ภาพดี แต่หลุดโฟกัส ซึ่งคุณจะเสียดายในภายหลังเพราะตอนถ่ายภาพอาจไม่มีเวลาเช็คการโฟกัสในทุกๆ ช็อต

ถ่ายรัวไว้ก่อนกับภาพแอคชัน
สำหรับภาพแอคชัน เช่นเด็กวิ่งเล่น กระโดดโลดเต้น ควรเปิดระบบถ่ายภาพต่อเนื่องเพื่อเก็บทุกแอคชันไว้ก่อน อย่าเชื่อมือตัวเองมากนักว่าจะกดชัตเตอร์ในจังหวะดีที่สุด ปล่อยให้กล้องมันรัวแล้วมาเลือกเฟรมที่ใช่ดีกว่า

เรียบเรียง : กองบรรณาธิการ


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


หากเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ ฝากกดไลค์และแชร์ด้วยนะครับ
FOTOINFO มี LINE@ OFFICIAL แล้ว !!! อย่าลืมแอดไลน์ @FOTOINFO (หรือสแกน QR Code ในภาพนี้)

ขอบคุณครับ

ติดตาม FOTOINFO ได้ทั้งรูปแบบนิตยสาร Free Copy, e-magazine ฟรีดาวน์โหลด และช่องทางอื่นๆออนไลน์ได้ที่
Line@ : @fotoinfo
YouTube : Fotoinfo Channel
Website : fotoinfomag.com
e-magazine : issuu.com/fotoinfomagazine


ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus

หรือสนใจสาระความรู้ด้านการถ่ายภาพที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่

https://test2.fotoinfo.online/all-about-photo/basic