Shooting Destination

ท่องเที่ยววิถีไทย : ประเพณีแห่เจ้าพ่อหลักเมือง สมุทรสาคร

ประเพณีแห่เจ้าพ่อหลักเมือง สมุทรสาคร เป็นประเพณีที่ได้รับการสืบทอด และจัดกันอย่างต่อเนื่องมากว่า 53 ปี โดยจัดงานครั้งแรกในปี พ.ศ. 2508 ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีของการจัดงานนี้นั้น เกิดขึ้นจากพลังแห่งความเลื่อมใสศรัทธาของชาวสมุทรสาคร ต่อองค์เจ้าพ่อหลักเมือง โดยในปี พ.ศ. 2561 นี้ จัดงานในระหว่างวันที่ 20-24 มิถุนายน โดยวันที่สองของงานคือ วันที่ 21 มิถุนายนนั้น เป็นวันแห่เจ้าพ่อ ซึ่งจัดกันตั้งแต่เช้า เรื่อยไปจนถึงช่วงเย็น และเป็นขบวนแห่ที่ไม่เหมือนที่อื่นๆ นั่นคือ เป็นขบวนแห่ทั้งทางบกและทางนํ้านั่นเองครับ

หลังจากที่รับแผนที่จาก Call Center มาแล้ว ผมก็ให้ระบบนำทางพาเรามุ่งตรงไปยังศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรสาครทันที แน่นอนครับ ผมและทีมงานยังคงใช้รถยนต์ Toyota Fortuner รถครอบครัวเอนกประสงค์ 7 ที่นั่ง เครื่องยนต์ 1GD FTV ความจุ 2800 ซีซี 177 แรงม้า ซึ่งนอกจากความเอนกประสงค์ในการใช้งานแล้ว ยังได้รับการเพิ่มเทคโนโลยี T-Connect Telematics เข้ามาให้สะดวกกับการใช้งานเพิ่มขึ้นอีกด้วยโดยความโดดเด่นของระบบ T-Connect Telematics อาทิ มีซิมการ์ดในตัว ทำให้ปล่อยสัญญาณ Wi-Fi ช่วยให้สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ในทุกๆ ที่ ซึ่งสะดวกกับการใช้งานมากทีเดียว ช่วยให้ผมสามารถใช้คอมพิวเตอร์ส่งงาน ส่งไฟล์ภาพ หรือทำงานอื่นๆ ได้ เหมือนกับมีออฟฟิศเคลื่อนที่เลยทีเดียวครับ อีกฟังก์ชั่นเด่นอย่างหนึ่งที่ผมใช้งานอยู่ตลอดทั้งการเดินทางคือ ให้ Call Center ส่งแผนที่ตำแหน่งที่ผมต้องการเดินทางไปได้ โดยแค่เพียงแตะไอคอนที่เป็นรูปหูฟัง พร้อมไมโครโฟนบนจอมอนิเตอร์ ระบบจะต่อสายให้อัตโนมัติ ผมเพียงแจ้งตำแหน่งที่ต้องการเดินทางไป จากนั้น Call Center จะส่งแผนที่มาให้ ผมก็เพียงแตะเริ่มระบบนำทางเท่านั้นเอง ไม่ยุ่งยากแต่อย่างใด รวมทั้งไม่ต้องหยุดรถเพื่อเลือกเสริชในระบบนำทางให้เสียเวลาอีกด้วย สะดวกมากจริงๆ ครับ

นอกจากนี้ระบบ T-Connect Telematics ยังช่วยแจ้งเตือนการเข้าบำรุงรักษารถตามระยะทาง, ระบบช่วยเตือน เมื่อเกิดอาการเมื่อยล้าจากการขับขี่เป็นระยะเวลานานๆ, ระบบค้นหารถยนต์และระบบตรวจสอบตำแหน่ง หรือระบบแจ้งเตือนขณะจอดรถ และเกิดความผิดปกติขึ้นกับรถ เช่น รถเคลื่อนออกจากตำแหน่งเดิม ในกรณีที่อาจจะถูกโจรกรรม เป็นต้น

และนอกจากระบบ T-Connect Telematics แล้ว Toyota Fortuner ยังมาพร้อมเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้ใช้ขับขี่ได้อย่างปลอดภัย และให้ความมั่นใจได้อย่างเต็มเปี่ยม อาทิ ระบบเบรก ABS ป้องกันล้อล็อกตายในขณะเบรก ช่วยให้หักหลบสิ่งกีดขวางได้, ระบบ EDB จะกระจายแรงเบรกไปยังล้อทั้งคู่หน้าและคู่หลัง โดยมีเซ็นเซอร์คำนวณความเร็วของล้อทั้งสี่ และควบคุมแรงดันนํ้ามันเบรกให้เหมาะสมกับความเร็วของล้อ เพื่อให้รถหยุดได้อย่างปลอดภัย โดยไม่มีอาการล้อล็อกหรืออาการท้ายสะบัดด้วยครับ

อีกหนึ่งความปลอดภัยคือ ระบบ VSC หรือระบบช่วยควบคุมการทรงตัวของรถ ซึ่งจะทำงานประสานกันกับระบบเบรก ABS และระบบ TRC หรือระบบป้องกันล้อหมุนฟรี โดยระบบจะมีเซ็นเซอร์คอยตรวจจับการหมุนของล้อ ซึ่งเมื่อมีล้อใดล้อหนึ่งหมุนเร็วกว่าล้ออื่นๆ หรือมีการลื่นไถล ระบบจะสั่งให้ ABS ส่งแรงดันนํ้ามันเบรกไปยังล้อนั้นเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็ลดรอบเครื่องยนต์ลง เพื่อให้ตัวรถกลับสู่การควบคุมที่ปกติ ซึ่งการทำงานที่ประสานกันเป็นอย่างดีจากหลายๆ ระบบความปลอดภัยที่มีอยู่ในตัวรถ ก็ช่วยให้ผมขับขี่ได้อย่างมั่นใจมากขึ้นด้วยครับ

สำหรับโหมดการขับขี่ปกติของ Toyota Fortuner จะเน้นในเรื่องของการประหยัดเป็นหลัก ดังนั้นการเร่งแซงจะค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป แต่ถ้าหากผมต้องการการเร่งแซงที่รวดเร็วฉับไวขึ้น ผมจะเปลี่ยนโหมดขับขี่เป็นโหมด Power ซึ่ง ตอบสนองการใช้งานได้เป็นอย่างดีทีเดียว เครื่องยนต์เรียกรอบมาได้ค่อนข้างเร็ว เรียกว่ากดเป็นพุ่งเลยละครับ การเลือกโหมดขับขี่ก็สามารถกดเลือกจากปุ่มที่อยู่ข้างๆ ตำแหน่งของเกียร์ ซึ่งมีขนาดใหญ่ ใช้งานได้สะดวกทีเดียวละครับ

เมื่อเดินทางถึงตัวจังหวัดสมุทรสาคร ผมขับผ่านศาลเจ้าพ่อหลักเมือง เพื่อนำไปจอดไว้แถวๆ กองบังคับการตำรวจนํ้า เนื่องจากต้องใช้เวลาถ่ายภาพงานตลอดทั้งวัน จึงต้องหาที่จอดได้นานๆ หลังจากตรวจสอบความเรียบร้อยทั้งหมดแล้ว ผมก็เดินย้อนกลับมาเก็บภาพบรรยากาศในงาน ซึ่งมีเรือประมงกว่า 30 ลำ ที่ประดับประดาธงทิวสวยงาม เตรียมพร้อมสำหรับขบวนแห่ทางนํ้า

บรรยากาศหน้าศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ก่อนเริ่มขบวนแห่

ขบวนเกี้ยวของเจ้าพ่อหลักเมือง เตรียมลงเรือ

พิธีอย่างเป็นทางการจะเริ่มขึ้นประมาณ 9 โมงเช้า โดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานเปิดงาน และอัญเชิญเจ้าพ่อหลักเมืองประทับบนเกี้ยว ก่อนที่จะเคลื่อนขบวนไปลงเรือต่อไป ซึ่งใกล้ๆ เวลางาน ผู้คนก็ทยอยกันเข้ามาอยู่บริเวณหน้าศาลเจ้าพ่อกันค่อนข้างหนาตา หลายๆ คนก็ลงเรือออกไปลอยลำรอขบวนของเจ้าพ่อหลักเมืองอยู่ก่อนแล้ว บรรยากาศดูคึกคักดีทีเดียวครับ บริเวณรายรอบศาลเจ้าพ่อ ก็มีผู้คนที่ศรัทธาตั้งโรงทาน นำอาหาร เครื่องดื่ม และของกินต่างๆ มาแจกจ่ายให้กับประชาชนที่มาร่วมงานด้วย

รูปเจ้าพ่อหลักเมือง สมุทรสาคร หรืออีกชื่อหนึ่งคือ เจ้าพ่อวิเชียรโชติ สร้างจากไม้โพธิ์แกะสลัก มีความกว้างประมาณหนึ่งศอก สูงประมาณหนึ่งเมตร เป็นรูปเทวดาประทับยืน หัตถ์ขวาประทานพร หัตถ์ซ้ายถือพระขรรค์ มีกุมารน้อยเป็นบริวารอยู่ด้านข้างซ้าย-ขวา ประทับยืนอยู่บนเกี้ยว และปิดทองเหลืองอร่ามทั่วทั้งองค์ เป็นที่เคารพสักการะของชาวเรือ โดยก่อนที่จะออกเรือไปหาปลานั้น ก็จะมาทำการสักการะ จุดประทัดที่ด้านหน้าศาลเพื่อความเป็นศิริมงคล

มีตำนานเล่นขานถึงความเป็นมาของเจ้าพ่อหลักเมืองว่า แผ่นไม้แกะสลักนี้ ลอยนํ้าผ่านมาตามคลองมหาชัย เมื่อชาวบ้านได้พบเห็นจึงอัญเชิญขึ้นมาสักการะ และสร้างเพิงหลังคามุงจากให้เป็นที่ประทับ ต่อมามีผู้คนที่เดินทางมาสักการะบนบานศาลกล่าว และประสบความสำเร็จมากมาย ทำให้ชื่อเสียงเลื่องลือ

ศูนย์รวมความศรัทธาของชาวสมุทรสาคร

ระหว่างพัก ชาวบ้านจะนำธูปมาแลกกับธูปของเจ้าพ่อหลักเมือง เพื่อนำไปสักการะที่บ้านของตนเอง

หลังจากนั้นจึงพร้อมใจกันสร้างศาลที่ประทับขนาดใหญ่ขึ้นตรงบริเวณกำแพงเมืองเก่าป้อมวิเชียรโชฎกนั่นเอง ต่อมาภายหลัง ศาลแห่งนี้ถูกรื้อออกเพื่อสร้างศาลหลักเมือง จนเมื่อศาลหลักเมืองสร้างเสร็จ ชาวสมุทรสาครที่นับถือและศรัทธาในองค์เจ้าพ่อหลักเมือง ได้ร่วมแรงร่วมใจจัดสร้างอาคารหลังใหม่เป็นแบบเก๋งจีน แล้วอัญเชิญองค์เจ้าพ่อหลักเมืองลงมาประดิษฐานยังศาลใหม่นี้จวบจนปัจจุบันนั่นเอง

ผมเตรียมอุปกรณ์สำหรับถ่ายภาพด้วยกล้องและเลนส์สองชุด เป็นบอดี้ติดเลนส์มุมกว้าง 15 มม. หนึ่งชุด และบอดี้ติดเลนส์เทเลซูม 150-600 มม. อีกหนึ่งชุด สำหรับบันทึกภาพในตอนที่ล่องเรือ เพราะคงจะไม่สะดวกนัก ถ้าหากว่าจะต้องลงเรือไปเก็บบรรยากาศด้วย เนื่องจากอาจจะต้องอยู่ในขบวนเรือจนเสร็จสิ้นขบวนแห่ทางนํ้าแน่นๆ ดังนั้น บรรยากาศในขบวนเรือจึงใช้เลนส์เทเลซูมแทนครับ

หลังจากที่ท่านผู้ว่าเดินทางมาถึง และเข้าไปทำพิธีด้านในศาลเจ้าพ่อ บรรดาลูกศิษย์ต่างก็จัดขบวนธงทิวต่างๆ เตรียมรออยู่ด้านหน้าศาล ผมก็เดินเก็บภาพไปเรื่อยๆ เลนส์มุมกว้างจะเหมาะสำหรับบรรยากาศแบบนี้ เพราะมุมรับภาพกว้างๆ จะถ่ายทอดบรรยากาศที่อลังการได้ทั้งหมดนั่นเองครับ เรือของเหล่าลูกศิษย์เจ้าพ่อ ทยอยเคลื่อนขบวนออกไปลอยลำรอแล้ว เหลืออยู่เพียงเรือรับเกี้ยวของเจ้าพ่อ และเรือธงทิวต่างๆ เท่านั้น

ขบวนธงทิวยาวเหยียด

หลังจากเสร็จสิ้นพิธีการและขบวนก็เริ่มเคลื่อนออกจากศาลเจ้าพ่อหลักเมือง เพื่อไปลงเรือที่จอดรออยู่แล้ว เกี้ยวของเจ้าพ่อ ใช้คนหามทั้งหมด 8 คน และตลอดทั้งงานแห่ จะมีเหล่าลูกศิษย์คอยสลับสับเปลี่ยนกันหามอยู่ตลอดครับ ขบวนเรือค่อยๆ แล่นออกไปตามสายนํ้าท่าจีน เพื่อให้ชาวชุมชนได้ร่วมสักการะ และชมขบวนแห่ทางนํ้าที่ยิ่งใหญ่ประจำปี ก่อนที่จะวนกลับออกมาและอัญเชิญเกี้ยวของเจ้าพ่อหลักเมืองขึ้นจากเรือที่ท่าเรือวัดแหลมสุวรรณาราม ฝั่งท่าฉลอม ก่อนที่จะมีขบวนแห่ทางบกฝั่งชุมชนท่าฉลอมก่อนฝั่งตัวเมือง

บรรยากาศของขบวนแห่ทางเรือ

ขบวนเรือธงสวยงาม

ขบวนเรือจะมาขึ้นฝั่งที่ท่าเรือวัดแหลมสุวรรณาราม ก่อนจะเคลื่อนขบวนทางบกบนฝั่งท่าฉลอมก่อน แล้วจะข้ามกลับไปยังฝั่งมหาชัย

หลังจากที่เก็บภาพขบวนเกี้ยวของเจ้าพ่อหลักเมืองขึ้นจากท่าเรือวัดแหลมสุวรรณารามแล้ว ผมก็เดินกลับมาที่ท่าเรือข้ามฟาก เพื่อข้ามไปยังฝั่งท่าฉลอมเพื่อเก็บบรรยากาศของขบวนแห่ทางบก ซึ่งจะเริ่มจาดวัดแหลมสุวรรณาราม ผ่านตลาดท่าฉลอม และมาหยุดพักที่วัดช่องลม เพื่อพักกลางวันกันด้วย ระหว่างพักนั้น จะมีชาวบ้านนำธูปมาแลกกับธูปของเจ้าพ่อ ซึ่งเป็นประเพณีนิยมเพื่อนำธูปของเจ้าพ่อ ไปสักการะที่บ้านนั่นเองครับ

หลังจากที่เดินหาของกินรองท้องจากเต็นท์โรงทานในบริเวณวัด จนอิ่มหนำสำราญแล้ว ผมก็เดินหามอเตอร์ไซค์รับจ้าง เพื่อนั่งกลับมาที่ท่าเรือข้ามกลับมายังฝั่งมหาชัย และมารอขบวนแห่ของเจ้าพ่อที่จะล่องเรือกลับมา และลัดเลาะเข้าไปในคลองมหาชัยเพื่อให้ชาวบ้านริมสองฝั่งคลองได้ร่วมในพิธีด้วย

หลังจากที่เก็บภาพขบวนเรือแล่นเข้าคลองมหาชัยแล้ว ผมเดินต่อมายังถนนที่พาดผ่านกลางเมือง หรือถนนเอกชัย ซึ่งก็มีขบวนแห่ที่ยาวเหยียดหลายๆ กิโลเมตร จากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน สมกับที่เป็นงานยิ่งใหญ่ประจำปีของจังหวัดละครับ

สำหรับวันสำคัญในงานประเพณีแห่เจ้าพ่อหลักเมือง ยังมีวันสุดท้ายอีกหนึ่งวันนั่นคือ วันที่ถือเป็นวันเกิดเจ้าพ่อด้วย ซึ่งจะมีการผัดหมี่มงคลกว่า 800 กิโลกรัม และซิ่วท้อกว่า 22,000 ลูก แจกจ่ายให้ผู้ที่มาร่วมงานด้วย ซึ่งใครที่สนใจไปงานร่วมแห่ หรือถ่ายภาพขบวนแห่ในปีหน้า ก็กาปฏิทินรอได้เลย แต่ก็ต้องเช็กวันเวลาจัดงานที่แน่นอนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้งครับ

ทริปหน้านั้น ผมและทีมงานจะพาไปถ่ายภาพและสัมผัสกับบรรยากาศพิธีโล้ชิงช้าของชาวอาข่า ที่จังหวัดเหนือสุดของประเทศ เชียงราย แล้วไปชมวิถีชีวิตชาวน่าน ในการทำเกลือสินเธาว์ที่บ้านบ่อเกลือ ส่วนพาหนะของเราจะเป็นรถยนต์โตโยต้ารุ่นไหนนั้น ติดตามได้ในฉบับหน้า
………………..
..สวัสดีครับ


การเดินทางไป ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง จ.สมุทรสาคร

จากรุงเทพฯ ใช้ถนนธนบุรี-ปากท่อ หรือทางหลวงหมายเลข 35 ตรงไปยังจังหวัดสมุทรสาคร ขับจากแยกกาญขนาภิเษกไปประมาณ 18 กิโลเมตร จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ตัวเมืองสมุทรสาคร แล้วขับตรงไปยังศาลเจ้าพ่อหลักเมืองอีกทางประมาณ 2 กิโลเมตร หรือใช้ทางหลวงสายเอกชัย-บางบอน จากแยกถนนกาญจนาภิเษก ขับตรงยาวไปจนถึงตัวเมืองสมุทรสาคร จากนั้นเลี้ยวซ้ายตรงสถานีตำรวจ แล้วขับตรงไปยังศาลเจ้าพ่อหลักเมือง รวมระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตรเช่นเดียวกัน

เรื่อง / ภาพ : กองบรรณาธิการ
ขอขอบคุณ… บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด

 


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


หากเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ ฝากกดไลค์และแชร์ด้วยนะครับ
FOTOINFO มี LINE@ OFFICIAL แล้ว !!! อย่าลืมแอดไลน์ @FOTOINFO (หรือสแกน QR Code ในภาพนี้)

? ขอบคุณครับ


ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus

ติดตามเรื่องราวการท่องเที่ยววิถีไทยที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่

https://test2.fotoinfo.online/travels/shooting-destination/