Shooting Destination

ท่องเที่ยววิถีไทย : หนังใหญ่วัดขนอน มรดกทางวัฒนธรรมที่ล้ำค่า

ศิลปวัฒนธรรมไทยมีหลายต่อหลายด้านที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์สร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทย หนึ่งในนั้นคือ “หนังใหญ่วัดขนอน” ที่มีประวัติมายาวนานกว่า 200 ปี และถือเป็นศิลปวัฒนธรรมไทยที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นการแสดงชั้นสูงที่รวมเอาศิลปะหลายๆ แขนงเข้าไว้ด้วยกัน อาทิ ศิลปะการออกแบบลวดลายที่มีความวิจิตรบรรจง ผสมผสานกับช่างแกะหนังที่มีความประณีต เมื่อตัวหนังเสร็จสมบูรณ์แล้ว ในการนาออกแสดงก็จะใช้ศิลปะด้านนาฏศิลป์ในการร่ายรำตามท่วงจังหวะทำนอง และการขับร้องให้เกิดความสวยงาม และเพิ่มอรรถรสในการรับชม

การเข้ามาของหนังใหญ่ในประเทศไทยนั้น คาดว่าน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากชวา อินเดีย หรือเขมร แล้วนำมาปรับรูปแบบให้เข้าการการแสดงของไทย ในช่วงแรกๆ นั้น ถือเป็นมหรสพชั้นสูง แสดงในราชสำนักเท่านั้น โดยมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย แต่การแสดงที่มีหลักฐานชัดเจนนั้น เริ่มในสมัยอยุธยา ในยุคสมัยของสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง ส่วนในสมัยรัตนโกสินทร์นั้น เริ่มในสมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ที่ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องอิเหนา เพื่อแสดงเพิ่มเติมจากเรื่องรามเกียรติ์ และในสมัยของสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีหลักฐานการสร้างตัวหนังใหญ่ และถูกนำไปเก็บไว้ที่โรงละครแห่งชาติหลังเก่า ต่อมาภายหลังถูกไฟไหม้ไปเกือบหมด และในสมัยของสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พบว่ามีการสร้างหนังใหญ่อยู่สองที่คือ ที่วัดสว่างอารมณ์ จังหวัดสิงห์บุรี และวัดขนอน จังหวัดราชบุรี

สำหรับการเดินทางไปยังวัดขนอนครั้งนี้ ผมและทีมงานยังคงใช้รถยนต์เอนกประสงค์สำหรับครอบครัว Toyota Innova Crysta 2.8V AT ซึ่งเอื้อประโยชน์ในการใช้งานเป็นอย่างยิ่ง โดยที่เป็นรถที่รองรับสมาชิกร่วมทางได้ 6-7 คน จากการออกแบบให้มีเบาะแถวที่ 3 แบบพับเก็บได้ แต่ผมและทีมงานไปกันเพียง 3 คนเท่านั้น ดังนั้นจึงพับเบาะแถว 3 เก็บ ซึ่งทำให้มีพื้นที่เหลือสำหรับวางสัมภาระกันมากมายทีเดียวครับ

จุดเด่นอย่างหนึ่งในห้องโดยสารที่ผมเองถูกใจคือ ออกแบบที่นั่งแถวกลางเป็นแบบ Captain Seat แยกฝั่งซ้าย-ขวา สามารถปรับเลื่อน เดินหน้า หรือถอยหลัง เพื่อเพิ่มพื้นที่วางขาได้ รวมทั้งปรับเอนสำหรับการพักผ่อน เมื่อยามเดินทางไกลๆ ได้เป็นอย่างดี ตัวเบาะออกแบบให้โอบกระชับกับลำตัว เช่นเดียวกับที่นั่งด้านหน้า ซึ่งช่วยให้นั่งสบายมากขึ้นด้วย ผมกับน้องทีมงาน ผลัดกันขับอยู่หลายครั้ง ซึ่งเมื่อยามที่ต้องทำตัวเป็นผู้โดยสาร ผมก็มักจะไปนั่งเอนหลังที่เบาะแถวกลางนั่นแหละครับ สบายกายดีทีเดียว

Toyota Innova Crysta 2.8V AT ใช้กุญแจแบบ Keyless Smart Entry สามารถเปิดประตูรถได้โดยการพกกุญแจไว้กับตัว และแตะที่ปุ่มบนมือจับเพื่อเปิดประตูรถได้เลย ส่วนการล็อกก็สามารถกดปุ่มบนมือจับเพื่อล็อกรถได้เช่นกันครับ ที่นั่งฝั่งคนขับเป็นแบบปรับไฟฟ้าได้ 8 ระดับ ปรับได้สะดวก ไม่ว่าจะเป็นการขับขี่ในระยะใกล้หรือไกล รวมทั้งปรับเพื่อความเหมาะสมในการขับขี่ ซึ่งขนาดตัวผมและน้องทีมงานที่ช่วยขับก็แตกต่างกันพอสมควร และเบาะทุกที่นั่ง เป็นเบาะหนังทั้งหมด รวมทั้งเบาะเสริมสำหรับที่นั่งที่ 6 และ 7 ที่ออกแบบให้ปรับใช้งานหรือพับเก็บได้อย่างสะดวกแบบ One Touch Space Up ด้วยเช่นกัน

ถึงแม้ว่าจะถูกออกแบบให้เป็นรถครอบครัว แต่ก็ตอบสนองการขับขี่ได้อย่างคล่องตัว ทั้งการขับขี่ในเมืองทีมีการจราจรหนาแน่นหรือวิ่งทางไกลๆ ยามเมื่อออกต่างจังหวัด พวงมาลัยพาวเวอร์ที่ช่วยผ่อนแรงไปได้เยอะทีเดียวเมื่อยามที่ต้องเลี้ยวเข้าซอยเล็กซอยน้อยต่างๆ รวมทั้งเป็นพวงมาลัยแบบมัลติฟังก์ชั่นที่สามารถควบคุมการแสดงผลที่หน้าจอบนแผงหน้าปัทม์ รวมทั้งสามารถควบคุมเครื่องเสียง และรองรับการเชื่อมต่อกับโทรศัพท์ผ่าน Bluetooth สามารถรับสายเรียกเข้ามาได้โดยไม่ต้องจับถือโทรศัพท์อีกด้วย

ทัศนวิสัยในการมองจากที่นั่งคนขับดูโปร่ง โล่ง มองสภาพโดยรอบ ได้อย่างสบายๆ กระจกมองข้างทั้งสองบานก็มีขนาดใหญ่ มองสภาพแวดล้อมรอบตัวรถทั้งซ้ายและขวาได้เป็นอย่างดี เส้นทางไปยังวัดขนอนนั้น เป็นถนนลาดยางราบเรียบตลอดทั้งสายบวกกับช่วงล่างที่นุ่มนวล แต่ก็เกาะหนึบ เมื่อยามที่เข้าโค้ง ทำให้สมาชิกร่วมทางนั่งกันอย่างสบายๆ จนผลอยหลับไปตั้งแต่เมื่อไหร่ก็ไม่รู้

เรือนทรงไทย พิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมหนังใหญ่ไว้กว่า 330 ตัว

สำหรับหนังใหญ่วัดขนอนนั้น มีการสร้างตัวหนังมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยพระครูศรัทธาสุนทร หรือหลวงปู่กล่อม เป็นผู้ริเริ่ม และได้ชักชวนครูอั๋น ช่างจาด ช่างจ๊ะ และช่างพ่วงมาร่วมสร้าง โดยมีจุดประสงค์ที่จะสร้างตัวหนังที่มีขนาดใหญ่กว่าแบบเดิม ซึ่งชุดแรกๆ ที่มีการสร้างนั้น คือเรื่องรามเกียรติ์ ชุดหนุมานถวายแหวน หลังจากนั้นก็มีการสร้างเพิ่มอีก 9 ชุด รวมถึงปัจจุบันมีตัวหนัง 330 ตัว ที่เก็บอนุรักษ์ไว้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันลํ้าค่าให้ลูกหลานได้เชยชม

กระทั่งปี พ.ศ. 2530 พระครูพิทักษ์ศิลปาคม หรือพระนุชิต วชิรวุทฺโฒ ซึ่งในอดีตนั้น ได้เคยเรียนการเชิดหนังมาจากครูหนังรุ่นก่อน คือ ครูจาง กลั่นแก้ว ได้มาบวชจำพรรษาอยู่ที่วัดขนอน ได้ร่วมกับอดีตเจ้าอาวาสและชาวบ้าน ได้ฟื้นฟูการแสดงหนังใหญ่ขึ้นมาอีกครั้ง ในปี พ.ศ. 2532 พระครูพิทักษ์ศิลปาคม และพระครูสังฆบริบาล อาจิตฺตธมฺโม ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพระองค์ก็ทรงรับหนังใหญ่วัดขนอนเข้าเป็นโครงการในพระราชดำริ และทรงโปรดให้นายวาที ทรัพย์สิน ลูกชายของนายหนังสุชาติ นายหนังตะลุงที่มีชื่อเสียงของจังหวัดนครศรีธรรมราชมาช่วยสอนการแกะหนังให้กับนักศึกษาศิลปากรที่รับสนองโครงการ ส่วนการแสดงการเชิดหนัง และการแสดงดนตรีประกอบนั้น ได้รวบรวมชาวบ้านรุ่นเก่ามาช่วยสอนเด็กๆ ในชุมชนวัดขนอนนั่นเองครับ

หนังใหญ่วัดขนอน มีขนาดที่ค่อนข้างใหญ่ บางตัวสูงถึง 2 เมตรเลยทีเดียว

บรรยากาศภายในพิพิธภัณฑ์

ความละเอียดและประณีตของลายหนักที่สวยงาม

พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอน สถานที่เก็บรักษาตัวหนังใหญ่ เป็นบ้านเรือนไทยหลังใหญ่ ตั้งอยู่ภายในบริเวณวัดขนอน เปิดให้เข้าชมทุกวัน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ส่วนการแสดงหนังใหญ่นั้น เป็นการแสดงของเยาวชนรุ่นใหม่ ลูกๆ หลานๆ ชาวชุมชนวัดขนอนที่ได้รับการถ่ายทอดการแสดงที่ลํ้าค่ามาจากคนรุ่นก่อน จัดแสดงที่โรงมหสพใกล้ๆ กับลานจอดรถ เปิดแสดงเฉพาะวันเสาร์ ช่วง 10:00-11:00 เท่านั้น

ก่อนการแสดง จะเป็นการไหว้ครูก่อน โดยวงปี่พาทย์จะบรรเลงมโหรี ซึ่งนักดนตรีก็ล้วนเป็นเด็กๆ เยาวชนคนรุ่นใหม่ของชุมชน ที่ได้รับการปลูกฝังจิตใจด้านการอนุรักษ์ และมาถ่ายทอดศิลปะการแสดงมรดกทางวัฒนธรมให้เราได้ชมกัน จากนั้นจะเป็นการแนะนำตัวหนังแบบต่างๆ และลีลาท่าทางในการฝึกการเชิดหนัง ซึ่งเด็กๆ ที่เริ่มมาเรียนรู้การแสดงนั้น จะต้องฝึกลีลาท่าทางของตัวแสดงแต่ละตัว โดยในขั้นแรกนั้น ยังเป็นการฝึกโดยยังไม่ใช้ตัวหนังจริง แต่จะใช้โครงไม้สำหรับเชิดแทน

ผู้ควบคุมการแสดง จะแนะนำตัวหนังแบบต่างๆ ให้ผู้ชมทราบก่อนการแสดง

ลีลาการฝึกซ้อมของเด็กๆ รุ่นใหม่

ลีลาในการแสดงของตัวหนังต่างๆ

บรรยากาศภายในโรงมหสพระหว่างการแสดง

บรรยากาศระหว่างการแสดง

การแสดงส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งก็สร้างความสนุกสนานให้กับผู้ชมได้พอสมควร จากลีลาท่าทางในการเชิด จากเสียงดนตรีปี่พาทย์ประกอบ รวมทั้งลีลาในการร้องและการพากษ์ ซึ่งถึงแม้ว่าจะเป็นการแสดงในช่วงสั้นๆ เพียงแค่ชั่วโมงเดียว แต่ก็สร้างความประทับใจให้กับผู้เข้าชมที่มีใจรักในศิลปวัฒนธรรมไทยเหมือนๆ กันครับ

และความตั้งใจจริงในการสานต่อลมหายใจของหนังใหญ่วัดขนอน ก็เห็นผลแบบเป็นรูปธรรม เมื่อคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญทางวัฒนธรรมขององค์การยูเนสโก ได้ประกาศให้ “การสืบทอดและฟื้นฟูหนังใหญ่วัดขนอน” ได้รับรางวัลและได้รับการยกย่องให้เป็น 1 ใน 6 ชุมชนดีเด่นของโลกในการฟื้นฟูมรดกวัฒนธรรมในเชิงนามธรรม ICH หรือ The safeguarding of Intagible Cultural Heritage นั่นเอง

แน่นอนว่า กว่าจะมาถึงวันนี้ได้นั้น ชาวชุนชนวัดขนอนต่างก็อดทนและตั้งใจที่จะผลักดันให้มรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญของไทยชิ้นนี้ให้กลับมาได้รับความนิยม และได้รับการส่งเสริมให้มีการต่อยอด และรักษาไว้จนชั่วลูกชั่วหลาน ชาวชุมชนต้องแข่งขันกับสื่อบันเทิงสมัยใหม่ที่เข้ามามีบทบาทกับสังคมไทยมากขึ้นทุกวัน เราควรที่จะสนับสนุนและส่งเสริมให้ศิลปวัฒนธรรมที่มีมาแต่ดั้งเดิมของไทย ให้ก้าวคู่ไปกับวิวัฒนาการของโลกยุคใหม่ ทั้งหมดทั้งมวลล้วนขึ้นอยู่กับ “ใจ” เท่านั้นเองครับ

แดดช่วงกลางวันที่ค่อนข้างแผดร้อน ถึงแม้ว่าจะเป็นช่วงฤดูหนาวอยู่ก็ตาม ผมและน้องๆ ทีมงาน นั่งเงียบๆ รับไอเย็นจากเครื่องปรับอากาศอยู่ในรถ ก่อนที่จะเคลื่อนตัวออกจากบริเวณวัด ผมเหลือบมองเกจ์นํ้ามันด้วยความเคยชิน เติมไว้เต็มถังตั้งแต่อยู่นครสวรรค์ ก่อนที่จะตรงมายังวัดขนอนแห่งนี้ พร่องลงไปหน่อยเดียวเท่านั้นเอง ยังไปได้อีกหลายร้อยกิโล ประหยัดดีทีเดียวครับ

ฉบับหน้า จุดหมายของเราจะเป็นที่ไหน และพาหนะของเราจะเป็นรถยนต์โตโยต้ารุ่นไหนนั้น รอติดตามกันได้นะครับ สวัสดีครับ..


การเดินทาง

จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางถนนเพชรเกษม ผ่าน จ.นครปฐม ขับตรงไปทางจ.ราชบุรี แล้วลอดใต้สะพานที่จะไป จ.กาญจนบุรี จะพบสะพานลอยข้ามสี่แยกบางแพไปยัง จ.ราชบุรี ให้ชิดซ้าย จากนั้นให้ขับไปยัง อ.โพธาราม ตามเส้นทางหลวงหมายเลข 3080 ประมาณ 5 กม. จะข้ามสะพานแม่นํ้าแม่กลอง จากนั้นจะพบสามแยก ให้เลี้ยวขวาไปวัดขนอนโดยใช้ทางหลวงหมายเลข 3089 ขับเข้าไปอีกประมาณ 2.5 กม. วัดขนอนจะอยู่ติดถนนทางด้านขวามือ

เรื่อง / ภาพ : กองบรรณาธิการ
ขอขอบคุณ… บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด

 


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


หากเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ ฝากกดไลค์และแชร์ด้วยนะครับ
FOTOINFO มี LINE@ OFFICIAL แล้ว !!! อย่าลืมแอดไลน์ @FOTOINFO (หรือสแกน QR Code ในภาพนี้)

? ขอบคุณครับ


ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus

ติดตามเรื่องราวการท่องเที่ยววิถีไทยที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่

https://test2.fotoinfo.online/travels/shooting-destination/