Shooting Destination

ท่องเที่ยวเมืองรอง : ปีนเขา ไปเฝ้าหมอกที่ เขาโปกโล้น.. ร่องเขาแห่งนครชุม

“นครชุม” เป็นตำบลหนึ่งของอำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก เป็นเมืองเล็กๆ ที่รายล้อมไปด้วยขุนเขาน้อยใหญ่ ตัวหมู่บ้านจะทอดยาวไปตามแนวเขา ในยามที่พื้นที่เกิดความชื้น จะเกิดสายหมอก ที่ไหลตามแนวเขาเข้ามาห่มคลุมตัวเมือง เสมือนสายนํ้าที่ไหลไปตามร่องนํ้า จึงเกิดเป็นคำเรียกว่า “ร่องเขาแห่งนครชุม” นั่นเอง

ผมและทีมงานยังคงใช้รถยนต์ Toyota Vios Super Spec คันเก่ง คันเดิม ซึ่งเป็นรถยนต์ที่อัดแน่นมาด้วยระบบความปลอดภัยมากมาย ซึ่งเอื้อประโยชน์เป็นอย่างมาก เมื่อต้องขับขี่บนเส้นทางคดเคี้ยวไปตามแนวเขา รวมทั้งเส้นทางขึ้นเนิน หรือลงเนินเขาสูงชันอีกด้วย อาทิ ระบบเบรกแบบ ABS (Anti-lock Braking System) ช่วยป้องกันล้อล็อกตาย เมื่อจำเป็นต้องเบรกอย่างกะทันหันแล้ว ซึ่งช่วยให้สามารถหักพวงมาลัยหลบหลีกสิ่งกีดขวางได้ รวมทั้งยังมีระบบเสริมแรงเบรก BA (Brake Assist) ที่จะช่วยเพิ่มแรงเบรกให้มากขึ้น เพื่อให้สามารถหยุดรถในระยะที่สั้นลงเมื่อจำเป็นต้องเบรกอย่างกระทันหันด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ ยังมีระบบกระจายแรงเบรก EBD (Electronic Brake-force Distribution) จะช่วยกระจายแรงเบรกไปยังล้อแต่ละล้อให้ทำงานอย่างสมดุล เพื่อให้ควบคุมตัวรถได้อย่างมั่นใจ แม้จะต้องเบรกในขณะเข้าโค้ง ซึ่งผมเองก็ต้องใช้เบรกอยู่บ่อยๆ จากสภาพถนนที่คดเคี้ยวตามไหล่เขา ซึ่งบางช่วงอาจจะมีรถวิ่งสวนมาด้วยครับ

Toyota Vios Super Spec ใช้ระบบขับเคลื่อนแบบ CVT 7 เกียร์ และมาพร้อมระบบ Sequential Shift ที่สามารถปรับชิฟท์เกียร์เองได้ด้วย ซึ่งในการขับขี่แบบปกติที่ตำแหน่ง D ก็ช่วยให้มีการเปลี่ยนเกียร์ได้อย่างนุ่มนวล แต่การขับขี่บนเขาสูงชันแบบนี้ ผมเองมักจะใช้การปรับชิฟท์เกียร์เอง โดยปรับคันเกียร์จากตำแหน่ง D ปกติ ไปที่ตำแหน่ง M ช่วยให้เครื่องตอบสนองการขับขี่ได้รวดเร็วทันใจ ดึงเอาพละกำลังมาใช้งานได้อย่างทันท่วงที ทำให้การปีนไต่ขึ้นเนินเขาสูงชันทำได้อย่างปลอดภัย และมั่นใจมากขึ้นด้วย รวมทั้งยังใช้ประโยชน์ในการขับลงเขาด้วยเช่นกัน โดยการปรับชิฟท์เกียร์ให้ตํ่าลง จะช่วยในเรื่องของ Engine Breake ทำให้ผมไม่ต้องใช้เบรกในการลดความเร็วเพียงอย่างเดียว และเบรกไม่ต้องทำงานหนักจนเกินไปด้วย และยังช่วยให้สนุกกับการขับขี่มากขึ้นอีกด้วยครับ

“นครชุม” เป็นเมืองที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ โดยเป็นพื้นที่ซ่องสุมกำลังพลของพ่อขุนบางกลางหาว ซึ่งได้ร่วมกับพ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองลาด หรือเพชรบูรณ์ในปัจจุบัน ยกทัพไปตีเมืองศรีสัชนาลัย และเมืองสุโขทัย จนได้รับชัยชนะจากขอม จากนั้นก็ได้ปราบดาเป็นพระมหากษัตริย์ พระนามว่า พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ และตั้งเมืองสุโขทัยเป็นราชธานี ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจของชาวนครชุม ที่เคยเป็นส่วนสำคัญของประวัติศาสตร์ไทยนั่นเองครับ

ปัจจุบันนครชุม เป็นตำบลในพื้นที่อำเภอนครไทย และถือเป็นชุมชนใหญ่ มีประชากรกว่า 823 หลังคาเรือน แบ่งการปกครองออกเป็น 8 หมู่บ้าน อยู่ห่างจากตัวอำเภอนครไทยประมาณ 33 กิโลเมตร การเดินทางเข้าไปยังตัวเมืองต้องขับรถข้ามภูเขาที่บางช่วงมีความสูงชัน และคดเคี้ยวกันอยู่พอสมควร และแน่นอนครับ ช่วงขึ้นเขาหรือลงเนินลาดชันยาวๆ ผมใช้วิธีปรับชิฟท์เกียร์เอง เพื่อควบคุมการส่งกำลังของเครื่องยนต์ให้ตอบสนองได้ฉับไว และรวดเร็วมากขึ้น เมื่อต้องการแรงบิดสูงๆ นั่นเอง แต่พอพ้นช่วงลาดชัน ผมก็จะปรับกลับมาใช้การขับเคลื่อนที่ตำแหน่ง D ปกติครับ

หลังจากที่ข้ามเขาหลายๆ ลูก ขึ้นๆ ลงๆ เนินชัน และเส้นทางคดเคี้ยวหลายๆ รอบ เราก็มาถึงด่านแรกก่อนเข้าชุมชน นั่นคือจุดชมวิว ณ จุดๆ นี้ เราสามารถชมวิวของเมืองนครชุมได้ทั้งหมด เนื่องจากเป็นขุดชมวิวบนเชิงเขาสูง สามารถมองเลยออกไปยังแนวเขาด้านหลังไปสุดลูกหูลูกตาด้วย

จุดชมวิวก่อนถึงนครชุม

เราถ่ายภาพกันที่จุดชมวิวซักพักก็ขับรถลงเขาไปอีกหน่อย จนมาถึงสามแยกด้านหน้าที่ทำการ อบต. ผมโทรศัพท์หาคุณบอย ที่เป็นคนจัดสรรเรื่องโฮมสเตย์ในชุมชน เพื่อสอบถามว่าผมและทีมงานจะต้องไปพักที่โอมสเตย์หลังไหน

“บ้านป้าทบครับ เดี๋ยวผมให้ป้าโทรหานะครับ”

ผมขยับรถไปจอดที่ลานด้านหน้าวัด เนื่องจากมีที่จอดกว้างขวางกว่าที่ทำการอบต. สักพักโทรศัพท์ผมก็ดังขึ้น

“สวัสดีครับป้า ผมจอดอยู่หน้าวัดครับ ป้าอยู่ตรงไหน”
“ป้าอยู่ที่วัดนี่แหละ” บังเอิญจริง ผมคิดในใจ
“ป้ามาทำบุญ เลยนั่งคุยกับหลวงพ่ออยู่” เห็นล่ะครับ ป้ากำลังเดินคุยโทรศัพท์มา ผมบอกให้ป้าขึ้นรถมาด้วยกัน เพื่อกลับไปยังโฮมสเตย์ บ้านพักของเรา…

บ้านของป้าสีส้มสดใสเหมาะกับวัยรุ่นอย่างทีมงานเรามากทีเดียว..แฮ่!! เป็นบ้านปูนสองชั้น พื้นที่กว้างขวาง ด้านหน้าเป็นที่จอดรถ พร้อมหลังคาคลุมกันแดด กันฝนได้เป็นอย่างดี ด้านในเป็นห้องโถงใหญ่ พร้อมห้องนอนย่อยอีกสองห้อง ด้านหลังมีห้องนํ้าสามห้องที่ได้รับการดูแลได้สะอาดสะอ้านดีทีเดียวครับ ข้างๆ โฮมสเตย์บ้านป้าทบ เป็นทุ่งนา มองได้ไกลถึงจุดชมวิวที่เราผ่านลงมาเลยล่ะครับ

“เดี๋ยวป้าสอยมะพร้าวนํ้าหอมให้นะ พักให้หายเหนื่อยกันก่อน” ป้าบอกอย่างเป็นกันเอง ก่อนที่จะถือไม้ไผ่ด้ามยาวไปกระทุ้งๆ ที่ต้นมะพร้าวเตี้ยๆ ข้างๆ ลานจอดรถ
“ผมเฉาะให้นะครับ” น้องทีมงานอาสาเฉาะมะพร้าวนํ้าหอมเย็นชื่นใจให้ดื่ม ต่อด้วยเนื้อมะพร้าวนุ่มหวานสองลูกด้วยกัน

กลุ่มสานหมวก อีกหนึ่งในอาชีพเสริมของชาวชุมชนยามว่างเว้นจากฤดูทำไร่ ทำนา

การเข้าพักโฮมสเตย์ที่นี่ ซึ่งจะมีกันอยู่ประมาณ 12 หลัง จะเป็นการสลับหมุนเวียนเปลี่ยนไปตามคิวของแต่ละหลัง ซึ่งจะทำให้ชาวชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการโฮมสเตย์ และเป็นการกระจายรายได้อีกทางหนึ่งด้วย ไม่ใช่เป็นการกระจุกผูกขาดอยู่แค่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้นครับ โดยคิดค่าเข้าพักโฮมสเตย์คนละ 450 บาทต่อคนต่อวัน พร้อมอาหาร 2 มื้อ คือมื้อเย็นและมื้อเช้าของวันรุ่งขึ้นครับ และเงินรายได้ของโฮมสเตย์จะหักรายได้ส่วนหนึ่งเข้ากองกลาง เพื่อนำไปพัฒนาสาธารณะประโยชน์ของหมู่บ้าน รวมทั้งแหล่งท่องเที่ยวในชุมชนด้วยนั่นเอง

“หิวกันรึยังจ๊ะ” ป้าทบถาม เมื่อเห็นเราเดินกลับเข้ามาที่บ้านพัก หลังจากที่ออกไปเดินชมรอบๆ หมู่บ้าน
“มีอะไรให้พวกผมทานบ้างครับ ป้า” ป้าทบยกสำรับกับข้าวออกมาหลายอย่างด้วยกัน หนึ่งในนั้นคืออาหารพื้นบ้านอันลือชื่อของที่นี่ ที่มีชื่อเมนูว่า “ไข่ป่าม” ซึ่งหน้าตาก็ดูเป็นใข่เจียวนี่แหละครับ แต่เป็นไข่เจียวที่ถูกทำให้สุกด้วยวิธีการห่อด้วยใบตอง แล้วเอาไปย่างให้สุก ซึ่งข้อดีเลยคือ ไม่มีนํ้ามันเจือปนนั่นเอง สายคลีนน่าจะชอบนะครับ !!

ไข่ป่าม อาหารพื้นเมืองที่ห้ามพลาดชิม

อีกหนึ่งเมนูอาหารพื้นบ้านคือ “หลามไก่” ซึ่งเป็นการเอาเนื้อไก่มาคลุกเคล้ากับเครื่องปรุง แล้วเอาไปต้มในกระบอกไม้ไผ่ ซึ่งมาสอบถามป้าทบถึงวิธีปรุงในภายหลัง เลยไม่รู้ว่าป้าใช้วิธีต้มไก่ในกระบอกไม้ไผ่หรือปล่าว แต่ที่แน่ๆ เกลี้ยงชามไปแล้วครับ…

รถอีแต๊ก พาหนะที่พำเราไปยังเชิงเขา ก่อนที่จะเดินขึ้นยอดเขา

เช้ามืด !! เรามีคิวที่จะไปปีนเขาสู่จุดชมวิวบนเขาโปกโล้น จุดหมายหลักของเราในทริปนี้ เรานัดรถอีแต๊กมารับในเวลาตี 5 ก่อนที่จะนั่งรถออกไปยังเชิงเขา ใช้เวลาเดินทางประมาณ 20 นาที แล้วเดินต่อไปขึ้นไปยังยอดเขาระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร ช่วงเดินขึ้นจะลำบากเล็กน้อย เนื่องจากทางเดินยังคงเป็นการเดินลัดเลาะไปตามโขดหิน ซึ่งตี 5 ยังคงมืดอยู่ครับ ต้องใช้ไฟฉายนำทาง ที่ต้องขึ้นตั้งแต่เช้ามืด ก็เพราะต้องไปให้ทันเวลาพระอาทิตย์ขึ้นนั่นเองครับ

พันธุ์ไม้ที่งอกเงยตามซอกหินแม้ในฤดูหนาวก็ยังมีให้สัมผัส

ศิลปะธรรมชาติที่งดงามเมื่อยามสัมผัสกับแดดยามเช้า

ระหว่างเส้นทางเดินไปยังยอดเขาโปกโล้น

บนยอดเขา สามารถมองวิวได้กว้างมาก จุดชมวิวก็คือบนแนวผาหินที่เรามองเห็นจากด้านล่างนั่นแหละครับ ในช่วงที่อากาศชื้นๆ จะมีสายหมอกเข้ามาปกคลุมเต็มร่องเขาจนเห็นเป็นทะเลหมอกนั่นแหละครับ แต่ในช่วงที่เราขึ้นไป มีเพียงสายหมอกบางๆ ค่อยๆ ไหลเข้ามาคลุมหมู่บ้านเช่นกัน ก็ถือเป็นเสน่ห์ของเขาโปกโล้นที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้หลั่งไหลเข้ามายังร่องเขาแห่งนครชุมนั่นเองครับ

สายหมอกที่ทยอยไหลเข้ามายังร่องเขานครชุม

ผมตั้งกล้องถ่ายภาพอยู่นานทีเดียว ใช้วิธีปรับชิฟท์ไวท์บาลานซ์ให้ออกส้มแดงเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย เพื่อให้บรรยากาศดูอุ่นๆ เลนส์มุมกว้างพิเศษ 10-18 มม. ของ Laowa ช่วยให้ผมสนุกกับมุมมองต่างๆ ได้มากมายทีเดียว จนพระอาทิตย์เริ่มเผยโฉมขึ้นมา ผมก็เปลี่ยนเป็นเลนส์ 85 มม. เพื่อถ่ายภาพเจาะเน้นไปบางมุมด้วยเช่นกันครับ

จุดชมวิวจากยอดเขาโปกโล้น

พระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่บนยอดเขา

หลังจากเสร็จภารกิจทั้งหมด เรารํ่าลาป้าทบ เจ้าของโฮมสเตย์ในเวลาเกือบๆ เที่ยง ป้าทบยื่นข้าวห่อพร้อมหมูทอดมาให้ บอกเอาไว้กินระหว่างทาง เผื่อหิว ซึ่งถือเป็นนํ้าใจไมตรีของชาวชุมชนที่มีต่อนักท่องเที่ยว โดยไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว เพราะตามจริงมื้ออาหารของเรามีแค่เย็นเมื่อวานกับเช้าวันนี้เท่านั้นเองล่ะครับ

ระบบปรับอากาศของรถยนต์ Toyota Vios Super Spec เย็นฉ่ำชื่นใจ ขับไล่อากาศร้อนๆ ยามเที่ยงวันออกไปได้เป็นอย่างดี เหลือเพียงความอบอุ่น และอิ่มเอมในหัวใจของเรา กับมิตรภาพที่ได้รับมาจากชาวชุมชนแห่งร่องเขานครชุม ที่ต้องหาโอกาสกลับไปเยือนอีกสักครั้ง หรือหลายๆ ครั้ง !!

ทริปหน้า เราจะไปเยือนสองเมืองรองแห่งที่ราบภาคกลาง สิงห์บุรีและอ่างทอง จะมีจุดไหนที่น่าสนใจบ้าง และพาหนะของเราจะเป็นรถโตโยต้ารุ่นไหนนั้น รอติดตามได้ในฉบับหน้าครับ ..สวัสดีครับ…


การเดินทางไปยังเขาโปกโล้น (นครชุม)

จากกรุงเทพฯใช้เส้นทางหลวงสายเอเชีย หมายเลข 32 มุ่งหน้าไปยังจังหวัดนครสวรรค์ เมื่อผ่านสิงห์บุรี ให้เลี้ยวขวาไปยังเส้นทางหมายเลข 11 ที่อินทร์บุรี วิ่งตามเส้นทางตรงไปจนถึงอำเภอวังทอง ให้เลี้ยวขวาเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 12 ไปทางเขาค้อ วิ่งไปประมาณ 50 กิโลเมตร ให้เลี้ยวซ้ายเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 2013 วิ่งไปตามเส้นทางจนถึงอำเภอนครไทย วิ่งผ่านหน้าที่ว่าการอำเภอนครไทยไปประมาณ 1 กิโลเมตร ให้เลี้ยวซ้ายเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 1248 วิ่งตามทางไปประมาณ 33 กิโลเมตร จะถึงนครชุม

เรื่อง / ภาพ : กองบรรณาธิการ

ขอขอบคุณ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


หากเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ ฝากกดไลค์และแชร์ด้วยนะครับ
FOTOINFO มี LINE@ OFFICIAL แล้ว !!! อย่าลืมแอดไลน์ @FOTOINFO (หรือสแกน QR Code ในภาพนี้)

ขอบคุณครับ

ติดตาม FOTOINFO ได้ทั้งรูปแบบนิตยสาร Free Copy, e-magazine ฟรีดาวน์โหลด และช่องทางอื่นๆออนไลน์ได้ที่ ?
Line@ : @fotoinfo
YouTube : Fotoinfo Channel
Website : fotoinfomag.com
e-magazine : issuu.com/fotoinfomagazine


ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus

ติดตามเรื่องราวการท่องเที่ยววิถีไทยที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่

https://test2.fotoinfo.online/travels/shooting-destination/