หลังจากที่เดินทางขึ้นเหนืออยู่บ่อยครั้ง ผมและทีมงานเปลี่ยนจุดหมายลงไปทางใต้บ้าง แต่เป็นแบบไม่ต้องเสียเวลาเดินทางมากนัก ก็ได้สัมผัสกับขุนเขาและคลื่นทะเลแล้ว นั่นคืออุทยานแห่งชาติสามร้อยยอด ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยขุนเขา และหลืบถํ้ามากมายตามชื่อ “สามร้อยยอด” นั่นเองครับ
พาหนะในการเดินทางของผมและทีมงานครั้งนี้ เป็นรถยนต์ Toyota Hilux Revo Double Cab 4×4 2.8G AT รถปิกอัพ 4 ประตู ขับเคลื่อน 4 ล้อ ที่มาพร้อมเครื่องยนต์ 1GD FTV (High) ความจุ 2800 ซีซี ให้พละกำลังสูงถึง 177 แรงม้า โดยเครื่องยนต์รหัส GD มีจุดเด่นที่ได้รับการออกแบบให้มีระบบการเผาไหม้ที่ดีขึ้น ซึ่งผลที่ตามมาคือช่วยให้ประหยัดนํ้ามันมากขึ้น และมีไอเสียตํ่าตามมาตรฐาน Euro4 ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีแรงบิดสูง ซึ่งช่วยให้การออกตัว รวมทั้งการเร่งแซงทำได้ดีขึ้น รวมทั้งยังมีเสียงเครื่องยนต์ที่เงียบมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นตอนสตาร์ทเครื่อง, การขับขี่ตามปกติ หรือการเร่งแซงก็ตามครับ
Toyota Hilux Revo Double Cab 4×4 2.8G AT ใช้ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ พร้อมเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด ซึ่งในการขับขี่ตามปกติจะใช้การขับเคลื่อน 2 ล้อหลัง และสามารถเลือกใช้ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลาเมื่อต้องขับขี่ในสภาพถนนที่เปียกลื่น หรือเมื่อต้องการเพิ่มความมั่นใจในการขับขี่ที่มากขึ้น และระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ แบบ 4L เมื่อต้องการแรงบิดที่สูงมากขึ้น สำหรับเส้นทางแบบออพโรด ซึ่งผมเองชอบการปรับเลือกระบบขับเคลื่อนใหม่ที่ใช้การบิดหมุนที่ออกแบบให้ใช้งานได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น โดยการเปลี่ยนจากระบบขับเคลื่อน 2 ล้อ เป็นระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ แบบ H4 สามารถบิดหมุนไปได้เลยที่ระดับความเร็วไม่เกิน 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่วนจากระบบขับเคลื่อน H4 เป็น L4 จะต้องหยุดรถ พร้อมกดแป้นหมุนเล็กน้อยก่อนที่จะบิดครับ
และนอกจากระบบขับเคลื่อน 4 ล้อแล้ว Toyota Hilux Revo Double Cab 4×4 2.8G AT ยังมีระบบความปลอดภัย อื่นๆ ที่ออกแบบให้ใช้งานร่วมกันเพื่อความปลอดภัยสูงสุด อย่างระบบ A-TRC หรือ Active Traction Control ที่ทำงานประสานกันกับระบบ VSC หรือ Vehicle Stability Control ในการสั่งให้ปั๊มเบรก ABS ส่งแรงดันนํ้ามันที่เหมาะสมไปยังล้อที่เซ็นเซอร์ตรวจจับได้ว่ามีการหมุนฟรี หรือหมุนเร็วกว่าล้ออื่นๆ พร้อมๆ กับลดรอบเครื่องยนต์เพื่อลดการลื่นไถล รวมทั้งให้ตัวรถกลับมาอยู่ในภาวะการขับขี่แบบปกตินั่นเองครับ
Toyota Hilux Revo Double Cab 4×4 2.8G AT ได้รับการออกแบบระบบกันสะเทือนและแชสซีส์ใหม่ ที่รองรับแรง สั่นสะเทือนได้ดีมากขึ้นอีกด้วย ซึ่งสัมผัสได้ในขณะขับขี่ ทั้งทางตรงๆ ทางโค้งปกติ ทางโค้งบนเขา หรือแม้แต่เส้นทางขรุขระที่รู้สึกถึงความนุ่มหนึบ มีการยึดเกาะถนนที่ดีขึ้น เข้าโค้งแล้วมั่นใจได้มากขึ้นด้วยครับ
ส่วนการเร่งแซงนั้นถือว่าทำได้ดีทีเดียว โดยโหมดในการขับขี่มีให้เลือกใช้งานเพิ่มเติมจากโหมดปกติ 2 โหมด คือ โหมด ECO ที่เน้นในเรื่องของความประหยัดเชื้อเพลิงเป็นหลัก กับโหมด Power สำหรับการขับขี่ที่ต้องการการตอบสนองของเครื่องยนต์ที่รวดเร็วฉับไวมากขึ้น และเร่งแซงได้ฉับไวมากขึ้นด้วย ซึ่งทั้งสองโหมดเลือกได้จากปุ่มที่อยู่ข้างๆ กับคันเกียร์ตรงคอนโซลกลางนั่นเองครับ และถ้าหากว่าต้องการอารมณ์การขับขี่ที่สนุกมากขึ้น สามารถปรับชิฟท์เกียร์เองแบบแมนนวล โดยโยกคันเกียร์จากตำแหน่ง D ที่เป็นการเปลี่ยนเกียร์ในระบบอัตโนมัติปกติมาที่ตำแหน่ง S ซึ่งสามารถปรับโยกคันเกียร์มาด้านหลังเพื่อลดเกียร์ให้ตํ่าลง หรือโยกไปด้านหน้าเพื่อปรับเกียร์ให้สูงขึ้น ซึ่งให้ความสนุกในการขับขี่มากขึ้นด้วยครับ
ผมออกเดินทางจากสำนักงานนิตยสารโฟโต้อินโฟในช่วงบ่ายเล็กน้อย มุ่งหน้าขึ้นทางด่วนดาวคะนอง และต่อเข้าสู่ถนนพระราม 2 ยังไม่พ้นทางด่วนดี ฝนก็เริ่มตกลงมาอย่างหนักทีเดียว ผมชะลอความเร็วลง และปรับใช้ระบบขับเคลื่อนเป็น แบบ H4 เพื่อให้ช่วยในการยึดเกาะถนนด้วยนั่นเองครับ ซึ่งผมเองชอบรูปแบบการปรับใช้ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ แบบใหม่ของ Toyota Hilux Revo เพราะสามารถบิดสวิตช์ควบคุมเข้าสู่ระบบ H4 หรือ L4 ได้เลย และยังวางตำแหน่งของสวิตช์ควบคุมให้ใช้งานได้สะดวกมากทีเดียวครับ
จากถนนเพชรเกษม ผมเลี้ยวซ้ายเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 1026 มุ่งหน้าไปยังอุทยานแห่งชาติสามร้อยยอด ซึ่งเป็นถนนลาดยางวิ่งสวนกันสองเลน มีช่วงโค้งบ้างไม่มากนักพอให้ได้ลองความหนึบของช่วงล่างใหม่ของ Hilux Revo คันนี้ครับ ซึ่งมีการส่งกำลังไปยังล้อทั้งสี่ได้อย่างเหมาะสม ทำให้รับรู้ถึงการยึดเกาะถนนที่ดีเยี่ยมในขณะเข้าโค้งครับ ส่วนเส้นทางตรงๆ นั้น ช่วงล่างใหม่ก็ทำให้รู้สึกถึงความนุ่มหนึบนั่งได้อย่างสบายทีเดียวครับ
บรรยากาศยามเช้าของหมู่บ้านเขาแดง จากจุดชมวิวเขาแดง
จุดหมายแรกของผมและทีมงานคือ “จุดชมวิวเขาแดง” ซึ่งจะต้องปีนขึ้นไปบนภูเขาหินปูน ระยะทางประมาณ 300 เมตร เมื่อเดินทางมาถึง ผมแวะเข้าไปสอบถามข้อมูลที่สำนักงานอุทยานแห่งชาติสามร้อยยอด พร้อมหาเจ้าหน้าที่นำทางขึ้นไป เนื่องจากผมต้องการขึ้นไปสัมผัสแสงแรกแห่งวัน ดังนั้นจึงต้องเริ่มเดินทางตั้งแต่เช้ามืด ซึ่งคงจะลำบากไม่น้อย ถ้าหากว่าจะต้องคลำทางขึ้นไปเอง รวมทั้งอาจจะเกิดอันตรายได้ ดังนั้นเพื่อความสะดวกจึงต้องติดต่อเจ้าหน้าที่นำทางไว้ก่อนครับ โดยนัด แนะกับเจ้าหน้าที่ไว้ว่าจะเริ่มปีนเขาในเวลาตี 5 ของวันรุ่งขึ้น จากนั้นก็ไปหาที่พักเพื่อพักผ่อนเก็บแรงไว้สำหรับวันพรุ่งนี้ครับ
ตี 5 เจ้าหน้าที่มารอตามนัด “ขับตามผมไปที่ทางขึ้นเลยครับ” เจ้าหน้าที่บอกผมพร้อมกับขี่รถมอเตอร์ไซค์นำหน้าออกไปก่อน ทางขึ้นจุดชมวิวอยู่ตรงเชิงเขาห่างจากที่ทำการฯ ออกไปประมาณ 400 เมตร สองข้างทางยังคงมืดสนิท แต่ไฟหน้ารถ แบบ LED Projector ส่องสว่างให้เห็นได้ว่าถนนไปยังทางขึ้นจุดชมวิวเพิ่งได้รับการปรับปรุงไม่นานนัก และเป็นการนำดินลูกรังมาถมให้สูงพ้นนํ้าเป็นทางเข้าไปยังที่จอดรถ
“เก็บของไว้ในรถให้หมดนะครับ ที่นี่มีลิงเยอะ เดี๋ยวจะมารื้อหาของกิน” เจ้าหน้าที่บอกผมหลังจากที่จอดรถเรียบร้อยแล้ว ผมพับกระจกมองข้างไว้ก่อนเป็นอันดับแรก เพราะได้ยินกิติศัพท์มาว่า เจ้าจ๋อชอบกระจกเงาเป็นชีวิตจิตใจ เห็นไม่ได้ จะต้องงัดแงะเอาไปเก็บเป็นของที่ระลึกอยู่เสมอๆ ส่วนกระบะหลังนั้นโล่งๆ ไม่มีของอะไรให้รื้ออยู่แล้ว แต่ถึงกระนั้น ก็ยังคงหวั่นๆ อยู่ว่าจะเจอวีรกรรมอะไรจากเจ้าจ๋อเจ้าถิ่นหรือไม่
หนึ่งในข้อปฏิบัติก่อนขึ้นจุดชมวิวนั่นคือ ทายากันยุง ที่ขอบอกว่าชุมมากกกกกกก… ไม่มียาทา ก็อาจจะตัวลายกลับลงมาก็เป็นได้ ซึ่งข้อบ่งชี้ที่บอกได้ว่ายุงชุมคือ ร้านขายของชำสองร้านที่ผมไปถามหายาทากันยุงในตอนเย็นวันวาน ผลคือ ยาหมดทั้งสองร้านครับ ต้องดั้นด้นไปหาถึงร้านที่สามกันเลยทีเดียว
หลังจากที่พร้อมสรรพ ผมและน้องทีมงานก็เดินตามเจ้าหน้าที่ไปยังจุดชมวิวกันเลยครับ อุปกรณ์สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือ ไฟฉายครับ เพราะในช่วงเวลานั้นยังคงมืดมากแบบที่ว่ามองทางกันไม่ได้เลยทีเดียว แต่ถ้าหากว่าไม่มีไฟฉาย จริงๆ ก็ใช้ไฟจากโทรศัพท์ก็ได้เช่นกันครับ ซึ่งส่วนมากจะมีแอพลิเคชั่นไฟฉายมาให้กันอยู่แล้ว
ทางเดิน ..ไม่ใช่ซิ ต้องบอกว่าเป็นการเดินและปีนป่ายไปตามก้อนหินปูนที่หลายๆ ก้อนมีแง่งแหลมและคม คอยทิ่มตำ ถ้าหากว่าเกิดก้าวผิดพลาดขึ้นมา ซึ่งผมต้องขอบอกไว้ว่า ให้ใช้ความระมัดระวังให้มากที่สุด ไม่พลาดเลยจะดีกว่าครับ ไปช้าๆ ไม่ต้องรีบร้อน เพราะนั่นคือเหตผลที่ผมจะต้องเดินขึ้นตั้งแต่ตี 5 ยังไงละครับ ไม่รีบร้อนสำหรับการเดิน แต่ต้องไปให้ทันแสงแรกในยามพระอาทิตย์ขึ้นด้วย ดังนั้นจึงต้องเผื่อเวลาในการเดินไว้ก่อนครับ
จากจุดชมวิวเขาแดง สามารถมองได้ 360 องศา
ในยามเช้าเราจะได้เห็นขบวนเรือประมงที่กำลังเรียงรายกลับเข้าฝั่งผ่านคลองปากน้ำ
เราใช้เวลาเดินทางกันประมาณครึ่งชั่วโมง ก็มาถึงจุดชมวิว ซึ่งสามารถมองได้รอบ 360 องศาเลยทีเดียวครับ โดยเบื้องหน้านั้น เป็นหมู่บ้านเขาแดง และคลองเขาแดงทอดตัวยาวออกไปยังทะเลที่อยู่ไกลออกไป สภาพอากาศที่อึมครึมทำให้ผมค่อนข้างหมดหวังว่าจะได้พระอาทิตย์ออกมาฉายแสงกระจายไปเต็มท้องฟ้า ในยามนี้ขอแค่ให้มีแสงระเรื่อออกมาจากมวลหมู่เมฆบ้างเท่านั้นเอง ก็จะถือว่ามีโชคแบบสุดๆ แล้ว
ผมถ่ายภาพเก็บบรรยากาศไปเรื่อยๆ โดยใช้การชิฟท์ไวท์บาลานซ์เพื่อย้อมสีของท้องฟ้าให้อุ่นขึ้นจากทีเทาทึมๆ สายออกมาหน่อย ท้องฟ้าเปิดช่องเล็กๆ พร้อมๆ กับดวงอาทิตย์เผยโฉมออกมาทีละน้อยๆ ผมและน้องทีมงานไม่ปล่อยให้โอกาสทองนี้ผ่านพ้นไปอย่างแน่นอน เสียงลั่นชัตเตอร์ดังขึ้นอยู่ชั่วครู่ ก่อนที่ดวงอาทิตย์จะบอก “good bye” และเคลื่อนตัวลับหายเข้าไปในเมฆตามเดิม แต่แค่นั้นก็เพียงพอแล้ว สำหรับสภาพอากาศแบบนี้
ผมเก็บภาพมุมต่างๆ อยู่อีกสักพัก “ตรงโน้นมีค่างแว่นครับพี่” เสียงน้องทีมงานบอกมา ก่อนที่จะปักหลักรอถ่ายภาพค่างแว่นฝูงหนึ่งที่มีอยู่ประมาณ 4-5 ตัว หากินอยู่ตามยอดไม้ที่ห่างออกไปราวๆ 50 เมตร “กริ๊งๆๆๆๆ” เสียงโทรศัพท์จากพี่โป้ง คอลัมนิสต์ของนิตยสารโฟโต้อินโฟที่ตามไปเก็บภาพในครั้งนี้ แต่ไม่ได้ขึ้นเขามายังจุดชมวิวเขาแดงด้วย “กำลังถ่ายภาพค่าง แว่นอยู่ครับ แต่อยู่ไกลไปหน่อย” น้องทีมงานตอบกลับไป “คุณมาถ่ายที่นี่เลย” พี่โป้งหมายถึงบริเวณที่พักของเราเมื่อคืนนี้ ที่บ้านพักของอุทยานฯ บริเวณหาดสามพระยา “ค่างแว่นฝูงใหญ่กว่า 10 ตัว กำลังหากินอยู่แถวๆ นี้ ห่างแค่ไม่กี่เมตร รีบมาเลย” ไวเท่าความคิด ผมและน้องทีมงานรีบเก็บอุปกรณ์ก่อนที่จะเดินกลับลงมายังที่จอดรถ
นกกะรางหัวขวาน
ขณะที่กำลังเก็บสัมภาระขึ้นรถอยู่นั้น น้องทีมงานก็สังเกตเห็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่ง กำลังหากินอยู่ด้านหลังโขดหินใหญ่ “นกกะรางหัวขวาน” ผมร้องบอก ก่อนที่จะเปลี่ยนเลนส์เทเลโฟโต้และเดินไปสมทบ “ค่างแว่นรอก่อนนะ” ผมนึกในใจ ก่อนที่จะ ลั่นชัตเตอร์ชุดใหญ่ กับอริยาบถหลายๆ รูปแบบของนกกะรางหัวขวานจนผิวหนังทนกับอาการแสบๆ คันๆ จากยุงหลายร้อยตัวที่รุมทึ้งเราสองคนอยู่อย่างกระหายไม่ไหว และขอยกธงยอมถอยทัพกลับไปสมทบกับพี่โป้งที่หาดสามพระยาจะดีกว่า ยากันยุง คงจะละลายหายไปพร้อมๆ กับเหงื่อในระหว่างเดินทางลงแล้วละมั๊ง..
“หอบลูกจูงหลานไปตรงเขาลูกโน้นแน่ะ” พี่โป้งชี้มือไปยังภูเขาลูกที่อยู่ด้านหลังที่พักหลังจากที่เรากลับมาสมทบ “ขับรถไปดูกันหน่อย เผื่อยังไปได้ไม่ไกล” พี่โป้งเสนอแนะขึ้นมา เมื่อมาถึงใกล้ๆ กับเชิงเขา ผมแตะคันเร่งให้รอบเครื่องมาอยู่ที่ประมาณ 800-1000 รอบ และปล่อยให้รถค่อยๆ เคลื่อนตัวไปตามถนน เพราะไม่ต้องการให้เสียงเครื่องยนต์ไปรบกวนเจ้าค่างแว่นฝูงนั้น ซึ่งเสียงของเครื่องยนต์ 1GD FTV (High) 2800 ซีซี ก็เบาถูกใจผมและทีมงานจริงๆ ครับ
ผมเหลือบสายตาก็มองทางไปด้วย สอดส่ายมองหาฝูงค่างแว่นไปด้วย แต่ไม่มีวี่แวว “คงจะขึ้นเขาไปแล้วมั๊ง งั้นเย็นๆ ค่อยกลับมาอีกที เจ้าหน้าที่บอกว่าเค้าจะออกไปหากินตอนเช้า แล้วก็กลับมานอนแถวๆ นี้ในตอนเย็นๆ” พี่โป้งเสนอแนะอีกครั้ง ผมและน้องทีมงานตกลงตามข้อเสนอ ก่อนที่จะไปหาอาหารเช้ารองท้องกันก่อนที่จะไปปฏิบัติภารกิจกันต่อไปครับ
5 โมงเย็น เรากลับมารอค่างแว่นฝูงนั้น ซึ่งยังไม่ไม่มีวี่แววว่าจะกลับมา “เดี๋ยวก็มา เค้ากลับมานอนที่นี่ทุกวันน่ะแหละ” เสียงเจ้าหน้าที่บอกมาในเชิงปลอบใจ เมื่อเห็นเราเริ่มกระวนกระวายกับการที่ยังไม่เห็นฝูงค่างแว่นกลับมา เรานั่งรออยู่อีกสักพัก “โครม” เสียงเหมือนอะไรตกกระทบหลังคา “เค้ามากันแล้ว” เสียงเจ้าหน้าที่บอกมา ไวเท่าความคิด เราคว้าอุปกรณ์ถ่ายภาพไปปักหลักในมุมที่ฝูงค่างแว่นจะผ่านกลับมา
หลายๆ ตัวห้อยโหนอยู่บนต้นไม้ หลายๆ ตัวลงมาเดินที่พื้น ก่อนที่จะกระโดดกลับขึ้นไปบนต้นไม้อย่างว่องไว อีกหลายๆ ตัวโผกระโจนจากต้นนั้น มายังต้นนี้ บางตัววิ่งไปตามหลังคาร้านอาหารและบ้านพัก เราลั่นชัตเตอร์กันอย่างเมามัน เพราะไม่เคยเจอกับฝูงค่างแว่นนับสิบตัวในระยะใกล้แบบนี้มาก่อน
ค่างแวนที่กำลังกระโจนจากต้นไม้ต้นหนึ่งไปยังอีกต้นเพื่อกลับไปยังที่นอนของเขา
หลังจากที่กระโดดหายไปยังต้นไม้ด้านหลังโรงครัว ทั้งหมดทั้งมวลก็เงียบสงบ เปล่าครับ ..พวกเค้าไม่ได้หายไปไหน แต่กำลังเอร็ดอร่อยกับยอดไม้อ่อนที่ต้นไม้ใหญ่ด้านหลังโรงครัว ราวกับว่านี่คือมื้อเย็นก่อนเข้านอน คราวนี้เราเดินวนรอบต้นไม้ เลือกมุมกันตามสะดวกกันเลยละครับ หลังจากอิ่มหนำสำราญแล้ว พวกเค้าก็เดินทางต่อไปยังต้นมะขามใหญ่ที่อยู่ริมหาด ซึ่งเป็นที่พักของพวกเค้านั่นเอง ส่วนพวกเราก็คงจะต้องไปหาที่พักเก็บแรงไว้สำหรับลุยต่อในวันพรุ่งนี้ด้วยเหมือนกัน
เช้าวันใหม่ เรามีโปรแกรมที่จะเดินทางไปยังถํ้าพระยานคร ซึ่งเป็นถํ้าขนาดใหญ่พอสมควร และมีประวัติที่น่าสนใจทีเดียว โดยจุดเด่นของถํ้าพระยานครอยู่ที่ห้องโถงกลางที่เป็นที่ตั้งของพลับพลาแบบจตุรมุข นั่นคือ พระที่นั่งคูหาคฤหาสน์ ซึ่งเป็นพลับพลาที่ประทับของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อคราวเสด็จประพาสในปี 2433 โดยพระที่นั่งฯ นี้เป็นฝีพระหัตถ์ของพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าขจรจรัสวงศ์ ทรงสร้างแบบ knock down ก่อนที่จะนำชิ้นส่วนต่างๆ มาประกอบขึ้นใหม่ในถํ้าแห่งนี้ และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเสด็จมายกช่อฟ้าด้วยพระองค์เอง ปัจจุบันพระที่นั่งคูหาคฤหาสน์ได้ถูกนำมาใช้เป็นตราประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์อีกด้วย ผนังถํ้าด้านบนของพระที่นั่งคูหา คฤหาสน์ เป็นช่องกว้างพอสมควร และมีแสงส่องลงมากระทบกับพระที่นั่งในช่วง ประมาณ 11 โมงเช้า ซึ่งเป็นภาพที่สวยงามประทับใจนักท่องเที่ยวมากทีเดียว โดยเดือนที่จะมีแสงส่องลงมาตรงๆ กับพระที่นั่งฯ คือช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคมครับ
พระที่นั่งเคหาคฤหาสน์อวดโฉมโดดเด่นอยู่ภายในถ้ำพระยานคร
ถํ้าพระยานครถูกตั้งชื่อตามผู้ค้นพบ นั่นคือ พระยานคร เจ้าผู้ครองเมืองนครศรี-ธรรมราช เมื่อประมาณสมัยรัชกาลที่ 1 แต่ไม่มีการบันทึกนามที่แท้จริง โดยได้แล่นเรือผ่านมาทางเขาสามร้อยยอด และได้เกิดพายุใหญ่ขึ้น ไม่สามารถแล่นเรือต่อไปได้ จึงได้เข้ามาหลบพายุที่ชายหาดแห่งนี้อยู่หลายวัน และค้นพบถํ้านี้โดยบังเอิญ ซึ่งจากหลักฐานยังมีบ่อพระยานคร ซึ่งเป็นบ่อถํ้า กรุด้วยอิฐดินเผา กว้าง 1 เมตร ลึก 4 เมตร ที่สร้างขึ้นเพื่อเก็บนํ้าจืดในระหว่างหลบพายุอีกด้วย
ปากทางเข้าสู่ภายในตัวโถงถํ้าพระยานคร
การถ่ายภาพภายในถํ้านั้น บางช่วงค่อนข้างมืด จำเป็นที่จะต้องใช้ขาตั้งกล้อง เพื่อให้ถ่ายภาพได้นิ่ง บางช่วงอย่างในห้องโถงที่ตั้งของพลับพลามีแสงสว่างมากพอที่จะใช้มือถือกล้องถ่ายภาพได้ แต่เพื่อความคมชัด และไม่ต้องดันความไวแสงให้สูงเกินไป การใช้ขาตั้งกล้องจะช่วยให้ได้ภาพที่คมชัดและให้สีสันที่ดีที่สุด แต่สำหรับผู้ที่ไม่ต้องการแบกหนักๆ ให้เป็นภาระ จะใช้วิธีการปรับเพิ่มความไวแสงสูงพอที่จะถือกล้องถ่ายภาพได้ ก็ไม่ว่ากันครับ
ภายในถํ้าพระยานครอันสวยงามที่มีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเข้ามาชมในแต่ละวันเป็นจำนวนมาก
การเดินทางไปเที่ยวชมถํ้าพระยานครนั้น ทำได้สองทาง โดยเดินเท้าจากเชิงเขาเทียนบริเวณหาดบ้านบางปู ข้ามไปยังหาดแหลมศาลา จากนั้นเดินขึ้นเขาไปถํ้าพระยานครอีก 430 เมตร รวมเส้นทางทั้งหมดประมาณ 2 กิโลเมตร สำหรับผู้ที่ต้องการเดินชมธรรมชาติไปด้วยและกำลังวังชายังคงดีอยู่ อีกทางหนึ่งคือ นั่งเรือจากหาดบ้านบางปูอ้อมเขาเทียนมายังหาดแหลมศาลา และเดินเท้าขึ้นเขาไปยังถํ้าพระยานคร ซึ่งเป็นการเดินทางที่สะดวกและลดการใช้พลังงานดีที่สุดทางหนึ่ง และเป็นทางเลือกที่คนส่วนใหญ่รวมทั้งผมและทีมงานเลือกใช้ด้วยครับ โดยค่าเรือเป็นแบบเหมาลำ ลำละ 400 บาท ซึ่งเจ้าหน้าที่จะให้เบอร์เรือเก็บไว้ ในตอนขากลับก็แจ้งเบอร์เรือให้เจ้าหน้าที่อุทยานฯ วิทยุเรียกเรือลำนั้นมารับกลับครับ
จุดลงเรือไปยังถ้ำพระยานคร
ที่ชายหาดบ้านบางปู มีร้านค้า ร้านอาหาร และที่จอดรถมากมาย จัดเป็นสัดส่วนเป็นระเบียบดีทีเดียวครับ หลังจากที่อิ่มหนำสำราญกันแล้ว เรามีโปรแกรมที่จะเดินทางต่อไปยังนํ้าตกป่าละอู ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งเป็นอุทยานที่มีขนาดใหญ่ และพื้นที่กว้างขวางแห่งหนึ่งทีเดียว
การเดินทางไปท่องเที่ยวและถ่ายภาพของผมและทีมงานแบบนี้ หลายๆ ครั้งที่สภาพเส้นทางไม่เอื้ออำนวยสำหรับรถเก๋งหรือรถที่มีความสูงไม่มากนัก เพราะหลายๆ สถานที่ เราจำเป็นที่จะต้องลุยลงไปตามเส้นทางที่ไม่ใช่ถนนเรียบๆ บาง เส้นทางเป็นหลุมบ่อ บางเส้นทางก็ขรุขระ แต่กับ Toyota Hilux Revo Double Cab 4×4 2.8G AT ที่มีความสูงของท้องรถกว่า 217 มิลลิเมตร ซึ่งเป็นการวัดจากจุดที่อยู่ตํ่าที่สุด เมื่อรวมกับระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ และพละกำลังกว่า 177 แรงม้า ทำให้ผม มั่นใจทุกครั้ง
ที่ขึ้นไปนั่งหลังพวงมาลัยว่าในทุกๆ เส้นทาง ผมสามารถ “ไปถึง” และ “กลับได้” อย่างสบายๆ ครับ
…………………….
แล้วพบกันฉบับหน้า ..ป่าละอูครับ สวัสดีครับ
เรื่อง / ภาพ : กองบรรณาธิการ
ขอขอบคุณ… บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด
การเดินทาง อุทยานแห่งชาติสามร้อยยอด, ถํ้าพระยานคร
จากถนนเพชรเกษมช่วงประมาณหลักกิโลเมตรที่ 286 ห่างจากอำเภอปราณบุรี 37 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้ามายังเส้นทางหมายเลข 1026 ระยะทางประมาณ 14 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติสามร้อยยอด และจุดชมวิวเขาแดง ขับตามเส้นทาง 1026 และเชื่อมต่อกับเส้นทางหมายเลข 4020 ไปอีกประมาณ 16 กิโลเมตร (มีป้ายบอกทาง) จะถึงบ้านบางปู จุดขึ้นเรือไปยังถํ้าพระยานคร