บทความเทิดพระเกียรติ

พระราชประวัติทางการถ่ายภาพและกล้องที่พระองค์ท่านทรงใช้

องค์อัครศิลปินแห่งราชวงศ์จักรี มีอยู่ 2 พระองค์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ทรงเป็นพระองค์แรก ต่อมาในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นพระองค์ที่ 2

อันศิลปะวิชาการมากมายหลายสาขา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระปรีชาสามารถยิ่งนัก เป็นต้นว่า ศิลปะการดนตรี งานจิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม มัณฑนศิลป์ วรรณศิลป์ ฯลฯ กับงานที่ทรงเชี่ยวชาญพอพระหฤทัยเป็นพิเศษ ได้แก่ ศิลปะการถ่ายภาพ ซึ่งทรงใช้ในพระราชกรณียกิจต่างๆ ติดต่อกันมาตั้งแต่ครั้งเยาว์พระชันษาจนกระทั่งตราบเท่าทุกวันนี้

มีหลากหลายท่านสงสัยกันนักว่า คงจะมีสิ่งบันดาลพระราชหฤทัยอะไรสักอย่าง ที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเกิดการสนพระราชหฤทัยในการถ่ายภาพ ซึ่งทรงสร้างงานให้เกิดประโยชน์อย่างมหาศาลแก่ประเทศชาติบ้านเมืองและมวลพสกนิกรอย่างมากล้นพ้นประมาณหาที่สุดไม่ได้ สำหรับต้นกำเนิดสำคัญประการแรกมีอยู่ตั้งแต่ครั้งยังประทับอยู่ที่กรุงโลซานน์ ประเทศสวิส ในสมัยที่ยังทรงพระเยาว์ชันษา อันภูมิทัศน์สิ่งแวดล้อมต่างๆ ของประเทศสวิสนั้นต่างเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปแล้วว่าสวยสดงดงาม ใครได้เห็นเป็นต้องติดตาประทับใจไม่รู้ลืม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงเกิดพระอารมณ์สุนทรีย์และทรงมีพระราชประสงค์ที่จะทรงบันทึกความทรงจำของธรรมชาติเอาไว้โดยวิธีใดวิธีหนึ่ง ด้วยสิ่งบันดาลพระราชหฤทัยเหล่านี้ งานศิลปะสาขาต่างๆ จึงได้เริ่มขึ้น ณ สถาบันธรรมชาติแห่งนี้

เมื่อเริ่มพระชนมพรรษา สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงอบรมพระราชโอรส พระราชธิดา ให้มีความเป็นอยู่อย่างง่ายๆ ให้ทรงทำอะไรเอง เช่น วิทยุเล็กๆ แทนที่จะทรงซื้อจากร้านขายของเพราะทั้งสวยและโก้ และมีทรงให้เลือกได้อย่างมากมาย แต่กลับทรงสนับสนุนให้ฝึกหัดประกอบจากตำราเมื่อทรงทำได้สำเร็จ ก็ทรงเกิดความเชื่อมั่นพระราชหฤทัยที่จะทรงศึกษาทดลองศิลปะวิชาการที่แปลกใหม่ต่อไป อย่างไม่ทรงหยุดยั้ง พระราชอุปนิสัยที่พอพระราชหฤทัยทางการช่าง ทรงเริ่มต้นจากสิ่งเหล่านี้ สำหรับศิลปะการถ่ายภาพตามที่ทราบจากพระราชประวัติ ปรากฏว่าเคยทรงมีกล้องถ่ายภาพคู่พระหัตถ์ตั้งแต่พระชนมายุเพียง 8 พรรษา (ราวปี พ.ศ. 2479) กล้องนั้นมีชื่อว่า Coronet Midget เป็นกล้องเล็กๆ พอเหมาะพระหัตถ์ กล้องนี้จึงนับเป็นกล้องแรกที่ทรงใช้

camera_001

ในระยะเวลาใกล้ๆ กัน ทรงใช้อีกกล้องหนึ่ง ชื่อ Kodak Vest Pocket Montreux นับเป็นกล้องตัวที่สอง ลักษณะคล้ายกล้องสี่เหลี่ยมประเภทที่ฝรั่งเรียกว่า Minibox ใช้ฟิล์มม้วนถ่ายได้ม้วนละ 6 ภาพ ได้ทรงบันทึกภาพกล้องทั้งสองนี้ไว้แล้ว ปัจจุบันเหลือแต่ภาพกล้อง ส่วนกล้องตัวจริงไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหน

ต่อมาราวปี พ.ศ. 2481 ทรงมีกล้อง Elax Lumie’re เพิ่มขึ้นอีกกล้องหนึ่ง เหมาะกับพระหัตถ์มาก ทรงใช้อยู่นานจนทรงเชี่ยวชาญกับกล้องนี้ดีแล้ว จึงทรงเปลี่ยนกล้อง Elax Lumie’re อีกกล้องหนึ่ง ทำในฝรั่งเศสทั้งสองกล้อง

camera_002

ครั้นถึงปี พ.ศ. 2484 เป็นปีที่ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล กลับเมืองไทย ได้ทรงใช้กล้อง Elax บันทึกภาพระหว่างตามเสด็จโดยตลอด อันพระราชกรณียกิจนี้ย่อมเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า ทรงสนพระราชหฤทัยทางการถ่ายภาพเป็นอันมาก

อนึ่งสถานการณ์ของโลกในขณะนั้นเป็นปีที่อยู่ในช่วงเวลาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทุกประเทศที่เกี่ยวข้องกับสงครามครั้งนี้ต่างล้วนแต่มีภาวะทางเศรษฐกิจและการเมืองลำบากยุ่งยากสับสนด้วยกันทั้งนั้น ครั้นสงครามสงบราบคาบลงแล้ว ทุกประเทศจึงเริ่มฟื้นฟูกิจการบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้าอย่างทันตาเห็น โดยเฉพาะทางด้านอุตสาหกรรม เกษตรกรรม ตลอดกระทั่งศิลปะวัฒนธรรม โดยเฉพาะในประเทศไทย สถานการณ์เปลี่ยนไปอย่างว่องไว กระฉับกระเฉง ที่เห็นได้ชัดๆ ในสมัยนั้นต้องยอมยกให้ทางด้านศิลปะสาขาต่างๆ เป็นต้นว่า งานสถาปัตยกรรม ตึกรามบ้านช่องเกิดขึ้นใหม่ไม่ว่าในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โฮเต็ล โรงภาพยนตร์ใหม่ๆ ตลอดกระทั่งอาคารร้านค้า ก่อสร้างกันพราวสะพรั่งไปหมด งานศิลปะสาขาจิตรกรรม ประติมากรรม การเขียน การปั้น แกะสลัก ศิลปินมีงานกันล้นมือ มีแรงทำขึ้นมาเท่าไหร่ เป็นซื้อขายกันได้หมด ทางด้านวรรณคดี กาพย์กลอนโคลงฉันท์ งานประพันธ์ นักประพันธ์ดีๆ เกิดในยุคนี้หลายคน ยิ่งมองมาในด้านศิลปะสำหรับประชาชนประเภทความบันเทิง ภาพยนตร์ ลิเก ดนตรี ละคร กระทั่งการละเล่นแบบพื้นบ้านต่างๆ ล้วนแต่เป็นยุคฟื้นฟูให้รุ่งเรืองก้าวหน้าอย่างระดับที่ต้องเรียกว่ายุคทองของไทยก็ว่าได้

ย้อนกลับมาทางด้านการถ่ายภาพในช่วงเวลานี้ กล้องดีๆ หลั่งไหลออกสู่ตลาดโลกหลายชนิดหลายแบบ ส่วนใหญ่เป็นกล้องของประเทศเยอรมันนีและสหรัฐอเมริกา มีทั้งกล้องที่ใช้ฟิล์มแผ่นขนาดใหญ่และขนาดกลาง กล้องฟิล์มกระจก ฟิล์มม้วนและกล้องใช้ฟิล์มขนาด 35 มม., 16 มม. และ 8 มม. โดยเฉพาะกล้องภาพยนตร์ขนาด 8 มม. เป็นที่นิยมในบรรดานักถ่ายระดับชาวบ้านกันมาก จนทางบริษัทผู้ผลิตต้องปรับปรุงคุณภาพขึ้นใหม่ เรียกว่า 8 มม. พิเศษ (Super-8) ช่วยให้ถ่ายภาพได้ง่ายขึ้น ทั้งมีแถบบันทึกเสียงได้คล้ายกับภาพยนตร์ 16 มม. ตอนนั้นเลยเป็นที่นิยมกันแพร่หลายในท้องตลาด ขนาดเรียกว่าดังจนล้นฟ้าก็ว่าได้ ครั้นเวลาต่อมาสถานีโทรทัศน์เกิดขึ้นหลายช่อง เทปโทรทัศน์เริ่มมีใช้ในวงการโทรทัศน์ ต่อมากลายเป็นวิดีโอเทปสำหรับชาวบ้านที่ใช้ได้สะดวกมากกว่า ตั้งแต่นั้นมาภาพยนตร์ 8 มม. พิเศษ เป็นอันต้องล้มเลิกไป จนวงการถ่ายภาพสมัยปัจจุบันทำทีท่าว่าจะไม่รู้จักชื่อเอาเสียเลย

กล้องถ่ายภาพเฉพาะยี่ห้อดีๆ ที่มีมาในอดีต พอเข้าสู่ยุคปรับปรุงใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กล้องที่เคยดีก็ปรับปรุงได้ดียิ่งขึ้น เป็นต้นว่ากล้องระดับแนวหน้าเท่าที่จำได้ของประเทศเยอรมันนี มี Linhof พระบาทสมเด็จอยู่หัวเคยใช้อยู่พักหนึ่ง ไม่เหมาะกับพระหัตถ์และพระราชประสงค์ที่ทรงใช้ เลยไม่ทรงทดลองต่อไป

ส่วนทางประเทศสหรัฐอเมริกา กล้องที่คล้ายลินฮอฟก็มี Speed Graphic นับว่าก้าวหน้าทันสมัยเป็นที่ถูกใจนักถ่ายภาพมาก พอกล้องแบบนี้ติดตลาด ต่อมาจึงมีกล้องยี่ห้อใหม่ๆ ที่ทำได้คล้ายๆ กันออกมาสู่วงการภาพถ่ายอีกหลายยี่ห้อ

มีกล้องชั้นดีที่ครองตลาดมาทุกสมัยอยู่ยี่ห้อหนึ่งชื่อว่า Hasselblad ของประเทศสวีเดน ใช้ฟิล์ม  3 นิ้ว หรือฟิล์มเบอร์ 120 เป็นกล้องแบบสะท้อนภาพเลนส์เดียว (Single Lens Reflex) จุดเด่นของกล้องยี่ห้อนี้อยู่ตรงที่ว่าเปลี่ยนเลนส์ได้ มีแมกกาซีน (magazine) ใส่ฟิล์มให้เปลี่ยนได้หลายชนิดหลายขนาด นับว่าแปลกใหม่นำสมัยอย่างไม่มีใครเหมือน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทดลองใช้กล้อง Hasselblad อยู่หลายปี ครั้นเวลาต่อมาเกิดมีแสงรั่วเข้าแมกกาซีน  ทำให้ฟิล์มเสียหายอยู่เสมอ ช่างซ่อมกล้องในเมืองไทยสมัยนั้นไม่มีใครแก้ไขได้ดีอย่างเดิมได้ ถ้าจะให้ดีก็มีวิธีเดียวคือต้องส่งกลับไปที่บริษัทต่างประเทศ ซึ่งเป็นการเสียเวลามาก ในที่สุดจึงไม่ทรงใช้

กับในสมัยเดียวกันยังมีกล้องชั้นยอดของประเทศเยอรมันนีอยู่ยี่ห้อหนึ่งชื่อ Rolleiflex เป็นกล้องสะท้อนภาพแบบเลนส์คู่ (Twin Lens Reflex) ใช้เลนส์ของ (Zeiss) และกล้องที่ออกคู่กัน ชื่อ Rolleicord ราคาย่อมเยากว่า ภาษาตลาดจัดให้เป็นกล้องพี่น้องเพราะเป็นของบริษัทเดียวกัน ทั้งราคาที่อยู่ในระดับปานกลาง กับที่สำคัญอยู่ที่กล้อง Rolleiflex ใช้เลนส์แบบ Zeiss เช่นเดียวกับกล้อง Hasselblad จึงเป็นที่นิยมแพร่หลายในวงการถ่ายภาพ

เพราะกล้องสะท้อนภาพแบบเลนส์คู่กำลังเป็นที่ต้องใจของนักถ่ายภาพ จึงเป็นเหตุให้บริษัท Zeiss Ikon แห่งประเทศเยอรมันนี ซึ่งเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงเยี่ยมยอดทางด้านการผลิตเลนส์ถ่ายภาพได้ผลิตกล้องสะท้อนภาพแบบเลนส์คู่ชื่อว่า  Ikoflex ออกสู่ตลาดบ้าง

camera_003

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทดลองใช้กล้อง Ikoflex เมื่อปี 2494 กล้องนี้เมื่อจัดลำดับกล้องถ่ายภาพที่ทรงใช้ นับเป็นลำดับที่ 12 เลขที่ตัวกล้อง 2592052 Lens Zeiss Option Tessar 1:3.5 f. 75 mm.- No.637288 สำหรับกล้องนี้ทรงมีพระราชดำรัสว่าใช้งาย เลนส์ดี ได้ภาพสวยคมชัดดีมาก เป็นที่พอพระราชหฤทัย จึงทรงใช้กล้องเลนส์นี้อยู่นาน ในเวลาใกล้เคียงกัน ย้อนหลังไปเมื่อปี พ.ศ. 2493 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้ Contax II

ในช่วงเวลาที่บริษัทไซส์อิคอนกำลังเป็นที่ยอมรับคุณภาพของเลนส์ดีเด่นเป็นเยี่ยมอยู่นั้น จึงได้ออกกล้องถ่ายภาพขนาด 35 มม. อีกแบบหนึ่งชื่อ Contax-s เป็นแบบสะท้อนภาพเลนส์เดี่ยว ซึ่งเป็นระบบนำยุคสมัยในเวลานั้น จึงสร้างความตื่นเต้นแก่วงการถ่ายภาพเป็นอันมาก แต่ครั้งนำออกสู่ตลาดเพียงไม่เท่าไหร่ ผู้ใช้ก็แจ้งว่ายังมีข้อขลุกขลักยุ่งยากที่ควรปรับปรุงแก้ไขอีกหลายประการ ต่อมาบริษัทผู้ผลิตจึงแก้ไขใหม่ ให้ชื่อว่ากล้อง Contax II

เมื่อปี พ.ศ. 2493 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้ Contax II กล้องนั้นใช้เลนส์ Zeiss-opton No.821255 กับ Zeiss-opton No.885584 Sonnar 1:2 f. 50mm เป็นกล้องแบบใหม่นำสมัยมาก เพราะเป็นกล้องที่เปลี่ยนเลนส์ได้ ทั้งที่มีเครื่องวัดแสงในตัวด้วย กล้องนี้ทรงได้จากประเทศสิงค์โปร์ เป็นที่พอพระราชหฤทัยมาก เสด็จฯ ณ ที่ใดจะทรงใช้อยู่เป็นประจำ ปัจจุบันได้พระราชทานไว้ที่สวนหลวง ร. 9

camera_004

ในช่วงเวลาที่วงการถ่ายภาพมี Contax II เป็นกล้องสะท้อนภาพเลนส์เดี่ยว ทางบริษัท E. Leitz Wetzlar ประเทศเยอรมันนีได้ออกกล้อง Leica ระบบ M แบบใหม่อีกรุ่นหนึ่ง ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่พออกพอใจของวงการถ่ายภาพมาก

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงได้กล้อง Leica มากล้องหนึ่ง เป็นกล้องมือสอง ทรงทดลองใช้ระยะหนึ่งจนกระทั่งบริษัทได้ออกกล้องแบบใหม่เป็นระบบสะท้อนภาพเลนส์เดี่ยวเช่นเดียวกับ Contax เรียกว่ากล้อง Leicaflex แต่มิได้ทรงทดสอบต่อไปอีก

อีกกล้องของบริษัทไซส์ ชื่อ Super lkonta ใช้ฟิล์มเบอร์ 120 ได้ภาพขนาด 6×9 ซม. 8 ภาพ และยังแบ่งเป็นภาพ 6×4.5 ซม.  16 ภาพ ได้อีกด้วย เมื่อนำมาอัดภาพเท่าฟิล์ม จึงได้ภาพใหญ่ดูได้เต็มตาดี (สมัยนั้นนิยมอัดภาพเท่าฟิล์ม) อะไรๆ ก็ดี แต่ไม่เหมาะอยู่อย่างเดียวตรงที่ฟิล์มหมดม้วนเร็วเกินไป ถ่ายเพลินๆ เผลอประเดี๋ยวเดียวฟิล์มหมดแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้อยู่พักหนึ่ง จึงได้พระราชทานให้หัวหน้าช่างภาพประจำพระองค์ (นายอาณัติ บุนนาค) ในสมัยนั้นใช้งานราชการต่อไป เพราะกล้อง Super lkonta ฟิล์มหมดม้วนเร็วเกินไป ก็พอดีมีกล้องถ่ายภาพในเครือบริษัท Robot ออกสู่ตลาดอีกกล้องหนึ่ง เป็นแบบใหม่ไม่ซ้ำกับใครในสมัยนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้รุ่น Robot Royal No. G 125721 Mod.111 Lens: Schneider-Kreuznach Xenon 1.1.9/3542375 ลักษณะกล้องป้อมเล็กกะทัดรัด เหมาะพระหัตถ์มาก เครื่องกลไกเป็นที่พอพระราชหฤทัยหลายประการ เป็นกล้องใช้ฟิล์มเบอร์ 135 แต่แปลกใหม่อยู่ตรงที่ว่าภาพที่ได้เป็นภาพสี่เหลี่ยมจตุรัส ฟิล์มม้วนหนึ่งจึงได้ภาพมากกว่ากล้องที่ใช้ฟิล์มขนาดเดียวกัน กับที่พิเศษอีกอย่างอยู่ที่กล้องนั้นหมุนฟิล์มขึ้นที่ชัตเตอร์ได้รวดเร็วกว่ากล้องชนิดอื่นๆ เพราะเรื่องการหมุนฟิล์มได้เร็วนี่แหล่ะ จึงกลายเป็นเหตุขัดข้องของกล้องนี้อยู่เสมอ

camera_005

ต่อมาเมื่อสถานการณ์หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มสงบดีแล้ว ประเทศไทยเราจึงได้จัดงานฉลองรัฐธรรมนูญขึ้นที่บริเวณสวนลุมพินี เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2496 งานครั้งนั้นเป็นงานใหญ่ รัฐบาลไทยได้เชิญประเทศรุสเซียร่วมออกงานตั้งร้านและสินค้าด้วย

ภายในงานมีการแสดงกิจกรรมของหน่วยงานราชการ บริษัทห้างร้านเอกชน และที่แปลกใหม่กว่าที่เคยมีมาอยู่ตรงที่ว่า งานครั้งนี้รัฐบาลไทยได้เชิญประเทศรุสเซียมาร่วมออกงานแสดงกิจการและสินค้าอุตสาหกรรมด้วย ที่ตั้งร้านของประเทศรุสเซียนั้นอยู่ทางด้านใต้สวนลุมพินี ใกล้กับประตูทางเข้าด้านถนนพระราม 4 หรือตรงที่ตั้งสถานลีลาศในปัจจุบันนี้ เขาสร้างใหญ่โตมาก ทำเป็นปะรำใหญ่ยกพื้นสูงทำทางขึ้นเป็นบันไดกว้าง พอเข้าถึงภายในอาคารจะเห็นตู้โชว์ กล้องถ่ายภาพและอุปกรณ์เป็นอันดับแรก

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ทรงเป็นองค์ประธานเปิดงาน เมื่อเสด็จฯ ทอดพระเนตรกิจการร้านสถานฑูตรุสเซีย เจ้าหน้าที่ได้ทูลเกล้าฯ กล้องถ่ายภาพยี่ห้อ Kiev กล้องหนึ่ง ซึ่งเป็นกล้องที่ทำได้คล้ายกับกล้องถ่ายภาพยี่ห้อไซส์อิคอนขนาด 6×9 ซม. ที่เคยทรงใช้มาแล้ว เป็นที่พอพระราชหฤทัยมาก ทรงทดลองใช้จนเข้าพระทัยทุกขั้นตอน จึงได้ทรงเก็บไว้เป็นที่ระลึก แต่ปัจจุบันไม่ทรงทราบว่าอยู่ที่ไหน

ดังเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่า บรรดากล้องถ่ายภาพชั้นดีทั้งหลาย ส่วนใหญ่ทางประเทศยุโรปเป็นผู้ผลิตมาก่อน ซึ่งอาจจะเรียกรวมๆ แบบภาษาชาวบ้านว่า ‘กล้องฝรั่ง’ เป็นต้นว่าของประเทศเยอรมันนี อังกฤษ สวิสเซอร์แลนด์ สวีเดน ฝรั่งเศส และอิตาลี ฯลฯ ครั้นต่อมาภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบแล้ว ภาวะสงครามเป็นเหตุให้ประเทศเยอรมันนีถูกแยกออกเป็น 2 ประเทศ เยอรมันนีตะวันตกอยู่ในเขตยึดครองของสหรัฐอเมริกา เยอรมันนีตะวันออกเป็นของรุสเซีย

อันประเทศของเยอรมันนีแต่เดิมนั้นได้ชื่อว่าเป็นผู้ผลิตกล้องถ่ายภาพและเลนส์ชั้นนำของโลกอยู่ก่อนแล้ว เมื่อได้ถูกแบ่งแยกแบบนี้ เป็นเหตุให้วิศวกรฝีมือดีๆ ต้องถูกแบ่งแยกประเทศกันด้วย ดังนั้นในระยะหลังๆ ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งมีประเทศเยอรมันนีตะวันตกอยู่ด้วยจึงเริ่มผลิตกล้องถ่ายภาพแบบใหม่ออกสู่ตลาดโลกมากขึ้น สำหรับบางบริษัทเป็นของสหรัฐอเมริกาเอง ส่วนบางบริษัทเป็นของเยอรมันนี ที่ชื่อเสียงดีอยู่แล้วก็ผลิตในนามประเทศเยอรมันตะวันตก กับในประเทศใกล้เคียงอีกหลายประเทศที่เคยมีกล้องชื่อเสียงโด่งดังก็ยังผลิตกันต่อไป

ส่วนในประเทศรุสเซียได้มีประเทศเยอรมันตะวันออกอยู่ในสังกัด ซึ่งมีวิศวกรดีๆ อยู่เป็นจำนวนมาก และที่เป็นผลพลอยได้อย่างยิ่งใหญ่ได้แก่ แก้วเลนส์ไซส์ที่บรรพบุรุษหลอมเก็บไว้ให้เป็นมรดกตกทอดจนถึงลูกหลานเหลน แก้วเนื้อดีเหล่านี้สามารถใช้ผลิตเลนส์ต่อไปเป็นจำนวนมากมายอีกนานเท่าใดก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะหมด เมื่อมีของดีอยู่ในมือเช่นนี้ วิศวกรเยอรมันตะวันออกและรุสเซียจึงได้ผลิตกล้องและเลนส์ถ่ายภาพออกสู่ตลาดโลกกันบ้าง ทางฝ่ายรุสเซียผลิตกล้องหลายยี่ห้อ ส่วนไซส์ผลิตแต่เลนส์ โดยเฉพาะเลนส์ Car Zeiss Jena มีคุณค่าเป็นที่ยอมรับนับถือของวงการถ่ายภาพมาช้านาน ยิ่งนักถ่ายภาพในสมัยก่อนๆ จะต้องรู้จักกันเป็นอย่างดี แต่พอมาสมัยนี้หนุ่มสาวสมัยใหม่ไม่ยอมรู้จักและเข้าใจประวัติความเป็นมา พอได้กล้องและเลนส์ของเยอรมันนีไม่ว่าจะเป็นตะวันออกหรือตะวันตกรวมทั้งของดีๆ ที่มีชื่อเสียงในยุโรป เป็นไม่สนใจทั้งนั้น

ระหว่างที่สถานการณ์ตลาดกล้องและอุปกรณ์ถ่ายภาพกำลังไม่แน่นอนอยู่นี้ ทางประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศแพ้สงคราม และยังอยู่ภายใต้การยึดครองของสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นจึงเปลี่ยนนโยบายใหม่ในการที่ไม่ต้องมีภาระทางทหารหรือกำลังพล เขาจึงหันมาเอาจริงเอาจังทางการทำมาหากิน บุกเบิกทางอุตสาหกรรมเพื่อปรับปรุงเศรษฐกิจดังเป็นที่รู้จักกันดีแล้วว่า คนญี่ปุ่นเป็นคนขยัน ทรหด อดทน มีนักประดิษฐ์ นักสร้างสรรค์เป็นจำนวนมาก และที่สำคัญคือ การเป็นประเทศอุตสาหกรรม การทำงานของเขา ในตอนแรกๆ จะเริ่มด้วยการสุ่มสินค้าตลาดโลกว่ามีอะไรดี เป็นที่นิยม เมื่อได้แล้วจะเอามาออกแบบลอกเลียนสินค้านั้นให้คล้ายที่สุดเท่าที่ขอบข่ายกฎหมายลิขสิทธิ์จะยอมให้ทำได้ แต่ดัดแปลงวัสดุที่ใช้ให้บางเบากว่า เติมต่อตกแต่งให้จับตางามสง่าน่าใช้ เมื่อซื้อหามาใช้จะรู้สึกสะดวกสบายถูกใจ คล่องมือ และที่เป็นหัวใจสำคัญในการครองใจลูกค้าอยู่ตรงที่ราคาย่อมเยาอย่างไม่น่าเชื่อ แต่การที่จะใช้ดี ใช้ทนทานหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ต้องค่อยดูกันต่อไป

ญี่ปุ่นได้ผลิตอุตสาหกรรมตามวิธีนี้เป็นสินค้าส่งออกมาจนเป็นที่รู้จักทั่วโลก อย่างที่เห็นง่ายๆ ก็บรรดาเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าประจำบ้าน ซึ่งล้วนแต่ให้ความสะดวกแก่ผู้ใช้ ทั้งมีการผลิตแบบใหม่ๆ ให้นำสมัยอยู่เสมอ รถยนต์อีกเหมือนกัน ญี่ปุ่นมีตลาดกระจายไปทั่วโลก ประเทศไหนๆ ก็ใช้รถญี่ปุ่น แม้แต่ในประเทศที่ผลิตรถยนต์ได้เองยังไม่วายที่จะใช้รถญี่ปุ่น อย่างนี้เขาเรียกว่า “ครองตลาดโลก”

เกี่ยวกับเรื่องกล้องและอุปกรณ์ถ่ายภาพแต่เดิมเราเคยเห็นกล้องขนาด 35 มม. ของเยอรมันกำลังนำหน้า ต่อมากล้องญี่ปุ่นก็ตามหลังเลียนแบบไปอย่างติดๆ เป็นต้นว่ากล้อง Contax ของ Zeiss lkon ก็มีกล้อง Nikon ออกมาเกือบเหมือนกันกับกล้อง Leica ก็มี Canon ตามหลังมาอย่างใกล้ชิด อีกหลายชนิดที่ญี่ปุ่นตามแบบฝรั่ง แต่พอถึงยุคปัจจุบัน ยุคอิเล็กทรอนิกส์ ยุคคอมพิวเตอร์ พอถึงยุคนี้กล้องญี่ปุ่นกลายเป็นกล้องอิสระ เป็นตัวของตัวเองไม่ตามหลังและเลียนแบบใคร และดูๆ ไปกล้องญี่ปุ่นกำลังนำหน้าเอาเสียด้วย นำหน้าเอาจนกระทั่งกล้องของฝรั่งบางยี่ห้อถึงกับต้องรวมตัวกับบริษัทญี่ปุ่น ผลิตออกสู่ตลาดโลก แต่บางบริษัทยังไม่ถึงกับรวมตัวหรือกิจการ หากแต่เพียงใช้ชิ้นส่วนผลิตภัณฑ์ร่วมกันเท่านั้น เรื่องนี้เคยเล่าให้ฟังตั้งแต่แรกแล้วว่า ประเทศเยอรมันนีทั้งตะวันออกและตะวันตก รุสเซีย อเมริกา สวิสเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เหล่านี้ เคยมีเลนส์แก้วอย่างดีที่เป็นมรดกตกทอด มาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ และเป็นแก้วเลนส์ที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับนับถือในวงการถ่ายภาพทั่วโลก ด้วยความสำคัญในข้อนี้ ประเทศที่มีแก้วเลนส์ดีจึงถือโอกาสผลิตเลนส์แบบต่างๆ ได้ โดยเฉพาะตัวกล้องบริษัทต่างๆ ของญี่ปุ่นปัจจุบันนี้ตัวกล้องของญี่ปุ่นต่างเป็นที่ยอมรับว่าเป็นของดีมีค่ามาก วงการถ่ายภาพจึงหันมาใช้ตัวกล้องญี่ปุ่นรวมกับเลนส์ของยุโรป เช่น เลนส์ไซส์ของเยอรมัน เลนส์ Angenieux ของฝรั่งเศส และอีกหลายบริษัท

camera_006

เพราะเลนส์อิสระของยุโรปเป็นที่นิยมในวงการถ่ายภาพมาก ถึงกับบางบริษัทต้องทำสัญญาร่วมกับบริษัทที่ผลิตเลนส์ในญี่ปุ่นด้วย แล้วนำออกขายในญี่ปุ่นด้วย ในประเทศใกล้เคียงและส่งไปยุโรป ปรากฏว่าเป็นที่ถูกใจของผู้ใช้เพราะเป็นของดีราคาถูก ขายได้เงินเทน้ำเทท่าจนบางประเทศถึงกับขาดตลาด

เนื่องจากเลนส์อิสระขายได้ดีนี่แหล่ะ บริษัทในญี่ปุ่นที่ไม่มีกล้องถ่ายภาพของตัวเองจึงได้ผลิตเลนส์อิสระขึ้นมาบ้าง เช่น บริษัท Tokina, Sigma เป็นต้น เลนส์เหล่านี้สามารถใช้กับตัวกล้องชั้นดีของยุโรปและญี่ปุ่นได้หลายชนิด จะใช้ตัวกล้องยี่ห้อไหนเขาทำเขี้ยวหรือสลักให้ได้เฉพาะกล้องนั้น ส่วนที่เป็นเกลียว นอกจากใช้กับกล้องที่เป็นเกลียวมาตรฐานแล้ว ยังมีแหวนประกอบให้เป็นเขี้ยวหรือสลักเข้ากับกล้องชนิดต่างๆ ได้ด้วย นับว่าสะดวกมาก แต่ที่ดีมากอยู่ตรงที่ได้เลนส์คุณภาพดีสมใจและซื้อได้ในราคาไม่แพงอีกด้วย

เมื่อปี พ.ศ. 2514 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงใช้กล้องญี่ปุ่นดูบ้าง เกี่ยวกับการที่ทรงทดลองใช้กล้องญี่ปุ่นนี้ เคยมีพระราชปรารภกับผู้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทความว่า เขาว่ากันว่าตัวกล้องญี่ปุ่นใช้ได้ไม่ทน แต่ทรงทดลองใช้ดูแล้ว ทรงเห็นว่าใช้ได้ดี ไม่เห็นมีอะไรเสียหาย กล้องที่ทรงใช้อย่างจริงจัง ได้แก่ Canon-7 แบบเล็งระดับตา กล้องรุ่นนี้แข็งแรงคงทนดีมาก แต่ทำงานไม่กว้างขวางอยู่อย่างเดียวตรงที่เปลี่ยนเลนส์ไม่ได้ ทำให้ทรงถ่ายภาพได้ไม่กว้างขวางตามพระราชประสงค์ ต่อมาจึงเปลี่ยนมาทรงใช้ระบบสะท้อนภาพเลนส์เดี่ยว (Single lens Reflex-SLUR) ทรงเริ่มด้วยรุ่น Canon A-1 เพราะเป็นรุ่นมาตรฐานที่มีประโยชน์การใช้งานได้สองระบบเรียกตามภาษานักถ่ายภาพว่ากึ่งอัตโนมัติ  คือ มีระบบปรับตั้งเอง (Manaul) กับระบบอัตโนมัติ (Auto) ที่กล้องปรับตั้งด้วยพลังอิเล็กทรอนิกส์

camera_007
เกี่ยวกับกล้อง Canon A1 ที่ทรงใช้นั้น กล้องรุ่นแรกมีเลขประจำกล้อง A1/2097120 เลนส์มาตรฐาน Canon FD 1:1.4/50mm 2052111 กับอีกกล้องหนึ่ง Canon A1 2307372 Lens RMC Tokina Zoom 35-105mm 1:3.5-4.3 และต่อมาทรงมีกล้อง Canon 35 Autofocus Lens f=38mm เป็นกล้องขนาดเล็ก น้ำหนักเบา ทรงทดลองใช้อยู่อีกพักหนึ่ง ทรงมีพระราชปรารภว่าใช้ง่ายเกินไป และไม่ค่อยเหมาะกับพระหัตถ์นัก

ดังเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า ในวงการกล้องญี่ปุ่นมีกล้องหลายยี่ห้อ แต่กล้องที่ตีคู่เสนอความแปลกใหม่ออกสู่วงการถ่ายภาพอย่างชนิดที่ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันนั้น ที่เห็นชัดๆ ก็คงมี Canon กับ Nikon นี่แหละ มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ Nikon ออกกล้อง F3 พอวางตลาดปรากฏว่าได้รับความนิยมมาก เพราะรูปทรงดูแปลกใหม่ นำสมัย ทั้งใช้วัสดุที่แกร่ง แข็งแรงน่าใช้ดีด้วย กล้องรุ่นนี้จึงกลายเป็นกล้องครองตลาดอีกชนิดหนึ่ง

nikonf3

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทดลองใช้ F3 พร้อมด้วยเลนส์มาตรฐาน และเลนส์ซูมขนาด 35-105mm อยู่พักหนึ่ง แม้เมื่อคราวเสด็จฯ รอบโลกก็ทรงใช้กล้อง Nikon เพราะทรงบันทึกภาพได้อย่างคมชัดเป็นที่พอพระราชหฤทัย เกี่ยวกับกล้องนี้เคยมีพระราชปรารภว่า อะไรๆ ก็ดี หากแต่น้ำหนักมากไปหน่อย จึงพระราชทานให้เป็นสมบัติของส่วนช่างภาพส่วนพระองค์มาจนกระทั่งปัจจุบันนี้

eos6202880zoom

 

เวลาใกล้เคียงกันกล้องถ่ายภาพประเภททำงานอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ก็เริ่มผลิตออกสู่ตลาด ซึ่งล้วนแต่สร้างความตื่นเต้นมหัศจรรย์ให้แก่วงการถ่ายภาพได้เป็นอันมาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทดลองใช้กลุ่ม Canon EOS เริ่มตั้งแต่ EOS 650 ที่กำลังโด่งดังติดตลาดอยู่ในขณะนั้น ต่อมาจึงทรงทดลองใช้ EOS 620 อีกรุ่นหนึ่ง กับเวลาไล่เลี่ยกัน บริษัทกล้อง Nikon ได้ออก F401S มาอีก เป็นรุ่นที่มีแฟลชในตัว ใช้เลนส์ปรับระยะชัดอัตโนมัติแบบ Image Master Control ใช้เลนส์ Nikkor 35-105mm f/3.5-4.5 มีเครื่องตั้งวันเดือนปีแบบ Quartz Date ให้ด้วย เรียกว่าให้ความพร้อมสำหรับนักถ่ายภาพได้อย่างรอบด้าน กล้องรุ่นนี้จึงสร้างความนิยมแพร่ไปหลายประเทศ โดยเฉพาะที่สหรัฐอเมริกานิยมกันมาก ถึงกับบริษัทผู้ผลิตต้องเปลี่ยนรหัสบอกรุ่นใหม่เรียกว่า N4004 เป็นพิเศษสำหรับประเทศแถบนั้น

af

ในเวลานั้นกล้องถ่ายอีกยี่ห้อหนึ่งซึ่งออกมาสร้างความแปลกใหม่ให้กับวงการถ่ายภาพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทดลองใช้เช่นเดียวกันคือ Minolta Dynax 5000 I สร้างความสะดวกสบายและถ่ายภาพได้ผลเที่ยงตรงรวดเร็วอยู่ในระดับแนวหน้า โดยเฉพาะรูปทรงของกล้องออกแบบได้แปลกใหม่เก๋ไก๋น่าสนใจยิ่งนัก กับที่ดีเด่นแปลกแหวกแนวไม่เหมือนใครก็ตรงที่กล้องรุ่นนี้มีการสร้างสรรค์ผลงานเป็นพิเศษด้วยระบบการ์ด (Creative Expansion Card System) มีหลายแบบ เป็นต้นว่าการถ่ายภาพเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว เช่น ให้ฉากหน้า ฉากหลังมัว คมชัดเฉพาะจุดเด่นของภาพเท่านั้น ในลักษณะนี้ยังมีการ์ดสำหรับควบคุมช่วงความชัดให้น้อยหรือมากกแบบอัตโนมัติให้ด้วย กับที่เป็นพิเศษอีกอย่างได้แก่ การ์ดสำหรับถ่ายภาพระยะใกล้ (Close Up Card) กล้องสามารถควบคุมช่องรับแสงเล็กหรือกว้างเพื่อให้ได้ช่วงความชัดมากน้อยตามลักษณะของภาพ นับว่าให้ความสะดวกดีมาก

กล้องรุ่นใหม่ขนาดมาตรฐาน ระบบสะท้อนภาพแบบเลนส์เดี่ยวที่ถอดเปลี่ยนเลนส์ได้เหล่านี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทดลองใช้เพื่อจะได้ทรงศึกษาความก้าวหน้า ความแปลกใหม่ในวงการถ่ายภาพแบบกล้องเล็กที่เรียกว่า กล้องคอมแพกต์ (Compact Camera) กล้องแบบกระเป๋าหรือกล้องมือถือ เป็นกล้องที่ถ่ายภาพแบบอัตโนมัติ มีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ควบคุมการทำงาน สำหรับกล้องชั้นดีจะมีไฟแฟลชในตัวและมีเลนส์ซูมมุมกว้างมาตรฐานและถ่ายได้ไกล กับมาโครถ่ายใกล้อยู่ในตัวเพื่อจะได้ใช้ประโยชน์ในการถ่ายภาพได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ทรงทดลองใช้กล้องคอมแพกต์แบบต่างๆ หลายรุ่น เป็นต้นว่า Canon – HIS Lens Canon Zoom EF 28-80mm Canon Autoboy Tele 6 Lens 35-60mm f/3.5-5.6, Canon Zoom XL Lens Zoom 39-85mm f/3.6-7.3

ในช่วงเวลาที่กล้องคอมแพกต์กำลังเป็นที่แพร่หลายในวงการถ่ายภาพนี้ มีอยู่คราวหนึ่งที่พระตำหนักมีงานรื่นเริงประจำปี ในงานนี้มีการจับสลากรางวัลด้วย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจับสลากได้กล้อง Ricoh FF-9D Lens 35mm f/3.5 ทรงต้องพระราชหฤทัยมาก แต่บังเอิญสมุดคู่มือไม่มีทรงมีพระราชดำรัสให้ผู้เขียน (ศาตราจารย์ พูน เกษจำรัส) เป็นธุระจัดมาทูลกระหม่อมถวาย เมื่อได้ทรงทดลองใช้ ทรงชมเชยว่าเป็นกล้องที่มีประสิทธิภาพดีมาก เรียกกันแบบภาษาเราๆ ว่ามีลูกเล่นมากดีจริงๆ ทรงทดลองใช้จนครบทุกขั้นตอน พอในเวลาต่อมา ในพระตำหนักมีงานรื่นเริงประจำปีอีก จึงพระราชทานเป็นของขวัญจับสลากรางวัลต่อไป ท่านผู้ใดได้รับรางวัลนี้นับว่ามีโชคดีมาก

แล้วก็ถึงกล้อง Pentax AF Zoom 35-70mm กับ Minolta Weather Matic 35DL และ Nikon TW Zoom มี Quartz Date บันทึกวันเดือนปีให้ด้วย เกี่ยวกับกล้องระบบ AF หาระยะชัดแบบอัตโนมัติเหล่านี้ ได้เคยทรงถ่ายภาพอีกาซึ่งมีมากในป่าสวนจิตรฯ ทรงหันเลนส์เลื่อนหาระยะเข้าออกตามความเคลื่อนไหวของนกแก้ว ทรงมีพระราชปรารภว่าเหนื่อยแทน จึงต้องทรงใช้วิธีแพนกล้องตามแนวขนานเป็นการช่วยให้กล้องทำงานได้สะดวกขึ้น ตามวิธีนี้ทรงกล่าวว่าภาพที่ได้มีฉากหลังเป็นเส้นพร่า ด้านหน้ามีจุดเด่นเห็นชัด เป็นศิลปะที่ดีกว่าการถ่ายภาพเคลื่อนไหวอย่างตรงไปตรงมา

ท่านที่เคารพ เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้วจะเห็นได้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดการถ่ายภาพมาโดยตลอด อันพระราชจริยวัตรที่ทรงจริงจังต่องานศิลปะมิใช่แต่เฉพาะสาขาใดสาขาหนึ่งเท่านั้น แต่หากได้ลองสนพระพระราชหฤทัยงานใดแล้ว ก็จะต้องทรงศึกษาให้แจ่มกระจ่างทุกอย่างไป

จากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงทดลองใช้กล้องถ่ายภาพมามากมายหลายชนิดนั้น บางชนิดจะทรงซื้อด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์และไม่ได้ทรงเจาะจงว่าจะต้องทรงใช้กล้องใหม่เสมอ แม้บางครั้งเป็นกล้องเก่า ถ้าตรงตามพระราชประสงค์ก็จะทรงทดลองใช้ พอมาในระยะหลังๆ บริษัทผู้ผลิตกล้องถ่ายภาพได้ผลิตกล้องแบบใหม่ออกสู่ตลาดกันมากหลายบริษัทได้นำกล้องและอุปกรณ์ถ่ายภาพขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเนื่องในพระราชวโรกาสต่างๆ จะทรงทดลองใช้อย่างจริงจังทุกอย่าง ดังที่เห็นในพระบรมฉายาลักษณ์ในการบำเพ็ญพระราชกรณียกิจจากหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ จะเห็นได้ว่าทรงทดลองใช้แล้ว บางกล้องจะทรงเก็บไว้เป็นกล้องคู่พระหัตถ์ เพราะทรงใช้ได้อย่างรวดเร็วต้องพระทัย เครื่องกลไกอะไรอยู่ตรงไหนทรงใช้ได้ทันที ส่วนกล้องและอุปกรณ์ถ่ายภาพอย่างดีที่เหลือก็ได้โปรดพระราชทานให้บุคคลและหน่วยงานต่างๆ นำไปใช้สร้างประโยชน์ทางการถ่ายภาพสืบต่อไป

เกี่ยวกับกล้องถ่ายภาพคู่พระหัตถ์ เคยมีผู้สนใจในวงการถ่ายภาพสงสัยกันอยู่ว่า ทำไมไม่ทรงใช้กล้องถ่ายภาพชนิดเยี่ยมยอดที่มีราคาแพงที่นักถ่ายภาพบางคนเขาใช้กัน เพราะตามความเป็นจริงการที่จะทรงใช้กล้องถ่ายภาพแบบธรรมดาที่ใครๆ ก็หาซื้อขายได้ทั่วไปในท้องตลาด ซึ่งพระราชจริยวัตรนี้ มีผู้ใหญ่ในวงการถ่ายภาพอธิบายเป็นการเทิดพระเกียรติให้ฟังว่า ประเทศไทยผลิตกล้องและอุปกรณ์ถ่ายภาพไม่ได้เลย เราต้องซื้อต้องเสียดุลการค้าให้กับต่างประเทศอันมาก จึงต้องสังวรระวังการใช้จ่ายในเรื่องนี้ให้ดีแต่พอเหมาะพอควร ส่วนผู้ที่ทำธุรกิจทางการถ่ายภาพ ต้องการผลิตงานคุณภาพดี ต้องใช้ของดีราคาแพงนี่เป็นเรื่องธรรมดา ดังนั้นผู้ที่ถ่ายภาพกันโดยทั่วไปเพียงแต่ใช้กล้องถ่ายภาพระดับมาตรฐานทำงานได้อย่างถูกต้องก็เหมาะดีที่สุดแล้ว ความสำคัญเรื่องนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงเป็นแบบอย่างที่วิเศษที่สุด สมควรที่วงการถ่ายภาพทั้งหลายจักได้บำเพ็ญตนเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท เพื่อเป็นศักดิ์ศรีสิริมงคลให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีโครงการมากมาย ทั้งนี้เพื่อจะทรงสร้างประโยชน์ให้มวลพสกนิกรทั้งหลายได้อยู่เย็นเป็นสุขกันทั่วหน้า และที่สำคัญยิ่งใหญ่ ได้แก่การพัฒนาประเทศชาติเจริญก้าวหน้ามั่นคงสถาพรยิ่งๆ ขึ้นไป อันพระปรีชาสามารถทางศิลปะการถ่ายภาพนี้จึงเป็นส่วนสำคัญของโครงการทั้งมวลที่ทรงใช้ศิลปะเพื่อการพัฒนาด้วยพระราชกรณียกิจนี้ หนังสือ “ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์พัฒนาประเทศ” จึงได้บังเกิดขึ้น

ผู้เขียน : ศจ. พูน เกษจำรัส จากหนังสือ ‘ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์พัฒนาประเทศ’
ขอบคุณ : สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สำหรับความอนุเคราะห์บทความ
หมายเหตุ : บทความนี้ท่าน ศจ. พูน เกษจำรัส เขียนขึ้นตั้งแต่ปี 2535 ซึ่งในปัจจุบันจากบทสัมภาษณ์ คุณน้อม พงษ์กาญจนานุกูล หัวหน้าช่างภาพส่วนพระองค์ ท่านทรงใช้กล้องรุ่นใหม่ แต่ยังทรงเน้นกล้องที่มีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา รวมทั้งทรงใช้กล้องคอมแพกต์ดิจิทัลด้วย

 

นิตยสารโฟโต้อินโฟ ฉบับเดือน ธันวาคม 2549