ตามรอยพระบาท 12 โครงการหลวง 12 เส้นทางแห่งความสุขโครงการหลวง
“ฝนแปดแดดสี่” เป็นคำกล่าวขานประจำภาคใต้ อันเป็นที่มาขอความชุ่มชื้นของภูมิภาค การมีฝนถึงแปดเดือนย่อมนำมาซึ่งปริมาณนํ้าจำนวนมาก ทำให้ภาคใต้เต็มไปด้วยพื้นที่ลุ่มนํ้ามากมาย อาทิ พื้นที่ลุ่มนํ้าปากพนัง อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ผมและทีมงานเดินทางไปเยือนในครั้งนี้ ในอดีตพื้นที่แห่งนี้เคยเป็นพื้นที่ลุ่มที่มีความอุดมสมบูรณ์ ประชาชนส่วนใหญ่ทำการเกษตร โดยมีการทำนาข้าวมากที่สุด โดยอาศัยนํ้าจากแม่นํ้าปากพนัง ซึ่งเป็นแม่นํ้าสายสำคัญของลุ่มนํ้าปากพนัง จนถูกเรียกว่า “เมืองแห่งอู่ข้าว อู่นํ้า” นั่นเอง
เมื่อวันเวลาเปลี่ยนไป ลุ่มแม่นํ้าที่เคยอุดมสมบูรณ์ก็ประสบปัญหาสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง ความต้องการนํ้ามีมากพอๆ กับจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับทั้งป่าไม้ต้นนํ้าลดลง ทำให้ปริมาณนํ้าจืดที่เคยดูดซับไว้และเคยมีใช้เกือบทั้งปีลดลงเหลือเพียงปีละสามเดือนเท่านั้น และเนื่องด้วยลักษณะของแม่นํ้าปากพนังมีระดับท้องนํ้าที่ตํ่ากว่าระดับนํ้าทะเลและมีความลาดชันน้อย เมื่อนํ้าจืดต้นนํ้ามีปริมาณน้อย จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้นํ้าทะเลรุกลํ้าเข้ามายังปากแม่นํ้าปากพนังและลำนํ้าสาขากว่าร้อยกิโลเมตร ทำให้เกิดปัญหาทั้งดินมีสภาพเป็นกรด ปัญหานํ้าเปรี้ยว ทำให้ประชาชนไม่สามารถทำการเกษตรได้
เมื่อนํ้าจืดขาดแคลน ปริมาณนํ้าเค็มมากว่านํ้าจืด ปัญหานํ้าเปรี้ยวและนํ้าเสียจึงเป็นปัญหาที่ชาวลุ่มนํ้าปากพนังต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การทำนาที่เคยได้ผลดีกลับไม่ได้ผล โครงการการพัฒนาพื้นที่ลุ่มนํ้าปากพนังตามแนวพระราชดำริ จึงเป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยพลิกฟื้นความอุดมสมบูรณ์ให้กลับคืนสู่ลุ่มนํ้าปากพนังดังเช่นในอดีต
เมื่อ พ.ศ. 2536 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานพระราชดำริให้กรมชลประทานพิจารณาสร้างประตูนํ้า “อุทกวิภาชประสิทธิ” ที่ปากแม่นํ้าเพื่อแก้ปัญหานํ้าแล้ง นํ้าท่วม และนํ้าเค็ม ให้ประชาชนสามารถทำการเกษตรได้ จึงเป็นปฐมบทของโครงการพัฒนาคุณภาพลุ่มนํ้าปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และประตูนํ้าดังกล่างได้เปิดใช้งานมาตั้งแต่ พ.ศ. 2542 เป็นต้นมา
ผมและทีมงานเดินทางจากกรุงเทพฯ มุ่งตรงสู่ลุ่มนํ้าปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ด้วยรถยนต์ Toyota SIENTA รถยนต์เอนกประสงค์สำหรับครอบครัวยุคใหม่ ในรุ่น Toyota SIENTA 1.5V AT ซึ่งเป็นรุ่นท๊อปสุด มาพร้อมเครื่องยนต์แบบ 2NR-FE DUAL VVT-i 1500 ซีซี 4 สูบ 16 วาล์ว ให้แรงม้าสูงสุด 108 แรงม้า ที่ 6,000 รอบต่อนาที และแรงบิดสูงสุด 140 นิวตัน-เมตร ที่ 4,200 รอบต่อ นาที
ตัวรถออกแบบได้สวยงาม และดูทันสมัยมากทีเดียว จากเส้นสายที่ลากยาวตั้งแต่ไฟหน้ารถลงมาถึงกระจังหน้า แฝงความดุดันไปด้วยในตัว ตัวรถถูกออกแบบภายใต้คอนเซ็ปต์ “Bring it All” ซึ่งเป็นการผสมผสาน 4 คุณลักษณ์แห่งความโดดเด่น นั่นคือ Bring style to Life ดีไซน์สวยงาม เส้นสายโฉบเฉี่ยว โดดเด่นในทุกมุมมอง, Bring out feeling เน้นการออกแบบภายใน ตอบสนองการใช้งานได้ครบทุกฟังก์ชั่น มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่สามารถใช้ประโยชน์ได้สูงสุด, Bring all happiness ตอบสนองทุกความสุขด้วยประตูสไลด์ข้างอัตโนมัติ และห้องโดยสารโอโถงกว้างขวาง พร้อมพื้นที่เก็บของมากมาย และ Bring it on ขับสนุกไปกับเกียร์อัตโนมัติ CVT พร้อมระบบ Sport Sequential Shift 7 สปีด ควบคุมการเปลี่ยนเกียร์ได้ตามที่ต้องการ
Toyota SIENTA เป็นรถครอบครัว 7 ที่นั่ง และออกแบบที่นั่งแถวที่ 3 ได้อย่างยอดเยี่ยม ซึ่งโดยปกติจะถูกพับเก็บให้หลบลงไปอยู่ใต้เบาะนั่งแถวที่ 2 ได้อย่างลงตัว จนแทบจะไม่รู้สึกว่ามีที่นั่งแถวที่ 3 ด้วย และทำให้ไม่เสียพื้นที่เก็บของด้านหลังเลยแม้แต่น้อย แต่เมื่อต้องการใช้งานก็เอาออกมาใช้ได้ไม่ยากครับ เพียงดึงก้านพับเบาะแถวที่ 2 ขึ้น เบาะจะพับและยกเก็บไปด้านหน้าอัตโนมัติ จากนั้นก็ดึงเบาะแถวที่ 3 ขึ้นมา ดึงก้านล็อกพนักที่อยู่ข้างๆ เบาะหัวหมอนขึ้นมาและยกพนักขึ้น ตัวล็อกใต้ที่นั่ง ก็จะล็อกกับก้านยึดอย่างแน่นหนาโดยอัตโนมัติ เท่านี้ก็พร้อมใช้งานแล้วล่ะครับ
หลังจากที่ออกเดินทางไปสักพัก ผมชื่นชอบกับทัศนวิสัยในการมองจากที่นั่งคนขับ ซึ่งดูโปร่ง โล่ง มองสภาพโดยรอบได้อย่างสบายๆ กระจกมองข้างทั้งสองบานก็มีขนาดใหญ่ มองสภาพแวดล้อมรอบตัวรถทั้งซ้ายและขวาได้เป็นอย่างดี รวมทั้งด้านหลังยังเสริมด้วยกล้องมองหลังเมื่อใช้เกียร์ถอย ช่วยให้มองทัศนวิสัยด้านหลังได้เป็นอย่างดีเช่นกันครับ หลังจากแวะพักเพื่อเติมนํ้ามันและเข้าห้องนํ้า ผมลองเข้าไปยังที่นั่งผู้โดยสารตอนหลัง ซึ่งค่อนข้างกว้าง สามารถวางขาได้อย่างสบายๆ รวมทั้งยังมีพื้นที่เหนือศรีษะเหลืออีกมากทีเดียว เรียกได้ว่าการออกแบบห้องโดยสารทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสารให้นั่งได้อย่างสบายๆ ไม่อึดอัดเลยล่ะครับ
จุดเด่นหนึ่งที่ผมและทีมงานชื่นชอบกัน นั่นคือประตูข้างแบบสไลด์อัตโนมัติ โดยในรุ่นท๊อปสุด รุ่น 1.5V ประตูข้างจะเป็นแบบสไลด์เปิดและปิดอัตโนมัติทั้งด้านซ้ายและด้านขวา ส่วนรองลงมา รุ่น 1.5G จะเป็นแบบสไลด์เฉพาะด้านซ้าย ส่วนด้านขวาจะเป็นแบบแมนนวล หรือเลื่อนเปิดและปิดเองครับ
ผมและทีมงานขึ้นทางด่วนกาญจนาภิเษกออกไปยังถนนพระราม 2 และต่อไปยังถนนเพชรเกษม หรือทางหลวงหมายเลข 4 เพื่อมุ่งหน้าลงสู้ภาคใต้ การจราจรบนเส้นทางขาออกในวันนี้ บนท้องถนนจะมีรถบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ที่วิ่งกันค่อนข้างเยอะ และมีการซ่อมผิวถนนเป็นช่วงๆ รวมทั้งต้องเบี่ยงเลนสวนทางกันเป็นระยะ แต่ก็ไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับการขับขี่ มีความคล่องตัวดีมาก รวมทั้งเกียร์ CVT 7 สปีด พร้อมระบบ Sport Sequential Shift ที่สามารถปรับชิฟท์เกียร์เองแบบแมนนวลได้ ก็ช่วยให้การเร่งแซงรวดเร็วฉับไวมากขึ้นครับ
เราเดินทางมาถึงจังหวัดชุมพรและต่อเนื่องไปยังจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยใช้ทางหลวงหมายเลข 41 เพื่อมุ่งหน้าสู่จังหวัดนครศรีธรรมราช เส้นทางลาดยางราบเรียบ มาจนถึงช่วงก่อนถึงอำเภอทุ่งสงที่มีการทำถนนเป็นระยะ บางช่วงเป็นผิวถนนที่เตรียมไว้รอลาดยาง ซึ่งมีความขรุขระอยู่บ้าง แต่ช่วงล่างของ Toyota SIENTA ก็ซึมซับอาการสั่นสะเทือนได้แทบทั้งหมด โดยไม่มีอาการหัวโยก หัวคลอน ของผู้โดยสารจากสภาพถนนแต่อย่างใดครับ ผมเลี้ยวซ้ายเข้าสูเส้นทางหมายเลข 403 เข้าสู่ตัวจังหวัดนครศรีธรรมราชขับตามเส้นทางผ่านตัวเมือง ก่อนที่จะเข้าไปยังตัวอำเภอปากพนังด้วยเส้นทางหมายเลข 4013 พร้อมกับหาที่พักเอาแรงสำหรับการถ่ายภาพในเช้าวันพรุ่งนี้
เช้าวันใหม่ เราออกเดินทางจากที่พักเพื่อเข้าไปยังโครงการพัฒนาคุณภาพลุ่มนํ้าปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อเข้าไปถึงตัวโครงการจะเจอกับป้อมยาม ที่สามารถสอบถามข้อมูลสำหรับนักท่องเที่ยวด้วย โดยพื้นที่โครงการนั้นจะปิดเวลา 19.30 น. ส่วนในเวลาทำการปกตินั้นจะมีชาวบ้านในแถบนั้นใช้เป็นเส้นทางสัญจรผ่านได้ตลอด ซึ่งก็สะดวกสำหรับการเดินทางของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในชุมชนโดยรอบครับ
สองข้างทางของโครงการปลูกสนเป็นทิวยาวดูเป็นระเบียบและสวยงามดีมาก ขับผ่านป้อมด้านหน้าเข้ามาได้สักพักก็จะเจอวงเวียนที่เป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์สำคัญของอำเภอปากพนัง ซึ่งมีลักษณะเป็นปล่องไฟสูงของโรงสีข้าวเก่าที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งทางอำเภอปากพนังได้อนุรักษ์ไว้ บริเวณโดยรอบวงเวียนมีการปลูกไม้ประดับเป็นระเบียบ ร่มรื่นและสวยงาม เหมาะแก่การนั่งพักผ่อนหย่อนใจทีเดียว
ประตูระบายนํ้า “อุทกวิภาชประสิทธิ”
หลังจากขับออกจากวงเวียนแล้ว เราก็จะได้เจอป้ายโครงการที่ใหญ่และเด่นมาก เลยป้ายโครงการฯ ไปอีกหน่อยจะมองเห็น ประตูนํ้าอุทกวิภาชประสิทธิ ซึ่งเป็นประตูนํ้าที่นอกจากจะเอื้อประโยชน์มากมายแล้ว ยังเป็นประตูนํ้าที่สวยงามอีกด้วยครับ สำหรับชื่อของ ประตูระบายนํ้า “อุทกวิภาชประสิทธิ” นั้น เป็นนามพระราชทานจากในหลวง รัชกาลที่ 9 ซึ่งมีความหมายถึงความสามารถในการแบ่งแยกนํ้าเค็มและนํ้าจืดออกจากกันได้สำเร็จ โดยการทำงานของประตูระบายนํ้านี้จะกั้นนํ้าเค็มไม่ให้ลุกลํ้าเข้าไปในบริเวณของนํ้าจืดได้ ตัวประตูระบายนํ้ามีทั้งหมด 10 ช่องระบายนํ้า และมีประสิทธิภาพในการระบายนํ้าในอัตรา 1,246 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีครับ
วัตถุประสงค์หลักของประตูระบายนํ้านี้คือการป้องกันไม่ให้นํ้าเค็มลุกลํ้าเข้าไปทำลายแหล่งนํ้าจืด ที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อการ เกษตรของชาวบ้าน และกักเก็บนํ้าจืดไว้ในลำนํ้าปากพนังและลำนํ้าสาขากว่า 70 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นการปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของเกษตรกร ทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่ดีขึ้น นอกจากประโยชน์ที่กล่าวมาแล้ว ประตูระบายนํ้ายังส่งผลดีต่อสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ควบคู่กับเศรษฐกิจที่ดีขึ้นอีกด้วยครับ จากการที่ได้เข้ามาสัมผัสด้วยตัวเองผมได้เห็นวิถีชีวิตของชาวบ้านที่นี่ยังมีการทำการเกษตร การหาปลาธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นการวางอวนดักจับปลา หรือการยกยอที่เป็นวิธีการจับปลาที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวบ้านที่นี่อีกด้วย นอกจากการพัฒนาคุณภาพชีวิตแล้ว สิ่งแวดล้อมก็มีสภาพที่ดีขึ้นด้วยเช่นกัน เพราะผมสังเกตุได้ว่ายังมีนกนานาชนิด พึ่งพาอาศัยสถานที่แห่งนี้เป็นที่ทำรัง รวมทั้งเป็นแหล่งหากินที่ดีของนกเหล่านั้นอีกด้วยเช่นกัน
ประตูระบายนํ้า “อุทกวิภาชประสิทธิ” กับวิถีชุมชนที่ยังคงอยู่
ชาวประมงที่กำลังซ่อมอวนเพื่อเตรียมสำหรับการลงเรือหาปลา
ผมและทีมงานเดินถ่ายรูปกันเพลินเลยทีเดียวครับ เพราะที่นี่อากาศดี ร่มรื่นเย็นสบาย มีร้านค้าเล็กๆ ที่ขายของกินและเครื่องดื่มให้กับนักท่องเที่ยวที่ผ่านไปผ่านมา หรือผู้ที่มาเพื่อพักผ่อนหย่อนใจที่นี่ เรียกได้ว่าสะดวกสบายเลยทีเดียวครับ หลังจากที่วนเวียน ถ่ายภาพรอบๆ ประตูนํ้าฯ อยู่เป็นเวลาพอสมควร รวมกับการใช้เวลาพักผ่อนหย่อนใจกับลมเย็นๆ จนเวลาล่วงเลยมาถึงบ่ายแก่ๆ เพราะเราตั้งใจว่าจะเก็บแสงเย็นๆ ในเวลาพระอาทิตย์ตกกันอีกรอบ แต่ก็รอลุ้นอยู่เหมือนกันครับว่าฝนจะตกหรือป่าว เพราะอากาศที่สดใสในตอนกลางวันนั้น เริ่มเต็มไปด้วยเมฆสีคลํ้าๆ ยิ่งในฤดูฝนอย่างนี้ด้วยแล้ว มีโอกาสมากครับที่เราจะไม่ได้ภาพแสงเย็นในยามพระอาทิตย์ตกดิน
เรารอลุ้นกันอยู่พักใหญ่ๆ และแล้วก็เป็นไปอย่างที่เราคิดครับ ฟ้ามืดครึ้มแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ยครับ สายฝนเริ่มลงโปรยปรายลงมา จากฟ้าแจ่มๆ มีเมฆบ้างกลับกลายเป็นเมฆฝนอ้วนๆ ผมกับทีมงานได้แต่มองหน้ากันและปรึกษากันว่าจะเอาอย่างไรดี ไม่ทันที่ฝนจะหยุดตกน้องทีมงานก็ออกความเห็นทันทีว่าเราไปหาที่พักกันเถอะ เพราะดูท่าทีแล้วคงจะตกอีกยาวครับ
นักท่องเที่ยวที่ไม่พลาดกับการเซลฟี่กับลำธารที่สวยงามกลับไปด้วย
ผมและทีมงาน ขับรถมุ่งหน้าสู่หมู่บ้านคีรีวง ซึ่งเป็นจุดหมายท่องเที่ยวต่อไปของเราครับ เนื่องจากเป็นจุดเช็กอินยอดฮิตในขณะนี้ จากฉายาของพื้นที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์ที่สุดในประเทศ ที่ทำให้ใครๆ ต่างก็มุ่งหน้ามาพักผ่อน และสูดโอโซนในวันหยุด เพิ่อเติมพลังเข้าสู่ร่างกายให้เต็มที่ ก่อนจะกลับไปทำงานอย่างขมักเขม้นกันต่อไป ผมขับออกจากโครงการพัฒนาคุณภาพพื้นที่ลุ่มนํ้าปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ มุ่งหน้าสู่หมู่บ้านคีรีวงโดยใช้เส้นทางย้อนกลับเข้าไปทางตัวเมืองนครศรีธรรมราชอีกครั้ง และเลยตัวเมืองไปไปเล็กน้อย จนถึงสี่แยกนพวงศ์ จากนั้นก็เลี้ยวขวาเข้าสู้ทางหลวงหมายเลข 4016 แล้วขับตรงไปจนถึงหลักกิโลเมตรที่ 21 จะมีทางลัดซ้ายมือเข้าสู่ เส้นทางหมายเลข 4015 ซึ่งเส้นทางนี้จะนำเราไปยังอำเภอลานสกาครับ เมื่อมาถึงอำเภอลานสกาก็จะมีป้ายบอกทางไปบ้านคีรีวงให้สังเกตได้ชัดเจนครับ
ภาพมุมกว้างของสะพานเช็คอินและลำธารที่สวยงาม
ผมและทีมงานเดินทางถึงสะพานข้ามลำธารของหมู่บ้าน ซึ่งสะพานแห่งนี้จะเป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นจุดเช็คอินครับ ใครมาเที่ยวที่นี่ ก็จะนิยมมาถ่ายรูปเพื่อเช็คอินลงโซเชียลกันครับ แต่ไม่ใช่ผมและทีมงาน เพราะเรายังมีเวลาที่จะอยู่ที่นี่อีกหลายชั่วโมงนั้่นเอง ตอนนี้หาที่พักกันก่อนครับ ที่พักของบ้านคีรีวงมีทั้งที่เป็นโฮมสเตย์ และที่พักสไตล์รีสอร์ท ส่วนใหญ่ก็จะอยู่ริมๆ ลำธารนั่นเองล่ะครับ เพราะสะดวกกับการเดินลงไปถ่ายภาพเก็บบรรยากาศที่สวยงามของหมู่บ้านคีรีวงได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากเรามากันวันปกติ เลยมีที่พักให้เลือกมากมายเลยครับ และจากการสอบถามเจ้าของที่พักหลายๆ ที่แล้ว ถ้ามาท่องเที่ยวในวันหยุดควรจะโทรจองไว้ก่อนจะดีมากครับ เพราะหมู่บ้านคีรีวงกำลังได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมากครับ
ที่หมู่บ้านคีรีวงอนุญาตให้นักท่องเที่ยวได้ลงเล่นนํ้าเพื่อพักผ่อยอย่างเต็มที่ครับ เพียงแต่ให้ชวยกันรักษาความสะอาด ห้ามทิ้งเศษชยะลงลำธารครับ
หลังจากที่เราขับรถวนหาที่พักกันพักใหญ่ เราก็ได้ที่พักเป็นรีสอร์ทที่เรียบหรูดูสวยงาม ราคาย่อมเยา มีสิ่งอำนวยความสะดวก ครบครันไม่ต่างอะไรกับที่พักตามสถานที่ท่องเที่ยวทั่วไป แต่บรรยากาศที่ด้านหน้าติดลำธารแบบนี้ บอกได้เลยครับว่า ..ฟินนนนนนนน… บ้านคีรีวงเหมาะสำหรับการมาเยือนเพื่อพักผ่อนจริงๆ ครับ โดนเฉพาะวันธรรมดาแบบนี้ บรรยากาศค่อนข้างเงียบสงบทีเดียว หลังจากที่เก็บข้าวของสัมภาระเรียบร้อยแล้ว เราคว้าจักรยานที่ทางรีสอร์ทเตรียมไว้ให้เพื่อปั่นเที่ยวชมวิวทิวทัศน์ริมๆ แม่นํ้าครับ จักรยานสไตล์แม่บ้าน แต่มีเกียร์ให้ปรับได้ ซึ่งช่วยผ่อนแรงตอนขากลับล่ะครับ เพราะที่พักของเราอยู่เนินเขา ห่างจากสะพานประมาณ 500 เมตร ตอนลงมาข้างล่างก็สบายๆ ล่ะครับ เหนื่อยก็ปล่อยรถไหลลงเนินได้ แต่ขากลับนี่สิ ถึงจะมีเกียร์ช่วย ก็ทำเอาขาสั่นไปเหมือนกัน!!
ลำธารที่ไหลผ่านกลางหมู่บ้านที่เป็นเอกลักษณ์ของที่นี่เลยครับ
หลับไหลไปกับคํ่าคืนที่มีสายฝนโปรปรายลงมาตลอด เช้านี้ ก็ได้เวลาที่จะออกไปสูดโอโซนกันอีกซักรอบ ..บรรยากาศในยามเช้า ที่ลำธารเต็มไปด้วยหมอกลอยอ้อยอิ่ง.. ป๊าบ!! ผมเดินเตะเอาก้อนหินริมลำธาร ทำเอาฝันอันสวยงามสลายหายไปหมด แต่ก็ใช่จะพลาดหวังไปซะทีเดียว ถึงจะไม่มีสายหมอกลอยล่องอยู่บนลำธาร แต่ก็มีหมอกห่มคลุมทิวเขาด้านหลังไกลออกไป ซึ่งก็เป็นบรรยากาศที่สวยงาม และชักชวนให้ผมและทีมงานลั่นชัตเตอร์กันไปชุดใหญ่ทีเดียว หลังถ่ายภาพวิวเสร็จเราก็เดินถ่ายภาพบรรยากาศผู้คนไปเรื่อยครับ บรรยากาศยามเช้า ก็ดูนิ่งสงบไม่วุ่นวาย เราเดินถ่ายภาพกันได้สักพักเราก็กลับมานั่งจิบกาแฟอุ่นๆ ก่อนที่จะกลับห้องไปเก็บข้างของสัมภาระ เพื่อเดินทางต่อไปยังจุดหมายใหม่ ที่อยู่ฟากฝั่งอันดามัน นั่นก็คือ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์นํ้าชายฝั่ง กระบี่ครับ
Toyota SIENTA ที่เราเรียกว่า “ส้มจี๊ด” เพราะมีสีส้มสดใส ก็พร้อมเดินทางอีกครั้ง นํ้ามันที่เติมมาเต็มถังตั้งแต่ออกจากปากพนังยังพร่องไปไม่เท่าไหร่ ตัวเลขข้อมูลบนแผงหน้าปัดบอกว่า ยังวิ่งไปได้อีก 275 กิโลเมตร ทำให้ผมไม่กังวลกับเส้นทาง ถึงแม้ว่าบางครั้งระบบนำทางของสมาร์ทโฟน จะพาเราเข้ารก เข้าพง วิ่งเป็นชั่วโมงยังหาบ้านคนไม่เจอก็ตาม แล้วเจอกันใหม่ทริปหน้านะครับ..
เรื่อง / ภาพ : กองบรรณาธิการ
ขอขอบคุณ… บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด
การเดินทางไป : “โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มนํ้าปากพนัง”
จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 35 ไปยังแยกวังมะนาว แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 4 มุ่งไปยังจังหวัดเพชรบุรี, จังหวัด ประจวบคีรีขันณ์, จังหวัดชุมพร และต่อเนื่องไปยังจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยใช้ทางหลวงหมายเลข 41 วิ่งมาตามเส้นทางผ่านอำเภอทุ่งสง ก่อนที่จะเลี้ยวเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 403 สู่จังหวัดนครศรีธรรมราช และต่อเนื่องไปยังอำเภอปากพนังด้วยเส้นทางหมายเลข 4013 และเลี้ยวขวาเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 4094 ซึ่งเป็นถนนที่ผ่านหน้าโครงการนั่นเอง
การเดินทางไป : “หมู่บ้านคีรีวง”
จากปากพนัง ขับรถย้อนกลับเข้าไปทางตัวเมืองนครศรีธรรมราชอีกครั้ง และผ่านตัวเมืองไปจนถึงสี่แยกนพวงศ์ ให้เลี้ยวขวา เข้าสู้ทางหลวงหมายเลข 4016 แล้วขับตรงไปจนถึงหลักกิโลเมตรที่ 21 จะมีทางลัดซ้ายมือเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 4015 ซึ่งเส้นทางนี้ จะนำเราไปยังอำเภอลานสกาครับ เมื่อมาถึงชุมชนท่าดี ให้เลี้ยวขวาไปยังเส้นทางหมายเลข 4070 จากตรงนี้ จะมีป้ายบอกทางไปบ้าน คีรีวงเป็นระยะให้สังเกตได้ชัดเจนครับ
อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^
ติดตามบทความ ตามรอยพระบาท 12 โครงการหลวง 12 เส้นทางแห่งความสุขโครงการหลวง หรือสนใจบทความท่องเที่ยวที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่
https://test2.fotoinfo.online/travels/shooting-destination/