ADVANCE PHOTO TECHNIQUES SPECIAL ARTICLE

วงล้อสีสำหรับการถ่ายภาพ 

การใช้สีเพื่อสร้างความโดดเด่นให้ภาพถ่าย  โดยอ้างอิงจากสีในวงล้อสี หรือ Color Wheel ช่างภาพสามารถฝึกการใช้สี เลือกใช้สีในการถ่ายภาพ เพื่อใช้เป็นไอเดียการจัดองค์ประกอบภาพ ไปทำความรู้จัก และเรียนรู้วิธีฝึกการใช้สีในการถ่ายภาพโดยใช้ Color Wheel กันครับ

วงล้อสี Color Wheel

     วงล้อสีเป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวก ที่ช่วยให้เห็นภาพความสัมพันธ์ระหว่างสีต่างๆ  สีในวงล้อสีที่ถูกนำมาอ้างอิงการใช้งานคือการใช้ระบบของแม่สี RYB (Red-Yellow-Blue) หรือสีแดง สีเหลือง และสีฟ้า เป็นแม่สีหลัก  และจะได้แม่สีรองเมื่อทำการผสมแม่สีเหล่านั้นออกมาเป็น สีส้ม สีเขียว และสีม่วง รวมทั้งสิ้น 6 สีหลัก นิยมใช้ในการวาดภาพ การแสดงสีสันในภาพถ่าย หรืออื่นๆ

     แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีการอ้างอิงแม่สีอีกรูปแบบหนึ่งคือ RGB (Red-Green-Blue) หรือ สีแดง สีเขียว และสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นแม่สีหลักที่เกิดจากแสงสี การผสมแสงสีทั้งสามนี้ในปริมาณเท่ากันจะเกิดแสงสีขาว และหากผสมแสงสีที่ติดกันจะสร้างแสงสีรอง คือสีเหลือง, สีฟ้า และสีม่วงแดง และการผสมแสงสีทั้งหกสีนี้ ยังทำให้เกิดสีเพิ่มขึ้นอีกหกสีรวมเป็นสิบสองสีหลักๆ ที่นิยมนำมาใช้อ้างอิงในการใช้งาน โดยจะใช้ในงานที่เกี่ยวข้องกับการแสดงแสงสี หรือใช้แสงเป็นหลัก

     วงล้อสีที่นำมาอ้างอิงการใช้งานนี้ทั้งสองชนิดนี้ มีความคล้ายคลึงกัน แยกโทนสีหลักออกเป็นสองโทนสี คือโทนสีเย็น และ โทนสีอุ่น  ในบทความนี้จะขอกล่าวถึง 6 วิธีการที่ช่างภาพสามารถนำสีในวงล้อสี RYB ไปใช้ในการสร้างองค์ประกอบในภาพถ่าย

1. Monochromatic colors สีเอกรงค์

Cr. Photo : “One day in Bagan” by Puchong Pannoi

     การใช้สีแบบ monochromatic เป็นการเลือกใช้สีเพียงหนึ่งเดียวในวงล้อสี โดยสามารถเพิ่มสีขาว ดำ และเทา หรือหากจำเป็นแม้แต่สีที่ใกล้เคียง หรือสีที่ดูกลมกลืนลงในภาพได้ 

     ตัวอย่างภาพถ่ายเมืองโบราณพุกาม ในประเทศเมียนมาร์ จะเห็นว่ารายละเอียด และองค์ประกอบของภาพมีหลากหลายทั้งเจดีย์ ต้นไม้ และยังมีบอลลูนลอยอยู่บนท้องฟ้าอีกด้วย องค์ประกอบทั้งหลายเหล่านี้ต่างก็เป็นสิ่งที่สามารถดึงดูดความสนใจจากสายตาผู้ชมให้แยกไปในทิศทางต่างๆได้ แต่ช่างภาพเลือกวิธีจัดการกับองค์ประกอบต่างๆทั้งหลายนี้ด้วยการใช้โทนสีเดียว ที่ทำให้ภาพดูมีความกลมกลืน สวยงาม และมีจุดเด่นเดียว

Cr. Photo : “BOLD RED” by Estislav Ploshtakov

อีกภาพตัวอย่างคือการใช้สีแดง เป็นสีโทนร้อนเกือบเต็มพื้นที่ในภาพ ช่องหน้าต่างเล็กๆกลางภาพก็เป็นโทนแดง มีเพียงสีขาวเล็กน้อยที่ใส่มาในภาพ

2. Complementary colors สีตรงข้าม

Cr. Photo : by Da Miane

   การใช้สีตรงข้ามในภาพถ่าย คือการใช้สีสองสีที่อยู่ตรงข้ามกันในวงล้อสี นำมาเป็นองค์ประกอบหลักของภาพ การใช้สีประเภทนี้นอกจากจะสร้างคอนทราสต์ให้ภาพแล้ว ยังช่วยให้ภาพเป็นที่ดึงดูดสายตาผู้ชมได้ดีอีกด้วย 

   ตัวอย่างภาพถ่ายแรกด้านบนที่แสดงความชัดเจนของสีคู่ตรงข้ามระหว่างสีแดงของตัวตึก และเขียวของพื้นหญ้า เป็นสีหลักที่คอนทราสต์กันของภาพ ส่วนอื่นๆเป็นเพียงองค์ประกอบรองเท่านั้น

ภาพด้านล่างนี้เป็นสีตรงข้ามของสีน้ำเงินและส้ม เป็นการจัดองค์ประกอบที่ไม่จำเป็นต้องมีความซับซ้อน เพราะสีที่ใช้ก็มีความโดดเด่นและคอนทราสต์ที่ชัดเจน สามารถดึงดูดสายตาผู้ชมได้ดีมากพอแล้ว

Cr. Photo : “Chef in the Shadows” by Peter Stewart

3. Split-Complementary Colors คู่สีตรงข้าม

Cr. Photo : “Negative Blue” by Claudio de Sat

     การใช้สีในลักษณะนี้ ใช้หลักการเดียวกับสีตรงข้าม แตกต่างกันที่เมื่อเลือกสีหลักในวงล้อสีแล้ว จะเลือกใช้สีที่อยู่ตรงข้ามสองสีของสีหลักในวงล้อสีเข้ามาเสริมในภาพ 

    ตัวอย่างจากภาพถ่ายอาคารที่มีท้องฟ้าสีน้ำเงินสดใส และจงใจใช้สีคู่ตรงข้ามคือส้มเหลืองและส้มแดง ที่อยู่ตรงข้ามในวงล้อสีเข้ามาเป็นองค์ประกอบร่วม ภาพที่ได้ออกมาในลักษณะที่มีสีสันโดดเด่น แต่ก็ยังแสดงให้เห็นถึงความกลมกลืนในความแตกต่างได้อีกด้วย

4. Tetradic colors คู่สีแบบสี่เหลี่ยมผืนผ้า

Cr. Photo : “Green smoothie bowl with fruits and berries on rustic background” by Alena Haurylik

     หรืออาจจะเรียกว่า double-complementary มีการใช้สีรวม 4 สี จากสีตรงข้าม (complementary colors) 2 คู่ ที่แตกต่างกัน ในปริมาณเท่าๆกัน หรือบางสีมาก-น้อยต่างกันก็ได้ ซึ่งแต่ละการใช้งานก็จะให้อารมณ์ของภาพที่แตกต่างกัน

     ภาพตัวอย่างนี้ถ่ายโดยใช้องค์ประกอบของคู่สีแบบสี่เหลี่ยมผืนผ้า (เขียว/แดง และ น้ำเงิน/ส้ม) ช่างภาพใช้สีที่โดดเด่น ในปริมาณไม่มากหากเทียบกับพื้นที่ภาพ  และเลือกวางในตำแหน่งของหลักการจัดองค์ประกอบภาพ เท่านี้ก็ได้ภาพทึ่สะดุดสายตาผู้ชมได้ไม่ยาก

5. Analogous colors การใช้สีแบบอนาล็อค

Cr. Photo : “Rwenzori three-horned chameleon” by Jonne Seijdel

     การใช้สีประเภทนี้ คือการเลือกใช้สีสามสีที่อยู่ติดกัน หรือสีข้างเคียงในวงล้อสี ซึ่งสีประเภทนี้สามารถพบได้ง่ายโดยเฉพาะกับการถ่ายภาพธรรมชาติ  หลักการใช้สีประเภทนี้ควรเลือกใช้สีหนึ่งสีที่มีความโดดเด่นมากกว่า และอีกสองสีเป็นสีที่รองลงมา หรือใช้หลัก 60-30-10 ใช้สีหลัก 60% สีรอง 30% และสีเสริมอีก 10%

     ภาพตัวอย่างภาพแรกด้านบน three-horned chameleon ช่างภาพถ่ายทอดสีของกิ้งก่า และฉากหลังสว่าง แต่ยังคงมีโทนสีเป็นลักษณะสีข้างเคียงทั้งหมด 

ภาพตัวอย่างที่สอง ใช้สีส้มจากเสื้อผ้าและดอกไม้เป็นหลัก แต่ก็ยังแซมด้วยสีแดง และเหลืองเป็นสีที่สองและสามของภาพ 

Cr. Photo : “Orange Dream” by Jovana Rikalo

6. Triadic colors สีที่มีระยะห่างเท่ากัน

Cr. Photo : “Yellow” by Sabrina HB

     การใช้สีที่มีระยะห่างเท่ากัน หรือ แบบสามเหลี่ยมด้านเท่า จะเป็นการเลือกใช้สีสามสีในวงล้อสี  คล้ายๆกับการใช้สีตรงข้าม (complementary colors) ให้ภาพที่มึสีสันสดใสและมีคอนทราสต์กันเองในตัว แต่ภาพก็ยังมีความโดดเด่น และสะดุดสายตาผู้ชมได้ดีเช่นกัน

     ภาพตัวอย่างภาพแรกด้านบนที่มีโทนสีเหลือง แต่ก็ยังแทรกสีแดงและน้ำเงินบนเสื้อผ้าของผู้หญิงในภาพ

ภาพด้านล่างนี้เป็นอีกตัวอย่างการถ่ายภาพ landscape ที่ใช้หลักสีประเภทนี้ ประกอบด้วยสีทั้งสามคือ สีส้ม ม่วง และเขียว  

Cr. Photo : “Cabin lights” by Gunar Streu

 

     ทั้ง 6 วิธีที่กล่าวมา เป็นวิธีพื้นฐานการใช้สีในวงล้อสีที่นิยมนำมาปฏิบัติ และยังสามารถประยุกต์ใช้กับการถ่ายภาพได้หลากหลายประเภท ลองนำไปใช้ดูนะครับ

ที่มา : iso.500px

Leave feedback about this

  • Quality
  • Price
  • Service

PROS

+
Add Field

CONS

+
Add Field
Choose Image
Choose Video