Knowledge

วาฬบรูด้า ถ่ายด้วยเลนส์อะไรก็ได้

ภาพวาฬที่ใช้ความเร็วชัตเตอร์ค่อนข้างสูงเพื่อหยุดเม็ดน้ำและปลาเล็กๆ ที่กระโดดอยู่ในปาก ถ้าสภาพแสงน้อยตัวช่วยสำคัญคือการปรับ ISO ให้สูงขึ้น

สืบเนื่องมาจากช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมามีฝูงวาฬบรูด้า เข้ามาอาศัยอยู่ที่ ปากอ่าวบางตะบูน จับฝูงปลาเล็กปลาน้อยกินเป็นอาหาร ข่าวสารการพบเห็นวาฬ แพร่สะพัดในโลกอินเตอร์เน็ตมากมาย นักท่องเที่ยวถ่ายภาพอย่างเราทราบข่าวก็อยากเห็น และเก็บภาพมาเป็นที่ระลึกเหมือนกับคนอื่นๆ บ้าง แต่ค่าใช้จ่ายในการออกเรือไปแต่ละครั้ง ค่อนข้างสูง เฉพาะค่าเรืออย่างเดียวก็ 5,000-6,000 บาท จึงต้องรวบรวมสมาชิกมาช่วยกันแชร์ค่าใช้จ่าย แต่คำถามที่เจอทุกครั้งเมื่อเอ่ยปากชวนไปถ่ายวาฬ คือต้องใช้เลนส์อะไรถ่าย ช่วงทางยาวโฟกัสของเลนส์ขนาดไหนถึงพอ ยอมรับว่าครั้งแรกไม่สามารถตอบคำถามนี้ได้ แต่หลังจากไปเก็บภาพมาหลายครั้ง ก็พอจะเข้าใจ เรื่องการถ่ายภาพสัตว์ในธรรมชาติ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ณ เวลานั้นจริงๆ ดวงก็เป็นเรื่องสำคัญ

ถ้าวาฬขึ้นในระยะไกลๆ เลนศ์ทางยาวโฟกัสสูงๆ ก็ได้เปรียบ แต่ก็ไม่เสมอไป บางจังหวะวาฬขึ้นระยะใกล้ๆ กล้องคอมแพ็คก็ถ่ายได้ มีอยู่ครั้งหนึ่ง เห็นวาฬว่ายวนอยู่ในระยะห่างๆ ซึ่งคุณลุงที่ขับเรือก็ไม่ได้เข้าไปใกล้ หรือขับเรือไล่แต่อย่างได้ ชะลอความเร็วให้พวกเราดูอยู่ในระยะที่ห่างพอสมควร  หลังจากที่เห็นว่ายวนๆ อยู่ วาฬเงียบหายไปสักพักหนึ่ง อยู่ดีๆ ก็โผล่ขึ้นมาทำท่าหยอกล้อพวกเราที่ข้างเรือ กล้องมือถือก็เลยมีโอกาสเก็บภาพได้บ้าง ใกล้มากจนบางคนยืนตะลึง เก็บภาพวาฬด้วยรอยยิ้ม เลือกที่จะมองอย่างเดียวแทนที่จะยกกล้องขึ้นมาบังสายตา ให้เสียบรรยากาศการชื่นชมด้วยซ้ำไป

l104_02

A : มาชิกส่วนใหญ่ ไม่ทราบว่าวาฬจะขึ้นไกลแค่ไหน ทุกคนเลยจัดเต็มด้วยเลนส์ทางยาวโฟกัสสูงสุดที่แต่ละคนมี บางท่านที่มีเลนส์ทางยาวโฟกัสไม่สูงมากแต่อยากได้ภาพที่วาฬมีขนาดใหญ่ขึ้น ก็ใช้วิธีนำภาพไปครอปภายหลัง ซึ่งส่วนใหญ่คือนำไปใช้โพสต์ทางเน็ต ที่ไม่ต้องการเรสโซลูชั่นสูงมาก คุณภาพหลังจากที่ครอปไฟล์จึงไม่ได้รู้สึกว่ามันแย่ลงไปแต่อย่างใด
B : ที่มาของหัวข้อ “วาฬบรูด้า .. ถ่ายด้วยเลนส์อะไรก็ได้” เรื่องของการถ่ายสัตว์ในธรรมชาติ นอกจากต้องศึกษาพฤติกรรมก่อนถ่ายแล้ว ที่สำคัญอีกเรื่องคือ “ดวง” เลนส์ฟิชอายก็ถ่ายได้  ในภาพจะสังเกตเห็นว่า มือถือก็ถ่ายได้เช่นกัน ถ่ายแล้วปักหมุดโพสต์ขึ้นเฟสบุ๊คแบบเรียลไทม์เลยด้วย
C : ถ้าดวงไม่ดี “เลนส์อะไรก็ถ่ายวาฬบรูด้าไม่ได้” ชุดนี้เป็นอุปกรณ์ของพี่เดช ซึ่งมีอุปกรณ์ค่อนข้างเยอะ เลยจัดเต็มเกือบทุกรอบที่ออกเรือ แต่ก็มีอยู่ครั้งหนึ่งที่อุปกรณ์ชุดนี้ไม่ได้ถ่ายวาฬสักซ็อต เนื่องจากเป็นวันที่วาฬไม่ขึ้นมาให้เห็นเลย ทั้งๆ วันที่ก่อนหน้าพวกเราจะไปก็มีคนถ่ายวาฬได้อยู่ หลังวันที่เราไปก็มีคนถ่ายวาฬได้อีก เรียกว่าการออกเรือรอบนั้นเก็บแห้วกันกับมาเต็มลำ แต่ความพยายามของพวกเราก็ไม่ได้ลดน้อยลง หลังจากวันที่เรากินแห้วกันจนพุงกาง รอบต่อไปที่เราออกเรือก็เจอวาฬเป็นฝูง แถมโชว์ส่วนหางให้เราถ่ายอีกด้วย

อุปกรณ์ชุดใหญ่ เลนส์ทางยาวโฟกัสสูงจึงใช่ว่าได้เปรียบเสมอไป เพราะจังหวะที่เรือไม่ค่อยนิ่ง การโฟกัสก็ลำบากพอสมควร บางทีจัดคอมโพสต์ไว้สวยๆ เจอเรือโยกแรงๆ หลุดเฟรมไปก็มี ส่วนเลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสไม่สูงมาก อย่างช่วง 70-200 มม. หรือกล้องคอมแพคทั่วไป กล้องมือถือ ตอนที่เห็นปลาในระยะไกลๆ ก็ได้แต่นั่งมองดื่มด่ำในธรรมชาติ แทนการบันทึกภาพ แต่ถ้าวาฬเข้ามาใกล้เมื่อไหร่พวกนี้จะยิ้มหวานทันที เพราะเป็นระยะที่เหมาะกว่าการใช้เลนส์ทางยาวโฟกัสสูงๆ

เหตุการณ์ไม่คาดฝันอีกอย่างที่จะเกิดกับเลนส์ทางยาวโฟกัสสูงสำหรับการถ่ายวาฬ คือวาฬขึ้นมาพร้อมกันหลายๆ ตัวแล้วไม่สามารถเก็บภาพได้หมด เนื่องจากล้นเฟรม ซึ่งกรณีนี้สามารถพบเจอบ้างเป็นบางครั้ง วาฬเป็นฝูง ขึ้นมาเห็นในเวลาเดียวกันประมาณ 7-8 ตัวแต่ละตัวอยู่ห่างกัน (แต่ไม่ได้อ้าปากพร้อมกัน) เลนส์ทางยาวโฟกัสสูงๆ เก็บภาพได้ครั้งละ  1-2 ตัว เท่านั้น (แต่ก็ขึ้นอยู่กับระยะห่างระหว่างวาฬกับเรือด้วย)

และการใช้เลนส์ทางยาวโฟกัสสูงถ้าไม่ชำนาญในการใช้จริงๆ  ใช่ว่าเล็งไปแล้วจะหาซับเจคเจอง่ายๆ กรณีนี้เกิดขึ้นกับตัวเอง เดิมถ่ายด้วย 70-200 mm. แต่พี่ที่รู้จัก มีเลนส์ 400 mm. F/5.6 เอามาให้ยืม ตอนแรกๆ ก็รู้สึกแล้วว่าตัวเองไม่ค่อยคุ้นกับเลนส์ตัวนี้ จึงโฟกัสได้ช้ากว่าิตัว 70-200 mm. ที่ใช้อยู่ จังหวะทีเรือโยกไปมา เล็งไปแล้วหาซับเจคไม่เจอก็มี หนำซ้ำบางเหตุการณ์ เกิดในเสี้ยวนาที ตัวอย่างเช่นจังหวะที่วาฬโบกหางขึ้นมาพ้นน้ำเห็นแว๊บเดียว คนที่ใช้ 70-200 mm. กดชัตเตอร์กันไปแล้ว 4-5 ช๊อต แต่ตัวเองยังโฟกัสไม่เข้า กว่าจะกดชัตเตอร์ได้หางวาฬเกือบจมหาย

l104_03

ถ้าใช้เลนส์ทางยาวโฟกัสสูงๆ แล้ววาฬใจดีขึ้นให้เห็นในระยะใกล้แถมขึ้นมากกว่า 2 ตัวก็มีโอกาสหลุดเฟรมอย่างที่เห็นในภาพนี้ ถ้ามีวาฬขึ้นมาเพิ่มอีกตัวพวกเลนส์ทางยาวโฟกัสสูงๆ โดนเพื่อนเยาะเย้ยแน่นอน

จริงๆ แล้วการถ่ายสัตว์ในธรรมชาติ ใช่ว่าเลนส์อะไรก็ถ่ายได้ ก่อนอื่น เราต้องศึกษาพฤติกรรมของสัตว์ก่อนถึงจะมีโอกาสถ่ายได้ หลังจากไปเก็บภาพมาครั้งสองครั้งก็ไปหาข้อมูลเพิ่ม จึงทราบว่าวาฬเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ถือเป็นสัตว์เลือดอุ่นเหมือนกับมุนษย์เรา หายใจทางปอด โดยจะโผลขึ้นมาหายใจเหนือน้ำเป็นระยะๆ วาฬบรูด้าเป็นวาฬชนิดไม่มีฟัน แต่มีแผ่นกรองคล้ายหวี ใช้กรองแพลงก์ตอนและฝูงปลาเล็กๆที่กินเป็นอาหาร การกินแต่ละครั้งวาฬจะต้องว่ายวนต้อนลูกปลาให้รวมตัวกันก่อน แล้วอ้าปากช้อนลูกปลาให้ไหลลงท้อง โดยจะขึ้นมาอ้าปากช้อนลูกปลาเป็นระยะๆ ซึ่งเป็นช่วงนาทีทอง ที่ส่วนใหญ่รอคอยเพื่อเก็บภาพ ถ้าขึ้นมาอ้าปากช้อนลูกปลาครั้งหนึ่งแล้วก็จะขี้นมาอ้าปากซ้ำอีก โดยส่วนใหญ่เห็นมากกว่าหนึ่งครั้ง ซึ่งน่าจะขึ้นอยู่กับจำนวนลูกปลา และพฤติกรรมของวาฬแต่ละตัวด้วย เพราะเท่าที่เจอบางตัว ขึ้นมาอ้าปากแล้วก็ปิดปากจมตัวลงไปแล้วก็ ขึ้นมาอ้าปากใหม่ แต่บางตัวอ้าปากแล้วก็ทำท่างับๆ อีกสองถึงสามครั้งก่อนจมตัวลงไป แล้วก็ขึ้นมาอ้าปากงับๆ อีกท่าทางเหมือนจะไล่งับเล่นกับนกที่มาแย่งอาหารในปากด้วยซ้ำ ซึ่งข้อมูลเชิงลืกในลักษณะนี้ อาจต้องค้นคว้าหาอ่านเพิ่มเติมจากผู้ที่เชียวชาญทางด้านนี้โดยตรง แต่โดยส่วนใหญ่จะเห็นมันขึ้นมาอ้าปากแล้วก็จมตัวลงไปหายใจพ่นน้ำออก ทำแบบนี้วนไปมา ซึ่งเป็นจังหวะ ที่เราควรรู้คร่าวๆ เพื่อเป็นประโยชน์ในการเก็บภาพ

l104_04

หางวาฬสีชมพู หวานแหว๋ ที่พวกเราในทริปถ่ายกันได้เกือบทุกคน จากข้อมูลทางวิชาการวาฬจะโผล่หัวเล็กน้อยแล้วทิ้งตัวจมหายไปไม่โผล่ส่วนหางขึ้นมาเหนือน้ำ ภาพนี้จึงถือเป็นช็อตหนึ่งที่หายากสำหรับพวกเรา

การถ่ายวาฬ มีข้อควรระวัง และคำเตือนจากนักอนุรักษ์ ว่าไม่ควรเข้าไปใกล้จนเกินไป ไม่ควรขับเรือไล่แยกวาฬออกจากัน ไม่ควรดับเครื่องเรือขณะวาฬอยู่ใกล้ๆ เพราะวาฬใช้เสียงในการรับรู้ ไม่เช่นนั้นวาฬอาจจะว่ายเข้ามาชนเรือได้ ซึ่งข้อควรระวังเหล่านี้เราในฐานะผู้อาศัยอยู่บนเรือ ไม่ได้เป็นคนบังคับเรือ จึง ไม่สามารถทำอะไรได้มาก แต่เท่าที่ผ่านมา สังเกตได้ว่าคุณลุงคนที่ขับเรือพาชมวาฬทุกท่าน ทราบดีในข้อควรระวังเหล่านี้ โดยเฉพาะเรือลำที่เราใช้บริการอยู่เป็นประจำเป็นเรือลำใหญ่ ตอนแรกๆ ก็สงสัยว่าทำไมเรือลำอื่นเข้าไปใกล้กว่าเราทุกที ถ่ายรูปมาที่ไรก็จะเห็นเรืออื่นอยู่ด้านหน้าเราเป็นประจำ ไปกระซิบถามคุณลุง บอกว่าเรือเราลำใหญ่ อาจจะทำให้วาฬตกใจกว่าเรือลำเล็กๆ เลยต้องอยู่ห่างๆ  แต่ละครั้งพวกเราเลยจัดเต็มเรื่องอุปกรณ์ เรียกว่ามีทางยาวมากเท่าไรก็ขนไปก่อน จะได้ใช้หรือไม่ใช่ค่อยว่ากันอีกที และจากการไปในหลายๆ ครั้งทำให้ทราบว่า เลนส์อะไรก็ถ่ายได้ ขี้นอยู่กับ…ดวงจริงๆ

“ ถ้าดวงไม่ดี เลนส์อะไรก็ถ่ายไม่ได้ “

ดังนั้นสิ่งจำเป็นคือการสร้างโอกาสให้มากขึ้นด้วยการไปมากกว่าหนึ่งครั้ง นอกจากนี้ก็ควรเช็คสภาพอากาศคลื่นลมในทะเลให้ดีก่อนการเดินทาง เท่าที่เคยไปถ่ายภาพมาสังเกตได้ว่า ถ้าคลื่นลมแรงทะเลแปรปรวน ส่วนใหญ่วาฬจะไม่ขึ้นมาอ้าปากกินลูกปลา บางทีจะเจอแค่มันดำผุดดำวายอย่างเดียว แต่ถ้าเป็นวันที่คลื่นลมสงบก็มีโอกาสพบเห็นวาฬขึ้นมาอ้าปากช้อนลูกปลาได้ง่ายขึ้น

  • อย่าสนุกกับการถ่ายอย่างอื่นจนลืมดูเมมโมรีของตัวเอง เพราะระหว่างที่เรือออกทะเลจะมีนกให้เก็บภาพมากมาย  กระชังปลาหน้าตาแปลก ปลาเล็กปลาน้อยกระโดดนำหน้าเรือชวนให้ตื่นเต้นสนุกกับการเก็บภาพ พอเจอวาฬแล้วก็ตั้งระบบถ่ายต่อเนื่องถ่ายโดยไม่สังเกตเมมโมรี่ ที่เหลือ ซึ่งอาจพลาดจังหวะสำคัญได้  จากข้อมูลทางวิชาการ วาฬไม่ค่อยโชว์ส่วนหางให้เห็น ภาพหางวาฬจึงถือเป็นช็อตเด็ด แต่มีพี่ท่านหนึ่งถ่ายเพลิน ลืมดูเมมโมรีที่เหลือ เมมโมรี่เต็มตอนจังหวะที่วาฬโชว์ส่วนหาง สีชมพูอ่อนๆ ขึ้นมาเหนือน้ำพอดี ขณะที่ทุกคนกำลังรัวชัตเตอร์กันอยู่ มีเสียงกรี๊ดดังขึ้น ตอนแรกนึกว่ากรี๊ดที่เห็นหางวาฬ แต่มารู้ที่หลังว่าเมมโมรี่เต็ม นึกแล้วก็เสียดายแทนจริงๆ
  • หากใช้เลนส์ทางยาวโฟกัสสูงในการถ่ายภาพ อย่าลืมดูความเร็วชัตเตอร์ที่ใช้ให้สัมพันธ์กันด้วย การถือกล้องถ่ายด้วยมือถ้าหวังในด้านความคมชัด ไ่ม่ควรใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำกว่าช่วงทางยาวที่ใช้ถ่าย ตัวอย่างถ่ายด้วยช่วงทางยาว 400 มม. กับกล้องตัวคูณ ก็ต้องคูณทางยาวเพิ่มไปด้วย เช่นกล้องคูณ 1.6 ความเร็วชัตเตอร์ที่ใช้ประมาณ 1/800 วินาทีหรือมากกว่านั้น  เพราะยังมีตัวแปรเรืองความโคลงของเรือตามแรงขึ้นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เพื่อความคมชัดแบบชัวร์ๆ ถ้าเป็นไปได้ให้เพิ่มความเร็วชัตเตอร์สูงกว่าปกติขึ้นไปอีก 1-2 สต๊อป ถ้าได้สัก 1/2000 วินาทีขึ้นไปก็ค่อนข้างมั่นใจได้ว่าจะได้ภาพที่คมชัดแน่นอน

 

เรื่อง / ภาพ : ฤทัยรัตน์  พวงแก้ว