Basic

เสน่ห์ Pictorial

ภาพแบบ Pictorial หรือคำไทยที่บัญญัติโดยปรามาจารย์ด้านการถ่ายภาพ อาจารย์เชาว์ จงมั่นคง ว่า “ภาพพิศเจริญ” ตั้งแต่ปี 2512 ซึ่งยังไม่มีคำจำกัดความโดยเฉพาะเจาะจง แต่หมายถึงภาพถ่ายที่ดูแล้ว ก่อให้เกิดความสุนทรีในการชม ดูแล้วไม่เบื่อ อะไรประมาณนั้นครับ

ภาพ Pictorial จะไม่ใช่ภาพที่เกิดขึ้นแบบปัจจุบันทันด่วน เหมือนเช่น แนวสตรีท หรือภาพถ่ายประเภทยกกล้องเล็ง แล้วกดชัตเตอร์ แต่จะเป็นภาพที่ถูกจัดให้เป็นฉาก หรือ Scene ขึ้นมาตามความต้องการของช่างภาพ มีการเน้นเรื่องราว
ของภาพเป็นหลัก และจัดทิศทางของแสง หรือสร้างบรรยากาศของแสงให้ภาพดูสวยงามและมีความโดดเด่นมากขึ้นนั่นเอง

Pictorial เป็นศัพท์ที่มีใช้กันอยู่ในหลายวิชาชีพ ซึ่งโดยทั่วไปมักจะกล่าวถึง Pictorial ว่า เป็นการวาดแบบให้ดูมีมิติ ดูมีรูปทรงกว้าง ยาว และลึก สำหรับภาพ Pictorial ในวงการถ่ายภาพนั้น เกิดขึ้นมานับร้อยๆ ปีแล้ว โดยได้รับอิทธิพลจากภาพวาดยุค Renaissance ซึ่งศิลปินถ่ายภาพในยุคแรกๆ ต้องการลบคำสบประมาทที่ว่าภาพถ่าย ไม่ใช่ศิลปะ แต่เป็นเพียงการบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเท่านั้น

ศิลปินถ่ายภาพในยุคแรกๆ อาทิ Qscar Rejlander หรือ William lake price ต่างก็พยายามสร้างสรรค์ภาพถ่ายของตนเองให้ดูใกล้เคียงกับภาพวาดยุค Renaissance โดยจัดให้มีการสร้างฉากและวางองค์ประกอบของภาพถ่ายให้เหมือนกับการดูละครเวที ซึ่งผู้ชมจะได้สัมผัสกับตัวซับเจคต์ในแนวระนาบ และไม่มีความลึกมากนัก หรือที่เรียกกันว่าแบบ Tableaux velvant และตัวแบบจะต้องแสดงท่าทางตามที่ต้องการ และหยุดค้างไว้ ซึ่งบางครั้งอาจจะต้องหยุดค้างนานถึง 1 นาทีเลยทีเดียว เพื่อให้ได้ภาพที่คมชัดนั่นเอง และการจัดวางรูปแบบ Tableaux velvant ก็เป็นต้นแบบของภาพถ่ายในยุคถัดมาด้วยเช่นกัน ส่วนเรื่องราวต่างๆ ที่นำมาจัด Scene ถ่ายภาพนั้นก็มักจะเป็นเรื่องของเทพนิยาย เรื่องทางศาสนา รวมไปถึงบทละครของเชกเสปียร์ด้วยเช่นกัน

ศิลปินภาพถ่ายที่มีชื่อเสียงอีกท่านหนึ่ง นั่นคือ Henry peach Robinson ซึ่งเป็นทั้งจิตรกร และช่างภาพ เขาได้ศึกษาถึงการซ้อนภาพหลายๆ เลเยอร์ของ Qscar Rejlander และพัฒนาผสมผสานระหว่างภาพวาดกับภาพถ่าย โดยเขาได้เสก๊ตช์ภาพแบบละเอียด เพื่อจัดวางองค์ประกอบภาพตามที่ต้องการ เพื่อให้ได้ภาพถ่ายที่สมบูรณ์แบบนั่นเอง

การถ่ายภาพ Pictorial นั้น มักจะเป็นการเน้นการสร้างอารมณ์ของภาพ หรือสร้างอารมณ์ให้ผู้ชมรู้สึกดื่มดํ่ากับภาพนั้น องค์ประกอบหลักๆ ของภาพแนว Pictorial นั้น มักจะเน้นไปที่เรื่องราวใด เรื่องราวหนึ่งเท่านั้นในเฟรมเดียวกัน หรือบางครั้งอาจจะมีหลายเรื่องราวก็ได้ แต่จะต้องมีเรื่องราวหลักโดดเด่นออกมามากกว่าเรื่องอื่นๆ ที่เป็นส่วนเสริม มีการสร้างมิติของภาพ โดยใช้แสง เงา รวมทั้งใช้เส้นนำสายตา หรือสร้างควัน เพื่อให้ภาพมีมิติ มีความลึกนั่นเอง และส่วนมากก็จะมีการจัดวางองค์ประกอบตามหลักการถ่ายภาพ อย่างจุดตัด 9 ช่อง เป็นต้น

หลายๆ คนอาจจะแย้งว่า ภาพแนวนี้ มักจะเป็นการจัดฉาก เป็นการสร้าง Scene ขึ้นมา โดยไม่มีเหตุการณ์นั้นๆ อยู่จริงตามปกติ ซึ่งการจัดฉาก หรือการ Set up นั้น ถือเป็นการควบคุมอารมณ์ของภาพ ให้เป็นไปตามที่ผู้จัดต้องการ ให้ภาพมีอารมณ์ไปในแนวทางเดียวกัน ถึงแม้ว่าจะมีช่างภาพ ถ่ายภาพนั้นอยู่หลายคนก็ตาม ซึ่งจะว่ากันตามจริง การจัดฉากก็มักจะจัดขึ้น โดยอิงกับสภาพที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ยกตัวอย่างละครพีเรียดต่างๆ ก็ล้วนเป็นการจัดฉากขึ้นมา เพื่อสร้างอารมณ์ของภาพตามที่ผู้จัดต้องการเช่นเดียวกับภาพนิ่งนั่นเอง

ภาพที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติที่เข้าเกณฑ์ของรูปแบบภาพ Pictorial ก็สามารถถ่ายได้ โดยเป็นการให้ความพิถีพิถันในการถ่ายภาพนั้นๆ มากกว่าปกติ เช่น ภาพฝูงควายที่กำลังเดินกลับคอกยามเย็นในเส้นทางที่มีฝุ่นคลุ้งราวกับม่านหมอก แน่นอนว่า ช่างภาพจะต้องไปรอในเส้นทางที่ฝูงควายเดินผ่าน ในช่วงเย็นๆ ที่แสงอาทิตย์ใกล้จะลับขอบฟ้า เพื่อรอถ่ายภาพตามที่ต้องการ ไม่ใช้บังเอิญไปเจอ แล้วกดชัตเตอร์รัวๆ ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้น ก็ถือว่ามีโชคมากทีเดียวครับ

หรือภาพเรือแจวที่ลัดเลาะผ่านซุ้มกอไม้ในคลองในช่วงจังหวะที่แสงลงพอดี ลักษณะนี้ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงตามธรรมชาติก็จริง แต่สำหรับการถ่ายภาพ อาจจะต้องนัดแนะเรือแจวให้แจวเข้ามาในมุมที่เฉียงพอดี และตรงกับช่องว่างของซุ้มไม้ ให้แสงตกลงเรือ เป็นต้น การจัดฉากแบบนี้ ก็เหมือนกับการ Re-Action ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง เพื่อให้ได้ภาพตามที่ช่างภาพต้องการนั่นเอง

บทสรุป

จากอดีต จะเห็นว่าภาพถ่ายแนว Pictorial เป็นภาพที่เกิดขึ้นจากการจัดฉาก หรือหรือจัดถ่ายมาแล้ว ซึ่งจุดประสงค์คือ สร้างเรื่องราวของภาพตามอารมณ์ที่ช่างภาพต้องการให้เป็น การถ่ายภาพในยุคปัจจุบัน การที่ช่างภาพบอกให้ตัวแบบ หันซ้าย หันขวาเข้าหาแสง ก้มหน้าบ้าง เงยหน้าบ้าง บิดตัวบ้าง เพื่อให้ได้ภาพที่ดูสวยงาม มองแล้วไม่น่าเบื่อ มองแล้วแล้ว มองอีก ซึ่งก็ถือเป็นการจัดถ่ายภาพแบบหนึ่งด้วยเช่นกัน ดังนั้น ภาพที่ดูแล้ว “พิศเจริญ” มักจะเป็นภาพที่ผ่านขบวนการ “คิด” มาแล้วแทบจะทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการให้แสง การจัดองค์ประกอบที่สวยงามและลงตัว การนำเสนอเรื่องราวของภาพ ภาพหลายๆ ภาพที่เห็นผ่านหน้าฟีดของ Facebook ผมมักจะเลื่อนผ่านๆ ไป แต่หลายๆ ภาพ ก็ต้องคลิ๊กเข้าไปดู ขยายขึ้นมาดู หลายๆ ภาพก็สวยขึ้นมาจากการปรุงแต่งอยู่มากโข ก็นานาจิตตังครับ

กล้องสมัยใหม่มีประสิทธิภาพที่สูงขึ้น มีฟังก์ชั่นการทำงานมากมาย ยกขึ้นเล็ง กดๆๆๆๆ ก็ได้ภาพที่คมชัด สีสันอิ่มตัวได้ง่ายๆ จนทำให้หลายๆ คน ก้าวข้ามขบวนการคิดก่อนถ่าย แต่ใช้วิธี กดถ่าย เปิดภาพดู แล้วค่อยปรับแก้ทีหลัง ผมดีใจที่กระแสกล้องฟิล์มกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง ถึงแม้ว่าจะยังคงเป็นแฟชั่นอยู่ก็ตาม เพราะรูปลักษณ์การทำงานของกล้อง ถูกบังคับให้ต้องคิดก่อนถ่ายนั่นเอง ซึ่งผมมองว่าจะช่วยพัฒนาการถ่ายภาพของผู้ถ่ายภาพได้อย่างรวดเร็วครับ

…ขอให้มีความสุขกับการถ่ายภาพนะครับ….

เรื่อง : พีร วงษ์ปัญญา
ภาพ : ธนิสร เพ็ชรถนอม

#fotoinfo​ #Fotoinfomag​ #FotoinfoPlus​ #FotoinfoLearningCenter​ ​ #FLC​ #โฟโต้อินโฟ #FotoinfoLive​ #PictorialPhotography #Pictorial

อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


ติดตาม FOTOINFO ได้ทั้งรูปแบบนิตยสาร Free Copy, e-magazine ฟรีดาวน์โหลด และช่องทางอื่นๆออนไลน์ได้ที่
Line@ : @fotoinfo
YouTube : Fotoinfo Channel
Website : fotoinfomag.com
e-magazine : issuu.com/fotoinfomagazine


ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus

หรือสนใจสาระความรู้ด้านการถ่ายภาพที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่

https://test2.fotoinfo.online/all-about-photo/basic