SPECIAL ARTICLE

แก้ปัญหา “Tripod Not Allow..!!!”

ปัจจุบันสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งห้ามใช้ขาตั้งกล้อง โดยเฉพาะพิพิธภัณฑ์ ปราสาท พระราชวัง วัดวาอาราม เพราะสถานที่อาจจะแคบ การไปยืนกางขาตั้งกล้องอาจจะไปขวาง ทางทำให้นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ไม่สะดวกในการเข้าชม ซึ่งเหตุผลนี้ก็เข้าใจดี แต่ทริปล่าสุดที่เจอคือ ภายนอกสถานที่ ลานจอดรถ ข้างถนนที่อยู่ในอาณาบริเวณรอบสถานที่หลัก (ไม่ได้ขวางและก็ไม่ได้ดูว่าจะเป็นอันตรายใดๆ) ทุกหนแห่งที่ว่าถูกเหมารวมไม่ให้ใช้ขาตั้งกล้องทั้งหมด แม้จะอยู่นอกรั้วก็ตาม อินเดียทริปล่าสุดเจอตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้าย ลานกว้างขวางแถมบางแห่งเป็นจุดชมวิวอีกต่างหาก ยังได้ยิน “Tripod Not Allow…!!!”  คิดว่าคงเพราะการใช้ขาตั้งกล้องนั้นดูเป็นช่างภาพอาชีพ ถ่ายภาพเพื่อไปทำธุรกิจบางอย่าง จึงต้องทำเรื่องขออนุญาตเป็นกรณีพิเศษ (ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมมากเป็นพิเศษด้วย) การทำเรื่องนั้นมีขั้นตอนมากมาย ซึ่งไม่เหมาะกับนักท่องเที่ยวทั่วไปที่จะต้องมาเสียเวลา ซึ่งฟังแล้วบางคนอาจนึกโต้เถียงในใจว่า ก็เค้าไม่ให้ใช้ก็ไม่ต้องใช้ กล้องดิจิตอลสมัยนี้ก็มี ISO สูง ไม่เห็นจำเป็นต้องใช้ขาตั้งกล้องให้วุ่นวาย

ถ้าทราบล่วงหน้าก็จะไม่นำขาตั้งติดไปด้วยตั้งแต่แรก แล้วก็ใช้วิธีแก้ปัญหา การไม่อนุญาตให้ใช้ขาตั้งกล้องแบบต่างๆ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์เวลานั้นว่าจะทำอะไรได้บ้าง โดยรวบรวมมาฝากสำหรับมือใหม่ที่บางครั้งอาจจะนึกไม่ออกว่าจะทำอย่างไรดี เพราะบางครั้งแสงน้อยมาก ปรับ ISO สูงแล้วก็ยังไม่สามารถช่วยได้ ตัวอย่างช่วงเวลาที่ต้องเก็บแสงแรกของวัน พระอาทิตย์ยังเป็นดวงแดงๆ บริเวณโดยรอบยังไม่มีแสงสว่างใดๆ หรือช่วงเวลาที่พระอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปแล้ว ภาพไฟกลางคืนซึ่งต้องเปิดหน้ากล้องนานๆ ถ้าบังเอิญไปอยู่ในสถานที่ที่ไม่ให้ใช้ขาตั้งกล้อง เริ่มแรกก็ต้องใจเย็นๆ ลองสำรวจโดยรอบ ขอบรั้ว ขอบกำแพง ที่ไม่ใช่ที่หวงห้ามหรืออันตราย วางกล้องได้หรือไม่ เล็งหามุมเตรียมไว้คร่าวๆ ก่อนที่แสงจะหมด แล้วก็วางกล้องนิ่งๆ ถึงเวลาวัดแสงตั้งหน่วงเวลาแล้วก็กดชัตเตอร์ ถ้าเป็นภายในตัวอาคารที่แสงน้อยมากก็อาจวางกล้องบนพื้น บนโต๊ะ หรือแนบติดไปกับฝาผนัง กระเป๋ากล้องก็เป็นอีกตัวช่วงหนึ่งที่สามารถใช้แทนขาตั้งกล้องได้ วิธีวางถ้าจะให้นิ่งก็ใช้ผ้ารองพับม้วนหนุนปรับมุมให้อยู่ในตำแหน่งที่เราต้องการ..

โต๊ะกระจกบริเวณพระราชวังซิตี้พาเลซเมืองอุดัยปูร์.. เป็นที่ทราบกันดีว่าเข้าวัง “Tripod Not Allow..!!!” แน่นอน ซึ่งพวกเราก็ไม่ได้นำขาตั้งกล้องไปอยู่แล้ว วันที่เข้าชมพระราชวัง เพิ่งจะมีการจัดงานเฉลิมฉลองอะไรสักอย่างเสร็จไป บริเวณด้านหน้ากำลังรื้อเวที มีอุปกรณ์ต่างๆ วางระเกะระกะอยู่มากมาย รวมถึงโต๊ะกระจกตัวนี้ด้วย เห็นแล้วไม่รอช้าเพราะโต๊ะกระจกถือเป็นโชคสองชั้นเลยทีเดียว นอกจากจะใช้แทนขาแล้วยังได้เงาสะท้อนจากพื้นกระจกแบบใสปิ้งอีกด้วย สำหรับการวางกล้องบนพื้นลักษณะนี้ถ้าไม่มีผ้ารองแนะนำให้ใส่ฮูดไว้ด้วย ฮูดจะช่วยหนุนเสริมให้หน้าเลนส์สูงขึ้นได้มุมเงยไม่ควํ่าหน้าลง เพราะเลนส์บางตัวหน้าเลนส์สั้นเวลาวางแล้วกล้องจะควํ่าหน้าลง ถ้าวางให้หน้าเลนส์ได้ระนาบกับพื้นจะช่วยให้ตัวอาคารกับเงาที่เห็นล้อได้สัดส่วนสมดุลย์กัน..


บันไดวน.. มุมลักษณะนี้ส่วนใหญ่มักอยู่ในแนวระนาบกับพื้น ถ้ายืนตำแหน่งตรงกลางแล้วเงยขึ้นไปตรงๆ ก็จะเห็นมุมลักษณะนี้ แต่เนื่องจากแสงน้อยแล้วไม่ให้ใช้ขาตั้งกล้อง จึงเลือกรอจังหวะคนว่างๆ วางกล้องลงบนพื้น โดยปรับตั้งโฟกัส วัดแสงชดเชยแสงทุกอย่างให้เรียบร้อยก่อน แล้วก็ตั้งหน่วงเวลารอฟังเสียงชัตเตอร์ลั่น แล้วก็ตรวจเช็คมุมที่ได้..


ถ่ายแสงไฟกลางคืนใน Jodhpur..  มุมที่สำรวจกันไว้ตอนแรกตั้งแต่แสงยังไม่หมดอยู่ใกล้ๆ Mehrangarh Fort คอมโพสที่เล็งมุมไว้คือ มีเส้นถนนเป็นฉากหน้ารอให้รถเปิดไฟวิ่งลากเป็นเส้น ด้านหลังเป็นป้อมลอยเด่นอยู่ท่ามกลางเมืองสีฟ้า รอเก็บภาพตอนช่วงพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าแล้ว แต่ท้องฟ้ายังไม่มืดดำสนิท ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาที่บ้านเรือนและป้อม Mehrangarh Fort เปิดไฟ แต่ก็เป็นอันต้องพับเก็บมุมที่เล็งนี้ไป เพราะเจ้าหน้าที่เดินมาบอก “Tripod Not Allow…!!!” จึงต้องพากันเดินไปตามถนนให้ห่างจากป้อมนั้นออกไปไกลๆ หามุมมองย้อนกลับมาที่ตัวป้อม ระหว่างเดินหามุมสังเกตเห็นขอบถนนเป็นรั้วปูนหนาหนึ่งฟุต สูงประมาณครึ่งเมตร จึงวางกล้องบนรั้วปูนรองกล้องด้วยผ้าผืนเล็กๆ เพื่อปรับมุมให้เงยหรือกดหน้ากล้องตํ่าลงตามที่ต้องการ สามารถเก็บภาพมุมสูงได้แสงไฟกลางคืนของเมืองสีฟ้า Jodhpur ได้เช่นกัน..


แสงสุดท้ายที่ Amber Fort.. ซึ่งก็เป็นวันท้ายๆ ที่ใกล้จะจบทริปแล้ว แต่ “Tripod Not Allow..!!!” ยังตามมาหลอนพวกเราจนถึงวันนี้ได้อีก เรื่องมีอยู่ว่าช่วงเช้าเราไปเก็บภาพป้อมแอมเบอร์มาแล้วรอบหนึ่งและก็ดูมุมไว้คร่าวๆ ตั้งใจจะมาเก็บภาพอีกครั้งตอนเย็น ระยะทางจากลานจอดรถไปจนถึงทางเข้าป้อมด้านล่างเป็นถนนห่างกันหลายร้อยเมตรอยู่ ช่วงเช้าเจ้าหน้าที่อธิบายให้ฟังแล้วว่า ถ้าอยู่ในรั้วริมนํ้าตั้งขาตั้งกล้องไม่ได้ แต่ถ้าเลยรั้วออกไปเป็นถนนสามารถตั้งขาได้ ซึ่งตอนเช้าก็มีสมาชิกบางท่านตั้งขาตั้งกล้องถ่ายภาพได้อยู่ ในเมื่อเป็นเช่นนี้จึงวางแผนกลับมาเก็บภาพช่วงแสงสุดท้ายกันอีกครั้ง ในตอนแรกก็ตั้งขาตั้งกล้องเก็บภาพอยู่นอกรั้ว มีเจ้าหน้าที่ท่านหนึ่งเดินมาดูพูดคุยนิดหน่อยไม่ได้ห้ามอะไรแล้วก็เดินจากไป แต่อีกสักพักก็มีเจ้าหน้าที่อีกท่านเดินมา “Tripod Not Allow..!!!” ซะงั้น

พวกเราเห็นว่าเค้าไม่อยากให้ถ่ายก็รวบขาตั้ง
ตั้งใจจะกลับ แต่คิดไปคิดมา มาตั้งไกล จะอารมณ์เสียแล้วกลับไปมือเปล่าเหรอ ไม่สิ!! ในเมื่อเค้าไม่ให้ใช้ขาตั้งกล้องเราก็หาวิธีถ่ายโดยไม่ใช้ขาตั้งกล้องดูซิเค้าจะว่าอย่างไร เพราะตอนนั้นเค้าก็ไม่ได้บอกว่าห้ามถ่ายภาพ เดินไปเดินมาเจอรั้วปูนกว้าง 1 ฟุต สูงประมาณครึ่งฟุต มีราวเหล็กต่อขึ้นมาจากรั้วปูน มีช่องให้วางกล้องได้แบบสบายๆ จึงเริ่มลงมือเก็บภาพใหม่กันอีก 1 รอบพวกเรามาด้วยกันสามคนนั่งยองๆ ก้มๆ เงยๆ ดูหลังจอกล้องปรับโน่นนี่นั่นสักพัก เจ้าหน้าที่ 2 ท่านนั้นก็เดินมาดูอีกรอบ ระหว่างที่กำลังเก็บภาพกันอยู่เพลินๆ เพราะแสงกำลังสวย หันมาเห็นเจ้าหน้าที่ยืนอยู่ใกล้ตกใจก็เลยจะเก็บกล้อง แต่เจ้าหน้าที่บอกว่าไม่เป็นไร ให้ถ่ายได้ รู้สึกว่ายืนดูพวกเราสักพักแล้วก็ไป (คงคิดว่าพยายามกันซะขนาดนี้ ปล่อยๆ มันไปเถอะ) ได้ภาพพอใจแล้วพวกเราก็รีบกลับ นึกถึงสมาชิกที่ขอแยกไปถ่ายตลาดคงถ่ายผู้คนสนุกสนานกว่าพวกเราที่นั่งหลังขดหลังแข็งเล็งมุมตํ่าๆ อยู่นาน นึกในใจนี่ถ้ามากันหลายคนอาจจะดูเอิกเกริก เจ้าหน้าที่อาจจะเปลี่ยนใจไม่ให้ถ่ายก็ได้สถานการณ์ลักษณะนี้ บอกเลยว่าเอาแน่นอนไม่ได้ บางทีท่านมาเก็บภาพอาจจะไม่เจอ “Tripod Not Allow..!!!” เหมือนพวกเราก็ได้ เพราะคิดว่าสถานที่ด้านนอกบางแห่งน่าจะสามารถใช้ขาตั้งกล้องเก็บภาพได้อยู่ จากที่เจอรู้สึกว่า ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ที่อยู่บริเวณนั้นมากกว่า แต่ถ้าเจอ “Tripod Not Allow..!!!” ก็ลองนำวิธีเหล่านี้ไปใช้แก้ปัญหา ท่านอาจจะได้ภาพคุณภาพดีๆ ติดมือเก็บไว้เป็นที่ระลึกได้บ้าง..


พระพุทธรูปภายในวัดของศาสนาเชน.. นักท่องเที่ยวสามารถเยี่ยมชมภายในวัดได้อย่างใกล้ชิด แต่ละมุมแกะสลักหินประดับตกแต่งสวยงามอลังการภายใต้แสงไฟสลัว ผนังและห้องโถงตรงกลางมีพระพุทธรูปหินอ่อนอยู่เกือบทุกมุม ส่วนใหญ่จะมีประตูฉลุลายปิดแต่ละด้านไว้ คงไม่ให้นักท่องเที่ยวแตะต้องหรือสัมผัสเนื่องจากสถานที่แคบมีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก สังเกตจากลายฉลุของประตูถูกลูบจนมันวาว พระพุทธรูปที่อยู่ด้านในใบหน้าแตกต่างจากพระพุทธรูปทั่วไปที่เคยเห็นจึงอยากเก็บบันทึกภาพไว้เป็นที่ระลึก แต่เนื่องจากแสงน้อยแล้วขาตั้งกล้องก็ใช้ไม่ได้ จึงเก็บภาพโดยการถอดฮูดออกแล้วเอาหน้าเลนส์แนบช่องลายฉลุทาบให้สนิทเพื่อเป็นการช่วยประคองกล้องให้นิ่ง เนื่องจากความไวชัตเตอร์ที่ได้นั้นตํ่ามากไม่สามารถถือกล้องให้นิ่งได้ แม้จะปรับหลายๆ อย่างช่วยแล้วก็ตาม ซึ่งการนำเลนส์ไปทาบให้สนิทนี้ได้ข้อดีอีกอย่างคือ มุมแปลกตาจากการได้ช่องของลายฉลุเป็นกรอบภาพ..


พระอาทิตย์ขึ้นใกล้ๆ Mehrangarh For.. เช้าวันถัดมาพวกเราพากันเดินขึ้นไปรอเก็บภาพพระอาทิตย์ขึ้นที่จุดชมวิวมุมสูง บริเวณลานจอดรถมีนักท่องเที่ยวขึ้นไปรอชมพระอาทิตย์มากพอสมควร ระหว่างนั้นก็กางขาตั้งกล้องรอเก็บภาพแสงแรกของวัน แต่พระอาทิตย์ยังไม่ทันจะขึ้น เจ้าหน้าที่ก็เดินมา “Tripod Not Allow…!!!” พวกเราพยายามอธิบายเหตุผลในการใช้ขาตั้งกล้องว่าแสงน้อยเพราะพระอาทิตย์ยังไม่ขึ้น แล้วเราก็ไม่ได้ถ่ายตัวป้อม Mehrangarh Fort เราถ่ายวิวเมืองมุมสูงกับพระอาทิตย์ขึ้นเท่านั้น แต่ผลจากการเจรจาคือ “Tripod Not Allow…!!! Tripod Not Allow…!!!” มาตอนนี้เริ่มถึงบางอ้อแล้วว่าเค้าเหมารวมสถานที่ทั้งหมดคือ ทั้งภายในและภายนอก แม้จะเป็นลานจอดรถก็ตาม ถ้าบริเวณนั้นมีเจ้าหน้าที่อยู่แล้วเห็นว่ากางขาตั้งกล้องก็จะเดินมา “Tripod Not Allow…!!!” ทันที จริงๆ ช่วงเวลาที่พระอาทิตย์ขึ้นก็พอมีแสงอยู่บ้าง ปรับ ISO สูงก็พอช่วยให้เราเก็บภาพได้ แม้จะคุณภาพไม่ดีเท่าที่เราอยากได้ก็ตาม พวกเราจึงยังไม่กลับ แต่เปลี่ยนมุมแล้วก็ดูทำเลที่พอวางกล้องถ่ายโดยไม่ใช้ขาไว้เป็นทางเลือกด้วย เพื่อจะได้คุณภาพไฟล์ดีๆ เก็บไปบ้าง ซึ่งระหว่างทางเดินลงกลับไปที่พักมีกำแพงหินสูงประมาณเมตรกว่าๆ สามารถขึ้นไปยืนถ่ายด้วยการปรับ ISO สูงๆ แล้วถ้าต้องการได้คุณภาพดีๆ ใช้ ISO ตํ่าก็วางกล้องบนกำแพงนี้ได้ด้วย..


แนวกำแพงหิน.. ระหว่างทางที่เดินขึ้นไปจุดชมวิวสามารถปีนขึ้นไปเก็บภาพข้างบน หรือไม่ก็วางกล้องบนกำแพง ตั้งหน่วงเวลาเก็บภาพเมืองสีฟ้ามุมสูงได้..

 

เรื่อง/ภาพ : ฤทัยรัตน์  พวงแก้ว


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^

 

(SCAN QR CODE ด้านล่างเพื่อเพิ่มเพื่อนใน Line อีกหนึ่งช่องทางในการติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ)

 


หรือสนใจดูเทคนิค How To ที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่
https://test2.fotoinfo.online/tip-trick/leaning-by-doing