ในช่วงปลายฤดูร้อน ย่างเข้าฤดูฝน ฟ้าฉ่ำ สายฝนเริ่มสาด ถือเป็นช่วงทองของช่างภาพที่ชื่นชอบการถ่ายภาพมาโคร เพราะจะมีซับเจคเด่นๆ ออกมาให้เป็นกันมากมาย เช่น เห็ดถ้วยแชมเปญ เห็ดขน รวมไปถึงแมลงต่างๆ อีกด้วย
อุปกรณ์ที่สำคัญที่จะช่วยให้การถ่ายภาพมาโครแบบนี้ สะดวกและง่ายขึ้น นั่นคือขาตั้งกล้อง ซึ่งก็มีให้เลือกใช้งานกันมากมายหลายแบบ แต่สำหรับขาตั้งกล้องและหัวขาตั้งกล้องสำหรับสายมาโคร จะมีลักษณะพิเศษโดดเด่นต่างจากขาตั้งกล้องแบบปกติ จะมีอะไรพิเศษบ้างนั้น ไปดูกันครับ
พูดถึงเรื่องขาตั้งกล้องแล้ว หลายๆ ท่านที่ชื่นชอบการถ่ายภาพ น่าจะมีขาตั้งกล้องเกิน 1 อัน อย่างแน่นอน ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว ก็มักจะเป็นขาตั้งกล้องสำหรับใช้งานทั่วๆ ไป แต่มีขนาดที่แตกต่างกัน อาทิ ขาตั้งขนาดเล็ก มีความสูงประมาณ 130 ซม. พับเก็บได้สั้นประมาณ 30 ซม. สำหรับการพกพาติดตัว เวลาเดินทางท่องเที่ยว ที่ไม่ใช่ทริปถ่ายภาพ, ขาตั้งขนาดกลาง มีความสูงประมาณ 140-150 ซม. สำหรับใช้งานทุกรูปแบบ และขาตั้งขนาดใหญ่ สำหรับเลนส์ประเภท Super Telephoto เป็นต้น
ยังมีขาตั้งกล้องอีกประเภทหนึ่ง ที่ออกแบบสำหรับการถ่ายภาพมาโคร ซึ่งจะมีฟังก์ชั่นการทำงาน รวมทั้งส่วนเสริม อย่างหัวขาตั้ง หรือเพลทสำหรับติดกับกล้อง ที่ออกแบบมาเป็นพิเศษเช่นเดียวกัน ซึ่งช่วยให้การถ่ายภาพมาโครสะดวกขึ้นอีกมากทีเดียว และสะดวกกว่าขาตั้งกล้องทั่วๆ ไปนั่นเอง มาดูกันว่า ขาตั้งกล้องสำหรับงานมาโคร มีความโดดเด่นอย่างไรบ้าง
ขาตั้ง Multi-Function
เป็นขาแบบที่สามารถถอดแกนกลางออกมาใช้งานในแนวระนาบได้ ซึ่งจะช่วยให้ยื่นกล้องเข้าไปใกล้กับซับเจกต์ได้มากขึ้น และไม่ต้องมีส่วนของขาตั้งเข้ามาบังแสงอีกด้วย
ขาตั้งกล้องแบบ Multi Function จะช่วยให้ยื่นกล้องเข้าหาซับเจคได้ โดยไม่ต้องตั้งกล้องให้ติดหรือชิดจนเกินไป เพราะซับเจคของเราอาจจะกระโดดหนีไปได้
บางครั้งก็ไม่สามารถตั้งกล้องติดๆ กับซับเจคได้ จึงต้องใช้แกนกลางในการยื่นกล้องให้เข้าใกล้ซับเจคให้มากขึ้น
ก้านเกสรดอกที่บอบบาง พร้อมที่จะหลุดได้ทุกเมื่อ ถ้าหากกระทบจากการกางขาตั้งกล้องติดๆ กับต้น ดังนั้นจึงจึงตั้งกล้องให้ห่างเล็กน้อย แล้วใช้แกนกลางยื่นกล้องเข้าไปให้ใกล้แทน
กางราบได้ต่ำ
เป็นส่วนที่สำคัญมากทีเดียว เพราะซับเจคบางอย่าง เช่น เห็ดขน หรือเห็ดถ้วยแชมเปญ ก็มักจะอยู่ติดๆ กับพื้น ซึ่งจะต้องลดกล้องลงต่ำติดพื้น ซึ่งถ้าหากว่าขาตั้งกล้อง ปรับระดับได้ไม่ต่ำมาก จึงต้องถ่ายภาพในมุมกด จะทำให้ซับเจคนั้นๆ ไม่โดดเด่นเท่าที่ควร
ส่วนมากแล้ว เห็ดมักจะขึ้นอยู่กับพื้นดิน ขาตั้งกล้องที่กางราบได้ต่ำ จะช่วยให้ถ่ายภาพในแนวระนาบได้เป็นอย่างดี ทำให้เห็ดขนาดเล็ก โดดเด่นจากฉากหลังที่เบลอ ส่วนขาตั้งกล้องที่กางราบไม่ได้ จะต้องถ่ายภาพมามุมกดลง ซึ่งเห็ดก็จะไม่โดดเด่นมากนัก เพราะอยู่ติดๆ กับพื้นที่เป็นฉากหลังนั่นเอง
มุมแบบนี้ จะต้องตั้งกล้องในมุมต่ำติดพื้น ขาตั้งกล้องที่กางราบได้ จะสะดวกกับการใช้งานมากที่สุด
หัวขาตั้งแบบปรับละเอียด (Gear Head)
หัวขาตั้งกล้อง มีให้เลือกใช้งานหลายรูปแบบ ทั้งแบบ 3 ทาง แบบหัวบอล ที่เพิ่มฟังก์ชั่นการใช้งานที่มากกว่าหัวบอลแบบเดิมๆ หรือหัวขาตั้งแบบ Gear Head ที่ออกแบบคล้ายๆ กับหัวแบบ 3 ทาง แต่มีก้านปรับสั้นๆ และมีเฟืองสำหรับปรับเปลี่ยนมุมมองของกล้องได้อย่างละเอียด โดยไม่จำเป็นต้องคลายล็อค แล้วหมุนปรับทั้งหมด แต่ถ้าจะปรับใช้งานแบบหัว 3 ทางปกติ ก็ได้เช่นกัน
หัวแบบ Gear Head จะช่วยให้ปรับมุมกล้องได้อย่างละเอียดทีละคลิก และควบคุมได้ง่ายกว่าการปลดล็อกทั้งหมด
เพลทแบบสไลด์เลื่อน
เพลทขาตั้งแบบปกติ จะมีขนาดสั้น ทำให้การขยับเข้าใกล้ซับเจค จะต้องยกทั้งขาตั้งกล้อง ซึ่งนั่นหมายถึง จะต้องมาจัดองค์ประกอบใหม่ทั้งหมดอีกด้วย หรือบางรูปแบบมีความยาวพอสมควร และมีสเกลให้ดูได้ แต่การปรับจะต้องคลายล็อก แล้วดันเพลทให้เลื่อนไปตามที่ต้องการ ซึ่งก็สะดวกในระดับหนึ่ง
แต่สำหรับเพลทสำหรับถ่ายภาพมาโครนั้น จะเป็นเพลทที่ออกแบบให้มีก้านหมุน สำหรับเลื่อนเพลทด้วยเกลียวเฟือง ที่สามารถปรับได้ละเอียดมาก ช่วยให้ปรับระยะใกล้-ไกลซับเจค โดยไม่ต้องขยับขาตั้งกล้องใหม่ ประโยชน์ของเพลทแบบนี้คือ สามารถปรับได้นิ่งและได้ระยะตามที่ต้องการง่ายๆ นั่นเอง
เพลทสไลด์ จะช่วยให้ขยับเข้าใกล้ หรือถอยห่างจากซับเจคได้สะดวก โดยไม่ต้องปลดล็อกหัวขาตั้ง หรือขยับขาตั้งกล้องใหม่
นอกจากจะขยับเพื่อหาระยะโฟกัสแล้ว ยังสามารถขยับ เปลี่ยนจุดโฟกัส เพื่อให้คุมระยะชัดลึกได้ตามที่ต้องการอีกด้วย
เลนส์มาโครและท่อต่อที่เพิ่มกำลังขยายมากกว่า 1:1 การขยับเพียงเล็กน้อย ก็ทำให้จุดโฟกัสเปลี่ยนแปลงไปมากทีเดียว เพลทแบบสไลด์ จะช่วยให้ปรับโฟกัสได้ง่ายขึ้น
Leave feedback about this