บ่อยครั้งที่กิจกรรมดูนกและถ่ายภาพนก เปรียบเสมือนเป็นการบังคับให้ต้องเดินทางไปยังสถานที่หรือแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ที่แตกต่างกันทั้งสภาพภูมิประเทศและระบบนิเวศวิทยา ซึ่งไม่จำเป็นว่าสถานที่แห่งนั้นจะเป็นที่ถูกใจเราหรือไม่ก็ตาม จนหลายคนต้องถอดใจไปกับกิจกรรมนี้ เมื่อนึกการเดินทางและค่าใช้จ่ายที่ถีบตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีจำนวนคนอีกไม่น้อย ที่ยังรักษาการเดินทางของตนเองเพื่อทำกิจกรรมดูนกและถ่ายภาพนกเพื่อตอบสนองความสุขทางใจของตนเองอย่างสม่ำเสมอ
แต่ถ้าเราลองมองย้อนกลับไปอีกด้านหนึ่งของการเดินทางในแต่ละครั้ง ก็จะพบว่าการเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ ก็ทำให้เราได้เรียนรู้และศึกษาเรื่องราวต่างๆจากสิ่งที่ได้พบเห็นมาไม่ว่าจะเป็นความสวยงามของธรรมชาติและวิธีการดำรงชีวิตของชุมชนในพื้นที่ที่แตกต่างกัน รวมทั้งความสำคัญทางวัฒนธรรมที่ร้อยเรียงสืบทอดกันมาอย่างที่หลายคนไม่เคยได้รับรู้มาจากการร่ำเรียนในสถานศึกษา
ซึ่งปัจจุบันได้มีการบัญญัติการท่องเที่ยวในลักษณะนี้เอาไว้ว่าเป็น “การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์” ซึ่งใช้กันจนนักท่องเที่ยวในบ้านเราทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่พากันเราเข้าใจว่า ใครก็ตามที่เดินทางเข้าไปท่องเที่ยวในเขาลำเนาไพร การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ซึ่งในความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ที่พูดกันจนเป็นคำฮิตติดปาก มีความหมายมากลึกซึ้งมากกว่าคำพูดเพียงแค่ 7 พยางค์
การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ คือการท่องเที่ยวไปยังสถานที่ต่างๆโดยคำนึงถึงระบบนิเวศวิทยาและสภาพแวดล้อมในสถานที่นั้นๆ เป็นลำดับแรก ซึ่งผู้ที่เข้ามาท่องเที่ยวนั้นต้องตระหนักถึงความสำคัญของ ทรัพยากรทางธรรมชาติ ทรัพยากรทางวัฒนธรรม ทรัพยากรในชุมชน โดยที่ไม่กระทำการใดๆให้เกิดความเสียหายต่อสถานที่นั้นๆ หากเราเข้าใจความหมายก็จะทำให้การท่องเที่ยวในทุกครั้งของเราจะมีทั้งความสุขและความเข้าใจถึงสายสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงระหว่างกันของธรรมชาติ
ซึ่งฉบับนี้จะพาผู้อ่านไปรู้จักกับสถานท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แห่งหนึ่งใน จ.เพชรบุรี
“แหลมผักเบี้ย” คือชื่อตำบลที่ตั้งอยู่ใน อ. บ้านแหลม จ.เพชรบุรี มีที่มาจากแหลมทรายแห่งหนึ่งที่ยื่นออกไปในทะเล โดยมีสันทรายที่น้ำท่วมไม่ถึงเป็นระยะทางยาวกว่า 3 กิโลเมตร ซึ่งเล่าขานกันสืบมาว่าแหลมทรายแห่งนี้ เป็นต้นกำเนิดของทรายเม็ดแรกในอ่าวไทย ตามแนวของสันทรายถูกปกคลุมด้วยพันธุ์ไม้เลื้อยที่มีความอดทนต่อความเค็มของน้ำทะเลคือ “ผักเบี้ย”ซึ่งเป็นที่มาของชื่อแหลมทรายแห่งนี้
ตามแนวของสันทรายแห่งนี้เป็นจุดที่เชื่อมต่อกันระหว่างหาดโคลนที่อุดมสมบูรณ์ด้วยสิ่งมีชีวิต ที่เป็นอาหารของมนุษย์ และสัตว์หน้าดินหลากชนิดที่อาศัยอยู่อย่างหนาแน่นระหว่างป่าชายเลนกับหาดทรายขาวละเอียดที่ทอดตัวยาวไปตามแนวเหนือ-ใต้ของคาบสุทรอินโดจีน
ด้วยลักษณะภูมิประเทศของแหลมผักเบี้ย ที่เดินทางเข้าไปได้ยากของมนุษย์ ทำให้แหลมทรายแห่งนี้ยังคงไว้ซึ่งความอุดมสมบรูณ์ทางธรรมชาติที่เงียบสงบและสวยสดงดงาม ราวกับสรวงสวรรค์อันสงบสุขของเหล่าบรรดานกอพยพนานาชนิด ที่ชักชวนกันเข้ามาอาศัยอยู่ที่บริเวณแหลมทรายแห่งนี้เป็นแหล่งพักพิงในฤดูหนาว รวมทั้งสิ่งมีชีวิตที่ต้องการอาศัยอยู่ในระบบนิเวศน์ของหาดทราย ที่สามารถเอื้อประโยชน์ให้แก่กันและกันเอาไว้อย่างอย่างดีเยี่ยม โดยเฉพาะนกหัวโตมลายู Malaysian Plover ซึ่งเป็นนกที่มีความผูกพันกับชายหาดของแหลมทรายแห่งนี้อย่างลึกซึ้งเพราะหาดทรายแห่งนี้คือแหล่งทำรังวางไข่ที่เหลืออยู่ไม่มากนักในจำนวนหาดทรายที่ปราศจากการรบกวนของประเทศไทย
โครงศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำหริ เป็นโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2534 เป็นหนึ่งในหลายโครงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชดำหริขึ้นมาเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมให้กับพสกนิกรชาวไทย ในเรื่องของ การบำบัดน้ำเสียและของเสียต่าง ๆ โดยใช้วิธีทางธรรมชาติด้วยระบบนิเวศที่ยั่งยืน และยังรวมไปถึงการฟื้นฟูป่าชายเลนที่อยู่ภายในพื้นที่ของโครงการฯ ให้เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์หน้าดินหลายชนิดและเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนได้มีพื้นที่หลบภัยอีกด้วย
ซึ่งในระหว่าง พ.ศ. 2534 ถึงปี พ.ศ. 2538 โดยมีการวางท่อส่งน้ำเสียมาจากเทศบาลเมืองเพชรบุรี เป็นระยะทางกว่า 18.5 กิโลเมตร เพื่อทำการศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการบำบัดน้ำเสียอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งมีการศึกษาและค้นคว้าระบบบำบัดน้ำเสียในรูปแบบต่างๆ จนได้ระบบบำบัดน้ำเสียที่มีประสิทธิภาพถึง 4 ระบบด้วยกัน คือ 1.ระบบบำบัดน้ำเสียด้วยบ่อพัก 2. ระบบบำบัดน้ำเสียด้วยหญ้าเลี้ยงสัตว์และพืชทั่วไป 3. ระบบบำบัดน้ำเสียด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ 4. ระบบบำบัดน้ำเสียด้วยป่าชายเลน ซึ่งบริเวณพื้นที่บำบัดน้ำเสียทั้ง 4 ระบบนี้ ล้วนเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับนักท่องเที่ยวหรือประชาชนทั่วไปได้รับทราบเรื่องราวต่างๆ จากธรรมชาติได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญในบริเวณนี้ยังเป็นแหล่งดูนกที่น่าสนใจอีกที่นักดูนกและนักถ่ายภาพนกไม่ควรมองข้ามอีกด้วย
โดยเฉพาะบริเวณบ่อบำบัดน้ำเสียด้วยหญ้าเลี้ยวสัตว์และพืชทั่วไปซึ่งมีพื้นที่ติดกับป่าแสม เป็นแหล่งดูนกป่าอพยพที่หาตัวได้ยากสามารถเห็นได้ในบริเวณนี้ในช่วงเวลาเช้าตรู่ โดยเฉพาะนกพงหลายชนิดที่ชอบหลบซ่อนตัวอยู่พงหญ้า เช่น นกพงตั๊กแตนท้ายทอยสีเทา นกกระจิ๊ด และนกจับแมลง ซึ่งนกจะบินข้ามไปมาระหว่างป่าแสมกับแปลงหญ้าทดลอง เพื่อจิกกินแมลงที่เกาะอยู่ตามใบหญ้า และมีอยู่บ่อยครั้งที่พบนกในกลุ่ม นกกระจาบ บินเข้ามาหากินเมล็ดพืชในแปลงหญ้านี้ด้วยในช่วงที่ฤดูผสมพันธุ์ของนกได้ผ่านพ้นไป
นกพงปากยาว Large-billed Reed Warbler ซึ่งคาดการณ์กันว่าสูญพันธุ์ไปแล้วจากโลกนี้ ก็ถูกค้นพบในแปลงหญ้าทดลองนี้ โดยการดักด้วยการดักตาข่ายดักนก เมื่อเดือน มีนาคม พ.ศ. 2549 ซึ่งเป็นการพบเห็นนกชนิดนี้เป็นครั้งที่ 2 ของโลก โดย ฟิลลิป ดี ราวด์ (Philip D. Round ) ผู้เชี่ยวชาญทางด้านปักษีวิทยาและการศึกษาเส้นทางการอพยพของนกโดยการติดห่วงขานก
นอกจากนี้ยังมี นกกรีดน้ำ Indian Skimmer นกที่มีโอกาสพบเห็นได้ยากมากในประเทศไทยก็ได้มาปรากฎตัวเป็นครั้งที่ 2 ของประเทศไทย โดยยืนพักผ่อนปะปนอยู่กับนกนางนวลชนิดอื่นๆในนาเกลือที่มีพื้นที่ติดกันกับโครงการฯ และยังบินข้ามรั้วเข้ามาหากินอยู่ในโครงการฯ ด้วยเช่นกัน ซึ่งนับว่าเป็นข้อมูลที่มีค่าและสำคัญยิ่งของโครงการฯ แห่งนี้
การก่อตั้งของโครงการฯ ก่อให้เกิดแหล่งน้ำจืดที่อุดมสมบูรณ์ขึ้นมาท่ามกลางพื้นที่นาเกลืออันกว้างใหญ่ นกน้ำขนาดใหญ่หลายชนิดที่เคยขัดสนในพื้นที่หากินที่ปลอดภัย ได้พากันมาเข้ามาอาศัยพื้นที่แห่งนี้เป็นแหล่งหากินถาวร โดยเฉพาะนกอพยพขนาดใหญ่ อย่างเช่น นกกระสานวล นกยางโทนใหญ่ ซึ่งในพื้นที่อื่นจะไม่สามารถเข้าใกล้นกเหล่านี้ได้เลย แต่สำหรับพื้นที่แห่งนี้ ทุกคนสามารถชื่นชมความงาม่ของนกเหล่านี้ได้ในระยะที่ใกล้อย่างเหลือเชื่อ
นกกาบบัว นกที่พบเห็นได้ไม่ง่ายนักเมื่อในอดีต แต่ในปัจจุบันสามารถพบเห็นได้บ่อยขึ้นในบริเวณพื้นที่ ต. แหลมผักเบี้ย และภายในพื้นที่โครงการฯ ซึ่งประชากรของนกกาบบัว ที่มีอยู่ในธรรมชาติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากความสมบูรณ์ในการเป็นแหล่งอาหารที่หลากหลาย ทำให้นกหลายชนิดตัดสินใจทำรังวางไข่อยู่ในป่าชายเลนภายในพื้นที่โครงการฯ เช่น นกแขวก นกกาน้ำเล็ก เหยี่ยวแดง
น้ำเสียที่นำเข้ามาสู่กระบวนการบำบัดได้แปรเปลี่ยนไปเป็นแหล่งสะสมธาตุอาหารอันหลากลายและมีปริมาณมหาศาล ทำให้สิ่งมีชีวิตที่หลากหลายหลั่งไหลกันเข้ามารวมกันอยู่ในพื้นที่ขนาด 1.03 ตารางกิโลเมตรภายในโครงการฯ เป็นแหล่งรวมนกน้ำ นกป่า และนกชายเลนนานาชนิด รวมทั้งสัตว์กินแมลงขนาดเล็กอีกเป็นจำนวนมาก ที่มารวมตัวกันอยู่ในพื้นที่แห่งนี้เพื่อใช้ประโยชน์จากแหล่งอาหารที่หลากหลายภายในโครงการฯ
ทั้งที่ในเบื้องต้นของโครงการฯ ไม่ได้มีเป้าหมายที่จะสร้างเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยให้กับสัตว์ป่าหรือเป็นพื้นที่สันทนาการสำหรับมนุษย์แต่อย่างใด จนกระทั่งระบบบำบัดน้ำเสียได้ทำงานอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้พื้นที่แห่งนี้มีศักยภาพต่อการเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์หลากชนิดที่เข้ามาอาศัยพื้นที่แห่งนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะ “นก” ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถเป็นดรรชนีชี้วัดถึงความอุดมสมบรูณ์ในพื้นที่ต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ทำให้พื้นที่โครงการฯ เป็นแหล่งดูนกที่ได้รับการยกย่องจากนักดูนกทั่วไปให้เป็นแหล่งดูนกที่ดีอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย อีกทั้งภายในสถานที่แห่งนี้ยังมีความเหมาะสมต่อ เยาวชนและประชาชนทั่วไป ในการเข้าไปศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลน และศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับนกทั้งนกประจำถิ่นและนกอพยพย้ายถิ่นของประเทศไทย
ถนนที่สร้างขึ้นโดยรอบบ่อบำบัดน้ำเสียภายในโครงการ ทำให้การเข้ามาเยี่ยมชมโครงการฯแห่งนี้ โดยเฉพาะกิจกรรมการดูนกและถ่ายภาพนกเป็นเรื่องง่าย รวมทั้งการจัดการพื้นที่ภายในโครงการฯ แบบหลากหลายซึ่งประกอบไปด้วย บ่อตกตะกอน บ่อน้ำกร่อย แปลงปลูกป่าชายเลน แปลงหญ้า สวนขนาดเล็ก และพรรณไม้อีกหลากชนิดที่ปลูกอยู่โดยรอบสำนักงาน รวมทั้งนาเกลือที่อยู่รายรอบโครงการฯ ไปจนถึงหาดทรายปลายแหลมผักเบี้ยอันเงียบสงบ ทำให้พื้นที่แห่งนี้มีความหลากหลายในด้านชนิดพันธุ์ของนกอพยพมากเป็นลำดับต้น ๆ ของพื้นที่อ่าวไทยตอนใน
นกที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ ล้วนสร้างความประทับตราตรึงใจให้ผู้พบเห็นเป็นยิ่งนัก ทั้งจำนวนที่มากและชนิดที่หลากหลาย รวมทั้งการเพิ่มจำนวนประชากรนกน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่โครงการฯ เช่น นกกาน้ำเล็ก นกกาน้ำปากยาว นกแขวก นกยางเปีย และนกยางโทนใหญ่ การที่นกชนิดต่าง ๆ พากันมาอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นจำนวนมากอย่างนี้ อาจสาเหตุมาจากการชลประทานที่ดีขึ้นในพื้นที่ภาคกลางตอนก็เป็นได้ จึงทำให้นกเหล่านี้ตัดสินใจทำรังวางไข่ภายในพทื้นที่โครงการฯ เหยี่ยวแดงก็เป็นหนึ่งในนกผู้ล่าที่สามารถพบเห็นได้บ่อย ๆ บินร่อนอยู่เหนือบ่อบำบัดน้ำเสียภายในโครงการฯ รวมทั้งนกแขวกที่ออกมาหากินในตอนกลางวันบริเวณบ่อพักที่ทางโครงการฯได้ปล่อยพันธุ์ปลาเอาไว้เพื่อตรวจดูค่าออกซิเจนที่ละลายอยู่ในน้ำ
ตามหัวเสาในบ่อพักน้ำ เป็นอีกแห่งหนึ่งนกหลากชนิดไม่ยอมพลาดโอกาสในการฉกฉวยประโยชน์ ทั้งนกน้ำขนาดใหญ่ไปจนถึงนกขนาดเล็ก นกกาน้ำ นักล่า ที่มีความสามารถเยี่ยมยอดในการจับปลา ก็เป็นอีกหนึ่งชนิดที่จับจองอยู่ตามหัวเสา บางครังก็ก็ลงไปแหวกว่ายอยู่ในน้ำเมื่อได้ปลาแล้วก็จะรีบกลืนลงไปทันทีหลังจากนั้นจึงบินไปเกาะตามหัวเสากางปีกให้แห้งเพื่อรอเหยื่อรายต่อไป
นกรัฟ ซึ่งเป็นนกที่พบได้ไม่ง่ายนักในสถานที่อื่นๆ แต่สำหรับในพื้นที่โครงการฯ สามารถพบนกรัฟได้ง่ายและเป็นประจำทุกปี ในบ่อน้ำกร่อยที่มีความหนาแน่นของป่าชายเลนน้อย สามารถพบนกได้หลายชนิดเดินหากินปะปนกัน เช่น นกปากซ่อมหางพัด นกตีนเทียน นกสติ๊นท์นิ้วยาว และนกยางอีกหลายชนิด
บริเวณป่าชายเลนผืนใหญ่ภายในโครงการฯ แม้จะมีความหลากหลายในด้านชนิดพันธุ์ของนกค่อนข้างน้อย แต่สามารถเป็นแหล่งรองรับประชากรของนกนานาชนิดในยามพลบค่ำได้เป็นจำนวนมากในช่วงพลบค่ำจะมีนกนานาชนิดที่ออกไปหากินอยู่ในที่ต่างๆ พากันบินกลับมาอาศัยผืนป่าชายเลนแห่งนี้เป็นที่หลับนอนในยามค่ำคืน สัลับการบินออกไปหากินของฝูงค้างคาวแม่ไก่ที่อาศัยผืนป่าชายเลนแห่งนี้เป็นที่หลับในตอนกลางวัน ซึ่งกว่าที่ประชากรตัวสุดท้ายของค้างคาวแม่ไก่ฝูงนี้จะบินออกจากไปแนวป่าชายเลนก็ต้องใช้ระยะเวลานานถึง 30 นาที
เบื้องหลังแนวป่าชายเลนของโครงการฯคือหาดเลนอันกว้างใหญ่ ที่เป็นแหล่งอาหารอันอุดมสมบูรณ์ของนกชายเลนอพยพและผู้ที่มีรายได้น้อยบางกลุ่ม ซึ่งเข้าอาศัยประโยชน์จากหาดเลนพื้นนี้เป็นแหล่งสร้างรายได้ในการยังชีพให้กับตนเองและครอบครัว
หอยแครง และหอยชนิดอื่นๆที่มีอยู่อย่างมากมายเป็นผลพลอยได้จากน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วจากโครงการฯ ที่ปล่อยลงสู่ทะเล แร่ธาตุและสารอาหารต่างๆที่หลงเหลือไปกับน้ำทำให้หาดเลนบริเวณนี้อุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์หน้าดินหลากชนิดทั้งที่เป็นอาหารของมนุษย์เช่นหอยแครง รวมทั้งสัตว์หน้าดินที่เป็นอาหารของนก เช่น ปูขนาดเล็ก ไส้เดือนทะเล หอยขนาดเล็ก และสัตว์น้ำวัยอ่อนชนิดต่าง ๆ รวมทั้งปลาตีน ก็เป็นอาหารของนกชายเลนได้เช่นกัน
จากความหลากหลายในสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศน์ภายในโครงการฯ ทำให้พบนกที่ตกอยู่ในภาวะถูกคุกคามหรือใกล้ถูกคุกคามหลายชนิด และนกที่ใกล้สูญพันธุ์อีกหลายชนิด รวมไปถึงจำนวนประชากรของนกที่มีความสำคัญในระดับนานาชาติ ด้วยเหตุนี้พื้นที่ภายในโครงการและอีกหลายพื้นที่ใน ต. แหลมผักเบี้ย จึงมีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ในระดับนานาชาติตามไปด้วย
วันนี้โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราช ดำริ ไม่ได้เป็นเพียงแค่แหล่งดูนกชายเลนที่ได้รับความนิยมจากนักดูนกและนักถ่ายภาพเพียงอย่างเดียว หากยังเป็นแหล่งรวบรวมความรู้ทางด้านงานวิจัยที่หลากหลายเรื่องราวของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในพื้นที่โครงการฯ แห่งนี้ อย่างไม่มีวันจบสิ้น
แล้วคุณผู้อ่านล่ะครับจะตัดสินใจเข้ามาเยี่ยมชมโครงการฯ ของพ่อเมื่อไหร่ดี
เรื่องและภาพ : วิชา นรังศรี
นิตยสารโฟโต้อินโฟ ฉบับเดือน ธันวาคม 2553