หลายๆ ครั้งที่ไปเที่ยวสวนสัตว์ แล้วอยากจะถ่ายภาพสัตว์ที่อยู่ในกรง แต่ถ่ายยังไงก็ยังเห็นกรงที่ขวางอยู่ด้านหน้า แถมบางครั้งกล้องยังโฟกัสกรงซะอีก พาลไม่อยากจะถ่ายเอาซะเลย
จริงๆ สวนสัตว์ เป็นสถานที่สำหรับฝึกถ่ายภาพได้เป็นอย่างดีทีเดียว ส่วนที่ถ่ายภาพออกมาแล้ว ติดกรงบ้าง กล้องโฟกัสกรงบ้าง นั่นเพราะว่าเรายังตั้งค่าไม่ถูกต้อง และยังเลือกใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสมนั่นเอง มาดูวิธีกันครับ ว่ามีวิธีไหนบ้าง และทำยังไง ถึงจะไม่ให้ติดกรง
หลายๆ คน ที่ไปเที่ยวสวนสัตว์ แล้วถ่ายภาพสัตว์ที่อยู่ในกรง แล้วกล้องอาจจะโฟกัสที่กรงแทนตัวสัตว์ หรือมีเส้นสายของกรงติดมาด้วย ทำให้ตัวแบบ หรือสัตว์ที่ต้องการถ่ายภาพไม่เด่นชัดเท่าที่ควรครับ วิธีที่ว่านี้ก็ใช้หลักการของการถ่ายภาพชัดตื้นครับ ซึ่งภาพชัดตื้นก็คือ ชัดเฉพาะจุดที่ต้องการ ส่วนอื่นๆ เช่น ฉากหน้า หรือฉากหลัง จะ out of focus หรือเบลอนั่นเอง
วิธีการนี้ เป็นวิธีที่ช่างภาพ Portrait ใช้กันอยู่บ่อยๆ โดยวิธีการถ่ายภาพสัตว์ที่อยู่ตามสวนสัตว์ ซึ่งหลายๆ ชนิด จะมีกรงกั้นไว้ เพื่อป้องกันสัตว์นั้นๆ หนีหายไป รวมทั้งช่วยป้องกันอันตรายได้ด้วย การถ่ายภาพสัตว์ที่อยู่ในกรง และไม่ให้ติดกรงมานั้น มีวิธีที่ไม่ยุ่งยากมากนัก ไปดูกันว่า จะทำอย่างไรบ้าง
ใช้เลนส์ช่วงเทเลโฟโต้
เลนส์เทเลโฟโต้ จะมีช่วงชัดตื้นที่มากกว่าเลนส์อื่น เมื่อถ่ายจากจุดเดียวกัน ซึ่งคุณสมบัตินี้ จะช่วยให้กรงสัตว์ที่อยู่ด้านหน้า หรือด้านหลังของสัตว์ที่เราต้องการถ่ายภาพเบลอได้ง่ายขึ้นจากคุณสมบัติของเลนส์เทเลโฟโต้นั่นเอง ซึ่งระยะที่เหมาะสมจะอยู่ที่ประมาณ 85-200 มม. สำหรับสัตว์ในสวนสัตว์แบบมีกรงทั่วๆ ไปครับ
ใช้เลนส์ที่มีรูรับแสงกว้างๆ
คุณสมบัติของรูรับแสงคือ ควบคุมระยะชัดตื้น-ชัดลึกอยู่แล้ว ดังนั้นเลนส์ที่มีรูรับแสงกว้างๆ เช่น f/1.4, f/1.8, f/2.0 f/2.8 จะได้เปรียบมากกว่าเลนส์ที่มีขนาดรูรับแสงกว้างสุดแคบกว่า ซึ่งเมื่อเปิดรูรับแสงกว้าง ระยะชัดจึงอยู่เพียงแค่ซับเจกต์ของเราเท่านั้นเอง ดังนั้น กรงสัตว์จึงเบลอจนดูเหมือนหายไปนั่นเอง
เลือกจุดโฟกัสแบบจุดเดียว
การเลือกจุดโฟกัสแบบออโต้ หรือแบบกลุ่ม มีโอกาสที่กล้องจะไปโฟกัสที่กรงสัตว์แทนตัวสัตว์มากทีเดียว เนื่องจากกล้องจะถูกโปรแกรมไว้ ให้เลือกโฟกัสอะไรก็ตามที่อยู่ใกล้กล้องมากที่สุด ดังนั้น การเลือกจุดโฟกัสเองจุดเดียว จะทำให้เล็งโฟกัสผ่านกรงสัตว์ไปที่ตัวแบบได้ดีและแม่นยำมากกว่า
ให้หน้าเลนส์อยู่ติดกับกรงสัตว์
ถ้าถ่ายจากระยะไกล มีโอกาสที่จุดโฟกัสจะไปอยุ่ที่กรงแทน ซึ่งบางรุ่น บางยี่ห้อ กรอบโฟกัสมีขนาดที่ค่อนข้างใหญ่ ถึงจะเลือกเป็นจุดเดียวแล้วก็ตาม โอกาสที่จุดโฟกัสจะครอบคลุมไปถึงซี่กรง และกล้องจับโฟกัสที่กรงจะมีสูงทีเดียว รวมทั้ง เมื่อถ่ายภาพจากระยะห่าง ถึงจะใช้รูรับแสงกว้างๆ แต่ซี่ของกรงก็อาจจะเบลอไม่มากพอนั่นเอง ดังนั้น ควรจะให้หน้าเลนส์อยู่ชิดติดกรงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้เบลอจนหายไปนั่นเอง
บางครั้งอาจจะมีแสงแดดตกลงมาที่กรง ทำให้ซี่กรงนั้น ถึงแม้จะเบลอๆ แต่ก็สว่างฟุ้งได้ ทำให้สีสันของภาพไม่อิ่มเท่าที่ควร วิธีแก้ไขคือ เอามือหรือผ้าดำๆ กันแสงไม่ให้ตกลงมาที่ซี่กรง เฉพาะที่อยู่ตรงหน้าเลนส์ เท่านี้ก็แก้ปัญหาแสงฟุ้งๆ รบกวนภาพได้แล้วล่ะครับ
ถ้าเป็นกรงสัตว์ที่อาจจะก่อให้เกิดอันตรายได้ ก็ควรระมัดระวังในการถ่ายภาพติดๆ กรงด้วย จำเป็นต้องถอยออกห่างเล็กน้อย หรือรอจังหวะที่สัตว์นั้นๆ อยู่ห่างๆ จากซี่กรง
เลือกซับเจกต์ที่อยู่ห่างจากกรง
หลักการถ่ายภาพชัดตื้นอย่างหนึ่งคือ ซับเจกต์จะต้องอยู่ห่างจากฉากหลังให้มากที่สุด การถ่ายภาพสัตว์ในกรงก็เช่นเดียวกันครับ ควรเลือกจังหวะที่สัตว์นั้นๆ อยู่ห่างจากกรงสัตว์ ทั้งด้านหน้า และด้านหลัง สำหรับกรงด้านหลัง อาจจะไม่ต้องถึงขนาดซีเรียสมากนัก เพราะไม่ได้รบกวนความชัดของซับเจกต์มากนัก แต่ต้องคำนึงถึงกรงสัตว์ที่อยู่ด้านหน้าเป็นหลัก
ถ้าซี่กรงนั้นอยู่ใกล้ๆ กับตัวสัตว์ ความเบลอย่อมน้อยลง ตามระยะโฟกัสที่ใกล้เคียงกัน ดังนั้นก็ควรเลือกถ่ายภาพสัตว์ที่อยู่ห่างจากกรงด้านหน้าให้มากที่สุดครับ
Leave feedback about this