บทความเทิดพระเกียรติ

ตามรอยโครงการหลวง

ค่ำคืนเหน็บหนาว บนดอยสูง 1,300 เมตร และกระป๋องน้ำสีอำพันเย็นเฉียบอย่างกับแช่ตู้เย็นทั้งที่พึ่งแกะจากกล่องกระดาษ เป็นเรื่องไม่ประจำ ไม่สันทัดสำหรับช่างภาพสารคดีแปลกถิ่นอย่างผม  แต่ด้วยเหตุที่ต้องกระชับพื้นที่ทุกสิ่งเข้าไว้ในภารกิจผมจึงต้องรีบทำความรู้จักกับอากาศเย็นที่อยู่ๆ ก็เย็นกระทันหันอย่างกับพึ่งนึกได้เพื่องานที่กำลังจะเริ่มในยามดึกดื่นบนยอดดอยประชิดชายแดนพม่า  “ไปคนเดียวได้แน่นะ” ขจร สุริยา ชายช่างเจรจาเจ้าหน้าที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขางถามย้ำๆ ด้วยความเป็นห่วงก่อนจะทิ้งผมไปในความมืดพร้อมกับเสียงควบมอเตอร์ไซต์วิบากสีแดงใหม่เอี่ยม

69-3-9

ชายสูงโปร่งผิวขาวไม่ต่างจากคนเหนือทั่วไป แนะนำให้ผมไปพบกับเจ้าหน้าที่ของโครงการหลวงอีกคนที่เป็นชาวบ้านหมู่บ้านเล็กๆ บนดอยอ่างขาง  อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ นามบ้านขอบด้งซึ่งในคืนมืดมิดต้นฤดูหนาวนี้ ฝุ่นตรงลานกลางหมู่บ้านจะฟุ้งกระจายอีกรอบ  งานเลี้ยงทำบุญและการเต้นรำที่ทำกันเฉพาะคนในหมู่บ้านหลังเสร็จฤดูเก็บเกี่ยวนี้กำลังถูกเตรียมการอย่างเรียบๆ ด้วยการเรี่ยไรเงินเพื่อซื้อหาหมูดำตัวขนาดกำลังดีสัก 2-3 ตัว เพื่อทำอาหารเลี้ยงคนในหมู่บ้าน  ผมยังจำกลิ่นคาวเลือดสดๆ เคล้ากลิ่นขนหมูไหม้บนกองไฟเมื่อก่อนตะวันตกดินได้เพราะบางส่วนยังคงติดตามเสื้อกันหนาวที่ผมใส่ดูการชำแระหมูเพื่อเตรียมงาน  มีดประจำกายที่เคยฟันไร่ของพวกผู้ชายวัยทำงานถูกหยิบติดมือมาเพื่อระดมตัดฟืนแล้วโยนเข้ากองไฟอย่างไม่ใยดี  ปล่อยให้เปลวไฟในกองเขื่องๆ ลนขนหมูจนเกรียม  แล้วมีดชุดเดิมอีกเช่นกันที่ทำหน้าที่ขูดขนหมูออกจากร่างไร้วิญญาณจนดูเอี่ยมอ่องเกลี้ยงเกลาเหลือแต่เพียงหนังสีเทาสะอาดผิดตาจากที่เห็นในครั้งแรก  ไม่นานหมูสามตัวก็พลัดกันขึ้นบนกองไฟขูดขนแล้วประคองลงมาควักเครื่องในออกทำความสะอาดพร้อมทำเป็นอาหารมื้อพิเศษสำหรับพี่น้องลาหู่(มูเซอ) ทั่วทุกกระท่อมหย่อมเรือน

แสงจากรถขับเคลื่อนสี่ล้อของผมสาดสว่างจ้าไล่ความมืดตรงหน้าออกไปตลอดทางลาดยางแคบๆ ไต่เนินเขาจากสโมสรสถานีเกษตรหลวงอ่างขางสู่ขอบอ่างที่เป็นเทือกเขาแห่งบ้านขอบด้ง เพื่อร่วมงานอีกครั้งในช่วงเวลาราวห้าทุ่มที่จะถึงในอีกไม่เกินอึดใจ  หากไม่มีแสงจากหน้ารถคงไม่ต้องนึกว่าผมจะอาจหาญฝ่าเงามืดบนยอดเขาของดินแดนที่เคยได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่ปลูกฝิ่นแหล่งใหญ่ที่ลี้ลับเช่นนี้ขึ้นมาจนถึงกลางหมู่กระท่อมมุงแฝก กระทั่งได้พูดคุยกับชาวบ้านที่มารอทำบุญเลี้ยงผี และเต้นจะคึ

69-3-2

“ชาวบ้านแถบนี้อยู่ได้ด้วยการปลูกฝิ่น” เป็นคำพูดของวิชิตชายชาวลาหู่คนนึง ที่เกริ่นให้ฟังด้วยสำเนียงแบบชาวเขาถึงเหตุการณ์ในอดีตก่อนจะเล่าต่อถึงการหายไปของอาณาจักรดอกฝิ่น และการถากถางป่าทำไร่ ครั้งหนึ่งที่โครงการหลวงเข้ามาดำเนินการ

“นั่นคงจะสัก 40 ปี มาแล้วมั้ง” วิชิตคะเน เวลา  ซึ่งจากข้อมูลของโครงการได้บอกไว้ว่า

โครงการหลวงถูกตั้งขึ้นจากแนวพระราชดำริ และพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าหัว หลังจากการเสด็จประพาสต้นบนดอยทางภาคเหนือ ชึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานเมื่อ พ.ศ. 2512 เพื่อพัฒนาการทำเกษตรบนที่สูง ลดการปลูกฝิ่น และอนุรักษ์ป่าต้นน้ำลำธาร โดยจะช่วยเหลือราษฎรชาวไทยภูเขาในท้องถิ่นธุรกันดาร ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ในระยะแรกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อว่า “โครงการหลวงพระบรมราชานุเคราะห์ชาวเขา” แต่งตั้งหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโครงการ  ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “โครงการหลวงพัฒนาชาวเขา” “โครงการหลวงภาคเหนือ” และ “โครงการหลวง” ในที่สุด  ทั้งนี้วัตถุประสงค์หลักก็คือ  การป้องกันการทำลายป่าต้นน้ำ ส่งเสริมการปลูกป่าทดแทน จัดให้ราษฎรชาวเขาเลิกโยกย้ายที่ทำกิน และทำลายป่าเพื่อปลูกฝิ่นซึ่งเป็นการผิดกฎหมาย ให้รู้จักอยู่เป็นหลักแหล่งโดยหาพันธุ์พืชที่ทดสอบแล้วว่า สามารถปลูกได้ในสภาพภูมิประเทศ และสภาพภูมิอากาศที่เป็นที่อยู่ของราษฎรชาวเขาอีกทั้งทำรายได้สูงเท่ากับการปลูกฝิ่น หรือมากกว่า  การฝึกอบรมให้เกษตรกรเข้าใจหลักวิชาการเกษตรที่สูง รวมทั้งการเลี้ยงสัตว์  การทดลองวิจัยพันธุ์พืช และพันธุ์สัตว์ที่สามารถขยายพันธุ์ให้แก่ราษฎร เพื่อนำไปเพาะปลูกและเลี้ยงเพิ่มพูนรายได้ โดยศึกษาในด้านการขนส่ง และภาวะตลาดด้วย ตลอดจนการส่งเสริมการศึกษา อนามัย และการวางแผนครอบครัวแก่ชาวเขา  โดยเป้าหมายของโครงการคือ ช่วยชาวเขาเพื่อมนุษยธรรม ลดการทำลายป่าต้นน้ำลำธาร กำจัดการปลูกฝิ่น รักษาดินเพิ่มประโยชน์ทางเศรษกิจของประเทศ ซึ่งในปัจจุบันมีผลสำเร็จมากมาย อย่างน้อยก็จากปากของวิชิตชาวบ้านที่เคยล่าสัตว์ป่าแถบนี้ว่า “ก่อนหน้านี้ไม่ค่อยมีหรอกครับเก้งเพราะมีแต่ป่าหญ้าคา แต่เดี๋ยวนี้มีป่าขึ้นมาบ้างแล้ว ผมได้นอนฟังเสียงเก้งร้องทุกวัน บางวันเข้ามาใกล้ๆ หมู่บ้านก็มี”

69-3-3

พื้นที่ดอยอ่างขางก่อนที่โครงการหลวงจะเข้ามาดำเนินงานนั้น ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่โล่งเตียนเป็นเขาหัวโล้นมีเพียงหญ้าคาสลับกับดงดอกฝิ่นที่ปลูกเป็นพืชเกษตรหารายได้เลี้ยงชีพของชาวเขาทั้ง ดารอั้ง ลาหู่ และชาวจีนยูนาน ที่อพยพมาตั้งบ้านเรือนบนดอยสูงนี้  ด้วยการเดินทางที่ทุรกันดารต้องเดินเท้าจึงยากแก่การเข้าถึงของหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการดำเนินการปราบปรามป้องกันแก้ปัญหาฝิ่นที่ระบาดหนัก และสร้างความเสียหายแก่สุขภาพของผู้เสพ  แต่ด้วยเพราะพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทำให้การแก้ปัญหาฝิ่นด้วยการปลูกพืชทดแทนประสบผลสำเร็จ ทั้งยังสามารถรักษาป่าต้นน้ำ และสร้างรายได้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเขาให้ดีขึ้น

69-3-1

“แว้  แว้  วูว  ว้อ  วูว ว้อ วูว แว้ ……..”  เกือบห้าทุ่มเสียงเป่าสลับดูดเครื่องดนตรีทำนองเนิบนาบแต่เป็นจังหวะจะโคนทุ้มลึกค่อยๆ ดังใกล้เข้ามาพร้อมเสียงรองเท้าแตะ รองเท้ายางหุ้มส้นเดินย่ำพื้นดินแห้งมุ่งหน้ามายังลานดินกลางหมู่บ้าน  ที่ล้อมรอบด้วยไม้ไผ่สานขัดแตะแน่นหนาเป็นวงกลมขนาดสำหรับจุคนได้ราวสักหกสิบ  ประตูไม้ซีกถูกยกแล้วดึงเปิดออกต้อนรับผู้มาพร้อมกับเสียงแคนหน่อกู่มา อย่างกับนัดกันไว้  หัวขบวนคือชายแก่สูงโปร่ง ตาชั้นเดียว ในชุดเสื้อไหมพรมแขนยาว สวมหมวกไหมพรม และใบหน้าตอบๆ ตามด้วยคนเป่าแคนหน่อกู่มา เครื่องดนตรีชนิดเดียวที่ใช้ในพิธีทำบุญเลี้ยงผีนี้  ที่เหลือคือขบวนของชาวบ้านที่แทบทั้งหมดเป็นผู้ชายและวัยรุ่น ที่เดินตัวปลิวมาราวไม่ถึงสิบคน การทำบุญดังกล่าวเป็นพิธีเฉพาะของชาวลาหู่ที่ทำกันหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตในไร่อาทิ ข้าวไร่ ข้าวโพด เผือก มัน ถั่ว เสร็จเรียบร้อย เพื่อเป็นการบอกกล่าวขอบคุณดวงวิญญาณที่ช่วยดูแลให้พืชผลเก็บได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย และเป็นการบำรุงขวัญของคนในหมู่บ้าน โดยพิธีเริ่มตั้งแต่เช้าด้วยการทำพิธีเลี้ยงบอกล่าวดวงวิญญาณที่บ้านของจะหมอ หรือผู้นำทางจิตวิญญาณ แล้วออกไปตัดไม้ฟืนในป่าท้ายหมู่บ้านตอนช่วงสาย ตกเย็นก่อนค่ำคือการทำอาหารเลี้ยงคนในหมู่บ้าน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเนื้อสัตว์เช่นหมูซึ่งจะเป็นมื้อพิเศษที่ไม่ค่อยได้กินกันบ่อยๆ และช่วงสุดท้ายคือรอบดึกที่กำลังทำกันอยู่นี้  หลังจากเข้ามากลางลานจะหมอจะนำเทียนมาจุดขึงผ้าล้อมวงไม่ให้เทียนดับ และบอกกล่าวดวงวิญญาณโดยมีกระบุงใส่ข้าวตอกวางไว้กลางวง  พิธีเรียบง่ายนี้จบลงด้วยการเต้นเป็นวงกลมรอบกองไฟ หรือเทียนที่จุดกลางลาน หรือเรียกว่า เต้นจะคึ สองสามรอบ แล้วนั่งพักผ่อนพูดคุยวิสาสะกัน ก่อนที่จะมีชาวบ้านจากหย่อมบ้านอื่นอีกมาร่วมทำพิธีเลี้ยงแบบเดียวกันซึ่งในหนึ่งหมู่บ้านอาจจะมีสองหรือสามหย่อมบ้าน กระทั่งเสร็จพิธีครบทุกหย่อมบ้านในราวตีสองของคืนเป็นอันเสร็จพิธีการ

69-3-4

“บุญนี้คนน้อยครับ ถ้าเป็นงานปีใหม่คนจะเยอะมากทั้งผู้หญิง ผู้ชาย เด็กๆ และคนจากต่างหมู่บ้าน หรือต่างจังหวัดก็จะมาร่วมด้วย” จะหา เด็กหนุ่มรุ่นใหม่ สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลเปรยขึ้นท่ามกลางบรรยากาศเหงาหงอย ก่อนจะแอบกลับบ้านก่อนคนอื่นๆ

“ช่วงนี้งานของเกษตรกรของโครงการหลวงอ่างขางจะเป็นการเก็บผลผลิตเป็นส่วนใหญ่” เสียงเจ้าหน้าที่สาวของสถานีเกษตรพูดก่อนจะนำผมเดินทางไปยังไร่ของชาวบ้านที่ร่วมโครงการซึ่งส่วนใหญ่ที่นี่จะเป็นสวนผักปลอดสารพิษ ผักอินทรีย์ สตรอเบอรี่ ท้อ และชา ซึ่งปลูกบนที่สูง อากาศหนาวเย็นตลอดปีเพื่อที่จะไม่ต้องไปแย่งตลาดของพืชเกษตรที่ปลูกกันตามที่ราบในภาคอื่นๆ ของประเทศ  ซึ่งก็นับเป็นแนวพระราชดำริของในหลวงอีกเช่นกัน

หลายวันบนดอยอ่างขางที่เป็นสถานีที่เน้นงานวิจัยไม้เมืองหนาว ผมตัดสินใจออกเดินทางไปยังดอยอื่นที่มีงานของโครงการหลวงทำงาน ส่งเสริมพัฒนาชาวบ้าน  โดยไปในที่ที่ไม่ค่อยคุ้นหูนักอย่างศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแกน้อย อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ด้วยการขับรถลัดเลาะไปตามแนวเขาสูงเลียบตะเข็บชายแดนอีกเช่นเคย  ซึ่งบนเส้นทางก่อนจะถึงแกน้อยราว  20 กิโลเมตร เป็นถนนลาดยางมะตอยตัดใหม่ความหนาระดับเพียง 1.5 เซนติเมตร อาจจะนับได้ว่าหนาน้อยที่สุดเท่าที่ผมเคยเจอมาเลยทีเดียวทำให้คิดว่าพื้นที่ห่างไกลอีกหลายแห่งในประเทศคงมีสภาพไม่ต่างกัน นี่ยังไม่นับถนนคอนกรีตเสริมลวดช่วงแยกเข้าแกน้อยที่เส้นเหล็กเสริมถนนคดงอโผล่พ้นหลุมบ่อจำนวนมาก มันเล็กซะจนไม่น่ามีหน่วยงานไหนกล้าออกมายืดอกแสดงตัวเป็นเจ้าของงานเลยทีเดียว

69-3-5

ในที่สุดหนทางลัดเลาะข้ามลำห้วยเดิมที่สภาพถนนพังๆ ผสมหินแม่น้ำที่ชาวบ้านนำมาเททับหลุมบนพื้นถนนเองก็นำผมผ่านทุ่งนากว้างใหญ่ที่อยู่บนยอดดอยสูง  สีเหลืองทองสุดลูกหูลูกตาแม้จะมีร่องรอยการเก็บเกี่ยวไปบ้างก็พอทำให้นึกไปได้ว่าชาวบ้านแถบนี้น่าจะมีข้าวพอกินตลอดทั้งมี หรือบางคนอาจได้ขายเป็นรายได้

“ชาวบ้านหลายคนถึงกับเอาข้าวไปทำซูชิญี่ปุ่นขายในเมืองเลยครับ แล้วพอมีคนทำตอนนี้ก็ตามกันไปหลายแห่งทั้งเชียงใหม่ นครสวรรค์ฯลฯ” พิชัย หัวหน้าศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแกน้อยพูดให้ข้อมูลหลังจากผมตะลุยไปถึงงานของที่นี่ส่วนใหญ่จะเน้นพืชเกษตรที่เป็นพืชไร่ทั้งถั่วแดงหลวง ถั่วอาซูกิ ถั่วขาว ข้าวนา และข้าวไร่  โดยเฉพาะข้าวนาในทุ่งกว้างที่ผ่านมาเมื่อครู่ พิชัยและเจ้าหน้าที่ต้องคอยให้คำแนะนำในเรื่องการควบคุมโรคและแมลง การพัฒนาให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ รวมถึงการส่งเสริมการคัดเลือกพันธุ์ข้าวไร่สายพันธุ์ดีที่ชาวบ้านนิยมปลูกอยู่แล้ว อย่างพันธุ์ เล่าซูหยา ที่ทั้งหอมและนิ่ม  ส่วนสิ่งที่ผมตั้งใจมาดูที่นี่ก็คือ ไร่ถั่วแดงหลวงพันธุ์พระราชทานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้กับเกษตรกรเพื่อปลูกทดแทนฝิ่นซึ่งปัจจุบันนี้ก็ยังคงมีการปลูกเป็นรายได้เสริมอยู่เหมือนเมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมา  ที่บ้านแกน้อยมีหย่อมบ้านอยู่ด้วยกันหลายหย่อม มีทั้งมูเซอ ไทใหญ่ จีนยูนาน หลายชนเผ่าแต่ก็อยู่ด้วยกันได้อย่างสงบเพราะการดำเนินงานของโครงการหลวง พ่อเฒ่าปะแนะ ปูเละ หย่อมบ้านแม่แกนอดีตหัวหน้ากองกำลังมูเซอแดง วัย 84 ปี ผู้ซึ่งเคยเข้าเฝ้ารับเสด็จในหลวงถึงกับบอกว่า “แต่ก่อนแต่ละเผ่าไม่ค่อยถูกกัน พอร่วมงานกับโครงการหลวงก็ได้พูดคุยรู้จักคุ้นเคยกันมากขึ้น” ส่วนพื้นที่นี้เป็นดงฝิ่นมาตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ. 2523 โดยชาวเขาเป็นคนปลูกมีคนเมืองมารับซื้อไปขาย พ่อเฒ่าเล่าแบบกระชับๆ ก่อนจะพูดถึงสิ่งที่ในหลวงทรงรับสั่งเมื่อครั้งที่เข้าเฝ้ารับเสด็จว่า “ทำงานอะไร อาชีพอะไร ?” พ่อเฒ่าตอบว่า “ปลูกฝิ่น” ในหลวงจึงรับสั่งกับพ่อเฒ่าต่อว่า “ให้เอาฝิ่นออกไป ให้ปลูกผัก ให้ปลูกถั่ว” หลังจากนั้นไร่ฝิ่นก็ค่อยๆ หายไปจากพื้นที่แนวชายแดนแถบนี้จนกระทั่งปัจจุบัน

เย็นวันนั้นผมเดินไปตามไร่ที่อยู่บนไหล่เขาของชาวบ้านที่กำลังเก็บเกี่ยวถั่วแดงหลวงในไร่  แทบจินตนาการไม่ได้ว่าพื้นที่ป่าเก่าๆ พวกนี้เป็นไร่ฝิ่นมาก่อนหากไม่มีใครบอกข้อมูล  ภาพชาวบ้านกำลังเก็บเกี่ยวถั่วแดงหลวงแล้วนำมาหวดด้วยไม้ขอที่ทำจากไม้ไผ่ให้ถั่วแดงหลวงเม็ดงามๆ หลุดออกจากฝักแห้งกับรอยยิ้มแก้มแทบฉีกเมื่อถูกถ่ายรูปยังคงติดตา แต่เมื่อถูกถามเรื่องราคาผลผลิตถั่วแดงหลวง ชาวบ้านตอบด้วยสีหน้าห่อเหี่ยวว่า “ปีนี้ราคาไม่ค่อยดี ปีหน้าคงต้องเอาใหม่”

69-3-7

ทิวทัศน์ยามเช้าของทุ่งนาบนดอยสูงกับไอหมอกลอยอบอวลช่างงดงามจับจิตเมื่อตอนที่ผมขับรถออกจากแกน้อยมุ่งหน้าสู่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอยที่ซึ่งแตกต่างกับศูนย์ฯ แกน้อยอยู่มากอักโขในเรื่องรายได้ของเกษตรกร  ที่บ้านหนองหอย อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ที่นี่มีข้อมูลว่าเกษตรกรร่ำรวยขนาดหนักจากการปลูกผักเมืองหนาว เช่น พี่ชายของนุกูล ชาวเขาเผ่าม้งที่มีบ้านคอนกรีตสมัยใหม่ราคาเกือบห้าล้านบาทหลังงามติดกับรีสอร์ทหรู  ส่วนนุกูลก็ขับรถกระบะใส่โครงเหล็กท่อประปาสำหรับขนผักและใช้งานในสวนผักกาดหอมเขียวเนื้อที่ราว 2 ไร่ “หากขายทั้งหมดในราคาตอนนี้ ก็น่าจะได้สักแสนหกหมื่นบาทครับ” นุกูลพูดอย่างไม่ต้องถ่อมตัว “คันนี้รถขับเข้าสวนนะค่ะพี่ รถขับเข้าเมืองของพี่นุกูลน่ะอีกคัน” อี๊ด เจ้าหน้าที่ส่งเสริมเกษตรกรของศูนย์ฯ หนองหอย ช่วยเสริม ขณะที่นุกูลก็ยิ่งหน้าบานอย่างกับผักกาดแปลงงามในสวนที่ล้อมรั้วลวดหนามอย่างกับเขตหวงห้าม

69-3-6

ค่ำคืนหนาวนั้นผมเข้าพักในเต็นท์แบบสามคนนอน ที่มีเครื่องอำนวยความสะดวกเพียบพร้อมและห้องน้ำส่วนตัว ที่ม่อนแจ่ม แคมป์ปิ้งรีสอร์ท ของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอยบนจุดชมวิวยอดดอยที่สามารถมองเห็นทิวทัศน์แสงไฟเรืองรองของอำเภอแม่ริม และตัวเมืองเชียงใหม่ ท่ามกลางลมหนาวพัดแรงจนเย็นเข้ากระดูกหลังอาหารที่เป็นผักสดๆ กรอบๆ ของโครงการหลวงมันอร่อยซะจนอดคิดถึงพระวิริยะของพระบาทสมเด็จประเจ้าอยู่หัวไม่ได้ที่ทรงงานจนมีคุณูปการต่อพสกนิกรของพระองค์ ไม่ได้  ผมยังคงคิดวนเวียนและพูดกับน้องๆ ที่ร่วมเดินทางมาด้วยในวันนั้นว่าหากในหลวงไม่ทรงมีพระราชดำริที่จะแก้ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า และการปลูกฝิ่นอย่างที่ผ่านมา ประเทศไทยทุกวันนี้จะเป็นอย่างไร  บางทีคำตอบอาจจะไม่ได้อยู่แต่เพียงบนยอดดอย แต่อยู่ที่แสงไฟเรืองรองของตัวเมืองข้างล่างนั่นด้วย

69-3-8

ขอขอบคุณ เอื้อเฟื้อที่พัก และอำนวยความสะดวก มูลนิธิโครงการหลวง  โรงงานคัดบรรจุผลิตผลโครงการหลวง  ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอย  ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สาใหม่  ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแกน้อย  สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวง  โครงการขยายผลปางแดงใน  สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ และศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง เจ้าหน้าที่และเกษตรกรในโครงการหลวงทุกท่าน เอื้อเฟื้ออุปกรณ์ในการช่วยถ่ายทำ ชุดไฟ ProFoto รุ่น Acute B2 และเต็นท์ LastoLite รุ่น Cubelite 120 cm. จากบริษัท SHRIRO MARKETING (THAILAND) LIMITED จำกัด

 

เรื่องและภาพ : เริงชัย คงเมือง HANUMAN Photos
นิตยสารโฟโต้อินโฟ ฉบับเดือน ธันวาคม 2553