ทุกๆ ปี ในช่วงต้นๆ ปีจะมีงานบุญครั้งใหญ่ของชาวจันทบุรี ที่มีผู้คนจากทั่วสารทิศหลั่งไหลกันมายังสถานที่นี้ เพื่อทําพิธีกราบไหว้สักการะ ซึ่งถือกันว่าเป็นบุญใหญ่ที่ต้องสะสมกันไว้เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน นั่นคือ ประเพณีนมัสการพระพุทธบาทพลวง หรือประเพณีขึ้นเขาคิชฌกูฏ เพื่อไปกราบไหว้พระพุทธบาทขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้าที่ประทับไว้บนยอดเขานั่นเอง
ตามประวัติความเป็นมา เล่ากันไว้ว่า พระพุทธบาทพลวง เป็นรอยพระพุทธ-บาทที่ค้นพบโดยบังเอิญของกลุ่มพรานกลุ่มหนึ่ง ชื่อนายติ่ง นายนำ และนายปลิ่ม ซึ่งเป็นญาติๆ กัน เมื่อประมาณปี 2397 โดยนายพรานทั้งหมดนั้นได้ขึ้นไปหาของป่าบนยอดเขา และใช้เวลาอยู่ในป่าครั้งละหลายๆ วัน จึงได้สร้างแค้มป์ที่พักขึ้นมา ในขณะที่ออกไปหาของป่านั้น กลุ่มนายพรานเกิดหลงป่าหาทางกลับที่พักไม่ได้ และเดินออกมาจุดเดิมคือลานหิน (ที่เป็นตำแหน่งของพระพุทธบาทในปัจจุบัน) อยู่ทุกครั้ง ในครั้งนี้กลุ่มนายพรานได้ไปนั่งพักอยู่ตรงกอหญ้าที่ขึ้นคลุมรอยพระพุทธ-บาท และปรึกษากันในเรื่องหลงทาง มีนายพรานคนหนึ่ง ได้เจอกับแหวนนาคในกอหญ้า นายติ่งจึงคิดว่าคงจะมีใครเอาของมีค่ามาซุกซ่อนไว้เป็นแน่ จึงช่วยกันค้นหา และนายติ่งก็สังเกตเห็นว่า กอหญ้าขึ้นคลุมอยู่เพียงหย่อมเดียวบนลานหินนั้น จึงพากันถอนหญ้าออกจนหมด และทำความสะอาดบริเวณนั้น เพื่อหวังจะได้พบของมีค่าเพิ่มเติม
หลังจากที่ทำความสะอาดจนหมดจด ก็ไม่ได้พบของมีค่าเพิ่มเติม แต่พบว่าบริเวณนั้นเป็นรอยเท้าขนาดใหญ่ ขณะนั้น กลุ่มนายพรานยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับรอยพระพุทธบาท แต่คิดว่าอาจจะเป็นรอยเท้าของผู้มีฤทธิ์และเกิดความกลัวที่ไปหยิบเอาของมีค่ามา จึงพากันขอขมา และบอกกล่าวถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ช่วยดลบันดาลให้กลับที่พักได้ ซึ่งก็เป็นที่น่าอัศจรรย์ว่ากลุ่มของนายพรานก็สามารถหาทางกลับที่พักได้โดยง่าย
หลังจากกลับลงมาบนเขา นายติ่งและพรรคพวกมีลูกหลานที่ครบอายุเกณฑ์บวช จึงได้พาลูกไปบวชที่วัดพลับ ซึ่งอยู่ในตัวเมือง เพราะสมัยนั้นไม่ได้มีวัดมากมายเหมือนดังเช่นปัจจุบัน และการเดินทางนั้นก็ค่อนข้างลำบาก โดยจากบ้านพลวงไปยังวัดพลับ ต้องใช้เวลาเดินทางถึง 2 วัน หลังจากเสร็จงานบวช จึงต้องพักค้างแรมกันที่วัดด้วย และในช่วงนั้น ที่วัดพลับมีการจัดงานประจำปีด้วย นายติ่งและพรรคพวกก็ได้ไปทำบุญ และได้ปิดทองพระบาทจำลองด้วย โดยในขณะปิดทองนั้น ก็นึกขึ้นได้ว่า เคยพบเห็นรอยพระบาทแบบนี้อยู่บนเขา แต่เป็นรอยที่มีขนาดใหญ่กว่ามาก
ในขณะที่พูดคุยกันนั้น ก็ได้ยินถึงหลวงพ่อเพชร ท่านได้เชิญนายติ่งและพรรคพวกไปสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ซึ่งเมื่อได้ฟังเรื่องราว หลวงพ่อเพชรมีความสนใจเป็นอย่างมาก ภายหลังได้นัดหมายให้นายติ่งกับพรรคพวกพาขึ้นไปพิสูจน์รอยพระบาทนั้น โดยเมื่อเดินทางถึงยอดเขา หลวงพ่อเพชรและคณะได้เข้าไปพิสูจน์รอยพระบาท ก็ได้พบกับความอัศจรรย์ใจที่เห็นหินขนาดใหญ่ ตั้งตระหง่านอยู่บนลานหิน และใกล้ๆ กันนั้น ก็มีรอยพระบาทปรากฏอยู่ หลังจากที่หลวงพ่อเพชรและคณะได้พิจารณาตามหลักของพุทธศาสนาแล้ว ก็ลงความเห็นว่า รอยพระบาทนั้น เป็นรอยพระบาทของพระพุทธเจ้าจริงๆ
ภายหลัง หลวงพ่อเพชรและคณะก็ได้เดินทางไปสักการะรอยพระพุทธบาททุกๆ ปี ปีละหนึ่งครั้ง จึงถือเป็นผู้ริเริ่มประเพณีสักการะรอยพระพุทธบาท เพียงแต่ยังไม่เป็นที่รู้จักกันมากมายเหมือนปัจจุบัน และภายหลังก็ได้มีการจัดทำถนน เพื่อให้การเดินทางสะดวกสบายขึ้น จากความร่วมมือของวัดหลายๆ วัดในบริเวณใกล้เคียง นำโดยหลวงพ่อเขียนที่รับหน้าที่ประธานในการบริหารงานประเพณีนมัสการรอยพระพุทธบาท ซึ่งสมัยนั้น ยังคงใช้ชื่อพระพุทธบาทเขาพลวง ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อเป็นพระพุทธบาทเขาคิชฌกูฏ ตามการจาริกแสวงบุญของหลวงพ่อเขียน ณ ประเทศอินเดีย ตามชื่อเขาคิชฌกูฏของประเทศอินเดียนั่นเอง
พาหนะในการเดินทางของเราในครั้งนี้ เป็นรถ Toyota SIENTA 1.5V AT รถยนต์เอนกประสงค์สำหรับครอบครัวยุคใหม่ ที่โดดเด่นด้วยเส้นสายที่ออกแบบได้สวยงามลงตัว โดยตัวรถมาพร้อมเครื่องยนต์แบบ 2NR-FE DUAL VVT-i 1500 ซีซี 4 สูบ 16 วาล์ว ให้แรงม้าสูงสุด 108 แรงม้า ที่ 6,000 รอบต่อนาที และแรงบิดสูงสุด 140 นิวตัน-เมตร ที่ 4,200 รอบต่อนาที
ผมเคยได้รับ Toyota SIENTA 1.5V AT ไปออกทริปมาก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งครั้งแรกเห็นนั้น ค่อนข้างสะดุดตากับการออกแบบตัวรถ จากเส้นสายที่ลากยาวตั้งแต่ไฟหน้ารถลงมาถึงกระจังหน้า ดูสวยงาม แต่แฝงความดุดันอยู่ในตัว โดยตัวรถได้รับการออกแบบภายใต้คอนเซ็ปต์ “Bring it All” ที่ผสมผสาน 4 ความโดดเด่น นั่นคือ Bring style to Life ดีไซน์สวยงาม เส้นสายโฉบเฉี่ยว โดดเด่นในทุกมุมมอง, Bring out feeling การออกแบบภายใน ตอบสนองการใช้งานได้ครบทุกฟังก์ชั่น มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่สามารถใช้ประโยชน์ได้สูงสุด, Bring all happiness ตอบสนองทุกความสุขด้วยประตูสไลด์ข้างอัตโนมัติ และห้องโดยสารโอโถงกว้างขวาง พร้อมพื้นที่เก็บของมากมาย และ Bring it on ขับสนุกไปกับเกียร์อัตโนมัติ CVT พร้อมระบบ Sport Sequential Shift 7 สปีด ควบคุมการเปลี่ยนเกียร์ได้ตามที่ต้องการ
โดยที่ Toyota SIENTA 1.5V AT เป็นรถครอบครัวที่มีทั้งหมด 7 ที่นั่ง จุดที่ผมชื่นชอบอีกอย่างหนึ่งคือ ออกแบบที่นั่งแถวที่ 3 ได้อย่างยอดเยี่ยม เวลาที่ไม่ได้ใช้งาน สามารถพับเก็บให้หลบลงไปอยู่ใต้เบาะนั่งแถวที่ 2 ได้อย่างลงตัว ทำให้ไม่เสียพื้นที่เก็บของด้านหลังเลยแม้แต่น้อย แถมการนำออกมาใช้งานก็ไม่ได้ลำบากแต่อย่างใดครับ ทั้งการพับเก็บและการดึงออกมาใช้งาน จะต้องดึงก้านพับเบาะแถวที่ 2 ให้เบาะยก และพับเก็บไปด้านหน้าอัตโนมัติ จากนั้นก็ดึงเบาะแถวที่ 3 ขึ้นมาและยกพนักขึ้น ตัวล๊อกใต้ที่นั่งก็จะล็อกกับก้านยึดอย่างแน่นหนาโดยอัตโนมัติ เท่านี้ก็พร้อมใช้งานแล้วละครับ ส่วนการพับเก็บ ก็ดึงเบาะแถวที่สองให้พับไปด้านหน้าก่อนเช่นกัน จากนั้นก็ดึงก้านปลดล็อกบนพนัก พับพนักพิงลง แล้วยกเบาะให้พับลงไปในช่องว่างใต้เบาะแถวที่สองได้เลย แล้วก็ดึงเบาะแถวที่สองให้กลับมาในตำแหน่งใช้งานปกติเท่านั้นเองครับ
ห้องโดยสารออกแบบให้โล่งโปร่งดีทีเดียว ทัศนวิสัยในการมองจากที่นั่งคนขับ มองสภาพโดยรอบได้อย่างสบายๆ และกว้างขวาง กระจกมองข้างทั้งสองบานก็มีขนาดใหญ่ รวมทั้งด้านหลังยังเสริมด้วยกล้องมองหลัง เมื่อใช้เกียร์ถอยช่วยให้มองรอบคันได้เป็นอย่างดีทีเดียวครับ นอกจากนี้ยังมีพื้นที่เหนือศรีษะอีกมากทีเดียว ทั้งในตำแหน่งของคนขับและผู้โดยสาร เรียกได้ว่านั่งได้อย่างสบายๆ ไม่อึดอัดเลยละครับ จุดเด่นหนึ่งที่ผมและทีมงานชื่นชอบกัน นั่นคือประตูข้างแบบสไลด์อัตโนมัติทั้งด้านซ้ายและด้านขวา ทำให้การขึ้นลง สะดวกมากครับ
การตอบสนองการขับขี่ของ Toyota SIENTA ถือว่าทำได้ดีทีเดียว ช่วงล่างนุ่มหนึบและเกาะถนนดีมาก เส้นทางส่วนใหญ่เป็นถนนลาดยางทั้งหมด จะมีบางช่วงที่ผุพัง และมีการก่อสร้างอยู่บ้าง แต่ระบบกันสะเทือนก็ซับแรงสั่นได้ดีทีเดียว ทำให้นั่งกันอย่างสบายๆ ไม่มีกระเด้งกระดอนแต่อย่างใดครับ
ด้านการเร่งแซงทำได้ค่อนข้างดีเมื่อใช้เกียร์ออโต้ปกติ แต่ถ้าหากต้องการการตอบสนองที่รวดเร็วฉับไวมากขึ้น ผมจะปรับรูปแบบการเปลี่ยนเกียร์เป็นแบบปรับชิฟท์เองครับ ซึ่งการใช้งานก็เพียงโยกคันเกียร์จากตำแหน่ง D มาด้านขวา ซึ่งสามารถปรับชิฟท์เกียร์ให้ตํ่าลง โดยการดึงคันเกียร์มาด้านหลัง และปรับเพิ่มเกียร์ให้สูงขึ้นด้วยการดันคันเกียร์ไปด้านหน้า ซึ่งผมเองใช้งานอยู่บ่อยๆ เพราะไม่เพียงช่วยให้เร่งแซงได้อย่างฉับไวและปลอดภัยแล้ว ยังเพิ่มความรู้สึกในการขับขี่ให้สนุกขึ้นอีกด้วยครับ
การเดินทางเพื่อไปนมัสการพระพุทธบาทคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรีนั้น ผมใช้เส้นทางมอเตอร์เวย์มุ่งหน้าไปยังจังหวัดชลบุรี และแยกซ้ายออกไปยังบ้านบึง ก่อนที่จะใช้เส้นทางหลักหมายเลข 344 ตรงไปยังอำเภอแกลง จังหวัดระยอง และเลี้ยวซ้ายเข้าถนนหมายเลข 3 ตรงไปจนถึงตัวเมืองจันทบุรี จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าไปยังเส้นทางหมายเลข 3249 ไปยังอำเภอเขาคิชฌกูฏ ผ่านตัวอำเภอ ผมเลี้ยวซ้ายไปยังเส้นทางหมายเลข 3010 ประมาณหนึ่งกิโลกว่าๆ ก่อนที่จะเลี้ยวซ้ายอีกครั้ง เพื่อตรงเข้าไปยังวัดพลวง ซึ่งเป็นจุดขึ้นรถบริการขึ้นเขาคิชฌกูฏครับ
ปัจจุบัน ข้อกำหนดในการขึ้นเขาเพื่อไปนมัสการพระพุทธบาท มีการเปลี่ยนแปลงไปจากปีที่ผ่านๆ มาครับ โดยเปิดให้เดินทางได้ตลอด 24 ชั่วโมง และสามารถซื้อตั๋วรถแล้วใช้บริการได้เลย ในราคา 100 บาท โดยไม่ต้องจองคิวรถเหมือนเมื่อก่อนนี้ สามารถซื้อตั๋วรถไว้ก่อน จากนั้นไปทำธุระปะปัง เมื่อพร้อมแล้วก็มายังจุดขึ้นรถขึ้นเขาได้เลยครับ และรถบริการจะวิ่งยาวไปจนถึงลานพระสีวลี ซึ่งเป็นจุดสุดท้ายที่รถวิ่งขึ้นมา จากนั้นจะเป็นการเดินเท้าขึ้นไปยังยอดเขาอีกประมาณ 1.2 กิโลเมตรครับ ส่วนขาลงก็จะต้องมาซื้อตั๋วรถที่ลานพระสีวลีในราคา 100 บาทเช่นกันครับ
ลานพระสีวลี ซึ่งเป็นจุดกราบสักการะแรกเมื่อรถพาขึ้นมาถึง
หลังจากกราบสักการะลานสีวลีแล้วก็เป็นช่วงเดินขึ้นเพื่อไปกราบสักการะรอยพระพุทธบาทด้านบน
หลังจากที่ทำภารกิจส่วนตัวต่างๆ เรียบร้อยแล้ว ผมและทีมงานเดินไปขึ้นรถที่จอดรออยู่มากมายตามคิวของแต่ละคัน ที่หมุนเวียนกันมาไม่ขาดระยะ โดยปกติจะรองรับได้คันละประมาณ 10 คน ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นรถขับเคลื่อนแบบ 4 ล้อ เพราะเส้นทางขึ้นเขานั้นค่อนข้างชันอยู่มากทีเดียว รวมทั้งมีทางโค้งมากมายด้วยเช่นกัน ตลอดเส้นทางจากวัดพลวงขึ้นไปยังลานพระสีวลี จะมีรถวิ่งตามขึ้นมาตลอด รวมทั้งมีรถวิ่งสวนทางตลอดเส้นทางด้วยเช่นกัน นั่นแสดงให้เห็นถึงศรัทธาอย่างเต็มเปี่ยมของชาวพุทธนั่นเอง
การขับขี่ของรถบริการค่อนข้างขับเร็ว แน่นอนว่าจะต้องทำเวลาเพื่อรองรับกับคลื่นมหาชนที่หลั่งไหลกันมาไม่ขาด ผู้ขับขี่จำเป็นจะต้องรู้ว่าเนินตรงนี้จะต้องชิดซ้าย ทางโค้งตรงนั้นจะต้องชิดขวา ถึงแม้ว่าจะมีป้ายบอกอยู่ก็ตาม ไม่เช่นนั้นอาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้เช่นกันครับ ซึ่งเท่าที่ได้สัมผัสตลอดทั้งเส้นทาง รู้สึกได้ว่า แต่ละคันได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี แล้วก็แม่นโค้งกันมากทีเดียวครับ นอกจากค่ารถบริการคนละ 100 บาทแล้ว ยังต้องจ่ายค่าเข้าอุทยานคนละ 20 บาทด้วย ด่านเก็บค่าผ่านทาง ก็เลยเขื่อนขึ้นไปเล็กน้อยเท่านั้นครับ หลังจากที่รถบริการมาส่งที่ลานพระสีวลีแล้ว จากนี้จะเป็นเส้นทางเดินเท้า ซึ่งก็เป็นทางเดินขึ้นเขาไปตลอด และควรจะเตรียมเครื่องดื่มกับอาหารสำหรับรองท้องติดตัวมาด้วยครับ เนื่องจากบนเขาไม่มีร้านค้าจำหน่าย หรือมีนํ้าดื่มก็เฉพาะบางจุดเท่านั้นเองครับ ทางเดินหลายๆ ช่วง ถูกปรับให้เป็นขั้นบันได ช่วยให้เดินได้ง่ายขึ้น แต่หลายๆ ช่วงก็ยังคงเป็นทางดินและหิน ที่จำเป้นต้องอาศัยรองเท้าที่กระชับหรือหุ้มข้อ เพื่อให้เดินได้ง่ายขึ้น ซึ่งตลอดเส้นทางก็จะเห็นบางคนที่ไม่ได้เตรียมตัวมา หิ้วรองเท้าคัทชู เดินเท้าเปล่ากันบ่อยๆ ครับ
ผมเดินไป หยุดถ่ายภาพไปเป็นระยะๆ เพราะไม่ได้รีบร้อนกับเวลามากนัก เนื่องจากเตรียมไข่ปิ้งสำหรับมื้อกลางวัน และนํ้าดื่มมาด้วย แต่จริงๆ ก็คือหยุดพักเหนื่อยไปด้วยนั่นเองครับ ..แฮ่!! ประชาชนที่เดินทางมายังเขาคิชฌกูฏนั่น มีทั้งเด็กเล็กๆ ไปจนถึงวัยสูงอายุที่ยังเดินกันไหว ซึ่งผมก็นับถือความศรัทธาของคุณป้า คุณลุงเหล่านั้นจริงๆ เพราะทางเดินหลายๆ ช่วง ก็สูงชันเอาเรื่องทีเดียวละครับ บนลานพระพุทธ-บาทนั้น มีคนอยู่มากมายทีเดียว แต่ไม่ได้หนาแน่นมากมายนัก ซึ่งครั้งแรกๆ นั้น ผมเองยังเกรงว่าจะต้องเจอกับคลื่นมหาชนที่อัดแน่นอยู่ที่ลานพระพุทธบาท เนื่องจากเดินทางไปในช่วงวันหยุดนั่นเอง แต่อาจจะเป็นเพราะการปรับเปลี่ยนกฎในการเดินทางขึ้นเขา เลยทำให้หลายๆ คนเลือกเวลาในการขึ้นมาได้ตามที่ต้องการนั่นเอง
รอยพระพุทธบาทพลวงที่เป็นจุดหลัก และเป็นจุดหมายปลายทางของการกราบสักการะ
ก้อนหินที่เป็นจุดเด่นของที่นี่ ตั้งโดดเด่นอย่างสวยงาม
จุดชมวิวบริเวณที่เรียกว่ารอยเสือใหญ่ ซึ่งเป็นจุดที่จะเห็นมุมกว้างของภูเขาที่สวยงาม
บนลานพระพุทธบาทจะมีเจ้าหน้าที่เป็นผู้นำกล่าวคำบูชาพระพุทธบาท ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากผมเองไปทำบุญหลายๆ ที่ แต่ก็มีการกล่าวคำสักการะแบบสะเปะสะปะไปตามเรื่อง ไม่มีหลักการใดๆ และเชื่อว่าหลายๆ คนก็อาจจะเป็นเช่นเดียวกับผมด้วยเช่นกัน
หลังจากเสร็จสิ้นพิธีการต่างๆ แล้ว ผมเดินต่อไปยังจุดหมายยอดนิยมอีกจุดหนึ่งในการขึ้นมานมัสการพระพุทธบาท นั่นคือ จุดผ้าแดง ซึ่งจุดนี้มีความเป็นมาคือ ในช่วงที่ท่านพ่อเขียน หรือพระครูธรรมสรคุณ เป็นประธานดำเนินการจัดงานนมัสการพระพุทธบาท ซึ่งช่วงแรกๆ นั้น ผู้คนยังเดินทางมาไม่มาก ท่านพ่อเขียนจะเป็นผู้นำผู้แสวงบุญเดินขึ้นเขาไปสักการะพระพุทธบาทด้วยตนเองไปจนถึงสุดเส้นทาง หรือสุดเขตแดนพุทธชาด แต่พอนานเข้า มีผู้แสวงบุญมากันมากมายจนท่านไม่มีเวลา จึงให้ญาติโยมขึ้นไปกันเอง ทำให้บางกลุ่มเดินเลยเขตแดนพุทธชาด และเกิดหลงป่า ดังนั้นท่านจึงให้ลูกศิษย์นำแผ่นผ้าสีแดงไปกั้นไว้ แล้วเขียนข้อความว่าห้ามผ่าน จนไม่มีใครหลงทางอีกต่อไปภายหลัง มีผู้แสวงบุญที่เดินทางมาถึงจุดนี้ ซึ่งก็มีความเหน็ดเหนื่อยจากการเดินขึ้นเขามา จึงได้เขียนข้อความบนผ้าแดงขอพรไว้ว่า “สาธุข้าพเจ้าได้เดินทางมาถึง แล้ว ขอให้ รวย รวย รวย” หลังจากนั้นก็มีผู้คนมาเขียนกันเยอะมากขึ้น
ผาแดง ที่เต็มไปด้วยผ้าผูกสีแดงจากความศรัทธาของผู้คนที่ขึ้นมากราบสักการะ
ความศรัทธาที่นำพาผู้คนขึ้นมายังจุดกราบสักการะที่สูงและไกลมาก คือผาแดง
จนมีอยู่ครั้งหนึ่ง ผู้ที่มาแสวงบุญนั้นเกิดถูกหวยรวยเบอร์รางวัลใหญ่เข้า เลยเกิดเป็นสิ่งที่ทำตามๆ กันมาในภายหลังครับ ซึ่งจากที่เห็นปริมาณผ้าแดงที่ผูกอยู่ตามต้นไม้ต่างๆ นั้น มากมายเกินที่จะประเมินได้ครับ ว่ามีจำนวนเท่าไหร่ สำหรับผ้าแดงนั้น สามารถไปรับได้ที่จุดผ้าแดงได้เลยครับ
ขาลง ผมและทีมงาน เดินตามเส้นทางที่เขียนบอกไว้ว่าเป็นทางลัดลงไปยังด้านล่าง ซึ่งสภาพเส้นทางนั้น เป็นทางดิ่งลงอย่างเดียว เสี่ยงต่อการลื่นล้มอยู่พอสมควรละครับ ถ้าสภาพรองเท้าไม่เอื้ออำนวย เส้นทางนี้จะตัดลงมายังเนินพระเมตตา ซึ่งถือเป็นจุดพักจุดหนึ่งที่มีห้องนํ้าไว้บริการด้วย
ประเพณีนมัสการพระพุทธบาทเขาคิชฌกูฏ จะจัดขึ้นทุกๆ ปี ในวันขึ้น 1 คํ่า เดือน 3 ไปจนถึงวันแรม 15 คํ่า เดือน 4 ระยะเวลาเพียง 2 เดือนเท่านั้นเอง สำหรับใครที่จะเดินทางไปในปีหน้านั้น ก็กาปฏิทินไว้เลยนะครับ จะได้ไม่พลาด ผมและทีมงาน เดินทางกลับออกจากวัดพลวงในช่วงบ่ายนิดๆ มุ่งหน้ากลับมายังตัวเมืองจันทบุรี เพื่อหาที่พัก ก่อนที่จะเดินทางต่อในวันรุ่งขึ้น สภาพการจราจรในตัวเมืองก็ค่อนข้างหนาแน่นตามสไตล์ตัวจังหวัด แต่ขนาดตัวของ Toyota SIENTA 1.5V AT ที่ไม่ได้ใหญ่เทอะทะ และมีความคล่องตัวอยู่มากทีเดียว ก็ช่วยพาเราลัดเลาะไปจนถึงที่พักได้โดยสวัสดิภาพ
ทริปหน้า ผมและทีมงานจะพาไปสัมผัสกับงานฝีมือของช่างทอง ที่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ของการทำทองแบบโบราณ จากช่างทองโบราร เมืองเพชรบุรี จะสวยงาม น่าก็บรักษาแค่ไหนนั้น ติดตามได้ในฉบับหน้า ..สวัสดีครับ…
การเดินทาง
จากมอเตอร์เวย์มุ่งหน้าไปยังจังหวัดชลบุรี และแยกซ้ายออกไปยังบ้านบึง ก่อนที่จะใช้เส้นทางหลักหมายเลข 344 ตรงไปยังอำเภอแกลง จังหวัดระยอง และเลี้ยวซ้ายเข้าถนนหมายเลข 3 ตรงไปจนถึงตัวเมืองจันทบุรี จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าไปยังเส้นทางหมายเลข 3249 ไปยังอำเภอเขาคิชฌกูฏ จากสี่แยกที่ตัวอำเภอ ให้เลี้ยวซ้ายไปยังเส้นทางหมายเลข 3010 ประมาณหนึ่งกิโลกว่าๆ ก่อนที่จะเลี้ยวซ้ายอีกครั้ง เพื่อตรงเข้าไปยังวัดพลวง
เรื่อง / ภาพ : กองบรรณาธิการ
ขอขอบคุณ… บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด
อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^
หากเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ ฝากกดไลค์และแชร์ด้วยนะครับ
FOTOINFO มี LINE@ OFFICIAL แล้ว !!! อย่าลืมแอดไลน์ @FOTOINFO (หรือสแกน QR Code ในภาพนี้)
? ขอบคุณครับ
ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus
ติดตามเรื่องราวการท่องเที่ยววิถีไทยที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่
https://test2.fotoinfo.online/travels/shooting-destination/