TRAVELS

ท่องเที่ยวเมืองรอง : เก็บดาว ส่องเดือนที่ ..ละลุ

“ละลุ” ชื่อที่ฟังดูแปลกๆ และจำแนกไม่ออกว่าจะเป็นชื่อของอะไร ในยามที่ได้ยินครั้งแรกของผม จนต้องพึ่งพาอากู๋เพื่อค้นคว้าหาคำตอบว่า “ละลุ” คืออะไร สรุปได้ว่า “ละลุ” คือปรากฎการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับผืนดินในพื้นที่ของสองหมู่บ้าน ในตำบลทัพราช อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว นั่นคือ การกัดเซาะของลมและนํ้า ทำให้ผิวหน้าของผืนแผ่นดินที่มีความนิ่มยุบตัวลงไป คงเหลือไว้เพียงส่วนที่แข็งแกร่งยืนตระหง่านเป็นกำแพงและเสารูปทรงแปลกตานั่นเอง

เสาดินที่มีรูปทรงต่างๆ แปลกตา มีความสูงมากกว่าหนึ่งเมตร บางต้นสูงถึง 3 เมตรเลยทีเดียว

“ละลุ” เป็นภาษาเขมร แปลได้ว่าทะลุ มีพื้นที่รวมๆ กว่า 2000 ไร่ ครอบคลุมสองหมู่บ้านคือ บ้านเนินขาม และบ้านคลองยาง เป็นพื้นที่มหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติ มากกว่า 20,000 ถึง 50,000 ปี นั่นคือเกิดจากการกัดเซาะของหน้าดินของนํ้าฝน จนเกิดการยุบตัวลง และพังทลายของผิวดินที่มีความนิ่ม และจะเหลือพื้นดินในส่วนที่แข็งกว่าที่ยังคงสภาพอยู่ เมื่อรวมกับกระแสลมที่กัดเซาะทำให้เกิดเป็นรูปทรงต่างๆ คล้ายๆ กับแพะเมืองผี ที่จังหวัดแพร่นั่นเอง

ผมและทีมงานยังคงใช้รถยนต์ New Toyota Camry 2.0 G ที่ได้รับการปรับรูปโฉมใหม่ทั้งหมดภายใต้มาตรฐาน TNGA ตัวรถออกแบบได้สวยงาม และมีความ Sport อยู่ในตัวจากเส้นสายรอบคัน และจากกระจังหน้าขนาดใหญ่ สวยงามสะดุดตาดีทีเดียว หนึ่งในความโดดเด่นของ New Toyota Camry 2.0 G นั่นคือระบบความปลอดภัยมากมาย ซึ่งผมเองเปิดใช้งานครบทุกฟังก์ชั่น และที่ชอบเป็นการส่วนตัวคือ ระบบเสียงพร้อมไฟแจ้งเตือนที่กระจกมองข้าง เมื่อมีรถคันอื่นขับเข้ามาจากด้านหลัง ซึ่งให้ความสะดวกเมื่อต้องการเปลี่ยนเลน โดยไม่จำเป็นต้องละสายตาไปจ้องมองที่กระจกโดยตรง อีกฟังก์ชั่นที่ผมชอบด้วยเช่นกันคือ กระจกมองข้างจะปรับมุมก้มลงเล็กน้อย เมื่อเข้าเกียร์ถอยหลัง ช่วยให้มองพื้นด้านหลังในมุมที่ตํ่าลง เพื่อให้ปลอดภัยมากขึ้นด้วยนั่นเองครับ

สำหรับสายออนไลน์ที่บางครั้งอาจจะแชทเพลินจนแบตเตอรี่หมดกลางทาง ก็ไม่ต้องห่วงครับ ถ้าหากว่าโทรศัพท์รองรับระบบชาร์จแบบไร้สาย ก็สามารถชาร์จจากแท่นชาร์จไร้สายที่อยู่ใต้คอลโซลกลางได้เลย ส่วนผมใช้โทรศัพท์ที่ไม่ได้รองรับระบบชาร์จไร้สายก็ใช้วิธีเสียบชาร์จผ่านช่อง USB ปกติได้เช่นกันครับ

เส้นทางไปยังอำเภอตาพระยาส่วนใหญ่เป็นถนนลาดยางแบบสองเลนวิ่งสวนทางกัน บางครั้งก็อาจจะผุพังไปตามสภาพ หรือเป็นหลุมเป็นบ่อบ้างตามการใช้งานที่มีรถบรรทุกค่อนข้างเยอะ ซึ่งช่วงล่างให้ความนุ่มและหนึบดีมากครับ

การเข้าโค้งแบบต่างๆ ทั้งโค้งซ้าย โค้งขวา รวมทั้งโค้งหักศอก ช่วงล่างยึดเกาะดีทีเดียว ให้ความมั่นใจในการขับขี่มากขึ้นด้วย และหลายครั้งที่ผมมีความจำเป็นต้องเร่งแซงด้วยความฉับไวด้วยการคิ๊กดาวน์ อาจจะไม่ปรู๊ดปร๊าดทันทีเหมือนเครื่องที่มีขนาดใหญ่กว่า แต่ก็เพียงพอที่จะแซงได้ตามที่ต้องการครับ

อีกหนึ่งฟังก์ชั่นที่อำนวยความสะดวกให้กับทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสารคือ กล่องเก็บของและที่วางแก้วตรงคอนโซลกลางที่จะส่งผ่านความเย็นเข้ามาสำหรับแช่เครื่องดื่มในระหว่างเดินทางด้วย ไม่ต้องคอยแวะร้านสะดวกซื้อบ่อยๆ เมื่อต้องการเครื่องดื่มเย็นๆ มาดับกระหายในยามที่แวะลงไปผจญกับอากาศที่ร้อนอบอ้าวระหว่างเก็บภาพครับ

ผมและทีมงานเดินทางถึงละลุในช่วงบ่ายเล็กน้อย และอากาศกำลังดี ไม่ร้อนมากนัก เราเข้าไปติดต่อที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว และแจ้งความประสงค์ในการเข้าไปเที่ยวชมละลุ รวมทั้งสอบถามถึงพื้นที่ที่สามารถนำรถเข้าไปถ่ายภาพประกอบด้วย โดยผมแจ้งความจำนงค์ไว้ว่าจะเข้าไปเก็บภาพสองช่วง คือช่วงกลางวันและช่วงคํ่า เพื่อถ่ายภาพดาวในละลุครับ

“รถอีแต๊ก” พาหนะนำเที่ยวภายในละลุ

ปัจจุบัน ละลุมีคณะกรรมการชุมชนที่คอยดูแลอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว ซึ่งมี “รถอีแต๊ก” ไว้คอยบริการ โดยนักท่องเที่ยวจะต้องจอดรถไว้ที่ลานจอดของชุมชน และนั่งรถอีแต๊กเข้าไปยังพื้นที่ คันหนึ่งนั่งได้เต็มที่ 10 คน แต่ถ้าหากว่านั่งแบบสบายๆ 6-8 คนกำลังดีครับ ที่นั่งจะเป็นไม้กระดานวางขวางตัวรถที่ต่อเสริมขึ้นมาวางได้ 2 หรือ 3 แถว ส่วนชุดขับเคลื่อนจะเป็นการนำเอารถไถแบบเดินตามมาพ่วงต่อกับส่วนบรรทุก ซึ่งพอว่างจากช่วงท่องเที่ยวก็สามารถนำรถไถไปใช้งานได้ปกติครับ

ค่าบริการนำเที่ยวจะคิดต่อคัน คันละ 200 บาท ไปหลายคนก็แชร์ๆ ค่ารถกันได้ครับ จุดท่องเที่ยวจะอยู่ห่างจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยวออกไปประมาณ 1 กิโลเมตรกว่าๆ ซึ่งเลยออกนอกหมู่บ้านไปเล็กน้อย พื้นที่ของละลุนั้น ไม่ได้เป็นที่สาธารณะ แต่เป็นที่ดินของชาวบ้านย่านนั้น โดยเคยเป็นที่สวนที่นามาก่อน เมื่อเอามาจัดสรรเป็นพื้นที่ท่องเที่ยว ทางคณะกรรมการชุมชน ก็จะนำรายได้ส่วนหนึ่งมอบให้กับเจ้าของพื้นที่เป็นการตอบแทนด้วยเช่นกัน เป็นการเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันนั่นเองครับ

บรรยากาศมุมสูงที่เห็นถึงความอลังการงานสร้างของธรรมชาติ

“มีจุดไหนที่ผมสามารถเอารถเข้าไปถ่ายภาพได้มั่งมั๊ยครับ” “มีครับ เดี๋ยวผมพาไป ปกติในพื้นที่ท่องเที่ยว จะไม่ให้ขับรถเข้าไปเอง นอกจากจะขออนุญาตก่อน แล้วต้องมีเจ้าหน้าที่พาไปด้วยครับ” เจ้าหน้าที่แจ้งผมกลับมา หลังจากที่จัดการธุระส่วนตัวเสร็จสรรพแล้ว เราก็ออกเดินทางไปยังละลุ โดยน้องทีมงาน นั่งรถอีแต๊กไป ส่วนผมขับรถไปพร้อมกับเจ้าหน้าที่ของชุมชน

หลังจากหามุมถ่ายภาพ พร้อมทั้งเก็บภาพตามที่ต้องการแล้ว ผมก็นำรถกลับออกมาจอดไว้ด้านนอกละลุ แล้วก็เดินกลับเข้าไปถ่ายภาพส่วนต่างๆ ของละลุอีกครั้ง แดดช่วงบ่ายส่องลงมาในแนวเฉียงๆ ทำให้เกิดมิติของรูปทรงต่างๆ จากแสงและเงา

ถ้าเป็นการถ่ายภาพตามแสง จะทำให้ซับเจคต์ดูค่อนข้างแบน แต่จะได้มุมโพลาไรซ์โดยธรรมชาติ แต่ถ้าขยับมุมมองเฉียงไปทางด้านข้างจากทิศทางของแสง ก็จะได้มิติของภาพที่ดีกว่า และถ้าเฉียงไม่มาก ก็ยังคงได้มุมของท้องฟ้าที่เป็นมุมโพลาไรซ์อยู่ครับ หลังจากที่ถ่ายภาพกันอยู่สักพัก ผมและทีมงานก็กลับมายังศูนย์บริการนักท่องเที่ยว และกลับไปยังโฮมสเตย์ของชาวบ้านที่พักในคืนนี้ของเรา สำหรับโฮมสเตย์ในหมู่บ้านนั้น สามารถสอบถามเพิ่มเติมจากศูนย์บริการชุมชนได้เลยครับ

5 โมงเย็น เรากลับมาที่ศูนย์บริการชุมชนอีกครั้ง เพราะนัดรถอีแต๊กที่จะพาเราเข้าไปเก็บภาพยามคํ่าคืนไว้ สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการเข้าพื้นที่ในช่วงคํ่า จะต้องแจ้งความประสงค์ไว้ก่อน เพื่อทางชุมชนจะได้จัดรถและเจ้าหน้าที่นำทางไว้ให้นั่นเองครับ และจะมีค่าบริการเพิ่มเติมต่างหากจากช่วงกลางวันด้วยครับ

ก่อนฟ้าจะมืด ..ที่จริง ไม่ได้มืดมาก เพราะเป็นช่วงข้างขึ้น 8 คํ่า ถึงแม้ว่าความสว่างของพระจันทร์ที่มีเพียงครึ่งดวง แต่ก็ช่วยให้เดินเหินได้อย่างสะดวกโดยไม่ต้องอาศัยไฟฉาย และเราก็หวังว่าจะไม่สว่างจนกลืนแสงของดวงดาวไปซะหมด แต่ข้อดีอย่างหนึ่งคือ เสาดินรูปทรงต่างๆ ในละลุ จะดูไม่มืดทึบเกินไปด้วยนั่นเอง

บรรยากาศของละลุในยามใกล้ค่ำ (ภาพ : อรัญญา เนติ)

ผมเลือกเสาดินรูปทรงคลายๆ เห็ดออรินจิ คือ มีโคนที่อวบอ้วน แล้วค่อยๆ เรียวคอดไปยังส่วนปลาย และเป็นส่วนของกลีบเห็ดอยู่ด้านบนสุด ตั้งกล้องบนขาตั้งกล้องที่ระดับตํ่าสุด หันกล้องไปยังทิศเหนือ เพื่อให้จุดหมุนของดวงดาวเป็นวงกลม ผมตั้งกล้องสองตัว เลือกถ่ายภาพเป็นช็อตสั้นๆ เพื่อนำมารวมกันในโปรแกรมตกแต่งภาพหนึ่งตัว และลากชัตเตอร์ยาวๆ ไปเลยหนึ่งตัว แน่นอนว่า ตัวที่ลากชัตเตอร์ยาวๆ จะให้เส้นของดวงดาวที่คงที่มากกว่าตัวที่ถ่ายภาพเป็นช็อตๆ เพราะเมื่อรวมกันแล้วยังคงมีส่วนที่ขาดหายไประหว่างช็อต ซึ่งถึงแม้จะกดชัตเตอร์ต่อๆ กันไปก็ตาม

การถ่ายภาพดวงดาว สามารถเลือกได้ 2 รูปแบบ คือถ่ายดวงดาวเป็นเส้นยาวๆ และถ่ายภาพดาวเป็นดวงๆ หรือถ่ายภาพทางช้างเผือก ซึ่งการถ่ายภาพให้ดวงดาวยืดเป็นเส้นยาวๆ นั้น จะต้องใช้ชัตเตอร์ B และล็อกค้างไว้ด้วยสายลั่นชัตเตอร์ หรือรีโมท ใช้เวลาตั้งแต่ 30 นาทีเป็นต้นไป ส่วนรูรับแสงใช้ประมาณ f/5.6 หรือ f/8 และใช้ความไวแสงต่ำสุดครับ

ตั้งถ่ายภาพดาวหมุนภายในละลุ

ละลุ เป็นอีกหนึ่งในสถานที่ยอดนิยมในฤดูล่าช้าง (ภาพ : จุรี ชัยรุ่งภาคย์พิสิฐ)

ส่วนการถ่ายภาพทางช้างเผือก หรือถ่ายภาพดาวเป็นจุดๆ นั้น จะต้องใช้เลนส์ที่มีรูรับแสงกว้างๆ เพื่อจะได้ไม่ต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์นานจนเกินไป เพราะการใช้ความเร็วชัตเตอร์นานๆ หรือนานกว่า 30 วินาที จะทำให้ดวงดาวยืดเป็นเส้นนั่นเอง และปรับความไวแสงให้สูงขึ้น ประมาณ ISO1600 หรือ ISO3200 ซึ่งในทางทฤษีนั้น มีสูตรการคำนวณความเร็วชัตเตอร์ที่เหมาะสมสำหรับเลนส์แต่ละช่วงคือ สูตร 400 สำหรับกล้องตัวคูณ และสูตร 600 สำหรับกล้องฟูลเฟรม วิธีการคำนวณคือ สมมุติว่าใช้เลนส์ 15 มม. ของกล้องฟูลเฟรม ก็เอา 600 ตั้ง หารด้วยทางยาวโฟกัสของเลนส์ คือ 15 จะได้ผลลัพท์เท่ากับ 40 นั่นคือ ใช้ต้องความเร็วชัตเตอร์ 40 วินาทีนั่นเอง แต่ถ้าเปลี่ยนมาใช้เลนส์ 24 มม. ก็ต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ 25 วินาทีครับ

ผมใช้ไฟฉายส่องกวาดจากด้านข้างของเสาดินเพื่อเพิ่มความสว่างและเพื่อให้เกิดเงา ซึ่งจะทำให้เสาดินมีรูปทรงหรือมีมิติมากขึ้นด้วย เราถ่ายภาพกันอยู่ร่วมๆ สองชั่วโมงก็เก็บของกลับมายังศูนย์บริการนักท่องเที่ยว และเดินทางกลับที่พักครับ ถ้าหากว่ามาในช่วงที่เดือนมืด หรือช่วงข้างแรม ดวงดาวจะเด่นชัดเจนมากขึ้นท่ามกลางผืนฟ้าที่มืดมิดครับ

ไฟหน้า LED ของ New Toyota Camry 2.0 G ส่องสว่างขับไล่ความมืดมิดไปจากพื้นถนน พาเรากลับมายังที่พักเพื่อหลับเอาแรง ก่อนที่จะไปตระเวนถ่ายภาพที่อื่นต่อในวันพรุ่งนี้ ขากลับ..ผมกระโดดขึ้นไปนั่งที่เบาะหลัง ให้น้องทีมงานรับหน้าที่เป็นพลขับบ้าง เบาะนั่งด้านหลังนุ่มสบาย ไม่ค่อยรู้สึกถึงแรงสะเทือน เมื่อผ่านถนนขรุขระ และไม่รู้สึกถึงแรงเหวี่ยงเท่าไหร่นักเมื่อยามที่เข้าโค้งครับ จนกระทั่ง..พี่ครับ ถึงร้านกาแฟแล้วครับ” น้องทีมงานส่งเสียงปลุก เมื่อเราเดินทางมาถึงร้านกาแฟ Coffee Family 88 ที่บ้านแซร์ออ ถึงได้รู้สึกตัวว่าเผลอหลับไปตั้งแต่ตอนไหนก็ไม่รู้…

ทริปหน้า ผมและทีมงานจะพาไปสัมผัสกับทะเลหมอกที่ห่มคลุมขุนเขาสองแผ่นดินไทย-ลาว ณ ภูแลลาว ต่อด้วยเขาโปกโล้นของเมืองพิษณุโลก และพาหนะของเราจะเป็นรถยนต์โตโยต้ารุ่นไหนนั้น คอยติดตามได้ฉบับหน้า
..สวัสดีครับ…


การเดินทางไปยังละลุ

จากรังสิต ให้ใช้เส้นทางรังสิต-นครนายก หมายเลข 305 จากนั้นเลี้ยวซ้ายที่แยกองครักษ์ แล้วขับตรงตามเส้นทางไปเรื่อยๆ จนถึงตัวเมืองนครนายก ขับผ่านตัวเมืองนครนายก แล้วเข้าไปยังเส้นทางหมายเลข 33 ผ่านปราจีนบุรีตรงไปยังสระแก้ว จากตัวเมืองสระแก้ว ใช้เส้นทางหมายเลข 3462 ไปยังอุทยานแห่งชาติปางสีดา และเลี้ยวขวาเข้าเส้นทางหมายเลข 3485 ไปจนถึงสี่แยกเข้าบ้านแซร์ออ จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าเส้นทางหมายเลข 3395 และเลี้ยวซ้ายตามทางหลวงชนบทไปบ้านหนองผักแว่นเข้าไปยังละลุ ซึ่งมีป้ายบอกตลอดทางครับ

เรื่อง / ภาพ : กองบรรณาธิการ

ขอขอบคุณ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


หากเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ ฝากกดไลค์และแชร์ด้วยนะครับ
FOTOINFO มี LINE@ OFFICIAL แล้ว !!! อย่าลืมแอดไลน์ @FOTOINFO (หรือสแกน QR Code ในภาพนี้)

ขอบคุณครับ

ติดตาม FOTOINFO ได้ทั้งรูปแบบนิตยสาร Free Copy, e-magazine ฟรีดาวน์โหลด และช่องทางอื่นๆออนไลน์ได้ที่ ?
Line@ : @fotoinfo
YouTube : Fotoinfo Channel
Website : fotoinfomag.com
e-magazine : issuu.com/fotoinfomagazine


ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus

ติดตามเรื่องราวการท่องเที่ยววิถีไทยที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่

https://test2.fotoinfo.online/travels/shooting-destination/